เมื่อเข้าสู่ฤดูหมอกควัน ปัญหาที่เราเผชิญนับวันจะหนักขึ้นคือเรื่องของสภาพอากาศที่ย่ำแย่ และความเจ็บป่วยเรื้อรังของคนในชุมชนก็จะกลับมาโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ เราถามหาพื้นที่สีเขียว และต้นไม้เพื่อลดปัญหาหมอกควันกันเสมอ แต่การทำงานเพื่อดูแลและฟื้นฟูต้นไม้เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในเขตเมืองหรือเขตรอบ ๆ เมือง
อ.สันกำแพง เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีความพยายามในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูต้นไม้ เช่นต้นฉำฉาที่เหลืออยู่บนถนนสันกำแพงสายเก่า ในห้วงเวลาสิบปีของการพูดถึงการดูแลรักษาต้นฉำฉา มีคำถามมากมายจากกลุ่มต่าง ๆ ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยต่อการฟื้นฟูต้นฉำฉาที่เจ็บป่วย ดังนั้น การกลับมาพูดคุยและหาทางออกต่อเรื่องนี้ในภาวะโลกรวน และปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น
จากการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์จามจุรีบนถนนสันกำแพงสาย 1006 (คณะกรรมการฟื้นฟูจามจุรี) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลสำรวจจำนวนและสุขภาพของต้นฉำฉาในปัจจุบัน โดย อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ถนนสายฉำฉาโดยทางอำเภอ
หลังจากนั้นที่ประชุมมีข้อสรุปเรื่องการสำรวจความคิดเห็นต่อผู้ใช้ถนนบนถนนสายดังกล่าวต่อเรื่องนี้ทีมนักเรียนกลุ่มเยาวชนพลเมืองสันกำแพง โรงเรียนสันกำแพงได้รับอาสาที่จะสำรวจข้อมูลความคิดเห็นนำร่องของคน 2 ตำบลที่มีต้นฉำฉาอยู่เป็นจำนวนมากที่สุด ได้แก่ ต.ต้นเปา และต.สันกำแพง
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประชาธรรมจึงร่วมกับโรงเรียนสันกำแพง และโรงเรียนบ้านหนองโค้ง ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการเปลี่ยนสันกำแพงด้วยพลังเยาวชน จากมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน จัดกิจกรรม “พื้นที่สีเขียวกับลมหายใจคนสันกำแพง” ณ ชุมชนโหล่งฮิมคาว อ.สันกำแพง เพื่อร่วมกันรับฟังข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของคนสันกำแพงต่อต้นฉำฉา โดยกลุ่มเยาวชนพลเมืองสันกำแพง โรงเรียนสันกำแพง และนำเสนอโปรเจกต์ทดลอง ทำปุ๋ยจากใบฉำฉา สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในพื้นที่สันกำแพง จากโรงเรียนบ้านหนองโค้ง
ตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนพลเมือง โรงเรียนสันกำแพง กล่าวถึงที่มาของการไปสำรวจความคิดเห็นของคนสันกำแพง ทำในพื้นที่ 2 ตำบลคือ ต้นเปาและสันกำแพงเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีต้นฉำฉามากที่สุด โดยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 100 คน พบว่าคนสันกำแพงกว่า 85 % เห็นด้วยกับการมีต้นฉำฉา เพราะความร่มรื่นและสวนงาม ต้องการให้เกิดการฟื้นฟูดูแล แต่พบว่ากว่า 90% อยากให้มีกองทุนเยียวยาเมื่อมีผู้ได้รับผลกระทบจากต้นฉำฉา และกว่า 80% ยังไม่ทราบว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ดูแล
ข้อมูลบางส่วนจากผลสำรวจ ดาวน์โหลดได้ที่ ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของคนสันกำแพงต่อต้นฉำฉา
ด้านนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองโค้งนำข้อมูลเรื่องต้นฉำฉาสันกำแพงสู่การปฏิบัติจริง ทดลองทำโปรเจกต์ปุ๋ยจากใบฉำฉา โดยตัวแทนเยาวชนกล่าวถึงประโยชน์ของต้นฉำฉาว่า “รร.ของเรามีฉำฉาอยู่หน้าโรงเรียน แล้วเราช่วยกันกวาดใบไม้ มันก็ดูสะอาดดี เอามาทำปุ๋ยให้เกิดประโยชน์ และขายได้”
ต่อมาเป็นเวทีเสวนา “พื้นที่สีเขียวกับลมหายใจสันกำแพง และบทบาทเยาวชน ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจ และโหล่งฮิมคาว, อนันต์ศิลป์ พรหมลิขิตศิลป์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง, สุรพงษ์ พรรณวงษ์ Thai PBS, สมศักดิ์ อรุณโสตถิกุล ปลัดอาวุโส อำเภอสันกำแพง, ปัณณพร ไพบูลย์ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), ภควรรณ แสงศรี นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ ทสจ.เชียงใหม่ และจันทร์แสง พรมสี รองศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย นันทา เบญจศิลารักษ์ มูลนิธิสื่อประชาธรรม
เยาวชนเริ่มลงมือ-สำรวจ-รณรงค์ จุดประกายต้นฉำฉาสู่ภาพใหญ่
ด้านจันทร์แสง พรมสี รองศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่าการให้โอกาสของผู้บริหารของสถาบันการศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อเชื่อมกับชุมชน และอาจนำไปสู่หลักสูตรการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างต่อเนื่องได้
ปัณณพร ไพบูลย์ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) มองว่าด้วยกระบวนการรู้เท่าทันสื่อ (MIDL) ทำให้เขาได้ขับเคลื่อนประเด็นพร้อมชุดความรู้ ชุดข้อมูล การพาเด็กออกไปเรียนรู้นอกรั้วของโรงเรียน เด็กเริ่มขับเคลื่อนด้วยชุดข้อมูล จากที่ไม่รู้ว่าต้นนี้เรียกว่าต้นฉำฉา ไม่รู้ว่านอกรั้วโรงเรียนมีอะไร กระบวนการนี้ทำให้เด็กได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ สิ่งรอบตัวและกับชุมชน มากกว่านั้นยังมีการขับเคลื่อนด้วยการสื่อสารบนฐานของทางออก วิธีการแก้ไขปัญหาของเรื่องต้นฉำฉาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านผลิตภัณฑ์ “ปุ๋ยจากใบฉำฉา” หรืออาจเรียกว่า “create and action” ถือเป็นขั้นสูงสุดของกระบวนการเรียนรู้ MIDL
ด้านชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เชื่อเรื่องพลังของเยาวชนเช่นกัน โดยกล่าวว่า “อะไรที่ผู้ใหญ่ทำอยู่ มันมีความหวังน้อย แต่อะไรที่เริ่มมาอยู่ในมือเยาวชน สิ่งนั้นจะยาวนาน สิ่งนั้นจะถูกส่งต่อ พลังและความหวังมันเกิดขึ้น” ชัชวาลย์ กล่าวถึงบทเรียนจากการทำงานด้านการศึกษาที่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกันทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการศึกษาทางเลือก โดยมองเรื่องการเรียนรู้ของเด็กเป็นตัวตั้ง ชัชวาลย์เชื่อว่าการที่เด็กได้เรียนรู้ภายในชุมชน เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาใหญ่อย่าง PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
ชัชวาลย์เสนอให้ทาง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรประสานงานเรื่องหลักสูตรการแก้ปัญหาฝุ่นควันให้เข้าไปอยู่ในห้องเรียนของทุกโรงเรียน เนื่องจากเรื่องต้นฉำฉา-พื้นที่สีเขียวมีความเชื่อมโยงกับเรื่องหมอกควัน เรื่องโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มากกว่านั้นยังเชื่อมโยงถึงนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่อย่างนโยบาย “เชียงใหม่เมืองสะอาด ถนนสวย ดอกไม้งาม” อีกด้วย และแน่นอนว่ามันจะเชื่อมโยงไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน การสร้างเศรษฐกิจย่านสร้างสรรค์ของพื้นที่นั้น ๆ ไปด้วย
ขยับจากต้นฉำฉา สู่การจัดการพื้นที่สีเขียว-ย่านสร้างสรรค์สันกำแพง
“จากนี้ไปโลกเปลี่ยน มิติการพัฒนาจำเป็นต้องมองเรื่องสิ่งแวดล้อม-พื้นที่สีเขียว เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเทรนด์นี้ได้ ด้วยเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองหัตถกรรม เมื่อเราใช้มิติด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สิ่งนั้นจะมีคุณค่ามากขึ้น” ชัชวาย์กล่าวถึงความเชื่อมโยงเรื่องการจัดการพื้นที่สีเขียวสู่เรื่องการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่
ด้านอนันต์ศิลป์ พรหมลิขิตศิลป์ กลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง มองว่าทุกพื้นที่ ทุกตำบลในสันกำแพงมีของดีของตัวเอง แต่ยังขาดการเชื่อมต่อกัน จึงร่วมริเริ่ม “6 โหม้ง โหล่งผญ๋า” กับเครือข่าย เป็นการนำร่องสร้างพื้นที่ท่องเที่ยวในชุมชน 6 ชุมชน ได้แก่ โหล่งฮิมคาว, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม, กองดีมีศิลป์, กาวจาวเขิน, พิพิธภัณฑ์บ้านจ๊างนัก และกลุ่มหัตถกรรมและอาหารหนองพญาพรหม ซึ่งมีออนใต้ฟาร์มรวมอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันจะเป็นการผลักดันให้เกิดอีก 4 พื้นที่ 4 ตำบล (แม่ปูคา, ห้วยทราย, แช่ช้าง และร้องวัวแดง) ให้ครบทั้งอำเภอเพื่อสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในสันกำแพง
ทั้งนี้ อนันต์ศิลป์มองว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวในย่านสร้างสรรค์เป็นแรงจูงใจสำคัญที่จะทำให้นักท่องเที่ยว คนในพื้นที่เห็นว่าสามารถจะสร้างศรษฐกิจในพื้นที่ต่อไปได้ ทั้งจากความเห็นของคนสันกำแพงที่เด็ก ๆ ได้ไปสำรวจก็พบว่ากว่า 85% ยังอยากให้มีต้นฉำฉาอยู่ แต่จำเป็นต้องมีการจัดการที่ดี มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน
ภาคประชาชนกับการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์พื้นที่
ภควรรณ แสงศรี นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ ทสจ.เชียงใหม่ มองว่าถนนต้นฉำฉาไม่จำเป็นต้องเดินทางกระบวนการขับเคลื่อนต้นยางนา-ขี้เหล็ก บนถนนสารภี-ลำพูน ที่เป็นการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และมีกฎหมายพิเศษมากำกับดูแล เนื่องจากเมื่อมีการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้นสร้างกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้นในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อย่างไรก็ดี พื้นที่บริบทในสันกำแพงมีต้นทุนในพื้นที่อยู่แล้ว ถือเป็นการถูกคุ้มครองโดยธรรมชาติของคนในพื้นที่เอง
สุรพงษ์ พรรณวงษ์ Thai PBS มองว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่เยาวชนจะได้ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน และชวนคิดต่อว่าเราจะขยายผลจากการสำรวจคน 100 คน ขยายมากขึ้นอย่างไร และจะมีแผนการทำงานอย่างไรต่อเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ และชวนคิดต่อในเชิงกระบวนการทางกฎหมาย หากต้นฉำฉาจะมีกฎหมายคุ้มครองแบบต้นยางนา มันจะส่งผลดีจริงหรือไม่ จากบทเรียนต้นยางนาสารภี ที่ต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาดูแล กำกับ และในบทบาทของสื่อจะต้องขยายผลเรื่องต้นฉำฉาสันกำแพงไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อได้ อย่างไรก็ดี สุรพงษ์มองว่ากระบวนการตัดสินใจ กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่จำเป็นต้องมาจากคนในพื้นที่มากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา
สมศักดิ์ อรุณโสตถิกุล ปลัดอาวุโส อำเภอสันกำแพง ในฐานะเป็นผู้ประสานทุกภาคส่วนในการทำงานด้านการฟื้นฟูดูแลต้นฉำฉาสันกำแพง ทั้งในเรื่องมิติคุณภาพชีวิต ความมั่นคง รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องชวนกันมองว่าต้นฉำฉาให้ประโยชน์อะไรบ้างกับพื้นที่ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การดึงดูดคนให้เข้ามาท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมองเรื่องความปลอดภัยของคนในพื้นที่ด้วย และข้อท้าทายเรื่องงบประมาณในการดูแลต้นฉำฉาที่จำเป็นต้องร่วมกันคิดต่อ
ด้านชัชวาลย์มองว่าจำเป็นต้องยกระดับสู่ย่านสร้างสรรค์สันกำแพง สอดคล้องกับนโยบาย “เชียงใหม่เมืองสะอาด ถนนสวย ดอกไม้งาม” ของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และขณะเดียวกันก็อยากเห็นภาคประชาชนสามารถขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ชุมชนของตนเองไปด้วย ชัชวาลย์เสนอว่าควรมีการสร้าง master plan ที่บูรณาการระหว่างคณะทำงานตามนโยบายของผู้ว่าฯ และคณะทำงานฟื้นฟูต้นฉำฉาเพื่อให้การทำงานสอดคล้องกัน
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ