สัมภาษณ์และเรียบเรียง: อติรุจ ดือเระ, ฮาฟีซีน นะดารานิง และกูอิลยัส สุดทองคง /Activist Journalist
ภาพ: กูอิลยัส สุดทองคง /Activist Journalist
ชายหนุ่มพูดภาษามลายู หญิงคลุมฮิญาบ เดินขวักไขว่ไปมาสองข้างถนนในซอยรามคำแหง 53 ตัดสลับกับภาพร้านรวงที่ตั้งโต๊ะขายข้าวยำ ขนมจือปุ ขนมเจะเเมะ และรถมอเตอร์ไซค์จอแจสวมป้ายทะเบียนปัตตานี ยะลา หรือนราธิวาส เหล่านี้คือภาพฉากที่สามารถพบเจอได้เป็นปกติทุกครั้งที่เดินทางผ่านไปย่านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง สะท้อนตัวตนของพื้นที่แห่งนี้ที่แม้ไม่ต้องป้องปากตะโกนบอกก็รู้ว่าต่างไปจากพื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพฯ อยู่มาก
การก่อตัวของ ‘ชุมชนมลายู’ กลางเมืองกรุงเทพฯ แน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะนี่คือผลของปรากฏการณ์หนีทุ่งมุ่งเมืองของเยาวชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเรียกให้ชัดว่านี่คือผลจาก ‘ภาวะแวรุงนายูสมองไหล’ ที่ตัดสินใจพรากจาก ‘ตาเนาะห์อุมมี’ หรือบ้านเกิดเมืองนอน มาสู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ออกแบบชีวิตการเรียน ทำกิจกรรม หรือทำงานได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง
อะไรเป็นเหตุผลให้คนหนุ่มสาวจากสามจังหวัดชายแดนใต้ทิ้งบ้านเกิดมาเป็น ‘ชาวรามเมี่ยน’ คุณภาพชีวิตในดินแดนแห่งใหม่เป็นอย่างไรบ้าง และพวกเขาเคยคิดอยากกลับบ้านหรือตัดสินใจลงหลักปักฐานดำเนินชีวิตที่นี่ต่อไปมากกว่า ชวนหาคำตอบผ่านบทสนทนาในร้านกาแฟหอมกรุ่น กับ ฟิตรี อารง และ อามีเนาะ เจ๊ะลีมา สองคนหนุ่มสาวที่เรียนและทำงานแถวรามเกือบ 10 ปีเต็ม พร้อมกะเทาะเปลือกปัญหาเเละส่องสำรวจเเนวทางเพื่อโอบรับนายูพลัดถิ่นกลับบ้านกับ เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“เเวรุง” คือคำที่คนสามจังหวัดชายเเดนใต้เพี้ยนเสียงมาจาก “วัยรุ่น” ส่วน “ภาวะเเวรุงสมองไหล” หมายถึงภาวะที่วัยรุ่นในพื้นที่จังหวัดชายเเดนใต้เดินทางออกจากบ้านเกิด เพื่อไปศึกษา ทำงาน รวมถึงการลงหลักปักฐานในพื้นที่อื่น
โจทย์ชีวิตของเด็ก (อยาก) เรียน กับคำตอบที่ชื่อว่า “ม.รามฯ”
“ผมเป็นคนสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ขึ้นมาเรียนรัฐศาสตร์ สาขาวิชาบริหารรัฐกิจ ตั้งแต่ปี 2556 ใช้เวลาเรียนราว 10 ปี ตอนนี้ก็จบการศึกษาแล้ว หันมาจับงานขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์”
ฟิตรี เปิดบทสนทนาด้วยพื้นเพชีวิตที่น่าสนใจ ก่อนเล่าต่อถึงจุดตั้งต้นของการเดินทางไกลบ้านว่า “ก่อนขึ้นมากรุงเทพฯ ความตั้งใจแรก ๆ ผมอยากเป็นครู ทุ่มเทมาสายครูโดยตรง แต่เรียนสายวิทย์ คือสอบไม่ได้ สอบไม่ติด สอบแถวบ้านไม่ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ครอบครัวต้องแบกรับด้วย ถ้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวบ้านค่าใช้จ่ายสูง อย่างถ้าเรียนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏ สำหรับผมค่าใช้จ่ายก็ยังสูง เพราะค่าเทอมเริ่มต้นก็เฉียดหลักหมื่น ขณะที่ครอบครัวไม่ได้มีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายพอขนาดนั้น แต่ผมมีใจอยากเรียน เลยตั้งหลักตัดสินใจใหม่ภายใต้เป้าหมายเดิม คืออยากเป็นครูนั่นแหละแต่คิดว่าสถานที่ไม่สำคัญมากขนาดนั้นแล้ว มหาวิทยาลัยไม่ใช่ปัญหา ขอเพียงแค่ให้เป็นที่ที่ตอบโจทย์ชีวิตการเรียนและการเงินก็พอ สุดท้าย ม.รามคำแหง ก็เป็นคำตอบ เพราะค่าลงทะเบียนเรียนน้อยมาก รวม ๆ ตกอยู่ที่แค่พันกว่าบาทต่อเทอม”
เส้นทางการเป็นนักศึกษาที่เรียบง่ายของฟิตรีดูเหมือนจะไปได้สวย แต่สองปีหลังจากเรียนครู เขาก็ค้นพบว่าสิ่งที่เรียนอยู่ไม่ใช่ทางของตัวเองอีกต่อไป จึงตัดสินใจหันมาเรียนสิ่งที่สนใจกว่าคือรัฐศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ตอนเข้ามาปีหนึ่งใหม่ ๆ ผมเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมและภาคประชาสังคมต่าง ๆ เดินทางไปลงพื้นที่ชุมชน เพื่อทำค่ายอาสา เป็นผลให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้าน ได้เห็นปัญหาของสังคมมากขึ้น และที่สำคัญคือเห็นระบบการบริหารจัดการที่ค่อนข้างเละเทะ จึงเกิดคำถามกับตัวเองว่าทำไมเราไม่รู้เรื่องอะไรพวกนี้เลย จากนั้นผมก็เริ่มเปลี่ยนความคิด มีความอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมผุดขึ้นสั่งสมมาเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งถามตัวเองอีกครั้งว่าถ้าเราอยากช่วยสังคมในแบบที่เราคิดไว้จริง ๆ ทำไมไม่เลือกเรียนสายตรงอย่างรัฐศาสตร์ไปเลย เพราะน่าจะได้แนวทางในการเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคมได้มากกว่าบวกกับความชื่นชอบที่ก่อตัวขึ้นด้วย จึงตัดสินใจย้ายคณะโดยไม่ลังเล”
ด้านอามีเนาะห์ หญิงสาวจากมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เข้าเรียนคณะศึกษาศาสตร์ ม.รามฯ ตั้งแต่ปี 2559 ตอนนี้อยู่ระหว่างการสอบเพื่อจะจบการศึกษา เล่าย้อนเวลาให้ฟังว่า “ตอนเรียนมัธยมปลายไม่ได้คิดถึงอนาคตตัวเองมากขนาดนั้นว่าต้องเป็นไปในทิศทางไหน แต่คิดว่าก็ต้องเรียนเพราะอยากยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองและครอบครัว จึงตัดสินใจสมัครมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปหลายแห่งแต่สุดท้ายก็เลือก ม.รามฯ ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ง่าย ๆ คือค่าเทอมที่อื่น ๆ แพงเกินกว่าครอบครัวเราจะส่งไหว”
เธอเผยเหตุผลของการเลือกเรียนครูเพิ่มเติมว่า “ตัดสินใจเรียนครูเพราะเป็นอาชีพที่หากกลับไปอยู่บ้านแล้วมีความมั่นคงมากที่สุด บวกกับเมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม ๆ ต่าง โดยเฉพาะชมรมมุสลิมและกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ P.N.Y.S ก็ยิ่งตอกย้ำว่าเส้นทางที่ตัวเราเลือกนั่นถูกแล้ว เรามาถูกทางแล้ว ภาพฉากที่ถูกฉายระหว่างการลงพื้นที่ทำกิจกรรมทำให้เราเห็นว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาใต้พรมเยอะมากจนน่าตกใจ เราเลยตั้งใจว่าอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิดตามแนวทางและความรู้ที่ได้ศึกษามา โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา สัมผัสได้ว่ายังไม่มีคุณภาพมากพอ เด็ก ๆ ที่บ้านหลายคนจบประถมศึกษา 6 แต่ยังอ่านหนังสือไม่ออก นี้เป็นตัวอย่างของปัญหาพื้นฐานแต่มีความสำคัญมาก ๆ ที่จะต้องเร่งเครื่องแก้ไข”
เก็บความอึดอัดยัดใส่กระเป๋า โบกมือหนีความไม่ปกติในพื้นที่
แม้ดูเหมือนว่า ‘ความยากจน’ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักหนุ่มสาวชายแดนใต้ให้ออกเดินทางสานความฝันและความตั้งใจของตัวเอง แต่อีกปัจจัยที่ยึดโยงกับบริบทของปัญหาเชิงพื้นที่ คือ ‘สถานการณ์ความไม่สงบ’ ที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ ก็มีส่วนสำคัญทำให้หนุ่มสาวชายแดนใต้จำนวนหนึ่งตัดสินใจเก็บเสื้อผ้ายัดกระเป๋าและทอดทิ้งหมู่บ้านที่รักไว้เบื้องหลัง ฟิตรี ขยายความถึงเรื่องนี้ให้ฟังว่า “สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นบีบคั้นให้คนในพื้นที่บางส่วนอยู่ไม่ได้ เพราะรู้สึกอึดอัดและไม่ปลอดภัย ด้วยกฎหมายที่ผิดแปลกจากที่อื่น คือมีทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถมองคนในพื้นที่เป็นผู้ต้องสงสัยได้โดยง่าย ทำให้เกิดเหตุการณ์การเข้าเยี่ยมบ้านและการล่าตระเวนในพื้นที่ ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้คน เกิดความหวาดระแวงว่าแม้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความรุนแรงแต่ก็อาจโดนรวบตัวหรือจับกุมเมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องพะว้าพะวง เรียนหรือทำงานได้อย่างสบายใจ หลายคนจึงจำใจโยกย้ายตัวเองมากรุงเทพฯ หรือบ้างก็เลือกข้ามเขตแดนไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียเพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลม”
“เรื่องนี้ผมมองว่าปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ถ้าคุ้มครองประชาชนมากพอ ประชาชนก็อยู่ที่บ้านได้อย่างสบายใจ เช่นระบุว่าใครเป็นผู้ต้องสงสัยกันด้วยหลักฐานที่เพียงพอ แบบนี้ก็โอเค แต่ไม่ควรทำกันอย่างเลื่อนลอยด้วยหลักฐานที่ปราศไร้น้ำหนัก แบบนี้มันทำให้กระอักกระอ่วนและหวาดระแวง”
เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มองว่าการตัดสินใจไกลบ้านของทั้งสองคนเป็นความไม่ปกติที่กลายเป็นปกติของคนในพื้นที่ชายเเดนใต้ซึ่งพบเจอมาเป็นเวลาหลายปีไปเเล้ว ความจริงก่อนหน้านี้คนในพื้นที่ก็เป็นนักเดินทางที่เคลื่อนย้ายกันไปหลายที่ ทั้งอาชีพการเป็นชาวประมงก็พาพวกเขาเดินทางไกลบ้านมาตลอด ขณะที่หลายคน หลายครอบครัว ก็พากันอพยพไปทำงานที่ตะวันออกกลางบ้าง ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียบ้าง พักหลังมา ก่อนที่จะไปกรุงเทพฯ คนจำนวนหนึ่งก็เลือกภูเก็ตเป็นปลายทางของการเเสวงหาโอกาสเพราะนอกจากจะมีเศรษฐกิจที่ดี ตอบโจทย์ปากท้องเเล้ว ภูเก็ตยังมีชุมชนมุสลิมอยู่มาก ซึ่งช่วยให้พวกเขาเชื่อมโยงตัวตนกับชุมชนท้องถิ่นผ่านความเชื่อเเละวิถีชีวิตทางศาสนาได้ ดังนั้นการที่เเวรุงนายูอพยพย้ายถิ่นไม่ใช่เรื่องใหม่ เราเผชิญสภาวะเช่นนี้มาสักระยะเเล้ว เพียงเเต่ต้องมานั่งพิจารณากันว่าภาวะเเบบนี้กระทบต่อพื้นที่อย่างไรเเละถ้าอยากให้พวกเขากลับบ้านจะต้องตระเตรียมอะไรบ้าง
สู่ชีวิตใหม่ที่เหมือนและต่างจากบ้านเกิด
ไม่ว่าจะจากบ้านมาไกลด้วยเหตุผลใด คำถามเรียบง่ายแต่น่าสนใจที่น่าถามต่อไปคือชีวิตในดินแดนแห่งใหม่เป็นอย่างไรบ้าง แตกต่างจากชีวิตที่จากมามากน้อยเพียงใด ฟิตรีให้คำตอบว่า “ชีวิตที่รามฯ กับที่บ้านเกิดมีทั้งความเหมือนและต่างกันในแต่ละมุม ในมุมของอาหารการกินนับว่าไม่ได้มีความต่างกันมาก เพราะแถวรามฯ คนสามจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมาอยู่กันเยอะ หลายคนหันมาเปิดร้านขายข้าวแกง ขนม น้ำ ซึ่งหลายร้านก็ขายอาหารบ้านเราอย่างข้าวยำ ปูเลาะซามา จือปุรวมถึงชาชัก เมื่อไหร่ที่คิดถึงขนมหรืออาหารที่บ้าน เราก็สามารถหาซื้อทดแทนได้ที่หน้ารามฯ อีกเรื่องที่เหมือนคือวิถีชีวิต เราจะพบคนสวมฮิญาบพลุกพล่านไปหมด ราวกับว่าเดินอยู่ในตลาดนัดแถวบ้าน”
“ส่วนที่แตกต่างหลัก ๆ ก็มีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ถ้าอยู่ที่บ้าน ความสัมพันธ์ของเพื่อนบ้านจะค่อนข้างแน่นแฟ้น เจอกันก็ทักทายกัน แต่ที่รามฯ คนส่วนใหญ่ต่างคนต่างใช้ชีวิต ปฏิสัมพันธ์กันน้อย อีกเรื่องคือการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่ง แม้จะไม่ทันใจร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่กรุงเทพฯ เรามีตัวเลือกในการเดินทางมากกว่าที่บ้าน มีทั้งทางเรือ รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ แต่ที่บ้านต้องพึ่งมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวกันเป็นหลัก บ้านบางหลังมีมอเตอร์ไซค์คันเดียวแต่สมาชิกในครอบครัวมีกัน 7-8 คน ก็ต้องสลับกันใช้ ส่วนรถสาธารณะนี่เป็นตัวเลือกที่แทบจะไม่ตอบโจทย์การเดินทาง เพราะมีน้อยมาก”
ด้านอามีเนาะห์ มองถึงความท้าทายในการดำเนินชีวิตว่า “การอาศัยแถวรามฯ แน่นอนว่าเราหลุดพ้นจากสายตาของครอบครัว เรามีอิสระมากขึ้นในการเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร ถ้ามองผ่านสายตาส่วนตัวก็เห็นว่าหลายคนหลุดสู่วงจรยาเสพติดได้ เพราะหลายปัจจัยเอื้อให้คน ๆ หนึ่งติดยาได้ง่าย การซื้อการขายยาเสพติดทำกันแม้กระทั่งในหอพัก”
“อีกเรื่องที่เรามองว่าเป็นปัญหาคือความแออัด พื้นที่สาธารณะแถวรามฯ ค่อนข้างจำกัด ยิ่งเดี๋ยวนี้มอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นเยอะก็ยิ่งทำให้การสัญจรติดหนัก ขณะเดียวกันที่จอดรถก็ไม่เพียงพอ รถหลายคันต้องจำใจจอดออกมานอกตึกของหอพักหรือไปจอดที่ตึกอื่นบ้างแต่ความปลอดภัยไม่มี ปัญหาที่ตามมาคือรถหาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของน้ำท่วมเมื่อฝนตกก็กระทบทั้งการใช้ชีวิตและทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านี้คือปัญหาที่ชีวิตเราเผชิญเมื่อมาอยู่รามฯ แต่ที่บ้านสามจังหวัดฯ แทบไม่เคยต้องเจอกับปัญหาพวกนี้เลย”
ชีวิตไกลบ้านของทั้งสองคนดูเหมือนว่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป แม้รามคำแหงฯ จะให้ที่ทางได้เติบโต เรียนรู้ และลืมตาอ้าปากได้ แต่ก็มีความท้าทายไม่น้อยที่ต้องอดทนและก้าวข้าม คำถามที่น่าสนใจซึ่งชวนทั้งสองคนพูดคุยต่อในตอนถัดไปคือ “เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยากให้ กรุงเทพฯ แก้ไขหรือพัฒนาอะไรเพิ่มบ้าง”“อยากกลับบ้านไหม” และ “มีความหวังหรือความฝันอะไรอยากกลับไปสร้างให้เกิดที่บ้านบ้าง”
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)
อติรุจ ดือเระ
นักสื่อสารความรู้เรื่อง SDGs จบ ป.ตรี จากสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันเบนสายเรียน ป.โท ด้านวรรณกรรม สนใจประเด็นสันติภาพ การพัฒนา เเละความมั่นคงมนุษย์ เขียนบทกวีเเละเรื่องสั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
กูอิลยัส สุดทองคง
หนุ่มมลายูชายเเดนใต้ นักศึกษากฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังทดลองเเละฝึกฝนเขียนบทความ มีความกระหายที่จะเรียนรู้เเละท้าทายกับสิ่งใหม่ ๆ โดยนำเทคนิคการถ่ายภาพซึ่งตัวเองชื่นชอบมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน
ฮาฟีซีน นะดารานิง
นักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ผู้ที่มียะลาเป็นจังหวัดบ้านเกิด สนใจประเด็นทางด้านประวัติศาสตร์ ความขัดแย้ง และมานุษยวิทยา
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ