เรื่องและภาพ: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย และณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ /Activist Journalist
“ปกติกลับบ้านทุกอาทิตย์นะถ้าเลือกได้ ไม่รู้จะอยู่ทำไม วัน ๆ ก็อยู่แต่หอ จะไปเที่ยวไหนก็ยากอีก แบบนี้ก็กลับบ้านดีกว่า” (สัมภาษณ์อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566)
มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือ มน. เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก หนึ่งในจังหวัดขนาดที่มีขนาดใหญ่ในภาคเหนือตอนล่าง ทั้งด้านประชากรและด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากจังหวัดพิษณุโลกมีพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย นอกจากนั้นจังหวัดพิษณุโลกยังมีสถานที่สำคัญอย่างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นจังหวัดที่ถูกกล่าวขวัญว่าเป็นเมืองข้าราชการ พร้อมกับมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่างเซ็นทรัล พิษณุโลก
อย่างไรก็ตาม สถานที่สำคัญส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลนครพิษณุโลก แต่มหาวิทยาลัยนเรศวรตั้งอยู่ห่างออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว มหาวิทยาลัยนเรศวรตั้งอยู่ในตำบลท่าโพธิ์ ซึ่งห่างจากพื้นที่เทศบาลนครพิษณุโลกประมาณ 15 กิโลเมตร อันเป็นผลสืบเนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 – พ.ศ. 2524) ได้กำหนดให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นเมืองศูนย์กลางและเมืองหลักของภาคเหนือตอนล่าง[1] เป็นผลให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก (ชื่อเดิมของมหาวิทยาลัยนเรศวร) ที่แต่เดิมตั้งอยู่ในพื้นที่เทศเมืองพิษณุโลก (เทศบาลนครพิษณุโลกปัจจุบัน) ต้องย้ายออกมาตั้งอยู่บนพื้นที่ทุ่งหนองอ้อ – ปากคลองจิกในตำบลท่าโพธิ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้คนใช้พื้นทำการเกษตร[2] จนถึงปัจจุบันพื้นที่รอบนอกมหาวิทยาลัยนเรศวรก็ยังเป็นพื้นที่การเกษตรอยู่
จากลักษณะของพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์ทั้งทางกายภาพ รูปแบบการดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจ ที่แต่เดิมเป็นพื้นที่เกษตรขนาดเล็ก[3] และผู้คนรวมตัวกันอยู่ในรูปแบบหมู่บ้าน[4] (village) การตั้งมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่เชิงกายภาพให้กลายเป็นพื้นที่แบบเมือง (town) และเรียกร้องชีวิตในรูปแบบชีวิตแบบเมือง (urbanism)[5] การตั้งมหาวิทยาลัยนเรศวรบนพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่โดยรอบให้กลายเป็นเมือง แต่จากการรายงานการวางแผนและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวกลับเน้นการพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว ไม่มีการวางแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด
เมืองมหาวิทยาลัย (college town) คือรูปแบบของเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เมืองมหาวิทยาลัยยังเป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาเมือง เนื่องจากการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัย มาพร้อมกับจำนวนนักศึกษาและบุคลากรจำนวนมาก มีงบประมาณสม่ำเสมอ มหาวิทยาลัยจึงมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น มหาวิทยาลัยยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองโดยรวม ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยและพื้นที่เมืองอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน[6] การดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยในพื้นที่จึงเป็นฐานของการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาเศรษฐกิจ
แต่จากงานวิจัยของ วิติยา ปิดตังนาโพธิ์ ที่ศึกษาผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองมหาวิทยาลัยในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่าการขยายตัวของเมืองมหาวิทยาลัยในพื้นที่ศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง และยังนําไปสู่ความขัดแย้งกับชุมชนโดยรอบ อันเป็นผลจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1) การขาดการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทของพื้นที่เดิม 2) ข้อจำกัดในการบังคับใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากความล่าช้าของการจัดทำผังเมืองรวมที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่และบุคลากรของหน่วยงานท้องถิ่น และการขาดการบูรณาการในการทำงาน และ 3) การขับเคลื่อนและดำเนินงานตามแผนแม่บทภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมืองและการจัดการสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยนเรศวรไม่สัมฤทธิ์ผลและไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ[7]
เมื่อสำรวจการพัฒนาโดยรอบมหาวิทยาลัย จะพบว่าการพัฒนาเป็นไปแบบ “แยกส่วน” การพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยและพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยดำเนินไปอย่างเป็นคู่ขนาน กล่าวคือมหาวิทยาลัยดูแลการพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย และ อบต. ท่าโพธิ์ดูแลการพัฒนาพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย สังเกตเห็นได้จากโครงการพัฒนาพื้นที่รอบมหาวิทยานเรศวรไม่มีโครงการพัฒนาพื้นที่โครงการใดเลย ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และ อบต. ท่าโพธิ์ เมื่อเป็นเช่นนี้การพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่เมืองมหาวิทยาลัยจึงเป็นไปอย่างไร้ทิศทางตามข้อค้นพบของวิติยา
ข้อมูลของ อบต.ท่าโพธิ์ จำนวนประชากรของตำบลท่าโพธิ์มีอยู่ทั้งสิ้น 25,223 คน ในส่วนจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรมีสูงถึง 27,399 คน และบุคลากรของมหาวิทยาลัยจำนวน 5,032 คน รวมกันแล้วมีผู้อยู่อาศัยอยู่ในตำบลท่าโพธิ์ราว 50,000 คน แต่เมื่อสำรวจความหนาแน่ของประชากรและสิ่งปลูกสร้างกระจุกตัวอยู่รอบมหาวิทยาลัยนเรศวรเท่านั้น ไม่มีการขยายตัวออกไปรอบนอกมากนัก อันเนื่องจากแนวทางในแผนพัฒนาที่ไม่ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน การใช้ประโยชน์จากที่ดินจึงเป็นไปในรูปการเกาะเป็นกลุ่มเป็นก้อน (clustering) การใช้ประโยชน์ที่ดินเฉาพะส่วนเพื่อสร้างหอพักและอาคารพาณิชย์ เพื่อตอบสนองกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น[8] อย่างไรก็ตามความล่าช้าการจัดทำผังเมือง ความไม่พร้อมของบุคลากรด้านผังเมืองของหน่วยงานท้องถิ่น การขาดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และการไม่มีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งงมหาวิทยาลัย ทำให้การพัฒนาพื้นที่เป็นไปอย่างไร้ทิศทางแล้ว นอกจากนั้น ยังเป็นผลให้การพัฒนาพื้นที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนเป็นหลัก แต่ภาคเอกชนที่เข้ามาดำเนินการพัฒนาพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย เป็นภาคเอกชนขนาดเล็กและมีทุนจำกัด เมื่อประกอบกับความล่าช้าในการตัดการผังเมืองและ นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ยิ่งไร้ทิศทางมากขึ้น
ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ผลจากการพัฒนาพื้นที่ไร้ทิศทางและพัฒนาพื้นที่โดยภาคเอกชนที่มีทุนจำกัดเป็นหลัก นำมาสู่การเกิดระบบเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ (informal sector) และการเกิดพื้นที่เศรษฐกิจแบบย่านชั่วคราว (temporary district)[9] รูปแบบของระบบเศรษฐกิจและพื้นที่เศรษฐกิจดังกล่าวเป็นดั่งสนามช่วงชิงโอกาส ว่าใครจะได้เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากสนามนี้
จากการสอบถามภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจรอบมหาวิทยาลัยนเรศวร (จำนวนหนึ่ง) พบว่า ส่วนใหญ่มิใช่ผู้คนที่อาศัยอยูในตำบลท่าโพธิ์เดิม หากแต่เป็นบุคคลจากพื้นที่อื่นที่เข้ามาประกอบธุรกิจในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยนเรศวร เนื่องจากมองเห็นโอกาสจากการขยายตัวของเมืองบริเวณรอบมหาวิทยาลัยนเรศวร
“ป้ามาจากลำปาง พี่สาวเขามาเช่าตึกขายข้าวอยู่แล้ว เขาเลยชวนมาขายด้วยกัน มาทำได้สักพักเขาก็เซ้งร้านต่อให้ เลยได้ขายต่อจากพี่สาวเขา เห็นว่ายังไงก็ขายได้ นักศึกษาเยอะขนาดนี้” (สัมภาษณ์แม่ค้าร้านข้าวแกงร้านหนึ่งในพื้นรอบมหาวิทยาลัยนเรศวร, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566)
จากการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลเบื้องต้น ประกอบกับงานวิจัยของวิติยา ปิดตังนาโพธิ์ จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเมือง คือผู้คนจากพื้นที่อื่นมิใช่ผู้คนตำบลท่าโพธิ์ ทำให้ผู้คนในตำบลท่าโพธิ์มิได้รับประโยชน์จากโอกาสการขยายตัวของเมืองมากเท่าที่ควร ซ้ำการขยายตัวของเมืองยังส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของพวกเขาอีกด้วย เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการระบุผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ที่ชัดเจน ในการวางแผนการพัฒนาพื้นที่ (ที่ก็ไร้ทิศทางเช่นเดียวกัน)
เมื่อโอกาสในสนามของการพัฒนาพื้นที่ตกไปอยู่กับภาคเอกชนนอกพื้นที่ ผู้คนส่วนใหญ่ในตำบลท่าโพธิ์จึงยังคงประกอบอาชีพเกษตร พื้นที่ของพวกเขาจึงใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงมีความย้อนแย้งในตัวพื้นที่เอง กล่าวคือพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่ส่วนใหญ่ที่ดินยังถูกใช้ประโยชน์ที่ดินในเชิงเกษตร มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงเหมือนเมืองขนาดเล็กที่ผุดขึ้นกลางทุ่งสีเขียว
“มันไม่มีทางเลือกอ่ะ อยู่มอก็ไปแต่ร้านเดิม ๆ จะไปในเมืองก็ขี้เกียจไป กลับบ้านก็ใช่ว่าจะดีนะ ก็คล้าย ๆ กัน แต่ยังไงมันก็บ้านอ่ะ ว่างนาน ๆ ก็กลับบ้าน ไม่รู้จะอยู่ทำไม” (สัมภาษณ์อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566)
ระยะทางเองก็มีส่วนสำคัญ ระยะทางระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรกับตัวเมืองเทศบาลนครพิษณุโลกห่างกันมากกว่า 15 กิโลเมตร การเดินทางต้องเดินทางบนทางหลวงที่ออกแบบมาเพื่อสัญจรโดยรถยนต์ นักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่ใช้มอเตอร์ไซค์ในการเดินทางเป็นหลัก จึงยากที่จะเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง
การใช้ชีวิตของนักศึกษาปฏิเสธความเป็นเมืองไม่ได้ การตัดสินใจเลือกสถานที่เรียนของนักศึกษาและการตัดสินใจเลือกที่ทำงานของอาจารย์หรือนักวิจัยมิได้ตัดสินใจจากเพียงสาเหตุด้านคุณภาพและชื่อเสียงทางวิชาการเท่านั้น แต่รวมไปถึงภาพลักษณ์ สภาพจริง และความน่าอยู่ของเมืองนั้นอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้มหาวิทยาลัยนเรศวรที่มีลักษณะเหมือนเมืองที่ผุดขึ้นมากลางทุ่ง และการเดินทางเข้าตัวเมืองก็เดินทางได้ลำบาก จึงเป็นเรื่องที่ยากที่มหาวิทยาลัยจะเป็นหมุดยึดที่จะตรึงนักศึกษาให้อยู่รอบมหาวิทยาลัยได้
นอกจากนั้นจังหวัดและเมืองที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ส่วนใหญ่ไม่มีฐานเศรษฐกิจและการจ้างงานรองรับบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยในเมืองนั้น ๆ ข้อจำกัดของเมืองในการเป็นฐานเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยเองที่จะพัฒนาระบบนิเวศของการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมซึ่งต่อยอดจากกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย รวมถึงการพัฒนาเมืองในด้านอื่น ๆ ตามมา[1] จังหวัดพิษณุโลกและตำบลท่าโพธิ์เองก็เช่นเดียวกัน โอกาสและตำแหน่งงานในพื้นที่ดังกล่าวยังมีน้อยจนไม่อาจรองรับปริมาณนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยที่ต้องในจังหวัดตนเอง อนาคตของบัณฑิตจบใหม่จึงไม่ได้อยู่ในพื้นที่นี้ ความผูกพันและพันธะของนักศึกษาก็ยิ่งตกต่ำลงไปอีก
หรือด้วยเหตุเหล่านี้ เด็ก มน. ถึงกลับบ้าน?
[1] อภิวัฒน์ รัตนวราหะ, (2563), เมืองมหาวิทยาลัย, สืบค้นจาก https://www.the101.world/university-city/
[1] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, (2520), แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สี่ (2520 – 2524), หน้า 249
[2] มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก งานวางแผนและพัฒนา, (2529), ข้อมูลพื้นฐาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก ด้านการพัฒนาที่ดินแห่งใหม่ ทุ่งหนองอ้อ-ปากคลองจิก พ.ศ.2529
[3] อ้างแล้ว
[4] อบต.ท่าโพธิ์, ม.ป.ป., ประวัติตำบล
[5] โปรดดูประเด็นการกลายเป็นเมืองและรูปแบบชีวิตแบบเมืองในพื้นทีที่ตั้งมหาวิทยาลัยใน Kemp, Roger L., (2013), Town & Gown Relations: A Handbook of Best Practices, McFarland, North Carolina
[6] อภิวัฒน์ รัตนวราหะ, (2563), เมืองมหาวิทยาลัย
[7] วิติยา ปิดตังนาโพธิ์. (2555) โครงการผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองมหาวิทยาลัย ต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก. มหาวิทยาลัยนเรศวร:พิษณุโลก.
[8] อ้างแล้ว, หน้า 24-43
[9] อ้างแล้ว, หน้า 38-43
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)
ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
นักเรียนสังคมศาสตร์ ผู้สนใจที่จะอ่านสังคม
ณัฏฐวรธน์ คล้ายสมมุติ
นักศึกษาประวัติศาสตร์
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ