วันนี้ 6 ตุลาคม 2559 ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มพลเรียน ร่วมกับภาควิชาพื้นฐานการศึกษา และศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงาน 40 ปี 6 ตุลา : ทบทวนหวนหาจิตวิญญาณครูเพื่อมวลชน โดยมีนักศึกษา สื่อมวลชนให้ความสนใจร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยสังเกตการณ์
ในช่วงการเสวนา6 ตุลา2519 ในความทรงจำ : วานวัน ยังเคยฝันใฝ่ นายสงวน พงษ์มณี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน กล่าวว่า การพูดเรื่อง 6 ตุลา มันเป็นความจริงเกินไปที่ผู้มีอำนาจไม่อยากให้เห็น เราจะพบว่าไม่มีใครเห็นรายละเอียดในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 แล้วความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนั้นมันเหมือนหรือคล้ายกับความรุนแรงในสังคมไทยอย่างไร มันคงไม่ใช่ความรุนแรงครั้งสุดท้าย ความขัดแย้งจะเกิดจากการให้แต่ละกลุ่มมีนิยามเรื่องรัฐที่ต่างกัน
“เหตุการณ์นั้น มีคนท้องถิ่นมีคนตาย มีการต่อต้านการละเมิดสิทธิ์ อย่างไรก็ตามนักศึกษามช. และวิทยาลัยครูเชียงใหม่ จะไปยืนอยู่เคียงข้างคนที่ถูกละเมิดสิทธิ์ แต่วันนี้การละเมิดสิทธิ์ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันเป็นเรื่องธรรมดา แต่การคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องเลวร้าย ทั้ง ๆ ที่การละเมิดสิทธิ์และการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องเดียวกัน ผมไม่รู้ว่าวันนี้สังคมไทย คิดอยู่บนฐานปรัชญาอะไร เราถึงติดอยู่กับ ความคิดเรื่องคนดี คนไม่ดี”
สงวน กล่าวในช่วงท้ายว่า “ถ้าเราไม่สามารถรู้ว่าประวัติศาสตร์ของเราเป็นอย่างไร เท่ากับว่าเราสูญเสียความเป็นมนุษย์ ผมดีใจที่เห็นการออกมาตอบโต้รัฐบาลกรณีของโจชัว หว่อง มันเป็นคำหวัง ที่จะออกจากการบันทึกหรือมีประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียว
อ.พัลลภ กันทอินทร์ อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ /อดีตผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอ เล่าประวัติศาสตร์ความรู้สึกว่า ตนเองเริ่มชีวิตทางการเมืองตั้งแต่ 2516 ได้คลุกคลีเคลื่อนไหวทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน เพราะสิ่งที่ได้รับบ่มเพาะหรือประสบการณ์ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาก็พบว่ายังไม่มีความรู้ไหนมาทดแทน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะสิ่งเหล่านี้ก็ยังแฝงและแสดงออกมาทุกขณะ
เมื่อถึงเดือนตุลา ผมก็จะมีการรำลึก ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับคนที่ล่วงลับ โดยในปีนี้ได้แต่งกลอนรำลึก...วีรชน 6 ตุลา และขอนำมาอ่านในที่นี่
“ใยตรึงตราคาอยู่ไม่รู้ลบ
ใยยังพบทุกปีไม่มีหาย
ใยจดจำรำลึกไม่สึกคลาย
ใยความหมายไม่จืดจางเบาบางเลือน
ด้วยเกิดเหตุเภทภัยอันใหญ่หลวง
ด้วยผลพวงการกระทำที่ย่ำเฉือน
ด้วยเพราะมีเผด็จการมารผลาญเยือน
ด้วยมีเพื่อนเดือนตุลาถูกฆ่าฟัน
6 ตุลาเกิดเหตุเขตเมืองพุทธ
6 ตุลาปาณาผุดจุดอาสัญ
6 ตุลามีคนบ้าฆ่าเข่นฟัน
6 ตุลาจึงเป็นวันเลือดนองลาน
รำลึกถึงตรึงใจดลทนได้ไหม
รำลึกไปใส่อารมณ์บ่มเป็นสาส์น
รำลึกถึงวีรชนคนเบิกบาน
รำลึกถึงอุดมการณ์ไว้สานรอ
ขออะไรในเหตุการณ์นานเช่นนี้
ขอเป็นทีสันติภาพไหว้กราบขอ
ขอบทเรียนไว้เปลี่ยนผ่านประสานพอ
ขอสืบต่ออุดมการณ์สานก้าวไป
วีรชน 6 ตุลาผู้กล้าหาญ
วีรชนสร้างผลงานบานสดใส
วีรชนคนซาบซึ้งหนึ่งในใจ
วีรชนทุกดวงไฟสุกใสงาม
ด้วยจิตคารวะ
ส.อุทิศ
6 ตุลา 59
อ.พัลลภ กล่าวอีกวา ตนเป็นลูกชาวนาอยู่ในชนบทของอ.สันกำแพง และเป็นลูกชาวนา 2 คนแรกในหมู่บ้านที่มีโอกาสเรียนหนังสือเหมือนลูกข้าราชการและพ่อค้าในสมัยนั้น กระทั่งจบมศ.3 ที่โรงเรียนสันกำแพง และสอบเข้าโรงเรียนยุพราช และเข้าเรียนวิทยาลัยครูเชียงใหม่ในปี 2515 กระทั่งปี 2516 เหตุการณ์การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม ก็มีอิทธิพลมาถึงเชียงใหม่ ตนได้เข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษาชาวนาชาวไร่ และได้เดินขบวนไปที่ท่าแพสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ จนเหตุการณ์สงบลง
“ผลผลิตของชัยชนะในวันนั้นทำให้เกิดขบวนการนักศึกษา-ประชาชนขึ้นมา ในช่วงปิดภาคเรียนของปี 2 ก็สมัครเข้าร่วมโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย และไปฝึกการเรียนการเผยแพร่ที่อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา
กระทั่ง 6 ตุลาคม ทำให้เกิดเงื่อนไขทางการเมืองที่ทำให้ต้องเข้าป่า”
ต่อมา ในช่วงการเสวนาหัวข้อ “แด่เธอผู้เป็นดวงใจและไฟแห่งฝัน: ครูรุ่นใหม่กับการเปลี่ยนแปลงสังคม” นายชัยพงษ์ สำเนียง นักวิชาการและอดีตนักศึกษาวิชาชีพครู กล่าวว่า ขอนำเสนอผ่านเรื่องเล่าส่วนตัว เป็นการเดินทางของเก้าอี้ สู่การเป็นแมลงสาบของสังคม
“ตอนที่อยู่ม. 4 ใน จ.แพร่ มีครูเปิดวีดีโอ 6 ตุลา 19 ให้ดู เดิมที่เคยชอบไปโรงหนังในตัว อ.แพร่ เพื่อพักผ่อนตามประสาเด็กบ้านนอก จากนั้นก็เลิกดูหนังไปเลย”
สำหรับความขัดแย้งในสังคมไทยในภาคชนบท นับตั้งแต่การออกพ.ร.บ.เช่านาในปี 2517 ที่เป็นการเอาเปรียบชาวไร่ชาวนาที่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์กับเจ้าของนาครึ่งหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในชนบททำให้ไม่มีการผลิตเพื่อยังชีพ แต่เป็นการปลูกเพื่อขาย นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของระบบการศึกษาทำให้สังคมชนบทเปลี่ยนไป ยิ่งปี 2516 มีการเกิดขบวนการเคลื่อนไหวที่คนใช้สำนึกของประชาธิปไตย แต่หลังจากนั้นก็มีขบวนการโต้กลับ และทำให้เกิดการปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง ความรุนแรงที่กระทบกระเทือนต่อความศักดิ์สิทธิ คือ เป็นความรุนแรงที่กระทบกันของกลุ่มผู้มีอำนาจ
ชัยพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับหกตุลา เรามักจะเถียงว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่หกตุลาไม่ถูกนับเป็นประวัติศาสตร์ เพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เข้ารูปเข้ารอย เพราะถูกสอนมาตลอดว่าเราเป็นสังคมที่สมานฉันท์ภายใต้ราชาชาตินิยม แต่หกตุลาเป็นความจริงที่อิหลักอิเหลื่อ และเป็นการต่อสู้ของความทรงจำ ซึ่งไม่สามารถจัดวางไว้ตรงไหนได้
“เก้าอี้ตัวนี้เดินมาสู่แมลงสาปสังคม เพราะว่าถ้าเรามองวาทกรรมสมัยนั้น จาก 6 ตุลา – กันยา 49 หรือ พฤษภา 53 พวกเสื้อแดงถูกมองว่าไร้ค่า การฆ่าเสื้อแดงก็ไม่บาป เราจะทำอย่างไรให้ก้าวเข้าสิ่งนี้ได้ สำหรับปัญหาของระบบการศึกษา คณะศึกษาจัดเวทีแลกเปลี่ยนไม่มากนัก ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นระบบการผลิตความรู้ของครู เราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรที่ถกเถียงกันบ้าง ยอมรับความเป็นมนุษย์ โดนไม่ตีตราหรือสร้างให้ใคร การถกเถียงมันคือการหาจุดร่วมกัน ณ จุด ๆ หนึ่ง”
“6 ตุลา การจะรำลึกเหตุการณ์นี้ไม่ใช่จำเพาะเฉพาะคนเดือนตุลาเท่านั้น แต่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ เพราะมันเป็นพัฒนาการทางสังคม เราจะเห็นการต่อสู้ต่าง ๆ มีการต่อสู้ แย่งชิงความหมายต่าง ๆ ผ่านความทรงจำ ทำไมต้องอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และการสัมมนา ทั้งหมดเพื่อจะเปลี่ยนมายาคติที่มีอยู่ในหัว”
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ห้องเรียนไม่ใช่คำตอบของเรื่องนี้ อาจารย์อาจจะไม่คำตอบ แต่มันอยู่ที่พลังของนักศึกษาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ นี่คือจิตวิญญาณของมธ. และมช. เราต้องมองตัวเป็นผู้กระทำการ ไม่ใช่ให้คนอื่น ๆ เราจะขยับไปข้างหน้าได้ ตราบเท่าที่เรามองว่าความไม่เป็นธรรมยังเป็นโจทย์ของพวกเราอยู่.