เรื่อง: ผุสดี หวันหวัง /Activist Journalist
กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่มีการแต่งกายด้วยชุดมลายูเพื่อแสดงอัตลักษณ์มลายู ซึ่งในสายตาคนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นอนุรักษ์นิยม หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ผู้เขียนอยากชวนมารับฟังความคิดเห็นของคนมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ เพื่อเข้าใจ และทลายชุดความคิดเก่าที่อาจเป็นข้อคลาดเคลื่อนนำไปสู่ความเข้าใจผิดจากความจริง จึงเป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่ต้องอธิบายเท่าความรู้ ความสามารถที่มีอันนำไปสู่แนวคิดเชิงสังคม แน่นอนเรื่องราวที่ผู้เขียนได้จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่อาจสรุปได้ว่ามีแนวทางการปฏิบัติอย่างไรหรือมีแนวทางไหนดีที่สุด โดยปราศจากความสำคัญหรือแก่นเรื่องที่สามารถตกตะกอนทางความคิดให้ผู้อ่านได้ปรับเปลี่ยนมุมมองหรือสวมบทบาทเข้าถึงความรู้สึกของตัวละครผ่านบทสัมภาษณ์
คำว่า มลายู (Melayu) มีความหมายที่ซับซ้อนและปรับเปลี่ยนไปตามการตีความทำความเข้าใจ ตลอดจนช่วงเวลา บริบทที่แวดล้อมในแต่ละช่วงสมัย ทั้งนี้ คาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคโบราณนั้นได้รับอิทธิพลศาสนาจากอินเดียและศาสนสนาพุทธและศาสนาฮินดู ดังปรากฏในหลักฐานต่างๆ หลายแหล่งอาทิ ชวา หุบเขาบูจังในมาเลเซีย ลังกาสุกะในจังหวัดยะลา เป็นต้น แต่ต่อมาได้รับเอาศาสนาอิสลามจากพ่อค้าอาหรับและเปอร์เซีย ดังที่ที่นักวิชาการด้านมลายูศึกษา รัตติยา สาและ อธิบายถึงราชสำนักปาตานีเริ่มเป็นศูนย์กลางทางศาสนาอิสลาม นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2034 ช่วงสมัยของกษัตริย์มลายูราชวงค์ศรีวังสา จนกระทั่งปาตานีเป็นที่รู้จักในนามราชอาณาจักรมลายู-อิสลามเข้ามาแทนที่ราชอาณาจักรฮินดู-พุทธและคาบสมุทรนี้มีชนส่วนใหญ่เป็น “ชนเชื้อสายมลายู” (Bangsa Melayu)
วิวัฒนาการชุดมลายู
วิวัฒนาการของชุดมลายูนั้น ชุดมลายู (Malay clothing) เป็นชุดพื้นเมืองที่พัฒนาและมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและประเพณีของชุมชนมลายูที่อาศัยในภูมิภาคต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากการอ้างอิง ในศตวรรษที่15 ชุดมลายูมีผ้าที่มีลักษณะตกแต่งลวดลายที่ริมขอบและมีการเพิ่มประดับเพื่อแสดงสถานะในสังคม ในศตวรรษที่19 ชุดมลายูอาจมีการตกแต่งเพิ่มเติม จนถึงปัจจุบันยังคงมีการออกแบบชุดมลายูที่หลากหลายสไตล์ตามท้องถิ่นและตามแนวแฟชั่นยุคสมัยใหม่ที่มีการผสมผสานสไตล์อื่น
ในอดีต ผู้ชายชาวมลายูมักนุ่งโสร่งไม่สวมเสื้อ หรือถ้าจะสวมใส่ก็เป็นเสื้อแขนสั้นหรือกางเกงขาสั้น ส่วนผู้หญิงนิยมนุ่งผ้ากระโจมอก บางคนอาจมีผ้าบางๆไว้คลุมไหล่ ต่อมาเมื่ออิสลามเข้ามามีอิทธิพล การแต่งกายจึงถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ดูสุภาพและปกปิดมากขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นใช้ในวังของสุลตานและชนชั้นสูง ก่อนมาเริ่มแพร่หลายในประชาชนทั่วไป บาจู กูหรง (Baju Kurung) ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่า การปกปิดมิดชิด
ลักษณะเด่นของชุดบาจู กูหรงทั้งผู้ชายหรือผู้หญิง มักจะตัดเย็บด้วยผ้าผืนเดียวกัน เพราะฉะนั้นทั้งสีสันและลวดลายบนผืนผ้า จึงเป็นแบบเดียวกันทั้งชุด แต่ชุดของผู้ชายกลับมีเครื่องแต่งกายมากกว่า รูปแบบเสื้อผู้ชายแขนยาว ทั้งแบบคอกลมและคอจีน มีกระดุมราว 1-5 เม็ด ผ่าจากคอเสื้อลงมาถึงกลางอก
ส่วนท่อนล่างจะเลือกใส่กางเกงหรือผ้าโสร่งก็ได้ หากใส่กางเกงต้องมีผ้าพันจากสะดือถึงเข่า ภาษามลายู เรียกว่า ซัมปิน (Sampin) ทำให้ชุดผู้ชายดูสุภาพเรียบร้อย ทั้งยังสามารถกันเปื้อนได้อีกด้วย ส่วนเหนือศีรษะผู้ชายจะสวมหมวกกำหยี่สีดำ ภาษามลายู เรียกว่า ซองก๊อก (Songkok) ทว่าจะให้แต่งกายเต็มยศบางคนก็จะสวมผ้าพันเป็นรูปมงกุฎสวมทับไปบนหมวกอีกชั้นหนึ่ง
การพับผ้าเป็นรูปมงกุฎมีรูปแบบต่างๆอาทิ เช่น รูปนกอินทรีปีกหัก รูปช้างรบ รูปสู้ลม ถือเป็นศิลปะ งานฝีมือที่ต้องใช้เวลาในการประดิษฐ์ประดอย จึงไม่เป็นที่นิยมมากนักในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตการสวมผ้าพับรูปมงกุฎนี้เป็นเครื่องบอกชนชั้นในสังคมของชาวมลายู ส่วนใหญ่เป็นเครื่องทรงขององค์สุลต่านและราชวงศ์ ส่วนสามัญชนจะสวมใส่ผ้าพันมงกุฎนี้ในวันสำคัญเช่นในวันแต่งงานหรือพิธีมงคล ฯลฯ
ชุดผู้หญิง มีเครื่องแต่งกายน้อยกว่าชุดผู้ชาย ทั้งเสื้อและกระโปรงตัดด้วยผ้าบางเบา เนื่องจากภูมิอากาศร้อนชื้น ผ้าเป็นลวดลายและสีเดียวกันทั้งชุด หรือสีสันที่เข้ากันดีระหว่างเสื้อกับผ้านุ่ง ส่วนใหญ่นิยมลวดลายดอกไม้ที่มีสีสันสดใส เสื้อผู้หญิงเป็นรูปแบบแขนยาว ชายเสื้อยาวลงมาถึงหัวเข่า บางคนนิยมตัดเย็บเสื้อเข้ารูป แต่บางคนก็ปล่อยให้หลวมๆ ไม่เน้นรูปร่าง ส่วนท่อนล่างเป็นกระโปรงยาวคลุมตาตุ่ม ไม่ได้ผ่าข้าง ผู้หญิงมลายูนิยมคลุมศีรษะด้วยผ้าบางเบามีสีสันลวดลายดูกลมกลืนหรือเป็นลายเดียวกับเสื้อและกระโปรง ผ้านี้บางทีก็นำมาคลุมไหล่เป็นเครื่องประดับได้ด้วย สตรีมุสลิมที่เคร่งครัดก็มักคลุมฮิญาบ หรือที่ชาวมลายูเรียกว่า ตุดง (Tudung) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก จนต่อมา การแต่งกายแบบนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชนชาวมลายูในแถบนี้จนถูกเรียก ชุดกูหรง นี้ว่า ชุดมลายู หรือ Pakaian Melayu.
สิ่งเหล่านี้เป็นการส่งผ่านประเพณี ชุดมลายูยังคงเป็นส่วนสำคัญของประเพณีและพิธีกรรมในชุมชนมลายู หากเราเคยเห็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ชุดมลายูมักจะถูกใส่ในงานพิธีกรรมทางศาสนาหรือมีการปรับปรุงตามท้องถิ่นและสถานการณ์ ดังนั้นการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของชุดมลายูเป็นตัวบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนมลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบัน ประชากรชาวมุสลิมในประเทศไทยประมาณ 4-5% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ โดยประเทศไทยมีประชากรทั้งหมดประมาณ 70-80 ล้านคน ดังนั้นประชากรมุสลิมในประเทศไทยจะอยู่ในช่วง 3-4 ล้านคน หรือ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ การระบุประชากรมุสลิมอาจมีความซับซ้อนในทางปฏิบัติ เนื่องจากประชากรประกอบด้วยกลุ่มย่อยและมีความหลากหลายในแง่ของศาสนา วัฒนธรรมของชุมชน หากสโคปมาที่ประชากรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จะพบว่า ประชากรในสามจังหวัดชายแดนใต้ (ประจำเดือนตุลาคม 2021) คือ ดังนี้จังหวัดปัตตานี: ประชากรประมาณ 939,755 คน จังหวัดยะลา: ประชากรประมาณ 572,956 คน จังหวัดนราธิวาส: ประชากรประมาณ 1,655,796 คน รวมประชากรในสามจังหวัดชายแดนใต้ทั้งหมดประมาณ 3,168,507 คน
โดยมีข้อมูลประชากรนี้เป็นข้อมูลเดือนตุลาคม 2021 สัดส่วนของประชากรไม่สามารถระบุชัดเจนเช่นเดียวกัน เพราะความกว้างขวางของประชากรในสามจังหวัดชายแดนใต้มีความหลากหลายทางศาสนาและพหุวัฒนธรรมต่างศาสนาหรือการแต่งกายชุดมลายูนั้นแตกต่างกันขึ้นอยูกับพื้นที่ บริบททางสังคม ประเพณีของชนชาติแต่ละภูมิภาคและไม่ได้จำกัดเฉพาะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รวมถึงเพศและวัย ด้วยในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมและประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงอยากอธิบายชุดมลายูมี ความเชื่องโยงกับศาสนาอิสลามอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่คนมลายูเป็นมุสลิม คือความเชื่องโยงระหว่างชุดมลายูและศาสนาอิสลาม :
1. การบังคับกฏหมายอิสลาม: ตามอ้างอิงของผู้คนส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นการสวมชุดมลายูมักเป็นการปฏิบัติที่แสดงความเชื่อต่อศาสนาอิสลาม เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่คงไว้การปกปิดและการสวมชุดมลายูมักเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาและความเชื่อ ในคนมลายูที่อุดมไปด้วยการสวมชุดและสัญลักษณ์ทางศาสนาอิสลาม เป็นการแสดงความเชื่อต่ออิสลามและรวมตัวกับชนชาติมลายูในกิจกรรมทางศาสนา 2.การขึ้นครองราชสมบัติ: ชุดมลายูมักถูกใส่ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับขึ้นครองราชสมบัติของราชินี (Sultan) พระมหากษัตริย์หรือราชวงศ์ตามแต่ละยุคสมัย
3.บริบทพื้นที่: สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นชาวมุสลิมมลายูเป็นส่วนใหญ่ในพื้นที่นี่ มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน การสวมชุดมลายูเป็นสิ่งที่ร่วมสร้างความรู้สึกเชื่ออันหนึ่งในชนชาติมลายูและเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพื้นที่อย่างยาวนาน ดังนั้น ความเชื่อและการสวมชุดมลายูเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายและวัฒนธรรมที่สำคัญในสามจังหวัดชายแดนใต้และเป็นส่วนที่รวมในการสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อร่วมกันในสังคม
ชุดมลายูแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกันตามที่ประเทศแต่ละประเทศมีนโยบายและสภาพการณ์ทางสังคม รัฐบาลอาจส่งเสริมการสวมชุดมลายูเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกลุ่มชนที่แตกต่างกัน
ในขณะที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายใต้ อาจให้มีแค่บางกลุ่มที่มีความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรมแตกต่างสวมชุดมลายูในบางสถานการณ์หรืองานเฉพาะของท้องถิ่น แต่ในทางการแสดงออกทางการเมืองสำหรับกลุ่มนักเคลื่อนไหวในพื้นที่เองนั้น รัฐกลับมองว่าการแต่งกายชุดมลายูเป็นการยุยงปลุกปั่นในสถานการณ์ความขัดแย้งหรือเป็นภัยความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้
เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมาเหตุการณ์ที่มีการพูดต่อ ล่ำลือกันในวงสาธารณะคงจำกันได้และผ่านหูมาแล้วบ้าง เมื่อกลุ่มเยาวชนมารวมกันแต่งกายชุดมลายู จนทำให้ฝ่ายมั่นคงแก้ไม่ได้และมีความเข้าใจผิดกัน จากการรายงานข่าวสื่อกระแสหลักระบุว่าเมื่อก่อนอาจจะมีความสงสัยหรือมองเป็นภัยความมั่นคง ทำไมถึงมากันเยอะ แต่งตัวแบบนี้ต้องการอะไร แต่การเข้ามาสนับสนุนของรัฐนั้นมีข้อเงื่อนไขและกติกาในการสร้างความเข้าใจกัน ในข่าวยังพูดต่ออีกว่าการจัดกิจกรรมเป็นการรวมตัวโดยที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้รู้ล่วงหน้า เมื่อมีภาพออกมาสู่สาธารณะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก บางคนหวั่นเกรงถึงขั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นการแบ่งแยกดินแดน มีการนำธงกลุ่มขบวนการทางการเมืองของปาตานีมาโบกสบัด กลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีอิทธิพลสูงที่สุดในช่วงยี่สิบปี
ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์ ฝ่ายความมั่งคงก็พยายามกดดันหาข่าว หาตัวแกนนำที่จัดกิจกรรม ก็กลายเป็นกระแสตีกลับ ถูกโจมตีว่าละเมิดสิทธิของเยาวชน การแต่งกายชุดมลายูไม่ได้ผิดกฎหมายก็ทำให้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่ตามมา ซึ่งการรวมตัวในปีนี้ Melayu Raya 2023 เป็นการรวมตัวกิจกรรมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แต่งกายชุดท้องถิ่นมลายูเพื่อเฉลิมฉลองวันอีดที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การจัดกิจกรรมปีนี้ไม่ได้น่ากลัวตามกระแส เพราะหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงตั้งใจเข้ามาพลิกบทบาทแทนที่จะสกัด กดดัน ตรวจสอบหาข่าวไปใช้วิธีสนับสนุนให้จัดกิจกรรม อำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค และรัฐเองก็มองว่าถือเป็นเรื่องดี ต้องมีการสนับสนุน แต่ว่ากิจกรรม ก็มีข้อระเบียบกิจกรรมเช่นกัน ห้ามนำธงที่มีความสุ่มเสี่ยง อาจจะกระทบความมั่นคง เว้นแต่เป็นธงสีประจำหมู่บ้าน ชมรมหรือกลุ่มเท่านั้น ฯลฯ
การได้อ่านข่าวและมาคิดวิเคราะห์ จากประสบการณ์ตัวเองและคนในพื้นที่คิดว่า การรายงานข่าว การใช้คำหรือฟาดหัวข่าว เรามักจะได้ยินบ่อยว่า สื่อมักจะกล่าวอ้างว่ากลุ่มขบวนการบางกลุ่มใช้ความรุนแรงก่อเหตุในพื้นที่ จนกลายมาเป็น การเหมารวม (Storeotype) ในพื้นที่กันเองหรือเกิดจากอคติที่สั่งสมมาชั่วอายุคน ที่อาจทำให้คนภายนอกเข้าใจผิดและตีความว่าเป็นพื้นที่สีแดง น่ากลัวหรือมีการระเบิด ทำให้ผู้คนไม่กล้ามาเยือนและอาจเป็นภาพติดตา ฝั่งใจจากการเสพสื่อโดยปริยายและการกระจายข้อมูลข่าวสารที่เป็นความคิดเห็น เหตุและผลทั้งสองฝ่ายสื่อเองไม่ควรละเลยหรือไม่
ห้วงเวลา 20 ปีที่อยู่ภายใต้ กฏหมายพิเศษ เป็นการเอื้ออำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมตัวบุคคลที่สงสัย ซึ่งการรวมตัวของเยาวชนสวมใส่ชุดมลายู เพื่อแสดงเชิงอัตลักษ์ทางวัฒนธรรมถูกรัฐเพ่งเล็งและถูกมองว่าภัยความมั่นคง จึงส่งให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม การแต่งกายชุดมลายูคงไม่ใช่การยุยงปลุกปั่นในสถานการณ์ความขัดแย้งหรือเป็นภัยความมั่นคง แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและประเพณีของชนชาติมลายูมายาวนานแล้ว การสวมชุดมลายูมักเกิดจากความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมที่มีรากฐานยาวนานในพื้นที่นี่ มันเป็นส่วนสำคัญของการรักษาอัตลักษณ์และส่วนหนึ่งของความเชื่อทางศาสนาอิสลามของคนมลายู
ทั้งนี้สามจังหวัดชายแดนใต้ได้รับความขัดแย้งมาหลายปี อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในการบังคับใช้กฏหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฏอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การสวมชุดมลายูไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นหรือเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง แต่มันอาจถูกใช้เพื่อแสดงความเชื่อทางศาสนาและประพฤติตนตามประเพณีทางศาสนาในสถานการณ์ที่ต้องการ
ฟังเสียงคนในพื้นที่
บทสนทนาสั้นๆ ที่สะกิดใจผู้เขียนระหว่างสัมภาษณ์ “ไม่มีใครควรถูกเอาเปรียบ เพียงเพราะคำว่า แตกต่างกัน” ประโยคดังกล่าวนี้เป็นการอธิบายถึงอัตลักษณ์การแต่งกายชุดมลายู อย่างกระจ่างแจ้งก็เป็นได้ จาก ตัวแทนเยาวชน (ไม่เปิดเผยแหล่งข่าว)
“ ชีวิตที่เติบโตมาในครอบครัวชนบท เราเป็นคนติดคุณพ่อมาก พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ชอบพาเราไปทำกิจกรรม หมู่บ้านใกล้เคียงทุกๆ ปีจะจัดจำลองประกอบพิธีฮัจญ์ที่ตาดีกา (โรงเรียนสอนจริยธรรม) นอกเหนือจากนี้ในชุมชนยังจัดค่ายฤดูร้อนที่ตาดีกา โดยมีเงื่อนไขการแต่งกายชุดมลายูหรือเวลาเรียน
ประสบการณ์ที่ใส่ชุดมลายู เรามองว่า การแต่งกายชุดมลายูเป็นสไตล์ที่เรียบง่าย ดูดีสามารถเข้ากับอะไรก็ได้ รู้สึกชิน เป็นความชอบและปกปิด ไม่กังวลในเรื่องสรีระ เวลาที่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมถือเป็นการให้เกียรติสถานที่ ผู้คน เราเคยเข้าร่วมกิจกรรมประเด็นในพื้นที่ ก็แต่งกายปกติ ในขณะเดียวกันเราก็มีความมั่นใจ เข้าสังคมได้ บางทีเราก็แต่งกายชุดลำลองทั่วไป ต้องดูสถานการณ์ด้วยว่าเราพบปะสังคมกลุ่มไหน แต่บางทีการแต่งตัวชุดมลายูของเราก็กังวลเหมือนกันว่า เพื่อนจะไม่เข้าหาหรือเปล่า กลัวเพื่อนปิดกั้น
“เราอยากทลายความคิดการตีตราผ่านการแต่งกายไม่ว่าจะรูปไหนก็ตาม เราไม่ใช่เป็นคนอนุรักษ์นิยม อยากให้สังคมเห็นเราเป็นตัวอย่างในการพยายามมีพื้นที่เปิดรับมุมมอง ความคิดใหม่ๆ บ้างที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกัน
บางทีการที่เรามีแนวคิดสุดโต่งไปเลย มันทำให้ปิดกั้นสังคมภายนอก ดังนั้นอย่าเอาวัฒนธรรมมาเป็นตัวกำหนดชีวิตเรา ให้ตัวเองได้เลือกว่าจะเอาวัฒนธรรมมาใช้อย่างไร “
การเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่เป็นคนมลายู ทำให้เราคุ้นชินกับมัน โดยที่ไม่เคยตั้งคำถามมาก่อน จนกระทั่งอยู่ประถมศึกษาก็สงสัยทำไมต้องแต่งตัวชุดมลายู เราจะฮิตกันมากในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนาหรือวันอีด (รายอ) มีการรวมตัวของกลุ่มเยาวชนในชุมชนมานัดประชุม โหวตชุดมลายูเป็นชุดประจำวันอีดเหมือนทุกๆ กิจวัตประจำวัน ทุกปีก็จะใส่ชุดมลายูเหมือนกันเป็นกลุ่มเยาวชน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันอีด การรวมตัวถ่ายรูปเป็นทีมของกลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชน เพื่อสร้างและส่งเสริมการมีส่วนร่วม การแสดงออกของคนในชุมชน แต่แอบแปลกใจ ครั้งหนึ่งตาดีกา (โรงเรียนสอนจริยธรรม) นัดให้นักเรียนร่วมกิจกรรม Big Clearning Day โดยต้องแต่งตัวชุดมลายูมาทำความสะอาด จากนั้นมา หลายครั้งมีการรวมตัว เราก็จะเริ่มตีห่าง เพราะไม่ชอบและคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องตามในสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่ก็โดนคนมองว่าเราไม่ทำตามกฏระเบียบและเงื่อนไข ทว่าเรารู้ว่าเหตุผลคือการสะท้อนความเข้มแข็ง การยอมรับของชุมชน แต่กรณีบางครอบครัวก็ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมไม่แต่งกายเหมือนเพื่อน
เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงมหาลัยเราคิดเสมอว่า การแต่งกายชุดมลายูไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด หากในวัยเด็กเป็นข้อบังคับที่เกินเลยหรือการเอาแนวคิดอนุรักษ์นิยมจ๋ามาครอบงำ จึงทำให้ส่งผลกระทบกับคนที่ถูกโตมาในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ กลายเป็นว่าสังคมภายนอกก็อาจมองว่าเราอนุรักษ์นิยม เราไม่ได้ต่อต้านการแต่งกายมลายู ทว่าสิ่งสำคัญคือเราควรมีสิทธิ์เลือกตามสถานการณ์นั้นๆบนช่วงเวลาและบริบททางสังคม”
เราเลือกใส่ชุดมลายู (ชุดกูรง) ในช่วงเวลาหรือกิจกรรมอย่างเป็นทางการ เพื่อสื่อสารอัตลักษณ์และบทบาทของผู้หญิง แต่ก็มีบ้างที่เลือกใส่ชุดลำลองในกิจวัตรประจำวันทั่วไป ความรู้สึกตอนใส่ชุดกูรง เหมือนได้รับความเอ็นดูจากผู้หลักผู้ใหญ่ บุคคลิกการวางตัว ดูสุภาพเรียบร้อย สะดวกสบายเรียบง่าย แต่บางทีการใส่ชุดกูรงนอกพื้นที่ที่ไม่ใช่สามจังหวัดชายแดนใต้ คนอาจจะมองว่าอึดอัด กลายเป็นคนเคร่งศาสนาและดูสุขุมเข้าถึงยากหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือเปล่า การถูกสังคมภายนอกตั้งคำถามหรือสงสัย ไม่ได้ทำให้เราหนักใจหรือเป็นอุปสรรคในการแต่งตัวชุดมลายูเลย ในอีกมุมหนึ่งคิดว่าไม่เหมือนชุดไทยจะดูเหมือนอนุรักษ์นิยม หรือไม่ได้เป็นเอกลักษณ์รักชาติขนาดนั้น เพราะไม่แปลกการเข้าสังคมเขาจะต้องตั้งคำถามปกติ แต่เราก็ควรตอบอย่างมีเหตุผล มีที่มาที่ไปตามประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาอย่างถูกต้องและควรแยกประเภทคน เพราะจะได้รู้ว่าวัตถุประสงค์ของผู้อื่นเข้ามาโจมตีหรือแสวงหาความรู้
การแสดงออกทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องปกติในสภาวะความขัดแย้งจนถึงปัจจุบันที่รัฐจะมีอคติอยู่แล้ว เพราะเมื่อไหร่มีการรวมตัวเชิงอัตลักษณ์จะทำให้เรายกเพดานการสืบสานอัตลักษณ์การแต่งกายมลายู เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีพื้นที่เปิดรับและรักษา อีกทั้งเชิญชวนให้คนที่ใส่มีคุณค่าและพลัง “ถ้าไม่มีอัตลักษณ์หรือรูปแบบการแต่งกายเราจะไม่รู้ว่า เราเป็นใครและถือเป็นการแสดงจุดยืนของรากเหง้า” ตัวแทนผู้ประกอบการ (ไม่เปิดเผยหล่งข่าว)
“ยุคสมัยใหม่ที่มีการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม (Soft Power) เข้ามามีบทบาท เพื่อโน้มน้าวใจ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด หรือพฤติกรรมความชอบให้หันมาสนใจสิ่งเหล่านี้กันมากขึ้น กรณีการตั้งเป้าศูนย์กลางเสื้อผ้ามลายู กระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางออกแบบ จำหน่าย เสื้อผ้าแฟชั่นมลายูของชายแดนใต้และภูมิภาค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่สำหรับวัฒณธรรมมลายู สำหรับเสื้อผ้ามลายู ถือว่า เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สวยงามของภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันได้มองผ้าออกเป็น 3 ประเภท ผ้าร่วมสมัย คือ ผ้าที่เราใส่กันทั่วไป ผ้าพื้นเมือง ได้แก่ ผ้าบาติก ผ้าปะลางิง และผ้าพระราชทาน ซึ่งเป็นผ้าไหม หรือเป็นลายพระราชทาน”
“คาดหวังไว้ว่าในอนาคตลายผ้ามลายูเหล่านี้ อาจจะกลายเป็น แบรนด์ดังที่สามารถจะขายไปทั่วโลก ซึ่งต้องเริ่มต้นจัดการเรียน การอบรม ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ หรือ Young – Designer ให้มาสานต่อการออกแบบให้เข้าได้กับวัยต่างๆ และสอดคล้องกับวัฒนธรรมมลายูด้วย” นักวิชาการอิสระ (ไม่เปิดเผยแหล่งข่าว)
การรักษาการแต่งกายชุดมลายูนั้น ความพิเศษของอัตลักษณ์มลายูว่าด้วยเรื่องการแต่งกาย ความหมายของชุดมลายูเป็นคุณค่าทางจิตใจและจิตวิญญานของคนมลายูดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน ลักษณะของชุดแต่งกายแบบผู้ชายและผู้หญิง จะสอดแทรกความเชื่อ ความศรัทธาทางศาสนาเหมือนเป็นสายใยสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับคนมลายูมุสลิมเข้าด้วยกัน เราอาจจะมีแนวคิด คำนิยาม ตีความที่แตกต่างและไม่เหมือนกันตามแหล่งข้อมูลที่ได้รับและบริบทพื้นที่แวดล้อม ปัจจุบันเด็กและเยาวชน คนในพื้นที่ได้เข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุดมลายูและส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้แต่งกายชุดมลายูเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่คงอยู่กับสามจังหวัดชายแดนใต้ตลอดไป
จากการสัมภาษณ์คนทั้งสามกลุ่มทำให้ผู้เขียนเห็นว่า การศึกษารากเหง้าทางอัตลักษณ์ที่เรียกว่า การแต่งกายชุดมลายู ทำให้เกิดการตั้งคำถามในแนวคิดเชิงสังคมว่าคำอธิบายของคนระหว่างคนด้วยกันนั้น ตามด้วยหลักเหตุผลยังจำเป็นหรือไม่ คำถามนี้ไม่ได้ต้องการคำตอบ หากลองคิดในใจครู่หนึ่ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนไม่มีวิธีการอธิบายที่ตายตัว ทว่าต้องอธิบายผ่านบริบทแวดล้อมประเภทต่าง ๆ เข้าใจประวัติศาสตร์ เข้าใจความคิดของคนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การทำงานอยู่บนฐานความคิดสองเรื่อง เรื่องแรกคือ ความขัดแย้งและความรุนแรงเป็นของสองอย่างที่ต่างกัน ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ แต่ความรุนแรงไม่ใช่ ดังนั้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความขัดแย้งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เรื่องที่สองคือ ความแตกต่างไม่ใช่ปัญหา บนรากฐานของคำสอนทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ อิสลามและศาสนาอื่นๆรวมทั้งทฤษฏีทางสังคม ความแตกต่างนั้นทำให้สังคมเข้มแข็งและงดงาม
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ