เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน /Activist Journalist
โลกเต็มไปด้วยเทคโนโลยีเฟื่องฟูไร้ขีดจำกัด ภาคอุตสาหกรรมถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีอยู่ของเทคโนโลยี ทำให้การใช้ชีวิตและการทำงานของเราสะดวกขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตการทำงานขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งงานฝีมือ
ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเริ่มมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานฝีมือมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านั้นได้กลายเป็นส่วนประกอบของงานฝีมือในทุก ๆ ขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการสืบค้นข้อมูล การริเริ่มความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ รวมไปถึงขั้นตอนในการผลิตชิ้นงานฝีมือ เห็นได้จากการที่ผู้ผลิตงานฝีมือรุ่นใหม่เริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการฝึกฝนหรือผลิตผลงาน เพื่อสร้างสรรค์งานฝีมือรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่กว้างขวางขึ้น และเพื่อเชื่อมโยงวัฒนธรรมและทักษะการผลิตแบบดั้งเดิมให้เข้ากับการผลิตเชิงดิจิทัลยุคใหม่
เมื่อ ‘คราฟต์’ หมายถึง งานฝีมืออันเป็นรูปธรรมที่เกิดจากทักษะการใช้มือและเครื่องมือพื้นฐานแล้ว หากเครื่องมือนั้นไม่ใช่สิ่วหรือค้อนเหมือนเคย แต่เป็นเครื่องมือจากเทคโนโลยีดิจิทัล งานเหล่านั้นจะถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานคราฟต์ได้หรือไม่?
โลกของคราฟต์เปลี่ยนแปลงไป
‘งานฝีมือ’ หรือ ‘งานคราฟต์’ ตามที่หลายคนเข้าใจกัน คือ วัตถุที่เกิดขึ้นจากความต้องการพื้นฐานง่าย ๆ ในชีวิตมนุษย์ ใช้เพียง ‘มือ’ กับ ‘วัสดุท้องถิ่น’ เป็นหัวใจในการรังสรรค์ แต่กับโลกปัจจุบันวิถีความงามพื้นถิ่นนี้กำลังถูกท้าทายด้วยโมเดลการคิดแบบใหม่ที่แตกแขนงออกไปอย่างไร้ขีดจำกัด ส่งผลให้โลกของคราฟต์เปลี่ยนแปลงไป
จากรายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขางานฝีมือและหัตถกรรม ให้มุมมองที่น่าสนใจต่อกระแสยุคดิจิทัลกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบของงานฝีมือในอนาคต (Digital Craft Trend) เอาไว้ว่า Digital Craft ถือเป็นแนวโน้มในอนาคตที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในการออกแบบและการผลิต ซึ่งสามารถทำให้มนุษย์แปรจินตนาการของตัวเองให้เกิดเป็นชิ้นงานสร้างสรรค์ได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของการสร้างสรรค์งานฝีมือ อาทิ การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบหรือการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยในการออกแบบ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือหรือเครื่องจักรในกระบวนการผลิตบางขั้นตอน เพื่อให้มีความรวดเร็วและมาตรฐานที่แน่นอน เป็นต้น ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้จะส่งผลให้วัฒนธรรมการสร้างงานฝีมือในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยการนำเครื่องมือดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ ดังนั้น ในอนาคตการนิยามหรือการให้คุณค่าของงานฝีมือ อาจจะไม่สามารถจำกัดอยู่แค่การเป็นกระบวนการผลิตที่ใช้มือทำเพียงเท่านั้น
การนิยามหรือจำกัดความงานฝีมือนั้นกำลังเป็นที่ถกเถียงในปัจจุบัน ผู้คนต่างอธิบายตามวิถีของตนบนประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ช่างฝีมือยุคเก่ามีมุมมองอย่างหนึ่ง นักออกแบบรุ่นใหม่มีมุมมองอีกอย่างหนึ่ง หรือแม้กระทั่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนหัตถกรรมก็อธิบายแนวคิดการทำงานฝีมือกันคนละทิศคนละทาง บริบททางความคิดเหล่านี้ล้วนสร้างความท้าทายต่อทิศทางการทำงานของผู้ผลิตงานฝีมือในปัจจุบันที่จะต้องพิจารณาว่าอะไรบ้างที่คู่ควรสำหรับงานฝีมือ
Generative AI ตัวช่วยงานทำมือดิจิทัล
ท่ามกลางนวัตกรรมมากมายที่ถูกคิดค้นขึ้นทุกวัน หากจะบอกว่า Digital Craft สามารถปฏิวัติวงการคราฟต์ได้ก็คงไม่ผิด เพราะงานฝีมือยุคใหม่ที่เกิดจากระบบดิจิทัลล้วนเหนือความคาดหมาย รายละเอียดบางอย่างที่ฝีมือของมนุษย์ไม่อาจทําได้หรือต้องใช้เวลานาน เทคโนโลยีก็สามารถช่วยกําจัดข้อแม้นี้ลงได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
ในรายงาน Generative AI for Creators ผู้ช่วยคนใหม่ในยุคแห่งอนาคตสำหรับนักสร้างสรรค์ อธิบายเกี่ยวกับเครื่องมือ Generative Al ที่ใช้สำหรับงานฝีมือและหัตถกรรม ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยสามารถช่วยนักออกแบบสร้างผลงานได้อย่างง่ายดาย ด้วยการใช้วัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้ โลหะ พลาสติก อะคริลิก และหนัง ทั้ง Rotrics DexArm เครื่องมืออเนกประสงค์ในรูปแบบแขนหุ่นยนต์ตั้งโต๊ะ ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่น การวาด การแกะสลักด้วยเลเชอร์ และการพิมพ์ 3 มิติ Kniterate เครื่องถักแบบดิจิทัลสำหรับการผลิตเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมขนาดเล็ก แม้แต่ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการผลิตเสื้อผ้ามาก่อนก็สามารถสร้างการออกแบบที่กำหนดเองได้ รวมไปถึง Glowforge เครื่องตัดและแกะสลักเลเซอร์ในวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้ อะคริลิก และหนัง จะเห็นได้ว่าเราสามารถสร้างงานฝีมืออย่างง่ายดายด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่
ผลงานของ Kathryn Hinton ช้อนที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (kathrynhinton.com)
“การใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในงานออกแบบสิ่งต่าง ๆ ในระบบอุตสาหกรรม (Computer Aided Design) และการใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมเครื่องจักรกล (Computer Numerical Control) เปิดโอกาสฉันได้ทดลองกับเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์งานที่ฉันไม่สามารถทำได้ผ่านกระบวนการที่ทำด้วยมือแบบดั้งเดิม”
Kathryn Hinton ช่างอัญมณีและช่างเงินในประเทศสกอตแลนด์ ผู้ใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในงานออกแบบและผลิตผลงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แคธรินสร้างรูปทรงเรขาคณิต 3 มิติ โดยใช้โปรแกรมในการออกแบบและสร้างชิ้นงานของเธอ ซึ่งพื้นผิวของงานมีรายละเอียดของการทุบด้วยค้อนและรอยที่ทำด้วยโลหะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เสมือนการใช้ทักษะการสร้างสรรค์ผลงานแบบดั้งเดิม นอกจากนี้เธอยังได้ผลิตเครื่องประดับและเครื่องเงินหลายประเภทด้วยการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ อีกทั้งขึ้นรูปโดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมเครื่องจักรกล ซึ่งสามารถทำให้โลหะเหล่านี้มีคุณค่าจากความแปลกใหม่และทันสมัย
ผลงานของ Kathryn Hinton เครื่องประดับที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (madmuseum.org)
อนุรักษ์หรือพัฒนา ไปต่อหรือพอแค่นี้
จากบทความชิ้นหนึ่งของบ้านและสวน กล่าวว่าลักษณะเฉพาะของงานฝีมือประกอบด้วย “ความแตกต่างและหลากหลาย” ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบผสมผสานเข้าด้วยกัน และส่วนที่สำคัญที่สุดคือ วัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความหลากหลายในงานฝีมือที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ แต่เมื่อมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งาน กระแสของการพัฒนา Digital Craft ได้ก่อให้เกิดคำถามขึ้น ในแง่ของผลกระทบจากการพัฒนาที่อาจส่งผลต่อทิศทางของอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม แล้วการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นส่วนช่วยเพิ่มพูนจินตนาการของผู้ผลิตงานฝีมือให้มากขึ้น หรือเข้ามาแทนที่เอกลักษณ์ความหลากหลายจากงานคราฟต์แบบดั้งเดิมให้หายไป
ช่างฝีมือรุ่นเก่าบางส่วนมองว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบทักษะดั้งเดิมโดยใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์งานฝีมือ คือการทําลายรากเหง้าของสิ่งที่เขาสืบทอดองค์ความรู้และทักษะกันมารุ่นสู่รุ่น เพราะงานฝีมือเป็นงานที่ต้องอาศัยความปราณีตและพิถีพิถันในการสร้างสรรค์ เพื่อให้ผลงานที่ออกมาแต่ละชิ้นงดงาม ทรงคุณค่า และคงความเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในงานฝีมืออาจจะส่งผลให้กรอบความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ถูกจำกัดพื้นที่ลงภายใต้ความสามารถของเทคโนโลยีเหล่านั้น
ในขณะเดียวกันช่างฝีมือรุ่นใหม่ก็อาจมองไม่เห็นประโยชน์หรือความสำคัญที่จะอนุรักษ์งานฝีมือไว้ โดยไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ให้เข้ากับยุคสมัย หากรูปแบบชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ทําไมรูปแบบหัตถกรรมถึงเปลี่ยนตามไม่ได้ ช่างฝีมือหลายคนจึงติดอยู่ในความลังเลระหว่างคําว่า ‘อนุรักษ์’ และ ‘พัฒนา’
กัณณิกา บัวจีน หรือ นก ผู้จัดการร่มบ่อสร้างรุ่นที่สอง ‘เห็นด้วย’ ถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในงานหัตถกรรม
“วิกฤตของเราตอนนี้ คือ ขาดแคลนแรงงาน ขาดแคลนช่างฝีมือ ถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้บ้าง ทำให้เร็วขึ้น ต้นทุนลดลง เพราะงานฝีมือค่าแรงก็อย่างที่เห็นขึ้นตลอด ที่สำคัญที่สุดทำให้งานหัตถกรรมเป็นมาตรฐานเดียวกัน”
นก – กัณณิกา บัวจีน ผู้จัดการร่มบ่อสร้างรุ่นที่สองได้ให้ความเห็นถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสานร่วมกับงานหัตถกรรมดั้งเดิมว่า เทคโนโลยีจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนช่างฝีมือ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประสบกันทั่วโลก ไม่เพียงแค่ในกิจการของเธอเท่านั้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะสืบทอดงานฝีมือตรงนี้ต่อไป และเมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ ผลงานทุกชิ้นจะออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้
เธอยังให้ความเห็นอีกว่าแม้จะนำเทคโนโลยีมาผนวกเข้ากับงานหัตถกรรมในบางขั้นตอน แต่ก็ไม่ใช่ทุกขั้นตอนที่สามารถใช้เทคโนโลยีในการประดิษฐ์ เนื่องจากตอนนี้หลาย ๆ เครื่องมือ รวมถึงนวัตกรรมยังมีข้อจำกัด ทำให้สุดท้ายผลงานทุกชิ้นจะจบลงด้วยที่มือของคน ซึ่งคุณค่าของร่มล้านนาดั้งเดิมก็จะคงอยู่ต่อไปและไม่สูญหายไปไหน
“ถ้าคนชุมชนหัตถกรรมต้องการเชื่อมโยงเข้าหาผู้บริโภคยุคนี้ หนึ่งคือคนทำงานต้องพัฒนาจากการเป็นแรงงานฝีมือ (Craft Person) มาสู่การเป็นช่างศิลป์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ (Artisan) สองคือทุกคนต้องมองว่า Craft ไม่ใช่ Old และ Tech ก็ไม่ใช่ New อีกต่อไป”
ในบทความของ kooper ระบุความเห็นหนึ่งของ จิตราภา เลิศทวีวิทย์ หรือปราง นักออกแบบประสบการณ์ผู้ก่อตั้ง Another New Design Studio โดยมองว่าการหาจุดเชื่อมระหว่างงานคราฟต์กับผู้บริโภคสมัยใหม่ คนทำงานฝีมือจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการรับรู้และพฤติกรรมของผู้บริโภคเป้าหมายให้มากขึ้น เพราะโลกทุกวันนี้การอนุรักษ์เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการนํามาประยุกต์ใช้อยู่ตลอดเวลา ความสําคัญจึงอาจไม่ได้อยู่ที่รูปแบบงานสร้างสรรค์ว่าจะคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ได้หรือไม่ แต่ควรคิดว่าจะสร้างสรรค์งานอย่างไรให้เชื่อมโยงเข้าหาผู้บริโภคในยุคนี้
ระบบดิจิทัลเป็นระบบที่มีไว้เพื่อขยายขอบเขตของความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ให้ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง ผู้ผลิตงานฝีมือควรสร้างความสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยี โดยการประยุกต์ระบบใหม่อย่างระบบดิจิทัลเข้ากับระบบเก่าอย่างการผลิตด้วยมือเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานฝีมือทั้งในด้านของความสามารถทางการผลิต คุณภาพของสินค้า และความคิดสร้างสรรค์
คราฟต์ยังไงให้อยู่รอด?
Generative Al เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นสิ่งที่ปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างมาก โดยจะช่วยให้นักสร้างสรรค์สามารถพัฒนาแนวคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วยการทำให้กระบวนการออกแบบเป็นไปอย่างง่ายดาย ช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มผลผลิต แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดและความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานอีกหลายประการ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักสร้างสรรค์และนักออกแบบที่จะต้องตระหนักถึงความท้าทายและการพัฒนาระบบการทำงานเพื่อจัดการกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเหล่านั้น
กระแสของ Digital Craft นั้น สามารถส่งผลได้ทั้งในด้านบวกและด้านลบ เปรียบเสมือนดาบสองคม เป็นทั้งตัวช่วยชั้นดีที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้น แต่อีกด้านเทคโนโลยีก็ทำให้รากเหง้าความเป็นเอกลักษณ์ของงานฝีมือเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน อยู่ที่ว่าผู้ผลิตงานฝีมือจะนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาปรับใช้กับการสร้างสรรค์ผลงานอย่างไร ทั้งนี้ ไม่ควรมองว่าระบบดิจิทัลเป็นทางเลือกใหม่หรือเป็นสิ่งทดแทนระบบที่มีอยู่ เพราะถึงแม้ว่า Generative Al จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง แต่ก็ไม่สามารถแทนที่สัญชาตญาณและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการผลิตผลงานหัตถกรรม
งานฝีมืออาจจะไม่ได้จำกัดความแค่งานที่ทำด้วยมือ เพราะผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาด้วยฝีมือของผู้ผลิตไม่ว่าจะวิธีการใดก็ตาม ทั้งการใช้ทักษะแบบดั้งเดิมหรือใช้เทคโนโลยียุคใหม่ สิ่งเหล่านั้นล้วนประกอบด้วย “ความแตกต่างและความหลากหลาย” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของงานฝีมือทั้งสิ้น
ข้อมูลอ้างอิง
กัณณิกา บัวจีน (การสื่อสารส่วนบุคคล, 13 กันยายน 2566)
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)
นลินี ค้ากำยาน
นักศึกษาวารสาร ผู้ชื่นชอบการเขียนและการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม สนใจประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศิลปะวัฒนธรรมในชุมชน
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ