“ปัญหาน้ำท่วม เมื่อเดือนกันยายน – ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เราพอเข้าใจ ยอมรับสภาพ เพราะมันเกิดขึ้นไปทั่ว ที่ไหนก็โดนเหมือนกันหมดแหละ แต่สิ่งที่น่าวิตกกังวลมากตอนนี้ก็คือ ชาวบ้านกลัวว่ากรมชลฯ จะแอบปัดฝุ่นโครงการสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิงที่บ้านโป่งอางอีกครั้ง หลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เชียงใหม่ปีนี้”

“ก็กังวลกันอยู่เหมือนกัน ถ้ากรมชลฯ จะมาใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อนที่บ้านเรา โดยบอกว่าเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเชียงใหม่ได้ เพราะถ้าเขาจะสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิง มันจะสูงถึงสันดอย มันจะสูงเท่าตึก 20 ชั้นเลย มันจะส่งผลกระทบที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยคนบ้านเราหมดเลยนะ”

“การออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหา จะเป็นเสมือนการสร้างกำแพงเพื่อป้องกัน หรือตอกย้ำถึงความชอบธรรมของชุมชนในการบริหารจัดการน้ำ ที่เป็นทางเลือกของการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้ การปรับตัวที่เอื้อต่อการผลิตที่เหมาะสมกับชุมชน ที่สะท้อนเตือนให้ภาครัฐเห็นว่า การพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ไม่ได้มีคำตอบอยู่ที่การสร้างเขื่อนเท่านั้น หากแต่ยังมีรูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมในรูปแบบที่หลากหลาย มีแนวทางการแก้ไขปัญหาในมิติต่าง ๆ อีกมากมายรวมถึงมีความยั่งยืนในการบริหารจัดการ”


หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เชียงใหม่ 2567 คนโป่งอาง กังวลกรมชลฯ จะปลุกผีเขื่อนกั้นน้ำปิงขึ้นมาอีกครั้ง

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เชียงใหม่เมื่อช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา หลายพื้นที่หลายอำเภอต่างประสบกับภัยพิบัติกันถ้วนหน้า ที่หมู่บ้านโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็เช่นเดียวกัน ได้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้เกิดดินสไลด์ ตลิ่งพัง และทำให้เศษไม้กิ่งไม้ไหลไปติดกับฝายชลประทานในหมู่บ้าน จนทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วม และพัดเอาดินทรายเข้าไปทับถมในที่นาพังเสียหายมากกว่า 25 ไร่

“ปัญหาน้ำท่วมปี 67 เราพอเข้าใจ ยอมรับสภาพ เพราะมันเกิดขึ้นไปทั่ว ที่ไหนก็โดนเหมือนกันหมดแหละ แต่สิ่งที่น่าวิตกกังวลมากกว่าตอนนี้ก็คือ ชาวบ้านโป่งอางกลัวทางกรมชลประทาน จะแอบรื้อปัดฝุ่นโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบนขึ้นมาอีกครั้ง” ลุงคำจันทร์ ปุกคำ บอกเล่าให้ฟัง

ลุงคำจันทร์ ปุกคำ ชาวบ้านบ้านโป่งอาง

อีกทั้งชาวบ้านยังได้ยินข่าวจากสื่ออีกว่าจะมีการรื้อฟื้นสร้าง ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ กั้นแม่น้ำยม โดยอ้างป้องกันน้ำท่วมและกักเก็บน้ำ ภายหลังนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ออกมาพูดถึงสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือ โดยนายภูมิธรรม บอกว่า ถึงเวลาที่ต้องพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทำการศึกษาอย่างรอบด้านอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม จ.แพร่ และสุโขทัย พร้อมจะประสานเวิลด์แบงก์ โดยฝ่ายที่สนับสนุนการสร้างเขื่อน ก็ออกมาบอกว่า เขื่อนจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำท่วม จนทำให้ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกมาคัดค้าน และออกมารวมตัวเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ออกแถลงการณ์คัดค้านไม่เห็นด้วย ว่าเขื่อนไม่ได้ป้องกันน้ำท่วม แถมการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นการทำลายผืนป่าสักทองขนาดใหญ่ เพราะจะถูกน้ำเอ่อท่วมผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์

การที่รัฐบาลเพื่อไทยออกมาหนุนให้มีการสร้างเขื่อนแบบนี้ ยิ่งทำให้พี่น้องชาวบ้านโป่งอาง อ.เชียงดาว เกิดความหวั่นวิตกกันมากยิ่งขึ้นว่าถ้าเป็นแบบนี้ กรมชลฯ อาจมีการรื้อฟื้นหยิบโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งก็เป็นได้

ล่าสุด แกนนำชาวบ้านได้ชวนกันล้อมวงแลกเปลี่ยนเพื่อถกประเด็นนี้กันอย่างเคร่งเครียด

ลุงคำจันทร์ ปุกคำ แกนนำชาวบ้านบ้านโป่งอาง บอกว่า ก็กังวลกันอยู่เหมือนกัน ถ้ากรมชลฯ จะมาใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อนที่บ้านเรา โดยอ้างว่าเขื่อนจะช่วยป้องกันน้ำท่วมเชียงใหม่ได้แบบนี้ เราก็ต้องเฝ้าระวังกันอยู่

“เพราะถ้าเขาจะสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิงจริงๆ มันจะสูงถึงสันดอย มันจะสูงเท่าตึก 20 ชั้นเลยนะ มันจะส่งผลกระทบที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยคนบ้านเราหมดเลยนะ”

ลุงแอ๊ด-สุทัศน์ พรมทอง บอกว่า ทุกวันนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีเหตุ แต่เราก็ต้องเฝ้าระวัง ตั้งรับไว้ไม่ให้มีการประมาท ถึงแม้หมู่บ้านเรา จะเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เราก็ต้องช่วยเหลือกัน ต่อสู้กันต่อไป

เช่นเดียวกับ เจริญ จองจาย ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง คนปัจจุบัน ก็บอกว่า หมู่บ้านเรา มีความอุดมสมบูรณ์ มีอาหารการกิน บ่มีสตางค์ก็อยู่กันได้ ขอเพียงมีข้าวกิน มีข้าวในหลอง เราเก็บผักริมรั้ว หาปูหาปลา กินกัน อยู่กันอย่างมีความสุข แต่ถ้ามีการสร้างเขื่อน ต้องถูกอพยพ ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีมา ชาวบ้านจะไม่เหลืออะไรเลย “อยากบอกว่า ก่อนจะทำอะไร เราอยากให้กรมชลฯ หรือรัฐลงพื้นที่มาศึกษาข้อมูลความจริงก่อนว่า คนในพื้นที่เขามีความต้องการอะไร มีความเดือดร้อนกันอย่างไร ชาวบ้านเขาต้องการเขื่อนหรือต้องการเพียงแค่ฝายที่พอจะกักเก็บน้ำไว้ให้ชาวบ้านได้ใช้ ในขนาดปริมาณที่เหมาะสม แต่นี่จะมาทำเป็นเขื่อน ซึ่งมันก็ใหญ่เกินไป อลังการงานสร้าง ต้องใช้งบเป็นพัน ๆ ล้าน ซึ่งชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย”

เจริญ จองจาย ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านโป่งอาง

เดิมทีนั้น ชุมชนบ้านโป่งอาง แห่งนี้เคยเป็นชุมชนของชนชาวไทยใหญ่ ดินแดนแห่งนี้จึงถูกเรียกขานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษว่า ‘โป่งอาง’ เป็นชื่อที่เรียกตามชื่อของโป่ง ที่ตั้งอยู่บริเวณฟากขวามือทางเข้าหมู่บ้าน จะมองเห็นโป่ง มีลักษณะภูผาสีแดงรูปร่างสีสันแปลกตา ชาวไทยใหญ่ จึงเรียกกันว่า อาง ซึ่งหมายถึงยันต์ เนื่องจากดูคล้ายผ้ายันต์นั่นเอง ลักษณะดังกล่าวอาจเกิดจากการผกผันทางธรรมชาติที่อยู่ใต้ผิวดิน ที่ทำให้บริเวณดังกล่าว มีความร้อน และเกิดขึ้นมาในลักษณะของโป่ง ดังนั้น คำว่า โป่ง รวมกับคำว่า อาง (เป็นภาษาไทยใหญ่) จึงกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านโป่งอาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ภูผาสีแดงรูปร่างสีสันแปลกตา ชาวไทยใหญ่ จึงเรียกกันว่า อาง ซึ่งหมายถึงยันต์

หมู่บ้านโป่งอาง เป็นชุมชนที่มีทั้งชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยใหญ่ และชนเผ่าพื้นเมืองปกาเกอะญอ(กะเหรี่ยง) มีการตั้งรกรากถิ่นฐานมานับร้อยปีมาแล้ว จากประวัติชุมชน บอกว่า สมัยก่อนมีพ่ออุ้ยพรมมา จองจาย และพ่ออุ้ยพรมมา พรมทอง ซึ่งเป็นผู้เฒ่าไทยใหญ่ได้เข้ามาบุกเบิกและอาศัยอยู่ เพราะเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำปิงไหลผ่าน หากใครมีโอกาสมาเยือนหมู่บ้านโป่งอาง ก็จะเห็นสภาพพื้นที่ตั้งของชุมชนแห่งนี้ ว่าคนในอดีตนั้นเข้าใจและมองการณ์ไกล เพราะทำเลที่ตั้งนั้นอยู่ในหุบเขา และมีแม่น้ำปิงไหลผ่าน จึงเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ที่จะต้องอาศัยและพึ่งพาระบบนิเวศน์จาก ดิน น้ำ ป่าไม้อย่างสัมพันธ์กันและกัน

นอกจากนั้น ยังถือว่าเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำห้วยหก ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำปิงตอนบน อันเกิดจากแนวเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนรอยต่อระหว่างเทือกเขาดอยปุกผักกา แนวเขตบ้านโป่งอาง และบ้านแกน้อย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ลำน้ำห้วยหกได้ไหลลงสู่แม่น้ำปิงทางฝั่งตะวันตกของหมู่บ้าน

ปัจจุบัน หมู่บ้านโป่งอาง มีทั้งหมด 217 ครัวเรือน และมีจำนวนประชากรทั้งหมด 551 คน

ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน ผืนป่าและสายน้ำ

จุดเด่นและความสำคัญของชุมชนบ้านโป่งอาง นั้นอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่มีความสมดุลแบบพึ่งพาและยั่งยืน จากการสำรวจ พบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหก มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 27,500 ไร่ ซึ่งเป็นผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของพรรณพืช พันธุ์สัตว์นานาชนิด เนื่องจากสภาพพื้นที่ป่าเป็นบริเวณป่าต้นน้ำ เป็นลักษณะป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณตามลำดับชั้นของป่า ส่วนพื้นที่ป่าบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านจะเป็นป่าโปร่งที่มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ขึ้นประปราย อาทิเช่น ไม้เต็ง รัง ประดู่ ไม้สัก กล้วยป่า ไผ่ พืชสมุนไพร เห็ดชนิดต่าง ๆ นอกจากนั้น ผืนป่าแห่งนี้ยังอุดมไปด้วยสัตว์ป่าหลากหลาย อาทิเช่น หมูป่า ไก่ป่า กระต่าย กระรอก และงูชนิดต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกื้อกูลกันทางระบบนิเวศวิทยาของคนกับป่าที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลเลยทีเดียว

เมื่อพูดถึงผืนป่าบริเวณบ้านโป่งอาง ซึ่งมีการแบ่งโซนเอาไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าป่าชุมชน ป่าใช้สอย และป่าต้นน้ำ อันเป็นหัวใจสำคัญของคนอยู่กับป่า ที่จะต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

“ทุกวันนี้ หมู่บ้านเราอยู่กันอย่างมีความสุข อาหารการกินมีอุดมสมบูรณ์ แค่มีข้าวในยุ้ง ก็ไม่อดตายแล้ว เก็บผักริมรั้ว หาปูหาปลาในน้ำปิง ไม่เคยอดอยากกันเลย” เจริญ จองจาย ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง บอกเล่า

ยกตัวอย่าง ‘อี่โอ๋น’ หรือลูกอ๊อดกบแม่น้ำปิง นั้นเป็นที่รู้จักเลื่องลือไปทั่วอำเภอเชียงดาว ถึงขั้นมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงภายในหมู่บ้านเลยทีเดียว ชาวบ้านโป่งอางจะลงไปช้อนเอาอี่โอ๋นในลำน้ำปิง ในช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค.ของทุกปี มาเป็นอาหาร และกลายเป็นอาชีพเสริม ลองคิดคำนวณกันง่าย ๆ อี่โอ๋น ขายกิโลละ 250 บาท วันหนึ่งคนในพื้นที่หาอี่โอ๋นได้รวมกัน 30 กิโลกรัมต่อวัน ภายในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือน ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ในจำนวนมาก เฉลี่ยปีละ 1-2 แสนบาทกันเลยทีเดียว ดังนั้น อี่โอ๋น สำหรับคนในพื้นที่นั้นหมายถึงอาหาร และรายได้เสริมให้กับครอบครัวแล้ว นอกจากนั้น อี่โอ๋น ยังบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บ้านโป่งอางได้เป็นอย่างดี

จู่ ๆ มีสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อว่า ‘เขื่อน’ เข้ามา

แต่แล้ว ในปีพ.ศ.2553 ก็มีเหตุการณ์แปลก ๆ เมื่อมีคนจากข้างนอกได้เข้ามาในหมู่บ้านโป่งอาง โดยกลุ่มแรกอ้างว่าเป็นหมอมาจากเชียงใหม่ ขอทำการขอตรวจสุขภาพชาวบ้าน

“ตอนนั้น มีการอ้างว่าเป็นหมอมาจากในเมือง มาขอตรวจสุขภาพ โดยขอให้ชาวบ้านเซ็นชื่อลงชื่อกันหมดทั้งบ้าน คนเฒ่าคนแก่ไม่รู้ ก็พากันเซ็น พอมารู้ทีหลังอีกทีว่าเขาจะมาสร้างเขื่อนที่บ้านเรา เขามาปักหมุดปักแนวไว้หมดแล้ว” ลุงแอ๊ด-สุทัศน์ พรมทอง บอกเล่าให้ฟัง

ลุงแอ๊ด บอกอีกว่า ต่อมา มีคนข้างนอกอีกกลุ่มหนึ่ง บอกว่าจะมาเดินสำรวจป่า ตนเองก็เลยอาสาพาไปเดินสำรวจ

“ตอนนั้น ลุงไม่รู้เรื่อง นึกว่าเขามาสำรวจข้อมูลทั่วไป ลุงพาเขาไปเดินสำรวจตามสันดอยข้างบน พาไปดูกุหลาบพันปี ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หายาก ไปนอนค้างในป่าข้างบนสองคืน มารู้อีกที ว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะมาสร้างเขื่อนที่บ้านเรา หลังจากนั้น พอรู้ข่าว ลุงก็กลับใจมาขอโทษขอโพยชาวบ้าน ว่าโดนหลอกเข้าแล้ว ก็เลยหันมาจับมือกับชาวบ้าน ออกมาต่อต้าน คัดค้านไม่เห็นด้วย เป็นกลุ่มแรก ๆ เลย”

ลุงแอ๊ด-สุทัศน์ พรมทอง

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน หลังกรมชลประทาน ผุดโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน เชียงดาว ขึ้นมา และจุดที่จะมีการก่อสร้างจะอยู่บริเวณทางตอนเหนือของหมู่บ้านโป่งอาง ไปเพียง 1 กิโลเมตร จนทำให้ทุกคนไม่เชื่อว่า นี่คืออ่างเก็บน้ำเหมือนกับชื่อโครงการ หากมันคือ ‘เขื่อน’ เพราะมีความสูงถึง 62.5 เมตร ความจุ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับตึกสูง 20 ชั้นกันเลยทีเดียว

ชาวบ้านโป่งอางชี้จุดที่กรมชลฯจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน

เมื่อชาวบ้านในพื้นที่พาเราออกเดินสำรวจดูพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้ปักหมายเขตก่อสร้างโครงการแล้ว จึงพบว่า พื้นที่ดังกล่าว ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาสองลูก โดยมีแม่น้ำปิงไหลผ่านตรงกลาง

“ลองนึกง่าย ๆ ดูเอา มันจะสร้างเขื่อนสูงพอ ๆ กับตึกสุจิณโณ ของโรงพยาบาลสวนดอกนั่นเลย แล้วหมู่บ้านเราจะอยู่กันอย่างไร และยังมาบอกอีกว่าอาจต้องถูกอพยพย้ายออกไปอยู่ที่อื่นด้วย” ลุงจันทร์-คำจันทร์ ปุกคำ บอกเล่า

แน่นอน ทำให้คนในพื้นที่วิตกกังวลกันไปต่าง ๆ นานา ว่าหากมีการก่อสร้างจริง แม่น้ำปิงต้องเปลี่ยนทิศ และภูเขา ผืนป่าหลายหมื่นไร่จะถูกน้ำเอ่อล้นท่วมและจมไปอยู่ใต้น้ำในที่สุด จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากมายขนาดไหน แล้ววิถีชุมชน วิถีชีวิตของคนบ้านโป่งอางจะเป็นเช่นไร เมื่อเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง ตั้งอยู่ห่างจากชุมชนเพียง 1 กิโลเมตร

พ่อครูธวัชชัย สุบินรักษ์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านโป่งอาง และได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านโป่งอางมาหลายสิบปี จนกลายเป็นสมาชิกเก่าแก่ของชุมชน บอกเล่าว่า บริเวณของบ้านโป่งอาง นั้นเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งมีลำห้วยสาขาหลายสายไหลลงมารวมกันจนกลายเป็นแม่น้ำปิงในบริเวณนี้

“พื้นที่ป่าต้นน้ำปิง ถือว่าเป็นกาดของคนตุ๊กคนจน ชาวบ้านไม่ได้ใช้เงินก็อยู่กันได้ ถือแซะลงไปก็หาปูหาปลาได้ ริมฝั่งก็มีผักพื้นบ้าน ผักกูด ผักกุ่ม ให้เก็บมาทำอาหารกันได้อย่างง่าย ๆ แต่พอชาวบ้านได้ข่าวว่ากรมชลประทานเขาจะมาสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิง เราฟังก็ตกใจ ชาวบ้านก็รอดูท่าที จนเห็นข่าวในเวบไซต์ของกรมชลประทาน ว่ากำลังดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนที่โป่งอาง โดยอ้างว่าจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งเหตุผลนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะทุกวันนี้ ชาวบ้านโป่งอางก็มีฝาย 2 ฝายอยู่แล้ว และคนโป่งอางมีน้ำใช้พอเพียงตลอดปี ไม่ได้เดือดร้อนอะไร จึงเชื่อกันว่าโครงการนี้มีการหมกเม็ด จึงได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ว่าเราไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้”

พ่อครูธวัชชัย บอกอีกว่า เหตุผลหลัก ๆ ที่ชาวบ้านร่วมกันคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิงก็เพราะทุกคนรู้ว่า จะส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะกระทบต่อพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ จะต้องถูกน้ำท่วมจมหาย และต้องกระทบต่อวิถีชีวิตของคนโป่งอางอย่างแน่นอน

ผักพื้นบ้าน อาหารจากธรรมชาติบ้านโป่งอาง

“ถ้ามีการสร้างเขื่อนจริง ทุกคนรู้ว่าพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน 2-3 พันไร่ รวมทั้งพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงวัวเลี้ยงควายจะต้องหายไปอย่างแน่นอน เพราะถูกน้ำท่วมหมด และที่สำคัญ จะต้องมีการอพยพหมู่บ้านออกไปอยู่ที่อื่น เพราะเขาบอกว่าจะมีการเวนคืนที่ดิน แล้วไปจัดสรรที่ใหม่ให้อยู่ใหม่ ซึ่งเรามาวิเคราะห์กันว่า เราจะไปหาที่ดินที่อยู่ใหม่ที่จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์แบบโป่งอางนี้อีกคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถ้ามีการสร้างเขื่อน มีการเวนคืน ผมจะขอปักหลักอยู่เป็นครอบครัวสุดท้ายว่าเขาจะทำอย่างไร สรุปก็คือ คนโป่งอางเราไม่เอาเขื่อน ไม่ต้อนรับทีมที่มาศึกษา และยังเข้ามาดำเนินการ เราไม่รับรองความปลอดภัย และอยากสรุปสั้น ๆ ว่า ชาวบ้านจะต้องเกาะกลุ่มกันเพื่อสร้างพลังอำนาจของชุมชน สิ่งที่ดี มีอยู่แล้วในชุมชนต้องช่วยกันรักษา และต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรของเราเอาไว้อย่าให้ใครมาทำลาย” ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง กล่าวอย่างจริงจัง

เช่นเดียวกับ บัวเขียว ชุมภู ชาวบ้านโป่งอาง ก็ออกมาบอกว่า ใจไม่ดีเลย และจะไม่ยอม ถ้าให้ตาย ก็จะสู้จนตาย

“เพราะว่าการที่พ่อแม่เราสะสมผืนป่าอาหารไว้ให้กับลูกหลานมาถึงขนาดนี้ จนมีผืนป่าสืบมาถึงรุ่นเรา แล้วเราไม่สามารถที่จะรักษาเอาไว้ได้ ก็เป็นเรื่องน่าอาย ฉะนั้น เราจะสู้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตายไปนั่นแหละ”

หลังจากมีข่าวว่าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน ทำให้คนทั้งหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ หนุ่มสาวและผู้หญิงหลากหลายเชื้อชาติชนเผ่า ทั้งคนพื้นเมือง คนปกาเกอะญอและคนไทยใหญ่ ต่างมาล้อมวงคุยถกกันอย่างเคร่งเครียด

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2553 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการเข้ามาทำการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สัญญาจ้างเลขที่ จ.46/2553 (กสพ.1) ลงวันที่ 20 กันยายน 2553 วันที่เริ่มปฏิบัติงาน 24 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 รวมระยะเวลา 600 วัน

เบื้องต้น ทางคณะศึกษาฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ได้เข้ามาจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง 3 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งที่ 1 เดือนมกราคม 2554 ครั้งที่ 2 วันที่ 24 มีนาคม 2554 และครั้งที่ 3 วันที่ 5 เมษายน 2554 ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน นอกจากการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว ทางคณะศึกษาฯยังได้ลงพื้นที่ ณ ที่ตั้งโครงการ ในบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดทำข้อมูลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ระบบนิเวศพื้นที่และสุขภาพของคนในชุมชน ซึ่งในการลงพื้นที่ในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นทางชาวบ้านในชุมชนไม่ได้เกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ผลกระทบจากการดำเนินการต่าง ๆ

ภาพชาวบ้านคัดค้านเขื่อนโป่งอาง เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554

ชาวบ้านตื่นตัว ต่อสู้เคลื่อนไหว คัดค้าน ล้มเวทีประชาพิจารณ์ จนกรมชลฯ ถอย

เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2554 ถือว่าเป็นภาพเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อชาวบ้านโป่งอาง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 100 กว่าชีวิต ได้ผนึกกำลังร่วมกับพี่น้องชาวบ้านในหลาย ๆ พื้นที่ อาทิ ชุมชนลุ่มน้ำแม่คอง-แม่แตง เครือข่ายทรัพยากร อ.เชียงดาว และชุมชนลุ่มน้ำแม่ป๋าม อ.เชียงดาว ได้รวมตัวกันชุมนุมเคลื่อนไหว

แต่ละคนถือป้ายคำขวัญ พร้อมโลโก้สติ๊กเกอร์ติดตามเสื้อยืดสีเขียว และผืนผ้าติดตามรถกระบะร่วมยี่สิบคันพร้อมชาวบ้านร่วม 500 คน เคลื่อนไปตามท้องถนนหลวงหมายเลข 107 หรือถนนโชตนา เชียงใหม่-ฝาง มุ่งหน้าผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงดาว สถานีตำรวจภูธรเชียงดาว ก่อนวกไปหยุดนิ่งภายในปั๊มน้ำมัน ทางเข้าสำนักงานเทศบาลตำบลเชียงดาว

เมื่อลงจากรถ ทุกคนได้รวมตัวกันเป็นขบวน ขึงป้ายผ้ารณรงค์คัดค้านไม่เอาเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง พร้อมประกาศเครื่องขยายเสียงดังก้องไปทั่วบริเวณ ก่อนมุ่งหน้าไปที่หอประชุมเทศบาล ต.เชียงดาว เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการจัดเวทีของกรมชลประทานเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ การรวมตัวชุมนุมของชาวบ้านครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยเห็นว่า ผลจากการดำเนินการจะส่งผลกระทบต่อประชาชนบ้านโป่งอางและอีกหลายชุมชนโดยตรง

บรรยากาศภายในหอประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว มีผู้เข้าร่วมประชุมได้ทยอยเข้ามาลงชื่อเตรียมเข้าห้องประชุมประมาณสิบกว่าคน และทุกคนต่างตกตะลึงเมื่อหันมามองเห็นขบวนชาวบ้านที่เคลื่อนเข้ามาหยุดตรงหน้าหอประชุมพร้อมกับเสียงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงดังก้อง

“นี่เป็นเสียงสะท้อนของน้องชาวบ้านว่าเราไม่เอาเขื่อน ที่เรามีการขับเคลื่อนในวันนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา ทางกรมชลประทาน และทีมที่เข้ามาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามาในหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านเองไม่ได้รับรู้ และไม่ได้เข้ามาบอกกล่าวให้ชาวบ้านได้รับรู้ตรง ๆ แม้กระทั่งเด็ก คนเฒ่าคนแก่ในบ้านเรายังโดนหลอก แล้วท่านเป็นใครที่มาหลอกคนเฒ่าคนแก่” สง่า แนะบือ บอกย้ำด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ในขณะที่ชาวบ้านหลายคนลุกขึ้นกล่าว นายนิมิต สมบูรณ์วิทย์ ตัวแทนจากทีมคณะที่ปรึกษา คณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ทำการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริษัทธารา คอลซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัดและบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้พยายามเดินเข้าไปเจรจากับตัวแทนชาวบ้าน ว่าขอให้ชาวบ้านเข้าร่วมประชุมเสียก่อน แต่ก็ถูกชาวบ้านปฏิเสธพร้อมกับผลักเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวโจมตีอย่างต่อเนื่อง

“เราไม่ยอมรับ เราขอยุติ เราขอคัดค้านทุกสิ่งทุกอย่าง ว่าเราจะไม่เอาเขื่อน และทางพวกท่านเองจะไม่ต้องได้เข้ามาในหมู่บ้านของเราอีก โครงการนี้เป็นเรื่องที่สกปรก หมู่บ้านโป่งอางไม่ยอม แม้ว่าตายก็ไม่ยอม จะมีการสู้จนถึงที่สุด เพราะสิ่งที่จะทำนั้นจะเป็นเรื่องของการส่งผลกระทบให้กับพี่น้องบ้านโป่งอาง”บัวเขียว ชุมภู ตัวแทนแม่บ้านโป่งอางลุกขึ้นถือไมค์กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ขณะที่ เสาร์ กุละ ตัวแทนชาวบ้านโป่งอางอีกคนหนึ่ง ก็ได้ลุกขึ้นจับไมค์พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า…“ครั้งแรกที่ผมได้จับไมค์ ผมก็เลยตื่นเต้น แต่ผมจะขอสู้เพื่อเอาชนะครับ อ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบนหรือเขื่อน ท่านเคยมาประชาคมกับชาวบ้านเมื่อไหร่ ชาวบ้านไม่ได้รับรู้เลย ชาวบ้านบางคนไม่รู้เรื่องเลยว่ากรมชลประทานจะมา สร้างเขื่อนบ้านเรา พวกท่านมาโกหก มาหลอกชาวบ้านทำไม พวกท่านหลอกลวงมาตลอด ท่านเอาคนเฒ่า คนแก่มาถ่ายรูปเพียงไม่กี่คน แล้วรวบรัด แล้วตีความเอาเองว่าชาวบ้านยินยอมแล้วว่าชาวบ้านเห็นดีเห็นงามกับการสร้างเขื่อน แล้วยังบอกว่าได้ผ่านการประชุมกับชาวบ้านสองครั้งแล้ว”

เสาร์ กล่าวต่อว่า “วิธีการกระทำของท่าน สกปรกมาก รู้ไปทั่วประเทศ ก็อายไปทั่วประเทศ ท่านทำแบบนี้ไม่ละอายใจบ้างเลยหรือ แล้วผมขอถามว่าสร้างเขื่อนขึ้นมา ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์อะไร ชาวบ้านไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย มีแต่เสีย กุ้ง หอย ปู ปลา ผัก หน่อไม้ ซึ่งเป็นตลาดย่อยของชาวบ้าน นาไร่ชาวบ้านจะเอาน้ำที่ไหนมาทำไร่ ไถนา เมื่อชาวบ้านไม่ได้ทำนาปลูกข้าวแล้วชาวบ้านจะเอาข้าวที่ไหนมากิน แล้วจะเอาน้ำที่ไหนมาใช้มาบริโภค ขอถามว่าท่านลองมาเป็นชาวบ้านโป่งอางดูสิ แล้วท่านจะมีความรู้สึกเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าชาวบ้านไม่ได้มีความรู้ ไม่มีการศึกษา แต่ชาวบ้านก็มีชีวิตมีจิต มีวิญญาณ มีหัวใจ เหมือนกับท่าน ชาวบ้านโป่งอางก็กินข้าวสุกเหมือนกัน ชาวบ้านโป่งอางไม่ได้กินแกลบ ในเมื่อชาวบ้านไม่เอาเขื่อน ชาวบ้านมาต่อต้าน หวังว่าท่านคงยุติการสำรวจและการศึกษาได้แล้ว”

นั่นเป็นน้ำเสียงถ้อยคำของตัวแทนชาวบ้านโป่งอางที่พูดออกมาจากจิตวิญญาณ โดยทางชาวบ้านโป่งอางได้ขอให้ทางกรมชลประทานได้มีการยุติบทบาทและทางทีมที่ปรึกษาได้ถอนสัญญาการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมออกจากบ้านโป่งอาง เพราะว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องของน้ำท่วมไม่สามารถที่จะแก้ไขได้โดยการสร้างเขื่อน ที่สำคัญคือ เขื่อนโป่งอาง มีการตั้งและจะสร้างอยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียง1กิโลเมตร แล้วพี่น้องจะอยู่กันอย่างไรถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อนอย่างนี้ขึ้นมา

ตัวแทนชาวบ้านยังมีการกล่าวอีกว่า เขื่อนที่จะสร้างนั้นได้ใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งไม่มีระบบของคลองส่งน้ำ ระบบการจัดการน้ำ ซึ่งถ้าปล่อยให้สร้าง ก็จะเป็นเหมือนอนุสรณ์อัปยศที่รัฐเคยสร้างไว้ คือ  ฝายยางเชียงดาว ที่มีการสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2543 จนถึงวันนี้เองฝายยางนั้นยังไม่สามารถที่จะใช้การได้ ฉะนั้น บ้านโป่งอางก็เหมือนกัน ถ้าหากมีการสร้างเขื่อน ชุมชนหมู่บ้านที่มีขนาดเล็กและมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมของการอยู่แบบพี่แบบน้องก็จะถูกทำลายลงไปด้วย และที่ผ่านมา ภายหลังที่มีโครงการนี้เข้ามาศึกษา ก็ได้ทำให้คนในพื้นที่เกิดความแตกแยกกัน มีความขัดแย้งในพื้นที่กันแล้ว ดังนั้น ขอให้ทางตัวแทนของกรมชลประทานเข้ามารับจดหมาย ในเรื่องของการยุติการสร้างเขื่อนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

จากนั้น ทางฝ่ายนายนิมิต สมบูรณ์วิทย์ จากทีมคณะที่ปรึกษาบริษัทธารา คอลซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของทีมศึกษาได้ยอมยุติการจัดเวทีในครั้งนี้ โดยได้ขอให้นายศักดิ์พินิต ผดุงกิจ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านให้คำปรึกษาสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน ออกมารับหนังสือและแถลงการณ์คัดค้านไม่เขื่อนกั้นแม่น้ำปิง จากตัวแทนชาวบ้าน ก่อนจะถอนตัวกลับไปในที่สุด

ต่อมา ทางกรมชลประทาน ได้มีหนังสือตอบกลับมา อ้างถึง หนังสือที่ กษ 0336/759 ถึง ผู้ใหญ่บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 จากสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มจัดการข้อร้องเรียน ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2555 โดยระบุว่า “กรมชลประทานจึงได้ยุติการศึกษาและแจ้งสถานะและความก้าวหน้าของโครงการให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน เพื่อระงับความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนโครงการกับผู้คัดค้านโครงการในพื้นที่”

ซึ่งทำให้ชาวบ้านโป่งอางรู้สึกเบาใจ เพราะอย่างน้อยทางกรมชลประทานได้ยอมถอย ยุติการศึกษาโครงการนี้ไปแล้ว…

ผลพวงของโครงการเขื่อน คือความแตกแยก ความขัดแย้งในชุมชน

ที่น่าเป็นห่วง และกลายเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญตามมา นั่นคือ ชุมชนบ้านโป่งอาง ได้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นมาอย่างรุนแรง เมื่อโครงการนี้เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งทำให้คนในพื้นที่แตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งแอบสนับสนุนโครงการ แต่อีกฝ่ายหนึ่งนั้นคัดค้าน จนกลายเป็นปัญหาทะเลาะขัดแย้งสะสมกันมายาวนาน

ประพันธ์ ปุกคำ ประธานสภาวัฒนธรรมหมู่บ้านโป่งอาง บอกเล่าว่า เมื่อก่อนนั้น หมู่บ้านแห่งนี้อยู่กันสุขสงบ อยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน จนกระทั่ง มีโครงการสร้างเขื่อนนี้ขึ้นมาเมื่อปี 2553 เป็นต้นมา ได้ทำให้พี่น้องชาวบ้านมีความขัดแย้ง แตกแยกกันฝักเป็นฝ่าย ฝ่ายหนึ่งไม่เอาเขื่อน อีกฝ่ายสนับสนุนเขื่อน ทำให้ชาวบ้านชุมชนขัดแย้งไม่เหมือนเดิมกันเลย

“มันทำให้ชาวบ้านแตกแยก แบ่งกันเป็นสามก๊ก สี่ก๊ก ถึงขั้นเวลาเดินสวนทางกัน ยังไม่ยอมทักถามกัน หรือเรียกกินข้าวเหมือนแต่ก่อนเลย ซึ่งมันผิดแปลกมาก เพราะจริง ๆ แล้ว วิถีชีวิตของคนบ้านนอกนั้น มันเป็นวิถีชีวิตที่มีความเกื้อกูลกัน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือจะปลูกบ้านสร้างเรือน ก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะเราเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เราไม่อยากให้มีการแตกแยก แตกสามัคคีกัน”

ยังไม่จบ คนโป่งอางเชียงดาวลุกขึ้นค้านเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง หลังรู้ข่าวกรมชลฯ ปลุกผี ปัดฝุ่นเตรียมสร้างเขื่อนอีกครั้ง

หลังจากที่โครงการนี้ ถูกพับเก็บไว้นานนับสิบปี จู่ ๆ กลางปี 2565 ได้เกิดวิกฤติปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงกันหลายพื้นที่ ทำให้ทางกรมชลประทาน หยิบโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเขื่อน มาปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งทางคณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านโป่งอาง ทราบข่าวว่า ทางกรมชลประทานได้มีการจัดประชุมช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่จะมีการดำเนินการตามแผนปีงบประมาณ 2566 นั้น และพบว่า มีแผนในการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในแผนที่จะเปิดดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 และจะดำเนินการก่อสร้างในระหว่างปี 2570-2572 รวมระยะเวลา 3 ปี

จึงทำให้ชาวบ้านโป่งอาง ได้ออกมาลุกขึ้นต้านกันอีกครั้ง โดยมีการติดป้ายไม่เอาเขื่อน บริเวณประตูทางเข้าหมู่บ้าน นอกจากนั้น ยังทำป้ายธงเขียว “บ้านนี้ไม่เอาเขื่อน” ปักติดตามแต่ละหลังคาเรือนด้วย นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ชาวบ้านโป่งอาง ยังได้ทำหนังสือคัดค้านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเมืองนะ, นายอำเภอเชียงดาว เพื่อแสดงเจตนารมณ์ ขอยืนยันคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน ตำบลเมืองนะ พร้อมสำเนา แถลงการณ์คัดค้าน และเหตุผลการคัดค้าน รวมทั้งได้ทำหนังสือคัดค้านนี้ไปถึงกรมชลประทานอีกด้วย

ในหนังสือยื่นคัดค้านนั้น ระบุอีกว่าพี่น้องชาวบ้านโป่งอาง ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงขอแสดงเจตนารมณ์และยืนยันคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน ไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ถึงที่สุด จนกว่าจะมีการยกเลิกโครงการดังกล่าว

เจริญ จองจาย ผู้ใหญ่บ้านโป่งอางเป็นตัวแทนยื่นหนังสือคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565

กัญญารัตน์ คำมั่น ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง กล่าวว่าหมู่บ้านของเรานั้นเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม อาศัยอยู่กันมาช้านานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายมาแล้ว เรามีวิถีชีวิตอยู่กับป่า อยู่กันเรียบง่าย ทำไร่ทำนา ปลูกข้าว และเรายังได้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าผืนนี้ไว้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ในป่ายังมีพืชสมุนไพร มีสัตว์ป่า ในลำน้ำเราก็มีสัตว์น้ำหลายชนิดที่หายาก อย่างเช่น อี่โอ๋น หรือลูกอ๊อดภูเขา ตัวใหญ่ตัวอ้วน ซึ่งมีอยู่แห่งเดียวคือที่ลำน้ำแม่ปิงบริเวณบ้านโป่งอางนี้

“เพราะฉะนั้น ชาวบ้านโป่งอางมีความกังวลใจกันว่า ถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตรงนี้จริง ๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากให้มันเกิด เพราะเราไม่อยากจะทิ้งพื้นที่ชุมชนตรงนี้ไปที่ไหน ถึงแม้ว่าหมู่บ้านของเราจะเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ แต่ทุกวันนี้เรามีความตั้งใจอนุรักษ์ผืนป่าผืนนี้เอาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นผืนป่าผืนสุดท้ายนี้เอาไว้”

กัญญารัตน์ คำมั่น ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง

เช่นเดียวกับ เจริญ จองจาย ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง ก็ออกมาคัดค้านในครั้งนี้ด้วยว่า สาเหตุที่ชาวบ้านได้ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงที่บ้านโป่งอาง นี้ก็เพราะว่า ชาวบ้านมีความกังวลใจว่าถ้ามีการสร้างเขื่อนตรงนี้ จะทำให้ชาวบ้านต้องถูกย้ายอพยพออกไปอยู่ที่อื่น ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ไม่อยากย้ายออกไปที่ใหม่ เพราะไม่คุ้นเคยกับสถานที่แห่งใหม่และไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร เพราะทุกวันนี้ ชาวบ้านโป่งอาง นั้นมีวิถีชีวิตอยู่แบบพึ่งพากับป่า มีความสมดุลกันระหว่างธรรมชาติ ป่ากับชาวบ้าน หากินกันป่ากับแม่น้ำสายนี้มานานเป็นร้อย ๆ ปีมาแล้ว

“อีกเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านวิตกกังวลกัน ก็คือ บริเวณจุดสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง อยู่ห่างจากชุมชนประมาณแค่ 1 กิโลเมตรเอง ซึ่งทุกคนกังวลกันว่า ถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อน แนวสันเขื่อนอยู่เหนือหมู่บ้าน แล้วถ้าเกิดแผ่นดินไหว เกิดมันไม่แข็งแรง สันเขื่อนร้าวพังลงมา ชาวบ้านจะอยู่กันยังไง ก็อยู่กันไม่ได้”

เจริญ จองจาย ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง

ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง บอกย้ำว่า ชาวบ้านจึงลงมติกันว่า จะขอคัดค้านไม่ให้กรมชลประทานมาสร้างเขื่อนตรงนี้ และชาวบ้านทุกคนก็จะไม่ยอมย้ายอพยพไปไหน เพราะทุกคนเกิดที่นี่ คุ้นเคยกับที่นี่ อาศัยอยู่กันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมาเป็นร้อย ๆ ปีมาแล้ว และอยากจะให้ทางกรมชลประทานออกมาชี้แจงให้ชาวบ้านได้เข้าใจว่า ทำไมต้องมาสร้างเขื่อนตรงนี้ และสร้างไปเพื่ออะไรกันแน่ สร้างเขื่อนแล้วชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไร ซึ่งจากที่เรารู้มา ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย เพราะครั้งแรกที่เรารู้มาก็คือ จะมีการสร้างเขื่อนนี้เพื่อต้องการผันน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านนั้นไม่ได้อะไรเลย ดังนั้น พวกเราจะยังยืนยันคัดค้านไม่ให้มีการสร้างเขื่อนในพื้นที่บ้านโป่งอางนี้อย่างแน่นอน

ทางด้าน นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานพื้นที่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ เปิดเผยว่าเดิมทีโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนโป่งอาง ในปี 2553 นั้น มีขนาดความจุอ่างเก็บน้ำระดับเก็บกักประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างระดับน้ำสูงสุด ประมาณ1,500 ไร่ ตัวเขื่อนสูงประมาณ 62.0 เมตร ยาวประมาณ 500เมตร ล่าสุด ได้มีการปรับโครงสร้างเป็น ขนาดความจุอ่างเก็บน้ำระดับเก็บกักประมาณ 38.64 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างระดับน้ำสูงสุด ประมาณ1,500 ไร่ ตัวเขื่อนสูงประมาณ 58 เมตร ยาวประมาณ 345 เมตร งบประมาณ 410,000,000 บาท

นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานพื้นที่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ

“ซึ่งอาจเป็นเพราะว่างบประมาณมีจำกัด เลยต้องมีการปรับโครงสร้างของตัวเขื่อน แต่ดูระดับความสูงก็ต่างกันไม่มากนัก ก็ยังคงสร้างผลกระทบต่อพื้นที่ป่าต้นน้ำเช่นเดิม และกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวบ้านโป่งอางเหมือนเดิม ซึ่งสาเหตุที่โครงการนี้ฟื้นกลับมาอีกครั้งคงเป็นเพราะปีนี้ปริมาณน้ำฝนที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่เผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ต่างไปจากเมื่อปี 2548 ทั้งนี้ โครงการฯดังกล่าว ตอนนั้นกรมชลประทานบอกว่า ยุติการศึกษา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยุติการก่อสร้าง โครงการฯดังกล่าวจึงผุดขึ้นมาอีกครั้ง”

นักพัฒนาองค์กรเอกชน นักวิชาการ ร่วมกันเสนอทางออก

เดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ต้องขอชื่นชมพี่น้องบ้านโป่งอางที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนต่อสู้คัดค้านเรื่องเขื่อน ซึ่งทำให้เรามองเห็นแล้วว่า โครงการของรัฐใด ๆ ที่ดำเนินการโดยไม่ฟังเสียงของชาวบ้าน ก็จะไปไม่รอดแบบนี้ ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านเองก็หันมาทบทวนกันดูว่า ถ้าตราบใดชาวบ้านยังรวมกลุ่มกันไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะไปแก้ปัญหาอื่น ๆ ได้

“ดังนั้น ทั้งชาวบ้าน ทั้งองค์กรเครือข่ายจะต้องมาร่วมกันคิดว่าหนุนเสริมกันอย่างจริงจัง ว่าจะตั้งหลักกันอย่างไร เพราะในอนาคต โครงการเขื่อนอาจจะโผล่มาอีกก็ได้”

เช่นเดียวกับ หาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมา การยุติเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงที่ชาวบ้านโป่งอางได้ออกมาต่อสู้คัดค้าน ถือว่าเป็นเพียงยุติชั่วคราว ยังไม่ใช่ชัยชนะ เพราะในเวลานี้ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน มันระบาดหนักไปทั่วประเทศ ทุกวันนี้ กรมชลประทานยังพร้อมที่จะปัดฝุ่นโครงการเก่า ๆ อย่างเช่น เขื่อนแม่แจ่ม หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อกลับเอาเสนอของบประมาณกันใหม่ และของบให้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

“เราจะเห็นได้ว่า แต่ละโครงการของรัฐ นอกจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแล้ว มันยังไปทำลายระบบนิเวศให้เสียหายอีกเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ กรมชลฯ ก็ยังคิดแบบเดิม ใช้งบไปจ้างบริษัทที่ปรึกษา มาแอบสำรวจข้อมูล แล้วก็ดำเนินการเพื่อของบมหาศาล แต่มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย อย่างการขุดลอกน้ำปิง บริเวณฝายชลประทานบ้านโป่งอางนี้ ดูเถิดว่า มีการกั้นคันดิน ปิดทางน้ำตลอดสองฝั่ง ทำให้น้ำในหน้าฝนระบายลงไปลำน้ำได้ ซึ่งมันทำให้ระบบนิเวศมันผิดเพี้ยนไปหมด โขดหิน แอ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลามันเสียหายหมด ดังนั้น อยากจะบอกชาวบ้านว่า ถ้าโครงการไหนที่ไม่เป็นผลดีต่อชุมชน ก็อย่าให้มันเข้าทำลาย ขอให้หยุดโครงการนั้นไว้เลย”

หาญณรงค์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ ในทุกพื้นที่ต่างกำลังถูกกระทำจากโครงการของรัฐ ซึ่งทำให้แต่ละชุมชนได้รับผลกระทบเหมือน ๆ กัน ดังนั้น แต่ละชุมชนจะต้องปรับตัว ตั้งรับ และขับเคลื่อนด้วยตัวชุมชนเอง อย่างเช่น เรื่องการผลิตสื่อ นำเสนอรายงานข่าว ก็จำเป็นต้องลงมือทำกันเอง เพื่อส่งข่าวสารไปให้สังคมข้างนอกได้รับรู้ด้วย

แน่นอน เมื่อเกิดวิกฤติน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ เมื่อเดือนกันยายน – ตุลาคม ปี2567 ที่ผ่านมา ย่อมทำให้ชาวบ้านโป่งอาง ต่างพากันหวั่นวิตก ระแวงไม่ไว้ใจ บวกกับกระแสข่าวรัฐบาลเพื่อไทย ยังได้ออกมาหนุนให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอีก ก็ยิ่งทำให้พี่น้องชาวบ้านโป่งอาง อ.เชียงดาว เกิดความกังวลกันมากยิ่งขึ้นว่า ถ้าเป็นแบบนี้ กรมชลฯ อาจมีการรื้อฟื้นหยิบโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งก็เป็นได้

เหมือนกับที่ ผศ.ดร. โอฬาร อ่องฬะ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ซึ่งครั้งหนึ่งนั้นเคยเป็นหนึ่งแกนนำเครือข่ายกลุ่มไม่เอาเขื่อนบ้านโป่งอางก็ได้วิเคราะห์ให้ฟังว่า หากจะกล่าวว่าบ้านโป่งอาง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว เป็นพื้นที่ที่ถูกวางจังหวะ หรือรอคอยจังหวะ ที่จะมีการสร้างเขื่อน มาอย่างยาวนานก็คงจะพอเข้าใจได้ ตั้งแต่กรณีน้ำท่วมเชียงใหม่เมื่อเกือบทศวรรษ หรือแม้แต่สถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ล่าสุดในปี 2567 ที่ผ่านมา

“ซึ่งนัยยะสำคัญของตรรกะของความคิดกระแสหลักในการบริหารจัดการน้ำ ‘หลังน้ำท่วม’ คือความพยายามในการสร้างความชอบธรรมของรัฐในนาม ‘การพัฒนา’ ภายใต้แนวทางในการสร้างเขื่อน  ซึ่งตรรกะความคิดกระแสหลักแบบนี้นำไปสู่ประเด็นที่สำคัญได้แก่ 1. การลดทอนความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ หรือ ลดทอนพลังของกลไกการบริหารจัดการน้ำของชุมชน หรือ โครงข่ายการจัดการน้ำ เช่นรูปแบบเหมืองฝาย หรือ กลไก โครงสร้างใหม่ ๆ ที่บูรณาการการบริหารจัดการน้ำ  การลดทอนพลังเหล่านี้ จะนำไปสู่การสร้างการครอบงำ ผลิตซ้ำแนวทางการพัฒนาเพื่อก่อรูปชุดความรู้ใหม่ที่เป็นกระแสหลักของการควบคุมการบริหารจัดการน้ำจากกลไกของรัฐเพียงกลไกเดียว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นในแง่ของความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ ต้องอาศัยพลังกลไกของภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาออกแบบการบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่การตั้งรับ ปรับตัวอย่างเท่าทัน ภายใต้ความรุนแรงของสถานการณ์น้ำท่วม หรือแม้กระทั่งการเกิดภัยพิบัติที่แผ่กระจายผลกระทบอย่างกว้างขวาง และ 2. ความคิดกระแสหลักที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง นำมาสู่ความไม่ไว้ใจ ความไม่วางใจ ของชุมชนที่เคยเผชิญหน้า เคลื่อนไหวต่อสู้การคัดค้านการสร้างเขื่อน รวมถึงโครงการพัฒนาขยาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น กรณีแก่งเสือเต้น หรือกระทั่งกรณีบ้านโป่งอาง เป็นต้น”

ผศ.ดร. โอฬาร อ่องฬะ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่

ผศ.ดร.โอฬาร บอกว่า ดังนั้น เมื่อพูดถึงทางออก หรือข้อเสนอ ในมุมมองของตน มองว่า พลวัตความเปลี่ยนแปลงของการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการขยายตัวของ ‘ภัยพิบัติ’ ที่นับวันจะทวีความรุนแรง และกระจายออกไปสู่วงกว้างมากขึ้นอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น การออกแบบหรือการค้นหาทางออกของการแก้ไขปัญหาจึงต้องมองระบบการบริหารจัดการน้ำเป็นลักษณะองค์รวม (Holistic) รวมถึงการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการลงไปสู่ท้องถิ่นซึ่งอาจต้องมีประเด็นอย่างน้อย 4 ส่วนที่สัมพันธ์กันได้แก่ 1. การมีระบบข้อมูลร่วม ที่ต้องมีการผสมผสานกันระหว่างชุดความรู้ในมิติการจัดการน้ำของชุมชนหรือท้องถิ่น และความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ ระบบแผนที่ GIS ระบบผังน้ำของชุมชน รวมถึงผังการเดินทางของเส้นน้ำ เส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ระบบข้อมูลร่วมดังกล่าวจำเป็นต้องศึกษามิติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวของระบบการผลิต โครงสร้างเศรษฐกิจของชุมชน รูปแบบเกษตร ระบบเหมืองฝาย ระบบการกระจายน้ำ การจัดการป่าต้นน้ำ รวมถึงผังเมืองในพื้นที่ในตัวเมือง ศูนย์กลางการค้าเป็นต้น 2.กลไกในการทำงานร่วมกัน ของภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลไกของชุมชน กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ องค์กรในการบริหารจัดการน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมไปถึงกลไกสถาบันวิชาการ ภาคเอกชน โดยต้องมองกลไกในเชิงภูมินิเวศน์ลุ่มน้ำ รวมถึงกลไกในเชิงการผลิตที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งต้องมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในมิติความสัมพันธ์กลไกการบริหารจัดการน้ำ โดยอาจออกแบบกลไกที่เป็นลักษณะ Area Base Mechanism ที่จะสามารถออกแบบการแก้ไขปัญหาให้เกิดความคล้องตัวของการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ ซึ่งในแต่ละแห่งก็จะมีมิติที่หลากหลายและแตกต่างกันไป 3. การออกแบบกติกาในการจัดการการบริหารน้ำ ที่สอดคล้องกับพลวัตของความเปลี่ยนแปลงระบบแบบแผนการผลิต ที่เชื่อมกับเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยเฉพาะการผสมผสานกฎกติกาของชุมชนกับระเบียบกฎหมายชุดใหม่ ๆ ทั้งที่เอื้อต่อการบริหารจัดการ หรือแม้แต่การออกแบบกติกาของระบบการผลิตที่สอดคล้องกับนิเวศน์ของพื้นที่ต่าง ๆ การออกแบบกติกาของระบบผังเมือง ที่ยึดโยงกับการพัฒนาเมืองที่สัมพันธ์กับระบบการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งอาจรวมไปถึงการปรับแก้ระเบียบกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำ และ 4. การพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเข้ามาออกแบบการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องมือที่เหมาะสมกับแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในขณะที่เกิดอุทกภัยหรือเกิดภัยพิบัติ  การพัฒนาเทคโนโลยีการเตือนภัย ที่ต้องต้องมีความชัดเจน รวมถึงช่องทางการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ดังนั้น การออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาดังที่กล่าวมาในเบื้องต้น จะเป็นเสมือนการสร้างกำแพงเพื่อป้องกัน หรือตอกย้ำถึงความชอบธรรมของชุมชนในการบริหารจัดการน้ำ ที่เป็นทางเลือกของการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้ การปรับตัวที่เอื้อต่อการผลิตที่เหมาะสมกับชุมชน ที่สะท้อนเตือนให้ภาครัฐเห็นว่า การพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ไม่ได้มีคำตอบอยู่ที่การสร้างเขื่อนเท่านั้น หากแต่ยังมีรูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมในรูปแบบที่หลากหลาย มีแนวทางการแก้ไขปัญหาในมิติต่าง ๆ อีกมากมายรวมถึงมีความยั่งยืนในการบริหารจัดการด้วย”

สง่า แนะบือ ชาวบ้านโป่งอาง

ทั้งนี้ ในวงสนทนาแลกเปลี่ยนของแกนนำชาวบ้านโป่งอาง ได้มีการเน้นย้ำกันว่าจะตั้งรับกับสถานการณ์ในอนาคตกันอย่างไร ถ้าเกิดกรมชลประทานจะดันโครงการสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิงตอนบนนี้อีกครั้ง

สง่า แนะบือ ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง บอกเล่าว่า เมื่อก่อน ตอนที่รู้ว่าจะมีโครงการสร้างเขื่อน ทำให้ชาวบ้านมีความแตกแยกขัดแย้งกันหนักมาก แต่มาระยะหลัง ตั้งแต่มีนายเจริญ จองจาย มาเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันนี้ ก็ได้มีความพยายามปรับจูน ให้ชาวบ้านปรับความเข้าใจกันดีขึ้น ไม่มีการทะเลาะ ขัดแย้งกันแล้ว ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ในตอนนี้ ลงความเห็นเหมือนกัน ว่าเราต่อสู้คัดค้านไม่ให้มีการสร้างเขื่อน เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านของเราอย่างแน่นอน

“เพราะฉะนั้น เราจะต้องหนักแน่นในการต่อสู้ ซึ่งต่อไป เราอยากจะจัดกิจกรรม เอาคนเฒ่าคนแก่ที่ต่อสู้กันมาถ่ายทอดองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนนี้ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน อยากให้เยาวชนได้มาสานต่อ เพราะการต่อสู้เรื่องนี้ มันคงไม่จบเพียงแค่รุ่นเรา แต่มันคงยาวไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างแน่นอน”


This story was produced with Internews’ Earth Journalism Network.

องอาจ เดชา

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง