เรื่องและภาพ อนันต์ พรหมลิขิตศิลป์
เวลาพูดถึงพื้นที่สีเขียวสันกำแพง เราจะมองเห็นแนวต้นฉำฉาบนถนนสายสันกำแพง -เชียงใหม่ ระยะทาง 11 กม.ที่มีผู้ปลูกต้นไม้ฉำฉาไว้ตลอดสองข้างทางเพื่อสร้างร่มเงาแก่ผู้สัญจรเมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้ว และเมื่อปี พ.ศ. 2548 กลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง โดยมีแกนนำเช่นพระจำรัส บุญหล่อ, พ่อหลวงกมล นำบุญจิตต์, ดร.นพดล ก้อนคำ,สล่าเพ็ชร วิริยะ, ผู้เขียน รวมถึงจิตอาสาจากภาคประชาชน นักเรียน นักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ช่วยกันระดมแรงขุดรอบโคนต้นฉำฉาที่ถูกราดยางมะตอยจนชิดลำต้น เพื่อหวังว่าต้นไม้จะได้รับอากาศและน้ำฝนซึมสู่รากได้ดีขึ้นเมื่อถึงฤดูฝน ได้มีการบวชต้นฉำฉา และปล่อยพันธุ์กล้วยไม้ฝากไว้ที่ลำต้นเพื่อเพิ่มความสวยงามในวันที่กล้วยไม้ออกดอกเพื่อให้ต้นฉำฉาอยู่ให้ร่มเงาและความร่มเย็นแก่คนสันกำแพง แต่อย่างไรก็ตามในอ.สันกำแพง ยังมีพื้นที่สีเขียวและธรรมชาติที่ชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ดูแลอยู่อีกหลายจุด ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในฤดูหมอกควัน วันนี้จะแนะนำป่าชุมชน “กู่ลัวะปงไหว” ที่ดูแลโดยชุมชนร้องวัวแดง ต.ร้องวัวแดง และบ้านป่าตึง ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง
กู่ลัวะปงไหวคืออะไร
ก่อนอื่นขอเล่าประวัติและความเป็นมาของกู่ลัวะปงไหวให้รู้จักกันก่อนพอเป็นสังเขป (เผื่อมีผู้อยากไปเที่ยว) ‘ปงไหว’ เป็น ภาษาล้านนา หมายถึง เขตดินพรุ เป็นที่ชุ่มน้ำ มักเกิดในแหล่งชุ่มชื้น หรือเขตป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อเดินหรือขย่ม ผิวดินจะสะเทือนไหวได้ บริเวณ “ป่าดง ปงไหว” ตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้านม่วงเขียว หมู่ที่ 4 ตำบลร้องวัวแดง และบ้านป่าตึง หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง ซึ่งเป็นป่าหนาทึบ ไม่ปรากฏหลักฐานความเป็นมาที่ชัดเจน แต่จากการบอกเล่าของ ผู้เฒ่า และผู้รู้ในหมู่บ้านเล่าว่า เดิมเป็นสถานที่พักแรมของพ่อค้าต่างถิ่นที่สัญจรขนส่งสินค้า โดยจะนำวัวต่าง ม้าต่าง มาพักแรมที่ดอยน้อย (สมัยก่อนเรียกว่าดอยแกลบ) และเจดีย์กู่ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถพบพระธาตุ และบ่อน้ำ เก่าแก่ตั้งอยู่ ชาวบ้านเล่าว่าได้มีคนมาขโมยขุดของมีค่าไปและชาวบ้าน ก็ยังได้พบ โบราณวัตถุที่ชนเผ่าลัวะฝังไว้อยู่ด้วย อีกทั้ง ยังมีเศษซากโบราณสถานอยู่ ปัจจุบันได้สูญหายไปบ้าง สำหรับ “ป่าดง ปงไหว” ก็เป็นสถานที่มีแผ่นดินดูด เวลาชาวบ้านสมัย ก่อนนำโค กระบือ มาเลี้ยงก็จะถูกปงดินตรงนั้นดูด ทำให้เสียชีวิตและข้าวของ จนมาถึงปัจจุบันนี้ยังมีน้ำชุ่มชื้น และมีปลาเป็น จำนวนมาก บริเวณดังกล่าวยังเป็นลาน จักจั่นข่วงเจิง (ที่คนสมัยก่อนใช้ฝึกซ้อม เจิง หรือศิลปะป้องกันตัวเชิงมวย และเชิงรบ)
ชาวบ้าน บ้านม่วงเขียว ตำบลร้องวัวแดง และชาวบ้านตำบลห้วยทราย ได้เล็งเห็นความสำคัญในตำนานและความสมบูรณ์ ของผืนป่าชุมชนนาม “ป่าดง ปงไหว” จึงได้หารือร่วมกันในการพัฒนาอนุรักษ์ปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม เห็นควรให้จัด ทำโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมรองรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอำเภอสันกำแพง ตามแนวทาง การท่องเที่ยวแบบมีความสนใจพิเศษ (Special Interested Tourism) ในโลกยุคที่สามนี้
แหล่งเรียนรู้ชุมชนด้านนิเวศวัฒนธรรมและธรรมชาติ
วัดก่อละ (กู่ลัวะ)
วัดก่อละเป็นหนึ่งในวัดร้างโบราณ 3 จุด ในชุมชนปงไหววัดที่ 1 คือ วัดดอยหน้อย (วัดม่วงเขียวในปัจจุบัน) วัดที่ 2 คือ วัด ก่อละ (กู่ลัวะ) วัดที่ 3 คือวัดปงไหว วัดก่อละสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างก่อน พ.ศ. 2380 มีอายุ มากกว่า 200 ปี อาจมีอายุราว 700 ปี ร่วมสมัยกับหริภุญไชย ร่องรอยที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันประกอบด้วยเจดีย์ร้างรูปทรงล้านนา ฐานเขียงย่อเกรด ส่วนยอดพังทลายลงหมดแล้วชาวบ้านเรียกว่า “กู่ลัวะ” ด้วยเคยเป็นที่อยู่ของชุมชมลัวะมาก่อน ฐานพระวิหาร หรืออุโบสถขนาดความกว้าง x ยาวประมาณ 50 x 20 เมตร เครื่องหลังคาและผนังโดยรอบพังทลายลงหมดแล้ว สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นราวสมัยเดียวกับกู่ลัวะ
น้ำบ่อทิพย์
น้ำบ่อทิพย์ เป็นบ่อน้ำขนาดความกว้างปากบ่อประมาณ 1 เมตร ความลึกประมาณ 4 เมตร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบ่อน้ำ ศักดิ์สิทธิ์ รักษาโรคภัยต่างๆ ได้ ภายในวัดก่อละในปัจจุบันเป็นสถานที่ทำพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ด้วยปีไหนฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลชาวบ้าน จะ นิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีสวดพระคาถาปลาช่อนบวงสรวงสังเวยเทพยดาฟ้าดินเพื่อขอฝน หลังจากพิธีดังกล่าวเสร็จสิ้นลงแล้ว ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาลเป็นปกติเป็นที่น่าอัศจรรย์
แหล่งเตาหลอมเหล็กปงไหว
จากหลักฐานที่พบว่าบริเวณนี้ และบริเวณโดยรอบกว้างกว่า 1 ตารางกิโลเมตร พบเศษชิ้นส่วนของเศษเหล็กหลอมกระจัด กระจายเป็นหย่อมๆ เป็นบริเวณกว้าง สันนิษฐานว่าบริเวณโดยรอบนี้เป็นแหล่งเตาหลอมเหล็ก ตีเหล็กทำเป็นเครื่องใช้และ ยุทโธปกรณ์ส่งไปที่พันนา แช่ช้างส่งไปยังเมืองเชียงใหม่ และหริภุญไชยใช้ในการทำศึกสงครามจากแหล่งเตาและวิเคราะห์เศษ เหล็กหลอมพบว่าเป็นแหล่งผลิตที่มีมาช้านานมากกว่าพันปีจนถึงสมัยพม่าครองเมืองล้านนาสกุลชนทั้งหลายถูกกวาดต้อนไป พม่าจนหมดสิ้น จึงขาดความสืบต่อของงานช่างเหล่านี้จวบจนปัจจุบัน
ข่วงเจิง
“ข่วงเจิง” เป็นที่ภายในป่าดงปงไหวเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกวิชาป้องกันตัวสมัยโบราณ เช่น ฟันดาบ ชกมวย และศิลปะป้องกันตัว
จอผีหมา
เป็นสถานที่ทำพิธีบูชายันต์ ในแต่ละปีชาวบ้านจะนำสุนัขมาฆ่าเช่นสังเวยบูาชาเทพยดาฟ้าดินบวงสรวง เพื่อให้เกิด ความสงบสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเป็นปกติของชุมชน
น้ำบ่อยา
จากปงไหวระยะทางประมาณ 500 เมตร พบตาน้ำโบราณผุดออกจากใต้ต้นตะเคียนใหญ่ ชาวบ้านตั้งศาลบูชาเป็นตาน้ำ ที่หยุดไหลแล้วชาวบ้านเรียก “น้ำบ่อยา” ในสมัยโบราณใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ ได้
ไร่ลุงแสน
เป็นสถานที่ที่ลุงแสนไปถากถางปลูกสวนลำไยเป็นพื้นที่กว้างพอสมควร ณ ปัจจุบันไร่นี้ยังคงมีร่องรอย ให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน
เถาวัลย์สวย
เป็นรากไม้ใหญ่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีให้พบเห็นหลายจุดตามเส้นทางเดินเข้าสู่ ป่าดง ปงไหว
พลังชุมชนกับการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว
ผู้เขียนเดินทางไปพบคุณจันทร์ฉาย ธิมะโน ชาวบ้านม่วงเขียว ต.ร้องวัวแดง หนึ่งในแกนนำกลุ่มอนุรักษ์กู่ลัวะปงไหว เพื่อขอสัมภาษณ์เรื่องพลังของชุมชนที่ช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้ ดั่งที่ทราบกันว่ารัฐบาลไทยบางยุคก็ได้เปิดสัมปทานป่าไม้โดยเสรี หรือไม่ก็มีชาวบ้านแอบบุกรุกหักร้างถางพงเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ป่ากู่ลัวะก็หนีไม่พ้นที่ต้องเจอเหตุการณ์เเบบนี้
คุณจันทร์ฉาย ธิมะโน ได้เล่าให้ฟังว่า
“ปี พ.ศ.2547 ชาวบ้านม่วงเขียว และบ้านป่าตึง เล็งเห็นความสำคัญของผืนป่าชุมชนแห่งนี้ จึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนกู่ลัวะขึ้น โดยช่วยกันเป็นจิตอาสาเข้าไปปรับภูมิทัศน์ สร้างฝายชลอน้ำ บวชป่า ฟื้นฟูป่าโดยปลูกต้นไม้เสริม เช่นต้นสัก ยางนา ต้นหว้า และไม้เบ็ญจพรรณอื่นๆ ในพื้นที่ป่าประมาณ 200 ไร่รอบบริเวณกู่ลัวะปงไหว (ต่อมามีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนับสนุนด้านวิชาการ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่จัดงบประมาณสนับสนุน) และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเมื่อปี พ.ศ.2549”
จันทร์ฉาย ธิมะโน
ปัจจุบันนี้ หากใครได้ไปเยือนกู่ลัวะปงไหว ก็จะได้เห็นผืนป่าเบ็ญจพรรณเขียวชะอุ่มสุดลูกตา แลดูสดชื่นร่มเย็น เป็นป่าบริสุทธิ์เต็มพื้นที่ 200 ไร่ เป็นแหล่งต้นน้ำสำหรับเกษตรกรหลายๆ หมู่บ้านโดยรอบ ถือเป็นปอดของชุมชนและสำหรับนักออกกำลังกายจากที่ต่างๆ ทั้งที่มาวิ่งหรือปั่นจักรยานรอบๆ ป่าทุกๆ วันทั้งเช้าและเย็น ด้วยป่าช่วยสร้างออกซิเจนไว้อย่างดีนั่นเอง
ก่อนจากกัน ผู้เขียนสังเกตเห็นรอยยิ้มและแววตาของคุณจันทร์ฉายที่บ่งบอกถึงความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับชาวบ้านช่วยกันรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้เป็นป่าของชุมชนอย่างแท้จริง ป่าให้ประโยชน์มากมายหลายอย่างตามที่กล่าวมา ยังไม่นับว่าเป็นแหล่งสมุนไพร แหล่งอาหารธรรมชาติตามฤดูกาล เช่นหน่อไม้ หัวมัน และเห็ดหลากชนิดที่ออกอย่างดกดื่น ถือเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต (เก็บฟรี) ของชุมชนกันเลยทีเดียว
พื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยพลังของชุมชนในอำเภอสันกำแพงยังมีอีกหลายแห่ง ผู้เขียนจะหาโอกาสไปสำรวจและเขียนเล่าในโอกาสต่อไป
envilocaleyes#ประชาธรรมชวนอ่าน #พื้นที่สีเขียวในเมือง #พื้นที่สีเขียวสันกำแพง #กองทุนสิ่งแวดล้อม
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ