เรื่อง: รัชชา สถิตทรงธรรม /Activist Journalist
วิดีโอ: ภูริวัฒน์ ใจบุญ และศักฎาณุวัฒจ์ ยุวารี /Activist Journalist
“คนไร้บ้าน” หนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวและความเจริญมั่งคั่งของเมืองใหญ่ ซึ่งในทุก ๆ ปีเราจะพบว่า จำนวนคนไร้บ้านยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุสำคัญมักจะมาจากปัญหาครอบครัว
ปัญหาการว่างงาน ปัญหายาเสพติด ปัญหาการไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม รวมไปถึงปัญหาอื่น ๆ ที่ผลักดันให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
ถ้าพูดถึงปัญหาคนไร้บ้านในภาคเหนือ ภาพคนไร้บ้านตามแนวคูเมืองเชียงใหม่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นลำดับแรก แต่สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มคนไร้บ้านในภาคเหนือไม่ได้มีแค่ในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เพราะแม้แต่เมืองเล็ก
ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจรองลงมาอย่างลำปางได้เริ่มมีปัญหาคนไร้บ้านเกิดขึ้นในเขตเมือง แม้จำนวนคนไร้บ้านที่ทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปางได้ไปสำรวจมาล่าสุดเมื่อปี 2566 รวมจำนวนทั้งสิ้น 21 คน แม้ตัวเลขนี้อาจยังไม่ได้เป็นตัวเลขที่มากมาย แต่ถ้ายังไม่มีใครมองเห็นว่า ปัญหานี้มีผลกระทบต่อภาพใหญ่เมืองลำปางอย่างไร สุดท้ายคนไร้บ้านอาจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมาอาจควบคุมและแก้ไขได้ยากขึ้น
ทำไมมีคนไร้บ้านในลำปาง
สถานการณ์ของคนไร้บ้านในจังหวัดลำปาง จากการสำรวจและข้อมูลที่ได้จากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง รวมไปถึงการเข้าไปพูดคุยกับคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในจังหวัดลำปาง พบว่ามีหลากหลายสาเหตุที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดคนไร้บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเป็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในความเป็นจริงแทบจะไม่ใช่สาเหตุหลักของการเป็นคนไร้บ้าน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสิบกว่าปี จากข้อมูลของศูนย์คุ้มครองฯ สาเหตุปัจจัยหลักๆ มาจากความสัมพันธ์ที่เปราะบางภายในครอบครัว เศรษฐกิจ ชุมชน สถานที่ทำงาน หรือบริบทของสังคม ที่ผ่านมากลุ่มคนไร้บ้านเหล่านี้ไม่ได้สร้างปัญหาหรือสร้างความเดือดร้อน เพียงแต่มีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ กลุ่มคนไร้บ้านในจังหวัดลำปางส่วนใหญ่เป็น “คนไร้บ้านแฝง” มีที่อยู่อาศัย มีครอบครัว
จากการสังเกตพฤติกรรมและสอบถามพบว่าจะออกจากบ้านตอนเช้ามาจับกลุ่มกันในพื้นที่สาธารณะและตอนเย็นก็จะกลับบ้าน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันชุมชนยังมีความเชื่อมั่นว่าหน่วยงานภาครัฐสามารถควบคุมและจัดการปัญหาดังกล่าวได้ ที่พบอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ออกมาแสวงหาความสุข ชอบท่องเที่ยวตามเทศกาลหรืองานประจำจังหวัด คนไร้บ้านเหล่านี้จะทราบดีและเดินทางมาขอรับบริจาคของแจกฟรี เพราะในงานมีโรงทาน และในปัจจุบันพบว่ามีบางคนออกมาจับกลุ่มตั้งวงดื่มสุราและใช้สารเสพติด สร้างความเดือดร้อน ก่อกวน สร้างความวุ่นวาย ทำให้ชุมชนเกิดความหวาดกลัว เกิดผลกระทบด้านอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาทางสังคม จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น แบ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดกลุ่มคนไร้บ้าน 2 ปัจจัย ดังนี้
- ปัจจัยเชิงโครงสร้าง สถานการณ์ทางสังคมของประเทศไทยก้าวเข้าสู่โครงสร้างประชากรผู้สูงอายุและแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เนื่องด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป การสร้างสัมพันธ์ภาพระหว่างคนในครอบครัวห่างเหิน ลักษณะการอยู่อาศัยจากเดิมที่เป็น วิถีชีวิตชนบทมีการดูแลเกื้อกูลกันในชุมชนถูกกลืนสู่วิถีคนเมืองอย่างรวดเร็ว โครงสร้างครอบครัวที่เคยอยู่รวมกันแบบครอบครัวขยาย ก็ค่อยๆ กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องของการอพยพย้ายถิ่นฐาน การเคลื่อนย้ายของประชากรวัยแรงงานไปประกอบอาชีพในเมืองเศรษฐกิจใหญ่ๆ บางคนหากพบเจอสถานการณ์หรือเหตุการณ์วิกฤตในชีวิต กระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว เกิดภาวะไร้ที่พึ่งทางใจ ไม่มีกำลังใจและไม่มีใครสนับสนุนช่วยเหลือความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ และการถูกผลักออกจากระดับชุมชน ปัจจัยเหล่านี้เสี่ยงต่อการกลายเป็นกลุ่ม คนเปราะบางทางสังคมซึ่งนำไปสู่การกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด
- ปัจจัยเชิงปัจเจก เป็นปัญหาระดับบุคคล ภาวการณ์เจ็บป่วย ความเปราะบางของครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว พื้นฐานฐานะทางครอบครัว บางคนครอบครัวยากจน (รับภาระดูแลกลุ่มคนเปราะบาง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง) สภาวะทางเศรษฐกิจ ปัญหาการเลือกงาน ปัญหาการตกงานเรื้อรัง อาชีพไม่มั่นคง ส่งผลต่อรายได้ นำไปสู่ภาวะความเครียดสะสมเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มสุราในเวลางาน หรือแม้กระทั่งครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย แต่พบปัญหาภายในครอบครัว เช่น ครอบครัวล้มละลาย ถูกกระทำความรุนแรง การถูกคุกคาม ความคาดหวัง ความกดดัน ฯลฯ จนเกิดความรู้สึกว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย หรือ บ้านคือภาระก้อนใหญ่ที่ต้องแบกรับดูแลไม่ไหว กลายเป็น“กลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่ มีงานทำ มีที่อยู่อาศัย แต่เลือกที่จะไม่อยู่บ้าน” หรือบางรายเป็นบุคคลที่มีสภาวะทางจิต เจ็บป่วยเรื้อรังไม่ได้รับการบำบัด หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจกลุ่มคนไร้บ้านในจังหวัดลำปาง รวมไปถึงกลุ่มคนไร้บ้านที่มาจากต่างจังหวัดที่มาอาศัยอยู่ในจังหวัดลำปาง พบว่าส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภทและใช้สารเสพติด บางรายมีความสามารถและมีศักยภาพในการประกอบอาชีพแต่บางรายไม่สามารถประกอบอาชีพได้เลย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับและถูกปฏิเสธจากครอบครัว ชุมชน พวกเขาจึงต้องออกมาเร่ร่อนใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เรียกได้ว่าเป็น “กลุ่มจิตเวชที่กลายเป็นคนไร้บ้าน” นำไปสู่ “กลุ่มคนไร้บ้านพเนจร” ซึ่งในความรู้สึกของพวกเขาเมื่อไม่เป็นที่ต้องการของครอบครัวหรือชุมชนก็มักจะออกไปใช้ชีวิตตามเส้นทางของตนเอง ไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดหมายปลายทางอาศัยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง มักจะเป็นกลุ่มคนไร้บ้านที่มาจากต่างจังหวัด วันนี้อาศัยอยู่พื้นที่ตรงนี้ วันรุ่งขึ้นก็ไปอาศัยอีกพื้นที่หนึ่ง บางคนเดินเท้าหรือนั่งรถสาธารณะไปตามจังหวัดต่างๆ พฤติกรรมที่ทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่รอดได้โดยการขออาหารและน้ำดื่มตามร้านค้า บางคนอาจร้องขอโดยไม่มีสิ่งแลกเปลี่ยนใดๆ ในขณะที่บางคนอาจเสนอว่า ผมขอทำงานรับจ้างอะไรก็ได้แลกกับข้าวหนึ่งมื้อ แต่หลังจากทำงานเสร็จก็จะเร่ร่อนอย่างนี้ต่อไป กลุ่มคนไร้บ้านพเนจร มักจะคิดว่าไม่มีความหวัง หมดสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆ ติดตัว และอีกสาเหตุที่น่าสนใจ คือ ชีวิตน่าเบื่อเกินไปจนต้องออกบ้านมามองหาความท้าทาย เพื่อตั้งคำถามกับสังคมว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมสังคมต้องมีคนไร้บ้าน
จากปัจจัยที่ก่อให้เกิดกลุ่มคนไร้บ้านที่กล่าวไปข้างต้น พบว่าสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดคนไร้บ้าน มาจากสภาวะกดดันจากสภาพแวดล้อมรอบข้างที่ไม่ยอมรับในตัวตน ครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานหลักไม่เข้าใจ ไม่ให้โอกาสและถูกปฏิเสธจากชุมชน จนบุคคลเหล่านี้เกิดความรู้สึกว่าตนไม่มีความสำคัญ ขาดแรงจูงใจ ผลักใสให้เขากลายเป็นคนไร้บ้าน และอีกสาเหตุมาจากตัวตนของคนไร้บ้านที่ชอบใช้ชีวิตอิสระ ขอเลือกใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านด้วยตนเอง ไม่ชอบอยู่ในกฎ ระเบียบแบบแผนของครอบครัว ชุมชน และต้องการมองหาความท้าทายให้กับชีวิต พร้อมตั้งคำถามกับสังคมว่า ความเหลื่อมล้ำคืออะไร
จริง ๆ แล้ว “คนไร้บ้าน” เป็นเพียงสภาวะหนึ่งของมนุษย์ที่ใคร ๆ ก็มีโอกาสเป็นได้
หลังจากที่ได้มีโอกาสฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนไร้บ้านลำปาง กล่าวได้ว่า ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนไร้บ้าน จากหลากหลายเหตุปัจจัย คนไร้บ้านใช่ว่าจะเป็นคนไร้ความสามารถในการดำรงชีวิตไปเสียทีเดียว เพราะคนไร้บ้านลำปางอีกจำนวนไม่น้อยใน 21 คน ยังสามารถทำงานเลี้ยงชีพและมีรายได้สม่ำเสมอ เช่น ลูกจ้างรายวัน รับจ้างทั่วไป เพียงแต่เขารู้สึกว่า การอาศัยอยู่ในเคหสถานไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการจริง ๆ ของพวกเขา แต่การเลือกอยู่อาศัยตามพื้นที่สาธารณะอาจตอบโจทย์ความต้องการเรื่องพื้นที่ปลอดภัยได้ดีกว่า
บุญหลาย (นามสมมุติ) หนึ่งในคนไร้บ้านที่เคยอยู่ในความคุ้มครองสวัสดิภาพและอยู่ในความดูแลของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง และปัจจุบันทางศูนย์คุ้มครองฯ ยังคงติดตามและคอยช่วยเหลือ ได้อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดสภาวะคนไร้บ้านว่า เกิดจากภาวะความเครียดสะสมเรื่องครอบครัวบ้าง เรื่องการงานหรือการเงินบ้าง หรือแม้กระทั่งสังคม สภาพแวดล้อมรอบด้านที่ทำให้ตนรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะใช้ชีวิตต่อพื้นที่นั้น เลยออกมาเป็นคนไร้บ้านจนกระทั่งมีเจ้าหน้าศูนย์คุ้มครองฯ ไปพบ ซึ่งทางศูนย์คุ้มครองฯ ได้ให้ความช่วยเหลือ โดยมีกระบวนการบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพทั้งกายและใจ
“ทุกคนมีโอกาสเป็นคนไร้บ้านได้ ไม่ว่าคุณจะมีฐานะหรือความรักความเอาใจใส่จากคนรอบข้างมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เพราะคนไร้บ้านไม่ใช่สถานะ แต่เป็นสภาวะทางจิตใจ ความรู้สึกที่เกิดจากความไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต
และความต้องการแสวงหาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับใช้ชีวิต”
คนไร้บ้านลำปางกับพื้นที่สาธารณะ
โดยทั่วไปคนไร้บ้านที่พบในจังหวัดลำปาง ส่วนหนึ่งจะพักอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา สวนสาธารณะเขลางค์นคร สถานีขนส่งผู้โดยสารลำปาง สถานีรถไฟเขลางค์นครลำปาง ใต้สะพาน เป็นต้น สถานการณ์คนไร้บ้านในจังหวัดลำปางเมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา จากกรณีเทศบาลนครลำปางได้ปิดปรับปรุงสวนสาธารณะบริเวณโดยรอบห้าแยกหอนาฬิกาซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่อาศัยของกลุ่มคนไร้บ้านจากการปิดปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวฯ เกิดข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ คนไร้บ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นหายไปไหนหมด
ปิยะนาถ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง ได้กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปิดปรับปรุงพื้นที่สวนสาธารณะบริเวณห้าแยกหอนาฬิกาในขณะนั้นว่า ปกติทางศูนย์คุ้มครองฯ จะมีเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองฯ จะลงพื้นที่ให้คำแนะนำปรึกษาและให้การช่วยเหลือ โดยร่วมกันค้นหาข้อเท็จจริง ความต้องการของกลุ่มคนไร้บ้านดังกล่าวฯ มีการพูดคุย ให้คำปรึกษา และเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือมาตลอด ซึ่งทางศูนย์คุ้มครองฯ ทราบว่าคนกลุ่มนี้แท้จริงมีบ้านและครอบครัวอยู่ในจังหวัดลำปาง และบางคนมีบ้านอยู่ในพื้นที่ต่างอำเภอ และสามารถกลับไปพักที่บ้านได้ เพียงแค่เค้ามีความต้องการจะใช้ชีวิตอิสระในพื้นที่สาธารณะ
“จริง ๆ กลุ่มคนไร้บ้านที่ห้าแยกหอนาฬิกามีหลายเคสที่ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองฯ ติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในบริเวณพื้นที่ตรงนั้น เรากังวลว่าพวกเขาจะไปอยู่ที่ไหนต่อ จะใช้ชีวิตอย่างไร แล้วผู้คนรอบด้านจะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร เพราะสังคมเมืองในลำปางก็ใช่ว่าจะเข้าใจคนไร้บ้านเหมือนกันทุกคน”
แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามจากภาคส่วนต่างๆ ที่ช่วยเหลือคนไร้บ้านให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับสังคมได้เป็นปกติ แต่การช่วยเหลือส่วนมากยังคงถูกมองว่าเป็นแค่ “การสงเคราะห์” ที่อาจทำให้ปัญหาคนไร้บ้านไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด
เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง ได้อธิบายกระบวนการช่วยเหลือคนไร้บ้านว่า โจทย์สำคัญ คือ ช่วยเหลือพวกเขาให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และจะช่วยเหลืออย่างไรโดยไม่ส่งคนไร้บ้านเหล่านั้นไปยังสถานสงเคราะห์ ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองฯ ลงไปสำรวจพบคนไร้บ้านก็จะสอบถามความต้องการของเขาก่อน ถ้าเขาอยากกลับบ้าน เรามีกระบวนการส่งเค้ากลับบ้านตามภูมิลำเนา หลังจากนั้นจะประสานส่งเรื่องให้ทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดปลายทางดำเนินการช่วยเหลือต่อ แต่ถ้าหากบางรายไม่ประสงค์เดินทางกลับบ้านตามภูมิลำเนา หรือต้องการฝึกอาชีพ ต้องการมีงานทำ ศูนย์คุ้มครองฯ ก็จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือต่อไป
ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจในการช่วยเหลือ บำบัด ฟื้นฟู คุ้มครองพิทักษ์สิทธิคนไร้บ้านหรือคนไร้ที่พึ่งตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 หากคนไร้ที่พึ่งเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองของศูนย์คุ้มครองฯ แล้ว ให้ความช่วยเหลือ คัดกรองสืบหาข้อเท็จจริงคัดแยกกลุ่มเป้าหมาย ประสานไปยังกลุ่มผู้ประสบปัญหาที่มีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ เช่น เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์คุ้มครอง ทังนี้ ดำเนินการตามกระบวนการสังคมสงเคราะห์ การให้ความช่วยเหลือร่วมกันระหว่างทีมสหวิชาชีพ ภาคีเครือข่ายและผู้ประสบปัญหาฯ ในทุกขั้นตอนการวางแผนการช่วยเหลือ เพื่อนำไปสู่ความต้องการที่แท้จริงของผู้ประสบปัญหาฯ
คนไร้บ้านที่จำเป็นต้องส่งเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพในสถานสงเคราะห์ของภาครัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นคนไร้บ้านจิตเวช หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยคนไร้บ้านเหล่านี้ ได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพ ได้รับการเข้าถึงสิทธิ การบริการด้านปัจจัยสี่ โดยนักสังคมสงเคราะห์จะยึดจรรยาบรรณต่อผู้ใช้บริการ โดยเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ สิทธิ ความเป็นส่วนตัวและรักษาความลับของผู้ใช้บริการ มุ่งเน้นการสอบข้อเท็จจริงตามสภาพปัญหาความเดือดร้อน ตามกระบวนการทางสังคมสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง อย่างละเอียดและครบถ้วน เพื่อยืนยันว่าเป็นคนไร้บ้าน ไร้ญาติและไม่มีที่พึ่ง และส่งเข้ารับการคุ้มครองฯ ในสถานสงเคราะห์ของภาครัฐ เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัด ฟื้นฟู ให้คนไร้บ้านมีการพัฒนาศักยภาพชีวิตให้ดีขึ้นตามลำดับ หากได้รับการบำบัด ฟื้นฟู และนักสังคมสงเคราะห์ประเมินว่าเขาสามารถดูแลตัวเองได้ สามารถทำงานและมีรายได้หาเลี้ยงตนเองได้ ก็จะประเมินส่งกลับคืนชุมชน แต่ปัจจุบันมีจำนวนน้อยรายที่กลับไปอยู่กับครอบครัว ชุมชน และสามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวและคนในชุมชนได้จริง ๆ
แล้วความต้องการที่แท้จริงของคนไร้บ้านในลำปางคืออะไร?
คนไร้บ้านส่วนมากมองว่า ความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาไม่ใช่การมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง แต่ต้องการให้สังคมเปลี่ยนความคิดและยอมรับว่าคนไร้บ้าน คือ คนที่สามารถทำงานเลี้ยงชีพแลกค่าตอบแทนได้
ปิยะนาถ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง ได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มคนไร้บ้านว่าแท้จริงแล้ว ความต้องการของคนไร้บ้านหลายๆ คน คือ การสร้างการยอมรับของครอบครัว ชุมชนที่มีต่อคนไร้บ้าน เพื่อให้คนไร้บ้านได้ภาคภูมิใจในศักยภาพและคุณค่าของตนเอง สังคมยอมรับในตัวตนของพวกเขา ให้โอกาสในการมีส่วนร่วมในชุมชน และที่อยากให้มีความเป็นไปได้ คือ การสร้างแหล่งของการมีงานทำ การส่งเสริมอาชีพที่รองรับกลุ่มคนไร้บ้าน เพื่อให้มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ รายได้ที่เหมาะสมกับความต้องการขั้นพื้นฐานไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ซึ่งเรามองว่าการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านจะทำได้ดีกว่านี้ได้อย่างไร ส่วนหนึ่งต้องมาจาก “การสื่อสารให้เห็นความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน ประชาชน ภาคการศึกษา หรือกลุ่มสถานประกอบการ” โดยสื่อท้องถิ่นที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แหล่งเครือข่ายได้ดีกว่า เราก็จะได้แนวทางการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในมิติที่หลากหลายขึ้น และสามารถสรุปเป็นข้อมูลเบื้องต้นได้ว่า
ความต้องการจริง ๆ ของคนไร้บ้านมีประเด็นไหนบ้าง
“สิ่งที่คนไร้บ้านต้องการ คือ พื้นที่ทางสังคมที่มีความอบอุ่นและมีความปลอดภัยให้คนไร้บ้าน การเข้าถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ การสนับสนุนการมีอาชีพและมีรายได้โดยไม่เลือกปฏิบัติจากสถานประกอบการ และการสร้างเครือข่ายจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน เพื่อเป็นการป้องกัน เฝ้าระวัง ลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่นำไปสู่กลุ่มคนไร้บ้าน” ปิยะนาถกล่าวทิ้งท้าย
นิยาม และมายาคติกับความเป็นจริงของคนไร้บ้าน ผ่านการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
‘คนไร้บ้าน’ ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำของไทย
สิทธิมนุษยชนกับกระบวนการต่อสู้ของคนไร้บ้านในเขตพระนคร
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)
รัชชา สถิตทรงธรรม (เนย)
จาก กทม. สู่ลำปางและแพร่ ฟังเพลงอินดี้ คลั่งไคล้วัฒนธรรมชาติพันธุ์เพราะออกจากเฟรนด์โซนไม่ได้ มีร้านป้ายอดเป็นร้านประจำเพราะอยากเปิดร้านอาหารชาติพันธุ์
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ