วานนี้ 29 ก.ย. 2561 ณ ห้องทองกวาว โรงแรมกรีน นิมมาน (ยูนิเซิร์ฟ) อ. เมือง จ. เชียงใหม่ มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ร่วมกับมูลนิธิประชาธรรม และกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม เวทีสาธารณะ“สื่อสร้างสรรค์กับสิทธิพลเมืองผู้สูงวัยในสังคมผู้สูงอายุ” ขึ้นเนื่องในวันผู้สูงอายุสากล ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ทุกวันที่1 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันผู้สูงอายุสากล" หรือ "International Day of Older Persons" เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ และเป็นการส่งเสริมให้สาธารณะชนได้ตระหนักถึงคุณประโยชน์ คุณงามความดี ของผู้สูงอายุ ที่ได้ร่วมวางรากฐานและสรรค์สร้างทุกๆ สิ่งมาให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อสังคมต่อประเด็นผู้สูงอายุ อันเนื่องจากปัจจุบัน สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ จึงต้องมีการเตรียมการรองรับในหลายด้าน ทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการพื้นที่สาธารณะที่เอื้ออำนวยกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ สิทธิของผู้สูงอายุ และที่สำคัญคือการสื่อสารเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิพลเมืองที่ไม่ต่างจากประชากรกลุ่มอื่น ๆ จึงจำเป็นต้องผลักดันสื่อที่สร้างสรรค์และปลอดภัย สำหรับผู้สูงอายุ โดยเวทีสาธารณะ “สื่อสร้างสรรค์กับสิทธิพลเมืองผู้สูงวัยในสังคมผู้สูงอายุ”เป็นเวทีการนำเสนอเสียงของผู้สูงอายุ และเจตนารมณ์ของผู้สูงอายุต่อการจัดการชีวิตตัวเอง การจัดการสื่อที่สร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งในงานจะมีการเสวนาวิชาการเกี่ยวกับ “สื่อสร้างสรรค์กับการผลักดันสิทธิพลเมืองผู้สูงวัย” รวมทั้งมีการเผยแพร่ผลงานสื่อที่ได้รับรางวัลจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในหัวข้อ “รู้ทันสื่อ รู้ทันสิทธิพลเมืองผู้สูงวัย” ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่ และสื่อมวลชนได้เห็นความสำคัญของการสร้างสื่อที่สร้างสรรค์เพื่อผลักดันสิทธิพลเมืองผู้สูงวัยด้วย
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายมนัส ขันใส ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นประธานในพิธีเปิด และมีเครือข่ายผู้สูงอายุ เยาวชน และคนพิการ นักวิชาการด้านสื่อ สื่อมวลชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ตลอดจนการจัดซุ้มนิทรรศการของกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่จ.เชียงใหม่ การตรวจสุขภาพ การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมของกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น
พร้อมกันนั้น ผู้เข้าร่วมงานยังได้ประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล ประจำปี 2561 โดยให้ความสำคัญกับระบบการสื่อสารที่เป็นประชาธิปไตย การสื่อสารสร้างสรรค์ ที่เห็นคุณค่า บทบาทของผู้สูงอายุ การมีส่วนร่วมในการสื่อสาร ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย และส่งเสริมความเข้าใจของสาธารณชน พร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์อย่างมั่นคง
เจตนารมณ์ผู้สูงอายุ “สื่อสร้างสรรค์กับสิทธิพลเมืองผู้สูงวัย”
ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน 2561
ณ กรีนนิมมาน เชียงใหม่
สังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสังคมผู้สูงวัย “สื่อ” จะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนสิทธิของผู้สูงอายุ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารทั้งที่เสนอต่อผู้สูงอายุ และกลุ่มประชาชนทั่วไปจะเป็นดัชนีชี้วัดว่าสังคมให้ความสนใจต่อผู้สูงอายุอย่างแท้จริงหรือไม่
เรา กลุ่มผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ที่มาจากหลายพื้นที่ หลายอำเภอ ทั้งในเขตเมือง และภาคชนบทมีข้อเสนอต่อการทำงานของสื่อดังต่อไปนี้
ด้านการเตรียมความพร้อมในสังคมผู้สูงวัย
1.สื่อควรนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยทั้งด้านสุขภาพ แหล่งความรู้ และการจัดการพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
นำเสนอรูปแบบการจัดการดูแลสังคมผู้สูงอายุทั้งที่ชุมชนจัดการเอง และการจัดการโดยภาครัฐ และเอกชน
2. นำเสนอเนื้อหาที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุ กับคนรุ่นใหม่
3.นำเสนอเสียงของผู้สูงอายุกับนโยบายต่างที่เกี่ยวข้อง เช่นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย เช่น การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ทางเดินเท้า ห้องน้ำให้เหมาะกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องพิการ ระบบสวัสดิการของผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีพื้นที่การสื่อสาร
4.สื่อควรนำเสนอประเด็นที่เพิ่มคุณค่าให้กับผู้สูงอายุ เช่น การเผยแพร่กิจกรรมที่หลากหลายให้ผู้สูงอายุเข้าไปมีส่วนร่วม
ด้านการรู้เท่าทัน และเฝ้าระวังสื่อ
1.นำตัวอย่างประสบการณ์ของผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากการโฆษณาชวนเชื่อ หลอกซื้ออาหารเสริมราคาแพงมานำเสนอ
2.นำความเห็นของผู้สูงอายุเกี่ยวกับการผลิตสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุออกมานำเสนอ ให้ผู้ที่จะผลิตสื่อเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ และมีจิตสำนึกในการผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ไม่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า หรือถูกหลอก
3.สื่อควรนำเสนอความรู้เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้กับผู้สูงอายุเพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้รู้เท่าทัน และเฝ้าระวังสื่อได้
4.นำเสนอเนื้อหา วิธีการใช้ยา และอาหารเสริมที่ถูกต้อง
5.เผยแพร่ตัวอย่างกลุ่ม องค์กรที่มีการรวมกลุ่ม และทำกิจกรรมเรื่องผู้สูงอายุกับการรู้เท่าทัน และเฝ้าระวังสื่อเพื่อเป็นการสร้างการเรียนรู้ และทำให้กลุ่มอื่นๆ เห็นแนวทางการรู้เท่าทัน และเฝ้าระวังสื่อในผู้สูงอายุ
6.นำเสนอเนื้อหาที่ไม่เครียด วิธีดูแลตนเองของผู้สูงอายุ และวิธีการดูแลผู้สูงอายุสำหรับลูกหลาน