ภาพต้นแม่น้ำยม ตำบลนาปรัง อำเภอปง จังหวัดพะเยา/ ภาพ: https://th.wikipedia.org/wiki/

การเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ตำบลสะเอียบ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ต่อการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ตลอด 35 ปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางการคัดค้านของชาวบ้านในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 22-24 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 ช่วงเช้าวันที่สองของกิจกรรม ชาวบ้านได้จัดพิธีบวชป่าสักทองผืนสุดท้าย โดยเดินทางด้วยรถของชาวบ้านขึ้นไปดูป่าสักทองอันกว้างใหญ่ และเป็นสถานที่จัดพิธีกรรม ก่อนพิธีฯ จะเริ่มผู้นำชุมชนได้ให้ความเห็นว่า 

 “หากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ป่าสักทองที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยก็จะหายไป

หลังเสร็จพิธีเรากลับด้วยรถของชาวบ้านเช่นเดิม ระหว่างทางผ่านลำน้ำยมที่ใสจนเห็นพื้นน้ำ นอกจากชมความงามของธรรมชาติแล้ว ก็เห็นความขมขื่นของผู้เข้าร่วมงานเช่นกัน ผมพูดคุยกับคุณตาท่านหนึ่งระหว่างทาง ช่วงแรกที่สนทนาผมเข้าใจว่าท่านคือผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน แต่กลับไม่ใช่ คุณตาบอกว่าอยากมาร่วมให้กำลังใจชาวบ้านสะเอียบ 

พ่อใหญ่มาจากปากมูลนู้น มาช่วยชาวบ้าน ไม่อยากให้สร้างเขื่อน พ่อใหญ่ต่อสู้ไม่สำเร็จ พวกมันสร้างเขื่อนไปแล้ว อยู่มาจนจะ 80 ปี มันทำลายปลาที่พ่อใหญ่เคยกินจนหมด พ่อใหญ่หาปลากินเองตั้งแต่เล็ก ๆ ปลาเหลือเราก็เอาไปขาย ตอนนี้หาปลาไม่ได้เลย…”

ประเด็นตอนท้ายนี่น่าสนใจ เนื่องจากหากพูดถึงแก่งเสือเต้นเราจะนึกถึงพลังของชาวบ้าน แต่บทความนี้มีความพยายามที่จะสำรวจพันธุ์ปลาหรือสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อน

การสำรวจในครั้งนี้จึงเป็นการเปรียบเทียบปลาทั้งในลำน้ำปิง วัง ยม น่าน เพื่ออภิปรายให้เห็นว่าการสร้างเขื่อนในที่ต่าง ๆ ส่งผลต่อระบบนิเวศของปลาและส่งผลต่อผู้คนที่อาศัยร่วมกับแม่น้ำอย่างไร มีปลาชนิดใดหายไปบ้างหากโครงการขนาดใหญ่อย่างแก่งเสือเต้นสำเร็จ และการหายไปของปลาชนิดนั้นจะส่งผลต่อชีวิตของผู้คนแถบลุ่มน้ำยมยังไง

ประชาคมปลาลุ่มน้ำยมบน – ล่าง

ลุ่มน้ำยม เป็นหนึ่งในลุ่มน้ำสำคัญของภาคเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ครอบคลุมหลายจังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร และลุ่มน้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลัก ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาผีปันน้ำในจังหวัดแพร่ และไหลผ่านจังหวัดต่าง ๆ ก่อนจะมาบรรจบกับแม่น้ำในจังหวัดพิจิตร

ลุ่มน้ำยมมีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านเกษตรกรรม การประมง และวิถีชีวิตในพื้นที่ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและพืชน้ำหลากหลายชนิด

ข้อมูลจากสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดของกรมประมงเมื่อปี 2555 ได้ศึกษาความหลากหลายชนิดของปลาในลุ่มน้ำยมเมื่อปี 2554 พบว่า ลุ่มน้ำยมเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ได้พบปลาทั้งหมด 160 ชนิด จาก 11 อันดับ 32 วงศ์ 

ปลาลุ่มน้ำยมตอนบนมีจำนวนกว่า 96 ชนิด ลุ่มน้ำยมตอนกลาง 73 ชนิด และลุ่มน้ำยมตอนล่าง 133 ชนิด ส่วนวงศ์ปลาหลักมีวงศ์ปลาตะเพียน ปลาสร้อยและปลาซิวเป็นวงศ์หลัก รองลงมาคือวงศ์ปลาจิ้งจก วงศ์ปลาหมู วงศ์ปลากดแขยงและวงศ์ปลาแค้ ตามลำดับ

ความชุกชุมของปลาในลุ่มน้ำยมเฉลี่ย 100.14 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร โดยลุ่มน้ำยมตอนบนมีความชุกชุมเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือลุ่มน้ำยมตอนกลางและตอนล่าง องค์ประกอบหลักที่พบในลุ่มน้ำยมตอนกลางและตอนล่าง เป็นกลุ่มวงศ์ปลาตะเพียน ปลาสร้อยและปลาซิว รองลงมาเป็นปลาจิ้งจก และวงศ์ปลาซิวแก้ว 

ส่วนปลาประจำถิ่นเฉพาะของลุ่มน้ำยมมีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ปลาไส้ตัน พบได้แถบลำน้ำมาว ซึ่งเป็นน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำยมบริเวณตอนบนในพื้นที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา และบริเวณลุ่มน้ำยมตอนล่าง แถบนครสวรรค์ ปลาจาด เป็นชนิดพันธุ์ประจำถิ่น เพราะไม่เคยพบในรายงานไหนมาก่อน การรายงานของสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดของกรมประมง จึงเป็นการรายงานครั้งแรก 

ปลาติดหิน อาศัยบริเวณลุ่มน้ำยมตอนบนถึงลุ่มน้ำยมตอนกลาง ปลาค้อหัวสั้น เป็นชนิดพันธุ์ประจำถิ่นของลุ่มน้ำแม่กลองและลุ่มน้ำโขง แต่พบในลุ่มน้ำยมตอนบน อำเภอปง จังหวัดพะเยา น้ำแม่สอง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และน้ำแม่คำมี อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ และปลาบู่สมิธ เป็นปลาประจำถิ่นน้ำกร่อย

ในบริเวณลุ่มน้ำยมตอนล่างพบปลาในวงศ์ปลาบู่ใส เป็นวงศ์หลัก รองลงมาเป็นวงศ์ปลาซิวแก้ว และวงศ์ปลาตะเพียน ปลาสร้อยและปลาซิว ส่วนความชุกชุมมีความแตกต่างกันตามฤดูกาล โดยทั้ง 3 บริเวณของลุ่มน้ำยมนั้นในฤดูแล้งมีความชุกชุมสูงกว่าฤดูฝน

หากเปรียบเทียบลุ่มน้ำ 3 สาย ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันอย่างลำน้ำปิง ลำนำวัง ลำน้ำน่าน ในลุ่มน้ำปิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลำปาง พบว่า มีปลาทั้งสิ้น 108 ชนิด 20 วงศ์

พันธุ์ปลาในลุ่มน้ำยม/ ภาพ: https://www.livingriversiam.org/5pub/print.html

ลำน้ำน่าน จากการสำรวจของคุณอมรชัย ล้อทองคำ ที่สำรวจไว้เมื่อปี 2546-2547 ในเขตจังหวัดน่าน (แม่น้ำน่านตอนบน) พบว่ามีชนิดของปลาทั้งสิ้น 108 ชนิด จาก 10 อันดับ 28 วงศ์ 76 สกุล  และลุ่มน้ำวัง ข้อมูลจากสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดของกรมประมง เมื่อปี 2554 พบว่ามีปลาทั้งหมด 115 ชนิด จาก 11 อันดัน 31 วงศ์ ความชุกชุมของปลาเฉลี่ยอยู่ที่ 128.19 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร 

แม่น้ำตัวเลขความชุมของปลา (ชนิด)
ปิง108
วัง115
ยม160
น่าน108

ข้อมูลจากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จากการสำรวจเห็นได้ว่าความหลากหลายและความชุกชุมของประชาคมปลาทั้งสี่ลุ่มแม่น้ำนั้นเห็นได้ชัดว่าจำนวนประชากรปลาและความชุกชุมของปลา ในบริเวณลุ่มน้ำยมนั้นมีจำนวนประชากรปลามากที่สุดซึ่งยืนยันความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศอย่างปลาได้ดี

พื้นที่ชุ่มน้ำและความสำคัญของปลาซิวที่เหลืออยู่เพียงลุ่มน้ำยม

ด้วยความชุมของปลาพื้นที่ชุ่มน้ำของแม่น้ำยม โดยเฉพาะปลาซิวและปลาสร้อย ซึ่งเป็นปลาทั้งสองชนิดเป็นวัตถุดิบหลักของการทำน้ำปลาและน้ำปลาร้า ซึ่งมีการประกอบกิจการมากแถบลุ่มน้ำยมตอนกลางโดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดสุโขทัย

ปลาซิว 101 

ปลาซิวส่วนใหญ่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ ลำตัวยาวไม่เกิน 5 ซม. แต่ก็มีบางชนิดที่มีขนาดใหญ่ เช่น ปลาซิวอ้าวที่มีขนาดได้เกือบ 30 ซม. กลุ่มปลาซิวกินได้ทั้งพืชและสัตว์ บางชนิดกินตะใคร่น้ำและสัตว์น้ำเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ผสมพันธุ์และวางไข่ในท้องทุ่ง

การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ เช่น การสร้างเขื่อน การเปลี่ยนแปลงตามสภาพธรรมชาติของแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบ หนอง บึงต่าง ๆ รวมทั้งการทำนาหลังยุคปฏิวัติเขียว ส่งผลกระทบให้ปลาซิวและปลาธรรมชาติต่าง ๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว

คนไทยสมัยก่อนดักจับปลาซิวมาทำอาหารหลากหลายชนิด เช่น หมกปลา ทอดน้ำปลา ทอดแพ ทำปลาแห้ง ฯลฯ  ปลาตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของประมงน้ำจืดและมีความหมายต่อชีวิตของคนลุ่มน้ำยม ปลาซิวทุกชนิด อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สารเคมีทางการเกษตร การขาดออกซิเจนในน้ำ การรบกวนสภาพที่อยู่อาศัยเดิม และอื่น ๆ จึงอาจเป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์หรือเสื่อมโทรมของระบบนิเวศได้

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการจัดเสวนา 35 ปีแก่งเสือเต้นที่จัด ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อภิปรายถึงสิทธิชุมชนและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำให้เห็นว่า 

ภาพการเสวนา 35 ปี แก่งเสือเต้น ที่โรงเรียนบ้านดอนชัย อ.ลอง จ.แพร่

สิทธิชุมชนไม่ได้อยู่เพียงแค่พื้นที่ชุมชนเพียงอย่างเดียวแต่มันอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย การขยายตัวของเมืองมันทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำหายไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของปลา หากมีการสร้างเขื่อนในลำน้ำยมจะส่งผลกระทบต่อการผลิตในระบบอุตสาหกรรมอย่างน้ำปลาและปลาร้าที่มีฐานการผลิตใหญ่ในประเทศไทยที่ทำการผลิตในจังหวัดสุโขทัย

ในปัจจุบันข้อมูลจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบันไทยผลิตปลาร้าสูงถึง 40,000 ตันต่อปี สร้างรายได้ประมาณการณ์ไว้ที่ 800 ล้านบาท ส่งออกตลอดยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง 

วลัยลักษณ์ ทรงสิริ/ ภาพ: https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5336

วลัยลักษณ์ ทรงสิริ อธิบายความเกี่ยวกับการค้าปลาร้าแถบจังหวัดสุโขทัยว่า “ที่ “บ้านกง” เป็นเกาะกลางน้ำยมหรือก็คือตัวอำเภอกงไกรลาศในปัจจุบัน เป็นสถานที่รับซื้อปลาขนาดใหญ่ มีอุตสาหกรรมทั้งในระดับครอบครัวจนถึงโรงงานขนาดเล็กตั้งอยู่เพื่อรับซื้อปลาจากธรรมชาติที่มีจำนวนมาก พวกเขาจึงได้รับผลประโยชน์จากลำน้ำที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ชีวิตของ “พรานปลา” ที่อยู่กับ “น้ำ” และกับ “ทุ่งข้าว” เศรษฐกิจของชุมชนที่นี่ปรับแปรตามสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลง มีการแปรรูปทำปลาร้าและน้ำปลา ไปจนถึงการทำขนมต่าง ๆ ที่เป็นของขึ้นชื่อ”

นอจากนี้ ยังมีการผลิตน้ำปลาทั้งที่ใช้กันเองและค้าขาย ซึ่งปลาที่ใช้ทำน้ำปลาเป็นปลาสร้อยจากบ้านเกาะกงเองทั้งหมดน้ำปลาสร้อยสุโขัทย แบ่งเป็นสองชนิดคือน้ำปลาต้มสุก เป็นน้ำปลาที่นำไปต้มหลังจากการหมัก เหมาะกับการนำไปปรุงอาหาร อีกอย่างหนึ่งคือน้ำปลาดิบ ผ่านกระบวนการหมัก และตากแดด ไม่ต้ม เหมาะกับการหมักกับหมูทอด เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี ปลาซิวและปลาสร้อยนั้น จะอยู่ในบริเวณต้นลำน้ำของแม่น้ำเท่านั้น เนื่องจากการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำทำให้กีดขวางทางเดินของฝูงปลาหรือสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ในการเคลื่อนย้ายไปมาเพื่อดำรงชีวิตตามวัฏจักร หากการสร้างแก่งเสือเต้น ปลาซิว-ปลาสร้อยในลุ่มน้ำยมตอนกลางและตอนล่างที่มีฐานการผลิตอยู่ในจังหวัดสุโขทัยก็แทบจะสูญพันธุ์ทันที

การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำยังส่งผลต่อระบบนิเวศที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เช่นบริเวณปากอ่าว เนื่องจากปริมาณแร่ธาตุอาหารที่ไหลมากับน้ำจะมีปริมาณที่ลดลง และส่งผลต่อการลดน้อยถอยลงของจำนวนและชนิดพันธุ์ปลาอาจนำไปสู่ภาวการณ์สูญพันธุ์ของทรัพยากรประมงได้

จับตาโครงการแก่งเสือเต้น เขื่อนที่ไม่ได้กระทบแค่คน

อย่างไรก็ดี ความต้องการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้นย่อมไม่ในการที่จะตัดสินใจ เพราะโครงการแก่งเสือเต้นเป็นโครงการที่มีต้นทุนสูง ที่ต้องใช้เงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ และมีผลกระทบที่ไม่ใช่เพียงแค่จังหวัดแพร่เท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างในแง่ของการสูญเสียสภาพสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ


วิทยานิพนธ์ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ได้รวบรวมแนวคิดว่าด้วยการพัฒนาเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนไว้เมื่อเกือบ 25 ปีมาแล้ว เขาชี้ให้เห็นว่าเขื่อนถูกใช้ในนามของการพัฒนาจากรัฐ ช่วงแรกเริ่มของอิทธิพลทางความคิดในการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็น เขื่อนถูกใช้ในการผลิตไฟฟ้า เช่น เขื่อนภูมิพล ที่สูบเอาทรัพยากรจากพื้นที่ชนบทป้อนสู่พื้นที่เมือง เขื่อนจึงเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนา และในช่วงหลัง เขื่อนถูกใช้ในความหมายของการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งประเด็นนี้มีงานวิจัยหรือความเห็นจากหลายภาคส่วนว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นการท่วมจากพื้นที่ใต้เขื่อน

งานวิจัยของมิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ระบุว่า แม้โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นจะเป็นโครงการกระจายรายได้ แต่ก็ต้องศึกษาของการกระจายรายได้ที่มาจากโครงการโดยตรงซึ่งเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งรุนแรงมากที่สุดคือ ผลกระทบที่เกิดกับราษฎรที่ต้องอพยพและนายทุนตัดไม้ในท้องที่ และที่มากไปกว่านั้นนักวิชาการต่างก็ยกขึ้นมาคัดค้านการสร้างเขื่อนในประเด็นของการกระขายรายได้คือ ผลประโยชน์ของชาวประมงพื้นบ้านริมแม่น้ำยม ซึ่งอาจจะสูญเสียรายได้ไป

หากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน-ยมล่าง ได้ถูกอนุมัติจากรัฐบาลให้สร้างขึ้นมันอาจมิได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเพียงอย่างเดียว แต่อาจส่งผลกระทบระบบนิเวศของปลาและการผลิตเกี่ยวกับการแปรรูปด้วยการถนอมอาหารอย่างเช่นปลาด้วย 

น้ำท่วมทีไร ก็นึกถึงแก่งเสือเต้นทุกที” วลีดังที่ชาวบ้านในตำบลสะเอียบสะท้อนว่าการสร้างเขื่อนอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง มีผู้เชี่ยวชาญออกมายืนยันตั้งมากมาย แต่การสร้างเขื่อนมันอาจส่งผลต่อชาวบ้านที่เรียกร้องให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นด้วย

ข้อมูลชุดนี้พยายามจะชี้ให้ถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศของปลาที่อาจส่งผลกระทบไปทั่วทั้งลุ่มน้ำ แม้การสร้างแก่งเสือเต้น และเขื่อนยมบน-ยมล่าง จะไม่มีโอกาสเป็นไปได้ในเร็ววัน งานชิ้นนี้อาจเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย หาก “ผี” แก่งเสือเต้น กลับขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันว่าการสร้างเขื่อนในลำน้ำยมมันส่งผลกระทบทั่วไปหมดทั้งผลกระทบต่อคน ระบบนิเวศ และระบบอุตสาหกรรม 


เอกสารอ้างอิง

กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. ข้อมูลลุ่มน้ำยม. https://water.rid.go.th/hwm/swq/sediment/graphsed/yom/yom.htm. (เข้าถึงเมื่อ 29/11/2567).

นคร พิลา. อภิรดี หันพงศ์กิตติกูล. สิริวรรณ สุขศรี. ตวงมาศ บัวนาค. ความหลากหลายชนิดของปลาลุ่มน้ำยม. สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.2555. 

ณชพงศ์ จันจุฬา. เขื่อน : การพัฒนากับปัญหาประมงไทย. วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 5 (2) ก.ค-ธ.ค. 2552.

นคร พิลา. อภิรดี หันพงศ์กิตติกูล. สิริวรรณ สุขศรี. ตวงมาศ บัวนาค. ความหลากหลายชนิดของพรรณปลาลุ่มน้ำวัง. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรประมงน้ำจืด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2554.

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ. นิเวศวิทยาการเมืองของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย : กรณีศึกษาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2543.

จุฑาทิพย์ โลกิตสถาพร และสุพัตรา คงสุวรรณ์. ความหลากหลายและความชุกชุมของประชาคมปลาในแม่น้ำปิงระหว่างปี 2560-2561. ศูนย์วิจัยและประมงน้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง. 2564.

อมรชัย ล้อทองคำ. ความหลากหลายชนิดของปลาในลุ่มแม่น้ำน่าน (ระบบแม่น้ำเจ้าพระยา) ในเขตจังหวัดน่าน. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2551.

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด. เขื่อนแก่งเสือเต้น : ปัญหาอยู่ที่ไหน. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ปลาแม่น้ำแห่ง “ลำน้ำยม”. https://lek-prapai.org/home/view.php?id=386.

ปริวัฒน์ วิเชียรโชติ. ลูกแม่น้ำบรรจุขวด จากสายน้ำสู่ขวดน้ำปลา น้ำปลาสุโขทัยของน้านวล และน้าเด็ดดวง. https://www.greenery.org/taste-from-the-root-5/

Biothai Editorial team. รู้จักปลาซิว หลากหลายชนิด ผูกผันวิถีคนไทย. https://biothai.net/ecological-agriculture/6306

ณัฏฐวรธน์ คล้ายสมมุติ

นักศึกษาประวัติศาสตร์

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง