สัมภาษณ์และเรียบเรียง: อติรุจ ดือเระ, ฮาฟีซีน นะดารานิง และกูอิลยัส สุดทองคง /Activist Journalist
ภาพ: กูอิลยัส สุดทองคง /Activist Journalist
อ่าน ‘นายูสมองไหลไปรามฯ’ การโบยบินอ(ยาก)จะกลับของแวรุงชายแดนใต้ ตอนที่ 1
สามคำนิยามชีวิตที่รามฯ
“ภาพฝัน”- “โอกาส” – “ภาพลวงตา” คือสามคำที่ฟิตรีนิยามชีวิตสิบปีที่รามคำแหง เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “ภาพฝัน” หมายถึงชีวิตที่ฝันอยากอยู่ในสังคมที่เจริญและพัฒนา “โอกาส” หมายถึงชีวิตที่มีโอกาสในหลากหลายด้าน “ภาพลวงตา” หมายถึงหากชีวิตอยู่อย่างไม่มีสติ จะหลงระเริงไปกับภาพลวงตา จนลืมตัวเองและลืมบ้านเกิดได้”
ด้านอามีเนาะบอกว่า “ดีเกินคาด” คือคำนิยามชีวิตที่รามคำแหงของเธอ เพราะเป็นสถานที่หล่อหลอมให้เป็นคนที่ดีขึ้น ทำให้พบกับผู้คนและสภาพแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะกลุ่ม P.N.Y.S. มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เรามองเห็นปัญหาและคุณค่าของบ้านเกิดมากขึ้น จนอยากเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบ้านเกิด”
ฟิตรี กล่าวเสริมสิ่งที่ตัวเองได้จากสังคม P.N.Y.S. ใน ม.รามคำแหง ว่า “การทำกิจกรรมต่าง ๆ กับกลุ่มนี้ช่วยทำให้ผมเติบโตขึ้นทั้งเรื่องเรื่องความคิด ทัศนคิต อารมณ์เเละอีกหลากหลายด้าน
เรื่องที่อยากขอจากผู้ว่ากรุงเทพฯ
“หากพูดคุยกับผู้ว่ากรุงเทพฯ ได้ อยากบอกให้แก้ไขหรือพัฒนาอะไรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรแฝงอย่างเราดีขึ้น” คำถามข้างต้นถูกโยนลงกลางวงสนทนา ก่อนทิ้งช่วงให้ทั้งสองคนครุ่นคิดครู่หนึ่ง
อามีเนาะ ตั้งต้นคำตอบด้วยการมองถึงปัญหาเล็ก ๆ อย่างที่จอดรถ เธอเผยว่า “ที่จอดรถหรือพื้นที่สาธารณะแทบไม่มีแถวรามคำแหง ทำให้ชีวิตลำบากมาก หลายคนจอดรถประเดี๋ยวเดียวก็ถูกล็อกล้อ ถูกยกรถ ทำให้ชีวิตมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ถ้าขออะไรสักอย่างได้จากผู้ว่าฯ ก็อยากให้ช่วยจัดสรรและสร้างพื้นที่สาธารณะให้คนในย่านนี้มากขึ้น”
ด้านฟิตรี เผยคำตอบว่า “ไม่อยากให้แก้ไขอะไรละ” โดยให้เหตุผลว่า “อยากให้คนทนอยู่กับปัญหาหรือความท้าทาย จนสุดท้ายทนไม่ได้ และอยากกลับบ้าน เพราะถ้าทุกอย่างสมบูรณ์และตอบโจทย์ชีวิตมากเกินไป คนต่างจังหวัดก็อยากเข้ามาอยู่ไม่อยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง”
“แต่ถ้าจะให้เสนอสิ่งที่อยากให้แก้จริง ๆ ก็เห็นด้วยกับอามีเนาะว่าพื้นที่รามคำแหงมีความแออัดอย่างมาก การสร้างพื้นที่กลางในซอย โดยเฉพาะซอยรามคำแหง 53 เพื่อเป็นพื้นที่จอดรถก็อาจช่วยลดปัญหาได้มากขึ้น”
บ้านที่ไม่ได้กลับ ที่อยากกลับ และฝันที่อยากทำ
แม้ชีวิตที่รามคำแหงจะสามารถเข้าถึงโอกาสทั้งทางการศึกษาและเศรษฐกิจได้มากกว่าสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่เมื่อถามว่า “อยากกลับบ้านไหม” ทั้งสองคนก็ตอบด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจว่า “อยากกลับ”
อามีเนาะห์ เล่าว่า “คิดตลอดเวลา ว่าอยากจะกลับบ้าน คือบ้านเรามีทรัพยากรอยู่เเล้ว เเต่เรามองไม่ออกว่าจะทำอะไรกับทรัพยากรเหล่านั้นได้มากขึ้น ส่วนตัวเราสนใจเรื่องการศึกษา จึงมองเห็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ ถ้าถามว่าทำไมอยากกลับบ้าน คำตอบง่าย ๆ เลยคือเราอยากกลับไปพัฒนาคน อยากกลับไปเป็นครูที่มีความกระตือรือร้นและมีกระบวนการสร้างคนที่ Active Learning อย่างน้อยที่สุดคือทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ แต่ถ้าคิดให้ไกลกว่านั้น เราก็อยากจับงานเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเลยนะ เพราะเรารู้สึกว่าจะมีอำนาจในการแก้ปัญหาการศึกษาเชิงโครงสร้างในพื้นที่ได้มากขึ้น น่าจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการเรียนการสอนได้มากขึ้น”
ส่วน ฟิตรี กล่าวว่า “ในใจอยากกลับบ้านอยู่ตลอดเหมือนกัน ตอนนี้ก็เตรียมตัวหลาย ๆ เรื่องให้พร้อมที่จะกลับไป เพราะผมคิดว่ากรุงเทพฯ ไม่ได้ดีกว่าบ้านเรามากขนาดนั้น ถ้าเทียบศักยภาพเชิงพื้นที่ บ้านเราก็น่าจะสามารถสร้างเศรษฐกิจได้ดี เพียงแค่เราต้องมองให้ออกว่าจะพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ไปในทิศทางไหน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ เช่นเรื่องเกษตรกร ผมมองว่าที่ดินบ้านเราสามารถเพาะพืชหลาย ๆ ชนิดได้ดีกว่าที่อื่น ๆ แต่คนรุ่นใหม่ที่ศึกษาเฉพาะทางมาด้านนี้ไม่มีพื้นที่ให้ทดลอง ส่วนชาวบ้านหรือผู้ใหญ่ที่ทำเกษตรดั้งเดิมมาอยู่แล้วก็ไม่ได้ประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้ศักยภาพในการทำเกษตรมีมากขึ้น พูดให้ชัดคือเรายังไม่สามารถหาพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมโยงในการพัฒนาจากคนหลาย ๆ กลุ่มได้”
“ส่วนถ้าถามว่ากลับบ้านแล้วอยากทำอะไร ความฝันแรก ๆ ของผมคืออยากกลับไปหาที่สักสิบไร่ เเล้วปลูกผักบุ้งเพื่อส่งออกไปยังมาเลเซีย อาจหาพืชผลอื่น ๆ เเทรกด้วย เพราะตลาดเเถวมาเลเซียมันขายได้ ที่เป็นปัญหาเราต้องซื้อผักผลไม้ที่อื่น เพราะพื้นที่เรา ไม่ค่อยมีคนปลูกเชิงอุตสาหกรรม ถ้าเรากลับไปทำเกษตรจริง ๆ ก็ไม่ต้องนำเข้า เเต่สามารถสร้างระบบอาหารและส่งออกเองได้อีกด้วย”
“ส่วนงานด้านรัฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าจบสายนี้แล้วต้องเล่นการเมือง อยากเป็นนายอำเภอ ปลัด เเต่ผมมองอีกมุม คือตั้งเป้าไว้อีกเเบบ ตอนเรียนผมอยากรู้ว่าระบบการปกครองในไทยเป็นอย่างไร มีช่องว่างช่องโหว่ตรงไหนบ้างที่คนในชุมชนสามารถยื่นมือเข้าไปขอความช่วยเหลือได้ ขอโอกาสจากภาครัฐได้ พอผมเรียนก็ได้รู้ช่องมากขึ้น ถ้าได้กลับบ้าน เราสามารถก็อยากเป็นตัวกลางในการเชื่อมเเละประสานงานให้กับชาวบ้าน เช่นชาวบ้านอยากขอโครงการพัฒนาด้านไหน เราก็พอรู้เเนวทางและขั้นตอน ก็จะช่วยประสานงานให้ได้ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านแทบเข้าไม่ถึงเรื่องพวกนี้ โครงการรัฐที่ถ้าว่ากันตามตรง หลายโครงการประโยชน์ก็ไม่ได้ตกถึงชาวบ้านในพื้นที่อย่างแท้จริง”
ฟิตรี ทิ้งท้ายด้วยการมองภาวะแวรุงนายูสมองไหลว่าไม่ใช่ปัญหาระดับปัจเจกอีกต่อไป แต่นี้คือปัญหาที่กระทบต่อโครงสร้างทางสังคมในพื้นที่ ทำให้เกิดช่องว่างทางอายุ เพราะเยาวชนที่ควรจะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาหลาย ๆ เรื่อง ความอยากโบยบินกลับบ้านของทั้งสองคนจึงไม่ใช่ความปรารถนาเพียงชั่วขณะ แต่คือความต้องการและความหวังที่อยากจะกลับไปเป็นกำลังเติมเต็มให้พื้นที่ขยับขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้
“เศรษฐกิจ” กับดักที่ต้องเเก้ ก่อนเพรียกคนกลับบ้าน
เเม้จะปรารถนากลับบ้าน เเต่ก็ยังมีเรื่องให้ทั้งสองคนต้องคิดหน้าคิดหลัง ภายใต้คำถามตัวโต “กลับไป มั่นใจว่าพื้นที่จะเอื้อให้เลี้ยงปากท้องตนเองเเละครอบครัวได้เเค่ไหน” อะไรคือโจทย์สำคัญของความท้าทายนี้ เอกรินทร์ ชวนกะเทาะให้เห็นกับดักสำคัญที่รอ ‘เเวรุงนายู’ ผู้อยากกลับบ้านอยู่ว่า “เศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งชี้ขาดให้คนหนีออกจากพื้นที่มากรุงเทพฯ ส่วนเรื่องความรุนเเรงนั้นเป็นปัจจัยซ้ำเติมที่ตามมา เพราะว่าที่นี่เศรษฐกิจไม่ดีอยู่ก่อนจะมีความรุนแรงเสียอีก ย้อนกลับไป 30 ปีก่อน เศรษฐกิจไม่เคยดี พอปี 2547 มีความรุนแรงมาเพิ่มทำให้เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นอีก แม้ว่าช่วง 5-6 ปีให้หลัง หรือว่าช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ จะพยายามผลักดันเรื่องการพัฒนา การสร้างสนามบิน หรือแนวทาง มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน เเต่ทั้งหมดนี้ชาวบ้านแทบไม่ได้ประโยชน์เลย ยกเว้นนายทุนกับคนในตำแหน่งราชการ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของหนอกจิกโมเดล หรือการพัฒนาเบตง ก็ยากจะบอกว่ายกระดับปากท้องของชาวบ้านให้ดีขึ้นอย่างไร”
“ขยายให้เห็นภาพชัดขึ้น คือปัญหามาติดอยู่ตรงที่ว่าชายเเดนใต้ไม่ได้มีการลงทุนขนาดใหญ่พอจะก่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแปรรูปสินค้า หรือการจัดทำผลิตภัณฑ์ออกไปสู่ตลาดภายในประเทศหรือนอกประเทศ แทบจะไม่มีเลย การจ้างงานจึงยังคงเกิดขึ้นน้อย”
“โจทย์สำคัญของคนจะกลับบ้าน จึงอาจต้องคิดคำนวณเรื่องที่ทางอาชีพเเละปากท้อง เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจในท้องที่ยังไม่พร้อมมากนัก อย่างน้อยอาจต้องหอบเงินสักก้อนหนึ่งเพื่อกลับมาตั้งตัว เเล้วให้พออยู่พอกินได้”
ร่วมสร้างบ้านที่น่าอยู่ ด้วย ‘ความเชื่อใจ’ เเละ ‘การสนับสนุนเต็มที่’
เอกรินทร์ มองต่อถึงเเนวทางจัดการกับดักเรื่องเศรษฐกิจว่า “โครงการหรือเม็ดเงินต่าง ๆ ที่ลงมาเพื่อการพัฒนา สำคัญคือต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมเเละตรวจสอบได้ เช่นสนามบินเบตง นับเป็นความผิดพลาดอย่างมาก เพราะเเทบจะคำนวณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้เลยให้กับประเทศ พูดอย่างตรงไปตรงมาคือเป็นดูถูกคนสามจังหวัดชายเเดนใต้เพราะเป็นการพัฒนาที่ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนเลย”
“การมีส่วนร่วมของประชาชนเเละความไม่โปร่งใสต่าง ๆ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่สำคัญ ต้องเเก้ให้ได้ ก่อนจะเพรียกร้องให้คนกลับบ้าน ขั้นเบื้องต้นอาจเริ่มจากการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ โดยให้ทุนกับคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถริเริ่มธุรกิจหรือโครงการต่าง ๆ ได้ ภาครัฐต้องไว้ใจเเละเชื่อใจถ้าเขาอยากจะสร้างธุรกิจการท่องเที่ยวของเขาขึ้นมา สร้างร้านอาหาร หรือพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วม พร้อมกับต้องสนับสนุนเขาอย่างเต็มกำลังที่มี”
นอกจากนี้ยังได้เอกรินทร์ยังเสนอเเนะเเนวทางในเชิงการเมืองด้วยว่า “มองในทางการเมือง ต้องยกเลิกความพิเศษในพื้นที่ก่อน เช่นกฎหมายพิเศษ เพราะกระทบต่อเสรีภาพของคน ต้องทำให้พื้นที่ชายเเดนใต้นั้นเป็นพื้นที่ปกติของผู้คนธรรมดาที่สามารถอยู่ได้ โดยไม่ถูกคุกคามจากรัฐไม่ว่าในนามอะไร จึงจะทำให้คนรู้สึกว่าบ้านปลอดภัย เเละอยากอยู่บ้านมากขึ้น”
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)
อติรุจ ดือเระ
นักสื่อสารความรู้เรื่อง SDGs จบ ป.ตรี จากสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันเบนสายเรียน ป.โท ด้านวรรณกรรม สนใจประเด็นสันติภาพ การพัฒนา เเละความมั่นคงมนุษย์ เขียนบทกวีเเละเรื่องสั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
กูอิลยัส สุดทองคง
หนุ่มมลายูชายเเดนใต้ นักศึกษากฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังทดลองเเละฝึกฝนเขียนบทความ มีความกระหายที่จะเรียนรู้เเละท้าทายกับสิ่งใหม่ ๆ โดยนำเทคนิคการถ่ายภาพซึ่งตัวเองชื่นชอบมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน
ฮาฟีซีน นะดารานิง
นักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ผู้ที่มียะลาเป็นจังหวัดบ้านเกิด สนใจประเด็นทางด้านประวัติศาสตร์ ความขัดแย้ง และมานุษยวิทยา
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ