โครงการผันน้ำยวมเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน แปลกใหม่ และทะเยอทะยานที่สุดของประเทศไทย เพราะเป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลักจากฝั่งทะเลอันดามันไปสู่อ่าวไทย สร้างความขัดแย้งมายาวนานกว่าสองทศวรรษ ด้วยงบประมาณมหาศาลและข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เชื่อมโยงระหว่างสองฝั่งทะเล

โครงการผันน้ำยวมเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและแปลกใหม่ที่สุดของประเทศไทย เพราะเป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลักจากฝั่งทะเลอันดามันไปสู่อ่าวไทย ผ่านการเจาะอุโมงค์ข้ามเทือกเขาและพื้นที่ที่มีความสูงต่ำแตกต่างกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อเติมน้ำให้เขื่อนภูมิพลและแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โครงการนี้ได้ถูกริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2538 และมีการศึกษาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่กลับเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางทั้งในแง่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความโปร่งใสในกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
รายงานชิ้นนี้จะพาไปติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการผันน้ำยวม โครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ครอบคลุมตั้งแต่ประวัติความเป็นมาที่ยาวนานกว่า 20 ปี ข้อถกเถียงเกี่ยวกับความโปร่งใสของรายงาน EIA ที่ถูกเรียกว่า “EIA ร้านลาบ” และผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ ตลอดจนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความคุ้มค่าของโครงการและทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนกว่า
ไทม์ไลน์โครงการผันน้ำยวม
โครงการผันน้ำยวมมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าสองทศวรรษ ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นเพียงแนวคิดจนพัฒนาสู่โครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนสูง ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่เต็มไปด้วยข้อถกเถียง และการฟ้องร้องต่อศาลที่ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน นี่คือลำดับเหตุการณ์สำคัญที่แสดงพัฒนาการของโครงการจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ.2538 – เริ่มต้นแนวคิดโครงการผันน้ำยวมภายใต้การดูแลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
พ.ศ.2546 – 2549 – มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ครั้งแรก ซึ่งพบว่าแนวทางที่เหมาะสมคือการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่างมายังเขื่อนภูมิพล แต่เนื่องจากงบประมาณสูง โครงการจึงถูกระงับชั่วคราว
พ.ศ.2559 – โครงการถูกรื้อฟื้นอีกครั้งเมื่อคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติมอบหมายให้กรมชลประทานศึกษาความเป็นไปได้ใหม่ โดยบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้จัดทำ EIA ฉบับใหม่
พฤษภาคม พ.ศ.2564 – การศึกษา EIA ฉบับใหม่เสร็จสิ้น แต่กลายเป็นประเด็นขัดแย้งรุนแรง เมื่อชาวบ้านพบว่ามีการนำชื่อ ภาพถ่าย และข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาไปใช้ในรายงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ชาวบ้านหลายคนยืนยันว่าพวกเขาปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม แต่กลับถูกอ้างว่าให้ความร่วมมือ บางคนระบุว่าภาพที่ปรากฏในรายงานเป็นเพียงการพบปะทั่วไปในร้านอาหาร จนเกิดฉายา “EIA ร้านลาบ”
กันยายน พ.ศ.2564 – คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ให้ความเห็นชอบต่อรายงาน EIA แม้จะมีการคัดค้านจากภาคประชาสังคมและนักวิชาการ
หลังจาก EIA ผ่านการอนุมัติ – กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทปัญญาให้ทำการศึกษาขั้นตอนการดำเนินโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยใช้งบประมาณ 28 ล้านบาท ผลการศึกษาพบว่าโครงการจะต้องใช้เงินมากถึง 88,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก 70,000 ล้านบาทที่ระบุใน EIA) และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและค่าไฟฟ้า มูลค่าการลงทุนรวมจะสูงถึงประมาณ 172,000 ล้านบาท
พฤษภาคม พ.ศ.2565 – มีการประชุมเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการอย่างเป็นทางการ
18 ตุลาคม พ.ศ.2566 – เครือข่ายภาคประชาชนจาก 3 จังหวัดยื่นฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ ฟ้อง 5 หน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับโครงการผันน้ำยวม คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงยื่นคำร้องและขอทำการยื่นเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีคำพิพากษา
มกราคม พ.ศ.2567 – เครือข่ายประชาชนได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เรียกร้องให้เพิกถอนโครงการและรายงาน EIA ทั้งหมด โดยระบุว่าโครงการไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม ขาดการศึกษาอย่างรอบด้าน ส่งผลกระทบรุนแรง และไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
ช่วงปี พ.ศ.2567-2568 – ชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ได้ให้ ผศ.ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ จัดการประชุมเพื่อให้กรมชลประทานและบริษัทที่ศึกษาโครงการหารือเกี่ยวกับปัญหานี้แล้ว 4 ครั้ง เพื่อหาทางออกหรือแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม
26 มีนาคม พ.ศ.2568 – มีการนัดหมายระหว่างกรมชลประทานและผู้เชี่ยวชาญจากทุกฝ่ายเพื่อรับฟังคำตอบจากคำถามที่ได้ยื่นไปในการประชุมครั้งก่อน
ปัจจุบัน (พ.ศ.2568) – คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง และการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง โครงการยังคงต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นเลขานุการ เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่องหรือข้อกังวลก่อนนำเสนอโครงการต่อไป
ผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนท้องถิ่น

โครงการผันน้ำยวมได้สร้างความกังวลให้กับชุมชนท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจและการประเมินผลกระทบที่แท้จริง แม้ภาครัฐจะมองว่าโครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ชาวบ้านในพื้นที่กลับเห็นว่าเป็นการรุกรานวิถีชีวิตและความสมดุลของระบบนิเวศที่พวกเขาพึ่งพามาหลายชั่วอายุคน
พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่อำเภอสบเมยจากโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยระบุว่า การดำเนินโครงการในพื้นที่อำเภอสบเมยอาจได้รับผลกระทบจากการเชื่อมโยงกับโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำสาละวิน โดยจะมีการเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายเดียวกัน หากไม่สามารถดำเนินการในพื้นที่สาละวินได้ อาจจำเป็นต้องเริ่มดำเนินการที่จุดแม่น้ำเมยแทน และหากปริมาณน้ำที่เก็บรวบรวมไม่เพียงพอ ก็อาจต้องขยายโครงการไปยังสาละวินเพื่อเติมน้ำเข้าสู่เขื่อนน้ำยวมต่อไป แม่น้ำเมยเป็นสาขาย่อยของแม่น้ำสาละวิน การกักเก็บน้ำในแม่น้ำสาขานี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรที่ตั้งอยู่ปลายน้ำ แม้จะไม่กระทบโดยตรง แต่ก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและป่าที่เชื่อมต่อกันในพื้นที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ แม่น้ำเมยไหลหลั่งสู่แม่น้ำสาละวิน การเปลี่ยนแปลงในระบบน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การประมง และสัตว์น้ำที่อพยพขึ้นตามลำน้ำสาขา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในฤดูกาลการอพยพของสัตว์น้ำต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนที่ตั้งอยู่ปลายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่างตำบลแม่สามแลบและตำบลสบเมย ซึ่งเชื่อมต่อไปยังแม่น้ำยวมผ่านแม่น้ำเมย ก่อนที่จะหลั่งลงสู่สาละวิน
ดังนั้น หากโครงการนี้เกิดขึ้น ระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนและการจัดการทรัพยากรน้ำ รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศทางน้ำต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการประมงและอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ริมแม่น้ำ วิถีชีวิตของผู้คนที่พึ่งพาระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเพาะปลูก รวมทั้งการใช้ทรัพยากรจากผืนป่า จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้
การเปลี่ยนแปลงทางน้ำ ทั้งในด้านระดับน้ำที่สูงขึ้นหรือลดลง หรือแม้กระทั่งความแห้งแล้งและน้ำท่วม อาจทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศในน้ำ และพันธุ์ปลาที่พึ่งพาการอพยพตามฤดูกาลของสัตว์น้ำต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของชุมชนในพื้นที่นี้ โครงการขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงกับระบบน้ำป่าซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักที่สำคัญ หากมีการเปลี่ยนแปลงส่วนใดของระบบนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ชาวบ้านมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบในอนาคต ซึ่งยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า ผลกระทบเหล่านั้นจะมีลักษณะอย่างไร และจะรุนแรงหรือไม่ ทั้งในแง่ของผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม
ปัญหาการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของชุมชน
นอกจากนี้ โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ชาวบ้านยังขาดข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นเกี่ยวกับผลกระทบและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าโครงการจะได้มีการวิจัยและมีคณะอาจารย์จากหลายสถาบัน รวมถึงกรมชลประทานที่ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษา แต่สิ่งที่ยังขาดคือการสื่อสารผลกระทบที่ชัดเจน การจัดเวทีส่วนใหญ่เน้นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลดีของโครงการ แต่กลับขาดการพูดถึงผลเสียหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลกระทบอย่างไร? จะมีน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนหรือไม่? จะท่วมป่าหรือไม่? พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านจะได้รับผลกระทบหรือไม่?
แต่คำตอบที่ได้รับกลับคือ “ไม่เป็นไร ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความจริงใจในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของชาวบ้านหรือคำถามจากชาวบ้านกลับไม่ได้รับความชัดเจนในการตอบสนอง ชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการในลักษณะนี้ เนื่องจากยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน โดยที่ผ่านมา การสื่อสารกับชาวบ้านกลับมีน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการจัดเวทีให้กับผู้นำบางกลุ่มหรือหน่วยงานราชการบางแห่ง ซึ่งมักอ้างว่าเป็นการสร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้านหรือการจัดประชาคมเพื่อการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
นอกจากนี้ บางครั้งชาวบ้านเองก็ยังไม่เข้าใจข้อมูลที่มีความละเอียดซับซ้อน เนื่องจากบางประเด็นเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ยากจะเข้าใจ เช่น ตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับหน่วยวัดต่าง ๆ เช่น มิลลิลิตร หรือ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งชาวบ้านอาจไม่สามารถมองเห็นขนาดหรือปริมาณได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพันธุ์ปลาหรือสัตว์น้ำที่อาจสูญหายไปในอนาคต หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอาชีพของพวกเขา ซึ่งชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าจะสามารถทดแทนหรือหาทางแก้ไขอย่างไร ทั้งที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เมื่อโครงการขนาดใหญ่ต้องการการลงทุนมหาศาล ก็เกิดคำถามขึ้นว่า การลงทุนในโครงการเช่นนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะสามารถชดเชยกับความเสี่ยงหรือผลกระทบที่ตามมาหรือเปล่า?
พื้นที่สาละวินนั้นมีความสำคัญเนื่องจากโครงการนี้เชื่อมโยงกับหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดตากและจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณอำเภอฮอด อมก๋อย และสบเมย ก็ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ชาวบ้านในพื้นที่เหล่านี้พยายามรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตลอดแนวท่ออุโมงค์ส่งน้ำ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ พวกเขาพยายามรวมตัวกันเพื่อคัดค้านและยื่นข้อเสนอผ่านรัฐมนตรีและรัฐบาลหลายครั้งแล้ว ล่าสุด ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องกรมชลประทานและเจ้าของโครงการต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ในเรื่องของการฟ้องร้องและการต่อสู้ในทางกฎหมายกำลังดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อท้าทายกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนความไม่พอใจ เนื่องจากเห็นว่ามีการขาดการควบคุมที่เหมาะสมและขาดความโปร่งใสในการดำเนินการศึกษา โดยเฉพาะในขั้นตอนการทำ EIA ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการประเมินผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ ว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างไร บ่อยครั้งประชาชนมีข้อกังวลว่า ผลการศึกษาดังกล่าวอาจไม่สะท้อนความจริง หรือไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจริง ๆ หากยังไม่มีความชัดเจนในประเด็นนี้ ก็จำเป็นต้องมีการพูดคุยและเจรจากับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานที่ทำการศึกษา EIA หรือแม้กระทั่งผู้ที่เคยดำเนินการในเรื่องนี้มาแล้ว เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมในการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งปกป้องสิทธิของชุมชนอย่างยั่งยืน
ข้อถกเถียงเรื่องกระบวนการ EIA และการเคลื่อนไหวทางกฎหมาย
กรณีการอนุมัติโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการประเมินผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ ดูเหมือนว่า EIA ในกรณีนี้ไม่ได้ตอบสนองต่อข้อกังวลของชาวบ้านเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติ เช่น ป่า หรือพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 ที่มีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต แม้ว่า EIA จะได้รับการอนุมัติแล้ว แต่กระบวนการดังกล่าวกลับไม่สามารถตอบคำถามที่ชาวบ้านกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการ ซึ่งทำให้รู้สึกว่า EIA ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรองรับการดำเนินโครงการมากกว่าจะเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
การที่ EIA ได้รับการอนุมัติอาจเป็นผลมาจากกระบวนการประเมินผลกระทบที่ไม่ครอบคลุมข้อกังวลของชาวบ้าน หรือขาดการศึกษาผลกระทบที่ชัดเจนในด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในพื้นที่ดังกล่าว ปัญหานี้มักเกิดขึ้นเมื่อกระบวนการประเมินไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่เหมาะสม หรือไม่ได้คำนึงถึงมุมมองและความกังวลของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาใหม่ และเปิดรับความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และสามารถคำนึงถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้อย่างแท้จริง
ช่วงเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รวมตัวกันและยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการอนุมัติ EIA ฉบับนี้ โดยเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบใหม่อีกครั้ง พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอและสร้างความเข้าใจร่วมกันในเครือข่ายของชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากอุโมงค์ที่ผ่านป่า ชาวบ้านได้ติดตามและขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับฟังข้อคิดเห็นและพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย
โครงการผันน้ำยวมกับนโยบายการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ
การบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยในปัจจุบันต้องรับมือกับหลายปัญหา ตั้งแต่การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรจนถึงการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน โครงการผันน้ำยวมจึงกลายเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่รัฐบาลผลักดัน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนภูมิพล ผ่านการผันน้ำจากแม่น้ำยวมเพื่อเสริมความต้องการน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในภาคเหนือ
โครงการผันน้ำยวมไม่ได้มาโดยบังเอิญแต่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติที่มีการวางแผนโดยรัฐบาลไทย ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ 20 ( ปี 2561– 2580 ) ซึ่งได้รับการกำหนดโดยกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการจัดการน้ำทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค โดยจะมีการผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเสริมปริมาณน้ำให้กับเขื่อนภูมิพลเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต
แผนยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรน้ำเป็นหนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลใช้ในการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการผันน้ำให้สามารถตอบสนองความต้องการน้ำในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งโครงการผันน้ำยวมก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้ โครงการดังกล่าวมีข้อดีในการเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนภูมิพล และช่วยจัดการน้ำในพื้นที่แห้งแล้งได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีความกังวลจากชุมชนในพื้นที่เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านในลุ่มน้ำยวม
ในแง่ของผลกระทบ โครงการผันน้ำยวมต้องพิจารณาอย่างละเอียดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำยวมและเงา โดยเฉพาะในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ,การทำการเกษตรและการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพาน้ำจากแม่น้ำยวมในการทำเกษตรกรรมและอุปโภคบริโภค กรมชลประทานได้มีการจัดทำ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อประเมินผลกระทบต่าง ๆ จากโครงการนี้ แต่ยังคงมีความกังวลจากชุมชนในเรื่องของการบิดเบือนข้อมูลในรายงานที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินโครงการ
โครงการผันน้ำยวม vs. โครงการผันน้ำในพื้นที่อื่น ๆ

โครงการผันน้ำยวมมีความซับซ้อนและแตกต่างจากโครงการจัดการน้ำอื่น ๆ ในไทย ไม่เพียงด้านวิศวกรรมที่ต้องผันน้ำจากฝั่งทะเลอันดามันไปสู่อ่าวไทย แต่ยังมีความพิเศษในโมเดลการลงทุน ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และระบบการบริหารจัดการ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับความท้าทายเหล่านี้
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการผันน้ำลักษณะนี้ถือเป็นโครงการที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย โครงการนี้เป็นโครงการผันน้ำมันที่มีลักษณะเฉพาะตัวต่างจากโครงการผันน้ำอื่น ๆ ที่เคยมีในประเทศไทย ซึ่งโครงการผันน้ำแบบนี้ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศเรา ส่วนหนึ่งของโครงการนี้คือการผันน้ำข้ามลุ่มแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ที่ไหลผ่านหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า และจีน โดยมีการไหลของน้ำจากที่สูงในทิเบตและไหลลงสู่ทะเลอันดามัน
“การทำอุโมงค์เพื่อผันน้ำข้ามลุ่มแม่น้ำสาละวิน ฝั่งทะเลอันดามันไปเขื่อนภูมิพลและไหลลงสู่ฝั่งทะเลอ่าวไทย จะต้องมีการสร้างโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนมาก เพราะต้องข้ามภูเขาและพื้นที่ที่มีความสูงต่ำไม่เท่ากันหลายจุดไปอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมันถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนในแง่ของทิศทางและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแต่ละฝั่ง ซึ่งโดยเฉพาะปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำดังกล่าวยังไม่ได้รับการวิเคราะห์ว่าหากเกิดผลกระทบขึ้นจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ดังนั้น ยังไม่มีการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้” หาญณรงค์ กล่าว
การลงทุนในลักษณะที่ภาครัฐและเอกชนร่วมกันลงทุนเพื่อการบริหารจัดการน้ำยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน โดยในกรณีนี้ เอกชนจะต้องรับผิดชอบในการสร้างเขื่อนเพื่อปั๊มน้ำขึ้นไปข้างบน, สร้างอุโมงค์ผันน้ำ รวมถึงการขุดลอกแม่น้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำโดยเอกชนโดยไม่มีการแยกหน้าที่ว่า หน่วยงานรัฐหรือกรมชลประทานจะเป็นผู้รับผิดชอบงานใดงานหนึ่ง หากให้เอกชนทำโครงการนี้ การเวนคืนที่ดินทั้งหมดจะต้องได้รับการดำเนินการและการรับเวนคืนก่อน จากนั้นจึงจะโอนให้เอกชนดำเนินการต่อไป แต่ต้องทราบว่า เอกชนไม่มีอำนาจในการเวนคืนที่ดินของชาวบ้านตามกฎหมายของไทย ดังนั้นหากจะเปรียบเทียบกับโครงการอื่น ๆ ก็ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจนเพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงการแรกที่มีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในลักษณะนี้
อีกประเด็นหนึ่งคือกฎหมายชลประทานปี 2485 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่มีอำนาจในการเก็บค่าบริการน้ำจากประชาชนในเรื่องของการเกษตร กฎหมายนี้สามารถเก็บค่าใช้จ่ายได้ในเรื่องของน้ำเพื่อการประปา, อุตสาหกรรม หรือโรงงานเท่านั้น ส่วนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรจะไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บค่าบริการน้ำจากเกษตรกร ดังนั้น โครงการนี้ที่ให้เอกชนเข้ามาลงทุน หากจะเก็บค่าบริการน้ำคืน ก็จะสามารถเก็บได้ในสองส่วนเท่านั้น คือ น้ำเพื่อการประปาและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ (ทั้งสองฉบับ) ไม่ให้สิทธิในการเก็บค่าบริการน้ำจากเกษตรกร
“ดังนั้น การจัดเก็บค่าบริการน้ำจากประปาและอุตสาหกรรม เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำในเอกชน ซึ่งประมาณการจะอยู่ที่ปีละ 2,500 ล้านบาท จะเพียงพอหรือไม่ยังเป็นคำถามที่ต้องพิจารณาต่อไป ฉะนั้น โครงการนี้หากมองในเรื่องการลงทุน, กฎหมาย, และลักษณะของการร่วมทุน มันก็ถือว่าแปลกใหม่อยู่แล้ว เพราะมันไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย และการศึกษาที่มีอยู่ในตอนนี้ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนยังในมุมของกฎหมายได้” หาญณรงค์ กล่าว
แนวทางที่เป็นไปได้ในโครงการนี้คือให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของการควบคุมการจัดการน้ำและการเก็บน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่การสูบน้ำสามารถให้กรมชลประทานดูแลได้ ส่วนการผันน้ำผ่านอุโมงค์อาจให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยเอกชนจะสามารถคิดค่าผ่านอุโมงค์ได้ ซึ่งคำนวณได้ตามหลักการที่ใช้ในโครงการอื่น ๆ แต่โครงการนี้กลับมีการดำเนินการที่ไม่เหมือนกับที่เคยเห็นมาก่อน เพราะรัฐได้โยนให้เอกชนทำทุกอย่างทั้งหมด และเมื่อโครงการดำเนินการไปแล้ว การคืนเงินจะมาจากงบประมาณของรัฐ โดยไม่มีการเก็บค่าบริการน้ำเพื่อชดเชย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้โครงการดูเหมือนกับการที่รัฐบาลไม่ได้มีการบริหารจัดการตั้งแต่แรก
“การจัดการโครงการนี้จึงอาจถือเป็นโครงการที่ “จับจ่ายมาก” เพราะไม่เคยมีหลักการหรือรูปแบบการทำงานแบบนี้มาก่อน และยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องการบริหารจัดการและการคืนเงินจากการใช้จ่ายของรัฐที่ไร้หลักการ จึงต้องมีการตรวจสอบและพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในระดับชาติให้ถี่ถ้วน เพราะว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ซึ่งสำนักงานทรัพยากรแห่งชาติก็ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ออกมาพูดต่อสื่อสาธารณะอย่างเปิดเผย” หาญณรงค์กล่าว
ประเด็นสำคัญในตอนนี้คือเรื่องการลงทุน, เศรษฐศาสตร์, ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียด อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือในขณะนี้ชาวบ้านยังคงฟ้องร้องเกี่ยวกับโครงการนี้ ซึ่งทำให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทางเลือกที่เสนอในตอนนี้คือการพิจารณาหยุดดำเนินโครงการนี้และหาทางเลือกใหม่ในการจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการบริหารจัดการน้ำในลักษณะอื่น ๆ ที่อาจจะเหมาะสมกว่า ส่วนการจัดการน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรก็ต้องพิจารณาใหม่ เนื่องจากปัจจุบันเป้าหมายหลักของการผันน้ำคือการใช้น้ำไปทำนาข้าว แต่ราคาข้าวในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาตกต่ำอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 4-5 ปีแล้ว ทั้งนี้การนำไปใช้น้ำในการเกษตรรัฐไม่สามารถเก็บค่าบริการน้ำได้ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับได้จำกัดเอาไว้ หากรัฐสามารถจัดการน้ำในภาคอื่น ๆ อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้
“ดังนั้น โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จึงไม่มีความคุ้มค่าเลย ในกรณีของเขื่อนภูมิพล ซึ่งจริง ๆ แล้วเขื่อนนี้ออกแบบมาให้มีช่องว่างไม่ให้เขื่อนเต็มตลอดเวลา โดยปกติของเขื่อนภูมิพลจะเก็บน้ำในระดับที่ไม่เต็มจนเกินไป และจะมีช่วงเวลา 10 ปี หรือ 20 ปี ที่เขื่อนจะเต็มสักครั้งหนึ่ง ดังนั้น เขื่อนภูมิพลไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เต็มตลอดเวลา แต่เมื่อเริ่มดำเนินโครงการนี้ขึ้นมา พอเอกชนเข้ามามอง ก็เริ่มเห็นว่าเขื่อนนี้ไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่ตามที่ออกแบบไว้แต่แรก ทำให้เกิดคำถามว่าโครงการนี้จะมีความคุ้มค่าจริง ๆ หรือไม่” หาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
‘การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน’ มุมมองวิชาการต่อทางเลือกแทนโครงการผันน้ำยวม

การขาดแคลนน้ำอาจไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง แต่เป็นการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ นักวิชาการด้านทรัพยากรน้ำเสนอมุมมองที่แตกต่างจากแนวคิดโครงการผันน้ำยวม โดยชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกอื่นที่คุ้มค่าและส่งผลกระทบน้อยกว่าโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังเป็นข้อพิพาท
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แม้ว่ากรมชนประทานพยายามเดินหน้าที่ ถ้าหากพิจารณาจากความพร้อมต่าง ๆ ก็ยังเดินหน้าไม่ได้ เพราะอาจจะมีบางส่วนที่อยากให้บริษัทที่ปรึกษาหรือผู้รับเหมาลงไปเตรียมความพร้อมในพื้นที่ อย่างไรก็ตามยังดำเนินการต่อได้เพราะงบประมาณในส่วนนี้น่าจะยังไม่ได้ เพราะโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ต้องผ่านขั้นตอนในการขอโครงการและขออนุมัติงบประมาณผ่านไทย Water Plan ซึ่ง สทนช. เป็นเจ้าภาพในการดูแลภาพรวมเกี่ยวกับน้ำ เมื่อไม่มีความพร้อมในเชิงพื้นที่ สทนช. ก็พิจารณาตามหลักเกณฑ์ของเขาคือยังไม่สามารถให้โครงการเดินหน้าไปได้และการที่จะทำให้โครงการพร้อมนั้นยังมีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ EIA ซึ่งถึงแม้ว่าจะผ่าน กก.วล. ไปแล้วก็ตาม ยังมีข้อทักท้วงจากนักวิชาการในหลายสาขา ทั้งนักวิชาการสายวิศวกร ฯลฯ รวมถึงทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย
“ที่ผ่านมานั้น P-Move ได้ร้องเรียนกับรัฐบาลโดยรัฐบาลก็ได้จัดตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตร แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนที่มีข้อซักถามเพื่อให้เกิดความกระจ่างในรายละเอียดของโครงการในหลาย ๆ ประเด็น ซึ่งตรงนี้ยังไม่ชัดเจนและคราวที่แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไปก่อน ดังนั้นตอนนี้โครงการก็ยังชะงักอยู่ อาจารย์ในฐานะที่เป็นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลในการแก้ปัญหา P-Move ได้มีการนัดหมายกับทางกรมชลประทานและผู้เชี่ยวชาญจากทุกด้านเพื่อรับฟังคำตอบจากคำถามที่เราได้ยื่นไปครั้งที่แล้วในวันพุธที่ 26 มีนาคม 2568 ซึ่งหากในกรณีที่กรมชลประทานยังไม่สามารถตอบคำถามได้ หรือยังมีข้อทักท้วงที่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนและเหมาะสม โครงการก็ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ แม้ว่ากรมชลประทานจะมีความตั้งใจและหวังที่จะเดินหน้าเพื่อแก้ปัญหาหรือดำเนินการต่าง ๆ แต่ถ้ายังไม่มีความชัดเจนในคำตอบหรือแนวทางแก้ไข โครงการก็จะไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้” ผศ.ดร.สิตางศุ์กล่าว
โครงการนี้ชื่อว่าโครงการเติมน้ำให้กับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล คือส่วนของเขื่อนภูมิพลนั้นสร้างไว้ที่ประมาณ 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในแต่ละปีภูมิพลก็ไม่ค่อยเต็ม เพราะน้ำต้นทุนที่คำนวณไว้มันก็ลงอ่างน้อยกว่าที่เคยเป็นในอดีต แล้วจริง ๆ เขื่อนภูมิพลมันค่อนข้างใหญ่ โอกาสที่เขื่อนภูมิพลจะเต็มนั้นในอดีตที่ผ่านมาก็มีอยู่ไม่กี่ปีที่เต็ม เช่นปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ปีนี้จริง ๆ แล้วก็ยังไม่ได้เรียกว่ามันเต็ม แต่ก็เก็บน้ำได้เยอะในปีนี้ตามความเป็นจริงแล้วโดยส่วนใหญ่เขื่อนภูมิพลมันจะไม่เต็มและมันจะมีพื้นที่ว่าง
“ดังนั้นกรมชลประทานก็เลยมีความคิดว่าในเมื่อเขื่อนภูมิพลมีพื้นที่ว่าง ทำไมเราไม่หาน้ำมาเติม” คำว่า “หาน้ำมาเติม” ก็เลยถูกผูกกับความเชื่อที่ว่าน้ำในลุ่มน้ำภาคกลางไม่เพียงพอสำหรับการทำการเกษตรของชาวนาก็เลยเอาไปผูกรวมกัน หากมองหาว่าเราจะเอาน้ำไหนมาเติม ก็เลยกลายเป็นที่มาที่ไปว่าลุ่มน้ำสาละวินมีน้ำเยอะ ไปเอาน้ำจากสาละวินเติมแล้วกัน หลักการง่าย ๆ คือเราจะเอาน้ำมาเก็บ ฝนไม่มีเราก็ผันน้ำเข้ารวมกัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว ตามหลักการของการแก้ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นกระบวนการที่ผิด เพราะการแก้ปัญหาน้ำ ควรจะต้องแก้ให้จบภายในลุ่มน้ำของตัวเอง ซึ่งการที่จะผันน้ำข้ามลุ่มน้ำมาเติม ต้องแบบสาหัสสากันจริง ๆ ซึ่งเราไม่ได้โดยโดยหลักการการจัดการน้ำ ก็ไม่ควรทำแบบนั้น เราอาจจะเห็นว่าภาคตะวันออกก็มีการผันข้ามลุ่มน้ำ แต่มันคือการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำย่อย ไม่ใช่ลุ่มน้ำหลัก” ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว
เราควรกลับมามองว่าจริง ๆ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีประเด็นปัญหาอะไร น้ำดิบที่ไม่เพียงพอเพื่อการเกษตรหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องไปดูเรื่องของสมดุลน้ำว่าต้นทุนมีพอสำหรับความต้องการใช้น้ำที่จะใช้น้ำหรือไม่ ซึ่งหลัก ๆ ของลุ่มน้ำภาคกลาง คือ 1.จริง ๆ ทุกลุ่มน้ำก็คือน้ำกิน น้ำใช้ต้องพอ ซึ่งพออยู่แล้วเพราะน้ำกินน้ำใช้เป็นประมาณ 5% ของทุกลุ่มน้ำไม่เกิน10 % 2.น้ำที่ใช้ในภาคการเกษตร โดยเฉพาะในลุ่มน้ำภาคกลางนั้นมีการใช้น้ำจำนวนมาก ซึ่งในพื้นที่นี้เรามีทั้งนาข้าวและพื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ ที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก การใช้ประสิทธิภาพน้ำในระบบชลประทานก็ไม่เกิน 60% เพราะระบบส่งน้ำมีการสูญเสียทั้งจากการรั่วไหลในคลอง การระเหย และการซึมลงดิน รวมถึงวิธีการที่ชาวนาสูบน้ำและเก็บไว้ในแปลง การใช้น้ำในปัจจุบันจึงยังไม่เต็มประสิทธิภาพ หากเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำในระบบได้ ก็จะสามารถใช้ปริมาณน้ำเท่าเดิม แต่ขยายพื้นที่เกษตรได้มากขึ้น เพราะการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำหมายถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ดังนั้น ถามว่าเราจำเป็นต้องหาน้ำเพิ่มหรือไม่ หากทำโครงการเพื่อเพิ่มน้ำใหม่ในระยะยาวอาจจะต้องใช้เวลา 10 ปีหรือมากกว่านั้นในการเห็นผลแต่หากเรามุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระบบชลประทานในวันนี้ จะสามารถเห็นผลได้ทันทีในปีนี้เลย ซึ่งการดำเนินการแบบนี้สามารถช่วยลดปัญหาขาดแคลนน้ำได้ทันที ถามว่าในปีที่ผ่านมา ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปัญหาขาดแคลนน้ำหรือไม่
เมื่อปีที่แล้ว (2567) น้ำท่วมหนัก แม้กระทั่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ยังต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมทุกปี เพราะทุกครั้งที่ฝนตก เราจะตกใจและกังวลว่าจะมีน้ำท่วมอีกหรือไม่ โดยเฉพาะปีที่แล้วที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ประสบปัญหาน้ำท่วม ขณะที่เขื่อนภูมิพลก็มีน้ำเต็ม ถามว่าในสถานการณ์แบบปีที่แล้วเราจะกล้าผันน้ำไปเติมภูมิพลไหม? เพราะปีที่แล้วเราก็กังวลว่า น้ำที่ท่วมในภาคเหนือจะไหลลงมาท่วมภาคกลางหรือไม่ เช่นน้ำท่วมในเชียงรายที่อาจจะท่วมภาคกลางด้วย ซึ่งมันสะท้อนถึงการขาดการศึกษาและความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ถามว่า ถ้าสถานการณ์เป็นเหมือนปีที่แล้ว เราจะกล้าผันน้ำจากแม่น้ำยมไปเติมภูมิพลหรือไม่? เพราะลุ่มน้ำภาคกลางก็ท่วมหนักอยู่แล้ว ดังนั้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นแทบทุกปี เราสามารถตอบได้ว่า ลุ่มน้ำภาคกลางไม่ได้ขาดน้ำ เพราะบางช่วงเวลามีน้ำมากเกินพอ แต่เมื่อมีน้ำจำนวนมากในช่วงเวลาหนึ่ง และเราระบายออกไปหมดแล้ว ก็ยังมีปัญหาการจัดการน้ำที่ไม่ดีพอ ซึ่งบ่งชี้ว่าเรายังไม่ได้บริหารจัดการน้ำอย่างดี
“ถ้ามองจากมุมของสมดุลน้ำจริง ๆ น้ำไม่ได้ขาด แต่ปัญหาหลักอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่เหมาะสม อย่างที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าน้ำไม่ขาด มันมีเยอะจนท่วมและมีน้อยจนขาดแคลน สิ่งที่ต้องทำคือการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการน้ำ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ การเก็บน้ำในบ่อหรือสระ การปรับปรุงระบบส่งน้ำและการกระจายน้ำ รวมไปถึงการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบชลประทานและการผลิตน้ำประปา แม้ว่าการผลิตน้ำประปาจะไม่ดูเหมือนเป็นปัญหาสำคัญ แต่จริง ๆ แล้วน้ำประปาที่ประปานครหลวงใช้มาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งระบบส่งน้ำของน้ำประปายังสูญเสียไปประมาณ 20-26 % ซึ่งการสูญเสียน้ำในระบบประปานั้นเทียบเท่ากับน้ำจากเขื่อนกิ่วลม ถ้าเราสามารถจัดการเรื่องนี้ได้ทั้งหมด เราก็คงไม่ต้องพูดถึงว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยาขาดน้ำ เพราะปัญหาคือการจัดการน้ำที่ยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ หากเราทำการจัดการภายในลุ่มน้ำให้ดีแล้ว แล้วเกิดปัญหาน้ำขาด เราค่อยไปพิจารณาการผันน้ำข้ามลุ่ม แต่ในตอนนี้ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องนี้ เพราะจริง ๆ แล้วเรายังไม่ได้ขาดน้ำ” ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวทิ้งท้าย
บทสรุป ‘โครงการผันน้ำยวม’ ความท้าทายของการพัฒนาทรัพยากรน้ำในอนาคต
โครงการผันน้ำยวมสะท้อนถึงความท้าทายในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไทยที่มีมานานกว่าสองทศวรรษ ด้วยแนวคิดการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลักจากฝั่งทะเลอันดามันสู่อ่าวไทย ภายใต้งบประมาณมหาศาล
แม้ภาครัฐจะมองว่าโครงการนี้เป็นทางออกสำหรับปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาสังคมกลับตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและความจำเป็น โดยมองว่าปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนน้ำ แต่เป็นการบริหารจัดการที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั้งในระบบชลประทานที่มีการสูญเสียสูงถึง 40% และระบบประปาที่มีการรั่วไหลกว่า 20-26%
ณ ปี 2568 ในขณะที่คดีความในศาลปกครองยังไม่มีข้อยุติ และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดความโปร่งใส สังคมไทยจำเป็นต้องพิจารณาร่วมกันว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่คือคำตอบของปัญหาการจัดการน้ำหรือไม่ หรือควรเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระบบที่มีอยู่ กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีความน่าเชื่อถือเพียงพอหรือไม่ และรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนควรเป็นอย่างไร ตลอดจนผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นหากมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำ
การเดินหน้าหรือยุติโครงการผันน้ำยวมจึงไม่ใช่เพียงการตัดสินใจทางเทคนิคหรืองบประมาณ แต่ยังเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนและความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรร่วมกันในอนาคต เป็นบทเรียนสำคัญที่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องติดตามและมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตด้านการจัดการน้ำของประเทศไทยต่อไป.
This story was produced with Internews’ Earth Journalism Network.
