เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อประชาธรรมและองค์กรเครือข่ายร่วมกันจัดงาน “Green Economy and Community ชุมชนกับเศรษฐกิจสีเขียว” ณ ลานกิจกรรม หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ 

โดยวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเห็นความสำคัญและมองเห็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดรายได้ มีช่องทางการตลาดในระยะยาว ประสานความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในเชียงใหม่ที่สนใจทำงาน ขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวในระดับชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และเชื่อมต่อและผลักดันชุมชนกับเศรษฐกิจสีเขียวให้เป็นนโยบายระดับท้องถิ่นและจังหวัด

ภายในงานมีกิจกรรมตลาดชุมชนกับเศรษฐกิจสีเขียว บูรกิจกรรมรณรงค์ต้นฉำฉา รวมถึงการแสดงดนตรีและฟ้อน นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเวที “ประชาทำ” Talk และเวทีเสวนาในหัวข้อ “จินตภาพชุมชนกับเศรษฐกิจสีเขียว”

สรุปประเด็นในเวที “ประชาทำ” Talk ร่วมบอกเล่าเรื่องราวชุมชนกับเศรษฐกิจสีเขียว 

มนตรี หินมี /วิสาหกิจเกษตรพัฒนาและผู้ใหญ่บ้านเกษตรพัฒนา ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

มนตรี หินมี วิสาหกิจเกษตรพัฒนาและผู้ใหญ่บ้านเกษตรพัฒนา บอกเล่าถึงปัญหาในแง่มุมการเพาะปลูก ในพื้นที่อำเภอสันทราย ที่เกิดมาจากความสุดโต่งในการใช้สารเคมีในการเกษตร ทำให้แนวคิดชุนชนกับเศรษฐกิจสีเขียวมีความสำคัญ เพื่อการประกอบอาชีพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน ควบคู่ไปกับการทำวิสาหกิจชุมชน ที่ช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชน และช่วยให้เล็งเห็นถึงต้นทุนทางธรรมชาติในพื้นที่ โดย มนตรี คาดหวังการต่อยอดจากคนคนรุ่นใหม่ ในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน

ปิยราช สมบัติ ผู้ประกอบการเกษตรกรคนรุ่นใหม่ บ้านแม่วาก อ.แม่แจ่ม กล่าวย้อนไปในอดีต ที่อำเภอแม่แจ่ม เป็นหนึ่งในจำเลยสังคม จากการเผาข้าวโพดในพื้นที่ ซึ่งเป็นความจริง แต่ก็ได้มีการปรับปรุงพัฒนา แก้ปัญหาด้วยการนำข้าวโพดมาใช้เลี้ยงสัตว์ แปลงเป็นเชื้อเพลิง และการทำเกษตรแบบไร้การเผา เข้ากับแนวคิดชุมชนสีเขียว แต่สิ่งที่สำคัญที่ ปิยราช กล่าวถึง คือความมั่นคงทางที่ดินทำกิน พื้นที่เพาะปลูกหลายส่วนยังไม่ถูกรับรองจากรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขปรับปรุง ปิยราช เสนอว่าเราควรมองเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นสิ่งเดียวกันเพื่อการพัฒนาควบคู่กันอย่างยั่งยืน

ศรัณยา กิตติคุณไพศาล สวนบัวชมพู อ.เชียงดาว บอกเล่าประสบการณ์การกลับมาทำการเกษตร ณ บ้านเกิด โดยใช้ศาสตร์พระราชาในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ยึดหลัก “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” ก่อนจะเริ่มปลูกพืชเพื่อการขาย โดยสำรวจตลาด และพัฒนาสินค้า เพื่อสร้างอาชีพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนทั้งในส่วน ต้นน้ำ (การผลิดวัตถุดิบ) กลางน้ำ (การแปรรูปสินค้า) และปลายน้ำ (การทำแพคเกจ) โดยกระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยฝีมือคนในชุมชนเอง เพราะปัญหาอย่างหนึ่งที่ ศรัณยา กล่าวถึง คือการบริหารจัดการโดยคนภายนอก ที่บางครั้งก็เอารัดเอาเปรียบคนในชุมชน อีกทั้งตนยังคาดหวังการเชื่อมชุมชนเข้ากับเส้นทางการท่องเที่ยวอีกด้วย

ดวงกมล มังคละคีรี /ผู้จัดการฉำฉามาร์เก็ต อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

ดวงกมล มังคละคีรี ผู้จัดการฉำฉามาร์เก็ต อ.สันกำแพง กล่าวในฐานะที่ตน ทำธุรกิจในพื้นที่ ว่ามีความไม่รู้ความเกี่ยวข้องระหว่างธุรกิจของตน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมในทีแรก ก่อนจะเริ่มเล็งเห็นความเกี่ยวข้องในส่วนนี้ โดยได้สรุปว่าทั้งหมดนี้เหมือนเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดองค์ประกอบให้เข้ากับแนวคิดชุมชน และเศรษฐกิจสีเขียวไปทีละนิด และควรให้โอกาส ให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

สรุปประเด็นเวที “ประชาทำ” Talk แบบ visualization จัดทำโดย Aoo Whale

สรุปประเด็นในเวทีเสวนา “จินตภาพชุมชนกับเศรษฐกิจสีเขียว” ผู้เข้าร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยน ได้แก่​ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต​, สมคิด แก้วทิพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้​, จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงศ์ ผู้จัดการแผนกความยั่งยืนองค์กร-ภาคเหนือ บริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด​ และชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจ ดำเนินรายการโดย อาคม สุวรรณกันธา ประธานสมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเชียงใหม่​

เดชรัต สุขกำเนิด /ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต กล่าวถึง 5 หลักการ ที่เกี่ยวข้องกับจินตภาพของชุมชนและเศรษฐกิจสีเขียว อีกทั้งยังยึดโยงกับการออกแบบนโยบายเพื่อพัฒนา ได้แก่

  1. Renewable คือการลงทุนที่สามารถนำเอาทุนที่ใช้ไปกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ แต่มีความแตกต่างจาก “กำไร” โดยเป็นการมุ่งเน้นไปที่การนำต้นทุนทางธรรมชาติ หรือที่มีอยู่ในชุมชนกลับมาหมุนเวียนใหม่ 
  2. Local content คือทรัพยากรในชุมชน 
  3. Management คือการจัดการโดยใช้แนวคิดชุมชนกับเศรษฐกิจสีเขียว
  4. Monitoring & Evaluation คือการตรวจสอบ และประเมิน ทั้งทรัพยากร กระบวนการ และผลกระทบที่เกิดขึ้น และ 5. Design คือการออกแบบให้ทุกคนมองเห็นคุณค่า และความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติเท่ากัน
สมคิด แก้วทิพย์ /อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

สมคิด แก้วทิพย์ อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงประเด็น “การก้าวต่อไปของชุมชนและเศรษฐกิจสีเขียว ในแง่มุมของเศรษฐศาสตร์ และมิติทางการเมือง โดยเริ่มกล่าวจากพื้นฐานของเศรษฐกิจสีเขียว ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติ ที่จำเป็นต้องทำการส่งผ่านความรู้ความเข้าใจ และร่วมกันหาจุดเชื่อมโยงระหว่างชุมชนและธรรมชาติ โดยต้องไม่มีการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ เพราะทั้งหมดนี้ดำรงอยู่บนหลักของการอยู่ร่วมกัน อีกทั้งยังหวัง ว่าบทบาททางวิชาการของสังคมจะสามารถช่วยสร้างทัศนะที่ถูกต้องและเหมาะสมในประเด็นนี้ได้

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงศ์ /ผู้จัดการแผนกความยั่งยืนองค์กร-ภาคเหนือ บริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงศ์ ผู้จัดการแผนกความยั่งยืนองค์กร-ภาคเหนือ บริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด กล่าวถึงประเด็น “จินตภาพของชุมชนและเศรษฐกิจสีเขียว ในมุมมองของการทำธุรกิจ” โดยตีความเศรษฐกิจสีเขียว เป็นการหาพลังงานทดแทนมาปรับใช้ในภาคธุรกิจ และมองว่าเป็นเทรนด์การพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการจัดการขยะจากเศษอาหาร ผ่านโครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” การพัฒนาแพคเกจสินค้าจากวัสดุธรรมชาติ และการผลักดันธุรกิจภาคประชาสังคม ในแง่มุมของการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน 

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ /ประธานสภาลมหายใจ

และชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจ กล่าวถึงคุณค่าที่สำคัญของแนวคิดและหลักการชุมชนและเศรษฐกิจสีเขียว โดยกล่าวถึงการเคารพและอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม การเกื้อกูลมนุษย์ และการพึ่งพามนุษย์ พร้อมเสริมประเด็นการสร้างของเสีย ที่ตนมองว่าเป็นการนำทรัพยากรมาสร้างผลกำไร โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจเท่ากับระบบนิเวศ เพื่อการพัฒนาตามแนวคิดชุมชนกับเศรษฐกิจสีเขียว โดยตนให้ความสำคัญกับชุมชน ในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้กับธรรมชาติมากที่สุด

สรุปประเด็นในเวทีเสวนา “จินตภาพชุมชนกับเศรษฐกิจสีเขียว” แบบ visualization โดย Aoo Whale

องค์กรร่วมจัด

  1. โครงการสร้างนักสื่อสารสิ่งแวดล้อมเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม
  2. สภาลมหายใจ
  3. กลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง
  4. เครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อ.เชียงดาว
  5. วิสาหกิจบ้านเกษตรพัฒนา อ.สันทราย
  6. เยาวชนพลเมืองสันกำแพง
  7. เครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม
  8. หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
  9. กองทุนพัฒนาสุขภาวะ จังหวัดเชียงใหม่ที่ยั่งยืน และ
  10. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Similar Posts