ตอนที่ 2 ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการถ้วนหน้า
เรื่องและภาพ: ธรรมทัศน์ ธรรมปัญญวัฒน์ /Activist Journalist
อ่านตอนที่ 1 เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย สาธารณสุขไทยเตรียมความพร้อมหรือยัง?
จากที่ได้กล่าวมาในตอนที่ 1 ปัญหาของการขยายตัวของผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้ระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อรองรับประชากรสูงวัย ตอนที่ 2 ผู้เขียนได้ไปสัมภาษณ์บุคลากรสาธารณสุข และผู้สูงอายุที่เข้ารับการบริการเพื่อดูว่าผู้สูงอายุใน จ.ลำปางจะสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างไร
อโนชา ทองกองทุน หัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลลำปาง ดูแลในเขตเมืองลำปาง และ รัชนี ศรเมียงคำ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำคลินิกสูงอายุ และคลินิกสมองเสื่อม ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงแพยาบาลมีผู้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลวันละมากกว่า 3,000 คน ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทองประมาณ 65% ผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการประมาณ 20% และผู้ใช้สิทธิประกันสังคมประมาณ 15% ในจำนวนทั้งหมดมีผู้รับบริการที่เป็นผู้สูงวัยกว่า 30-40% โดยโรคที่พบบ่อยของผู้สูงวัยได้แก่ การหกล้ม และโรคความเสื่อมของร่างกาย หากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น การล้มเกิดขึ้นก็สามารถเรียกรถได้ผ่านทางสายด่วน 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จะดำเนินการประสานต่อไปยังบริการรถรับส่งฉุกเฉินของเทศบาล โรงพยาบาล และมูลนิธิต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลยังมีช่องทางการนัดหมายออนไลน์ แอพพลิเคชั่น เป๋าตัง และ ไลน์ของทาง รพ.ลำปาง และมีการเปิดบริการคลินิกผู้สูงวัยโดยเฉพาะในทุกวันศุกร์
ส่วนโรงพยาบาลในเขตนอกเมือง ขวัญทอง มาเมือง พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิ และองค์รวม โรงพยาบาลเมืองปานให้ข้อมูลว่า ณ ปัจจุบัน โรงพยาบาลเมืองปาน มีผู้มารับการรักษาประมาณ 200-300 คนต่อวัน มากกว่า 80% ของผู้รับบริการเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง รองลงมาคือสวัสดิการข้าราชการประมาณ 8% และประกันสังคมประมาณ 4% และในจำนวนผู้รับบริการทั้งหมดนี้กว่า 40% เป็นผู้สูงวัย ถือว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุสูงกว่าในเขตเมือง
นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลจะมีการเปิดบริการคลีนิกผู้สูงวัยโดยเฉพาะในทุกวันพฤหัสบดี อย่างไรก็ดี ทางโรงพยาบาลมีแพทย์ทั้งสิ้นเพียง 6 คนเท่านั้น (รวมผู้อำนวยการ) โดยแพทย์จะสลับกันเข้ามาทำงาน ในหนึ่งวัน แพทย์ 1 คนจึงตรวจคนไข้ประมาณ 50-80 คน นับว่าบุคลากรแทบจะไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วย
มาตรการการดูแลผู้สูงวัยที่มายังโรงพยาบาลนั้น จะเริ่มมีการคัดกรองโรคเบาหวาน ความดัน ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป มีคิวทางด่วนพิเศษสำหรับผู้มารับบริการที่อายุ 80 ปีขึ้นไป หรือเป็นผู้ที่ต้องนั่งรถเข็น หรือนอนเปล ระหว่างการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาผู้สูงวัย ทางแพทย์ก็จะเน้นการให้คำแนะนำญาติที่มาไปด้วย เนื่องจากผู้สูงวัยจำนวนมากมีการโต้ตอบ และการรับรู้ที่จำกัด
มาตรการเชิงรุกติดตามผู้สูงอายุที่บ้าน
พื้นที่ห่างไกล ติดตามยาก
อย่างไรก็ตาม ทั้งโรงพยาบาลในเมือง และนอกเมืองต่างมีการทำงานเชิงรุก ทั้ง 2 โรงพยาบาลจะมีทีมลงพื้นที่ออกตรวจ โรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ลงชุมชนและเยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ 3 วัน โดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วยหมอ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ นักโภชนาการ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช นักกายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทย แบ่งเป็น 3 ทีม (ตามพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละทีม จะแบ่งตามจำนวนประชากรของแต่ละพื้นที่เฉลี่ยพื้นที่ละ 10,000 คน) ทำให้ทั้งชุมชน และ รพ.สต. แต่ละแห่งจะมีการเยี่ยมผู้สูงอายุเดือนละประมาณ 1-2 ครั้ง โดยการประสานกับผู้นำชุมชน เช่น ประธานชมรมผู้สูงอายุให้นัดรวมตัวคนในพื้นที่ พื้นที่ในเมืองกับนอกเมืองจะพบความท้าทายที่แตกต่างกันไป เช่น สำหรับทีมของ รพ.ลำปางนั้น สภาพความเป็นเมืองซึ่งคนไม่ได้มีความสนิทสนมใกล้ชิดกันเหมือนนอกเมือง คนไม่ได้มารวมตัวกันเท่านอกเมือง และบางครั้งก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของบ้านในการเข้าไปเยี่ยมบ้านเช่นกัน
ขณะที่ทีมที่ลงพื้นที่ อ.เมืองปาน จะพบอุปสรรคการเดินทาง เพราะระยะทางที่ไกลและลักษณะภูมิประเทศ เส้นทางเดินทางได้ยาก บางพื้นที่รถยนต์เข้าไม่ถึง มีเหตุดินถล่ม ไฟดับ เข้าไม่ถึงสัญญาณโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต อุปสรรคของความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ในทางกลับกันการเดินทางมารับการรักษาของคนในพื้นที่เองก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน ทางโรงพยาบาลและสาธารณสุขจึงทวีความจำเป็นที่ต้องมุ่งเน้นที่การเข้าไปดูแลสุขภาพถึงชุมชนเพื่อดูแลป้องกันโรคเรื้อรังแต่เนิ่น ๆ โดยการให้เจ้าหน้าที่ อสม. คอยทำหน้าที่สำรวจคัดกรองคนในชุมชนรวมทั้งผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นจึงรายงานไปยัง รพ.สต. ให้ส่งยามาให้ และหากทาง รพ.สต. ประเมินว่า คนไข้ที่มีอาการที่ซับซ้อน ทาง รพ.สต. ก็ดำเนินการส่งต่อการรักษาให้ทางโรงพยาบาลเมืองปานต่อไป โดยจะแจ้งนัดให้ผู้ป่วยไปตรวจที่ รพ.เมืองปาน ในวันที่กำหนดไว้อีกที
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีขั้นตอนการดูแลป้องกันโรคเรื้อรังแต่เนิ่น ๆ แต่อุปสรรคในการเดินทางก็ยงคงเป็นปัญหาสำคัญ ต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคฉุกเฉิน เช่น หลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก (Stroke) และ กล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด (Mi) กว่า 60% ของเป็นผู้สูงวัย ซึ่งการเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วทันท่วงทีได้ยาก และได้รับการรักษาที่ล่าช้าก็จะยิ่งผลให้การรักษาให้ฟื้นสภาพกลับมาเป็นปกติดังเดิมทำได้ยากยิ่ง ขณะที่แนวโน้มในปัจจุบันกำลังมีผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่บ้านเพียงลำพังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และหลาย ๆ คนไม่มีเครื่องมือสื่อสาร หรืออยู่ในพื้นที่ที่ใช้เครื่องมือสื่อสารไม่ได้
ขณะที่อุปสรรคด้านความขาดแคลนบุคลากร นอกจาก รพ.เมืองปานมีแพทย์เพียง 6 คน ซึ่งทำให้ทางโรงพยาบาลเมืองปานมีศักยภาพดูแลรักษาที่จำกัดแล้ว ณ ปัจจุบันทีมสหวิชาชีพทางการแพทย์ในพื้นที่ อ.เมืองปาน ยังไม่ได้มีนักสังคมสงเคราะห์ และแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ เช่น จักษุแพทย์ เป็นต้น แม้จะมีโครงการร่วมกับ รพ.ลำปาง ในการนัดหมายส่งจักษุแพทย์มาปีละครั้งในวันสำคัญ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ก็มีเพียงการตรวจอาการต้อกระจกเท่านั้น ไม่ได้มีการวัดค่าสายตาให้กับผู้สูงอายุด้วย การที่ไม่มีจักษุแพทย์นี้เองยังมีผลกระทบทำให้โครงการต่าง ๆ เช่น โครงการตัดแว่นตาฟรีไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากมีระเบียบที่กำหนดเกณฑ์ว่าผู้เข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ หรือนักทัศนมาตรว่ามีค่าสายตาผิดปกติเสียก่อน ต้นทุนสำหรับการที่คน ๆ หนึ่งจะเดินทางเข้าไปในเมืองนั้นมากกว่าค่าแว่นของโครงการเสียอีก โครงการดังกล่าวจึงไม่สามารถเข้าให้การช่วยเหลือถึงกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือที่สุดได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังพบปัญหาอื่น ๆ ที่คล้ายกันในโครงการที่ต้องประสานการเรื่องงบประมาณกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น โครงการกองทุนประกันสุขภาพ long-term care พบว่าในหลายพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อม เช่น ยังไม่มีการจัดตั้งกองสาธารณสุข หรือ ยังไม่มีการตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ในพื้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการอื่น ๆ ได้ เช่น โครงการของทาง สปสช. การเบิกเงินค่าดูแลผู้สูงวัยให้นักบริบาล ซึ่งมีงบที่ 6000 บาท/คน/ปี ขณะที่ปัจจุบันนักบริบาลได้ค่าตอบแทนเพียง 300 บาท/คน/เดือน เท่านั้น โดยที่ต้องดูแลคน 5 คน หรือโครงการ เช่น การเบิกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ฟรีก็ทำได้ยาก
สำหรับข้อเสนอแนะของบุคลากรที่ทำงานนั้น รัชนี จาก รพ.ลำปาง มีความเห็นว่าการดูแลผู้สูงวัยกำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงอยากให้ทางโรงพยาบาลมีการตั้งหน่วยเฉพาะในการดูแลผู้สูงวัยซึ่งเปิดทำการทุกวัน (ไม่ใช่มีแค่เฉพาะคลินิกผู้สูงวัยซึ่งจะเปิดเฉพาะวันศุกร์เหมือนในปัจจุบัน) ในหน่วยมีก็จะทีมบุคลากรเฉพาะ มีจุดรับยา และจุดรับนัดในหน่วยของตัวเอง นอกจากนี้ยังมองว่าควรมีการปรับปรุงห้องน้ำของโรงพยาบาลให้เหมาะกับมาตรฐานของผู้สูงวัยด้วย
ส่วนอโนชา จาก รพ.ลำปาง ก็มีความเห็นว่า โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลลำปางซึ่งเป็นสถานบริการระดับตติยภูมิ มีแพทย์ส่วนใหญ่เป็นแพทย์เฉพาะทาง ก็อยากให้แพทย์ อุปกรณ์เครื่องมือได้แสดงศักยภาพเต็มที่ ควรรับรักษาเฉพาะโรคหนัก ที่ส่งต่อมาจากสถานบริการระดับปฐมภูมิอีกทีหนึ่งจะดีกว่าการให้แพทย์เฉพาะทางมาวินิจฉัยโรคทั่วไป
ขณะที่คณะบุคลากร รพ.เมืองปาน ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาความขาดแคลนบุคลากร และปัญหาด้านข้อจำกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน และเสนอแนะว่านอกจากการคุณภาพของโรงพยาบาลหลักแล้ว หากเป็นไปได้ก็อยากจะให้ รพ.สต. มีแผนกรับบริการนอกเวลาทำการด้วย
มุมมองผู้สูงอายุต่อการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข
ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ผู้สูงวัยที่มารอรับบริการ ณ โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง คือ ธานี ทีเก่ง อายุ 77 ปี – สิทธิสวัสดิการข้าราชการ, สุธรรม บัวจันทร์ อายุ 71 ปี – สิทธิบัตรทอง และลูกสาว, ขวัญเรือน มูลเครือคำอายุ 74 ปี – สิทธิบัตรทอง และหลานสาว
อีกทั้งจากผู้สูงวัยที่มารอรับบริการ ณ รพ.เมืองปานอีก 4 ท่าน คือ ชม กลิ่นซ้อน อายุ 64 ปี – สิทธิบัตรทอง, ทา ทำเลิก อายุ 70 ปี – สิทธิบัตรทอง, สันติ หลงสกุล อายุ 62 ปี – สิทธิประกันสังคม ม.39 และสมคิด ใจฟู อายุ 62 ปี – สิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยผู้สูงอายุที่ใช้สิทธิสวัสดิการราชการ สิทธิประกันสังคมมาตรา 39 และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาพยาบาล ยกเว้นผู้สูงอายุที่ใช้สิทธิประกันสังคมเท่านั้นที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันเดือนละ 432 บาททุกเดือน
ด้านการเดินทาง ผู้สูงอายุทั้ง 7 ท่านต่างเดินทางมาโดยมีญาติมาส่ง แต่ก็พบข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ผู้สูงอายุที่เดินทางมาใช้บริการที่ รพ.ลำปาง ทั้ง 3 ท่าน ญาติที่มาส่งเองก็จะอยู่ดูแลเป็นเพื่อนต่อในระหว่างที่มาโรงพยาบาล ขณะที่ผู้สูงอายุที่เดินทางมาใช้บริการที่ รพ.เมืองปาน แม้จะมีญาติเป็นผู้มาส่งถึงที่โรงพยาบาลเช่นกัน แต่โดยมากแล้วญาติจะไม่ได้อยู่ดูแลต่อด้วย เนื่องจากต้องกลับไปทำงาน หรือต้องไปทำธุระในตัวอำเภอ ไม่ได้มีโอกาสเข้ามาบ่อย ๆ จึงถือโอกาสที่มาส่งญาติมาโรงพยาบาล แวะไปทำธุระอื่น ๆ ด้วยให้คุ้มค่ากับการเดินทางมา ทำให้ผู้สูงอายุที่มารับบริการที่ รพ.เมืองปาน โดยมากต้องอยู่และเดินเรื่องในการรอรับบริการเองโดยลำพัง โดยผู้สูงวัยถือเป็นกลุ่มคนที่มีสภาวะของความเปราะบางทั้งทางร่างกาย จิตใจ รวมถึงการรับรู้ และการตอบสนองที่จำกัด ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการรับบริการ
ส่วนเรื่องเวลาการรอคอยในการรับบริการทางการแพทย์นั้น ผู้มารับบริการที่ รพ.เมืองปานจะใช้เวลามากกว่า ผู้มารับบริการที่ รพ.ลำปางเล็กน้อย โดยผู้ให้ข้อมูลทั้ง 3 ท่านที่มาใช้บริการที่ รพ.ลำปาง พร้อมญาติ ต่างมาถึงที่พยาบาลลำปางตั้งแต่เวลาประมาณ 8-9 โมงเช้า และอยู่รอรับการการตรวจ รับยาและรอรับการนัดหมายครั้งต่อไป กระทั่งเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนที่เวลาประมาณตอนเที่ยงวัน รวมระยะเวลาที่ใช้ทั้งสิ้นประมาณ 3-4 ชั่วโมง (ครึ่งวัน) ส่วนทางผู้มารับบริการที่ รพ.เมืองปาน ผู้สูงอายุจะมาถึงโรงพยาบาลเมืองปาน เวลาประมาณ 7-8 โมงเช้า และรอรับการตรวจรักษา รับยา และรับการนัดหมายครั้งต่อไป จนเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนที่เวลาประมาณเที่ยงวัน รวมระยะเวลาที่ใช้ทั้งสิ้น ประมาณ 4-5 ชั่วโมง (ครึ่งวัน) ยกเว้นกรณีของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิข้าราชการ ลูกสาวที่เป็นเจ้าหน้าที่พยาบาลจะสามารถเข้าคิวให้แทน ทำให้ผู้สูงอายุใช้เวลารอแค่ 30 นาที เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้รับบริการทั้ง 7 ท่าน จากทั้งสองโรงพยาบาลต่างมีความพึงพอใจกับการบริการที่ได้รับ แต่หลาย ๆ ท่านก็มีความเห็นตรงกันในเรื่องที่ต้องการให้มีการลดระยะเวลารอรับบริการให้น้อยลง เช่น ด้วยการลดความหนาแน่นของจำนวนผู้มารับบริการที่มากเกินไป และการเพิ่มจำนวนบุคลากรประจำโรงพยาบาล
สำหรับความคิดเห็นด้านที่อยากให้เกิดการปรับปรุงอื่น ๆ ผู้สูงอายุมีความต้องการที่จอดรถเพิ่มเติม มีความกังวลในเรื่องของคุณภาพการวินิจฉัยโรค เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่ามีคนรู้จักมารับการตรวจรักษาแล้วกลับไปเสียชีวิตที่บ้านในเวลาต่อมา
บริการถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงอายุจะเกิดขึ้นอย่างไร
จากการรวบรวมข้อมูลทั้งของผู้ให้บริการทางการแพทย์ และผู้สูงวัยที่รับบริการในทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง เราจึงเห็นได้ว่าการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุระหว่างทั้ง 2 พื้นที่จะมีความแตกต่างกันอยู่มาก เป็นต้นว่า ภายในเมืองสถานพยาบาลสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า มีโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่า มีขีดความสามารถในการรักษาที่มากกว่า และมีบริการเฉพาะทาง เช่น การรักษาโรคทางสายตา และอาการข้อเสื่อมโดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีถนนลาดยางและเส้นทางสำหรับการเดินทางที่ได้รับการปรับสภาพแล้ว และพอมีสถานดูแลผู้สูงวัยอยู่บ้าง แต่ก็มีปัญหาในเรื่องการขาดความใกล้ชิด สนิทสนม และความเข้มแข็งภายในชุมชน
ทางตรงกันข้าม พื้นที่ชนบทมีชุมชนที่เข้มแข็ง และมีการลงพื้นที่ชุมชนของเจ้าหน้าที่เพื่อเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยอยู่เสมอ แต่ก็เผชิญกับความท้าทาย เช่น ขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลที่จำกัด ความจำเป็นในการเดินทางไกลผ่านเส้นทางที่ยากลำบากเพื่อเข้าถึงการรักษาพยาบาล ภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่มากกว่าการมีเหตุดินถล่ม และไฟฟ้าดับในบางครั้ง การเข้าไม่ถึงสัญญาณโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ตในบางพื้นที่ ความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูล และการติดต่อสื่อสาร และความไม่พร้อมของภาคส่วนอื่น ๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ซึ่งยังไม่สามารถจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุได้ หรือแม้แต่บาง อบต.ในพื้นที่ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งกองสาธารณสุขได้เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 พื้นที่ก็ประสบกับความท้าทายหลายประการที่คล้ายคลึงกัน เป็นต้นว่า ความแออัดของสถานพยาบาลส่งผลให้ผู้มารับบริการมักจะต้องใช้เวลารอทั้งสิ้นประมาณครึ่งวัน การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และข้อจำกัดของงบประมาณทั้งของสถานพยาบาลและงบประมาณของเทศบาลท้องถิ่น นอกจากจำนวนของงบประมาณแล้ว ยังมีข้อจำกัดของระเบียบข้อบังคับในการเบิกจ่าย สิ่งเหล่านี้ทำให้ขีดความสามารถของสถานดูแลผู้สูงวัยของรัฐมีอยู่อย่างจำกัด ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงได้น้อย
จากการรวบรวมข้อมูลที่ได้มา เราเห็นความพยายามอย่างเต็มที่ของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยรักษาพยาบาล ในการรับมือความท้าทายและแก้ไขข้อจำกัดในพื้นที่ เป็นต้นว่า การจัดคิวพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ และผู้มีความจำเป็นต้องใช้เปลหรือใช้รถเข็น รวมถึงการให้เจ้าหน้าที่พยาบาลในการช่วยคัดกรองดูแลผู้ป่วย หรือการที่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพออกไปลงชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และอาศัยจุดแข็งของชุมชนที่คนมีความรู้จักสนิทสนมกันในการช่วงกันสอดส่องคัดกรองผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย เพื่อให้เข้าถึงการรักษาก่อนที่อาการเจ็บป่วยจะมีความร้ายแรงมากขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ตามหากสถานพยาบาลขนาดใหญ่ยังคงมีความแออัดของจำนวนผู้มารับบริการดังเช่นในปัจจุบันนี้ ขณะที่ผู้สูงอายุยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีคิวพิเศษก็อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การรอคิวเพื่อรับบริการทางการแพทย์ของผู้สูงวัยนั้นก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาที่ยาวนานมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ดี ขณะที่การลงพื้นที่ในปัจจุบันซึ่งทีมสหวิชาชีพหนึ่งทีมจะต้องลงพื้นที่เพื่อดูแลคนกว่า 10,000 คนนั้น ก็ยังเป็นภาระงานที่หนักหนายิ่ง ก็ยังคงเห็นได้ว่าโครงสร้างการจัดการสาธารณสุขยังมีความจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขต่อไปเป็นลำดับ
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ และหัวหน้าศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาต่าง ๆ ของการจัดการทางสาธารณสุขในไทยนั้นมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.งบประมาณ ระบบกองทุนรักษาพยาบาลทั้ง 3 ประเภท ซึ่งควรจะรวมเป็นกองทุนเดียวกัน 2. การขาดแคลนบุคลากร ซึ่งไม่เพียงพอทั้งในแง่ของปริมาณบุคลากร และด้านของภาระงานที่หนัก และไม่ตรงกับความความชำนาญเฉพาะของบุคลากร และ 3. ระบบบริหารจัดการ ซึ่งปัญหาทั้ง 3 ต่างผูกพันซึ่งกันและกันเหมือนเป็นงูกินหาง มีความจำเป็นต้องแก้ทั้งหมด
หากจะแก้ไขสิ่งเหล่านี้แล้ว ก้าวแรก คือ เราต้องคิดฝันในเรื่องของการรวมกองทุนให้ได้ ทำให้มาตรฐานการรักษาพยาบาลเป็นแบบเดียวกัน และหลังผ่านช่วงโควิดมา ก็ทำให้เราเห็นมาตรฐานใหม่ว่าระบบถ้วนหน้านั้นสามารถช่วยประคองชีวิตของคน ช่วยส่งต่อผลประโยชน์ได้ดีกว่า ส่วนในเรื่องความเป็นไปได้นั้น เดิมทีแล้วการจะทำเรื่องนี้ได้เคยมีปัญหาของงบประมาณ แต่ว่า ณ ตอนนี้ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น เนื่องจากสิทธิของหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นดีขึ้นมาก การให้บริการต่อสิทธิทั้ง 3 ประเภท ไม่ได้ดีกว่ากันแบบก้าวกระโดด ผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการเวลามารอรับการรักษาก็ต้องต่อคิวเหมือนกัน ได้รับการตรวจรักษาตามมาตรฐานคนเดียวกัน แล้วที่ค่าใช้จ่ายของผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการมาก ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่โรงพยาบาลเบิกเอางบที่ได้จากสิทธิข้าราชการไปโปะให้กับส่วนของผู้ใช้สิทธิประเภทอื่นที่ได้รับงบไม่เพียงพอด้วย เพราะสิทธิข้าราชการนั้นเป็นการคิดค่าใช้จ่ายโดยไม่จำกัดวงเงินต่อหัวในการรักษาไว้แบบสิทธิอื่น ๆ ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยแล้วคนจะใช้สิทธิที่แผนกผู้ป่วยใน IPD (การนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล) ประมาณ 1 ครั้งต่อ 10 ปี ในขณะที่ใช้บริการแผนกผู้ป่วยนอก OPD 4 ครั้งต่อปี
จากการที่คนเราไม่ได้ป่วยทุกวัน ไม่ได้จำเป็นต้องใช้สิทธิทุกวันนี้เอง การจะรวมกองทุนเพื่อที่จะเฉลี่ยการใช้สิทธิร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินที่จะเป็นไปได้ ซึ่งก็จะทำให้ข้าราชการ และผู้ประกันตนประกันสังคมเองก็สามารถจะปรับสิทธิประโยชน์ให้มีความครอบคลุมในการรักษาโรคเพิ่มขึ้นตามสิทธิบางอย่างของบัตรทองได้เช่นกัน แต่หากเป็นส่วนของสิทธิข้าราชการที่เป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากการรับการรักษา เช่น การได้ค่าห้องพิเศษ หรือบริการพิเศษ ก็สามารถมีต่อไปโดยแยกส่วนที่พิเศษนี้ไปอีกบัญชีก็ได้ แล้วไปกำหนดเพดานมาว่าจะมีงบส่วนนี้เท่าไหร่ แต่สิทธิการรักษาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาจริง ๆ โดยพื้นฐานนั้นสามารถรวมกันได้ ส่วนกองทุนประกันสังคมเมื่อถูกรวมแล้วก็จะช่วยให้สามารถไปจัดการเรื่องอื่น ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของคนทำงาน เช่น บำนาญ การชดเชยรายได้ประกันการว่างงาน การชดเชยรายได้ความเจ็บป่วยจากการทำงาน ทำให้กองทุนประกันสังคมทำงานเชิงรุกมากขึ้น ส่วนถ้าการเจ็บป่วยไม่ได้มาจากการทำงาน การจัดการก็ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ในเรื่องของบุคลากรนั้น ปัญหาใหญ่คือ เรื่องของการไม่มีสหภาพ ไม่มีสิทธิการรวมตัวในการต่อรองต่าง ๆ ที่ดีมากพอ คุณภาพชีวิตของหมอและบุคลากรทางการแพทย์จึงย่ำแย่ และทำให้เกิดภาวะสมองไหล บีบให้คนออกจากระบบไปกองอยู่ที่ภาคเอกชน ทั้งที่ต้นทุนการผลิตหมอและบุคลากรทางการแพทย์นั่นสูงมาก และยังมีความขาดแคลน ส่วนการให้บริการทางการแพทย์ในภาคเอกชนก็มีราคาที่แพงมาก ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนก็กำลังเติบโต และถูกทำให้เป็นเรื่องของการค้ามาก ๆ ประเทศไทยก็ยังไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดว่าโรงพยาบาลเอกชนจำเป็นต้องรับสิทธิประกันสุขภาพสุขภาพถ้วนหน้า และปัญหาความขาดแคลนบุคลากรที่กล่าวไปข้างต้นนี้ก็ยังเชื่อมโยงสู่เรื่องการบริหารจัดการ การสั่งการที่เป็นแบบบนลงล่างที่แข็งมาก ๆ ใกล้เคียงกับระบบของทหาร-ตำรวจ ทำให้หมอระดับที่เป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ที่หน้างานจริงไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จึงทำให้จำนวนภาระงาน และเงื่อนไขการทำงานต่าง ๆ เป็นปัญหา คำถามสำคัญในเรื่องนี้คือ เราจะทำอย่างไรให้การบริหารเป็นแบบแนวราบมากที่สุด และการสร้างตัวชี้วัดให้คนที่ทำงานอยู่หน้างานจริงมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่เกิดได้ยาก เทียบเหมือนการให้ทหารเกณฑ์ได้มีส่วนกำหนดเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์
การจะผลักดันเพื่อแก้ไขเรื่องทั้งหมดเหล่านี้แล้ว อ.ษัษฐรัมย์ มองว่าภาคส่วนของประชาชนและพรรคการเมืองนั้นมีความสำคัญมาก แต่ที่ผ่านมาพรรคการเมืองยังไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังมากนักในการรวมกองทุน หากมีการออกแบบการสื่อสารดี ๆ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนโดยทั่วกัน
ด้านของการรับมือสภาวะสังคมสูงวัยนั้น อ.ษัษฐรัมย์ มองว่าสิ่งสำคัญคือการจัดสวัสดิการเพื่อให้การดูแล และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนโดยรวม เช่น การยกระดับระบบประกันสุขภาพสำหรับคนทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ในปัจจุบันความพร้อมของเรายังมีไม่เพียงพอ ไม่ใช่ไปแก้ไขแค่ด้วยการจัดสวัสดิการเฉพาะเพื่อกระตุ้นให้คนมีลูก เช่น การเพิ่มวันลาคลอด หรือเงินอุดหนุนเด็กเล็กที่ไม่ถ้วนหน้าเท่านั้น ทั้งนี้ อ.ษัษฐรัมย์ เคยให้สัมภาษณ์กับทาง The Coverage เมื่อเร็ว ๆ นี้ไว้ว่า “ไม่ใช่เพราะว่าอัตราการเกิดน้อย แล้วรัฐบาลไปกระตุ้นการเกิดอย่างเดียว แต่หากบริหารจัดการระบบสวัสดิการทางสังคมที่ดี ทั้งหมดจะส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศ อย่างที่บอกเอาไว้ว่าระบบที่ดี จะแก้ไขทุกข้อต่อของปัญหา ซึ่งรัฐบาลจะต้องจัดสรรและจัดการบริหารสวัสดิการให้ดีเพื่อยกระดับสังคมและประเทศในภาพรวมทั้งหมด”
30 บาทเป็นระบบที่ดีแต่ยังต้องปรับปรุง
ด้านผศ.ดร.จิรพรรณ นฤภัทร อาจารย์ประจำ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท) เป็นโครงการที่มีความครอบคลุมถ้วนหน้า แต่ยังมีปัญหาในด้านดังต่อไปนี้ 1. ด้านการจัดการ 2. ความทั่วถึงของคุณภาพการรักษา และ 3. ความยุติธรรมในการรับบริการทางการแพทย์ (การเลือกปฏิบัติ) ในด้านการจัดการนั้นด้วยระบบของสาธารณสุข เดิมไทยเราเอาโมเดล 30 บาท มาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการรักษาฟรีอย่างถ้วนหน้า แต่ระบบการรักษาของอังกฤษนั้นจะต้องเริ่มแรกเข้าที่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิซึ่งจะมีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวประจำอยู่ในการให้บริการตรวจวินิจฉัย และส่งต่อผู้รับบริการไปในหน่วยบริการระดับต่อไป
แต่ในสภาพการณ์ปัจจุบันของไทยที่โดยทั่วไปแล้วยังไม่มีแพทย์ครอบครัวที่เพียงพอในการประจำอยู่ที่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ แต่ไปอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัดแทน ทำให้คนแรกเข้าไปรับการรักษาโดยรวมกันอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และก่อให้เกิดความแออัด และการใช้เวลารอรับการบริการที่ใช้เวลานานตามมา
สำหรับความทั่วถึงของคุณภาพการรักษา โรงพยาบาลประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ก็ยังมีความสามารถในการวินิจฉัยและรักษาที่ต่างกัน เป็นต้นว่า จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ หรือความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน ส่วนเรื่องความยุติธรรมในการรับบริการทางการแพทย์นั้น ยังมีบุคคลบางส่วนซึ่งมักจะเป็นกลุ่มเปราะบางยังเข้าไม่ถึงสิทธิรักษา ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ คนทำงานต่างด้าว ต่าง ๆ และจากผลการสำรวจผู้เสียชีวิตข้างถนนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบางแทบทั้งสิ้น
สิทธิหลักประกันสุขภาพและความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้งานวิจัยเรื่อง “การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของไทย : ภาพสะท้อนและความเหลื่อมล้ำของกลุ่มเปราะบาง” โดย วรธา มงคลสืบสกุล เผยแพร่ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 เผยว่าพบปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบางในหลายด้าน ได้แก่ 1. กลุ่มคนยากจน ซึ่งไม่สามารถซื้อสินค้าหรือบริการที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้ 2. กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มคนชายขอบที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข และ 3. กลุ่มแรงงาน ที่มีรายได้ไม่มั่นคง
เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณต่อหัวของระบบสวัสดิการสุขภาพทั้ง 3 ระบบ คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ก็จะพบว่าสิทธิบัตรทองและประกันสังคมจะได้งบสนับสนุนเฉลี่ย 3,959 บาทต่อคน โดยมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองประมาณ 48 ล้านคน และผู้ใช้สิทธิประกันสังคมประมาณ 14 ล้านคน ขณะที่สิทธิสวัสดิการข้าราชการเป็นการเบิกตามค่าใช้จ่ายจริง โดยไม่มีจำกัดวงเงินค่ารักษาต่อหัว แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะได้รับงบประมาณ 15,000 บาทต่อคน โดยสิทธิมีความครอบคลุมข้าราชการและสมาชิกในครอบครัว 5 ล้านคน สิทธิของข้าราชการยังสามารถเข้าโรงพยาบาลรัฐที่ไหนก็ได้ไม่จำกัดวงเงิน และมีสิทธิได้รับยานอกบัญชีหลัก ยาที่มีราคาแพงหรือยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการได้รับหัตถการที่เหนือกว่า เช่น การคลอด การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นต้น
ในแง่ของการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า จำนวนแพทย์ไม่ได้ถูกจัดสรรให้สอดคล้องกับประชากรเท่ากันทุกพื้นที่ ส่งผลให้บางจังหวัดเกิดกรณีสัดส่วนแพทย์สูงกว่าจำนวนค่าเฉลี่ยประชากร 2-3 เท่า โดย กรุงเทพฯ มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 630 คน ขณะที่หากเทียบกับจังหวัดบึงกาฬ สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรคือ แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 5,021 คน ซึ่งแตกต่างกันประมาณ 8 เท่า
งานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า ประชาชนนั้นมีความรู้สึกเชื่อมั่นในคุณภาพของสถานพยาบาลที่แตกต่างกัน ผู้คนมากมายจึงพยายามเพื่อจะเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการใช้บริการของผู้ป่วยแรกเข้ารับการรักษาข้ามขั้นตอนไม่ได้ผ่านระบบส่งต่อตามปกติ ทั้งนี้มาจากความไม่มั่นใจในการให้บริการและคุณภาพของหน่วยบริการนั้น ๆ รวมถึงการที่มีขั้นตอนส่งต่อที่ซับซ้อน มีความล่าช้า หรือการประเมินความรุนแรงอาการเจ็บป่วยของแต่ละคน
โรงพยาบาลบางแห่งยังพบกับปัญหาด้านงบประมาณไม่เพียงพอ ปัญหาหนี้สินจำนวนมาก เพราะเงินที่ได้จากการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลรายหัวยังต้องถูกนำมาใช้สำหรับเงินเดือนบุคลากรและการบริหารจัดการ เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับมาไม่เพียงพอต่อค่าตอบแทนบุคลากร ค่าบำรุงจากโรงพยาบาลมาจ่าย และค่ายา ฯลฯ จึงต้องนำเงินจากส่วนนี้มาจ่ายแทน (การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข: ภาพสะท้อนและความเหลื่อมล้ำของกลุ่มเปราะบางทางสังคม, วรธา มงคลสืบสกุล, 2565)
จากการเก็บข้อมูลในทั้งจากผู้ให้และผู้รับบริการในพื้นที่ ความคิดเห็นทางวิชาการ และเอกสารการวิจัย เราจึงเห็นได้ว่าการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุระหว่างเขตเมืองและชนบท มีทั้งข้อแตกต่างกัน และปัญหาร่วมกันอยู่มาก และพบจุดสำคัญหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรับบริการทางสุขภาพของผู้สูงวัย ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม และกระจายไปสู่มิติอื่น ๆ ต่อไป และในอีกไม่ช้าสังคมไทยทั่วประเทศก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ไม่ต่างกับพื้นที่จังหวัดลำปางในเวลานี้
ในความคิดเห็นของผู้เขียนสิ่งที่ต้องเร่งทำและแก้ไขหลักประกันสุขภาพเพื่อรับมือกับสุงคมสูงวัย คือการส่งส่งเสริมและเพิ่มแพทย์ชำนาญการเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) ประจำในหน่วยรักษาพยาบาลปฐมภูมิทุกหน่วยทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ พร้อมกับประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของการเลือกเข้ารับการรักษาตามระบบที่มีหน่วยพยาบาลปฐมภูมิเป็นหลัก เพิ่มบุคลากร และเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพการรักษาและวินิจฉัยในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ เช่น จักษุแพทย์ และจิตแพทย์ รวมถึงบุคลากรในทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ เภสัชกร ทันตแพทย์ นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และนักกิจกรรมบำบัด ให้มีครบในโรงพยาบาลชุมขนาดใหญ่ทุกอำเภอ
นอกจากนี้ยังต้องการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกันระหว่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ ในการกำหนดยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะร่วมกันในการวางแผน และขอความร่วมมือในการทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ต่อไป
การจัดหน่วยงานในการทำงานเชิงรุกในการลงพื้นที่เพื่อดูแลคัดกรองโรคในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ แต่เนื่องจากการจำเช่นนี้ได้นั้นมีความจำเป็นต้องใช้กำลังคนที่สูงมาก ซึ่งยากที่จำนวนบุคลากรที่ของสาธารณสุขในปัจจุบันจะดูแลไหวทั้งหมด จึงเสนอให้มีการประสานและจ้างวานเครือข่ายชุมชน เอกชน และองค์กรไม่แสวงหากำไรในการทำงานเชิงรุกด้วย โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจะผันตัวจากเดิมที่เป็นผู้ปฏิบัติงานอย่างเดียว เป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของเครือข่ายด้วย
การเพิ่มการเข้าถึงเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่าย ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารต่าง ๆ มาช่วยในการส่งเสริมการดูแลสุขภาพ และการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นจากระยะไกล (Telemedicine)
โดยทั้งนี้ ผู้เขียนมีความหวังใจว่าสิ่งที่เสนอไปจะเป็นสิ่งที่ได้รับการพิจารณาในสังคม เพราะจากท่าทีการประกาศนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.กระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ได้บอกถึงความตั้งใจจะทำโครงการทางสาธารณสุขต่าง ๆ ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่, สร้างสถานชีวาวาภิบาลสำหรับผู้สูงอายุ จังหวัดละ 1 แห่ง และคลินิกผู้สูงอายุทุกโรงพยาบาลเอาไว้ แต่รายละเอียดเชิงลึกยังไม่ได้มีความชัดเจน เราจึงต้องติดตามกันต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
วิสัยทัศน์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เรื่อง ความเหลื่อมล้ำสูง-สังคมสูงวัย
สำรวจสวัสดิการผู้สูงอายุแต่ละประเทศ
จำนวนผู้สูงอายุอาศัยอยู่อย่างลำพัง
จำนวนประชากรจังหวัดลำปาง ปี 2553
สัดส่วนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต่อประชากร
‘สวัสดิการเฉพาะกลุ่ม’ อาจไม่ใช่คำตอบ ฟังมุมมองแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย ของ ‘รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’
งานวิจัย: การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข: ภาพสะท้อนและความเหลื่อมล้ำของกลุ่มเปราะบางทางสังคม
คลังคาดงบดูแลคนชราพุ่ง1ล้านล้านในปี76
สูงวัยยังยากจนกว่า 40% เงินออมต่ำกว่า 5 หมื่น
หมอชลน่าน คุมสาธารณสุข จับตาปรับโฉม “30 บาทรักษาทุกโรค”
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)
ธรรมทัศน์ ธรรมปัญญวัฒน์
ชายหนุ่มจากอดีตเจ้าหน้าที่ NGO สู่นักธุรกิจชาวลำปาง ผู้กระเสือกกระสนไปศึกษาปริญญาโทด้านสังคมสงเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังย่านท่าพระจันทร์ โดยมีความหวังว่าสักวันสังคมจะมีความเท่าเทียมกันด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ