เรื่องและภาพ: อนันต์ พรหมลิขิตศิลป์
เมื่อพูดถึงต้นไม้ในวัด เราจะนึกถึงต้นโพธิ์ ต้นไทร ที่เป็นเสมือนต้นไม้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ทุก ๆ วัดจะต้องปลูกไว้อย่างน้อยหนึ่งต้น บางวัดที่มีพื้นที่กว้างก็ปลูกไว้หลายต้น ที่ปลูกไว้นานก็จะเป็นต้นไม้สูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขา ให้ร่มเงาแก่พุทธศาสนิกชนที่ไปวัด ทำบุญ ไหว้พระ ชาวล้านนาจะมีประเพณีหนึ่ง ที่จัดขึ้นทุก ๆ ปีช่วงวันสงกรานต์ คือ ‘งานแห่ไม้ค้ำสะหลี’ (ต้นสะหลีก็คือต้นโพธิ์) ทุกบ้านจะนำไม้ค้ำ (มีง่าม) ใหญ่บ้างน้อยบ้าง ยาวเฉลี่ย 3-4 เมตร มารวมกันและจะมีไม้ค้ำขนาดใหญ่และสูงเท่าท่อนซุงอีกหนึ่งง่ามที่ชาวบ้านช่วยกันทำเสมือนเป็นไม้ค้ำประธาน ถึงเวลาก็จะแห่ไม้ค้ำจากศาลาหมู่บ้านสู่วัด เป็นงานแห่ที่เอิกเกริกเป็นอย่างมาก เมื่อถึงวัดก็ทำพิธีถวายพระ เมื่อพระให้ศีลให้พรเสร็จก็จะช่วยกันนำไม้ค้ำไปค้ำกิ่งสะหลีในวัด สื่อความหมายว่าช่วยค้ำพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่สืบไป แต่ทุกวัดใช่จะมีเพียงต้นสะหลี หรือต้นโพธิ์ที่ว่านี้เท่านั้น
วัดพระนอนแม่ปูคา
ใน อ.สันกำแพงยังมีวัดอีกมากมายที่มีการรักษาต้นไม้ในวัดไว้ได้ เราจะเห็นต้นไม้ใหญ่น้อย ปลูกไว้รอบ ๆ โบสถ์บ้าง วิหารบ้าง ศาลาบ้าง กลางแจ้งบ้าง บางวัดจะลงทุนจัดสวนหย่อมสร้างเป็นสวนดอกไม้ มีน้ำพุ บ่อปลา มีฝูงปลาว่ายวน สวยงามดั่งสวนในรีสอร์ต อย่างไรก็ตามใช่ว่าทุกวัดจะทำได้เหมือนกันหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของเจ้าอาวาส บวกกับต้องใช้เงินใช้ทองสูงในการดูแล วัดพระนอนแม่ปูคา ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง เป็นหนึ่งในวัดที่ยังคงเก็บรักษาต้นไม้ในวัดและมีการดูแลรักษาอย่างดี ท่านผู้อ่านเชื่อไหม ที่วัดพระนอนแม่ปูคาแห่งนี้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงถึงเดือนละ 35,000 บาท
ผู้เขียนมีโอกาสกราบขอสัมภาษณ์ท่านพระครูสิทธิวโรทัย เจ้าอาวาส ท่านเล่าให้ฟังว่า ค่าไฟฟ้าที่สูงทุกเดือน ส่วนมากหมดไปกับการดูแล รดน้ำต้นไม้ในวัด เพราะต้องใช้เครื่องสูบน้ำระบบซับเมอร์สสูบจากบ่อบาดาลเพื่อรดน้ำต้นไม้ที่ปลูกไว้มากมายในวัดทุก ๆ วัน แต่เพราะวัดยังมีศรัทธาต่างถิ่นมาทำบุญกันมาก เนื่องด้วยประวัติขององค์พระนอนมีอายุหลายร้อยปี สำคัญสุดคือวิหารที่ครอบองค์พระนอนที่เห็นอยู่ปัจจุบัน ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาเป็นผู้สร้างไว้ (เป็นวัดแห่งเดียวใน อ.สันกำแพงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้เมตตามานั่งกรรมฐาน แผ่เมตตา ตอนสร้างวิหาร -ในวัดมีอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ของครูบาเจ้าตั้งตระหง่านอยู่กลางวัด) ท่านเจ้าอาวาสบอกว่าวัดนี้จึงค่อนข้างมีชื่อเสียง เฉพาะญาติโยมที่มาทำบุญถวายเงินในแต่ละวันก็พอเพียงสำหรับจ่ายค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน อย่างที่บอกไว้ ใช่ว่าแต่ละวัดจะทำได้เหมือนกัน ทุกวันมีผู้ไปเยือนวัดพระนอนจำนวนมากไม่ขาดสาย
ผู้เขียนเชื่ออย่างหนึ่งว่า นอกประวัติของพระนอนองค์ใหญ่ที่ผู้คนศรัทธาคือวิสัยทัศน์ของเจ้าอาวาสวัดท่านปัจจุบัน ที่ได้ทุ่มเทปลูกต้นไม้ ดอกไม้ จัดสวนหย่อมเต็มพื้นที่ 5 ไร่ของวัดตั้งแต่มารับเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ.2552 จนปัจจุบันร่มรื่นสวยงาม เป็นที่เจริญหูเจริญตาของญาติโยม กระทั่งนักท่องเที่ยวและหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็นิยมมาเที่ยว มาทำบุญ มาถ่ายรูป เมื่อถามถึงกรรมการวัดว่ามีส่วนได้มาช่วยปลูกต้นไม้หรือช่วยจัดสวนด้วยหรือไม่ ท่านเจ้าวาสตอบว่า ทุกครั้งก็จะประชุมหารือกันตลอด ก็ไม่เคยมีใครคัดค้านเรื่องปลูกต้นไม้และส่วนใหญ่ก็บอกว่าสุดแท้แต่เจ้าอาวาสจะเห็นดีเห็นควร
วัดต้นผึ้ง ต.ต้นเปาเป็นอีกวัดหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระนอนแม่ปูคามากนักก็ยังคงมีการรักษาต้นไม้ไว้ ผู้เขียนได้กราบสัมภาษณ์ท่านพระครูสุคนธ์คุณธาดา เจ้าอาวาส ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลต้นเปาด้วย ท่านพระครูย้ายจากวัดกู่คำ ในเมือง มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 ท่านพระครูเป็นพระที่รักต้นไม้ แม้วัดต้นผึ้งจะมีพื่นที่แคบ มีที่ดินเพียง 1 ไร่เศษ แต่ก็เต็มไปด้วยต้นไม้มากชนิด เช่นฉำฉา ส้มสุก หมาก รวงผึ้ง บุนนาค จำปา จำปี กระดังงาไทย ลำดวน โศกอินเดีย เป็นต้น
วัดต้นผึ้งมีต้นโพธิ์ยักษ์ 1 ต้น ใกล้กันมีต้นยางนาสูงใหญ่อีก 2 ต้น อยู่นอกกำแพงหน้าวัด เป็นที่ทำพิธีประจำปีเช่นงานแห่ไม้ค้ำสะหลี (โพธิ์) เป็นต้น ยังมีสวนหย่อมแปลกตาหน้ากุฏิของท่านพระครูที่ลงมือจัดเองแบบประหยัด ไม่เปลืองน้ำ แต่ทว่ามีเสน่ห์ สวยงามเย็นตาคือการใช้หม้อน้ำดินเผาที่ไม่ใช้แล้วมาวางใต้ร่มไม้เป็นแถว คอยเติมน้ำให้เต็มก็ได้สวนเฟิร์น และสวนตระไคร่น้ำสีเขียวสด น่าชม น่ามองไม่เหมือนที่ไหน วัดเสียค่าไฟฟ้าไม่เกิน 1,500 บาทในแต่ละเดือน
ผู้เขียนได้ถามความเห็นเกี่ยวกับต้นฉำฉาบนถนนเชียงใหม่-สันกำแพง ท่านพระครูเล่าว่า เนื่องจากท่านมาอยู่ที่วัดนี้ 37 ปีมาแล้ว ได้เห็นการพัฒนาถนนสายนี้มาตลอด พัฒนาแต่ละครั้งก็มีการตัดต้นไม้ จนในที่สุดต้นฉำฉาก็ถูกตัดออกไปจำนวนมากอย่างน่าเสียดาย ที่เหลืออยู่ก็ปล่อยให้อยู่อย่างอึดอัด ด้วยถนนทุกตารางนิ้วก็เป็นยางมะตอยเสียสิ้น ทุกวันนี้ก็มีทั้งคนรักและคนชัง คนที่รักให้เหตุผลว่า ต้นฉำฉาเป็นต้นไม้สัญญลักษณ์ของสันกำแพงที่มีคนตั้งใจปลูกไว้เมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีที่แล้ว เมื่อก่อนเป็นถนนอุโมงค์ที่ร่มรื่นสวยงามมากสายหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ คนเดี๋ยวนี้ต่างหากที่เข้าไปบุกรุกเบียดบังพื้นที่ของต้นไม้
ส่วนคนชัง ก็คงเป็นกลุ่มคนคนขี้เมาและคนที่ขับรถประมาท หรือญาติ ๆ ของคนเหล่านี้ที่ต้องมาบาดเจ็บ บ้างก็เสียชีวิตเมื่อขับรถมาชน สุดท้ายท่านพระครูเสนอทางแก้ ถ้าจะอนุรักษ์ถนนต้นฉำฉาไว้อย่างเดิม ให้ปลูกใหม่เป็นต้นไม้แถวเดียวไว้ตรงกลางตลอดถนน ส่วนต้นที่อยู่สองข้างทางถ้าย้ายได้ก็ย้าย ย้ายไม่ได้ก็คงต้องตัดไป ไม่กี่ปีก็จะได้ถนนต้นฉำฉากลับมาดังเดิม ด้วยฉำฉาเป็นไม้โตเร็วและผลที่จะได้ตามมาก็คือได้ถนนสองข้างที่กว้างกว่าเดิม กิ่งก้านของต้นฉำฉาก็แผ่กว้างให้ร่มเงาถนนทั้งสองฝั่ง อีกทั้งกิ่งก้านก็จะไม่ไปรบกวนเสาไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ที่อยู่ข้างทางอีกด้วย
ท่านผู้อ่าน อ่านถึงตรงนี้แล้วคิดอย่างไรกันบ้าง ส่วนผู้เขียนคิดไปว่า หน่วยงานใดหนอจะเห็นด้วยอย่างที่ท่านพระครูว่าหรือวันหนึ่งอาจมีเทวดาผู้มีอำนาจสักองค์คิดทำใหม่อย่างที่ว่า ผู้เขียนก็คงได้แต่นึกสงสารและเสียดายต้นไม้โบราณทั้งหลายที่บางทีอาจต้องถูกตัดทิ้งไปเท่านั้น
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ