เรื่อง: เมี่ยงส้ม


ภาพ: รัชชา สถิตทรงธรรม

“กลับบ้านไปทำอะไร เงินจะพอใช้ไหม เมืองเงียบมาก จะอยู่ได้จริงหรือ …”

ชุดคำถามที่คุ้นชิน ทว่าน่าฟังแล้วน่าอึดอัดใจอยู่ไม่น้อยสำหรับคนรุ่นใหม่หลายคนที่เลือกออกจากเมืองใหญ่ กลับไปใช้ชีวิตยังบ้านเกิด พื้นที่ที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่การมีอยู่ของเขาและเธอในเมืองนั้น

บทความกึ่งบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ผู้เขียนกำลังสื่อสารถึงการกลับบ้านของคนหนุ่มสาวในพื้นที่ ‘จังหวัดแพร่’ เมืองที่มักถูกคนในและคนนอกขนานนามว่าเป็น ‘เมืองรอง’ ‘เมืองทางผ่าน’ และ ‘เมืองโตช้า’ บ้านเกิดเมืองนอนของประชากร 423,758 คน ผ่านเรื่องเล่าและมุมมองของคนรุ่นใหม่ 4 คน หลากหลายตัวตนและอาชีพท่ามกลางโจทย์ใหญ่ของเมืองที่มีผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ร้อยละ 27.6 ของจำนวนประชากร เป็นรองเพียงจังหวัดลำปาง จังหวัดอันดับหนึ่งด้วยสถิติประชากรผู้สูงอายุสูงที่สุด ร้อยละ 28.01 ของจำนวนประชากร ท่ามกลางสถานการณ์ประชากรเกิดใหม่ลดลงสวนทางกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุ อ้างอิงจากสถิติการเกิดย้อนหลัง 10 ปี ของกรมการปกครองพบว่าอัตราเด็กเกิดใหม่ในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 2557 พบว่ามีเด็กเกิดใหม่ 770,000 คน ต่างจากปี 2566 ที่ผ่านมาเหลือเพียง 510,000 คน ในขณะที่อัตราประชากรผู้สูงอายุปี 2567 ในปัจจุบันมีมากกว่า 13 ล้านคน

นอกเหนือจากสถานการณ์ข้างต้น หลังการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอน ของชีวิตที่เราต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เศรษฐกิจในเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่ทุกภูมิภาคกลายเป็นอัมพาตเฉียบพลัน แหล่งทำมาหากินของคนหนุ่มสาววัยทำงานค่อนประเทศหยุดชะงัก รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนถูกปรับเปลี่ยน และนี่เป็นอีกปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้คนรุ่นใหม่ไม่น้อยตัดสินใจกลับบ้านถาวร หลายคนกลับไปค้นหาตัวเองอีกครั้งในบ้านเกิดผ่านการลองผิดลองถูกด้วยต้นทุนที่ต่างกัน เช่นเดียวกันกับผู้เขียนเองเป็นอีกหนึ่งคนที่เผชิญสถานการณ์ที่น่าสับสนเช่นนี้ ความลังเลสงสัยของตัวเองเกิดขึ้นตลอดเวลา บนความพยายามสร้างความสมดุลระหว่างอุดมคติกับการแสวงหารายได้จากต้นทุนชีวิตที่มีอยู่ ในช่วงระยะเวลาสองปีแรกที่กลับบ้าน ผู้เขียนใช้เวลาทบทวนนานจนเกือบลดทอนอุดมคติบางอย่างที่ตัวเองกอดไว้ แล้วยอมแพ้กลับไปก้มหน้ารับสภาพเป็นมนุษย์ออฟฟิศกลางเมืองหลวงมากกว่าหนึ่งครั้ง กระทั่งค้นพบว่า ‘เหล้าขาว’ จากตำบลสะเอียบ อำเภอสอง สุรากลั่นชุมชนที่ขึ้นชื่อไปทั่วประเทศเป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่จังหวัดแพร่มีให้ ผู้เขียนจึงตัดสินใจผันตัวเองออกจากการทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน สู่การเป็นผู้ประกอบการสุราชุมชนหน้าใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้แนวคิด Activist Entrepreneur ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าจะแปลอย่างไรในภาษาไทย เราสร้างแบรนด์สุรากลั่นชุมชนหารายได้หล่อเลี้ยงตัวเองไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีนักเคลื่อนไหวในจังหวัดแพร่เป็นหุ้นส่วนร่วมอุดมการณ์ การตัดสินใจครั้งสำคัญนี้เอง มันได้พาผู้เขียนไปพบกับคนรุ่นใหม่อีกสี่ชีวิตที่ตัดสินใจกลับบ้านเช่นกัน เรื่องราวที่ทุกคนพบเจอยังทำให้ผู้เขียนเชื่อมโยงและรู้สึกสั่นไหวบางอย่างภายในใจ

ต่อไปนี้คือเรื่องเล่าการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่สี่คน ซึ่งมันอาจจะไม่มีฉากจบสำเร็จรูปอย่างที่หลายฝ่ายพยายามสร้างภาพฝันส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านไปพัฒนาถิ่นฐานของตัวเอง และมันอาจเป็นทั้งคำถามและคำตอบของการกลับบ้านของใครหลายอีกคน หรือแม้แต่ผู้เขียนเองก็เป็นไปได้ทั้งนั้น หลังจากคุณได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้

 “ทำไมเมืองมันน่าเบื่อจังพี่”

ผู้เขียนโพล่งขึ้นกลางวงเหล้าสักคืนในเมืองที่ร้านสะดวกซื้อมีน้อยกว่าร้านเหล้ารวมกันกับร้านกาแฟ ไม่ปฏิเสธว่าผู้เขียนมักหาเวลาชวนคนถูกสัมภาษณ์มานั่งดื่มฟังวงโปรดแล้วพูดคุยกันนอกรอบอยู่บ่อยครั้ง เพื่อหวังว่าจะได้เก็บตกวัตถุดิบบางอย่างเพิ่มเติม เรื่องเล่าของทั้งสี่คนนี้ผู้เขียนนัดเจอกันต่างวาระ สถานที่นัดพบส่วนมากถ้าไม่ใช่ร้านเหล้าก็มักเป็นร้านกาแฟในเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะจำกัด และสำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจจะเล่าอย่างไรให้มันเข้มข้นมากไปกว่าเหล้าแพร่ในขวดสุราชุมชน 35 ดีกรี ขวดใหญ่ที่เหลืออยู่เพียงแค่ก้นขวดบนโต๊ะ

“อย่าพูดดิ มันจะยิ่งน่าเบื่อไปอีก”

“เกือบสิบปีก่อนที่พี่จะกลับมาทำผ้าม่อฮ่อม พี่เลือกใช้สีย้อมธรรมชาติ มันยากนะ ต้องลงไปดูตั้งแต่ต้นฮ่อม ลองย้อมผ้าเอง หัดตัดเย็บเอง แล้วด้วยดีไซน์ที่พี่ออกแบบมันแปลกตาไปจากรูปแบบที่คนอื่นทำขายกัน ไม่มีมีใครคิดว่าพี่จะขายได้”
และนั่นคือคำพูดของ นิว-นันทนิจ บอยด์ ผู้ร่วมก่อตั้งแพร่คราฟท์ เคยเปรยกับผู้เขียนไว้ตั้งแต่ผู้เขียนไปคลุกคลีกินเที่ยวกับกลุ่มแพร่คราฟท์

ผู้หญิงวัยสี่สิบคนนี้เป็นคุณแม่ของลูกสาวลูกชาย ลูกครึ่งไทย – แคนาดา เธอกลับบ้านเพื่อบุกเบิกการทำผ้าหม้อห้อมร่วมสมัย ตั้งแต่การผลิตต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำในบ้านทุ่งโฮ้ง ชุมชนชาติพันธุ์ไทพวนขนาดใหญ่ของจังหวัดแพร่ที่ขึ้นชื่อเรื่องการตัดเย็บทำเสื้อม่อฮ่อมเป็นของฝากของขายไปทั่วประเทศ

การกลับบ้านของนิวเลือกสร้างอาชีพจากผ้าม่อฮ่อมซึ่งเป็นต้นทุนที่มีอยู่แล้วในชุมชน หนุนเสริมด้วยความตั้งใจนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างของเธอยังนำไปสู่การรวมกลุ่มก่อตั้ง ‘กลุ่มแพร่คราฟท์’ มีแนวคิดสำคัญคือการเปิดพื้นที่แสดงสินค้างานฝีมือหัตถกรรมของดีไซเนอร์ท้องถิ่นจัดการกันเอง ในรูปแบบงานเทศกาลประจำปี

“เอ้าชนพี่ หมดแก้ว” ผู้เขียนเร่งจังหวะ ก่อนจะนึกเติมบทสัมภาษณ์เหล่านี้ลงไปในแก้วเหล้าให้เรื่องเล่าของเธอมันเข้มข้นยิ่งขึ้น

จุดเริ่มต้นและพลิกผันของแพร่คราฟท์

ปี 2560 (2017) คือจุดเริ่มต้นของกลุ่มแพร่คราฟท์ ที่เกิดจากการรวมตัวของคนทำงานสร้างสรรค์ ประกอบไปด้วยดีไซน์เนอร์รุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ผ้าหม้อห้อมและไม้สักผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดแพร่ เรารวมตัวการจัดเทศกาลนำเสนอสินค้าท้องถิ่น เวิร์คช็อบ และวงเสวนาขนาดย่อม โดยงานใช้ชื่อเดียวกับกลุ่มแพร่คราฟท์ 

“เราทำงานกันมาเจ็ดปีต่อเนื่อง ปีล่าสุด 2566 ที่ผ่านมา (แพร่คราฟท์ 2023) เรารู้สึกเหนื่อยจนคิดว่าจะเลิกจัดงานนี้แล้ว อุปสรรคมันเยอะมาก“

“เราเคยถูกขโมยงาน ไม่ให้เครดิต ถูกเอาชื่อกลุ่มไปใช้เขียนโครงการหลักล้าน โดยที่เราแพร่คราฟท์ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วยเลย พอเราได้ส่งเสียงออกมา มีการพูดคุยสื่อสารและแชร์กันในวงกว้างบนสังคมออนไลน์ ทำให้เรารู้ว่ามันมีคนอื่นอีกจำนวนมากที่ถูกกระทำเหมือนกัน แต่เค้าไม่ได้ส่งเสียงออกมาเหมือนกับเรา เค้าเลือกที่จะช่างมันเถอะ”

“จากเหตุการณ์นี้ทำให้เราได้พันธมิตรมากมาย มันทำให้รู้สึกถึงพลัง ถ้าอย่างนั้นเราก็อย่าพึ่งเลิกทำเลย เราต้องทำต่อไปกับคนเหล่านี้ที่สนับสนุนเราอยู่ แพร่คราฟท์เป็นงานของชุมชน”

นิวเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าแม่ของเธอเคยถามว่ามันคุ้มค่ารึเปล่าเห็นทุ่มเทกับแพร่คราฟท์ทุกปี ซึ่งเธออือออตอบกลับไปอย่างตอบได้ไม่เต็มปากนัก เพราะจริง ๆ แล้วเธอก็เคยเปิดใจกับผู้เขียนว่า “พี่แทบไม่ได้อะไรเลยนะ”

‘แพร่คราฟท์ 2023’ ปีล่าสุด (2-4 ธันวาคม 2566) เป็นปีที่ 7 ของการจัดงานเทศกาลแสดงสินค้าชุมชน อาหารพื้นเมืองที่พิเศษกว่าทุกปีคือการเพิ่มคอนเซ็ปข้าวตอกดอกไม้ที่โอบรับความหลากหลายของผู้คนในสังคม ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารถึงสังคมและสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ โดยเชิญชวนประชาชน และอินฟลูเอนเซอร์ชุมชนผู้มีความหลากหลายทั้งเพศเข้าร่วมเดินขบวนไพรด์ และการประกวด Phrae Pride 2023 เป็นครั้งแรกในจังหวัดแพร่ ผลตอบรับจากสาธารณะชนเป็นไปในทิศทางที่ดี ในเวลาถัดมาแพร่คราฟท์ได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติให้เป็นหนึ่งในผู้จัดขบวน Pride ในเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2567 ของจังหวัดแพร่เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน

จากชุมชนงานคราฟท์ สู่ชุมชนความหลากหลายทางเพศ

การรวมตัวของกลุ่มแพร่คราฟท์ได้เปิดพื้นที่โอบรับความหลากหลายที่ไม่เฉพาะแค่คนทำงานคราฟท์เท่านั้นเนื่องจากปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่แพร่คราฟท์เพิ่มแนวคิดจัดงาน Pride ควบรวมเข้าด้วยกันกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ผู้เขียนเคยได้ยินนิวชื่นชมความสร้างสรรค์และความทุ่มเทของหนึ่งในทีมงานหลักที่ช่วยจัดเตรียมโชว์คิวงาน และเสื้อผ้าหน้าผมของบรรดาโมเดล ตั้งแต่งานแพร่คราฟท์ 2023 มาจนถึงงานสงกรานต์ที่ผ่านมามีผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญของแนวคิดการจัดขบวน Pride สนับสนุนสิทธิความหลากหลายและเสมอภาคทางเพศ นั่นคือ ‘พี่โก้’ เธอคนนี้มีชื่อเต็มว่า เอกพงศ์ จุลกาฬ เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มแพร่ไพร์ด (Phrae Pride) และเรื่องเล่าของพี่โก้เป็นเรื่องที่สองของบทความกึ่งบทสัมภาษณ์นี้

ด้วยทักษะความสามารถและอาชีพของพี่โก้ ทำไมตอนนั้นถึงเลือกกลับบ้าน ทั้งที่เคยอยู่ในกรุงเทพฯ มีรายได้และโอกาสที่ดีกว่าที่แพร่มาก

“ใช่ ที่นู่นโอกาสและรายได้ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับที่นี่ แต่ที่เราตัดสินใจกลับบ้านเพราะอยากมีอิสระในการทำงานได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เป็นตัวของตัวเอง และที่นี่มันก็บ้านเรา เราอยากมาทำธุรกิจได้มาสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ให้กับบ้านเราที่เมื่อก่อนมันไม่เคยมี อันที่จริงคนแพร่เราเก่ง ๆ เยอะนะ แต่ที่เค้าไม่กลับกันก็เพราะเรื่องรายได้มันไม่พอความอยู่รอดปากท้อง ในเมืองนี้มันยังลำบาก หลายคนเลือกจึงเลือกไปอยู่และเติบโตในเมืองใหญ่”

เมื่อสิบปีก่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้เปิดกว้างนักในเมืองแพร่ เธอคือคนแพร่ที่กลับมาเปิดธุรกิจออแกไนซ์จัดงานแต่งงาน งานอีเวนท์แสดงโชว์ เจ้าแรก ๆ ของเมืองแพร่ และยังเป็นเจ้าของร้านคาเฟ่ทำเค้กขายกาแฟ คอยสนับสนุนให้โอกาสเพื่อนพี่น้อง LGBTQIA+ เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพและเป็นตัวของตัวเอง อินฟลูเอนเซอร์ในจังหวัดหลายคนได้รับการสนับสนุนการแต่งหน้าและชุดจากร้านของเธออยู่บ่อยครั้ง

94% Recommend คือผลการรีวิวให้คะแนนจากลูกค้า ปรากฎบนเฟซบุ๊กเพจออแกไนซ์รับจัดงานแต่งงาน และอีเวนท์งานโชว์ของพี่โก้ เพจนี้เปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2556 

“ทุกวันนี้พี่ภูมิใจ พี่พิสูจน์ตัวเองว่าพี่ดูแลตัวเองดูแลครอบครัวได้ ทุกคนยอมรับพี่”

เธอเล่าว่าจากวันนั้นที่เลือกกลับมาอยู่ต่างจังหวัด วันนี้เธอได้พิสูจน์กับทุกคนแล้วว่า อัตลักษณ์ทางเพศของเธอคือความภาคภูมิใจ เธอสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ตัวตนและความสามารถของเธอเป็นที่ยอมรับในบ้านเกิด อีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจ เธอมองว่าที่นี่เมืองแพร่ ชาวชุมชนความหลากหลายทางเพศ LGBTQIA+ ที่หาเลี้ยงตัวเองด้วยการทำงานสร้างสรรค์มีน้อย และยังขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐภายในจังหวัดแพร่ เป็นสาเหตุของปัญหาสมองไหลแช่แข็งจังหวัดตัวเอง เพราะคนรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคตหากเลือกกลับมาอยู่บ้าน

 “ในเมื่อไม่มีพื้นที่ได้แสดงออก คนรุ่นใหม่ก็ออกไปหาพื้นที่แสดงออกอื่น โอกาสอื่นที่มันเอื้อต่อการสร้างสรรค์ตัวตนและผลงานได้มากกว่า สิ่งที่จังหวัดพลาดไปก็คือมันสมองของคนเหล่านี้ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาจังหวัด ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องดูแลพ่อแก่แม่เฒ่าก็คงไม่กลับมากันหรอก”

จากมุมมองของพี่โก้สะท้อนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปของประเทศที่การพัฒนากระจุกตัวเป็นหย่อมความเจริญในเมืองใหญ่ ยากที่จะปิดตาข้างเดียวจนมองไม่เห็นกันว่าในเมืองใหญ่ได้รับการสนับสนุนและโอกาสอย่างเป็นรูปธรรมมีความพร้อมที่เอื้อให้ผู้คนได้แสดงศักยภาพอย่างสร้างสรรค์มากกว่า ฉะนั้นการสนับสนุนจากภาครัฐที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ต้องหันไปหาทางเลือกอื่นที่เอื้อให้ได้ใช้ศักยภาพที่มี จนสามารถผลักตัวเองให้พ้นจากปัญหาโครงสร้างการกระจายอำนาจและทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำเหล่านั้น

เรื่องที่สามเป็นเรื่องเล่าของ ดรีม-กัญญ์ณพัชญ์ มณีตระกูลทอง อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่เลือกกลับบ้านหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะความจำเป็นในการดูแลพ่อแม่ แต่ยังเป็นการค้นพบโอกาสใหม่ในการพัฒนาตัวเองและสร้างสรรค์ผลงานในท้องถิ่นของเธอ

ดรีมเป็นคนเจนวายที่ตัดสินใจกลับบ้านหลังโควิดระบาดเพื่อดูแลพ่อแม่ เธอหาเลี้ยงตัวเองบนเส้นทางใหม่ที่ดรีมนิยามตัวเองว่าเป็น ‘Influencer’ (อินฟลูเอนเซอร์) เธอยังมีเฮชแท็กประจำตัวสุดเท่ห์บนบัญชี Tiktok ของเธอว่า #ทอมผมยาว ความเท่ห์มีเสน่ห์ของเธอเตะตาแมวมองจนได้รับเชิญให้ไปคัดเลือกนักแสดงซีรีส์แนว Sapphic (แซฟฟิก) ถ่ายทอดเรื่องราวความรักของผู้หญิงด้วยกันเมื่อปลายปีก่อน ปัจจุบันดรีมหารายได้จากการสร้างคอนเทนต์บนโลกออนไลน์เพื่อดูแลแม่วัยชรา ในเมืองที่จำนวนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับสองของประเทศ มันคงจะกล่าวไม่เกินจริงถ้าจะบอกว่าคนรุ่นใหม่ในเมืองแพร่เป็น ‘เดอะแบก’ โดยหน้าที่ในฐานะลูก ทุกวันนี้ดรีมในวัยสามสิบเอ็ดคือเสาหลักของบ้าน

“อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ใน Tiktok มันตอบโจทย์การจัดสรรเวลาดูแลแม่ ตอนแรกดรีมเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ ก่อน แต่พอได้ทดลองทำคอนเทนต์ที่นำเสนอเรื่องราวในชีวิตประจำวันของตัวเองและการชวนคนมาเที่ยวเมืองแพร่ มันก็เริ่มมีคนมาให้ช่วยรีวิวสินค้าและบริการเข้ามาเรื่อย ๆ เราเริ่มเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้ เลยตัดสินใจทำมันอย่างจริงจัง TikTok สามารถสร้างรายได้จริง เราพยายามพัฒนาคอนเทนต์ของตัวเอง เราคิดถึงเป้าหมายเรื่องรายได้เพื่อความมั่นคง ดรีมอยากให้แม่สบายไม่ต้องเป็นกังวลอนาคต”

แล้วมันอยู่ได้จริงหรืออาชีพนี้

“เป็นอินฟลูทุกวันนี้ ดรีมอยู่ได้นะ มันเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ รายได้ขึ้นอยู่กับความขยัน และความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งถ้าเราทำคอนเทนต์ดีก็ยิ่งมีคนติดตามเยอะมากขึ้น ค่าตัวก็ขึ้นตามยอดคนฟอลโลว์ เราสามารถกำหนดเรตได้เลย”

อุปสรรคของคนทำคอนเทนต์ เคยถูกละเมิดลอกเลียนแบบผลงานไหม

“ดรีมโดนก็อปคลิป (คัดลอกผลงาน) ประจำ มีทั้งคนไทยคนจีนเอาไปลงช่องตัวเอง มันเหมือนเค้าขโมยสมองเราไปใช้โดยไม่ได้ลงทุนลงแรงอะไรเลย”

แล้วเรามีมุมมองอย่างไรกับสิทธิดิจิทัล ในประเด็นข้อห้ามกำหนดกีดกันคอนเทนต์บางประเภทที่เราอยากใช้ความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ช่วยนำเสนอ ยกตัวอย่างแฮชแท็กสุราชุมชน #ของดีเมืองแพร่ จากที่เราปล่อยคลิปให้แบรนด์ชุมชนในจังหวัดแบรนด์หนึ่งจนกลายเป็นไวรัลล้านวิว

“เรื่องข้อจำกัดของกฎหมาย เรื่องเหล้าที่พูดตรง ๆ ไม่ได้ ดรีมนำเสนอแล้วคนดูเห็นกันทั้งประเทศ ดรีมเคยมีผู้ใหญ่ที่หวังดีมาเตือนด้วยความเป็นห่วง เพราะเค้าเห็นเราบนสื่อโซเชียล กลัวเราโดนกฎหมายเล่นงาน เรื่องข้อจำกัดพวกนี้มันมีผลมาก มันเป็นสิทธิเสรีภาพของคนทำงานสร้างสรรค์ เมืองแพร่”

“บ้านเรามีสุราชุมชนที่ดรีมอยากผลักดันให้เกิดรายได้ช่วยคนแพร่ก็ยังทำไม่ได้เต็มที่ การจำกัดสิทธิตรงนี้มันทำให้อะไรก็ยากไปซะหมด แน่นอนว่ามีผลต่อการคิดคอนเทนต์โดยตรง มันทำให้จังหวัดเสียโอกาสสร้างรายได้เข้าจังหวัดด้วย คนรุ่นใหม่หลายคนอยากกลับบ้านมาทำแบรนด์สุราชุมชนจากต้นทุนภูมิปัญญาในท้องถิ่นของดีบ้านเรา ต้องเจอข้อห้ามทางกฎหมายที่ยุ่งยากซับซ้อนมันคืออุปสรรคใหญ่ของเราตอนนี้”

นอกจากนี้ผู้เขียนยังทราบมาว่า ดรีมใช้ความเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีผู้ติดตามสองแสนกว่าคนทั่วประเทศ อาสาช่วยงานประชาสัมพันธ์สินค้าและการท่องเที่ยวของหน่วยงานรัฐในจังหวัดรวมถึงงานชุมชนหลายงานโดยไม่คิดเงิน ขบวน Pride ของแพร่คราฟท์ 2023 และงานสงกรานต์ล่าสุดเป็นสองอีเวนท์สำคัญที่ดรีมมีส่วนร่วมช่วยโปรโมทและร่วมเดินขบวนอย่างจริงจัง ราคาค่าตัวยิ่งไม่ต้องพูดถึงเธออาสาทำให้เอง ดรีมจึงไม่ได้แค่พูดว่าอยากช่วยโปรโมทจังหวัดบ้านเกิด เธอยังพยายามใช้ทั้งต้นทุนความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เธอสร้างขึ้นใหม่เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต พร้อมกับการพยายามช่วยขับเคลื่อนเมืองด้วยต้นทุนของเมืองแพร่มีให้เธอเช่นเดียวกัน

การสัมภาษณ์ดรีมทำให้ผู้เขียนมองเห็นจุดร่วมบางอย่างของสิ่งที่คนรุ่นใหม่หลายคนต้องเผชิญ หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการตัดสินใจหันหัวเรือกลับบ้าน บนทางเลือกนี้ดรีมพยายามดึงศักยภาพทั้งหมดและต้นทุนที่มีอยู่ก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่อีกครั้งในบทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ พร้อมกับการทำหน้าที่ดูแลแม่ของเธอให้ดีที่สุด และเรายังมีอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่อายุใกล้เคียงกันกับดรีม เธอเจอพายุโควิดซัดเซแล้วจำเป็นต้องหันหัวเรือกลับบ้านในช่วงเวลาเดียวกัน และต่อไปนี้คือเรื่องเล่าลำดับสุดท้ายจากทั้งหมด 4 คน 

  “ช่วงโควิด รัฐสั่งปิดสถานบันเทิง เราตกงาน รายได้เราหาย เราตัดสินใจกลับบ้าน”

ผู้เขียนสัมภาษณ์ นุ๊กนิก-นิชชาพิชญ พละบุรี เป็นคนสุดท้าย นุ๊กนิกอยู่ในช่วงวัยเจนวาย อายุต่ำกว่าสามสิบปี เป็นน้องเล็กของทุกคนในเรื่องเล่านี้ เธอเป็นนักร้องที่จบการศึกษาด้านดนตรี Jazz โดยตรง และชวนเพื่อนมัธยมที่เรียนดนตรีมาเหมือนกันและยังจำเป็นต้องกลับบ้านในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันตั้งวงดนตรีเล่นเพลงสากลประเภทแจ๊ซ ฟังก์ โซล อาร์แอนด์บี ร็อคแอนโรล และเพลงนอกกระแสอื่น ๆ ตลอดสัปดาห์วงของเธอตระเวนเล่นตามร้านอาหารกลางคืนมีชื่อในเขตตัวเมือง และเท่าที่ผู้เขียนทราบอย่างน้อยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีวงดนตรีในเมืองแพร่เล่นเพลงสากลได้อย่างครบเครื่องขนาดนี้มาก่อน  และวงดนตรีที่มีเธอเป็นนักร้องนำนี้มีชื่อว่า ‘Jet Take Off’

พายุโควิดพัดพา : หอบเพลงแจ๊ซจากเมืองหลวงกลับบ้าน

“เราโชคดีที่มีพ่อแม่ของพวกเราที่ซัพพอร์ตดีมาก ตั้งแต่เรียนมหา’ลัย เค้าก็ให้โอกาสเราเลือกเอง ตามเราไปดูไปให้กำลังใจเราเล่นดนตรีแทบทุกที่ที่มีโอกาส เราโชคดีมากมากที่พ่อแม่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าเราต้องทำเงินให้ ช่วงปีแรกเรากลับมาเราหยิบคีบอร์ดไปเล่นตามร้านรุ่นพี่ในแพร่ไปเองคนเดียว ก่อนเรารวมตัวกันตั้งวง เริ่มมีงานเข้ามา นิกสอนดนตรีเด็กประถม มัธยมด้วย ทุกวันนี้เราก็เริ่มอยู่กันได้แล้วนะ แต่ด้วยแนวเพลงสากลมันอาจจะไม่ค่อยแมส (เป็นที่นิยมในคนหมู่มาก) ก็อาจจะต้องมีปรับตัว แต่เราก็อยากให้คนฟังเปิดใจสนุกไปกับดนตรี”

สองปีก่อนวง Jet Take Off เคยมีไวรัลบนโลกออนไลน์ จากกระดาษโพสต์โพยข้อความลูกค้าร้านเหล้าชื่อดัง ในเมืองแพร่ ขอเพลงไทย ไม่ชอบฟังสากล คุณรู้สึกอย่างไร

“ก็ยอมรับว่ารู้สึกไม่ค่อยดีแต่ก็เข้าใจได้ เราอยากให้คุยกันดีดีมากกว่าเขียนโน้ตส่งมา เรายินดีปรับตัวหาคนฟัง เราอยากเล่นดนตรีให้ทุกคนสนุกไปกับเราอยู่แล้ว จากไวรัลนั้นเราได้รับกำลังใจจากเพื่อนนักดนตรี และคนอีกมากมายบนโลกโซเชียล รวมถึงแฟนคลับของวงที่ติดตามกันไปฟังแทบทุกที่ในเมืองแพร่ โพสต์นั้นคนแชร์พันกว่าคน เรารับรู้และรู้สึกขอบคุณที่มีคนเข้าใจในสิ่งที่เราเป็นและพยายามนำเสนอทางเลือก”

เราอยากให้เมืองแพร่มีพื้นที่สาธารณะในการสื่อสารแบบไหน 

“อยากมีพื้นที่อย่างเช่นงานแพร่คราฟท์ปีล่าสุด (2-4 ธันวาคม 2566) อย่างน้อยลูกศิษย์นิกทุกคนก็ยังได้มาฟัง เป็นแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ให้เด็กน้อย ๆ ก็ยังดี ปกติพวกเขาต้องไปแอบส่งกำลังใจผ่านรั้วร้านเหล้าซึ่งมันก็ไม่เหมาะสมกับเยาวชน”

“และจริง ๆ การเล่นดนตรีแนวที่ยังไม่ได้แมสกับบ้านเรา มันมีคนเล่นและคนฟังอยู่ คนฟังอาจจะยังน้อย แต่ตอนแรกที่นิกกลับมาแพร่ นิกคิดว่าจะไม่มีใครฟังด้วยซ้ำ ที่ไหนได้คนฟังสากลโคตรเยอะ เออ เรารู้สึกว่าจริง ๆ เรามีคนฟังเยอะนะเนี่ย แต่อาจจะเป็นแค่เฉพาะกลุ่ม และกลุ่มนี้เรื่อย ๆ ที่จะตามไปฟังเรา เราก็จะคุ้นหน้าเค้า แต่ว่านิกอยากให้กระจายกันมากกว่านี้ เราไม่ได้ยัดเยียดให้ใครมาฟังสากลมันถึงจะเท่ห์จะแนว ถ้าเราไปอยู่ในที่ที่คนไม่ชอบฟังสากลอยากให้เค้าเปิดใจ เอ่อ… แบบนี้มันก็ชิวดีนะฟังสบายดี ถึงแม้จะฟังเนื้อร้องไม่ออก ก็ขอให้สนุกไปกับดนตรีด้วยกัน”

หลังการสัมภาษณ์นุ๊กนิกจบลง ชั่วครู่หนึ่งผู้เขียนนึกย้อนไปถึงภาพบรรยากาศการจัดงานแพร่คราฟท์ครั้งที่ 7 ในฤดูหนาวของต้นเดือนธันวาคมเมื่อปลายปีก่อน ผู้เขียนมองเห็นภาพผู้คนทั้งในและต่างจังหวัดหลายร้อยคนวนเวียนเดินชมเลือกซื้องานคราฟท์ หันมาทางหน้าเวทีกลางมีวงดนตรีสากลกำลังเล่นเพลงโชว์สกิลอย่างเมาส์มันส์ อีกด้านเหลือบไปเห็นหลายครอบครัวนั่งทานอาหารกันเป็นกลุ่ม บางคนตั้งใจมาดูลูกเล่นดนตรี คุณแม่น้องมือกีต้าร์เอาตั้งขากล้องถ่าย Live สด เพื่อนนักดนตรีกลุ่มใหญ่คอยปรบมือส่งเสียงเชียร์  เด็ก ๆ วิ่งเล่นไล่จับกันกลางสนามกีฬาโรงเรียนป่าไม้แพร่เก่าที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานเป็นประจำทุกปี ผู้คนหลากหลายต่างวัยมีใบหน้าเปื้อนความสุข แววตาเป็นประกาย บ้างโยกตัวและร่ำรองไปกับเสียงดนตรีจากวง Jet take off ที่กำลังเล่นเพลง Sweet child o’ mine ของ Guns N’ Roses และนี่คือเรื่องเล่าการกลับไปใช้ต้นทุนชีวิตที่บ้านเกิดของคนแพร่ทั้งสี่คน และทุกคนอยู่ที่นั่นในคืนวันสุดท้ายของการจัดงานแพร่คราฟท์

เสียงร้องและท่วงทำนองดังทุ้มมากขึ้นตามจังหวะสุดเร้า และนี่คือเพลงสุดท้ายของค่ำคืนนี้ ผู้เขียนอาจจะคิดไปเองว่าในเมืองนี้เราต่างได้ยินบทเพลงของกันและกัน

 …Her hair reminds me of a warm safe place

Where as a child I’d hide

And pray for the thunder

And the rain

To quietly pass me by…

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายที่สุด หากคุณอ่านถึงตรงนี้ผู้เขียนอยากชวนผู้อ่านพิจารณาจุดร่วมของการกลับบ้านไปใช้ชีวิตของเธอทั้งสี่ นี่คือการฉายภาพความจริงของคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจกลับบ้านไปเผชิญกับนิเวศของเมืองและผู้คนที่ตัวเองเคยจากมา ความคิดของคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ปะทะสังสรรค์กันอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เมืองแพร่กำลังเผชิญกับความท้าทายด้วยตัวเลขผู้สูงอายุอันดับสองของประเทศ สวนทางกับค่าครองชีพและรายได้ครัวเรือน รัฐชูนโยบายเมืองรองไม่สุดแขน เป็นการส่งเสริมนโยบายซอฟท์พาวเวอร์พ่วงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ถูกที่ถูกทาง ชวนทุกคนหันไปมอง ‘ผ้า ไม้ เหล้า’ ต้นทุนหลักของดีเมืองแพร่ที่รอการส่งเสริมอย่างจริงจังและจริงใจ แต่ก็ไม่สามารถหยิบยกขึ้นชูได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยข้อจำกัดของรัฐราชการ การบริหารงานแบบรวมศูนย์  การขาดพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค และด้วยกฎหมายที่ผูกรัดไว้ ทั้งหมดแทนที่ผู้คนจะได้ร่วมสร้างสรรค์เมือง เมืองสร้างสรรค์คน มันกลับตาลปัตรกลายเป็นดินแดนสนธยา

การกลับบ้านของคนรุ่นใหม่จึงไม่ราบรื่นและสวยงามอย่างที่หลายคนคิด เปรียบเหมือนสมการที่มีความท้าทายจากทุกพลวัตและปัจจัยที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญทั้งหมดนี้คูณกัน แล้วมีตัวหารเป็นระบบเศรษฐกิจอย่างทุนนิยมที่แข่งขันการสะสมทุนเพื่อความอยู่รอดใน ‘เมืองแพร่’ และไม่แปลกว่าจะยังคงได้ยินคำถามนี้ผ่านหูผ่านตาเสมอ ‘กลับบ้านไปทำอะไร และจะอยู่ได้จริงไหม’

แต่ก็ใช่ว่าเมื่อตัดสินใจกลับมาแล้วจะสิ้นไร้ไม้ตอกเสียทีเดียว เพราะทั้งสี่คนนี้เผยให้เห็นแล้วว่าอยู่ได้ด้วยความพยายามใช้ต้นทุนในชีวิตที่มีประติดประต่อสร้างตำแหน่งแห่งที่ของตนร่วมกับต้นทุนของบ้านเกิด ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ไว้คอยเก็บเกี่ยวผู้คน แล้วเชื่อมโยงความสนใจและอุดมคติที่ใกล้เคียงกัน อย่างน้อยก็สามารถค้นพบพื้นที่ของตัวเอง 

นอกจากนั้นจุดร่วมสำคัญอีกหนึ่งประการของคนทั้งสี่นี้คือ ‘พื้นที่ออนไลน์’  เปรียบเหมือนเป็นลมใต้ปีกที่คอยหนุนเสริมต้นทุนชีวิตและต้นทุนของบ้านเกิด โดยที่ผู้เขียนอยากจะบันทึกไว้เป็นการสรุปข้อสังเกตของทั้งสี่คนส่งท้าย และชวนทุกคนย้อนกลับไปทบทวนด้วยกันต่อจากนี้

พื้นที่ออนไลน์ลมใต้ปีกขับเคลื่อน ‘ชีวิต’ 

นิว-ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณและทีมงาน หากยังใช้สื่อสิ่งพิมพ์รูปแบบเดิมประชาสัมพันธ์กิจกรรมทั่วไป มันเป็นเรื่องยากมากที่จะเข้าถึงผู้คนในวงกว้างอย่างทุกวันนี้ หากแพร่คราฟท์ไม่เลือกใช้พื้นที่สื่อสารผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก โดยเฉพาะการมียอดผู้คนเข้าถึงเฟสบุ๊คเพจจากทั้งในจังหวัดและทั่วประเทศนับแสนคน ซึ่งภายหลังกลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นแรงสนับสนุนสำคัญของแพร่คราฟท์ในทุกครั้งของการขับเคลื่อน

โก้-ฝีไม้ลายมือของการออกแบบงานแต่งงาน ผลงานการแต่งหน้าทำผมชุดเจ้าสาว และงานโชว์ของเธอ ถูกนำเสนอบนโซเชียลเน็ตเวิร์คทันทีที่โพสต์ และนี่คือการตลาดที่ขายผลงาน มีลูกค้าเป็นคนตัดสิน

ดรีม-หากย้อนเวลากลับไปเกิน 10 ปี ดรีมคงไม่สามารถเลือกอาชีพเป็นทั้งอินฟลูเอนเซอร์ พร้อมกับการได้ดูแลคุณแม่สูงอายุอย่างใกล้ชิดในบ้านเกิดของตัวเอง

นุ๊กนิ๊ก-ถ้าไม่มีแพลทฟอร์มออนไลน์เป็นเครื่องมือช่วยในการเผยแพร่ วงดนตรีทางเลือกที่คนแพร่ไม่คุ้นชินเท่าไหร่นักคงไม่สามารถนำเสนอแนวเพลงที่แตกต่างเหล่านั้นให้คนทั่วไปได้รับรู้การมีอยู่ของตัวเองได้เท่าที่เป็น หรือแม้แต่การดึงดูดแฟนคลับทั้งในและต่างจังหวัดให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ทุกครั้งที่คอนเทนต์ภาพและเสียงถูกแชร์ออกไปได้ไกลกว่าร้านเหล้า 

การเข้าถึงและใช้งานพื้นที่ทางออนไลน์ทั้งหมดนี้จึงเป็นทั้งเครื่องมือและโอกาสทะยานไปข้างหน้าของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแพร่

ชวนย้อนกลับมามองปรากฏการณ์การกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ในเมืองแพร่ที่สะท้อนถึงการปรับตัว และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อฟันฝ่าข้อจำกัดและความท้าทายที่มีอีกหลายแง่มุมน่าคิด ด้วยความพยายามผลักดันเชื่อมโยงกันและกันในกลุ่มความสนใจ ร่วมกับการใช้ต้นทุนทางทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน แม้จะต้องเผชิญกับสภาวการณ์ที่ไม่แน่นอนที่ยากจะควบคุมเช่นปัญหาการระบาดของโควิด-19 แล้วยังถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยที่รุมเร้าของสังคมผู้สูงอายุ สุมรุมด้วยข้อจำกัดโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์ของรัฐที่ยังเป็นอุปสรรค แต่กลุ่มคนเหล่านี้สามารถฟันฝ่าจนสามารถสร้างตัวตนบนพื้นที่ของตนเองได้ มันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้แพลทฟอร์มออนไลน์กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ได้มีโอกาสสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างเครือข่ายผ่านการเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดความสนใจใกล้เคียงกัน

การกลับบ้านของคนรุ่นใหม่จึงไม่ใช่เพียงแค่การหวนคืนสู่ถิ่นฐานเดิม แต่ยังเป็นการประกอบสร้างตัวตนและกำหนดตำแหน่งแห่งที่ใหม่จากต้นทุนชีวิตทั้งหมดที่เขาและเธอกลับมาค้นพบในที่แห่งนี้ที่เรียกว่า ’บ้านเกิด’ แต่มันไม่มีอะไรการันตีได้ว่าคนรุ่นใหม่ทุกคนที่เลือกกลับบ้านจะประสบความสำเร็จ มีชีวิตสโลว์ไลฟ์สวยงามเหมือนอย่างภาพจำของคนในเมืองหลวงบางคนที่อาจรู้สึกอิจฉาคนต่างจังหวัด เพราะมีบ้านให้กลับในช่วงวันหยุดยาว 

ถ้าหากคุณเป็นคนธรรมดาชนชั้นกลาง หรือชนชั้นแรงงานทั่วไป คุณจะไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยที่ไม่จำเป็นต้องสนใจสภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจและสังคมภายใน-ภายนอกบ้านเกิดของตัวเองที่บีบรัดทำให้ต้องปรับตัวและเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด ยกตัวอย่าง สังคมสูงอายุทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยน ซึ่งไม่ใช่แค่ประชากรวัยแรงงานลดลง ยังรวมถึงสมาชิกของครอบครัวผู้สูงวัยที่อยู่ในวัยแรงงานสูญเสียการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะต้องเสียสละตัวเองกลับไปดูแลพ่อแม่สูงวัย ยิ่งถ้าหากคุณเป็นลูกคนเดียว หน้าที่นี้ก็เหมือนถูกเขียนบทบาทรอไว้แล้ว ในขณะที่จังหวัดแพร่มีอัตราประชากรผู้สูงอายุเป็นอันดับสองของประเทศ มันจึงไม่น่าประหลาดใจ ถ้าการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่หลายคนจะไม่ใช่ทางเลือกแต่มันคือความจำเป็น 

ท้ายที่สุดเรื่องเล่าการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ 4 คน จากจังหวัดแพร่นี้ คงไม่สามารถใช้เป็นสูตรคำนวณชีวิตสำเร็จรูปอย่างในหนังสือคณิตศาสตร์ หรือให้คำตอบใดใดจริงแท้ที่สุดว่าควรจะต้องทำอย่างไร จึงจะสามารถมีชีวิตอย่างที่ใครก็ตามวาดหวังไว้ แต่อย่างน้อยมันได้สะท้อนชีวิตและตัวตนของคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจกลับบ้านมาแล้ว ซึ่งทั้งหมดนั้นกำลังใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ในเมืองแพร่ และมันอาจจะตรงกับชีวิตจริงของใครสักคนที่ผู้อ่านเห็นและเป็นอยู่ก็ได้ ในขณะเดียวกันยังเป็นการฉายภาพฉากทัศน์ให้ใครก็ตามที่อยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้เห็นภาพอนาคตว่ามีอะไรรอต้อนรับอยู่ท่ามกลางพลวัตของเมือง(แพร่)

Similar Posts