เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน /Activist Journalist
เมื่อไม่ได้อยู่ในที่ทำงาน แล้วจะทำงานได้หรือไม่?
ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราอาจจะต้องคิดหนัก แต่ในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยเรื่อง ‘สถานที่’ ก็ไม่ใช่ปัญหาหลักในการทำงานอีกต่อไป ‘ทุกที่’ สามารถเป็น ‘ที่ทำงาน’ เพียงแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดีและอุปกรณ์ที่ครบครัน ไม่ว่าจะอยู่บ้าน อยู่ทะเล อยู่ร้านกาแฟ หรืออยู่ที่ไหนก็ทำงานได้
เรามักจะเห็นผู้คนนั่งทำงานพร้อมกับแล็ปท็อปตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นภาพที่ชินตา กลุ่มคนทำงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีความสนใจในรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานใหม่ โดยที่จะเลือกจับกระแสการทำงานรูปแบบใหม่บวกกับการท่องเที่ยวเกิดเป็นกระแสการทำงาน และการท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กันจนทำให้เกิดเป็นวิถีชีวิตแบบ “ดิจิทัลโนแมด” (Digital Nomad)
Nomad to Normal
United Nations Development Programme (2020) ให้ความหมายของ Digital Nomad ว่าเป็นบุคคลที่ทำงานจากประเทศที่ไม่ใช่ประเทศของตนเอง ทำงานทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางโดยไม่มีถิ่นพำนักถาวร ส่วนทางการศึกษาด้านการท่องเที่ยว Digital Nomad หมายถึงบุคคลที่เดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อพักผ่อนร่วมไปกับการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องประจำอยู่ในออฟฟิศแบบเดิม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออิสรภาพจากข้อจำกัด ซึ่งต่างจากฟรีแลนซ์ตรงที่ไม่ได้โฟกัสที่สัญญาการจ้างงานที่เป็นอิสระ แต่โฟกัสที่สถานที่ทำงานที่เป็นอิสระแทน กลุ่มคนเหล่านี้มักออกจากประเทศของตนเพื่อไม่ต้องชำระภาษีเงินได้ในอัตราสูง สามารถเดินทางท่องเที่ยวหาความบันเทิงและที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง คล้ายกับเป็น ‘ชนเผ่าเร่ร่อนในยุคดิจิทัล’
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เทรนด์ Digital Nomad เติบโตได้มากขึ้น เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ต้องปรับรูปแบบการทำงานแบบยืดหยุ่น โดยอนุญาตให้มีการทำงานที่บ้าน (work from home) และการทำงานทางไกล (remote work) การทำงานนอกสถานที่จึงเกิดขึ้นแบบบังคับ แม้ว่าแรงงานส่วนใหญ่จะกลับไปทำงานตามปกติภายหลังวิกฤติโรคระบาดคลี่คลายลง แต่คนจำนวนมากก็ยังเลือกที่จะทำงานทางไกลต่อไป โดยองค์กรเอกชนจำนวนมากอนุญาตให้พนักงานทำงานแบบยืดหยุ่น โดยสามารถทำงานทางไกลได้ หรือทำงานในลักษณะผสม (Hybrid) ที่ต้องเข้าออฟฟิศในบางเวลา ด้วยเหตุนี้ แรงงานที่มีทักษะจำนวนมากจึงผันตนเองมาเป็นดิจิทัลโนแมดที่เดินทางไปพักอาศัยและทำงานในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นระยะ ๆ
สไตล์การทำงานของผู้คนเปลี่ยนไป หลังจากสถานการณ์ของโควิด-19 ประกอบกับการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่มดิจิทัลโนแมดทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 15.2 ล้านคน ในปี 2562 เป็น 35 ล้านคน ในปี 2565 หรือเติบโตขึ้นกว่า 130% และคาดการณ์ว่าในปี 2578 จะมีดิจิทัลโนแมดทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคน หรืออีก 11 ปี จำนวนดิจิทัลโนแมดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของประชากรวัยทำงานทั่วโลก
Check-in Chiang Mai
ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีดิจิทัลโนแมดหลั่งไหลเข้ามาเช็คอินจำนวนมาก ผู้คนเหล่านั้นเดินทางมาจากกว่า 43 ประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 63 มาจากทวีปยุโรป (รวมรัสเซีย) รองลงมาเป็น ทวีปเอเชีย ร้อยละ 19 ทวีปอเมริกา ร้อยละ 15 และทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 3 ตามลำดับ ทั้งนี้ ยังไม่พบดิจิทัลโนแมดที่มีต้นทางจากทวีปแอฟริกา โดยกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายที่ได้รับความสนใจติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก
ก่อนการระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงเฉพาะเมืองหลวงเท่านั้น แต่รวมถึงเมืองเหนืออย่างเชียงใหม่ก็ถือเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เมืองหลวง’ ของดิจิทัลโนแมด เลยก็ว่าได้ ดิจิทัลโนแมดกลายเป็นที่รู้จักและแยกแยะได้ง่ายจากคนท้องถิ่นในเชียงใหม่ โดยมักจะเห็นพวกเขานั่งกับแล็ปท็อปในร้านกาแฟ หรือพื้นที่ทำงานร่วม ซึ่งอายุของคนทำงานกลุ่มนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 30-44 ปี มักจะทำงานด้านซอฟต์แวร์ การตลาด-โฆษณา การเงิน กฎหมาย และทำธุรกิจ มีรายได้เฉลี่ย 50,000-100,000 บาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละกว่า 35,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวอีกต่างหากเฉลี่ยปีละกว่า 200,000 บาท
เว็บไซต์ digitalnomads ได้จัดอันดับ 16 เมืองจากทั่วโลกที่เหมาะกับการทำงานยุคดิจิทัลแบบไร้ออฟฟิศ หรือ Digital Nomad โดยจังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับ 3 ของโลก เมืองที่เหมาะกับทำงานแบบไร้ออฟฟิศ และอันดับที่ 16 ของโลก เมืองที่ดิจิทัลโนแมดให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นเมืองที่สามารถมาท่องเที่ยวหรือพักอาศัยควบคู่ไปกับการทำงานได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยค่าครองชีพที่เหมาะสม ความงดงามของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความผสมผสานของวัฒนธรรมที่อุดมสมบูรณ์ มีสถานที่ให้บริการที่หลากหลายพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ตอบโจทย์ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ เหมาะแก่การใช้ชีวิตของเหล่าคนทำงานยุคดิจิทัลแบบไร้ออฟฟิศทั่วโลก
“สำหรับผม หากคุณมีรายได้แบบที่ชาวตะวันตกได้รับ คุณก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่นี่ถูกกว่าในยุโรปหรืออเมริกา แต่ผมคิดว่าหลายคนชอบอยู่ที่นี่เพราะความสมดุลของเมือง ธรรมชาติ แหล่งช้อปปิ้ง สถานบันเทิงยามค่ำคืน วัฒนธรรม มันไม่ใหญ่เกินไป และไม่ได้เล็กเกินไป คนที่นี่ก็เป็นกันเองและให้ความช่วยเหลือดีมาก นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายไม่สูง มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเยี่ยมสำหรับการทำงานที่นี่ อินเทอร์เน็ตดี มี Co-Working Space ที่ดี มีคาเฟ่เยอะ และมีอีเวนต์รวมถึงโอกาสมากมายในการได้พบปะกับคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ” Rasmus Fridberg ชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่และสร้างธุรกิจในเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum
ส่วนใหญ่แล้ว การท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจเป็นจุดประสงค์แรกเริ่มของดิจิทัลโนแมดในการเดินทางมายังเชียงใหม่ โดยเชียงใหม่มีชื่อเสียงในเรื่องอาหาร คนพื้นถิ่นที่เป็นมิตร วัฒนธรรม รวมถึงเป็นเมืองที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่ดิจิทัลโนแมด จากการแนะนำ ชักชวน รีวิวจากสื่อสังคมออนไลน์
กลุ่มดิจิทัลโนแมดที่เข้ามาอยู่ระยะสั้นนั้นมักใช้เชียงใหม่เป็น ‘ฐานที่ตั้งเก็บสัมภาระ’ เพื่อเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียงอื่น ส่วนกลุ่มดิจิทัลโนแมดกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เป็นระยะเวลานานกว่านั้น มองว่าเชียงใหม่มีศักยภาพในการเป็น ‘ฐานหรือเมืองหลักในการพำนัก’ แม้จะมีการออกเดินทางไปยังเมืองอื่น ๆ อยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเฉพาะในพื้นที่ที่ทำให้พื้นที่ลดความน่าสนใจลง อาทิ คุณภาพอากาศที่ไม่ดีในบางช่วง (หมอกควัน) ความอันตรายบนท้องถนน และทักษะด้านภาษาต่างชาติของคนในท้องถิ่น
ทั้งนี้ หลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนของดิจิทัลโนแมดชาวต่างชาติในจังหวัดเชียงใหม่ได้ลดลงไปเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลจาก NomadList พบว่าในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีชาวดิจิทัลโนแมดกว่า 12,942 คน แต่ในเดือนมีนาคม 2567 ลดลงเหลือเพียง 5,000 คน
What if Digital Nomad comes in?
การเพิ่มขึ้นของดิจิทัลโนแมดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในเชิงพื้นที่และผลกระทบทางธุรกิจ เช่น การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ทำงานร่วม พื้นที่อาศัยร่วม และการสร้างโอกาสงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นสำหรับคนท้องถิ่น โดยช่วยเพิ่มกำลังซื้อและรายได้ให้กับพื้นที่ผ่านการใช้จ่ายในระยะสั้น ทั้งการใช้จ่ายเพื่อสินค้าอุปโภคบริโภค ที่พัก และการท่องเที่ยว ส่วนในระยะยาวพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากดิจิทัลโนแมด ซึ่งสามารถยกระดับศักยภาพพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ในบทความของกรุงเทพธุรกิจระบุว่า ดิจิทัลโนแมดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด “เศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” ในระยะยาว ของจังหวัดเชียงใหม่ เห็นได้ชัดจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวหายไปในระยะเวลาสั้นในต้นปี 2563 แต่นักเดินทางดิจิทัลโนแมดหลายคนยังคงอาศัยอยู่ในเชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่เห็นผลกระทบของการเข้ามาของดิจิทัลโนแมดในพื้นที่ภาคเหนือ แต่จากการถอดบทเรียนของต่างประเทศพบว่า การเข้ามาที่มากจนเกินไปอาจก่อให้เกิดความท้าทายกับประเทศเจ้าบ้านได้เช่นกัน โดยอาจเปลี่ยนแปลงของชุมชนจากคนในท้องถิ่นเป็นของนายทุน เพราะจำนวนดิจิทัลโนแมดที่เข้ามามาก มีส่วนทำให้ราคาที่อยู่อาศัย และค่าครองชีพสูงขึ้น จนส่งผลให้คนในท้องถิ่นต้องอพยพออกไปอยู่ชานเมือง รวมถึงการกลืนวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อตอบรับความต้องการของดิจิทัลโนแมด
หากดิจิทัลโนแมดเต็มเมือง เชียงใหม่จะเต็มไปด้วยคนต่างถิ่น สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ก็จะถูกดัดแปลงเป็น Co-working Space เหมือนกันไปหมด แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น เมืองนี้ก็จะไม่ตอบโจทย์ชาว Nomad ที่มีค่านิยม New Rich อยากสัมผัสประสบการณ์เฉพาะท้องที่อีกต่อไป
Digital Nomad Visa in Thailand
จากแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มดิจิทัลโนแมด ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเล็งเห็นโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยได้ออกนโยบายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มดิจิทัลโนแมดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกวีซ่าพิเศษสำหรับกลุ่มคนเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่ออกวีซ่า Digital Nomad แล้วกว่า 44 ประเทศ แบ่งเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรป 17 ประเทศ แคริบเบียน 10 ประเทศ อเมริกาเหนือและอเมริกากลาง 7 ประเทศ ตะวันออกกลาง 2 ประเทศ เอเชีย 4 ประเทศ และแอฟริกา 4 ประเทศ และยังมีอีก 10 ประเทศที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ แบ่งเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรป 4 ประเทศ เอเชีย 3 ประเทศ และอเมริกาใต้ 3 ประเทศ
หากกลับมามองในประเทศไทยก็ได้ดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมดิจิทัลโนแมด ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อดึงดูดนักเดินทางดิจิทัลมาที่เชียงใหม่โดยเฉพาะ เช่น “Digital Work Permit” วีซ่าทำงานดิจิทัลที่มีระยะเวลา 10 ปี สามารถเข้า-ออกได้หลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม วีซ่าระยะยาวของไทยก็มีข้อจำกัดสำคัญคือเงื่อนไขที่ค่อนข้างสูง เพราะดิจิทัลโนแมดที่อยากเข้ามาทำงานที่ไทยจะต้องมีรายได้ถึง 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 2,797,080 บาทต่อปี และ 233,090 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าทุกประเทศใน 10 อันดับแรกใน Digital Nomad Visa Index มีประสบการณ์ทำงานไม่ต่ำกว่า 5 ปี ในฟิลด์การทำงานปัจจุบัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยทำงานในบริษัทที่จดทะเบียนถูกกฎหมายและบริษัทที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 3 ปีที่ผ่านมา หากมีรายได้ประมาณ 40,000-80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี จะต้องจบการศึกษาอย่างน้อยในระดับปริญญาโท มีทรัพย์สินทางปัญญาในครอบครอง หรือมีบริษัทหรือธุรกิจที่มีการระดุมทุนใน Series A รวมทั้ง มีประกันสุขภาพที่มีวงเงินคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ
จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยตั้งเกณฑ์สำหรับดิจิทัลโนแมดไว้สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งทำให้ดิจิทัลโนแมดส่วนใหญ่ไม่สามารถขอวีซ่านี้ในประเทศไทยได้ เพราะแม้จะมีรายได้สูงถึงเกณฑ์ ก็ค่อนข้างยากที่จะได้ทำงานในบริษัทที่มีรายได้อย่างน้อย 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพราะส่วนมากเป็นสตาร์ทอัพที่ยังมีรายได้และกำไรไม่มั่นคง
หากประเทศไทยอยากดึงดูดให้ดิจิทัลโนแมดเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น จะต้องปรับเกณฑ์สำหรับบุคคลในกลุ่มนี้ให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับคุณสมบัติของดิจิทัลโนแมดตามความเป็นจริง เพราะ Digital Nomad จะเป็นกลุ่มคนที่ร่วมขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาเมืองยุคใหม่ ไม่เช่นนั้นดิจิทัลโนแมดส่วนมากก็จะเลือกไปประเทศที่มีเกณฑ์ต่ำกว่า ทำให้เราอาจเสียรายได้จำนวนมหาศาลในภาคการท่องเที่ยวและบริการจากชาวต่างชาติเหล่านี้
แหล่งที่มา
เปิด 10 อันดับประเทศเป็นมิตรกับ Digital Nomad ทำงานทางไกล พร้อมอยู่เที่ยวได้ยาวๆ
เชียงใหม่ เมือง Digital Nomad ของโลก | ศิริวรรณ สืบนุการณ์
โอกาสทางเศรษฐกิจภาคเหนือจากการเข้ามาของ Digital nomad
Digital Nomad เทรนด์ฮิตติดลมบน สร้างโอกาสท่องเที่ยวไทย
‘เชียงใหม่’ เมืองน่าอยู่ของ ‘ดิจิทัลโนแมด’ ชนเผ่าเร่ร่อนในยุคดิจิทัล
ทำความรู้จัก ‘Digital Nomad’ ในประเทศไทย
“ผมเลือกอยู่ที่นี่เพราะความสมดุลของเมือง” ชีวิตชาวต่างชาติผู้ทำธุรกิจในเชียงใหม่
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)
นลินี ค้ากำยาน นักศึกษาวารสาร ผู้ชื่นชอบการเขียนและการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม สนใจประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศิลปะวัฒนธรรมในชุมชน |
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ