บ้านห้วยอีค่าง ชุมชนปกากะญอ ตั้งอยู่ในตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ล้อมรอบด้วยหุบเขาและป่าสนเขาอายุกว่า 448 ปี  โดยกลุ่มผู้อพยพจากแม่ฮ่องสอนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เดิมเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวลัวะ สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยป่าสนเขา ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ มีลำห้วยแม่เตียนเป็นแหล่งน้ำสำคัญ

ชาวบ้านพึ่งพาการเกษตรเพื่อยังชีพและสร้างรายได้ แต่ความอุดมสมบูรณ์ของป่ากลับมาพร้อมความเสี่ยงจากไฟป่า โดยเฉพาะในฤดูแล้ง (มกราคม-เมษายน) เมื่อใบสนแห้งและเรซินในเนื้อไม้กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี สร้างปรากฏการณ์ “ไฟสุมขอน” ที่ลุกลามรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเพิ่มมลพิษทางอากาศ

บุแจ้ ไศลทองเพริศ อธิบายพื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงของชุมชนห้วยอีค่าง

บ้านห้วยอีค่างแบ่งพื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงเป็น 2 ด้านคือด้านทิศตะวันตกจะติดกับดอยม่อนยะ พื้นที่บริหารจัดการจำนวน 1,000 ไร่ ส่วนด้านทิศตะวันออกจะติดกับดอยกะโจ๊ะ พื้นที่บริหารจัดการจำนวน 2,000 ไร่ จะเป็นการบริหารจัดการจะทำการซอยแปลงเป็นแปลงย่อย ๆ แทนการทำแบบแปลงใหญ่

ปริมาณเชื้อเพลิงที่ทับถมในป่าชุมชนบ้านห้วยอีค่างในปลายเดือนมีนาคม 2568

ด้วยสภาพป่าที่ลาดชันและใบสนแห้งสะสม ชุมชนห้วยอีค่างพัฒนาวิธีจัดการไฟป่าที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น ดังนี้

  1. การเผาแบบควบคุม ดำเนินการในช่วงต้นฤดูฝน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิง เช่น ใบสนแห้ง โดยเลือกพื้นที่เสี่ยงและควบคุมไฟไม่ให้ลุกลาม
  2. สร้างแนวกันไฟ ขุดหรือตัดแนวกันไฟกว้าง 5-10 เมตร คำนึงถึงทิศทางลมและความลาดชัน เพื่อป้องกันไฟป่าในฤดูแล้ง
  3. การดับไฟ ใช้ทั้งวิธีทางตรง เช่น ใช้ไม้ตบไฟหรือน้ำจากถัง และวิธีทางอ้อม เช่น สร้างแนวควบคุมให้ไฟดับเอง โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่าง “ไฟขึ้น” คือไฟที่รุนแรง ลุกลามเร็ว และ “ไฟลง”เป็นไฟที่ควบคุมง่ายกว่า และ
  4. การลาดตระเวนและเฝ้าระวัง ชุมชนจัดทีมลาดตระเวนป่าและประชุมหมู่บ้านเพื่อสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงถ่ายทอดเทคนิคการดับไฟจากรุ่นสู่รุ่น

“ถ้าไฟจุดแล้วเราควบคุมเอง มันจะเหนื่อยน้อยกว่า” บุแจ้ ไศลทองเพริศ ประธานป่าชุมชนบ้านห้วยอีค่าง กล่าว สะท้อนถึงประสิทธิภาพของวิธีการชุมชนที่เน้นป้องกันมากกว่าตั้งรับ

เกษตรกรบ้านห้วยอีค่าง/ ภาพ: เชียงใหม่นิวส์, 2565

นอกจากการจัดการไฟป่า ชุมชนห้วยอีค่างยังมีศักยภาพในการพัฒนาระบบจัดการทรัพยากรท้องถิ่นให้ยั่งยืน ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ “ธนาคารอาหารชุมชน” หรือ Food Bank  เป็นการเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากป่า เช่น เห็ดป่า หรือพืชสมุนไพรที่ได้จากการจัดการเชื้อเพลิง มาสร้างธนาคารอาหารชุมชน เพื่อลดความสูญเสียจากไฟป่าและเพิ่มมูลค่าทรัพยากรท้องถิ่น สิ่งนี้อาจช่วยลดแรงกดดันจากการพึ่งพาการเกษตรเพียงอย่างเดียว และสร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้ง

มากกว่านั้น ชุมชนห้วยอีค่างยังมีวิธีการเก็บภาษีชุมชนเพื่อสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเริ่มจากการประชุมพูดคุยกันในชุมชน ด้วยพื้นที่ป่าที่ต้องดูแล 10,000 ไร่ และประชากร 545 คน ชุมชนกำหนดค่าธรรมเนียมดูแลแผ่นดินที่ไร่ละ 2 บาทต่อคน

วิธีคำนวณคือ 10,000 ไร่ ÷ 545 คน × 2 บาท = 36.70 บาทต่อคน ซึ่งปัดขึ้นเป็น 38 บาทต่อคน ทำให้กองทุนชุมชนมีรายได้ปีละประมาณ 20,710 บาท (545 คน × 38 บาท) เงินกองทุนนี้ใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การดูแลป่าและน้ำ เพื่อให้ชุมชนและป่าไม้คงอยู่กับลูกหลานอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว

แม้จะมีกองทุนชุมชน การจัดการไฟป่ายังเผชิญข้อจำกัดด้านงบประมาณและทรัพยากร อย่างในปี 2568  สมชาย สุรางค์อุปถัมภ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยอีค่างระบุว่า งบประมาณโครงการหมู่บ้านเครือข่าย จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 กรมป่าไม้ เป็นจำนวน 10,000 บาท และได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์จาก อบต.แม่วิน อย่างเครื่องเป่าลม และตะขอเกี่ยวใบไม้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งเงินจากกองทุนชุมชนและจากโครงการหมู่บ้านเครือข่ายฯ นั้นถูกนำไปใช้ใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การสร้างและดูแลแนวกันไฟ การจัดการเชื้อเพลิง การดับไฟป่า และการซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้าน

การชิงเผาและจัดการป่าสนใน 1 ฤดูกาล จำนวน 6 ครั้ง ใช้เงินประมาณ 6,000-10,000 บาท ส่วนการดับไฟเฉลี่ย 4 ครั้งต่อปี ใช้เงินราว 5,000 บาท ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของไฟ ชุมชนยังขาดแคลนอุปกรณ์ เช่น เครื่องเป่าลม ต้องการ 8 ตัว แต่มีเพียง 5 ตัว และพังไป 1 ตัว รวมถึงโดรนจับความร้อน และแท้งค์น้ำ ปัจจุบันต้องซ่อมเครื่องมือเก่าที่ได้รับบริจาคมาใช้งาน

“ถ้ามีงบไร่ละ 5 บาท  เราจ่าย 2 บาท และมีงบสมทบมาอีก 3 บาทเราจะจัดการได้ดีกว่านี้” บุแจ้กล่าว พร้อมเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณโดยตรงถึงคณะกรรมการหมู่บ้าน และบริหารผ่านบัญชีกองทุนอย่างโปร่งใส เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

ผ่าเขา เข้าใจ ไฟป่า แผนการจัดการรับมือเอลณีโญ เชียงใหม่ เน้นป้องกัน ก่อนหมอกควันจะมา

การจัดการไฟป่าต้องคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ เช่น ต.แม่หอพระ: ป่าเต็งรังและป่าผสมผลัดใบ ชุมชนใช้ไฟควบคุมเพื่อเก็บเห็ดเผาะและจัดการเชื้อเพลิง โดยรักษาระบบนิเวศที่พึ่งพาไฟในระดับหนึ่ง และ ต.บ้านปง: ป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณที่มีความชื้นสูง ชุมชนเน้นเฝ้าระวังและดับไฟทันทีเมื่อลุกลาม ด้วยการลาดตระเวนและความร่วมมือกับหน่วยงานป่าไม้

บุแจ้ ไศลทองเพริศ /ประธานป่าชุมชนห้วยอีค่าง

นโยบายห้ามเผาของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 พฤษภาคม 2568 สร้างความท้าทายให้ชุมชนที่ต้องจัดการเชื้อเพลิงในช่วงเวลาจำกัด “บ้านเรายังพอเลี่ยงช่วงห้ามเผาได้ แต่ชุมชนอื่นเลี่ยงไม่ได้” บุแจ้กล่าว สะท้อนถึงความจำเป็นของนโยบายที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น

ตัวแทนชาวบ้านอธิบายลักษณะของไฟที่เกิดขึ้นภายในป่าสนเขา

ชุมชนห้วยอีค่างแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการจัดการไฟป่าด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การป้องกัน “ไฟนินจา” คือไฟจากตอไม้ตาย และ “ไฟหนูนา” คือไฟจากลูกสนกลิ้งลงเนิน รวมถึงการลดฝุ่น PM2.5 ที่อาจปนเปื้อนแหล่งน้ำ เช่น กรณีบ้านทุ่งหลวงที่น้ำประปาได้รับผลกระทบหลังไฟป่าใหญ่ การนำแนวคิด Food Bank มาประยุกต์ รวมถึงการบริหารกองทุนภาษีชุมชน ช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพยากรป่าและสร้างความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การขาดงบประมาณที่ถึงมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต. และอำเภอ ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ชุมชนเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจความหลากหลายของแต่ละพื้นที่ และผลักดันแผนบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม หากงบประมาณถูกถ่ายโอนอย่างโปร่งใสและชาวบ้านได้รับทรัพยากรที่เพียงพอ การจัดการไฟป่าและทรัพยากรท้องถิ่นจะไม่เพียงปกป้องชุมชนห้วยอีค่าง แต่ยังเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของไทย ที่ให้ความสำคัญกับชุมชนอย่างแท้จริง.

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง