เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย และณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ /Activist Journalist
บทความนี้เขียนขึ้นสานต่อบทความ “เด็กมน. กลับบ้านบ่อย (?)” และเสนอข้อเสนอบางอย่างเพื่อให้มหาวิทยาลัยนเรศวร (และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ) เป็นมหาวิทยาลัยของทุกคน
ในบทความเด็กมน. กลับบ้านบ่อย (?) ผมได้ฉายภาพให้เห็นเงื่อนไขเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เป็นผลให้นักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวรกลับบ้านบ่อย กล่าวโดยสรุปคือ มหาวิทยาลัยนเรศวรขาดการวางแผนในการพัฒนาพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย ทำให้รอบ ๆ มหาวิทยาลัยขาดสภาพความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายและตอบสนองวิถีชีวิตของนักศึกษา หรือก็คือขาด “ความเป็นเมือง” ด้วยเงื่อนไขที่กล่าวไปนี้นำมาสู่การเขียนบทความชิ้นนี้ เพื่อเสนอข้อเสนอในการพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบ ให้รองรับวิถีชีวิตของนักศึกษา และเพื่อให้นักศึกษารู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา
ก่อนอื่นเราต้องลองย้อนกลับมามองว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่เพียงสถานศึกษาแห่งหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นพื้นที่ทางสังคมที่ครอบคลุมทั้งวิถีชีวิต การบริโภค และการเรียนรู้ทางสังคม พร้อมกันนี้เมื่อเราพูดถึงมหาวิทยาลัยสิ่งหนึ่งที่มักตกหล่นไป คือการมองให้ไกลออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัย เราไม่อาจแยกขาดมหาวิทยาลัยออกจากพื้นที่อื่นรอบมหาวิทยาลัยได้ เพราะสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตเป็นเงื่อนไขสำคัญของนักศึกษาในการเลือกจะเรียนและ “เลือกจะอยู่”
ผมยังจำได้ในช่วงที่ยังเป็นนักเรียนมัธยม เพื่อนของผมคนหนึ่งสอบติดมหาวิทยาลัยนเรศวรในสัดส่วนของโควตาภาคเหนือ แต่เพื่อนคนดังกล่าวเลือกที่จะไม่เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ พร้อมกับพูดถึงเหตุผลที่ไม่เลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยนเรศวรว่า “ไม่เรียนหรอก บ้านนอก” คำพูดนั้นยังคงอยู่ในความทรงจำของผมมาจนถึงทุกวันนี้ แลดูเหมือนว่าเพื่อนของผมคนนี้จะอยากใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ “เมือง” มากกว่า ผมจึงติดต่อเพื่อนผมคนนี้เพื่อขอสัมภาษณ์ โดยปัจจุบันเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผม: ทำไมตอนนั้นถึงไม่เลือกเรียนที่ มน. (มหาวิทยาลัยนเรศวร) จำได้ว่าตอน ม.6 นายเคยพูดว่าไม่เรียนที่นี่หรอก บ้านนอก
ภูมิ (นามสมมุติ): จริง ๆ คืออยากเรียนที่เชียงใหม่มากกว่าอยู่แล้ว เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่กว่า มน. แต่ที่พูดว่า มน. บ้านนอก ก็ตอนไปสัมภาษณ์อ่ะ เห็นมหาลัยแล้วรู้สึกว่าไม่มีอะไรเลย
ผม: ไม่มีอะไรเลยนี่คือหมายความยังไง?
ภูมิ (นามสมมุติ): คือมันไม่มีอะไร แบบรอบ ๆ มอก็ไม่มีอะไร ดูแคบ ๆ ไกลเมืองอีก ไม่รู้จะอยู่ยังไง แต่ มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) อ่ะ คือมันมีครบทุกอย่างอ่ะ จะเที่ยวจะอะไรก็ได้ มีที่ให้ไปมีอะไรให้ทำเยอะ
ผม: แล้วตอนอยู่ มช. นี่กลับบ้านบ่อยไหม
ภูมิ (นามสมมุติ): ก็ไม่ค่อยกลับนะ มันไกลเดินทางยาก อีกอย่างกลับไปก็ไม่มีไรทำ อยู่เชียงใหม่ดีกว่า กลับแค่ตอนตังค์หมด
จากบทสัมภาษณ์ข้างต้นทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาในปีแรก ๆ ที่ผมมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยทุกบ่ายวันศุกร์ผมมักจะเดินทางกลับบ้านแล้วจึงค่อยเดินทางกลับมามหาวิทยาลัยในวันอาทิตย์ ด้วยเหตุที่ว่าการเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดอุทัยธานีสามารถทำได้อย่างไม่ยากนัก ซึ่งก็นี่ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้นักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวรเดินทางกลับบ้านบ่อย เพราะจังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่อยู่ระหว่างรอยต่อของภาคเหนือกับภาคกลาง การเดินทางไปสู่จังหวัดทั้งในภาคเหนือและภาคกลางจึงทำได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตามอีกเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันที่ผลักดันให้ผมกลับบ้านคือ “ผมไม่รู้จะอยู่ทำอะไรในวันเสาร์-อาทิตย์”
สำหรับผมคำถามที่ปรากฏขึ้นคือ “เมือง” ส่งผลต่อการเลือกจะเรียนและเลือกจะอยู่อย่างไร และพอจะมีข้อเสนอใดที่อาจจะช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัยนเรศวรกลายมาเป็นพื้นที่ที่เป็นได้มากกว่ามหาวิทยาลัย หรือก็คือเป็นพื้นที่รองรับชีวิตของนักศึกษาได้
อย่างไรก็ตามเราคงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจคำว่า “เมือง” เสียก่อน สำหรับบทความนี้ เมือง หมายถึงพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของผู้คนที่สูงและมีสถานที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาทิ หอพัก ร้านค้า หรือสถานที่สังสรรค์ต่าง ๆ เป็นต้น เมืองยังหมายรวมไปถึงวิถีการใช้ชีวิตของผู้คน หรือวัฒนธรรมที่มีความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งความเป็นเมืองนี้เองที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลือกที่จะเรียนและเลือกที่อยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งของนักศึกษา
ปัง (นามสมมุติ) อดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพที่ย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเล่าให้ฟังว่า
“เด็กที่นี่อ่ะกลับบ้านบ่อย ตอนอยู่ที่มอเก่าไม่มีหรอกใครจะมากลับบ้านถี่แบบนี้ เพื่อนบางคนนะอยู่ที่มอกันทั้งเทอม บางที่ปิดเทอมมันยังไม่ยอมกลับบ้านกันเลย”
เมื่อถามถึงสาเหตุที่ปังคิดว่าทำไมนักศึกษามหาวิทยาลัยเก่าของปอนด์จึงไม่ได้กลับบ้านบ่อยเหมือนนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวรปังก็ให้คำตอบว่า
“ไม่ค่อยแน่ใจนะ คงเพราะที่นู่นมันมีหลายอย่างให้ทำมั้ง มีที่ให้ไปเยอะ กิจกรรมก็มีให้เลือกเยอะอีก ก็มันกรุงเทพอ่ะ”
ปังช่วยชี้ให้เห็นว่า 2 มหาวิทยาลัยที่ตั้งในเมืองที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในวิถีชีวิตและการเลือกจะกลับบ้านหรือจะอยู่ที่มหาวิทยาลัย เมืองจึงอาจเป็นหนึ่งในคำตอบหนึ่งที่อาจช่วยให้เราสร้างมหาวิทยาลัยและเมืองมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่ได้
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความชื่อเมืองมหาวิทยาลัย[1] โดยอาจารย์อภิวัฒน์อธิบายว่า มหาวิทยาลัยได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมบนพื้นที่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย จนก่อให้เกิดความเป็นเมืองอย่างปฏิเสธมิได้ ทั้งการสร้างหอพัก ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานบันเทิงเป็นสิ่งที่ตามมาจากการมีอยู่ของมหาวิทยาลัย โดยเมืองที่เกิดจากการมีอยู่ของมหาวิทยาลัยเราอาจเรียกได้ว่า “เมืองมหาวิทยาลัย” สภาพแวดล้อมที่น่าอยู่และความสะดวกสบายของเมืองนี่แหละที่เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินจะอยู่หรือไม่อยู่มหาวิทยาลัยของนักศึกษา หากเชื่อมโยงความเข้าใจเรื่องเมืองมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างข้อเสนอในการสร้างมหาวิทยาลัยนเรศวรให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่ พื้นที่รอบมหาวิทยาลัยหรือตำบลท่าโพธิ์จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เรามิอาจมองข้าม ฉะนั้นคำคือ “เราจะพัฒนาตำบลท่าโพธิ์เป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่ได้อย่างไร”
การทำงานพัฒนาเมือง “ร่วมกัน”
แนวทางแรกคือ การทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรและองค์กรบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ เพราะจากผลการศึกษาผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองมหาวิทยาลัยต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก[2] มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดความร่วมมือต่อกันจนส่งผลให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย การทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยและพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์
การขาดความร่วมมือระหว่างกันปรากฏให้เห็นได้มากมาย ไล่เลียงลงมาตั้งแต่แผนการพัฒนาพื้นที่ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยมองข้ามการใช้ประโยชน์จากพื้นที่น้ำซึ่งเป็นโครงสร้างเมืองและการตั้งถิ่นฐานของชุมชนท่าโพธิ์เดิม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนที่เน้นการเข้าถึงมหาวิทยาลัยผ่านทางถนนเท่านั้น กระทั่งการเกิดสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีความต่อเนื่องและไร้ทิศทาง นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่แบบแยกส่วน สะท้อนให้เห็นความไม่มีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นท่าโพธิ์ในการพัฒนาเมืองมหาวิทยาลัยนเรศวร
รองศาสตราจารย์ ดร.วิติยา ปิดตังนาโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอให้จัดทำกระบวนการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งชุมชน องค์กรของภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินสูงที่สุด อาจารย์วิติยายังเน้นย้ำว่าการพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการและกระบวนการมีส่วนร่วม คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาพื้นที่เมืองมหาวิทยาลัยนเรศวรในเชิงกายภาพ[3] อาจารย์วิติยาจึงเสนอแนวทางการพัฒนากลไกลทางสังคมเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คือการพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอไว้ดังนี้
อาศัยกับการทำความเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบองค์รวม การบูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขาวิชาจึงจำเป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือบ่ากว่าแรงของสถาบันอุดมศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยนเรศวร และต้องอาศัยการทำงานร่วมกันพัฒนาเพื่อแก้ผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและการจัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์และชุมชนท่าโพธิ์ เพื่อวางแผนปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด อาจเกิดขึ้นในรูปแบบที่ให้องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ร่วมกับชุมชนท่าโพธิ์เป็นแกนนำการพัฒนา และมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นที่ปรึกษา ด้วยเหตุที่พื้นที่รอบมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ และชุมชนท่าโพธิ์คือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตั้งมหาวิทยาลัยนเรศวร ดังนั้นทั้งสองจึงควรเป็นแกนนำที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงแล้ว ยังเป็นการสร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชน
การทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยนเรศวร องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ และชุมชนท่าโพธิ์จึงอาจเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเมืองมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่ได้ เพราะฐานของการพัฒนาเมืองคือการพัฒนา “ร่วมกัน”
“ผังเมือง” ที่เรามิอาจมองข้าม
ผมได้กล่าวไปในบทความที่แล้วว่าปัญหาของพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยนเรศวรคือ การพัฒนาพื้นที่ที่ไร้ทิศทางจนนำไปสู่การพัฒนาแบบแยกส่วน และเปรียบเทียบว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรเหมือนเมืองขนาดเล็กที่พุดขึ้นกลางทุ่งสีเขียว ที่มาของปัญหาดังกล่าว คือ “ผังเมือง” และผังเมืองนี่เองอาจเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหานี้เช่นกัน
ผังเมืองเป็นเงื่อนไขอันดับต้น ๆ ของการพัฒนาพื้นเมืองไปจนถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมือง เปรียบเทียบอย่างง่าย ผังเมืองเสมือนการติดกระดุมเสื้อเม็ดแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของการติดกระดุมเม็ดอื่นต่อไป หากเราติดกระดุมเม็ดแรกถูกต้อง กระดุมเม็ดต่อมาเราก็สามารถติดได้อย่างถูกต้องได้ไม่ยาก เราลองนึกถึงเมืองที่ผังเมืองออกแบบมาอย่างดี รู้ว่าที่พักควรจัดวางอยู่ตรงไหนของเมือง ออกแบบถนนที่รองรับการเดินทางหรือจัดให้ที่ว่างระหว่างถนนกับร้านที่สามารถจอดรถได้อย่างสะดวก เหล่านี้คือความสำคัญของผังเมือง
ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยนเรศวรมีการพัฒนาพื้นที่แบบแยกส่วน ซึ่งสาเหตุหลักคือผังเมืองอย่างแน่นอน การออกแบบและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สร้างความอยากลำบากในการใช้ชีวิตในเมือง ซ้ำยังสร้างความยากในการพัฒนาเมืองต่อไป การจัดระเบียบผังเมืองและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เสียใหม่อาจช่วยให้เมืองมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้
จากผลการศึกษารผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองมหาวิทยาลัยต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก[4] พบว่าผลกระทบทางพื้นที่มากมายรอบมหาวิทยาลัยนเรศวรส่วนหนึ่งเกิดจากความล่าช้าของการจัดทำผังเมือง การจัดทำผังเมืองที่ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่และบุคลากรของหน่วยงานท้องถิ่น และการขาดการบูรณาการในการทำงานเพื่อออกแบบผังเมือง การใช้ประโยชน์จากที่ดินจึงเป็นไปในรูปการณ์เกาะเป็นกลุ่มก้อนและไม่ขยาดตัวออก
ภาพด้านบนคือตัวอย่างของความ “ไร้ทิศทาง” ของผังเมืองและการใช้ประโยชน์ของพื้นที่โดยภาคเอกชน ที่ใช้ประโยชน์จากการจัดถนนรอบมหาวิทยาลัย โดยในรูปคือการสร้างหอพักพร้อมกับตัดแบ่งซอยโดยภาคเอกชนจนนำไปสู่ซอยขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับกับหอพักในที่ดิน การใช้ประโยชน์จากที่ดินในรูปแบบนี้นำไปสู่ซอยจำนวนมากที่มิได้ออกแบบตามผังเมืองที่น่าอยู่ การใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยภาคเอกชนที่ทำให้เกิดซอยยังนำไปสู่การปัดความรับผิดชอบระหว่างกันและกันของภาคเอกชนกับองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ เนื่องจากซอยดังกล่าวถูกสร้างโดยเอกชนทำให้ความรับผิดชอบในการดูแลและปรับปรุงถนนในซอยอยู่ในความคลุมเครือว่าควรอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายเอกชนที่เป็นผู้สร้างหรือองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ดูแลพื้นที่
การแก้ปัญหาที่ผังเมืองจึงควรเป็นการ “ออกแบบใหม่” ที่รองรับการแก้ปัญหาเดิมและรองรับการขยายตัว ประการแรกควรออกแบบผังเมืองใหม่ให้เกิดการลดความเป็นกลุ่มก้อนลง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดระเบียบพื้นที่อาคารและถนนให้มีที่แนวทางชัดเจน ไม่ปล่อยให้การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนจนเกิดการสร้างหอพัก อาคารพาณิชย์ และถนน ซอยอย่างไร้ทิศทางเพิ่มขึ้นจากเดิม การมีผังเมืองที่มีแนวทางชัดเจนเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่เมืองมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่ได้ไม่ยากเลย
ประการต่อมาคือ การออกแบบผังเมืองให้รองรับการขยายความหนาแน่นออก เพื่อให้รองรับการเกิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ๆ เนื่องจากความหนาแน่นของสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่ทางเศรษฐกิจแบบเมืองยังกระจุกตัวอยู่ในระยะที่ไม่ไกลมากจากมหาวิทยาลัยนเรศวร การออกผังเมืองให้เกิดการกระจายตัวออกไปให้ไกลกว่าเดิมจึงอาจนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และพัฒนาเศรษฐกิจในตำบลท่าโพธิ์ อาทิ การสร้างอาคารการเรียนนอกรั้วมหาวิทยาลัย หรือการสอนการวางแผนให้เกิดตลาดในรูปแบบของถนนคนเดินที่ตอบสนองความต้องการสินค้าที่มุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มนักศึกษา เป็นต้น โดยการพัฒนาพื้นที่ต้องอาศัยการออกแบบจากผังเมืองอย่างเป็นระบบและมีความมุ่งหวังในการปรับปรุงพื้นที่เพื่อการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมกับจำเป็นคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการออกแบบผังเมืองด้วยเช่นกัน การขยายตัวออกนอกจากลดความแออัด สร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ยังนำไปสู่การขยายตัวออกของพื้นที่ชีวิตและการบริโภคของนักศึกษา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่อยู่และยังรองรับความเป็นอยู่ของทุกคนไปพร้อมกัน
เราจำเป็นต้องมีผังเมืองที่ดีและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบจึงจะนำมาสู่การพัฒนาพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยนเรศวรและตำบลท่าโพธิ์ให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่ได้และรองรับทุกคน มิเช่นนั้นหากมุ่งแต่การพัฒนาหรือลงทุนโดยปราศจากทิศทางอย่างที่เคยเป็นมา ฉะนั้น “การออกแบบ” คือเงื่อนไขและคำตอบหนึ่งของการเป็นเมืองมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยนที่น่าอยู่และรองรองรับทุกคน
หรือถึงเวลาออกแบบเมืองมหาวิทยาลัยร่วมกัน?
อ่าน เด็ก มน. กลับบ้านบ่อย? : สำรวจบริบทพื้นที่ ม.นเรศวร
[1] อภิวัฒน์ รัตนวราหะ, (2563), “เมืองมหาวิทยาลัย”, The101.World, https://www.the101.world/university-city/
[2] วิติยา ปิดตังนาโพธิ์, (2555), “โครงการผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองมหาวิทยาลัย ต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก”
[3] อ้างแล้ว
[4] อ้างแล้ว
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)
ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
นักเรียนสังคมศาสตร์ ผู้สนใจที่จะอ่านสังคม
ณัฏฐวรธน์ คล้ายสมมุติ
นักศึกษาประวัติศาสตร์
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ