“เราอย่าคิดว่ามันจะเป็นกำไรหรือขาดทุน มันเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่จะจัดสวัสดิการให้กับประชาชน” ลำดวน มหาวัน หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองคกรของผู้บริโภค เล่าถึง 1 ใน 8 ภารกิจหลักของสภาผู้บริโภคที่ต้องทำ หนึ่งในนั้นคือเรื่องขนส่งสาธารณะ

สภาผู้บริโภคในเชียงใหม่ ดำเนินงานผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชน โดยเริ่มจากการสำรวจความต้องการและความพึงพอใจของประชาชนต่อระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการเจรจากับหน่วยงานท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล ลำดวนเล่าว่า “เราเคยทำโครงการร่วมกับ สสส. ใน 33 จังหวัดซึ่งงบประมาณที่ได้ เป็นงบประมาณร่วมทุนระหว่างสสส.และสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยในเชียงใหม่เน้น 2 ประเด็นคือ ขนส่งสาธารณะและรถรับส่งนักเรียน เช่น โครงการรถโรงเรียนสารภีพิทยาคม ซึ่งกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ”

ภาพ: โรงเรียนสารภีพิทยาคม อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ได้จัดระบบรถรับส่งนร. หลังจากได้เรียนรู้ถอดบทเรียนระบบการจัดการบริการรถรับส่งนร.จ.เชียงใหม่ ในโครงการรถรับส่งนักเรียนร่วมใจปลอดภัย ปลอดอุบัติเหตุ สอจร.จังหวัดเชียงใหม่ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) /เดลินิวส์

อย่างไรก็ตาม การทำงานเผชิญอุปสรรคหลายประการ เช่น การขาดนโยบายที่ชัดเจนจากหน่วยงานท้องถิ่น ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้ประกอบการเดิม และขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนของภาครัฐ ตัวอย่างเช่น ความพยายามจัดตั้งจุดจอดรถถาวรที่หน้าตลาดบ้านโฮ่งต้องหยุดชะงัก เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านระเบียบข้อบังคับ

ภาพ: Phuket One Map รวบรวมเส้นทางรถขนส่งสาธารณะในภูเก็ต รถโพถ้อง, ภูเก็ตสมาร์ทบัส, ภูเก็ตแอร์พอร์ตบัส และรถตู้ /บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง
ภาพ: ศึกษาดูงานขนส่งสาธารณะที่จังหวัดภูเก็ต /ลำดวน มหาวัน

ลำดวนได้รับแรงบันดาลใจจากการศึกษาดูงานที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะผ่านกลไกคณะทำงานระดับจังหวัดที่รวมทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม “อย่างที่ภูเก็ต เขาดึงทุกคนมาร่วมคิดและขับเคลื่อน ใช้เวลานานแต่สำเร็จ” ลำดวนกล่าว เธอมองว่าเชียงใหม่สามารถนำแนวทางนี้มาปรับใช้ โดยสร้างกลไกที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาระบบขนส่งที่ยั่งยืน

สภาสิทธิการเดินทางเป็นอีกกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับสิทธิของผู้บริโภคในการเดินทาง ไม่จำกัดเพียงการใช้รถโดยสารสาธารณะ แต่รวมถึงการเดินเท้าและการใช้จักรยาน ลำดวนอธิบายว่า “สภาสิทธิการเดินทางทำให้ผู้บริโภคมีสิทธิมากขึ้น เช่น เรียกร้องทางจักรยานที่ปลอดภัย หรือทางเท้าที่เหมาะสม การรวมตัวกันเป็นสภาฯ ช่วยเพิ่มพลังให้ข้อเสนอของเรามีน้ำหนักเมื่อเจรจากับหน่วยงานรัฐ”

เป้าหมายของสภาสิทธิการเดินทางคือการสร้างระบบการเดินทางที่ปลอดภัย เป็นธรรม และเข้าถึงได้ โดยมีทั้งแผนระยะสั้น เช่น การปรับปรุงจุดจอดรถ และระยะยาว เช่น การพัฒนาแผนแม่บทด้านการเดินทาง

เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ที่มีความซับซ้อนและมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคมจึงเป็นเรื่องท้าทาย ลำดวนเล่าว่า “บางครั้งเรากังวลว่าถ้าอบจ. ทำแล้วจะซ้ำรอยโครงการที่เคยล้มเหลวของเทศบาล แต่เราก็ต้องเปลี่ยนมุมมองว่าขนส่งสาธารณะคือสวัสดิการ ไม่ใช่แค่เรื่องกำไรหรือขาดทุน”

นอกจากนี้ ทัศนคติของผู้บริโภคที่นิยมใช้ยานพาหนะส่วนตัว เช่น รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่ไม่สะดวกหรือปลอดภัยพอ เป็นอีกอุปสรรคที่ต้องแก้ไข การเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริโภคให้หันมาใช้ขนส่งสาธารณะจึงต้องอาศัยการรณรงค์และการพัฒนาระบบที่มีคุณภาพ

ภาพ: ลำดวน มหาวัน หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองคกรของผู้บริโภค /กนกพร จันทร์พลอย

ลำดวนเสนอว่า ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันระบบขนส่งสาธารณะได้ผ่านแนวทางต่อไปนี้

  1. การแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องสิทธิ ผู้บริโภคสามารถใช้ช่องทางของสภาผู้บริโภคหรือสภาสิทธิการเดินทาง เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง เช่น ค่าโดยสารที่เป็นธรรม หรือการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถโดยสาร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางจักรยานและทางเท้าที่ปลอดภัย
  2. การเข้าร่วมกลไกการตัดสินใจ การสร้างคณะทำงานระดับจังหวัดที่รวมตัวแทนจากทุกภาคส่วนจะช่วยให้เสียงของผู้บริโภคได้รับการรับฟัง ลำดวนยกตัวอย่างภูเก็ตที่ประสบความสำเร็จจากการมีกลไกเช่นนี้
  3. การเปลี่ยนทัศนคติและสร้างความตระหนัก ลำดวนเน้นย้ำว่า “ถ้าเราไม่ลองใช้ขนส่งสาธารณะ มันก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง” การรณรงค์ให้ผู้บริโภคเห็นประโยชน์ เช่น การลดมลพิษและการจราจรติดขัด จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้และสร้างแรงกดดันให้หน่วยงานพัฒนาระบบ และ
  4. การเรียนรู้จากตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ การศึกษาดูงานจากจังหวัดอื่น เช่น ภูเก็ต ช่วยให้ผู้บริโภคและหน่วยงานท้องถิ่นเห็นแนวทางที่เป็นไปได้ และนำมาปรับใช้ในบริบทของเชียงใหม่

ตัวอย่างความสำเร็จในเชียงใหม่คือ โครงการรถรับส่งนักเรียนที่โรงเรียนสารภีพิทยาคม ซึ่งกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบจากการสนับสนุนของสภาผู้บริโภค นอกจากนี้ การผลักดันนโยบายด้านขนส่งสาธารณะในช่วงการเลือกตั้งอบจ. แสดงให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคในการกำหนดวาระสาธารณะ โดยผู้สมัครหลายรายเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นนี้

ภาพ: โครงการรถรับส่งนักเรียนที่โรงเรียนสารภีพิทยาคม /ลำดวน มหาวัน
ภาพ: โครงการรถรับส่งนักเรียนที่โรงเรียนสารภีพิทยาคม /ลำดวน มหาวัน

ลำดวนมองว่า การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืนในเชียงใหม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง “เราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างพร้อมกัน เริ่มจากสิ่งที่ทำได้ เช่น ปรับปรุงจุดจอดรถ หรือผลักดันนโยบายผ่านอบจ.” เธอกล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวังว่า การรวมพลังของสภาผู้บริโภค สภาสิทธิการเดินทาง และภาคประชาสังคม จะนำไปสู่ระบบขนส่งสาธารณะที่ตอบโจทย์ประชาชนและยกระดับคุณภาพชีวิตในเชียงใหม่

ท้ายสุดนี้ หากท่านอยากมีส่วนร่วมในการออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ที่เป็นธรรมและปลอดภัย ในวันที่ 30 เมษายน 2568 ที่จะถึงนี้ ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่, สภาสิทธิการเดินทาง, หน่วยบริการและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่,  เครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม  และสภาลมหายใจเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “เสียงผู้บริโภคต่อระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นธรรมและปลอดภัย” โดยการสนับสนุนงบประมาณจัดงานโดย สสส.และสภาองค์กรของผู้บริโภค

ภาพ: โปสเตอร์กิจกรรม“เสียงผู้บริโภคต่อระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นธรรมและปลอดภัย” วันที่ 30 เมษายน 2568 /หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรผู้บริโภค

กิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น. – 17.00 น.  ณ ศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ (ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์)  กิจกรรมหลัก ๆ ภายในงานจะมีการนั่งรถสำรวจเส้นทาง 3 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 เส้นทางรถเขียวชมเมืองคาร์บอนต่ำ, เส้นทางที่ 2 เส้นทางรถ RTC  และเส้นทางที่ 3 เส้นทางรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รวมถึงกิจกรรม เสียงผู้บริโภคต่อระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นธรรมและปลอดภัย และนำเสนอผลเสียงของประชาชนต่อหน่วยงานเพื่อให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนบทบาทการทำงานด้านขนส่งสาธารณะ  โดยงานจะมีการถ่ายทอดไลน์สดผ่าน Facebook หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค 

นอกจากกิจกรรมดังกล่าว จะมีบูทกิจกรรมของหน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาลมหายใจ เขียวสวยหอม ชมรมโกบอลแคมบัส และวาระเชียงใหม่ เป็นบูทกิจกรรมให้ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รับเรื่องร้องเรียน ปรึกษาปัญหาผู้บริโภคอีกด้วย.

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง