who we are
เราคือใคร
มูลนิธิสื่อประชาธรรมจดทะเบียนเมื่อปี 2558 เดิมคือ “สำนักข่าวประชาธรรม” อันเป็นองค์กร
สื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ ซึ่งต่อมาได้มีการขยายการระดมหุ้นจากสมาชิกเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นองค์กรสื่อที่ภาคประชาชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการสื่อสารและผลิตข่าวสารในประเด็นต่าง ๆ เนื่องจากข้อจำกัดของสื่อมวลชนกระแสหลัก (mainstreem media) ที่ไม่สามารถเข้ามาติดตามปัญหาในระดับท้องถิ่นได้ เพราะประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจไม่สามารถส่งผู้สื่อข่าวมาติดตามข่าว ประกอบกับแนวคิดของบรรณาธิการบางส่วนที่สนใจแต่ประเด็นระดับชาติและยังขึ้นอยู่กับสปอนเซอร์ที่สนับสนุนสื่อมวลชน ขณะที่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะรวมถึงประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นโดยส่วนใหญ่ล้วนเป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น
ในการดำเนินงานของสำนักข่าวประชาธรรมในปี 2542 -2557 ได้มีการดำเนินงาน 3 ด้านคือ
1. ผลิตข่าวสารข้อมูลข่าวสารเพื่อขยายพื้นที่ภาคประชาชนในสื่อกระแสหลักอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันในรูปแบบของ ข่าว บทความ รายงานพิเศษ ส่งให้แก่สื่อมวลชนกระแสหลัก
2. ผลิตสื่อเพื่อหนุนเสริมขบวนภาคประชาชน เช่น เว็บไซต์ www.prachatham.com หนังสือ เช่น คู่มือการทำข่าว ประสบการณ์การทำข่าวของนักข่าวมืออาชีพ
3. สร้างอาสาสมัครผู้สื่อข่าว ในระดับท้องถิ่นตามจุดต่าง ๆ โดยการฝึกอบรมเช่นการสื่อข่าว เขียนข่าว การทำข่าวสืบสวนสอบสวนและการทำข่าวสิ่งแวดล้อม โดยประสานงานกับสมาคมนักข่าวและชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยในเรื่องกระบวนการดังกล่าว ภายหลังจากฝึกอบรมก็มีกระบวนการติดตามต่อโดยให้ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวประชาธรรมเป็นพี่เลี้ยงเพื่อช่วยในการทำข่าวจากพื้นที่
ช่วงปีแรก ๆ เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน ระหว่างปี 2547-2549 เริ่มมีการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังนักศึกษาในสถาบันราชภัฎ วิทยุชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในการดำเนินงานของสำนักข่าวประชาธรรมจะมีการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กลุ่มรักษ์เชียงของ กลุ่มฮักเมืองน่าน ฯลฯ เพื่อที่จะนำข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ดังกล่าวออกมาเผยแพร่ ขณะเดียวกันก็มีการเสริมศักยภาพบุคลากรในพื้นที่ดังกล่าวให้สามารถเป็นผู้สื่อสารเองได้ด้วย และเชื่อมต่อกับวิทยุชุมชนเพื่อใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่
ต่อมาในปี 2547 จากการสรุปบทเรียนการดำเนินงานของสำนักข่าวประชาธรรม พบว่าการดำเนินงานเพื่อสื่อสารแนวดิ่งเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะการสื่อสารแนวดิ่งหรือการช่วงชิงพื้นที่สื่อกระแสหลักเพื่อผลักดันประเด็นของภาคประชาชนไปสู่นโยบายสาธารณะนั้นยังประสบปัญหา เนื่องจากสื่อสารมวลชนเองก็มีการเปลี่ยนแปลง มีการควบรวมกิจการและผูกขาดมากขึ้น ถูกครอบงำจากภาคทุนและรัฐบาลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างหนัก ดังนั้นจึงมีการขยาย โครงการสื่อสารแนวราบ (local tallk) ขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่การสื่อสารของภาคประชาชนในแนวระนาบมากขึ้น
การทำงานของโครงการสื่อสารแนวราบมีภารกิจอยู่ 3 ด้าน คือ
1. การพัฒนาสื่อทางเลือกเพื่อขยายการสื่อสารในแนวราบที่สอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น เช่น พัฒนาสถานีข่าววิทยุชุมชน การพัฒนาเว็บไซต์สื่อทางเลือก เช่น ผลิตจดหมายข่าว “ท้องถิ่นสนทนา” และทำรายการวิทยุ “ท้องถิ่นสนทนา”
2. การหนุนเสริม เชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารแนวราบในเครือข่ายภาคประชาชน เช่น การจัดเวทีโต๊ะข่าวสัญจรไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยง และ
3. การเสริมทักษะเครือข่ายในด้านการสื่อสาร เช่น การฝึกอบรมการใช้อินเตอร์เน็ตค้นข้อมูลให้แก่สถานีวิทยุชุมชน

OUR mission
พันธกิจของเรา
เราคือกลุ่มคนที่ต้องการสนับสนุนให้เกิด
การเปลี่ยนแปลงผ่านการสื่อสารจากคนในท้องถิ่นเอง
OUR HistOry
ผลวัตรของประชาธรรม
จากสำนักข่าวท้องถิ่นสู่ผู้สนับสนุนให้เกิดการสื่อสาร