2 มกราคม 2568
ภาพ: แคนคำ ตาคำ
เมื่อวันที่ 21-22 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อประชาธรรม ร่วมกับสำนักข่าว Lanner จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับนักข่าวและนักสื่อสารท้องถิ่นในภาคเหนือกว่า 35 คน เพื่อพัฒนาทักษะการทำข่าวเชิงสืบสวนและการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผู้เข้าร่วมมาจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งนักข่าว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม จากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก และแพร่ รวมถึงสื่อท้องถิ่นในภาคเหนือ
การอบรมในครั้งนี้เน้นการค้นหามุมมอง และประเด็นการทำข่าวจากนักข่าวที่มีประสบการณ์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ เช่น เรื่องภัยพิบัติและโลกรวน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และคุณภาพชีวิตและแรงงาน
วันแรกเป็นการพัฒนาทักษะการทำข่าวเชิงลึก โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา จากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้แนะนำเทคนิคสำคัญในการทำข่าว ประกอบด้วย การค้นหา “จุดบอด” การสืบค้น “เบื้องหลัง” ของเหตุการณ์ ปรากฏการณ์นั้น ๆ การตั้งสมมติฐาน การทำแผนที่ข่าว และการเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมในการนำเสนอข่าวสาร
“การทำข่าวท้องถิ่นต้องไม่ใช่แค่การรายงานเหตุการณ์ซ้ำ ๆ เช่น ข่าวน้ำท่วม หมอกควัน แต่ต้องนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมียุทธศาสตร์” สถาพรกล่าว พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาสำคัญ เช่น การรายงานข่าวป้าย LED ที่ส่องแสงรบกวนชุมชนย่านทองหล่อ การสืบสวนเรื่องระบบเตือนภัยน้ำท่วมภาคใต้ และการทำข่าวกรณีชายหาดหลังห้องแห่งความลับ
ในภาคปฏิบัติ ผู้เข้าร่วมได้แบ่งกลุ่มวิเคราะห์และวางแผนการทำข่าวในประเด็นที่สนใจ เช่น ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง ภัยพิบัติน้ำท่วมแม่ฮ่องสอน และความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยฝึกการตั้งสมมติฐาน การหาแหล่งข้อมูล และการวางแผนการนำเสนอที่สร้างผลกระทบ นอกจากนี้ การอบรมยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักข่าว โดยแนะนำการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง การเตรียมอุปกรณ์ป้องกันตัว และการสื่อสารในสถานการณ์เสี่ยง รวมถึงการแบ่งโซนพื้นที่เสี่ยงในการทำข่าว (Hot zone, Warm zone, Cool zone) และวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยคือการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบัน ที่ทุกคนสามารถมีช่องทางสื่อสารของตนเอง ทำให้นักข่าวท้องถิ่นต้องปรับตัวและพัฒนาคุณภาพการนำเสนอให้แตกต่าง โดยเน้นการตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ทางสังคม และการนำเสนอทางออกของปัญหาที่เป็นรูปธรรม
วันที่สอง ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ มุมมองการข่าวท้องถิ่นที่เชื่อมโยงไปสู่นโยบายสาธารณะ จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเด็น ได้แก่ หนึ่ง คุณภาพชีวิตและแรงงาน วิทยากรโดย สุรีรัตน์ ตรีมรรคา รองประธานสภาลมหายใจ ที่ได้มาเปิดมุมมอง หลักการของคำว่าคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับทุก ๆ คน
ต่อมาเป็นผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ ประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น วิทยากรโดย ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อมูล และเน้นการมองให้เห็นว่าท้องถิ่นมีความซ้ำซ้อน ไม่ได้ดีหรือแย่ไปทั้งหมด และสุดท้าย เรื่องภัยพิบัติและโลกรวน วิทยากรโดย สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการ สำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เน้นย้ำถึงเรื่องการจัดการภัยพิบัติ มีการแบ่งระดับการจัดการตามความรุนแรงของสถานการณ์ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ แต่พบปัญหาสำคัญในเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานและการกระจายตัวของข้อมูลจากหลายแหล่ง ระบบเตือนภัยยังคงรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางผ่านคอลเซ็นเตอร์ ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจ้งเตือนและไม่สามารถตอบสนองความต้องการข้อมูลเฉพาะเจาะจงของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ โดยทั้ง 3 ประเด็น สามารถรับชมบันทึกวิดีโอทาง YouTube ของประชาธรรม
ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่พึงพอใจกับการอบรมครั้งนี้ โดยระบุว่าได้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ในการทำข่าว ได้เครือข่ายการทำงาน และมีกำลังใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านงานสื่อมากขึ้น “ดีใจที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานสื่อ ทำให้รู้สึกมีความหวังมากขึ้น” หนึ่งในผู้เข้าร่วมกล่าว
ทั้งนี้ มูลนิธิสื่อประชาธรรมมีทุนสนับสนุนการรายงานข่าวจำนวน 10 ทุน เพื่อนักสื่อสารที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม และจะมีการติดตามผลงานของผู้เข้าร่วมอบรมผ่านการประชุมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการทำข่าวท้องถิ่นในภาคเหนือต่อไป โปรดติดตาม
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ