17 ตุลาคม 2566

เยาวชนลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นในเรื่องฉำฉา

16 ตุลาคม 2566 โรงเรียนสันกำแพง โรงเรียนบ้านหนองโค้ง ร่วมกับมูลนิธิสื่อประชาธรรมจัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “เปลี่ยนสันกำแพงด้วยพลังเยาวชน ปี 2” ณ ห้องโสตทัศนศึกษา 2 โรงเรียนสันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยมีเยาวชนเข้าร่วมจากทั้งโรงเรียนบ้านหนองโค้งและสันกำแพงกว่า 30 คน

เป้าหมายของการอบรมในครั้งนี้ คือการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ท้องถิ่น หรือชุมชน รวมถึงการสร้างเครื่องมือให้กับเยาวชนในการลงพื้นที่ชุมชน 

ชนกนันทน์ นันตะวัน กลุ่มสม-ดุลเชียงใหม่

ในช่วงเช้า ชนกนันทน์ นันตะวัน จากกลุ่มสม-ดุลเชียงใหม่ ได้ชวนทุกคนย้อนกลับไปในวัยเด็กมาจนถึงปัจจุบันที่เราต่างแวดล้อมด้วยสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม และชนกนันทน์มองว่าการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมที่ดีคือการทำมันอย่างสม่ำเสมอและซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ รวมถึงกลยุทธ์ในการสื่อสารที่ดีต้องไม่ยัดเยียดเนื้อหา เช่น การทำกิจกรรมวาดภาพด้วยสีน้ำจากของธรรมชาติก่อนที่จะสื่อสารเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับประเด็นสิ่งแวดล้อม

ตระการ ทนานทอง ครูโรงเรียนสันกำแพง

ต่อมา ตระการ ทนานทอง ครูโรงเรียนสันกำแพง ได้เล่าถึงสถานการณ์ต้นฉำฉาสันกำแพงในปัจจุบัน ทั้งเรื่องข้อมูลด้านสุขภาพจากการสำรวจ รวมถึงข้อมูลด้านอุบัติเหตุของต้นฉำฉา เพื่อให้เยาวชนได้เห็นบริบท ข้อถกเถียงในปัจจุบัน

ต่อมา เยาวชนได้แบ่งกลุ่มไปลงพื้นที่เพื่อศึกษาบริบทฉำฉา ในอำเภอสันกำแพง นำทีมโดยเยาวชนพลเมืองสันกำแพง ชวนลองสะท้อนปัญหาของต้นฉำฉา ทั้งเรื่องสุขภาพและสังคม เนื่องจากเวลาเราทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้คนด้วย 

เยาวชนได้แลกเปลี่ยน นำเสนอถึงความเห็นของชุมชนที่ได้ไปเก็บมาว่า “คนทั่วไปที่สัญจรบนถนนมองว่า ให้ความร่มเย็น ให้ความสวยงามกับพื้นที่ แต่ข้อเสีย ผิวถนนขรุขระ ใบไม้ร่วงจำนวนมาก และเกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ เสนอว่าควรเอาออก” ด้านพ่อค้าแม่ค้า มองว่า ช่วยทำให้ร่มเย็น มองว่าการมีต้นไม้ใหญ่ถือเป็นการควบคุมความเร็วในการสัญจร ข้อเสนอคืออยากให้มีต้นฉำฉานี้ต่อไป”

แต่อีกกลุ่มที่ได้ไปสัมภาษณ์ช่างเย็บผ้าที่เปิดร้านแถวนั้น “เขามองว่าข้อดี มองว่าให้ความร่มรื่น แค่เพียงในตอนเช้า ข้อเสียคือเกิดอุบัติเหตุและงบประมาณในการดูแล ข้อเสนอคืออยากให้รื้อถอน และปลูกต้นไม้ที่สามารถให้ประโยชน์แทน” อีกกลุ่มหนึ่งได้ไปสัมภาษณ์คุณลุงขายพระ มีข้อเสนอว่า “อยากให้เพิ่มความสว่างกับถนนมากขึ้น และขยายถนน รวมถึงตัดแต่งกิ่งให้ถูกวิธี”

สาวิตรี ศรีสะอาด ผู้ประสานงานเครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม

ต่อมาเป็นกระบวนการการลงพื้นที่ชุมชน ชวนคุยโดย สาวิตรี ศรีสะอาด ผู้ประสานงานเครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม และชวนออกแบบเครื่องมือในการสอบถามความเห็นทางสังคม ความสำคัญของการลงพื้นที่เก็บข้อมูล รวมถึงวิธีการได้มาซึ่งข้อมูล

วิธีการในการได้มาซึ่งข้อมูล ผ่าน 10 ขั้นตอนพื้นฐานในการจัดระบบชุมชน 

  1. การผสมกลมกลืน คือการลงไปคลุกคลีให้ชุมชนรู้จักเรามากขึ้น เกิดความไว้วางใจ ลงชุมชนซ้ำ ๆ 
  2. ศึกษาชุมชนเพื่อนำมาเป็นประเด็นคำถามในการทำแบบสอบถาม
  3. การค้นหาปัญหาและวิเคราะห์ปัญหา มองมิติของปัญหา ลำดับความสำคัญของปัญหา
  4. ค้นหาผู้นำ เป็นขั้นตอนที่ไม่ง่าย กว่าจะได้ผู้นำที่เราต้องการ
  5. การเตรียมความพร้อมก่อนประชุม นำประเด็นไปหารือกับชุมชน รวบรวมข้อมูล
  6. การประชุมชุมชน
  7. บทบาทสมมติ การจำลองเหตุการณ์
  8. การปฏิบัติการ/การดำเนินงาน ลงมือทำตามแผนงาน
  9. สรุปประชุม
  10. องค์กรประชาชน

ต่อมา เยาวชนได้ร่วมกันออกแบบคำถามในแบบสอบถามเพื่อใช้ลงพื้นที่ต่อไป มีการทดลองปรับเปลี่ยนจากแบบสอบถามเดิม เพิ่มเติมให้เหมาะสมกับพื้นที่มากขึ้น ได้ร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

ท้ายสุดของการอบรม เยาวชนผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันถอดบทเรียน และความรู้ใหม่ที่ได้ในครั้งนี้ว่า เห็นการปรับตัวของชุมชนหรือผู้ประกอบการที่อาศัยอยู่กับต้นไม้ คือการปรับตัวของสภาพแวดล้อม และ เห็นความร่วมมือของชุมชน ผู้ประกอบการรอบข้างถนนฉำฉามากขึ้น และการไม่เหมารวมหรือการตัดสินคนอื่น ๆ เพราะแต่ละคนนั้นมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มากกว่านั้นยังเห็นความเห็นที่คนในชุมชน แม้จะบริเวณใกล้กัน แต่มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การรรับข่าวสารในพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นทางเยาวชนมองว่าข่าวสารหรือสื่อมีความสำคัญอย่างมากในความคิด ความเชื่อ และการตัดสินใจ

หลังจากนี้ จะมีกิจกรรมสนุก ๆ ในพื้นที่สันกำแพงอีก โปรดรอติดตาม

Similar Posts