เรื่อง: อติรุจ ดือเระ /Activist Journalist

“ต่อไปนี้นักศึกษาจะจัดกิจกรรมชุมนุมรวมกลุ่มกัน จะต้องได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอีกสารพัด นี่หรือมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาบันทางวิชาการ แม้แต่การรวมตัวยังต้องขออนุญาต พยายามทำตัวเป็นรัฐไทยที่มี พ.ร.บ.ชุมนุม (ซึ่งยกเว้น สถานศึกษา) ประกาศฉบับนี้ ถือเป็นความร้ายแรงอย่างยิ่งเพราะจะไม่มีพื้นที่ไหนที่นักศึกษา เยาวชน หรือประชาชน จะสามารถเรียกร้องปัญหาอีกได้ #ไม่เอาประกาศชุมนุมมอชอ”

ข้อความข้างต้น ปรากฏบนโพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “ประชาคมมอชอ-Community of MorChor” ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบโต้-คัดค้านต่อประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การขออนุญาตใช้พื้นที่จัดกิจกรรมการชุมนุมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เผยเเพร่เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ประกาศดังกล่าวได้นำมาสู่การถกเถียงในหมู่นักศึกษา อาจารย์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่ากำลังลากจูงมหาวิทยาลัยออกจากลู่ทางของการเป็นพื้นที่เเห่งเสรีภาพหรือไม่ เพียงใด และกำลังสวนทวนบทบาทเเห่งการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อหนุนเสริมประชาธิปไตย

ทิศทางเเห่งทัศนะดังกล่าวคาบเกี่ยวกับความเห็นของ ธีรเทพ จิตหลัง นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา และอดีตสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมและการเมืองโดยเฉพาะในช่วงปี 2563 – 2564 โดยมองว่า “มหาวิทยาลัยปัจจุบันค่อนข้างทำตัวเป็นกลางระหว่างการสนับสนุนและต่อต้านประชาธิปไตยหรือความเป็นธรรมทางสังคม และหากมองเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งค่อนข้างมีเสรีภาพกว่ามหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งยังมีประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับพัฒนาการประชาธิปไตยไทย การเลือกเมินเฉยและไม่เลือกข้างนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในบางครั้งก็นับว่าเป็นท่าทีที่น่าผิดหวัง ยังดีที่มีคณาจารย์บางท่านที่มีค่อยสนับสนุนให้ความช่วยเหลือนักศึกษา แม้จะมีเเรงกดดันจากการเมืองภายในมหาวิทยาลัยเองก็ตาม ส่วนอีกความน่าผิดหวังคือการหลายครั้งนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยพยายามผลักดันประเด็นทางสังคมผ่านสภานักศึกษา ซึ่งต้องการมีส่วนร่วมและหนุนเสริมจากคณะผู้บริหาร กลับพบว่าไม่ถูกให้ความสำคัญ เช่น การเชิญอธิการบดีหรือผู้บริหารมาร่วมพูดคุย หลายครั้งกลับส่งเพียงเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจมาเเทน”

ธีรเทพ จิตหลัง คนขวาสุด /ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ หากย้อนมองประวัติศาสตร์บทบาทมหาวิทยาลัยจากหลากหลายมุมโลกจะพบว่ามหาวิทยาลัยประกาศตนเป็น “พื้นที่และพลังเพื่อส่งเสริมเติมเต็มเสรีภาพในหลายที่ เช่น ปี พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยปารีสคือพื้นที่ที่นักศึกษาชาวฝรั่งเศสนัดรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของนายพลชาร์ลส เดอ โกล ปฏิรูปการศึกษา ขณะที่ปี พ.ศ. 2530 มหาวิทยาลัยยอนเซ กลายเป็นพื้นที่ที่นักศึกษาและประชาชนชาวเกาหลีใต้ ใช้ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการนายพลชอน ดูฮวาน ส่วนไทยอย่างน้อยคือในปี พ.ศ. 2516 จากเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ” และปี พ.ศ. 2519 จากเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ” หรือในห้วงสองถึงสามปีให้หลังมานี้ก็มีการใช้พื้นที่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อชุมนุมประท้วงรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ข้างต้นล้วนสะท้อนความจริงร่วมกันประการหนึ่งคือ “มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพสำหรับตั้งต้นและขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตย”กระนั้นนั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของบทบาทในการส่งเสริมประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัย เพราะประชาธิปไตยไม่เพียงแค่การมีเสรีภาพในการป่าวร้องแสดงความเห็น ทว่ามากไปกว่านั้นยังมีลักษณะอื่น ๆ อันจะหนุนเนื่องให้สังคมนั้น ๆ เป็นประชาธิปไตยอีก ดังเช่นที่ลิขิต ธีรเควิน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ระบุถึงลักษณะทั่วไปของสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยไว้ 5 ประการได้แก่ หนึ่ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  สอง ประชาชนได้รับการประกันเสรีภาพและความเสมอภาค  สาม ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง สี่ มีการใช้หลักนิติธรรม (rule of law) ปกครองประเทศ และห้า ผู้นำและประชาชนมีจิตวิญญาณและค่านิยมของความเป็นประชาธิปไตย

งานเขียนชิ้นนี้มุ่งนำเสนอบทบาทของมหาวิทยาลัยกับการส่งเสริมประชาธิปไตยในสังคมโดยพิจารณาตามหลักคิดของลิขิต ธีรเควิน ข้างต้น ซึ่งทำให้สามารถแบ่งประเด็นสำคัญเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก ประดุจดังบ่อน้ำบำบัดความกระหาย กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการผลิตงานวิชาการและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยแก่นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ประเด็นต่อมา ดินแดนเพื่อเสรีภาพและเสมอภาคทุกตารางนิ้ว กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างรอบด้านซึ่งนับว่าเป็นหลักการสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศแห่งประชาธิปไตยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และประเด็นสุดท้าย ต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยม ยืนหยัดธำรงหลักนิติธรรม กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาซึ่งทรงอิทธิพลต่อการโน้มนำมติมหาชน โดยจำเป็นต้องแสดงออกซึ่งการต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยม การสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย ไปจนถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษาหลักนิติธรรมให้คงอยู่ในสังคม

ทั้งนี้เพื่อมิให้เข้าใจคลาดเคลื่อนจึงควรกล่าวเสียแต่ต้นด้วยว่าคำว่า “มหาวิทยาลัย” ณ ที่นี้ มิได้หมายถึงแต่เพียงสถาบันหรือตัวอาคารตึกเรียนที่ตั้งอยู่ในรั้วรอบขอบใดเท่านั้น หากแต่ครอบคลุมรวมถึงนิสิตนักศึกษา อาจารย์ และผู้บริหารซึ่งล้วนแต่เป็นองคาพยพที่สำคัญของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น 

ประดุจดังบ่อน้ำบำบัดความกระหาย

“…มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจดังบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา…”

หากยึดบทบาทของมหาวิทยาลัยตามคำอุปมาของปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษและหนึ่งในคณะผู้วางรากฐานประชาธิปไตยในไทย คงกล่าวได้ว่าปัจจุบันสังคมไทยมีบ่อน้ำมากมายผุดเกิดขึ้นมาดับความกระหายของราษฎร แน่นอนที่สุดว่าความกระหายประการแรกคือกระหายที่จะศึกษาวิทยาการความรู้อันมีประโยชน์แก่ปัจเจกชนและสังคม ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือศิลปะ ย่อมอยู่ในบทบาทของมหาวิทยาลัยที่จะจัดให้มีการเรียนการสอนอยู่แล้ว แต่ความกระหายอีกประการที่มหาวิทยาลัยในประเทศประชาธิปไตยไม่อาจละได้เลยคือความกระหายของประชาชนที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ถูกต้อง หรือหากแม้ประชาชนไม่ได้กระหายด้วยตัวเอง มหาวิทยาลัยก็พึงส่งเสริมให้ประชาชนกระหายขึ้นมา จากนั้นจึงบำบัดความกระหายทั้งด้วยวิชาการที่จัดสอนในห้องเรียน กิจกรรมอบรมเสวนา ตลอดรวมถึงสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเอง โดยนับว่าเป็นขั้นแรกและขั้นสำคัญของการสร้างสังคมประชาธิปไตย เพราะประชาชนที่เปี่ยมเต็มด้วยความเข้าใจว่าอย่างไรคือประชาธิปไตย ย่อมสามารถจำแนกได้ว่าสถานการณ์แบบไหนที่เป็นประโยชน์หรืออันตรายต่ออำนาจของปวงชน กล่าวให้ชัดขึ้นคือพวกเขาจะเป็นพลเมืองที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อประชาธิปไตยมากขึ้นนั่นเอง

ทั้งนี้ เราอาจแบ่งประชาชนที่มหาวิทยาลัยพึงบำบัดความกระหายออกเป็นสองกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรก คือประชาชนซึ่งมีสถานะเป็นนักศึกษาที่สมัครและมีโอกาสได้เข้ามาศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย โดยไม่ว่าจะศึกษาในศาสตร์แขนงใดมหาวิทยาลัยก็ควรออกแบบหลักสูตรให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อย เป็นต้นว่าเข้าใจความหมาย ความสำคัญ และลักษณะที่จะทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตย ดังตัวอย่างหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กำหนดให้นักศึกษาทุกคนต้องเรียนรายวิชา มธ.100 พลเมืองกับการลงมือแก้ปัญหา ซึ่งวางรากฐานความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยพร้อมทั้งสร้างสำนึกร่วมในการแก้ปัญหาสังคมผ่านการลงพื้นที่และลงมือปฏิบัติ เป็นต้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังสามารถส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยแก่นักศึกษาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดรวมถึงการจัดการโครงสร้างองค์กรหรือสโมสรนักศึกษาให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ให้สิทธิ์แก่นักศึกษาได้เลือกตั้งอย่างเต็มที่โดยปราศจากการแทรกแซงจากคณะผู้บริหาร คณาจารย์หรือศิษย์เก่า 

ประชาชนอีกกลุ่มคือประชาชนทั่วไป โดยมหาวิทยาลัยสามารถส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยแก่คนกลุ่มนี้ได้หลายวิธี เช่น การผลิตงานวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย ซึ่งที่ผ่านมาก็ปรากฏไม่น้อย หากทว่าอาจจำเป็นต้องออกแบบวิธีการสื่อสารผลจากงานวิชาการเหล่านั้นให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีหรือสื่อออนไลน์มาช่วยเพื่อให้งานวิชาการเหล่านั้นบำบัดความกระหายใคร่รู้ได้จริง ไม่ใช่เพียงผลิตออกมาแช่แข็งไว้ในระบบหรือชั้นหนังสือของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังอาจจัดเสวนาเผยแพร่หรือเปิดอบรมความรู้ประชาธิปไตย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีโอกาสได้เข้ามารับฟังและถกสนทนาทั้งในส่วนของทฤษฎีและกรณีศึกษาตามแต่โอกาสและวาระไป

ผลของการให้การศึกษา ความเข้าใจ และค่านิยมเกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่นักศึกษาข้างต้นย่อมเปรียบประหนึ่งการรินรดน้ำแก่พืชพันธุ์ที่ยืนต้นแตกกิ่งก้านด้วยรากแห่งประชาธิปไตย ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงไทยให้เป็นสังคมที่มีค่านิยมและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยมากขึ้น พวกเขาจะร่วมกับประชาชนในการทำหน้าที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการและสนใจปัญหาสังคมมากกว่าแค่มาเรียน เต้น เล่น รำ แล้วได้กระดาษปริญญากลับไปเพียงแผ่นเดียว

ดินแดนเพื่อเสรีภาพและเสมอภาคทุกตารางนิ้ว?

บทบาทในการส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตยข้างต้นจำเป็นต้องกระทำให้เกิดขึ้นพร้อมกันกับการสร้างเสริมเสรีภาพและความเสมอภาคในรั้วมหาวิทยาลัย กล่าวคือ ประการแรกมหาวิทยาลัยต้องส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการอย่างเต็มที่แก่คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ทางวิชาการ และนิสิตนักศึกษาในการผลิตงานวิชาการ เพราะเสรีภาพที่ถูกจำกัดย่อมส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมปากไม่สามารถพูดหรือเขียนถึงประชาธิปไตยในประเทศนี้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันกลับเป็นที่น่าเศร้าใจเพราะเสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยไทยกำลังถดถอยไปในลักษณะดังกล่าว โดยหากพิจารณาผลการจัดอันดับของเสรีภาพทางวิชาการ ประจำปี 2020 โดย Global Public Policy Institute (GPPi) ของเยอรมนี พบว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพทางวิชาการน้อยที่สุด โดยมีค่าชี้วัดเสรีภาพทางวิชาการอยู่ที่ 0.130 จากคะแนนเต็ม 1.0 จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยต้องทบทวนเพื่อหาทางออกอย่างเร่งด่วน เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยทางวิชาการให้เกิดขึ้น

ประการต่อมาคือการส่งเสริมเสรีภาพแห่งการดำเนินชีวิตแก่นิสิตนักศึกษา เช่น นิสิตนักศึกษาพึงได้เลือกสวมใส่เสื้อผ้าหรือไว้ทรงผมตามที่ตนต้องการ ตราบเท่าที่เรื่องเหล่านี้ไม่เป็นข้อจำกัดของการเรียนหรือการลงมือปฏิบัติ ขณะเดียวกันกิจกรรมที่ทั้งตกทอดกันมาจนเป็นประเพณีหรือที่เพิ่งกำหนดขึ้นใหม่ มหาวิทยาลัยก็พึงให้เสรีภาพในการเลือกที่จะเข้าร่วมหรือมิเข้าร่วมตามแต่ความสมัครใจ ไม่ควรแสดงอำนาจนิยมถมบังคับ หักคะแนน หรือป่าวประณามนิสิตนักศึกษาที่ไม่เข้าร่วม เพราะบทบาทที่อนุรักษ์นิยมเช่นนั้นเป็นขั้วขัดแย้งกับวิถีแห่งประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง ในทางกลับกันหากให้เสรีภาพแก่นิสิตนักศึกษาดังกล่าวย่อมเป็นการฝึกฝนให้พวกเขาได้คิดเองเป็น ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญยิ่งของพลเมืองประชาธิปไตย ขณะเดียวกันเสรีภาพดังกล่าวก็อาจเป็นต้นแบบแห่งบรรทัดฐานของความเป็นประชาธิปไตยที่สังคมไทยโดยรวมสามารถยึดปฏิบัติตามได้

ภาพ: เชียงใหม่นิวส์

ประการสุดท้ายมหาวิทยาลัยพึงเป็นดินแดนแห่งความเสมอภาคเพื่อทั้งทลายวัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำ ระบบอุปถัมภ์ และสลายสิ้นซึ่งวิถีแห่งเผด็จการอำนาจนิยม เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเสี้ยนหนามที่ทิ่มตำสังคมไม่ให้ก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ความเสมอภาคข้างต้นไม่ควรส่งเสริมแบบฉาบฉวยหรือเลือกเอาตามใจชอบ หากทว่าพึงส่งเสริมให้ครอบคลุมในทุกมิติอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ตั้งแต่เรื่องฐานะ อายุ หน้าตาและอื่น ๆ เฉพาะเรื่องอายุซึ่งฉายแสดงผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ระบบโซตัส” นับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่ปรากฏในรั้วมหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนาน กระทั่งปัจจุบันยังคงปรากฏข่าวคราวรุ่นพี่ข่มขู่บังคับรุ่นน้องจนนำไปสู่เหตุการณ์เลือกตกยางออกหรือเสียชีวิต หรือในประเด็นของการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งหน้าตาก็ฝังรากแตกร่างแหอยู่ในหลาย

มหาวิทยาลัยมาหลายทศวรรษ โดยเฉพาะกิจกรรม “การประกวดดาวเดือน” ซึ่งผลิตซ้ำการสร้างตัวแบบของหน้าตาที่ประเสริฐกับการขีดกรอบความเป็นอื่นที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในบางประการได้ เช่นนี้เองมหาวิทยาลัยจึงพึงกำหนดกติกาที่เป็นธรรมและเสมอภาคแก่นิสิตนักศึกษาทุกคนโดยไม่เอื้ออำนาจหรืออภิสิทธิ์แก่นิสิตนักศึกษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนล้นเกินควบคุม แน่นอนที่สุดว่าผลของการส่งเสริมให้ “คนเท่ากัน” เช่นนี้ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของการค่อย ๆ ทลายค่านิยมอุปถัมภ์และระบบคลั่งบูชาศักดินา เป็นการเตรียมพร้อมประชากรคุณภาพที่ให้คุณค่ากับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สู่สังคมไทย

ต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยม ยืนหยัดธำรงหลักนิติธรรม

ประวัติศาสตร์วันวานจารึกและเอ่ยเอื้อนเสมอมาว่านิสิตนักศึกษาไทยคือพละกำลังเมืองที่ก้าวออกมาหยัดยืนเคียงข้างมวลมหาประชาชนต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย โดยเฉพาะห้วงสมัยซึ่งเผด็จการอำนาจนิยมกดข่มและผงาดขึ้นปกครองสังคม ดังจะเห็นว่าเมื่อปี ค.ศ. 1957 นิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมกันก่อขบวนขึ้นประท้วงการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยสารพัดกลโกง หรือขบวนการนิสิตนักศึกษาในปี ค.ศ. 1973 ซึ่งต่อสู้กับเผด็จการอำนาจนิยมจนนำมาสู่บรรยากาศของความประชาธิปไตยมากขึ้น บทบาทของขบวนการประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาเช่นนี้ย่อมมิได้เกิดขึ้นอย่างฉาบฉวยหรือเพราะคึกคะนองแน่นอน หากทว่าเป็นบทบาทที่เกิดขึ้นจากการหนุนเสริมของหลากหลายปัจจัย ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการมีสำนึกในความเป็นประชาธิปไตยเช่นที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ส่วนอีกปัจจัยซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ทั้งในรูปแบบของการเอื้อให้ใช้พื้นที่ การอำนวยความสะดวกเรื่องอุปกรณ์ ไปจนถึงการแสดงจุดยืนที่เคียงข้างขบวนการประชาธิปไตย

นอกจากการเคียงข้างขบวนการประชาธิปไตยแล้ว การต่อต้านอำนาจเผด็จการยังควรหวนทวนไปให้ความสำคัญกับต้นน้ำของกระบวนการประชาธิปไตย ประการแรกคือคณะผู้บริหารและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยซึ่งดำรงฐานะผู้นำทางปัญญาของสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงตนต่อต้านระบอบซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวก็เนื่องด้วยที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งอยู่ภายใต้เงาของสถาบันการศึกษามักถูกช่วงชิงให้กลายเป็นกำลังหนุนเสริมความชอบธรรมแก่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอยู่หลายครั้งหลายครา ดังจะเห็นได้ว่าภายหลังการรัฐประหารปี ค.ศ. 2014 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ลากดึงอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มานั่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นั่นเพราะเผด็จการอำนาจนิยมเล็งเห็นว่าความชอบธรรมในการกำหนดกฎกติกาของตนยังจำเป็นต้องอาศัยตัวแทนจากสถาบันการศึกษา เช่นนั้นเองหากคณาจารย์ร่วมวงสังฆกรรมในกระบวนการทางอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ คณาจารย์เหล่านั้นก็ย่อมสนับสนุนให้เผด็จการอำนาจนิยมเบียดขับประชาธิปไตยไปโดยปริยาย

ภาพ: WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

และอีกประการที่ควรกล่าวถึงคือการยืนหยัดให้คงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม อันเป็นหลักซึ่งประกอบด้วยเจ็ดหลักย่อยสำคัญได้แก่ 1) การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 2) การแบ่งแยกอำนาจ 3) ความชอบธรรมด้วยกฎหมายของฝ่ายตุลาการและฝ่ายปกครอง 4) ความชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหา 5) ความเป็นอิสระของศาล 6) หลักไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย และ 7) ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งห้วงสองสามปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของคณาจารย์ในแขนงทางด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่จะต้องถกค้านหรือแสดงออกซี่งการชี้แนะแก่สังคมให้ประจักษ์ว่าการใช้อำนาจใดที่กำลังทำลายสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทำลายความชอบด้วยกฎหมายทั้งทางเนื้อหาและเทคนิค จะด้วยการออกแถลงการณ์ร่วมหรือจะด้วยการแสดงทัศนะของตนผ่านสื่อต่าง ๆ ก็สุดแล้วแต่จะกระทำ แต่การนิ่งเฉย ในลักษณะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ค้ำชูให้ระบบที่ละเมิดหลักการประชาธิปไตยดำรงอยู่

บทสรุป

โดยเนื้อแท้ของความเป็นมหาวิทยาลัยจึงมีภาระและบทบาทที่พ้นเกินไปกว่าการจัดการเรียนการสอน เนื่องด้วยในประเทศที่ประกาศตนว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยย่อมต้องอาศัยสถาบันการศึกษาในการผลิตวิชาความรู้เพื่อบำบัดความกระหายเกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่ประชาชน มหาวิทยาลัยจึงพึงปรับตัวเองให้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนมิใช่แรงเสียดทานต้านการพัฒนาสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แรงขับเช่นว่าจำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นทั้งภายในรั้วมหาวิทยาลัยและส่งทอดไปสู่สังคมภายนอกด้วย กล่าวคือมหาวิทยาลัยต้องแสดงบทบาทของการผลิตบัณฑิตที่มีสำนึกความเป็นประชาธิปไตยและตระหนักถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ป้อนสู่สังคม ขณะเดียวกันในฐานะสถาบันที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดความรู้ซึ่งเป็นอำนาจที่มีผลต่อการโน้มนำสังคมย่อมต้องใส่ใจในการร่วมสร้างพลเมืองประชาธิปไตย การเอื้ออำนวยแก่ขบวนการประชาธิปไตย และการต่อต้านทุกระบบที่บ่อนเซาะทำลายประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเฉพาะห้วงหนึ่งทศวรรษให้หลังมานี้คลื่นกระแสทุนนิยมและเผด็จการอำนาจนิยมโถมซัดใส่มหาวิทยาลัยจนม้วนกลืนไปกับคลื่นเหล่านั้น หรือบางครั้งก็เป็นมหาวิทยาลัยเองที่กระโจนใส่คลื่นนั้นอย่างตื่นใจ เช่น การรุกไล่ที่ค้าขายของประชาชนหรือเปลี่ยนสถานที่ซึ่งข้องเกี่ยวกับศรัทธาของคนในชุมชนเป็นห้างร้าน สะท้อนว่าบทบาทในการหนุนเสริมประชาธิปไตยและรับใช้ประชาชนดังเช่นที่ปรากฏในคำขวัญของหลายมหาวิทยาลัยเลือนรางและกลายเป็นเพียงคำฝันที่ไม่ต่างจากคำโฆษณาบนฉลากสินค้า คำถามใหญ่ที่มหาวิทยาลัย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนิสิตนักศึกษาจำเป็นต้องตอบและมองทางออกให้ได้ในเร็ววันคือจะส่งเสริมประชาธิปไตยและรับใช้ประชาชนให้ยั่งยืนได้อย่างไร


ข้อมูลอ้างอิง

ภีรภัทร ด้านธีระภากุล. หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาลกับสังคมประชาธิปไตย.

ลิขิต ธีรเควิน. (2559). ประชาธิปไตยไทยในทศวรรษ 21: ทางตันทางออกและแนวทางแก้ไข. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.


อติรุจ ดือเระ 

นักสื่อสารความรู้เรื่อง SDGs จบ ป.ตรี จากสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันเบนสายเรียน ป.โท ด้านวรรณกรรม สนใจประเด็นสันติภาพ การพัฒนา เเละความมั่นคงมนุษย์ เขียนบทกวีเเละเรื่องสั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต


บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)

Similar Posts