เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 เวลา 9.00 น. มูลนิธิสื่อประชาธรรม ร่วมกับเทศบาลตำบลป่าไผ่ ได้จัดกิจกรรม Green local community กับการพัฒนาตลาดสีเขียว ผ่านโครงการสร้างนักสื่อสารสิ่งแวดล้อมเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ณ Community Center (ศูนย์ CC) ตำบลป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ โดยมีเวทีเสวนาและมีตลาดนัดสินค้าเศรษฐกิจสีเขียวของชุมชนในตำบลป่าไผ่
เวลา 09:00 – 09:15 น. ดร.ไชยยันต์ วิริยา นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลป่าไผ่ ได้กล่าวเปิดพิธีโดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนเห็นความสำคัญและมองเห็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดรายได้ มีช่องทางการตลาดในระยะยาว ทั้งนี้เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในเชียงใหม่ที่สนใจทำงาน ขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวในระดับพื้นที่ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และเพื่อเชื่อมต่อและผลักดันชุมชนในพื้นที่ อ.สันทราย กับเศรษฐกิจสีเขียวให้เป็นนโยบายระดับท้องถิ่นและจังหวัด
เวลา 09:15 – 10:30 น. เวทีเสวนา “ป่าไผ่กับเศรษฐกิจสีเขียว” ผู้เข้าร่วมเสวนาจากตัวแทนกลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง โดย มนตรี หินมี ผู้ใหญ่บ้านเกษตรพัฒนา เป็นผู้ดำเนินรายการ
ด้านคุณสุเทพ วิริยา จากหมู่ 1 พูดถึงเรื่องไส้เดือนดิน กล่าวว่าจุดเริ่มต้นในการเลี้ยงไส้เดือนดินเริ่มปี 2541 เนื่องจากเดิมทีเป็นเกษตรกรอยู่แล้วและด้วยพิษทางเศรษฐกิจ จึงได้เริ่มหาวิธีการทำเกษตรที่ใช้เวลาน้อยที่สุด จึงเริ่มศึกษาและได้ฟังจากวิทยุของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เกี่ยวกับการเลี้ยงไส้เดือนดิน จึงได้ไปขอเอกสารการเรียนรู้และเข้าอบรมจากภาควิชาดินและปุ๋ยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรคคือต้องเริ่มมือทำก่อนจึงจะประสบความสำเร็จได้ และหากใครสงสัยสามารถสอบถามได้ ในส่วนด้านการตลาดนั้นเดิมทีเริ่มจากการขายทางเว็บไซต์ และขายทาง Facebook ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี ปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้ประจำ และตนเองไม่มีปัญหาด้านการตลาด เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาคุณภาพการผลิต
ต่อมาคุณอำภา วงศ์จักร จากหมู่ 14 พูดถึงเรื่องปุ๋ยหมัก กล่าวว่าจุดเริ่มต้นจากการเข้าร่วมอบรมการทำปุ๋ยหมักจากเทศบาลหลังจากนั้นจึงได้ร่วมรวมกลุ่มกับสมาชิกจำนวน 5 คน ชุดแรกจำหน่ายได้หมดเลยซึ่งผลตอบรับดีมาก ด้านอุปสรรคคือหากทำเป็นจำนวนมากเป็นเชิงธุรกิจอาจมีปัญหา ทั้งเรื่องสถานที่และแหล่งน้ำ ในส่วนการแก้ปัญหาโดยการย้ายสถานที่มาตั้งอยู่ใน ศูนย์ CC รวมกลุ่มในรูปแบบตำบล ทั้งนี้มีการศึกษาเพื่อให้มีการรับรองมาตรฐาน และบรรจุภัณฑ์
คุณผ่องพรรณ สะหลี เจ้าของสวนฮ่มสะหลี จากหมู่ 2 พูดถึงเรื่องผักอินทรีย์ กล่าวว่าจุดเริ่มต้นคือชอบปลูกผักอยู่แล้วแต่ก่อนหน้านี้รับจ้างเย็บผ้า เริ่มมีแนวคิดปี 2558 ในการทำเกษตรอินทรีย์ จึงได้หาช่องทางในการอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์และศึกษาแนวทางเกษตรอินทรีย์ ต่อมาในปี 2559 เริ่มมีการปลูกผัก โดยตอนแรกปลูกไว้กินเองเพื่อความปลอดภัยด้านสารพิษ และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ต่อมาเริ่มมีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนและรับรองมาตรฐาน อุปสรรคต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวเนื่องจากพื้นที่เป็นเคมีมานาน หากจะเปลี่ยนมาใช้การปลูกในรูปแบบอินทรีย์ต้องใช้เวลานาน ในส่วนด้านการตลาดนั้นเริ่มแรกไม่มีคนรู้จักเราเลย ดังนั้นเราต้องมีมาตรฐานสร้างความเชื่อถือโดยการมีใบรับรอง ซึ่งจะต้องมีการรับรองตั้งแต่เมล็ด และมีการขายออฟไลน์และทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญคือการสร้างมาตรฐานที่สม่ำเสมอ ข้อดีคือทำเองขายเองโดยไม่มีพ่อค้าคนกลาง และสามารถประเมินจากการซื้อของลูกค้า เพื่อมาปรับปรุงคุณภาพต่อไปได้
อนันต์ เชยกลิ่นเทศ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 16 พูดเรื่องกล้วยไม้ กล่าวว่าจุดเริ่มต้นเดิมทีครอบรัวที่บ้านทำกล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ กล้วยไม้ส่งไปเยอรมันอยู่แล้ว โดยขายเป็นดอก ดอกละ 1 บาท ช่อละ 7 บาทต่อมามีการทำเยอะมากขึ้นรายได้จึงลดลง จึงได้มาลงขายที่เชียงใหม่ ไม่มีปัญหาด้านการผลิตแต่มีปัญหาด้านการส่งออกเศรษฐกิจระดับประเทศระดับโลก สิ่งที่ประสบความสำเร็จคือสามารถกำจัดกิ่งไม้ในชุมชน ได้ประโยชน์จากการเผาถ่านไบโอชา ซึ่งใช้ไม้ไผ่มาเป็นโรงเรือนเพื่อกันลม และหากไผ่หมดอายุก็นำมาเผาถ่านและใช้ต่อไป และปัจจุบันยังคงได้พัฒนาด้านสายพันธุ์เพื่อให้การตลาดไม่ตัน การตลาดมี 2 แบบคือ ตลาดทั่วไปและตลาดแบ่งปัน ด้านตลาดทั่วไปจะมีร้านประจำ ออเดอร์จากลูกค้าประจำ และตลาดออนไลน์ และด้านตลาดแบ่งปัน โดยการแบ่งกันขายในแต่ละฟาร์มเพื่อไม่ให้มีการแย่งลูกค้าหรือแย่งตลาดกัน
คุณวันชัย นันทพัฒน์ จากหมู่ 6 พูดเรื่องถ่านอัดก้อน กล่าวว่าจุดเริ่มต้นมาจากการรวมกลุ่มในชุมชนโดยเริ่มจากเผ่ากิ่งไม้ใบไม้ และแนวคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ต่อมาจึงได้จดรับรองเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายในชุมชนจากแก๊สหุงต้ม ด้านตลาดต้องมีการวางแผนรวมกลุ่มกันเริ่มต้นอย่างยากลำบาก เริ่มต้นทดลองและร่วมหุ้นกันในกลุ่ม โดยแบ่งหน้าที่ฝ่ายผลิต ฝ่ายตลาด และฝ่ายประชาสัมพันธ์
คุณอังคาร สีลาเม จากหมู่ 15 พูดเรื่องข้าวอินทรีย์ กล่าวว่าจุดเริ่มต้นปี 2555 ตนเองเป็นลูกชาวนาอยู่แล้วและเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานด้านเกษตรอินทรีย์ เริ่มต้นจากแนวคิดจากการรวบรวมของคณะกรรมการหมู่บ้าน ต่อมาได้ศึกษาเรื่องการจัดการขยะในชุมชน และแก้ไขปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่ โดยเริ่มจากการไปอบรมการทำปุ๋ยที่ม.แม่โจ้ และมีรวมตัวกันของกลุ่มที่ไปอบรมต่อมาได้เข้าประกวดที่ อำเภอสันทราย ต่อมาได้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ขายออก ปัญหาเรื่องพื้นที่และปัญหาเรื่องน้ำทำให้ผลผลิตลดลง และมีการขายที่ให้กับนายทุ่นเนื่องจากมีการเสนอเงินที่น่าพอใจ และเกษตรกรเริ่มมีอายุมากขึ้นไม่มีแรงมากพอที่จะทำขายเหมือนเช่นเคยจึงทำไว้เพื่อกินเท่านั้นไม่ได้ทำเพื่อขาย ตนเองเป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยที่สุดและได้เข้าร่วมกิจกรรมและช่องทางส่งออก และได้เครือข่าย โดยจุดมุ่งหมายในการทำข้าวอินทรีย์ปัจจุบันขอมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์และได้รับการรับรองเรียบร้อยแล้ว ในส่วนด้านการตลาดมีการรับซื้อข้าวของกลุ่มวิสาหกิจ โดยแบ่งหน้าที่ในการจัดการ และขายให้พ่อค้าที่รับซื้อไปขายต่อ แต่ต่อมามีความต้องการมากขึ้นจึงได้มีการขยายการปลูก ทางกลุ่มจึงได้ออกบูธ และขายเองทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์
และด้าน ดร.ไชยยันต์ วิริยา จากหมู่ 1 พูดถึงเรื่องโกโก้ กล่าวว่าจุดเริ่มต้นคือการมีแนวคิดในการปลูกนำร่องโกโก้ เพื่อให้ทราบว่าจะสามารถออกผลหรือมีตลาดรองรับหรือไม่ และพูดถึงวิธีการปลูกและวิธีการดูแลโกโก้ และผลผลิตที่ได้รับต่อปี โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากชุมชนที่ขาย ด้านการตลาดนั้นมีการประกันราคาจากโรงงานอยู่แล้ว และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้เพื่อพัฒนารูปแบบและแปรรูปโกโก้ต่อไป
ต่อมาในเวลา 10:30 – 12:00 น. เวทีเสวนา “การพัฒนาตลาดสีเขียว” โดย นันทา เบญจศิลารักษ์ มูลนิธิสื่อประชาธรรม เป็นผู้ดำเนินรายการ
ด้านนายจักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงศ์ ผู้จัดการแผนกความยั่งยืนองค์กร-ภาคเหนือ บริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด กล่าวว่าเนื่องจากพิษเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวโดยจะต้องมีการอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ธุรกิจใหญ่จะไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป จะต้องพึ่งพาธุรกิจชุมชน SME ให้สามารถไปควบคู่ด้วยกันได้ ล่าสุดสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่คือปรากกฎการณ์จากภาวะโลกร้อน ดังนั้นจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจได้ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนร่วมกับชุมชน “ธุรกิจต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน และคำนึงถึงชุมชนที่เป็นรากฐานของสังคมด้วย” ธุรกิจต้องปรับตัวให้เป็นธุรกิจสีเขียวและเป็นธุรกิจที่มีการแบ่งปัน เพราะหลังจากนี้คนรุ่นใหม่และผู้สูงวัยที่จะเป็นกำลังหลักที่มีการซื้อขายโดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้จะต้องมีหน่วยงานจากภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนชุมชนด้วยเช่นกัน
ต่อมา ดร. ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์ประจำคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า การที่ชุมชนจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจการพัฒนาตลาดสีเขียวทั้งออนไลน์/ออฟไลน์ จะต้องคำนึงถึงคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจะต้องปรับตัวเรื่องแพลตฟอร์มในการขายด้วยเช่นเดียวกัน พื้นที่สามารถต่อยอดและพัฒนา ปัจจัยที่ตลาดชุมชนประสบความสำเร็จคือ
1. การเปิดใจเรียนรู้ และนำไปใช้จริงๆเพื่อลองผิดลองถูก ล้มเหลวให้เร็วและไปข้างหน้าด้วย
2. คนนอกสามารถเข้าถึงชุมชนและผู้นำให้ไปด้วยกันได้
3. คนนอกจะต้องมีความรู้จริงเพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปใช้ได้จริงไม่ใช่แค่รู้แบบผิวเผินเท่านั้น
4. สร้างผู้นำ ซึ่งเป็นการสร้างกำลังคน (คนที่สามารถบอกต่อให้ชุมชนต่อไปได้ ซึ่งเป็นการสร้างตลาดสีเขียว)
มากกว่านั้นภายในงานยังมีตลาดชุมชนซื้อขายสินค้าชุมชน สินค้าสีเขียวในชุมชนเพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในท้องถิ่น สร้างฐานเศรษฐกิจร่วมกัน
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ