
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เกิดปรากฏการณ์น้ำจำนวนมากเริ่มผุดขึ้นจากใต้ดินหลายจุดพร้อมกัน และมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ วัน ทำให้เกิดเป็นหนองขนาดใหญ่กระจายไปยัง 4 จุดหลัก ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5-6 ล้านลูกบาศก์เมตร บางจุดมีน้ำท่วมสูงถึง 10-20 เมตร จนท่วมพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 100 ไร่ ถนนหลายสาย และบ้านเรือนของชุมชน น้ำผุดครั้งนี้ไม่เพียงแต่มีปริมาณมากกว่าทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้น แต่ยังมีระยะเวลายาวนานผิดจากปกติ จากที่เคยเกิดทุก 6-8 ปี และจะแห้งลงในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่ปีนี้เกิดขึ้น 3 ปีติดต่อกัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะแห้งเหือด นับตั้งแต่เริ่มรายงานข่าวเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 จนถึงปัจจุบันในเดือนพฤษภาคม 2568 เป็นเวลาร่วม 6 เดือนแล้วที่น้ำยังคงอยู่ในพื้นที่

บริเวณที่พบจุดน้ำผุดท่วมขังมีทั้งหมด 4 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณบ้านรินหลวง หมู่ที่ 3 ท่วมพื้นที่การเกษตร จุดที่ 2 บ้านหนองเขียว หมู่ที่ 12 ท่วมถนนเส้นหลัก จุดที่ 3 บ้านหนองเขียว (หย่อมหนองวัวแดง) หมู่ที่ 12 ท่วมพื้นที่การเกษตร บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบบางส่วน และจุดที่ 4 บ้านอรุโณทัย หมู่ที่ 10 ท่วมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย
“เขาบอกว่ามันเป็นน้ำผุดตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ชาวบ้านที่นี่เขาก็รู้กันอยู่แล้วว่า มันต้องเกิดในช่วงเวลา 6 ปี หรือ 8 ปีครั้งที่มันจะออกมาแต่ละรอบ แต่รอบนี้มันมา 3 ปีติด ๆ กัน ปีแรก ๆ มันผุดท่วมปริมาณน้ำจะเท่ากับตอนนี้ที่เราเห็น แต่พอมาปีที่สอง มันต่ำลงไปหน่อยหนึ่ง แต่พอมาปีนี้ มันเยอะขึ้นมาจนเกือบถึงขอบถนน” คำบอกเล่าของคณาธิป หย่างจาง ชาวบ้านหมู่บ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
เหตุการณ์น้ำผุดเมืองนะ เป็นกระแสในโลกโซเชียลมีเดียในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 หลังจากน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ครั้งใหญ่ (24-25 กันยายน และ 4-5 ตุลาคม 2567) จากข้อมูลโซเชียลมีเดียสามารถเรียบเรียงข้อมูลตามทามไลน์ของเหตุการณ์ได้ดังนี้
ทามไลน์ข่าว เหตุการณ์น้ำผุดเมืองนะ เชียงดาว
11 พฤศจิกายน 2567 TikTok ช่อง Kru Jihn Channel (@j_khamsan) โพสต์วิดีโอเกี่ยวกับน้ำผุด รายงานว่า “น้ำผุดหลายจุด บ้านรินหลวง บ้านหนองเขียว บ้านหนองบัวแดง บ้านอรุโณทัย ใน ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งคิดว่าน่าจะผุดออกมาใต้ภูเขา น่าจะมีถ้ำอยู่ข้างใน เพราะในบริเวณข้าง ๆ นี้เป็นภูเขา เป็นหน้าผาอยู่ตรงนี้ ระดับน้ำที่ผุดสูงมาก ใกล้จะถึงถนนแล้วครับ น้ำลึกมากครับ” และมีบัญชี TikTok คนอื่น ๆ มาแสดงความคิดเห็นกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “มันเคยแห้งบ้างไหมที่ผ่านมา” “แห้งค่ะแต่ใช้เวลานานหน่อยค่ะ” “ปกติไม่มีน้ำคับ เป็นพื้นที่แล้งเลย” “ผมเคยผ่านในอ่างไม่มีน้ำเลยครับ” “ในอดีตก็มีน้ำผุดค่ะ แต่น้ำไม่เยอะขนาดนี้ 8 ปี ครั้ง สลับไปมา แต่ตอนนี้ระบายน้ำไม่ได้” “จะมีช่วงแห้งอยู่ค่ะ เหตุการณ์น้ำผุดจะเกิดทุก ๆ 5-6 ปี แต่ปีนี้หนักสุดค่ะ”
13 พฤศจิกายน 2567 สำนักข่าวไทยรัฐ ได้สัมภาษณ์นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่าง ดร.กฤษดา มูลป่า อธิบายสาเหตุของน้ำผุดว่า เกิดจากพื้นที่หินปูนที่ถูกฝนกัดเซาะจนเกิดโพรงใต้ดิน ฝนตกหนักในปี 2567 ทำให้โพรงเต็มน้ำและดันน้ำออกมาผ่านผิวดิน มีความกังวลเรื่องดินยุบตัวหลังน้ำลด ผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือน้ำผุดมานานกว่า 2 เดือน ท่วมไร่ข้าวโพด ถนน และบ้านเรือนหลายหลัง
15 พฤศจิกายน 2567 คมชัดลึก รายงานว่า สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1 (ลำปาง) และหน่วยงานท้องถิ่นลงพื้นที่ตรวจสอบยืนยันว่าน้ำผุดเกิดจากปรากฏการณ์ “กาลักน้ำของระบบถ้ำใต้ดิน” ในพื้นที่หินปูนที่มีโพรงใต้ดิน ซึ่งจะเกิดขึ้นในปีที่มีฝนตกมาก
16 พฤศจิกายน 2567 มิติชนออนไลน์ รายงานว่า นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส. พรรคประชาชน ชี้ว่าน้ำผุดรุนแรงขึ้นจากมนุษย์ คือการเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวทำให้ดินสูญเสียความสามารถในการกักเก็บน้ำ เสนอให้รัฐส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายและยืนต้น อาจส่งผลต่อความเสี่ยงดินยุบตัวเพิ่มขึ้นจากโพรงใต้ดิน
20 พฤศจิกายน 2567 Thaipost รายงานว่าศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปช.) ส่งหน่วยงานลงพื้นที่ช่วยเหลือ โดยมีการส่งทีมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วม และเตือนถึงฝนตกหนักที่อาจทำให้สถานการณ์แย่ลง อย่างไรก็ดี ชุมชนยังเผชิญน้ำท่วมต่อเนื่อง
23 พฤศจิกายน 2567 Radio Chiang Mai รายงานว่า ดร.พบพร เศรษฐพฤกษา ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1 (ลำปาง) ระบุสาเหตุน้ำผุด เกิดจากภูมิประเทศที่เป็นที่ราบหุบเขาหลุมยุบ ฝนตกหนักทำให้น้ำล้นจากโพรงใต้ดิน ปริมาณน้ำประมาณ 5-6 ล้านลูกบาศก์เมตร และพบว่าในพื้นที่น้ำท่วมถนน บ้านเรือน และพื้นที่เกษตร บางจุดน้ำสูง 10-20 เมตร

คณาธิป หย่างจาง ชาวบ้านหมู่บ้านรินหลวง อธิบายการเกิดขึ้นของน้ำผุดเมืองนะว่า “โดยทั่วไปน้ำผุดมักเกิดในช่วงปลายปีและแห้งลงในราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่ในครั้งล่าสุด น้ำผุดขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานกว่าปกติและมีปริมาณมากกว่าครั้งก่อน ๆ ทำให้พื้นที่การเกษตรมากกว่า 100 ไร่เสียหาย โดยเฉพาะข้าวโพด สำปะหลัง และถั่วแดง ซึ่งไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทัน” และคณาธิปมองว่ามันควรถูกมองว่าเป็นภัยพิบัติที่รัฐจำเป็นต้องดูแลเยียวยา
“ควรเป็นภัยพิบัติครับ” คณาธิปมองว่าควรประกาศเป็นภัยพิบัติเพื่อให้ได้รับการชดเชย เพราะสร้างความเสียหายมากและไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะรุนแรงแค่ไหน เนื่องจาก เกิดติดต่อกัน 3 ปี ผิดปกติจากที่เคยเกิดทุก 5-6 ปี รอบนี้มีความรุนแรงมากกว่าทุกครั้ง น้ำท่วมสูงและไม่แห้งตามเวลาปกติ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งพืชไร่และบ้านเรือน

“น้ำเข้าบ้าน ประมาณ ไม่ถึงอาทิตย์ค่ะ… มันไม่ได้ผุดแค่ที่เดียวค่ะ มันผุดหลายที่” อะเลมิ แซ่เฉิน หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำผุดนี้ กล่าวว่าน้ำผุดโดยปกติจะเกิดอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มันผุดออกหลายที่ ทำให้น้ำท่วมบริเวณบ้านอย่างรวดเร็วภายในไม่ถึงชั่วโมง
อะเลมิเลือกที่จะอาศัยอยู่ที่บ้านต่อแม้ว่าน้ำยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เธอเล่าว่า “มันมาไวเกินไปจนแบบว่าคนอื่นเขาก็มาช่วยไม่ทัน เพราะว่าฝนมันตรงนานด้วย” ทำให้ห้องครัวและของใช้ในบ้านเสียหาย โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่สามารถใช้ห้องน้ำได้เป็นเวลา 3-4 เดือน ต้องไปอาศัยห้องน้ำบ้านญาติ ต้องเดินบนบันไดลิงหรือเส้นทางที่ทำขึ้นพิเศษเพื่อเข้าออกบ้าน เพราะน้ำท่วมสูงถึงเอว
เธอยังกล่าวถึงความกังวลว่า “ตรงนี้เคยออกก็จริงแต่มันก็ไม่เคยออกเยอะขนาดนี้ แล้วก็ยิ่งตรงกลางก็คือไม่เคยมีมาก่อน เพราะมันก็ไม่ได้แค่จุดเดียว มันเยอะไปหมดเลยค่ะ…ก็เลยกังวลว่าถ้ามาแบบนี้อีกจะทำยังไง” อย่างไรก็ดี อะเลมิได้รับการช่วยเหลืออุทกภัยแบบเหมาจ่าย ครัวเรือนละ 9,000 บาท จากรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี ณ วันที่ 17 กันยายน 2567 และได้รับถุงยังชีพด้วย ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น แต่คณาธิป หย่างจาง มองว่ายังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

เสา จองนู ชาวบ้านในพื้นที่อีกรายหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำผุด บางรายเลือกที่จะอยู่อาศัยในบ้านของตนแม้จะท่วมขัง ในขณะที่หลายครอบครัวต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน เสาเล่าว่า “ย้ายบ้านครั้งนี้ เป็นครั้งที่สองแล้ว บางคนก็ย้ายไปที่สูง ๆ หรือไม่ก็ในที่อื่น”

แล้วน้ำผุดมันคืออะไร?
หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับเหตุการณ์น้ำผุด ซึ่งในประเทศไทย พบบริเวณที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นหินปูน เช่น พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ โดยจะเกิดเป็นวงรอบตามฤดูกาลและปริมาณน้ำฝน แต่ปรากฏการณ์น้ำผุดเมืองนะ เชียงดาวครั้งนี้ มีความผิดปกติทั้งในแง่ระยะเวลาและขนาดของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
น้ำผุดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ Upwelling (น้ำผุด) ที่เกิดในมหาสมุทร และ Groundwater Flooding (น้ำผุดท่วม) ที่เกิดบนบก โดย Upwelling เกิดจากลมและกระแสน้ำทะเลผลักน้ำลึกขึ้นสู่ผิวน้ำ ในขณะที่ Groundwater Flooding เกิดจากฝนตกหนักหรือระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น
Upwelling (น้ำผุด) มักมีผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศทางทะเล และช่วยเพิ่มผลผลิตประมง ส่วน Groundwater Flooding (น้ำผุดท่วม) มักสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐาน Upwelling เป็นส่วนหนึ่งของระบบไหลเวียนตามธรรมชาติในมหาสมุทร แต่ Groundwater Flooding มักถูกมองว่าเป็นภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติเมื่อเกิดน้ำท่วมขัง
Upwelling (น้ำผุด) | Groundwater Flooding (น้ำผุดท่วม) |
เกิดจากลมและกระแสน้ำทะเลผลักน้ำลึกขึ้นสู่ผิวน้ำ | เกิดจากฝนตกหนักหรือระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น |
เกิดในมหาสมุทร | เกิดบนบก |
ส่งเสริมให้ระบบนิเวศทางทะเล และช่วยเพิ่มผลผลิตประมง | สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐาน |
มีลักษณะเป็นกระบวนการทางธรรมชาติในระบบไหลเวียนของมหาสมุทร | มีลักษณะเป็นภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติเมื่อเกิดน้ำท่วม |
จากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่า น้ำผุดเมืองนะ เข้าลักษณะของ น้ำท่วมใต้ดินหรือที่เรียกว่า Groundwater Flooding อย่างชัดเจน แต่หน่วยงานรัฐมองว่าไม่ได้เข้าข่ายภัยพิบัติ แต่จะเข้าลักษณะภัยพิบัติก็ต่อเมื่อน้ำมีการท่วมขังบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย
น้ำผุดอาจไม่ถูกนับรวมในน้ำท่วมหรืออุทกภัย
หากดูข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้แบ่งประเภทของภัยพิบัติจากน้ำ ซึ่งไม่พบว่า ไม่มีเรื่อง “น้ำผุด” โดยแบ่งเป็น 3 ลักษณะหลัก ได้แก่
- น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลัน มักเกิดในที่ราบต่ำหรือที่ราบลุ่มบริเวณใกล้ภูเขาต้นน้ำ เกิดจากฝนตกหนักเหนือภูเขาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้น้ำสะสมมีปริมาณมากจนพื้นดินและต้นไม้ดูดซับไม่ไหว และไหลบ่าลงสู่ที่ราบต่ำอย่างรวดเร็ว มีอำนาจทำลายรุนแรง สามารถทำให้บ้านเรือนพังทลายและเป็นอันตรายถึงชีวิต
- น้ำท่วม หรือน้ำท่วมขัง เกิดจากปริมาณน้ำสะสมจำนวนมากที่ไหลบ่าในแนวระนาบจากที่สูงไปยังที่ต่ำ เข้าท่วมอาคารบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม หรือเป็นสภาพน้ำท่วมขังในเขตเมืองใหญ่ที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง มีสาเหตุจากระบบระบายน้ำไม่ดีพอ มีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางระบายน้ำ หรือเกิดน้ำทะเลหนุนสูงในกรณีพื้นที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล
- น้ำล้นตลิ่ง เกิดจากปริมาณน้ำจำนวนมากที่เกิดจากฝนหนักต่อเนื่อง ไหลลงสู่ลำน้ำหรือแม่น้ำมีปริมาณมากจนระบายลงสู่ลุ่มน้ำด้านล่างหรือออกสู่ปากน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่โดยรอบ
อย่างไรก็ดี น้ำผุดหรืออีกชื่อเรียกว่า “ตาน้ำ” มีลักษณะเป็นจุดที่มีน้ำไหลออกจากดินตลอดเวลา ซึ่งเกิดจากแรงดันน้ำที่มากพอที่จะทำให้น้ำจากใต้ดินขึ้นมายังผิวดินด้วย หากตาน้ำมีน้ำไหลอย่างสม่ำเสมอจะกลายเป็นลำธาร ซึ่งหากดูลักษณะจากนิยามนี้แล้ว น้ำผุดจะไม่เข้าลักษณะของน้ำท่วมหรืออุทกภัยที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แบ่งไว้
ด้าน ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายการเกิดน้ำผุดหรือน้ำซับ (spring) สามารถเกิดได้จากสาเหตุหลัก 2 รูปแบบคือ 1. ชั้นหินตะกอนที่มีคุณสมบัติเป็นชั้นหินอุ้มน้ำ (aquifer) ซึ่งเมื่อมีน้ำเข้าไปเติมเต็ม ชั้นน้ำที่เอียงเทก็จะไหลลงและมีแรงดันเกิดขึ้น คล้ายกับการเอียงขวดน้ำและเจาะรูที่ปลายขวด ทำให้น้ำพุ่งขึ้นมาได้ และ 2. ชั้นหินในพื้นที่เป็นหินปูน ซึ่งมีโอกาสที่ใต้ดินจะเป็นโพรงหรือถ้ำ อันเนื่องมาจากการกัดกร่อนจากน้ำใต้ดิน เมื่อมีน้ำเข้าไปเติมในระบบโพรงของถ้ำ น้ำบางส่วนสามารถรั่วไหลออกมาสู่พื้นผิวได้
ส่วนกรณีของน้ำผุดเมืองนะ ศ.ดร.สันติมองว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากการที่มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้น้ำบางส่วนซึมเข้าไปในภูเขาหรือเข้าไปในระบบน้ำใต้ดินใต้ภูเขา ส่งผลให้เกิดแรงดันและน้ำผุดขึ้นมาบริเวณพื้นผิว
ด้าน ดร.กฤษดา มูลป่า และ ดร.พบพร เศรษฐพฤกษา ได้อธิบายถึงกลไกการเกิดน้ำผุดจากมุมมองทางธรณีวิทยาและอุทกวิทยา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการที่น้ำฝนไหลลงสู่โพรงหินปูนใต้ดินจนล้น และดันตัวออกมาตามรอยแตกของหินและผิวดิน
น้ำผุดเมืองนะ ควรเป็นภัยพิบัติหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ?

การที่น้ำผุดไม่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ภัยพิบัติตามนิยามของหน่วยงานรัฐ ส่งผลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีข้อจำกัดในหลายด้าน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถเข้าถึงแผนช่วยเหลือด้านภัยพิบัติในรูปแบบที่ครอบคลุม การชดเชยความเสียหายทางการเกษตรไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ และการเตรียมความพร้อมรับมือในระยะยาวยังขาดการวางแผนที่ชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเมื่อพิจารณาจากความผิดปกติและความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

หน่วยงานรัฐมองเหตุการณ์น้ำผุดเป็น “ปรากฏการณ์ธรรมชาติ” หรือ “น้ำผุดธรรมชาติ” มากกว่า “ภัยพิบัติ” โดยหน่วยงานรัฐท้องถิ่นที่ลงพื้นที่ได้ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ มีการจัดพิธีปล่อยปลาและประกาศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ Unseen แห่งใหม่ แทนที่จะประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติซึ่งจะได้รับการชดเชยความเสียหายที่มากกว่า
การช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐจึงอยู่ในรูปแบบของถุงยังชีพ และการสูบน้ำออกจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง แต่ไม่ได้มีการชดเชยความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรอย่างเป็นทางการ นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือเหมาจ่าย 9,000 บาทต่อครัวเรือนที่มีน้ำท่วมบ้านเรือน
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการภัยพิบัติของประเทศ มีบทบาทสำคัญในการประเมินและจัดประเภทของเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่าเข้าข่ายภัยพิบัติหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปภ. มีการจัดการสาธารณภัยตามระดับความรุนแรง โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 (สาธารณภัยขนาดเล็ก) ระดับ 2 (สาธารณภัยขนาดกลาง) และระดับ 3 (สาธารณภัยขนาดใหญ่) โดยเกณฑ์การพิจารณาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ ขนาดพื้นที่ความเสียหาย ระยะเวลาที่เกิดเหตุ และความสามารถในการจัดการของหน่วยงานท้องถิ่น


ปภ.เชียงใหม่ สาขาเชียงดาวร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำผุด ตำบลเมืองนะอำเภอเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ /สนง.ปภ.จ.เชียงใหม่ สาขาเชียงดาว
สำหรับกรณีน้ำผุดเมืองนะ จากการรายงานข่าวพบว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2568 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ สาขาเชียงดาว ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำผุด โดยมีแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนคือ ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำและเทศบาลตำบลเมืองนะจะดำเนินการสำรวจ พื้นที่วางท่อ ปรับปรุงสภาพอ่าง เพื่อสูบน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำที่อยู่ใกล้เคียง และพร่องน้ำต่อไปยังอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกว่า 40 อ่าง รวมความจุได้ประมาณ 1 แสนลูกบาศก์เมตร สำหรับให้ประชาชนได้ใช้ในการเกษตรและอุปโภค การก่อสร้างถังเก็บน้ำขนาดใหญ่และหอถังสูง ออกแบบและก่อสร้างระบบประปาเพื่อส่งน้ำอุปโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน
แม้ด้านตัวแทนจากหน่วยรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และให้การช่วยเหลือในลักษณะการบรรเทาความเดือดร้อน แต่ไม่ได้มีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยอย่างเป็นทางการ ซึ่งแตกต่างจากกรณีภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น ไฟป่า หรือแผ่นดินไหว ที่มีการประกาศเขตภัยพิบัติและจัดสรรงบประมาณช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ การที่เหตุการณ์น้ำผุดไม่ได้รับการจัดประเภทเป็นภัยพิบัติ อาจเนื่องมาจากลักษณะของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่ แม้จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดแนวทางและมาตรฐานที่ชัดเจนในการจัดการกับปรากฏการณ์ประเภท “น้ำผุด” ซึ่งไม่ได้ถูกระบุไว้ในประเภทภัยพิบัติมาตรฐาน
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของชาวบ้าน โดยเฉพาะคณาธิป หย่างจาง อะเลมิ แซ่เฉิน และเสา จองนู มองว่าเหตุการณ์น้ำผุดครั้งนี้ควรได้รับการประกาศเป็นภัยพิบัติ เนื่องจากความรุนแรงและความผิดปกติที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ระยะเวลาที่น้ำท่วมขังยาวนานกว่าปกติ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกว้างขวางกว่าทุกครั้ง และความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรและบ้านเรือนที่มีมูลค่าสูง อะเลมิยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงดินยุบตัวในอนาคต เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นหินปูนที่มีโพรงใต้ดิน และเคยมีเหตุการณ์ดินยุบตัวในพื้นที่ใกล้เคียงมาแล้ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อความมั่นคงของบ้านเรือนและการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต.
This story was published with the support of the Internews Indo-Pacific Media Resilience Program or IPMR.

กองบรรณาธิการ สื่อประชาธรรม

กนกพร จันทร์พลอย
กองบรรณาธิการ สื่อประชาธรรม