น้ำท่วมแม่สาย 2567 บทเรียนและแนวทางฟื้นฟู

เป็นที่ทราบกันดีว่าน้ำท่วมแม่สายในช่วงเดือนกันยายนปี 2567 ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อทรัพย์สิน บ้านเรือน และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่สาย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 

ด้วยลักษณะภูมิประเทศของอำเภอแม่สายซึ่งตั้งอยู่ในเขตต้นน้ำของแม่น้ำสาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำหลากมีความเชี่ยวและรุนแรง แม่น้ำสายมีพื้นที่ลุ่มน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศเมียนมาประมาณ 80% และเพียง 20% ที่ทอดตัวในพื้นที่ราบลุ่มในเขตแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก 

นอกจากนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ระบุถึง สาเหตุที่ทำให้เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2567 หนักกว่าปีก่อนๆ เกิดจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีสิ่งก่อสร้างขวางทางการไหลของน้ำและการรุกล้ำลำน้ำมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ธรรมชาติ 888 แห่ง (47.8%) คือ การทับถมของตะกอนและวัชพืชจากสิ่งก่อสร้าง 968 แห่ง (52.2%) พบมากที่สุด

ท่อลอดติดลํานํ้าและสิ่งปฏิกูล ทำให้หน้าตัดลำน้ำแคบลงและการระบายน้ำไม่คล่องตัว อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น การรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้และป่าต้นน้ำเพื่อเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว ยิ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 

ลักษณะดังกล่าวทำให้แม่สายเผชิญปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมในปี 2567 มีความรุนแรงเกินกว่าที่จะประเมินความเสียหายได้อย่างชัดเจน เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รัฐบาลเริ่มพิจารณาแผนการเวนคืนที่ดินในพื้นที่แม่สาย เพื่อก่อสร้างเขื่อนหรือแนวกั้นน้ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนและลดภาระค่าใช้จ่ายในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นซ้ำซากในทุกปี

หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแม่สาย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยรัฐบาลมีแผนเวนคืนพื้นที่ริมแม่น้ำสายในระยะ 40 เมตรเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมและป้องกันการกัดเซาะดิน โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้แผนงานอยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง คาดว่าการศึกษาพื้นที่จะไม่ใช้เวลานาน แต่อาจดำเนินการได้ช้าเพราะปัญหาการของบเนื่องจากโครงการนี้มีมูลค่าสูงและระยะเวลาดำเนินการยาวนานกว่า 1 ปี การใช้งบกลางจึงไม่สามารถดำเนินการได้ ทางรัฐบาลต้องเสนอขออนุมัติงบประมาณผ่านคณะรัฐมนตรีและดำเนินการตามแผนงบประมาณปกติ 

ทางด้านนายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรจำเป็นที่ต้องจัดทำแนวกั้นน้ำตลอดแนวแม่น้ำสาย พร้อมการเวนคืนที่ดินจากประชาชนที่อยู่อาศัยและดำเนินกิจการใกล้แนวฝั่งน้ำ โดยเฉพาะในชุมชนตลาดสายลมจอย ชุมชนเกาะทราย และพื้นที่ตั้งแต่บ้านถ้ำผาจมจนถึงชุมชนไม้ลุงขน อย่างไรก็ตามการดำเนินการจะต้องมีการเจรจาเรื่องค่ารื้อถอนและค่าชดเชยที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้  ในเบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมมือกันวางแผนงาน โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ส่วน ได้แก่  การเวนคืนที่ดินของผู้ที่มีเอกสารสิทธิ  และ การชดเชยค่ารื้อถอนสำหรับผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ  

“พื้นที่ตลาดสายลมจอยถือเป็นพื้นที่หลักอาจต้องแก้ไขปัจจุบันมีผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินและผู้เช่าพื้นที่จากกรมธนารักษ์จริงๆประมาณ 10 กว่ารายแต่เปิดกิจการห้างร้านและเปิดให้เช่าทำธุรกิจกว่า 120 รายส่วนนี้ต้องคุยกันอาจแยกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่ต้องเวนคืนสำหรับผู้มีเอกสารสิทธิหรือโฉนดอีกส่วนไม่มีเอกสารสิทธิใดๆก็คงต้องเป็นเรื่องของค่ารื้อถอนต้องคุยกันระหว่างกรมโยธาธิการและผังเมืองกับประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่นเองไม่สามารถพูดคุยเองได้หากชาวบ้านหรือพ่อค้าแม่ค้าต้องเสียสิทธิในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างไม่ได้รับค่าอะไรเลยหรือได้รับไม่เพียงพอจะสามารถไปตั้งต้นหรือทำธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใหม่ได้ คิดว่าชาวบ้านก็คงไม่ยอม” นายชัยยนต์ ศรีสมุทร กล่าว

ต่อมาเดือนธันวาคม 2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำเสนอแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มและแนวทางการขุดลอกแม่น้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ต่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างการลงพื้นที่ที่ตลาดสายลอมจอย อำเภอแม่สาย โดยเสนอมาตรการป้องกันเหตุการณ์อุทกภัยเชิงโครงสร้าง  ในอำเภอแม่สาย เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 

การแก้ไขระยะเร่งด่วน (ภายใน 1 ปี) ดำเนินการสร้างผนังป้องกันกึ่งถาวร โดยเริ่มจากการขุดลอกคูคลองและลำน้ำที่มีตะกอนทับถม พร้อมกับขยายหน้าตัดของลำน้ำให้สามารถระบายน้ำได้สะดวกมากขึ้น และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดขวางที่กีดขวางการไหลของน้ำ เช่น ฝายทดน้ำ  งานขุดลอกและการสร้างผนังกันน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวรในระยะทาง 14.5 กิโลเมตรนี้ จะดำเนินการโดยกองทัพบก โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางเดือนธันวาคม 2567 ทั้งนี้ แผนการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อนจะถูกเสนอในที่ประชุม JCR ครั้งที่ 4/2567 ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2567 โดย Sub JCR และกองทัพบก

สำหรับงบประมาณในการดำเนินงาน จะมีการจัดสรรผ่านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกองทัพบก โดยแผนดำเนินการจะเริ่มในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2567 ถึงกลางเดือนมกราคม 2568 เพื่อดำเนินการขุดลอก รื้อถอนสิ่งกีดขวางลำน้ำ และสร้างผนังกั้นน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวร ทั้งหมดนี้จะแล้วเสร็จภายใน พฤษภาคม 2568

 แผนการจัดทำการสร้างผนังป้องกันกึ่งถาวร จาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
แผนที่โครงการขุดลอกลำน้ำแม่สายและแม่น้ำรวก จาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

การแก้ไขระยะกลาง (ภายใน 1-3 ปี) ดำเนินการสร้างผนังป้องกันถาวร แบ่งออกเป็นสองวิธี ได้แก่ (1) การขุดคลองผันน้ำเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการระบายน้ำช่วงน้ำหลาก การวิเคราะห์ตำแหน่งและศึกษาผลกระทบ ดำเนินการโดยกรมชลประทาน (ชป.) แผนดำเนินการ มกราคม – มิถุนายน 2568  และสำรวจ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบ ดำเนินการโดย ชป. แผนดำเนินการ กรกฎาคม 2568 – มิถุนายน 2569  และให้เร่งดำเนินการก่อสร้าง โดย ชป.ตามแผนดำเนินการ ปี 2570 – 2572 

(2) การสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำ โดยมีแผนก่อสร้างถนนปิดล้อมพื้นที่ขนาด 10.7 ตารางกิโลเมตร สร้างถนน 3 เส้น ได้แก่ ถนนเทศบาล 21 ยาว 3,960 เมตร ถนนเกาะทราย ยาว 715 เมตร และ ถนนกรมชลประทาน ยาว 2,030 เมตรถนนทุกเส้นจะมีความกว้าง 10 เมตร และยกสูง 3 เมตรเพื่อป้องกันน้ำท่วม 

แผนดังกล่าวยังรวมถึงการสร้างคันป้องกันน้ำหลากและปรับปรุงสะพานในพื้นที่ โดยโครงการนี้ ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท และคาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2572  และต้องรื้อถอนอาคารบ้านเรือน 843 หลัง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ อาคารในที่ดินมีกรรมสิทธิ์ 178 หลัง อาคารในที่ดินราชพัสดุ 162 หลัง และอาคารที่รุกล้ำที่สาธารณะ 53 หลัง โดยให้วิเคราะห์จุดเสี่ยงการกัดเซาะตลิ่งหลังจากการขุดลอกในระยะเร่งด่วน ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การแก้ไขเชิงโครงสร้างระยะกลาง

การแก้ไขระยะยาว (ภายใน3-5 ปี) จัดสร้างพื้นที่รับน้ำชั่วคราวหรือ “แก้มลิง” โดยพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับรองรับน้ำช่วงน้ำหลาก เพื่อลดปริมาณน้ำที่ต้องระบายออกจากพื้นที่เมืองริมน้ำ  ดำเนินการโดย กรมชลประทาน มีแผนดำเนินการ ในปี 2569 

แก้ปัญหาต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่

หลังจากมีการเสนอมาตราการป้องกันเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  เกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินในพื้นที่แม่สาย ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงอยู่กับความกังวลและความหวาดระแวง ทั้งในเรื่องความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเวนคืนพื้นที่สำคัญ เช่น ตลาดสายลมจอย

ตลาดสายลมจอย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าใกล้แม่น้ำแม่สายและพื้นที่หน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดและอยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนที่ดิน ชาวบ้านที่ค้าขายในตลาดแห่งนี้ส่วนใหญ่มีที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง น้ำท่วมในปี 2567 สร้างความเสียหายรุนแรงทั้งต่อบ้านเรือนและร้านค้า จนถึงตอนนี้พวกเขายังต้องต่อสู้กับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ภายหลังที่รัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผู้เขียนได้พูดคุยกับชาวบ้านในอำเภอแม่สาย บริเวณชุมชนเกาะทราย หนึ่งในผู้ค้ารายหนึ่งเล่าว่าตนได้รับทราบเรื่องการเวนคืนที่ดินมาก่อนเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ แต่ข้อมูลที่ได้รับเป็นเพียงการบอกเล่าปากต่อปากเกี่ยวกับการพูดคุยเบื้องต้นของหน่วยงานรัฐ ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานหรือมาตรการเยียวยา  

หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ รัฐบาลได้ตัดสินใจเดินหน้ากระบวนการเวนคืนที่ดินทันที อย่างไรก็ตาม จดหมายแจ้งเตือนที่ตนได้รับเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กลับขาดรายละเอียดสำคัญ เช่น ขอบเขตของการเวนคืนและแผนการเยียวยาที่ชัดเจน ส่งผลให้ชาวบ้านรู้สึกไม่มั่นใจต่ออนาคตของตนเอง รวมถึงการฟื้นฟูร้านค้าและการดำเนินชีวิตในพื้นที่

ผู้ค้ารายนี้ซึ่งเปิดร้านในตลาดสายลมจอยมานานกว่า 20 ปี เผยว่าร้านค้าและสินค้าของเขาได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำท่วม แม้จะพยายามฟื้นฟูร้านค้าเบื้องต้น แต่ความกังวลเรื่องการเวนคืนทำให้เขาลังเลที่จะลงทุนปรับปรุงเพิ่มเติม เพราะเกรงว่าเงินที่ใช้ไปจะสูญเปล่า นอกจากนี้ อายุที่มากขึ้นและข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์ทำให้อนาคตหลังการเวนคืนดูเป็นไปในทิศทางที่ไม่ดี

ชุนชมเกาะทราย 24 พฤศจิกายน 2567

หลังจากมีการประกาศแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม รวมถึงการเวนคืนที่ดินในอำเภอแม่สายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2568 ผู้เขียนได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ค้าขายในตลาดสายลมจอยอีกครั้งเพื่อสอบถามความคิดเห็นและข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าว  

หนึ่งในผู้ค้าขายเล่าว่าตนติดตามข่าวเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินมาตลอด แต่ข้อมูลที่ได้รับก่อนหน้านี้มาจากการบอกเล่าปากต่อปาก ซึ่งหลายครั้งที่ข้อมูลไม่ตรงกัน หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มดีขึ้น หน่วยงานรัฐได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร้านค้าและพื้นที่โดยรอบเพื่อประเมินผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม ทั้งในส่วนโครงสร้างพื้นฐานและความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้คน แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการเวนคืนที่ดิน จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ตลาดสายลมจอย พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เปิดเผยแผนการเวนคืนที่ดินผ่านสื่อสาธารณะ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้คนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เหตุการณ์นี้สร้างความกังวลให้กับตนและคนในพื้นที่ ทำให้หลายคนรู้สึกว่าขาดการมีส่วนร่วมและข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการเวนคืนที่ดิน

ในส่วนของความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการการเวนคืนที่ดินตลาดสายลมจอยและพื้นที่ใกล้เคียง ผู้ค้ารายนี้มีมุมมองที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อโครงการ โดยยอมรับว่าการเวนคืนที่ดินมีความจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบในอนาคต แต่เห็นว่าการเวนคืนควรพิจารณาให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การเวนคืนมากในบริเวณที่ลำน้ำแคบหรือเสี่ยงน้ำท่วมสูง ขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับพื้นที่ค้าขายใหม่ที่รัฐอาจจัดสรรให้ เนื่องจากตลาดสายลมจอยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ มีชื่อเสียงในฐานะตลาดชายแดนที่มีการค้าขายคึกคักและเป็นแหล่งรวมชุมชนที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น หากต้องย้ายไปเริ่มต้นในพื้นที่ใหม่ ผู้ค้าหลายรายอาจประสบปัญหาเรื่องเงินทุนและลูกค้า  

เมื่อถามถึงมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ที่ต้องคืนที่ดิน ผู้ค้ารายนี้ระบุว่าตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐมาชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการเยียวยา แม้จะเชื่อว่าตนจะได้รับการชดเชย แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมากน้อยเพียงใด เนื่องจากตนเป็นเพียงผู้เช่าในตลาดสายลมจอย ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนซ่อมแซมร้านค้าที่เสียหายจากน้ำท่วมครั้งก่อน ซึ่งอาจสูญเปล่าหากต้องย้ายออก  

ปัจจุบัน ผู้ค้ารายนี้และคนในชุมชนทำได้เพียงรอประกาศเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล พร้อมหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะชัดเจนและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพวกเขาในอนาคต

แม่น้ำสายบริเวณตลาดสายลมจอย 11 มกราคม 2568

แม้สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย ชาวบ้านกลับมาอยู่อาศัยและค้าขายได้อีกครั้ง แต่ความเสียหายทั้งในเชิงทรัพย์สินและจิตใจยังคงเป็นบาดแผลลึกในชุมชน ภาระในการซ่อมแซมบ้านเรือนและร้านค้าด้วยทุนของตัวเอง ส่งผลให้เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตในหลายครอบครัว ชาวแม่สายต้องการความชัดเจนและมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุมจากหน่วยงานรัฐ ไม่เพียงแค่ในเชิงเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงการฟื้นฟูจิตใจ เพื่อสร้างความมั่นคงและความหวังให้กับชีวิตของพวกเขาอีกครั้ง การแก้ปัญหาในครั้งนี้จึงควรเป็นไปอย่างยั่งยืน เพื่อให้แม่สายสามารถฟื้นตัวและพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

การเวนคืนที่ดิน

ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือ (JCR) ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาถูกจัดขึ้นในวันที่ 16–17 มกราคม 2568 ณ จังหวัดเชียงราย ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแผนงานการจัดการลำน้ำชายแดน ได้แก่ แม่น้ำสายและแม่น้ำรวก ในที่ประชุมมีการกำหนดแนวทางดำเนินการร่วมกัน โดยฝ่ายเมียนมาจะรับผิดชอบการขุดลอกแม่น้ำสายในระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร ตั้งแต่ชุมชนบ้านถ้ำผาจม หมู่ 1 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปจนถึงเขตติดต่อกับตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย ส่วนฝ่ายไทยได้มอบหมายให้กองทหารช่างเป็นผู้ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำรวก ตั้งแต่บริเวณตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จนถึงบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง รวมระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร ในการสำรวจพื้นที่รุกล้ำ พบว่า ฝ่ายเมียนมามีการรุกล้ำเข้ามาในฝั่งไทยจำนวน 33 จุด ขณะที่ฝ่ายไทยมีการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เมียนมาจำนวน 45 จุด 

ในเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้แจ้งว่าได้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำแล้วจำนวน 20 จุด และจะเร่งรื้อถอนจุดที่เหลือโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยแม้จะประสบข้อจำกัดบางประการ แต่ได้เริ่มดำเนินการรื้อถอนแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และสามารถรื้อถอนไปแล้ว 7 จุด โดยตั้งเป้าจะเร่งรื้อถอนให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ ทั้งนี้ ทางการเมียนมาได้เริ่มปฏิบัติการขุดลอกแม่น้ำสายและรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำแล้วในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามสะพานมิตรภาพไทย–เมียนมา แห่งที่ 1 อำเภอแม่สาย โดยจะดำเนินการตั้งแต่ต้นแม่น้ำสาย ไปจนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำรวก บริเวณบ้านป่าแดง ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

การเยียวยาน้ำท่วม

ผ่านมาแล้วเกือบแปดเดือนหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในเชียงรายเมื่อเดือนกันยายน 2567 แต่การให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยยังคงดำเนินการต่อ  โดยเฉพาะในส่วนของเงินช่วยเหลือค่าล้างโคลน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของภาครัฐในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 เชียงรายได้ดำเนินการแจกจ่ายเงินช่วยเหลือค่าล้างโคลนให้กับผู้ประสบภัยในเขตเทศบาลนครเชียงรายเป็นพื้นที่แรก โดยจ่ายในอัตราครัวเรือนละ 10,000 บาท ซึ่งมีจำนวนครัวเรือนที่ได้รับความช่วยเหลือในรอบแรกทั้งสิ้น 7,483 ครัวเรือน

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการช่วยเหลือครั้งนี้ จังหวัดเชียงรายได้เสนอขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาล โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเยียวยาเบื้องต้น โดยการจัดสรรงบประมาณแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ อำเภอแม่สาย ได้รับงบประมาณ 134,776,273 บาท และอำเภอเมืองเชียงราย ได้รับงบประมาณ 157,370,976 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 292,143,249 บาท

ความท้าทายจัดการภัยพิบัติของรัฐไทย

เหตุการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2567 ไม่ใช่ครั้งแรกที่พื้นที่แห่งนี้ต้องเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรง ทั้งอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี หรือแม้กระทั้งไฟป่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ไปจนถึงแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานที่ผ่านมา เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบการจัดการภัยพิบัติในประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ของความล่าช้าในการรับมือจากภาครัฐ ซึ่งมักส่งผลให้ความเสียหายทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการรับมือภัยพิบัติของรัฐบาลไทยว่า ยังคงมีความล่าช้าทั้งในช่วงก่อนเกิดภัย ระหว่างภัย และหลังภัยพิบัติ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการรวมศูนย์อำนาจของภาครัฐส่วนกลาง แม้จะมีการกระจายอำนาจในระดับภูมิภาคอยู่บ้าง แต่อำนาจตัดสินใจและการจัดสรรทรัพยากรสำคัญยังคงกระจุกตัวอยู่ที่หน่วยงานส่วนกลาง

แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะกระตือรือร้นในการรับมือกับภัยพิบัติอย่างเต็มที่ แต่กลับประสบปัญหาด้านขอบเขตอำนาจและข้อจำกัดในการปฏิบัติ หลายครั้งต้องรอการอนุมัติจากส่วนกลางก่อนจะสามารถดำเนินการใด ๆ ได้ ขณะเดียวกัน ระบบราชการก็มีขั้นตอนซับซ้อน ส่งผลให้ความช่วยเหลือประชาชนล่าช้า ประชาชนจึงต้องพึ่งพาตนเองไปก่อนจนกว่าหน่วยงานรัฐจะสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้จริง

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่อาจารย์สืบสกุลชี้ให้เห็นคือ การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการวางแผนรับมือภัยพิบัติ ทั้งที่ชุมชนในพื้นที่เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ตรงกับภัยพิบัติในบริบทเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น แต่กลับไม่มีโอกาสได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดแนวทางหรือแผนรับมืออย่างจริงจัง หลายครั้งที่ประชาชนต้องจัดการกันเอง ทั้งการตั้งจุดอพยพ หรือสร้างระบบแจ้งเตือนภายในชุมชน เพราะภาครัฐยังยึดกับโครงสร้างที่ประชาชนเป็นเพียง “ผู้รับ” แทนที่จะเป็น “ผู้มีส่วนร่วม”

นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างการรวมศูนย์อำนาจและการขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนแล้ว อาจารย์สืบสกุลยังกล่าวถึงปัญหาของแผนการจัดการภัยพิบัติของภาครัฐ ตั้งแต่แผนป้องกัน การซักซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติ  ไปจนถึงการเยียวยาหลังภัยพิบัติ ตัวอย่างเช่น การไม่มีการซ้อมแผนอพยพอย่างจริงจัง ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ประชาชนไม่รู้ว่าควรจะไปที่ใด หรือจะต้องทำอะไรต่อไป อีกทั้งระบบแจ้งเตือนภัยยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางพื้นที่ไม่มีการแจ้งเตือน หรือหากมีก็เป็นข้อความที่เข้าใจยากและไม่ครอบคลุมความจำเป็นในการตัดสินใจของประชาชน นอกจากนี้ยังพบว่าหน่วยงานรัฐแต่ละหน่วยให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและไม่สามารถวางแผนรับมือได้อย่างเหมาะสม

“ประชาชนต้องพึ่งตัวเองเพราะรัฐไม่เปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นปัญหาใหญ่ ประชาชนต้องลุกขึ้นมาทำแผนรับมือของตัวเองและพึ่งพาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน ส่วนด้านการสนับสนุน เช่น ในกรณีของโซเชียลมีเดียหรือเหล่า Influencer แทนที่ภาครัฐจะมองว่าเป็นแหล่งแพร่ข่าวลือ รัฐควรเชิญพวกเขามาร่วมพูดคุย วางแนวทางการสื่อสารในยามเกิดภัยพิบัติร่วมกัน เพื่อให้ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปถูกต้อง ชัดเจน และลดความสับสนในสังคม เพราะเมื่อรัฐเป็นผู้ถืออำนาจในการควบคุมข้อมูลและเป็นผู้ส่งสารหลักเพียงฝ่ายเดียว ก็ไม่สามารถทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพได้ทั้งหมด” อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร กล่าว

ผู้เขียนยังมีโอกาสได้พูดคุยกับทีมวิจัย Disaster Resilience and Environmental Sustainability (DRES) จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เกี่ยวกับแนวทางการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย โดยทีม DRES ได้ให้มุมมองที่สอดคล้องกับความคิดเห็นของอาจารย์สืบสกุล ในประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจของรัฐ ที่แม้จะมีความพยายามในการกระจายอำนาจสู่ระดับท้องถิ่น แต่ในทางปฏิบัติกลับยังคงมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในการรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่ยังต้องพึ่งพาการสั่งการจากส่วนกลาง ซึ่งมักส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการของหน่วยงานท้องถิ่น

DRES ยังให้ความเห็นว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีโครงสร้างองค์กรและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอทั้งในด้านวิชาการ เครือข่าย และประสบการณ์ในการรับมือกับภัยพิบัติ หากสามารถบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านี้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถยกระดับการจัดการภัยพิบัติของประเทศได้เป็นอย่างดี รวมถึงภาคประชาสังคมได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานร่วมกับภาครัฐมากขึ้น ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี เนื่องจากการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วนจะช่วยให้การดำเนินงานมีความครอบคลุม รวดเร็ว และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แนวทางการจัดการภัยพิบัติของรัฐบาลไทยยังคงมีข้อจำกัดสำคัญ โดยเฉพาะในด้านการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การจัดการภัยพิบัติสามารถตอบโจทย์พื้นที่และบริบทเฉพาะได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าภัยพิบัติจะยังคงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเผชิญในทุกปี และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงนโยบายและแนวทางการรับมืออย่างจริงจัง ก่อนที่ความเสียหายจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น 

ในประเด็นนี้อาจารย์สืบสกุลได้เสนอแนวทางสำคัญสำหรับการจัดการภัยพิบัติในอนาคต โดยเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การกระจายอำนาจให้แก่หน่วยงานท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อให้สามารถตัดสินใจและปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว ลดการพึ่งพาการอนุมัติจากส่วนกลางซึ่งมักเป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังควรมีการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า การสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจน การจัดทำแผนบูรณาการร่วมกับประชาชนในพื้นที่ และการสร้างกลไกความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการป้องกัน บรรเทา และเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติ

ทางทีม DRES ยังได้เสริมประเด็นสำคัญอีกประการ คือ การสร้างความตระหนักรู้ด้านภัยพิบัติให้แก่ประชาชนทั่วไป แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดยมีนโยบายรองรับภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ยังขาดคือการเสริมสร้างการตระหนักรู้หรือภูมิคุ้มกันด้านความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการจัดการภัยพิบัติระดับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การเตรียมตัวรับมือ หรือการตอบสนองในยามเกิดเหตุ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในเบื้องต้น และทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

“ในอนาคตภัยพิบัติมีแนวโน้มที่จะเพิ่มและมีความรุนแรงขึ้น ในปัจจุบันประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของ climate change มากขึ้นอันจะเห็นจากการมีนโยบายต่างๆในการตั้งรับกับภัยพิบัติที่เกิดจาก climate change สิ่งสำคัญก็คือเราจำเป็นต้องสร้าง awareness และภูมิคุ้มกันทั้งในด้านความรู้ ความเข้าใจ และระบบการบริหารจัดการด้านภัยพิบัติต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเตือนภัยล่วงหน้าการป้องกันหรือการตั้งรับในอนาคต ให้กับคนไทย” Disaster Resilience and Environmental Sustainability (DRES)  กล่าว


ข้อมูลอ้างอิง 


Reporting for this story was supported by Internews’ Earth Journalism Network.

นิภาพิณ วิริยะอัครเดชา

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง