เรื่อง: ทอฝัน กันทะมูล
‘อากาศ’ คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราและเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต มนุษย์จะตาย หากขาดอากาศหายใจมากกว่า 4 นาที แต่สำหรับการหายใจเอามลพิษเข้าไป ยังไม่มีข้อมูลวิชาการชัดเจนว่า ‘กี่นาที’ จึงจะเสียชีวิต ถึงอย่างนั้นการสูดดมมลพิษทางอากาศเข้าไปจะส่งผลต่อระบบร่างกายแน่นอน เพียงแต่ละร่างกายจะตอบสนองอย่างไร เมื่อไหร่เท่านั้น
ปัจจุบัน มะเร็งปอดสามารถแยกชนิดจากสาเหตุของการเกิดมะเร็งได้ว่าเป็นมะเร็งที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ชนิด Squamous Carcinoma หรือชนิดที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ชนิด Adenocarcinoma และในงานวิจัยของ รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง หัวหน้าหน่วยวิชามะเร็งวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าภาคเหนือของประเทศไทยเคยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจากบุหรี่จำนวนมาก แต่ในขณะนี้มะเร็งปอดชนิดที่เกิดจากมลพิษนั้นมีสูงขึ้นมากกว่า รวมถึงการสูดดม PM2.5 ทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าเดิม 2 เท่า และภาคเหนือยังครองตำแหน่งมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดสูงที่สุดในประเทศอีกด้วย
เหตุนี้จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเชียงใหม่ต้องตื่นตัวเรื่องปัญหามลพิษจากหมอกควันพิษ แต่มีเพียงช่วงต้นปีหรือฤดูฝุ่นเท่านั้นที่มีความกระตือรือร้น เพราะภาพถ่ายดอยสุเทพที่เลือนลาง
“แหล่งกำเนิดของฝุ่นเราก็สนใจอยู่หลายแหล่งและเป็นแหล่งสำคัญคือจากการจราจร ฝุ่นจากถนน การเผาชีวมวลและฝุ่นทุติยภูมิ ”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยข้อมูลจากการทดลองเก็บตัวอย่างฝุ่นในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ พบสัดส่วนสาเหตุของหมอกควัน PM2.5 ที่มากที่สุดในช่วงฤดูฝุ่น เกิดจากการเผาชีวมวล ส่วนช่วงนอกฤดูฝุ่นสาเหตุที่มากที่สุดเกิดจากการจราจร แม้ความเข้มข้นของฝุ่นพิษจะต่ำกว่า แต่หมายความว่าเราก็ยังสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 อยู่ในทุกวัน ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกฤดูฝุ่น
“ได้รับสารมลพิษพวกนี้เป็นระยะเวลาติดต่อกัน แม้จะเป็นช่วงเวลาเดียวของปี ก็มีโอกาสทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้”
อย่างที่ทุกคนทราบ ปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่มีมานาน หลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือและพยายามแก้ปัญหา รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามแผนนี้ได้ลงมาในระดับเทศบาลและอำเภอก็ต้องปรับเปลี่ยนตามพื้นที่ เมื่อได้มองปัญหานี้อย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่า ฝุ่นควันพิษไม่ใช่มลพิษทางอากาศเดียวที่คนเชียงใหม่ต้องเจอ มลพิษทางอากาศจากการเกษตร อุตสาหกรรมหรือการจราจรก็พบมากขึ้น ผ่านปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเมือง
พื้นที่รอบนอกเมืองเชียงใหม่ พื้นที่ที่ถูกมองข้าม
พื้นที่รอบนอกเมืองเชียงใหม่ เดิมเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและการเกษตร แต่แล้วผู้คนก็เริ่มตามหาพื้นที่สงบ ไม่วุ่นวายและอากาศดี พื้นที่นอกเมืองเชียงใหม่จึงถูกเลือกโดยคนต่างจังหวัด ต่างชาติหรือคนในเมืองเชียงใหม่เองให้เป็นถิ่นฐานใหม่ เมื่อหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมทยอยโผล่ขึ้นรอบเมือง มันคือสัญญาณการขยายตัวของเมือง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่กึ่งเมือง บางพื้นที่ก็จะติดป่า ติดพื้นที่ทางเกษตรหรือติดอุตสาหกรรมเดิม แผนผังเมืองและการจัดการภาครัฐก็ไม่ได้มีการเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้ เมื่อถึงฤดูฝุ่นหรือเกิดไฟป่าพื้นที่เหล่านี้ก็มักเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักจากฝุ่นควัน แต่ก็ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ยกตัวอย่างพื้นที่หนองควาย เคยมีการร้องเรียนปัญหากลิ่นจากฟาร์มหมูที่ตั้งอยู่ก่อน ทำให้ทางเทศบาลต้องเข้ามาจัดการปัญหากลิ่นและสุขอนามัยระหว่างฟาร์มและชุมชนหมู่บ้านจัดสรร ไม่นานมานี้หลังกัญชากลายเป็นสิ่งถูกกฏหมาย ชาวบ้านก็ร้องเรียกฟาร์มกัญชาที่เข้ามาตั้งอยู่ใกล้วัดและชุมชน เนื่องจากกลิ่น สิ่งเหล่านี้เองคือตัวอย่างบางส่วนของปัญหามลพิษทางอากาศที่มากกว่า PM2.5 ในพื้นที่เชียงใหม่ กล่าวคือมีทั้ง PM 2.5 และมลพิษอื่นๆ ปะปนด้วยเช่น สารเคมีที่เผารวมกับวัสดุทางการเกษตร ฝุ่นจากโรงงานขนาดเล็กที่ปะปนอยู่กับที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากไม่มีการวางผังเมือง
“ทางเทศบาลมีการรับเรื่องร้องเรียนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะชี้จุดลักลอบเผา หรือปัญหาที่ชาวบ้านเจอ เรื่องกลิ่นดอกกัญชา จากฟาร์มกัญชาที่กระทรวงอนุมัติได้แล้ว แต่ในเทศบัญญัติ ยังไม่มี เทศบาลก็ต้องทำการเจรจาและแก้ไขปัญหาให้ทั้งสถานประกอบการและชาวบ้าน ต้องเห็นใจทั้งสองฝ่าย เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”
น.ส.กัญจนะ เหล่มนำชัย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม พูดถึงกรณีชาวบ้านหนองควายร้องเรียนกลิ่นจากโรงงานปลูกกัญชาในพื้นที่ใกล้ชุมชนและวัด เทศบาลจึงได้เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา เนื่องจากกลิ่นของดอกกัญชาทำให้เกิดความรำคาญและมีเทอร์พีนที่เป็นสารระเหย เมื่อสูดดมในปริมาณมากทำให้มึนหัว คอแห้งและบางคนอาจมีอาการแพ้ได้ อ้างอิงจากสถานการณ์พื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท ทำให้ปัญหาในชุมชนหนองควายทับซ้อนกับชุมชนและสถานประกอบการ แม้ความเจริญเข้ามาให้เศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
“เหมือนหายใจเอาทรายเข้าไป มันจะแสบ ข้างในของหูก็แปลก ๆ เย็น ๆ แสบ ๆ
ไม่ได้เกี่ยวกับหมอกควัน เพราะมาทุกวัน ไม่เว้นสักวัน มีทั้งวันที่ฝนตกและแดดออก”
“ตั้งแต่ปี 61 เริ่มมีการเผาและไม่ใช่การเผาแบบปกติธรรมดา เพราะกลิ่นมันแรง ไหม้ ๆ ฉุน ๆ ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์”
“มีอาการไอเรื้อรัง 3เดือน ไอแห้งๆ เข้าใจว่าเปนวัณโรค แต่ 6เดือนไม่หาย เลยได้ตรวจเพิ่มเติมและทราบว่าเป็นมะเร็งปอดชนิดที่รุนแรง”
เสียงจากคนในชุมชนหนองควาย ที่พบเจอมลพิษทางอากาศไม่ใช่แค่ฝุ่นควัน ในขณะที่มีการร้องเรียนพบปัญหาโดยชาวบ้าน เทศบาลจะรับเรื่องและได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้บุคลากรและอุปกรณ์จากทางจังหวัดที่มีมาตรฐาน เพื่อหาข้อตกลงระหว่างกลางอย่างประนีประนอม แต่ถ้าหลักฐานไม่เพียงพออาจทำให้การแก้ไขไม่สำเร็จได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม เทศบาลหนองควายได้อธิบายการทำงานรับเรื่องร้องเรียนปัญหาในพื้นที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จะมีเครื่องมือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมงานกัน รวมไปถึงหาข้อสรุปการแก้ปัญหานั้น ๆ จะเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานมากกว่า
“เชียงใหม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ รับเรื่องร้องเรียน แจ้งให้เขาเข้าไปตรวจวัดได้ ซึ่งถ้าแจ้งหน่วยงานท้องถิ่นระดับภาคอาจจะไวกว่า แต่ละที่มีเครื่องมือบางชนิด ตามแต่งบและการจัดซื้อ”
อาจารย์สมพร เสริมเมื่อถามถึงช่องทางการแจ้งเหตุเมื่อสงสัยว่าในพื้นที่อาจมีมลพิษทางอากาศ ยายสีตาสาหรือเยาวชนจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากแค่ไหน เมื่อไม่มีความรู้หรือเครื่องมือในการเก็บหลักฐานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับเรื่องร้องทุกข์ได้ ในบริบทนี้เอง อุปกรณ์ตรวจวัดทางวิทยาศาตร์ก็ราคาแพง 1 เครื่องวัดยังตรวจค่ามลพิษได้เพียงบางตัว อย่างน้อยต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรืออาจเขียนโครงการขอทุนได้ในนามของนักวิจัยจึงจะสามารถเก็บข้อมูลตัวร้ายในอากาศนี้ได้
อากาศพิษในชุมชนเมือง ทำให้เห็นอีกปัญหาของการวางผังเมืองที่พังแล้วพังอีก แม้จะมีการจัดส่วนของพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรมแยกออกจากกัน จังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการวางผังเมืองโดยไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของเมือง เมื่อคนเข้ามาท่องเที่ยว อยู่อาศัยและทำงานในเมืองมากขึ้น ไม่ได้มีการควบคุมการก่อสร้าง ระบบขนส่งสาธารณะไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาจึงขดกันเป็นปมใหญ่ สุดท้ายแล้วพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมก็มีหมู่บ้าน หอพักและห้างร้านเข้ามา พื้นที่นอกเมืองกลายเป็นรูปแบบกึ่งเมืองกึ่งชนบท
นอกจากนี้คือการเปลี่ยนแปลงพรบ.โรงงานใหม่ ปี 2562 ที่กำหนดความหมายในเชิงกฏหมายของโรงงานใหม่ ตัวชี้วัดเป็นจำนวนคนงานและขนาดแรงม้าของอุปกรณ์
แบบนี้จะทำให้ธุรกิจที่มีคนงานไม่ถึง 50 คน นับเป็นเพียงสถานประกอบการ แม้ว่าอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ก็สามารถตั้งในพื้นที่ชุมชนได้เพราะไม่ใช่โรงงาน อย่างนั้นหรือ ?
“ดอยสุเทพหมองศรี ประเพณีเผาป่า บุปผาชาติล้วนบ่งาม นามล้ำค่า AQI“
ข้อความด้านบนคงไม่เกินจริง หลังเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ผ่านไป ชาวเชียงใหม่คงต้องลุ้นกันต่อว่าฝุ่นควันพิษครั้งนี้จะทำให้ตัวเองไม่สบายอย่างไรบ้าง? ค่า AQI วันนี้จะถึงร้อยไหม? จะต้องเสียเงินค่าไฟหรือค่าหน้ากาก N95 อีกเท่าไหร่?
ซ้ำในปีพ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้ ยังมีปรากฏการณ์เอลนีโญ รูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในแปซิฟิกเขตร้อน การเวียนกลับมาของภัยแล้งขั้นรุนแรงที่ทำให้อากาศแห้ง ร้อน ฝุ่นละเอียดเบาบางลงยากและอาจจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามทางจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มแผนการดำเนินเตรียมความพร้อมดูแล 7 ป่า ที่พบจุด Hot Spot จำนวนและการเผาซ้ำซาก แผนใหม่นี้ตั้งใจจะให้มีผู้ดูแลรับผิดชอบช่วยกันสอดส่องและควบคุมการเผาในพื้นที่ป่า โดยป่าที่สำคัญคือป่าสุเทพ-ปุย พื้นที่ที่ใกล้เมืองและกระทบกับสุขภาพ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวโดยตรง
ปล.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนการแก้ไขฝุ่น PM2.5 โดยการใช้รถฉีดพ่นละอองน้ำจะหยุดไป !! เพราะเป็นการเพิ่มปัญหามากกว่าการแก้ แม้แต่น้ำฝนก็ไม่สามารถทำให้ฝุ่นขนาดเล็กละเอียดตัวร้ายนี้เบาบางลงได้ มีเพียงกระแสลมและการควบคุมต้นเหตุเท่านั้นที่ช่วยได้
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)
ทอฝัน กันทะมูล เด็กเชียงใหม่ เดินป่า ดูนก ฟังเคป๊อป กินโกโก้ เวลาว่างชอบหาทำ
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ