who we are

เราคือใคร

มูลนิธิสื่อประชาธรรมจดทะเบียนเมื่อปี 2558 เดิมคือ “สำนักข่าวประชาธรรม” อันเป็นองค์กร
สื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ ซึ่งต่อมาได้มีการขยายการระดมหุ้นจากสมาชิกเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นองค์กรสื่อที่ภาคประชาชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการสื่อสารและผลิตข่าวสารในประเด็นต่าง ๆ เนื่องจากข้อจำกัดของสื่อมวลชนกระแสหลัก (mainstreem media) ที่ไม่สามารถเข้ามาติดตามปัญหาในระดับท้องถิ่นได้ เพราะประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจไม่สามารถส่งผู้สื่อข่าวมาติดตามข่าว ประกอบกับแนวคิดของบรรณาธิการบางส่วนที่สนใจแต่ประเด็นระดับชาติและยังขึ้นอยู่กับสปอนเซอร์ที่สนับสนุนสื่อมวลชน ขณะที่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะรวมถึงประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นโดยส่วนใหญ่ล้วนเป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น

ในการดำเนินงานของสำนักข่าวประชาธรรมในปี 2542 -2557 ได้มีการดำเนินงาน 3 ด้านคือ

1. ผลิตข่าวสารข้อมูลข่าวสารเพื่อขยายพื้นที่ภาคประชาชนในสื่อกระแสหลักอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันในรูปแบบของ ข่าว บทความ รายงานพิเศษ ส่งให้แก่สื่อมวลชนกระแสหลัก 

2. ผลิตสื่อเพื่อหนุนเสริมขบวนภาคประชาชน เช่น เว็บไซต์ www.prachatham.com หนังสือ เช่น คู่มือการทำข่าว ประสบการณ์การทำข่าวของนักข่าวมืออาชีพ

3. สร้างอาสาสมัครผู้สื่อข่าว ในระดับท้องถิ่นตามจุดต่าง ๆ โดยการฝึกอบรมเช่นการสื่อข่าว เขียนข่าว การทำข่าวสืบสวนสอบสวนและการทำข่าวสิ่งแวดล้อม โดยประสานงานกับสมาคมนักข่าวและชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยในเรื่องกระบวนการดังกล่าว ภายหลังจากฝึกอบรมก็มีกระบวนการติดตามต่อโดยให้ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวประชาธรรมเป็นพี่เลี้ยงเพื่อช่วยในการทำข่าวจากพื้นที่

ช่วงปีแรก ๆ เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน ระหว่างปี 2547-2549 เริ่มมีการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังนักศึกษาในสถาบันราชภัฎ วิทยุชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในการดำเนินงานของสำนักข่าวประชาธรรมจะมีการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กลุ่มรักษ์เชียงของ กลุ่มฮักเมืองน่าน ฯลฯ เพื่อที่จะนำข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ดังกล่าวออกมาเผยแพร่ ขณะเดียวกันก็มีการเสริมศักยภาพบุคลากรในพื้นที่ดังกล่าวให้สามารถเป็นผู้สื่อสารเองได้ด้วย และเชื่อมต่อกับวิทยุชุมชนเพื่อใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่

ต่อมาในปี 2547 จากการสรุปบทเรียนการดำเนินงานของสำนักข่าวประชาธรรม พบว่าการดำเนินงานเพื่อสื่อสารแนวดิ่งเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะการสื่อสารแนวดิ่งหรือการช่วงชิงพื้นที่สื่อกระแสหลักเพื่อผลักดันประเด็นของภาคประชาชนไปสู่นโยบายสาธารณะนั้นยังประสบปัญหา เนื่องจากสื่อสารมวลชนเองก็มีการเปลี่ยนแปลง มีการควบรวมกิจการและผูกขาดมากขึ้น ถูกครอบงำจากภาคทุนและรัฐบาลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างหนัก ดังนั้นจึงมีการขยาย โครงการสื่อสารแนวราบ (local tallk) ขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่การสื่อสารของภาคประชาชนในแนวระนาบมากขึ้น

การทำงานของโครงการสื่อสารแนวราบมีภารกิจอยู่  3 ด้าน คือ

1. การพัฒนาสื่อทางเลือกเพื่อขยายการสื่อสารในแนวราบที่สอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น เช่น พัฒนาสถานีข่าววิทยุชุมชน การพัฒนาเว็บไซต์สื่อทางเลือก เช่น ผลิตจดหมายข่าว “ท้องถิ่นสนทนา” และทำรายการวิทยุ “ท้องถิ่นสนทนา”

2. การหนุนเสริม เชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารแนวราบในเครือข่ายภาคประชาชน เช่น การจัดเวทีโต๊ะข่าวสัญจรไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยง และ

3. การเสริมทักษะเครือข่ายในด้านการสื่อสาร เช่น การฝึกอบรมการใช้อินเตอร์เน็ตค้นข้อมูลให้แก่สถานีวิทยุชุมชน

BOARD OF DIRECTORS

กรรมการมูลนิธิ

ชยันต์ วรรธนะภูติ

ประธานมูลนิธิ

ไพสิฐ พาณิชย์กุล

รองประธานมูลนิธิ​

คำรณ คุณะดิลก

กรรมการ

นรินทร์ นำเจริญ

กรรมการ

นฤมล วันทนีย์

กรรมการ

รจนกร แบ่งทิศ

กรรมการ

ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ

กรรมการและเหรัญญิก

นันทา เบญจศิลารักษ์

กรรมการและเลขานุการ

OUR mission​

พันธกิจของเรา

เราคือกลุ่มคนที่ต้องการสนับสนุนให้เกิด
การเปลี่ยนแปลงผ่านการสื่อสารจากคนในท้องถิ่นเอง

ฝึกอบรม

ส่งเสริม จัดการฝึกอบรม ศึกษาวิจัย การพัฒนาระบบการสื่อสารมวลชน ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ส่งเสริมการมีคุณธรรม จริยธรรม เคารพสิทธิมนุษยชน และความหลากหลายของชาติพันธุ์

การใช้สื่อของชุมชนท้องถิ่น

ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาเรียนรู้ในการใช้สื่อของชุมชนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสื่อ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคม

สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยน

ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ด้านการสื่อสารมวลชน ระหว่างสถาบันการสื่อสารมวลชนในระดับต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ หลักสูตรการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

สนับสนุนให้เกิดการรวบรวมผลงานที่เกี่ยวกับการพัฒนา

สนับสนุนให้เกิดการรวบรวมผลงานที่เกี่ยวกับการพัฒนา การเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร และส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผลงานการพัฒนาสังคมเพื่อการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ผ่านทางระบบสื่อสารในช่องทางต่าง ๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต รวมทั้งสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ

เข้าร่วมกิจกรรมหรือดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์

เข้าร่วมกิจกรรมหรือดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ กับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์

ส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ในสังคมคู่มือ

การดำเนินการใด ๆ ของมูลนิธิไม่มีวัตถุประสงค์ในการทางการเมือง หรือแสวงหาผลกำไร การดำเนินการและจัดทำกิจกรรมใด ๆ ของมูลนิธิต้องเป็นไปเพื่อการส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ในสังคม

OUR HistOry

ผลวัตของประชาธรรม

จากสำนักข่าวท้องถิ่นสู่ผู้สนับสนุนให้เกิดการสื่อสาร

ปี 2542-2548

ปี 2542-2545 พัฒนากองบรรณาธิการ  และโต๊ะข่าว  และการพัฒนาเว็บไซต์กลาง (www.prachatham.com)

ปี 2546 จัดทำโครงการฝึกอบรมผู้สื่อข่าวเชิงลึก เช่น ทำข่าวสัมภาษณ์ การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เทคนิคการเขียนรายงานพิเศษ ร่วมกับสมาคมนักข่าว และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

ปี 2547 โครงการฝึกอบรมผู้สื่อภูมิภาค 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

ปี 2547 พัฒนาเว็บไซต์ Localtalk เพื่อเป็นการเชื่อมโยงการสื่อสารในแนวระนาบกับเครือข่ายวิทยุชุมชน องค์กรชุมชน และนักข่าวในท้องถิ่น โดยเน้นเนื้อหาที่กว้างออกไป และทำให้คนในท้องถิ่นเข้าถึงเนื้อหาระดับโลก และนโยบายไปพร้อม ๆ กัน

ปี 2547 โครงการฝึกอบรมเยาวชนด้านเอดส์ ร่วมกับมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา

ปี 2547 โครงการฝึกอบรมให้กับสถานีวิทยุชุมชน ในการเป็นผู้สื่อข่าว ร่วมกับเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ และเครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา

ปี 2548 โครงการฝึกอบรมผู้สื่อข่าวกับนโยบายสาธารณะ ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่

ปี 2548 โครงการฝึกอบรมผู้สื่อข่าวเยาวชนที่ จ.นครสวรรค์ ร่วมกับ เครือข่ายเอดส์และสุขภาพ

ระยะสร้างฐาน พัฒนาเว็บไซต์ www.prachatham.com 

ไทุนดำเนินงานเริ่มต้นมาจากการระดมทุนขององค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศจำนวน 200,000 บาท และ ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และการขายข่าวให้แก่สื่อกระแสหลัก

ปี 2549-2556

ปี 2549 โครงการฝึกอบรมผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเรื่องความยากจน ที่จ.เพชรบุรี จ.เชียงราย ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาในระดับท้องถิ่น เช่น สถาบันราชภัฎเชียงราย

ปี 2550 โครงการจัดตั้งผู้สื่อข่าวท้องถิ่น นำร่องจัดตั้งศูนย์ข่าวท้องถิ่นในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และจ.เชียงราย ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

ปี 2550-2554 จัดทำโครงการจัดตั้งนักข่าวพลเมืองพื้นที่ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และ แม่ฮ่องสอนได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

ปี 2550-2554 จัดทำโครงการสื่อสารแนวราบ (Local Talk) ได้รับทุนสนับสนุนจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และ สสส. ในการพัฒนาเว็บไซต์ Local talk และการสนับสนุนการสื่อสารระหว่างชุมชน ผลิตสื่อและวิทยุชุมชน

ปี 2550-2556 จัดทำโครงการ Alternative Journalist ได้รับทุนสนับสนุนจาก OSF (Open Society Foundation)

ปี 2551-2554 การจัดทำโครงการนักข่าวสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง-ฝาง จ.เชียงใหม่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ระยะขยายตัว สร้างเครือข่ายผู้สื่อข่าว และนักสื่อสารทั้งในแนวดิ่งและแนวราบได้รับ

ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Open Soceity Foundation (OSF)  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

ปี 2556-2565

ปี 2556-2557 โครงการประชาธรรมทีวี และการพัฒนาสื่อพลเมือง ได้รับทุนสนับสนุนจาก usaid

ปี 2562-2563 โครงการพัฒนากระบวนการสื่อสารเพื่อสิทธิพลเมืองของผู้สูงวัย ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสื่อสร้างสรรค์

ปี 2563-2564 โครงการเยาวชนเท่าทันสื่อรับมือโรคอุบัติใหม่ในชุมชน ภายใต้โครงการ MIDL for Inclusive Cities 2020 ได้รับทุนจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน

ปี 2564-2566 โครงการสร้างนักสื่อสารสิ่งแวดล้อมเพื่อเฝ้าระวังและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (เชียงใหม่) ได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จัดตั้งเป็นมูลนิธิสื่อประชาธรรม

ได้รับทุนสนับสนุนจาก United States Agency for International Development (Usaid) และกองทุนสิ่งแวดล้อม  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทุนสื่อสร้างสรรค์ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)