“ปีนี้จะเป็นปีที่เราเหนื่อยมากเพราะเราต้องเฝ้าเวรยามเพื่อป้องกันไฟป่าอย่างหนักเพราะเราไม่ได้บริหารจัดการเชื้อเพลิงตามที่ได้อนุมัติ เรายอมเหนื่อยให้จบดีกว่าให้พี่น้องเราไปตกอยู่ในอันตรายของไฟป่า” แม่หลวงอนงค์ วงสา ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ฮะ ต.บ้านปง อ.หางดงเล่าถึงสถานการณ์การป้องกันไฟป่าของชุมชนในปีนี้

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ชุมชนบ้านแม่ฮะใช้ในปีนี้จึงเป็นเรื่องของการ “ซอยแปลง” ทำแนวกันไฟให้ถี่ขึ้นก่อนที่ไฟป่าจะมา และต้องเข้าไปทำบ่อย ๆ เพราะใบไม้ร่วงตลอด เดือนมีนาคมเกือบทั้งเดือนที่ผ่านมาชุมชนจึงมีการรวมงบประมาณ กำลังคนในชุมชนไปช่วยกันทำแนวกันไฟที่ซอยแปลง แม่หลวงเล่าว่าพื้นที่บ้านแม่ฮะมีพื้นที่ป่าทั้งหมด 15,000 แบ่งเป็น ป่าอนุรักษ์อยู่ในการดูแลของอุทยานแห่งชาติออบขาน ป่าสงวนอยู่ในการดูแลของหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.13 (สันป่าตอง) และป่าชุมชน 90 ไร่ แต่เนื่องจากเป็นภูเขาสูงลาดชันเวลาที่เกิดไฟไหม้ในป่าเพราะสภาพป่าที่เป็นป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณมีใบไม้ร่วงเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุทำให้ไหม้เป็นประจำถ้าไม่ป้องกันให้ดี

ชาวบ้าน หมู่บ้านปางยาง ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ร่วมกันทำแนวกันไฟ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568

แนวกันไฟที่เราไปช่วยกันซอยแปลงในพื้นที่ป่าเต็งรัง และเบญจพรรณ เราซอยแปลงทั้งหมด 7 เส้น แต่ละเส้นที่ชุมชนไปทำแนวกันไฟมีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตรชุมชน จะใช้งบประมาณของชุมชนและงบที่ได้การสนับสนุนจากสถานีควบคุมไฟป่าออบขาน เทศบาลและโหนด สสส.จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนี้ใช้เงินไปแล้ว 36,000 บาท ซึ่งงบประมาณที่มียังไม่เพียงพอสำหรับการดูแลไฟป่าอย่างน้อย 3 เดือน เพราะจะต้องเลี้ยงอาหารและน้ำคนในชุมชนที่มาช่วยทำแนวกันไฟ ค่าน้ำมันเครื่องเป่าลม และคิดว่ายังต้องเตรียมระดมงบประมาณอีกเพราะเราจะต้องเข้าไปจัดการใบไม้ที่ร่วงหล่นตลอดในช่วง 3 เดือนอันตรายนี้

ทำไมชุมชนต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิง

ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน จะเกิดไฟไหม้ขึ้นในพื้นที่ป่า เพราะที่นี่ส่วนใหญ่เป็นป่าผลัดใบ ตั้งแต่เดือนมีนาคมใบไม้จะร่วงและแห้งพร้อมลุกลาม ปี พ.ศ. 2567 เกิดไฟป่า 7 ครั้ง โดยเกิดที่ห้วยผักไผ่จำนวน 4 ครั้ง เกิดที่ห้วยปูแกงจำนวน 3 ครั้ง โดยสาเหตุปัญหาไฟป่ามาจากไฟข้ามเขตหมู่บ้าน รอยต่อหมู่บ้าน และมีการแอบเผาเนื่องจากความขัดแย้งในชุมชน และไฟที่มาจากข้างทางลามเข้าไปในเขตป่า ประกอบกับกรอบงบประมาณรัฐที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้พื้นที่ป่าที่ชุมชนดูแลเกิดความเสียหายมากกว่า 7,500 ไร่คือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของป่าที่ชุมชนดูแล เนื่องจากพื้นที่ป่าที่ชุมชนต้องดูแลมีปริมาณมาก กำลังคนในชุมชนไม่เพียงพอต่อการดูแลพื้นที่ป่าทั้งหมด และสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงชันสันดอย จึงทำให้การเข้าไปดับไฟป่าค่อนข้างยากและอันตราย

แม่หลวงอนงค์ วงสา ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ฮะ ต.บ้านปง อ.หางดง

แม่หลวงเล่าว่าจากปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพคนทั่วไป และยังส่งผลกระทบกับจำนวนสัตว์ป่าที่ลดลง เช่นไก่ป่า อีเห็น ตัวนิ่ม ตัวแลน และพื้นที่ป่าชุมชนถูกทำลายไปจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ชุมชนร่วมกันหาทางออกในการจัดทำแผนบริหารจัดการไฟในพื้นที่คือ “การใช้ไฟเชิงกลยุทธ์” ในพื้นที่จำเป็นต้องใช้ และพื้นที่เสี่ยง-พื้นที่เกิดไฟซ้ำ ๆ ชุมชนได้จัดทำแผนการใช้ไฟเพื่อลดความเสี่ยงที่ไฟจะไหม้ลามมายังเขตที่ชุมชนต้องดูแล  โดยแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบมีส่วนร่วมจะมีการกำหนดพื้นที่และเวลาที่จะดำเนินการร่วมกันทั้งชุมชน ชุมชนใกล้เคียง หน่วยงานงานท้องถิ่น และอุทยานแห่งชาติออบขาน ฝ่ายปกครองอำเภอ และภาคประชาสังคมที่สนับสนุนจะต้องรับรู้ร่วมกันในขอบเขตพื้นที่และช่วงเวลาที่กำหนดร่วมกัน ควบคู่กับมาตราการอื่น เช่นการทำแนวกันไฟ การตั้งจุดตรวจ-จุดสกัด มีเวรยาม เป็นต้น เป้าหมายสำคัญคือลดไฟลักลอบจุดให้เหลือน้อยที่สุด ทุกการใช้ไฟมีการควบคุมจัดการให้อยู่ในขอบเขตและเวลาที่กำหนด

แม่หลวงเล่าด้วยความหนักใจว่าเรายังไม่ทันได้เริ่มทำในปีนี้เลย ก็มาเจอนโยบายของรัฐบาลส่วนกลางเสียก่อน ในฐานะที่เป็นผู้นำชุมชนก็จะความเครียดมากด้วยว่าไฟจะขึ้นและลามมาในเขตชุมชนหรือไม่ แต่ก็จะพยายามป้องกันให้ถึงที่สุด เราจึงคิดเรื่องการซอยแปลงทำแนวกันไฟให้ถี่ที่สุด  และเข้าไปทำต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณเลี้ยงอาหาร ค่าน้ำมันเครื่องเป่าลม  ก็เป็นค่าใช้จ่ายทั้งนั้น

อุทยานออบขานฯ ชี้ “ขวัญและกำลังใจและความร่วมมือ” เป็นสิ่งสำคัญ

รวมพล พานิกร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน และหัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าออบขาน

รวมพล พานิกร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน และหัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าออบขาน ได้กล่าวถึงความรับผิดชอบของอุทยานฯ ในการดูแลพื้นที่ป่าในเขตอุทยนแห่งชาติจำนวน 117,000 ไร่ครอบคลุมพื้นที่อ.แม่วาง อ.สันป่าตอง และอ.หางดงยอมรับว่าปีนี้เป็นอีกปีที่อุทยานฯต้องมีแผนการเตรียมการอย่างละเอียดมากขึ้น  แต่เราก็มีระบบการจัดการที่ดีขึ้นด้วยโดยเราวางแผนเป็นขั้นตอนชัดเจนกว่าปีที่แล้วมาก โดยมีแผนคือ  1.มีการสลับเวรชุดละ 4-6 คน จำนวน 10 ชุด 2.มีจุดเฝ้าระวังจัดจ้าง ชาวบ้านกลุ่มไหนที่มีความเข้มแข็ง เราจะจัดจ้างชาวบ้านมาเป็นหน่วยเฝ้าระวังจำนวน 29 จุด จุดละ 3 คน โดยจุดเฝ้าระวังจะอยู่ตามขอบอุทยานแห่งชาติที่จะทำให้เขามองเห็นจุดที่เกิดไฟ เมื่อเกิดไฟก็จะเข้าไปดับทันทีในเวลาที่รวดเร็วที่สุด ใช้หลักการ “เข้าถึงเร็ว ดับเร็ว” อันนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้จุด Hot Spot ลดจำนวนลงกว่าปีที่แล้ว  2.มาตรการด้านขวัญและกำลังใจจะต้องมีสวัสดิการ การเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำ เพราะส่วนใหญ่ไฟป่ามักเกิดขึ้นเวลาเย็น  คนที่เป็นอาสาสมัครจะต้องเฝ้าเวรยามในเวลากลางคืนและทำงานหนัก

“ปีนี้อุทยานฯได้รับงบสนับสนุนเพิ่มขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดีทำให้เรามีขวัญและกำลังใจดีขึ้น ซึ่งปีก่อนงบประมาณน้อยกว่านี้ เช่นคนที่เฝ้าจุดเฝ้าระวังมีแต่ค่าน้ำมัน แต่ไม่มีเบี้ยเลี้ยงทำให้ประสิทธิภาพน้อยลงเพราะบางครั้งต้องเฝ้าไปจนถึงตี 3”

นอกจากนี้ในปีนี้ มาตรการสุดท้ายที่เราใช้คือเราจะมีการทำงานเชิงรุกในชุมชน ทำความเข้าใจชัดเจนกับคนในชุมชนเรื่องการจับกุมคนที่เผาป่า โดยการใช้เทคโนโลยีตรวจจับความร้อน สามารถใช้ในการดำเนินคดีได้ เป็นต้น เพื่อให้มีการกระจายข่าวไปถึงคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าว การลักลอบเผาอาจจะทำได้ยากขึ้น เป็นต้น

ชาวบ้าน หมู่บ้านปางยาง ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ร่วมกันทำแนวกันไฟ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568

หัวหน้าอุทยานฯ ได้เล่าถึงการทำงานกับชุมชนว่ามีการทำงานร่วมกับ 22 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.หางดง ในต.บ้านปงทำงานกับบ้านแม่ฮะ แม่ขนิลเหนือ ทุ่งโป่งเหนือ ทุ่งโป่งใต้ และบ้านน้ำซุ้ม ส่วนต.น้ำแพร่ทำงานชุมชนบ้านท่าไม้ลุง บ้านน้ำแพร่ และบ้านแม่ขนิลใต้ อ.สะเมิง ทำงานกับบ้านทรายมูล และบ้านแม่ขาน และบ้านดงช้างแก้ว ต.สะเมิงใต้  อ.สันป่าตองจะทำงานกับบ้านห้วยโท้ง และบ้านหนองห้า ต.น้ำบ่อหลวง อ.แม่วาง อ.แม่วางจะทำงานกับบ้านห้วยหยวก และแม่วิน ต.แม่วิน และบ้านห้วยเนียม ทุ่งศาลา สันปูเลย ห้วยแก้ว ต.ดอนเปา

งบประมาณที่สนับสนุนได้แก่เงินอุดหนุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 50,000 บาทโดยจ้างชาวบ้านมาเป็นอาสาสมสัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ และจ้างคนที่จุดเฝ้าระวังไฟป่า โดยการวางจุดเฝ้าระวังจะดูตามขนาดของพื้นที่ป่าที่ชุมชนจะต้องดูแล ในส่วนบ้านแม่ฮะจะดูจุดเฝ้าระวัง 2 จุดเป็นต้น เมื่อชาวบ้านพบเห็นไฟเกิดขึ้นจะต้องแจ้งให้เร็วที่สุด โดยเน้น “เข้าถึงเร็ว ดับเร็ว ให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด”

นอกจากนี้หัวหน้าอุทยานฯ ได้พูดถึงปัญหาอุปสรรคและความกังวลที่คล้ายคลึงกับแม่หลวงบ้านแม่ฮะคือเรื่องนโยบายจากส่วนกลางที่พูดถึงนโยบาย Zero Burning ว่าทำให้มีความกังวลกับพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตชุมชนกับอุทยานฯ ซึ่งตอนแรกอุทยานฯ มีแผนที่จะบริหารเชื้อเพลิงในเขตรอยต่อดังกล่าว ซึ่งกินพื้นที่ไม่เยอะ โดยการทำแนวดำซึ่งมีไม่ถึง 10 กิโลเมตร เราเคยถอดบทเรียนแล้วว่าพื้นที่นั้นมีความเสี่ยงที่ไฟจะไหม้ลาม แต่เราก็ไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ “วันนี้เราก็วัดดวงเหมือนกัน เพราะมีทั้งใบไม้แห้งจำนวนมาก เราห่วงว่าจะเกิดการไหม้ลามขึ้นเขา ที่ยากมากในการดับไฟ”

“ต้องยอมรับว่าเชื้อเพลิงดูแลยาก เราควรมีการบริหาร ไม่ควรทำเป็นไฟก้อนใหญ่ และต้องให้ชุมชน ป่าไม้ และอำเภอ ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม” หัวหน้าอุทยานฯ กล่าว

ประชาสังคมชี้ระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงช่วยลดไฟลักลอบจุดให้เหลือน้อยที่สุด

ปริศนา พรหมมา สภาลมหายใจเชียงใหม่

ปริศนา พรหมมา จากสภาลมหายใจเชียงใหม่กล่าวว่าในบริบทเกษตร เช่น ไร่หมุนเวียนและป่าไม้บางประเภทยังมีความจำเป็นต้องใช้ไฟเพื่อบริหารลดความเสี่ยงจากไฟใหญ่ที่ควบคุมไม่ได้ แต่เรากลับห้าม ทำให้มีการลักลอบจุดเผาตอนกลางคืน การผลักดันมาสู่แนวทางการบริหารจัดการไฟแทนการห้ามเผาโดยเด็ดขาดเพื่อที่จะลดไฟลักลอบจุดลงให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งการลักลอบจุดมักจะเกิดขึ้นในตอนกลางคืนที่อากาศปิด ส่งผลให้ค่า PM 2.5 ขึ้นสูงในช่วงกลางคืนและตอนเช้า ถ้าเรายอมรับความจริงในระบบนี้เราจะแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงยังคำนึงการระบายอากาศโดยมีข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาจังหวัดเชียงใหม่สนับสนุน ที่จะระบุว่าช่วงเวลาไหนของแต่ละวันที่อากาศระบาย และเหมาะสมที่จะจัดการเชื้อเพลิง  ซึ่งเป็นการนำไฟจำเป็นเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

ปีที่ผ่านมาภายหลังการนำระบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิงมาใช้มีผลกระทบทางบวกอย่างน้อย 4 ด้าน 1. จุดความร้อนสะสมระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม ตั้งแต่นำมาใช้ระหว่างปี 2564-2567 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี (2554-2563)  2. ค่าความเข้มข้นของฝุ่นดีขึ้นเว้นปี 2566 ซึ่งเป็นปีเอลนีโญที่มีความแห้งแล้งอย่างมาก 3. เกิดความร่วมมือหลายฝ่ายทั้งในระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ระหว่างชุมชน หน่วยงานป่าไม้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 4.ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชนในระดับพื้นที่ลดลง เพราะเดิมมีการจับกุมชาวบ้านที่ใช้ไฟเพื่อปกป้องสวนของตนเองหลายคดีในแต่ละปี ต่อมาหน่วยงานป่าไม้/อุทยานฯหลายพื้นที่ได้หันมาใช้วิธีการทำแนวดำระหว่างสวนกับพื้นที่ป่าร่วมกัน ตัวอย่างอุทยานฯ ออบขานและเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนก็ทำให้สถานการณ์ระหว่างชุมชนกับอุทยานฯ ดีขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของการนำเรื่องจุดความร้อน และพื้นที่เผาไหม้มาใช้อ้างอิงยังมีข้อจำกัดในเรื่องการแปลข้อมูลจากดาวเทียมในแต่ละปีที่ใช้คนละดวง รวมทั้งปัจจัยเรื่องสภาพอากาศในแต่ละปี ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงเรื่องจุดความร้อนและค่าฝุ่นได้โดยตรง

ส่วนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแอพพลิเคชั่น Fire D ที่มีการตั้งประเด็นว่าไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ได้รับผลกระทบรับทราบ ความจริงแล้วมีระดับการเข้าถึงข้อมูลหลายชั้น คือในส่วนชั้นข้อมูลเพื่อปกป้องตัวเองจากฝุ่น PM2.5 ของประชาชนทั่วไปนั้นมีการเปิดเผยข้อมูลอยู่แล้ว ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยปัจจุบันFire D ได้มี Line official ที่สามารถดูพิกัดที่มีการบริหารเชื้อเพลิง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยง ไม่เข้าไปในบริเวณดังกล่าวหรือหากจำเป็นต้องอยู่ในบริเวณนั้นก็สามารถหาวิธีป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM2.5 ทั้งหน้ากาก หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่น ไม่ออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาดังกล่าว

ชั้นข้อมูลสำหรับการบริหารสถานการณ์ /และการตัดสินใจนั้น ในส่วนนี้จะมีแอดมินแต่ละระดับคือระดับตำบล และระดับอำเภอสามารถเห็นคำขอในพื้นที่ของตัวเอง ส่วนระดับจังหวัดจะมีสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ที่เห็นภาพรวมทั้งหมด ซึ่งเป็นคนบริหารสถานการณ์ภาพรวม การบริหารสถานการณ์นี้จะมีข้อมูลส่วนบุคคลทำให้ไม่สามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้

ในส่วนข้อมูลเพื่อสรุปบทเรียนระหว่างผู้เกี่ยวข้องนั้น มีการสรุปเรื่องนี้ร่วมกันโดยเฉพาะยังมีน้อย ซึ่งในระยะต่อไปจะต้องมีวงเฉพาะสำหรับการนำข้อมูลทั้งหมดมาดูกัน ทั้งคำขอ การอนุญาต ผลการจัดการตรงไหนมีคุณภาพเป็นไปตามแผน ตรงไหนมีปัญหา ปัจจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปรับปรุงในปีต่อ ๆ ไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น.

.

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง