เรื่องและภาพ: อธินันท์ อรรคคำ /Activist Journalist
“มันจะมีคำนึงเว่ยถ้าหากว่าเราสังเกตในโซเชียล ‘บ้านเฮามันกะซำบ้านเฮาล่ะ’ อะไรแค่นั้นน่ะ ประโยคนี้มันเหมือน Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ที่บีบเราไว้ กดเราไว้ว่าอีสานหรือว่าบ้านเราเนี่ย อย่าไปอะไรมากมาย ซึ่งพี่แบบ เชี่ย! ไม่ใช่ บ้านเฮามันต้องบ่แม่นซั่มบ้านเฮา!”
เสียงบ่นของบ่าวหน้ามนคนขอนแก่น ประสานกับเสียงเอื้อนของอ้ายมนต์แคน แก่นคูนซึ่งดังมาจากลำโพงโรงลาบอีสาน ร้านที่เรานั่งเปิบข้าวอยู่ “อภิเดช วงสีสังข์” (บิ๊ก) วัย 30 กรุบ จากบ้านเข้ากรุงไปทำงาน ทิ้งเงินหลักแสนกลับขอนแก่น ปั้นแบรนด์ไวน์ด้วยเงินเก็บทั้งหมดที่มี เพราะอยากปฏิวัติการทำกินในพื้นที่ด้วยไวน์-หม่อน-เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในบ้านเกิด เผชิญสายตาจากคนข้างนอกที่มองเข้ามาว่า อิหยังของมึงวะ เรียนจบสูงเป็นวิศวกรโก้ ๆ ในกรุงได้เงินเป็นกอบกำมันก็ดีอยู่แล้ว หรือรอเป็นเศรษฐีถูกหวยรางวัลที่หนึ่งค่อยเมียบ้านมาเฮ็ดกินแบบนี้ดีกว่าเว้ย!
“แถวบ้านเราไม่เคยพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แค่เพิ่มเสาไฟ ถนนลาดยางแค่นั้นแหละ แต่ผู้คนยังเหมือนเดิม มันจะดีขึ้นกว่านี้ได้จุดเริ่มต้นมันต้องเริ่มจากความเชื่อก่อน เรากลับมาบ้าน เราไม่ได้กลับมาทำให้มันเป็นเหมือนเดิม แต่กลับมาด้วยความเชื่อที่ว่าเราอยากเปลี่ยนให้มันเป็นชุมชนที่ดีขึ้นกว่านี้ผ่านตัวไวน์และลูกหม่อน ทำให้มันเป็นตัวชูโรงพื้นที่ของเรา”
อีสาน ภูมิภาคที่ใหญ่คนเยอะที่สุดในไทย และใช่, ยังคงเป็นภาคที่มีรายได้ต่ำสุดในประเทศตลอดกาล! วัดจาก“ผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัว (GRP per capita)” หรือ “ค่าเฉลี่ยต่อหัว” ตัวเลขอันแสดงถึงความสามารถในการสร้างมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของภาคต่อประชากร 1 คน ยิ่งค่าเฉลี่ยสูง ศักยภาพการสร้างรายได้ยิ่งมาก
สถิติที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรวบรวมล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2564 พบว่า “ภาคตะวันออก” มีค่าเฉลี่ยต่อหัวสูงสุด คือ 469,872 บาทต่อปี ส่วนภาคอื่น ๆ ล้วนมีค่าเฉลี่ยหลักแสนบาทขึ้นไป ยกเว้น “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดเพียง 90,998 บาทต่อปีเท่านั้น!
ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่าเพราะรายได้หลักของภาคอีสานมาจากผลผลิตภาคการเกษตรซึ่งมีราคาต่ำและไม่แน่นอน
มาที่ระดับจังหวัดกันบ้าง ค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวต่อปี (GPP per capita) ของ “จังหวัดขอนแก่น” แม้จะสูงเป็นอันดับสองของภาคอีสาน แต่อยู่ที่อันดับ 33 ของประเทศจากทั้งหมด 77 จังหวัด! นี่จึงทำให้วัยรุ่นขอนแก่นรู้สึกเจ็บช้ำหมองใจเมื่อต้องออกไปทำงานไกลบ้าน ขณะที่รู้สึกอยู่ลึก ๆ ว่าบ้านเฮามีศักยภาพพอที่สร้างสรรค์การทำมาหากิน (ให้ดีขึ้น)
“จริง ๆ ลูกหม่อนมันมีสรรพคุณที่ดีเยอะนะ เยอะมาก ๆ เลย เพียงแค่ว่าการตีตลาดของลูกหม่อนมันไม่ค่อยถูกโปรโมท”
หม่อน ผลไม้ที่โตได้ทุกที่ มีดีมากกว่าเลี้ยงไหม!
ย้อนไป 30 ปี ใน พ.ศ. 2536 “วิโรจน์ แก้วเรือง” นักการกระทรวงเกษตรจากศูนย์หม่อนไหมอุดรธานี เคยเขียนคอลัมน์ในหัวข้อ “หม่อน” ไม่ใช่เพียงอาหารของตัวไหม ผลยังใช้ทำไวน์และน้ำผลไม้ ลงบนหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” เขาและคณะศึกษาพบว่าหม่อนสามารถนำมาทำน้ำผลไม้และไวน์ได้รสชาติดีไม่แพ้ผลไม้ชนิดอื่นและมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
“เกษตรกรที่ปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมอยู่แล้ว ไม่ควรปล่อยให้ผลหม่อนร่วงหล่นไปอย่างไร้ค่า อย่างน้อยเมื่อนำมาทำเป็นน้ำผลไม้หรือไวน์ ก็สามารถใช้บริโภคในครอบครัวหรือทำเป็นอุตสาหกรรมภายในครอบครัว”
เขาเขียนสนับสนุนไว้พร้อมแปะสูตรการทำไวน์หม่อน (สูตรลูกทุ่ง) ให้ไว้เสร็จสรรพ
ก็เอาแต่ช้าเอิงเอยเอ้อระเหยลอยชาย ก็ได้แต่ต๊ายต๊ายตายจะลงเอยแบบไหน ~ (เพลง) ตลอดเวลาที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ไม่เคยมีแผนสนับสนุนให้เกษตรกรพี่น้องชาวไทยปลูกหม่อนเพื่อแปรรูปเป็นไวน์ (อย่างจริงจัง) ในขณะที่ส่งเสริมโครงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม (โดยไม่ขาด) น่าเสียดาย หากเสริมการแปรรูปผลไม้อันล้ำค่าให้มีมูลค่าล้ำขึ้น อาจจะส่งให้ค่าผลิตภัณฑ์ต่อจังหวัดต่อหัว ต่อภาคต่อหัวเพิ่มขึ้นได้บ้าง!
บิ๊ก หนึ่งในผู้บ่าวยุคใหม่ซึ่งรักเร้าใจในรสหม่อนมาตั้งแต่เด็ก ที่เขายากจนไม่มีเงินซื้อผลไม้ เดินเหม่อไปเจอต้นหม่อนที่ชาวบ้านปลูกไว้เลี้ยงไหม ได้เด็ดชิมเด็ดเล่นเด็ดเล่นเด็ดชิม ร้องอู้ว! ติดใจ บัดนี้เขาในวัย 30 เล็งเห็นโอกาสที่จะแปรรูปมันเป็นไวน์ ซึ่งเขาเห็นว่าทำง่าย ใช้หม่อนเพียงไม่กี่ลูกก็สามารถแปรรูปได้ มีความ hi-end มูลค่าสูงกว่าเครื่องดื่มทั่วไป ที่สำคัญคือยังไม่มีไวน์ท้องถิ่นตัวไหนเด๊นเด่นขึ้นมาในจังหวัดขอนแก่น
“ทุกวันนี้ถ้าคนพูดถึงเหล้าขอนแก่น เขาจะนึกถึงเหล้าคูนขอนแก่น แต่ถ้าเป็นไวน์อ่ะ เรายังไม่เคยเห็นคนทำไวน์ในขอนแก่น ตอนนี้เป้าหมายสำคัญคือเราจะเป็นไวน์ของขอนแก่นให้ได้”
ลูกหม่อนที่บิ๊กนำมาแปรรูปส่วนใหญ่สั่งซื้อมาจาก “วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปสมุนไพรอินทรีย์บ้านพารวย” ที่จังหวัดมหาสารคาม ที่ซึ่งเขาได้จ้าง Wine maker (ผู้ผลิตไวน์) ซึ่งมีโรงหมักไวน์ขนาดเล็กถูกต้องตามกฎหมายเป็นผู้แปรรูปไวน์ให้โดยมีบิ๊กเป็นผู้ควบคุมรสชาติ
ระหว่างนี้เขาทดลองปลูกหม่อนด้วยตัวเองบนที่นาเก่าของยายจำนวนหนึ่งไร่ที่ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยติดต่อขอต้นหม่อน “พันธุ์เชียงใหม่ 60” ลูกดกอร่อย ฟรี มาจากศูนย์หม่อนไหมขอนแก่น ประมาณ 150 ต้น ติดต่อขอดูงานจากสวนหม่อนในอีสาน ทดลองตัดแต่งกิ่ง แบ่งโซนให้น้ำอดน้ำจนหม่อนดก บัดนี้เข้าปีที่สองของการทดลองปลูกแล้ว เขาพบว่า
“หม่อนมันทนทุกฤดูกาล ชอบอากาศร้อน ไม่มีน้ำขัง ซึ่งอากาศอีสานมันเป็นแบบนั้นเลย ปีนึงถึงสองปีก็ออกลูกได้ดกเหมาะกับการแปรรูป เรื่องน้ำเรื่องดินจริง ๆ ถ้ามันเกิดแล้วก็ปล่อยไปได้นะ ไม่ต้องคิดไรเยอะถ้ามันติดแล้ว ปลูกง่าย บางทีหักกิ่งทิ้งลงดินก็เกิดต้น ติดเลย”
อดสงสัยไม่ได้ หม่อนโตที่อีสานจะแตกต่างกับหม่อนโตที่อื่นยังไง ?
“ถ้าสายพันธุ์เดียวกันมีรสชาติเหมือนกัน ต่อให้ปลูกที่เหนือ อีสาน สวนชาวบ้าน สวนเรา จุดแตกต่างจะอยู่ที่การปรุงรสชาติ เหมือนงานฝีมือจะทำยังไงให้ลูกค้าชอบ อีกจุดนึงที่สำคัญคือสตอรี่ของไวน์แต่ละแบรนด์ เราจะสื่อสารให้กับลูกค้ายังไงให้รู้ว่าสิ่งที่เขาได้ไปมันคืออะไร”
“มันมีแค่ที่ขอนแก่นนะ พี่ต้องการที่จะทำให้มันเป็นแบบนั้น ไม่ต้องการให้คนสงสาร เฮ้ย นี่ไวน์ชาวบ้าน อ่ะเอาไป อ่ะซื้อ”
ภาพจำปัญหาของไวน์ท้องถิ่น
ไวน์จัดอยู่ในกลุ่ม “สุราแช่” ซึ่งนับตั้งแต่ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องวิธีบริหารงานสุรา พ.ศ. 2544 มาจนถึง พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ใช้จนถึงปัจจุบัน กำหนดให้ผู้ผลิตที่จะได้รับอนุญาตผลิตสุราแช่ต้องเป็น สหกรณ์ , นิติบุคคล ,วิสาหกิจชุมชน , กลุ่มเกษตรกร ,หรือองค์กรเกษตรกร และต้องขออนุญาตจากกรมสรรพสามิต
ด้วยความที่ “วิสาหกิจชุมชน”เป็นกลุ่มที่ต้องเสียภาษีน้อยที่สุด จึงเป็นกึ่งไฟลต์บังคับที่คนทุนน้อยต้องขึ้น บิ๊กจดแจ้งไวน์ “Refaith” (รีเฟท) ของเขาภายใต้วิสาหกิจชุมชนเจ้าเดียวกับรุ่นพี่เจ้าของโรงหมักไวน์ หลังได้รับใบอนุญาตจากกรมสรรพสามิต เขาส่งไวน์วางขายตามร้านอาหาร 2-3 ร้านในขอนแก่นและเปิดให้สั่งซื้อจากช่องทางออนไลน์ โดยมุ่งเป้าตลาดกลางที่เข้าถึงคนหลายกลุ่ม
“ปกติถ้าเราจะขายไวน์ เราจะต้องนึกถึงภัตตาคาร โรงแรม ต้องคนมีเงินอ่ะนะถึงจะซื้อกินได้ ตอนช่วยกัน brainstrom ระดมความคิด กับน้องเยาวชนแถวบ้าน น้องเขากลับมองว่าถ้าทำไวน์ให้คนทั่วไปกินได้อ่ะ ทำให้มันแมสกับทุกคนได้ล่ะ พี่ว่ามันก็จริง ตอนนี้กำลังทำตลาดกลาง ให้ตลาดบนเป็นเรื่องของอนาคตดีกว่า จริง ๆ อยากให้วงการไวน์ไทยไปถึงจุดที่คนเห็นว่าส่งออก มีชื่อเสียงได้”
แต่บิ๊กกลับไม่พอใจนักที่ภาพจำของไวน์ท้องถิ่นในปัจจุบันตามที่เขาเห็นคือไวน์ OTOP (สินค้าโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) เพราะมีภาพลักษณ์ที่คนต้องช่วยซื้อด้วยความสงสาร ขณะที่คุณภาพและรสชาติหลายเจ้าที่เขาสั่งมาลองชิมยิ่งทำให้ปวดลิ้น เจ็บใจ ไม่ใช่ภาพจำของไวน์ท้องถิ่นที่เขาต้องการ
“เราไม่ได้มองว่า OTOP ไวน์ชาวบ้าน ไวน์วิสาหกิจชุมชนเป็นเรื่องที่แย่นะ แต่รสชาตินั่นต่างหากที่แย่ ทำให้เราที่อยากทำไวน์ให้ดีขึ้นมันเจ็บใจ! เราเคยลองโทรสั่งไวน์จากเชียงรายเชียงใหม่เนี่ยแหละ โอ้โห อย่างนี้เลยเหรอ เหมือนเอ็มร้อยเลยกินแล้วดีดมาก รู้สึกว่าไวน์มันถูกด้อยคุณค่าไปอ่ะ”
บิ๊กบอกว่าเขาอยากจัดตั้งกลุ่มองค์กรเล็ก ๆ ในชุมชน ที่ไม่ได้ขายคำว่าวิสาหกิจชุมชนและมีผู้นำเป็นเยาวชนที่ตั้งใจขับเคลื่อนวงการไวน์(บ้าง)
“เคยเห็นวิสาหกิจชุมชนไหนที่รุ่งเรืองปัง ๆ ไหม ไม่มี มีช่วงนึงแล้วก็หายไป ทุกคนก็กลับไปทำอาชีพเดิมหมดเลย สังเกตดูสิ
มีผู้ประกอบการที่ขึ้นมาจากวิสาหกิจชุมชนแล้วเดอะเบสท์มั้ย ไม่มี ดูอย่างเจ้าสัวพีซี มีแต่คนตัวใหญ่ ๆ ที่มีเงินน่ะนั่นแหละ
ถ้าเราจะทำไวน์แบบ OTOP ยังไงมันก็ไม่เจริญ ด้วยรากฐานที่มันเคยมียุคนั้นกับยุคนี้ ภาพมองมันเปลี่ยนไปแล้ว คนปกติเขามองว่าเป็นเรื่องช่วยเหลือชุมชนเป็นเรื่องที่ดีนะนู่นนี่นั่น แต่สำหรับผู้ประกอบการมุมมองแบบนี้ไม่ได้เลย”
เรื่องแบบนี้ฟังหูไว้หู ไม่มีอะไรดีไปกว่าการพิสูจน์ด้วยลิ้นตัวเอง แต่บุญกรรม แม้ทุกวันนี้จะสั่ง-ส่งสินค้าข้ามจังหวัดกันได้ง่าย ๆ ครั้นจะซื้อขายไวน์ไทยรายย่อยมาชิมเล่นก็เจอข้อจำกัดสีเทา ๆ เพราะการโฆษณาไวน์เพื่อขายทางออนไลน์นั้นยังผิดกฎหมายยังไงล่ะ!
“มาตรา 32 มันเหมือนกับเราจะขึ้นเหนือน้ำแล้วถูกตีนเหยียบไว้อ่ะ นอนพะงาบ ๆ แล้วอ่ะ ถ้าปลดมาตรา 32 ได้ รู้สึกชีวิตเกิดใหม่ เพราะรายได้เราหลัก ๆ คือทางออนไลน์ มากถึงประมาณ 85% จากรายได้ทั้งหมด”
ปลดล็อก พ.ร.บ.สุรา มาตรา 32 = เปิดหน้าน้ำให้ขึ้นมาหายใจ!
กฎหมายกำหนดไว้ว่างี้
พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ห้ามโฆษณา ใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือนำมาตัดต่อ ดัดแปลงข้อความเป็นเครื่องหมายผลิตภัณฑ์อื่น ที่อาจทําให้เข้าใจถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
แล้วเจ้าของไวน์ที่ยอดขายหลักมาจากทางออนไลน์ว่าไง
“ต้องการแก้อย่างเร่งด่วน! เรื่องแรกที่อยากให้ปลดล็อกที่สุดคือมาตรา 32 ห้ามโฆษณา ห้ามขายออนไลน์ ห้ามแสดงโลโก้ ห้ามแสดงนู่นนี่นั่น รูปภาพอะไรก็ตามแต่ ห้ามทุกอย่าง! เราไม่สามารถโพสต์ไวน์ตัวเองได้ ถ้าคนอื่นโพสต์เชิญชวนเขาเองก็ผิดหรือเราเองก็ผิด
คือต้องการขายออนไลน์ให้มันได้อ่ะ แค่นั้นเลย ถ้าไอ้มาตราตัวนี้มันผ่านได้ กระบวนการต่อไปเราจะไปมาตราไหนก็ค่อยไปว่ากันอีกทีนึง เอาแค่ขายของธรรมดายังไม่ได้ หลัก ๆ ให้เราได้ขึ้นมาโผล่หน้าน้ำหายใจก่อน!”
บิ๊กตั้งความหวังกับการขับเคลื่อนของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่จะช่วยปลดล็อกมาตรา 32 ปี พ.ศ. 2566 นี้ เขาได้ไปร่วมงานจัดแสดงสินค้าสุรารายย่อยที่จัดโดยกลุ่มประชาสังคมและพรรคการเมือง ทำให้ได้พบปะกับลูกค้าและชิมไวน์เจ้าอื่น ๆ ประกายความหวังอีกอย่างของบิ๊กคือกระแสตอบรับของสังคมที่มีต่อสุราไทย
“หลังจากที่ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้ามันผ่านวาระแรกใช่มั้ย โอ้ย หลายเพจเอาสุราชุมชนเอามานำเสนอคอนเทนต์เยอะอ่ะ แล้วมันดีมาก ๆ เลยนะ กระแสฟีเวอร์เลยอ่ะ (ใช่!) เรารู้สึกว่าแบบโอ้โห มันไม่หยุดนิ่งไม่หวาดไม่ไหว”
ในขณะที่การส่งเสริมทั้งหมดที่เขาได้รับจากรัฐคือต้นหม่อนและความรู้การวางระบบน้ำ บิ๊กเคยไปขอความช่วยเหลือจากผู้นำระดับตำบล เขาจะได้รับทุนสนับสนุนหนึ่งแสนบาทและถูกโปรโมทขายตามสถานที่ท่องเที่ยว ก็ต่อเมื่อ เขาจดทะเบียนในนามวิสาหกิจชุมชนของตำบลและแปะโลโก้ตำบลลงบนผลิตภัณฑ์ ซึ่งบิ๊กไม่ต้องการเช่นนั้น ความช่วยเหลือจากรัฐที่เขาต้องการจึงมีเพียงการปลดล็อกกฎหมายเท่านั้น!
“เวลารัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมอะไรแบบนี้ มันเป็นภาพคนยกโขยงมาแค่ชั่วคราว สิ่งที่รัฐควรจัดการมากที่สุดก็คือเรื่องกฎหมาย แค่นั้นแหละ ไม่ต้องมาเดินดูชาวบ้านหรอก เปิดให้กฎหมายมันเอื้อกับชาวบ้าน ผู้ประกอบการแค่นั้นมันน่าจะถูกต้องที่สุด เหมาะสมที่สุดกับการเป็นรัฐบาล”
ไวน์รายย่อยในท้องถิ่น จะช่วยกระจายอำนาจท้องถิ่นยังไง ?
“จริง ๆ เราก็ไม่ได้คาดหวังให้ภาครัฐมากระจายอำนาจอะไรหรอกนะ หวังแค่กฎหมายอย่างเดียว การกระจายอำนาจของเราก็คงเป็นการที่คนในชุมชนได้เห็นว่าอะไรที่มันควรจะเป็นและสามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าถึงเวลาที่ชาวบ้านเขาเชื่ออย่างนั้นแล้ว การสนับสนุนจากทางภาครัฐหรือผู้ใหญ่บ้านก็คงต้องเปลี่ยนแปลง”
บิ๊กมองต่อเนื่องไปที่การกระจายอำนาจให้วัยสะรุ่นในพื้นที่ เมื่อคนรุ่นใหม่สามารถเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลงการทำมาหากินในชุมชนได้
“สิ่งหนึ่งที่เขาพูดกับพี่หลังไปฝึกงาน เขาพูดว่าผมไม่อยากทำงานอยู่ในระบบโรงงานเลย เขาสนใจไวน์ สนใจหลาย ๆ อย่างในพื้นที่ชุมชน เขาไม่ได้อยากไปไหนไกลเลย แต่คนในชุมชน คนในบ้านเราหรือคนในประเทศเราเขาไม่ได้มองว่าเด็กและเยาวชนทำอะไรบ้าง
เรามองภาพเป็นธุรกิจที่มีเยาวชนเป็นแกนนำ เรามองถึงศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ที่เขามีคุณภาพจะมาพัฒนาต่อยอด อาจจะนำเสนออะไรต่อระดับจากเรา เราจะไม่ได้มองเรื่องงาน OTOP”
กลัวมั้ย ? ถ้าพ.ร.บ.ควบคุมสุรามันเสรีขึ้นจนถึงจุดที่ใครก็ทำไวน์ขายได้ง่าย ๆ วงการไวน์บูม
“มีคิดมั้ย กังวลนิดนึงนะ มันคือการแข่งขัน มันจะต้องมีผู้ที่หนึ่งที่สองที่สาม สิ่งที่กังวลคือเราไม่ได้ต้องการที่จะเป็นผู้ตาม แต่ก็คิดว่าพี่เก่ง (หัวเราะ) ดูมั่นหน้า เราต้องการที่จะอยู่ต้น ๆ อย่างที่หนึ่งของจังหวัด ท็อปแรงค์ของอีสาน ในระดับประเทศให้คนจำได้ก็โอเค”
แค่ฟังก็น่าหมั่นไส้ เอ้ย น่าสนุก (ใช่มั้ยล่ะ) ถึงวันนั้น หากภาพฝันของบิ๊กเป็นจริง คงเป็นวันที่การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายได้ซอดแจ้งขึ้นแล้วในวงการไวน์และเศรษฐกิจท้องถิ่น เราอาจได้เห็นตั้งแต่การตั้งธงเกษตรกรรมที่นำไปสู่เป้าหมายใหม่ ๆ การแปรรูปพืชผลไม้ในท้องถิ่นที่กระตุ้น GPP และกระเตื้อง GRP ความหลากหลายของรสไวน์ เศรษฐกิจการกินที่คึกคักของอีสาน การแข่งขันที่ดุเดือด! ไม่มีใครยอมใคร! ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย สนุกสนานกับการชิมไวน์ใหม่ ๆ ไม่รู้จบ (ไปจนถึงการส่งออกของประเทศ)
กระทั่งสินค้า OTOP ไวน์วิสาหกิจชุมชนคนแก่ที่หลายคนดูแคลน ก็อาจมีกลุ่มผู้เล่นมากขึ้น มีวัยสะรุ่นเป็นตัวนำ หรือมีภาพจำจ๊าบแจ่ม เชื่อว่าหากมีองค์ความรู้และได้รับการสนับสนุนที่ดีแล้ว ไวน์วิสาหกิจชุมชนของชาวบ้านธรรมดา ๆ ตาแก่แม่เฒ่าก็อาจอร่อยเด็ดดวง เป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อได้เหมือนกันแหละว้า สู้เขา!
คำถามที่ยังทุ้มอยู่ในใจ…
แล้วไวน์หม่อนกินคู่กับอาหารอีสานได้มั้ย ?
“ได้! ลองแล้ว”
กับอะไรอร่อย ?
“กินกับซอยจุ๊”
Cheers!
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)
อธินันท์ อรรคคำ
ผู้สาวขาเลาะ เจ๊าะแจ๊ะหาเรื่อง
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ