เรื่องและภาพ: รัชชา สถิตทรงธรรม /Activist Journalist

ปัญหาสุขภาพจิตกำลังเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เริ่มถูกนำเสนอบนพื้นที่สื่อในระดับท้องถิ่นมากขึ้น ด้วยข้อมูลเชิงสถิติที่น่าสนใจจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพบว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชทั่วประเทศไทยประจำปีงบประมาณ 2566 ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกรวมทั้งสิ้น 4,603,186 คน

เมื่อเจาะลึกข้อมูลดังกล่าวลงไปอีกจะพบสถิติที่น่าสนใจว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนซึ่งอยู่ในเขตสุขภาพที่ 1 สูงเป็นอันดับ 3 ของเขตสุขภาพทั้งหมด 13 เขต ซึ่งเป็นสถิติที่ทำให้ผู้เขียนต้องตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ทำไมสถานการณ์สุขภาพจิตในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนถึงเป็นเช่นนี้

ถ้าพูดถึงสถานการณ์ตามรายจังหวัดภาคเหนือในเขตสุขภาพที่ 1 ผู้เขียนในฐานะผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ลำปาง จังหวัดภาคเหนือที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งความสุขตามสโลแกนเพื่อการท่องเที่ยว กลับมีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชสูงเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากเชียงรายและเชียงใหม่ แม้จะเป็นข้อมูลที่อาจสร้างความกังวลใจให้กับสถานการณ์ทางสุขภาพจิตของจังหวัดลำปางได้ไม่น้อย แต่ถ้ามองในแง่การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพจิต ผู้เขียนสามารถวิเคราะห์ออกมาเป็นฉากทัศน์ (Scenario) ได้สองแบบคือ “จังหวัดลำปางมีจำนวนประชากรผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น” กับ “ประชาชนในจังหวัดลำปางเข้าถึงระบบบริการสุขภาพจิตมากขึ้น” ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสัญญาณที่ดีและไม่ดีต่อสถานการณ์ทางสุขภาพจิตของจังหวัดลำปาง

ภาพ : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ลำปางกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิต

ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังการบรรยายให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตโดย แพทย์หญิงเกษศิริ เหลี่ยมวานิช หรือหมอก้อย จิตแพทย์ประจำกลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลลำปาง จากเวทีเสวนาปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นในลำปาง โดยผู้เขียนสามารถสรุปภาพรวมของสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในจังหวัดลำปางได้ว่า ประเด็นที่น่าสนใจและอาจต้องจับตามองเป็นพิเศษคือ กลุ่มบุคคลที่ฆ่าตัวตายสำเร็จและกลุ่มที่พยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง ซึ่งกลุ่มบุคคลที่ฆ่าตัวตายสำเร็จส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ส่วนกลุ่มบุคคลที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีอายุไม่ถึง 30 ปี และมีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  

“เราพบว่าร้อยละ 70 ของทั้งสองกลุ่มบุคคลไม่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคจิตเวชใด ๆ มาก่อน ซึ่งคุณหมอได้วิเคราะห์จากหลายเคสของผู้ป่วยพบว่า ก่อนที่ผู้ป่วยจะลงมือทำร้ายตัวเองได้พบสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่าง เช่น ชอบแยกตัวออกมาอยู่อย่างลำพัง ดื่มสุราเกินขนาด ประสิทธิภาพการเรียนหรือทำงานลดถอยลง”

“ส่วนอีก 30% ของกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวมีโรคประจำตัวทางจิตเวชที่สามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มย่อยได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มซึมเศร้า กลุ่มจิตเภท และกลุ่มใช้สารเสพติด มีสาเหตุทางชีวภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม สารเคมีในสมองไม่สมดุล หรือร่างกายได้รับสารเสพติดบางชนิดมากเกินปกติ” หมอก้อยเล่ารายละเอียดของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่ฆ่าตัวตายสำเร็จและไม่สำเร็จโดยภาพรวม เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์สุขภาพจิตในจังหวัดลำปางได้ชัดเจนขึ้น

ภาพ : KAJAI (ขะไจ๋)

“ขะไจ๋” สร้างความรู้และความเข้าใจใหม่ เพราะปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องเลวร้าย

“กลุ่มจิตเวชที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ กลุ่มที่มีการใช้ความรุนแรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  มักจะมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการใช้สารเสพติด กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้ที่พี่ไปพบเจอจากการทำโครงการฯ ส่วนมากจะเผชิญกับทัศนคติจากชาวบ้านในชุมชนคือ เอาไปสวนปรุงสิ หรือไม่ก็พาไปส่งตำรวจ สถานกักกัน ซึ่งเป็นทัศนคติบ่งบอกถึงการไม่ยอมรับว่า จริง ๆ แล้วผู้ป่วยจิตเวชยังสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้ตามปกติ หากทุกคนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าปัญหาเหล่านั้นจะเกิดขึ้นต่อตนเองหรือคนรอบข้างก็ตาม”    

คำบอกเล่าจาก สุธีลักษณ์ ลาดปาละ ผู้ประสานงานโครงการชุมชนกรุณาลำปาง สะท้อนให้เห็นทัศนคติของชาวบ้านที่ยังคงมองกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้ความรุนแรงเป็นความแปลกแยกประการหนึ่งของสังคม และพยายามผลักดันภาระเหล่านี้ไปให้ภาครัฐดูแลแทน เพียงเพราะไม่ต้องการให้กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชประเภทนี้กลับมาสร้างปัญหาหรือเป็นภาระที่ต้องดูแลอีก

สุธีลักษณ์มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเจ็บปวด (Pain Point) ที่อาจทำให้กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชรวมทั้งกลุ่มเสี่ยงขาดทางเลือกหรือทางออกที่เหมาะสมจนนำไปสู่ความรุนแรงที่อาจสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น หรืออาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ต่อตนเองและคนรอบข้าง สุธีลักษณ์จึงต้อง “ขะไจ๋”(เร่งรีบ) ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการจัดการปัญหาสุขภาพจิตขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมผ่านโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในรูปแบบกิจกรรมเรียนรู้ เข้าใจตนเองและผู้อื่นจนสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกันได้

“พี่ยกเคสผู้ป่วยทางกาย แต่ผู้ดูแลผู้ป่วยกลับป่วยใจ ความเครียดจากอาการป่วยหรือการดูแลผู้ป่วยอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์จนทำให้อาการป่วยทั้งกายใจบานปลายได้ แต่ถ้าเรามีกระบวนการเรียนรู้และเข้าใจความสัมพันธ์ไปหนุนเสริมและเชื่อมกลาง โดยเฉพาะทักษะการรับฟัง ก็จะช่วยให้ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถรับมือกับภาวะความเครียดได้ดีขึ้น” สุธีลักษณ์ยกตัวอย่าง

ภาพ : KAJAI (ขะไจ๋)

สุธีลักษณ์ยังอธิบายเสริมต่อไปอีกว่า จุดมุ่งหมายที่ทำไมต้อง “ขะไจ๋” (เร่งรีบ) เพราะในการจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตรูปแบบต่าง ๆ สามารถเริ่มต้นจากการกลับมารู้จักและเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น วงล้อแห่งอารมณ์ ที่สามารถติดเป็นอาวุธให้แก่ตนเองได้แล้ว ยังจะช่วยลดความเสี่ยงที่ความเครียดจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมได้อีกด้วย ไม่ว่าคนที่รู้จักการจัดการปัญหาสุขภาพจิตจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม 

“ขะไจ๋โมเดลอาจยังต้องใช้เวลาสร้างความเข้าใจต่อสังคมจังหวัดลำปางอีกพอสมควร แม้ว่าเราจะเริ่มได้ผลตอบรับที่ดีจากคนที่มาทำกิจกรรมด้วยกัน แต่ก็ยังไม่ใช่ทุกคนที่มาร่วมกับขะไจ๋แล้วจะสามารถเข้าใจการจัดการปัญหาสุขภาพจิตได้ดีขึ้น” สุธีลักษณ์กล่าว

ภาพ : KAJAI (ขะไจ๋)

เมื่อคนนอกเมืองเริ่มตื่นตัวกับปัญหาสุขภาพจิต

สถานการณ์ทางสุขภาพจิตนอกเขตเมืองลำปางก็มีประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะพื้นที่ของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่กำลังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญคือ การเข้าไม่ถึงบริการทางจิตเวชที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากแค่ระยะทาง การคมนาคมขนส่ง และการเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน แต่ยังรวมไปถึงการขาดความรู้ความเข้าใจว่า ปัญหาสุขภาพจิตคืออะไร ทำไมถึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน

สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านชุมชนพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านกลาง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เล่าให้ฟังถึงประเด็นดังกล่าวว่า พี่น้องชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ไปใช้ชีวิตหรือติดต่อใด ๆ ในเมืองส่วนมากจะยังไม่รู้ว่าปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด ภาวะหมดไฟ ฯลฯ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่กรณีใกล้เคียงที่ตนมักจะพบบ่อยคือ มีชาวบ้านฆ่าตัวตายโดยไม่ทราบสาเหตุ 

สมชาติกล่าวว่า แรงจูงใจที่อาจทำให้ชาวบ้านฆ่าตัวตายมีอยู่ 2 ปัจจัยหลักคือ ภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัวและการเสพสิ่งเสพติดเกินขนาด มีหลายกรณีที่เกิดจากความเครียดที่ไม่สามารถประกอบอาชีพตามวิถีดั้งเดิมของพี่น้องกะเหรี่ยงได้ เพราะต้องคอยหวาดระแวงว่าจะมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ มาจับกุมพวกเขาที่เข้าไปหาของป่ายังชีพหรือไม่  

“โดยทั่วไปพี่น้องกะเหรี่ยงมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน ถ้าไม่ได้ลงไปอยู่ในเมือง กิจวัตรประจำวันส่วนมากจะหมดไปกับการเข้าป่าและทำเกษตรกรรมเน้นปลูกกินเองในบ้าน พี่น้องกะเหรี่ยงบนพื้นที่สูงส่วนมากจึงไม่ได้มองว่าปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวหากไม่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น ต้องผ่อนรถ ต้องส่งลูกเรียน แต่ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้กำลังจะเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นทุกที เพราะด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและกฎหมายรัฐกำลังบีบให้พี่น้องชาติพันธุ์ต้องหันไปประกอบอาชีพที่รับใช้ระบบทุนนิยมมากขึ้น เช่น จำเป็นต้องเปลี่ยนจากการทำไร่หมุนเวียนมาเป็นการปลูกข้าวโพดเพราะกฎหมายรัฐในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับวิถีดั้งเดิมของพี่น้องกะเหรี่ยง ชาวบ้านจึงเริ่มประสบกับภาวะความเครียดหรือซึมเศร้าเพราะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงขึ้น หลายครอบครัวมีภาระหนี้สินติดตัว เช่น ผ่อนรถ ค่าเทอมลูก ค่ารักษาพยาบาล และบีบให้คนรุ่นลูกหลานต้องลงไปใช้ชีวิตนอกเมืองเพื่อหารายได้เพิ่ม” สมชาติกล่าว

เช่นเดียวกับชาวบ้านผู้ไม่ประสงค์ออกนามจากชุมชนพี่น้องชาติพันธุ์อีกแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง พูดถึงภาพรวมของปัญหาสุขภาพจิตบนพื้นที่สูงว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีทั้งชุมชนพี่น้องกะเหรี่ยง อาข่า ลาหู่ ม้ง และอิ้วเมี่ยน ปัญหาดังกล่าวกำลังจะเป็นความน่ากังวลในพื้นที่ เพราะชาวบ้านพี่น้องชาติพันธุ์ชนเผ่ายังขาดความรู้ความเข้าใจถึงสุขภาพจิต โรคซึมเศร้าคืออะไร เครียดเพราะอะไร ทำไมต้องไปหาหมอ ถ้าไม่มีคนมาให้ความรู้เรื่องนี้แก่ชาวบ้าน พวกเขายังคงตัดสินว่าคนที่มีอาการจิตไม่ปกติคือคนบ้าที่อยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ ความคิดแบบนี้มีผลต่อคนที่กำลังจะสงสัยว่าตนเข้าข่ายสุขภาพจิตมีปัญหา แล้วเขาอาจต้องการพื้นที่ปลอดภัยขั้นต้นก่อนตัดสินใจไปพบจิตแพทย์หรือไม่

ภาพ : KAJAI (ขะไจ๋)

จากความเข้าใจสู่พื้นที่ปลอดภัย

“ทุกคนสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยโอบรับสุขทุกข์ระหว่างกัน แม้ไม่ได้เป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็ทำได้ ขอแค่มีทักษะการรับฟังที่ดีและไม่ตัดสินผิดถูกใคร” ข้อคิดดังกล่าวจากสุธีลักษณ์กลับมาสะท้อนภาพรวมของสังคมทุกระดับอีกครั้งว่า พื้นที่ปลอดภัยในอุดมคติควรจะออกมาเป็นอย่างไร

เสาวธาร สมานิตย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาธุรกิจการบิน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง เล่าให้ฟังถึงประเด็นนี้ว่า ถ้าเราให้ความสำคัญและเริ่มต้นสร้างพื้นที่ปลอดภัยตั้งแต่ระดับครอบครัวและสถานศึกษาได้เป็นอย่างน้อย เด็กและวัยรุ่นจะมีภูมิคุ้มกันต่อสุขภาพจิตในขั้นต้นได้ เกิดจากสิ่งที่ตนในฐานะแม่ของลูกและครูของศิษย์จะต้องปฏิบัติต่อทุกคนที่อยากจะเล่าความไม่สบายใจให้ฟังว่า เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีจนถึงที่สุดก่อน เพื่อให้เข้าใจอย่างแท้จริงว่า เขากำลังต้องการอะไรจากการเล่าความไม่สบายใจให้เราฟัง 

“นอกจากจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดีต่อลูกและลูกศิษย์แล้ว ตลอดเวลาที่อาจารย์อยู่กับพวกเขาก็จะพยายามสังเกตพฤติกรรมแต่ละคนไปด้วยว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ เช่น บาดแผล ร่องรอยการถูกทำร้าย ง่วงนอน เหม่อลอย หรือไปเห็นโพสต์โซเชียลของลูกศิษย์ที่สังเกตได้ถึงความผิดปกติ เช่น ข้อความยาวเหมือนเขียนเรียงความ ภาพสีดำ อาจารย์ก็จะพยายามชวนคุยด้วยการสนทนาที่ไม่ใช่ไปจับผิดเขา แต่พยายามทำให้การสนทนาระหว่างเรากับเขาคือความเชื่อใจต่อกันและกัน ข้อดีที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งอาจารย์ ลูก และลูกศิษย์คือการเข้าใจปัญหา สาเหตุของปัญหา และทางออกของปัญหาอย่างที่ควรจะเป็น เป็นกระบวนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางสุขภาพจิตขั้นพื้นฐานที่ทุกคนทุกช่วงวัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง”

“แม้ว่าความเข้าใจและการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากคนรอบข้างจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการจัดการปัญหาสุขภาพจิตแล้ว แต่อาจารย์ก็ยังเชื่อว่าจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดจะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาทางจิตได้เข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้อง” เสาวธารมองว่าถ้ามีภูมิคุ้มกันจากการสร้างความเข้าใจและพื้นที่ปลอดภัยแล้วแต่ยังอยากจะไปพบจิตแพทย์หรือเข้ากระบวนการจิตบำบัดเพิ่มเติมก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้เป็นสูตรตายตัว และมีหนทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหามากกว่าหนึ่งทางอยู่แล้ว หากคนในครอบครัวหรือคนรอบข้างของคุณเดินมาบอกว่าจะไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาล เราควรจะพร้อมสนับสนุนและอยู่เคียงข้างในวันที่เขาต้องการกำลังใจที่ดีจากคนที่เขารักและไว้ใจมากที่สุด

“ไม่ว่าจะเป็นลำปางหรือที่ไหนก็ตาม ถ้าทุกคนมีโอกาสเข้าถึงและเข้าใจปัญหาสุขภาพจิต สามารถจัดการปัญหาขั้นต้นโดยครอบครัวหรือคนรอบข้างด้วยการสังเกต เปิดใจ และรับฟังอย่างเข้าใจได้ อาจารย์เชื่อว่าสังคมก็จะลดการแบกรับภาระจากปัญหาเหล่านี้ไปได้ในระดับหนึ่ง” เสาวธารกล่าว

แต่ถ้าไม่ไหว ให้เปิดใจแล้วไปหาหมอ

ความไม่ปกติคือความปกติ แพทย์หญิงเกษศิริหรือหมอก้อย เล่าถึงประสบการณ์จากเคสผู้ป่วยที่มักจะพบเป็นประจำคือ ภาวะความเครียดหรือซึมเศร้าที่อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อช่วยปรับสมดุลให้กับสารเคมีในสมอง แต่กลับเป็นสิ่งที่คนรอบข้างมองเห็นและตัดสินว่าเป็นความไม่ปกติอย่างหนึ่งของมนุษย์

“ถ้าคุณมีคนรอบข้างที่ต้องรับประทานยาเพื่อรักษาภาวะเครียด ซึมเศร้า คุณหมอต้องขอใช้คำว่า อย่าไปตอกย้ำเขาเพราะอาจยิ่งทำให้เขารู้สึกแย่ลงไปอีก และอยากให้พยายามมองการรับประทานยาเหล่านี้เป็นความปกติของชีวิต เหมือนกับเวลาที่เราไม่สบายเราก็กินยา แต่ถ้าเราไม่สบายทางใจโดยมีสาเหตุจากทางชีวภาพ เราก็กินยารักษาโรคเหมือนการป่วยทางกายภาพได้เหมือนกัน”

จากสิ่งที่หมอก้อยพยายามจะสื่อสารกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของโรงพยาบาลรวมทั้งระบบสาธารณสุขในจังหวัดลำปาง หรือทัศนคติของผู้คนที่มีต่อปัญหาสุขภาพจิต กำลังแสดงให้เห็นว่า ถ้าในอนาคตรัฐมีนโยบายสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี เช่น ยกระดับความรู้ด้านสุขภาพจิตให้กลายเป็นวิชาเรียน สนับสนุนกิจกรรมหรือกระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจ หรือพัฒนาระบบสาธารณสุขที่รองรับผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ประชาชนที่ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดลำปางหรือที่ใดก็ตามกล้าที่จะเปิดใจยอมรับว่า การไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติสำหรับทุกคน

ภาพ : Facebook โรงพยาบาลลำปาง

โรงพยาบาลลำปาง พร้อม !!

“อยากให้ทุกคนที่ต้องการจะเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับคุณหมอเปิดใจอีกสักนิดว่า โรงพยาบาลลำปางในตอนนี้พร้อมที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนแล้ว” หมอกก้อยกล่าวในตอนหนึ่งของการบรรยายให้ความรู้บนเวทีเสวนาปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น เพราะโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งก็มิได้นิ่งนอนใจต่อความคิดเห็นจากประชาชนผู้มาใช้บริการที่อยากเห็นการบริการของบุคลากรทางการแพทย์เป็นมิตรกับประชาชนให้มากกว่านี้

หากพูดถึงศักยภาพและความพร้อมเฉพาะแผนกจิตเวชของโรงพยาบาลลำปาง ผู้เขียนได้รับข้อมูลจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลของโรงพยาบาลฯ ที่บ่งชี้ประเด็นดังกล่าวในด้านบุคลากรว่า กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลลำปาง มีจิตแพทย์ประจำอยู่ 7 คน พยาบาลวิชาชีพ 6 คน นักจิตวิทยาคลินิก 5 คน ทั้งนี้ยังไม่รวมบุคลากรสหวิชาชีพด้านอื่น ๆ ที่สนับสนุนการทำงานของแผนกจิตเวช และมีคลินิกจิตเวชนอกเวลาราชการทุกวันจันทร์สำหรับเด็กและวัยรุ่น และทุกวันอังคารสำหรับผู้ใหญ่ โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงานประจำปีงบประมาณ 2566 โรงพยาบาลลำปาง

จากข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ของแผนกจิตเวชที่ได้รับ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากร หมอก้อยเล่าให้ผู้เขียนฟังเพิ่มเติมว่า การประเมินผู้ป่วยแต่ละรายต้องใช้เวลาเนื่องจากบางครั้งอาจต้องประเมินทั้งผู้ป่วยและครอบครัว แต่ละโรงพยาบาลอาจรับจำนวนผู้ป่วยได้แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของเคสที่รับเข้ามาและสถานการณ์ทางสุขภาพจิตโดยภาพรวมของพื้นที่นั้น ๆ

นอกจากนี้ แผนกจิตเวชของโรงพยาบาลลำปางยังแบ่งเป็นแผนกย่อยตามประเภทผู้ป่วยคือ กลุ่มจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และกลุ่มจิตเวชผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป โดยแผนกจิตเวชของแต่ละโรงพยาบาลในจังหวัดลำปางจะมีระบบแบ่งกลุ่มย่อยที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนบุคลากรและความพร้อมของแผนกจิตเวชในโรงพยาบาลแต่ละแห่งอีกด้วย

“ทุกโรงพยาบาลในจังหวัดลำปางทั้ง 13 อำเภอมีแผนกจิตเวช ถ้าคุณกำลังต้องการฮีลใจหรือมีความไม่สบายใจที่ไม่สามารถหาทางออกด้วยตนเองหรือเล่าให้คนรอบข้างฟังได้ คุณสามารถมาหาหมอที่สถานพยาบาลได้เลย ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาถึงโรงพยาบาลลำปางก็ได้ เพราะอาจเกี่ยวข้องกับสิทธิการรักษาพยาบาลด้วย เช่น อยู่เสริมงามก็ไปโรงพยาบาลเสริมงาม หรือ รพ.สต.ใกล้บ้าน แต่ถ้าเป็นเคสฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตจริง ๆ แม้จะเป็นนอกเวลาราชการก็สามารถไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลนั้น ๆ ได้เช่นกัน”

“ถ้าคุณไปสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาแล้วรู้สึกว่ายังไม่โอเค ก็สามารถทำเรื่องขอส่งตัวมายังโรงพยาบาลลำปางหรือโรงพยาบาลอื่นที่มีศักยภาพสูงก็ได้ แต่ถ้าคุณรู้สึกไม่มั่นใจที่จะต้องหยุดงานหรือขาดเรียนเพื่อมารอพบหมอตั้งแต่ยังไม่ 8 โมงเช้าจนกระทั่งกว่าจะรับยาเสร็จ ได้กลับบ้านอย่างช้าที่สุดคือ 4 โมงเย็น คลินิกนอกเวลาราชการ โรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชนก็เป็นทางเลือกที่คุณสามารถไปใช้บริการได้ตามสะดวก คือจุดมุ่งหมายของคุณหมอคือไปสถานพยาบาลไหนก็ได้ ขอแค่ให้ได้เข้าถึงการได้รับคำแนะนำหรือรักษาโดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก่อน” 

“หรือแม้กระทั่งกรณีที่คุณกำลังรู้สึกว่ามีความไม่สบายใจบางอย่างแต่ยังไม่มั่นใจว่าควรมาถึงโรงพยาบาลหรือไม่ โรงพยาบาลลำปางมีบริการสายด่วนสุขภาพจิต 082-212-3148 ให้คุณมาเล่าสู่กันฟังได้ทุกวันและเวลาราชการ หรือจะโทรไปที่ 1323 กรมสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมงก็ได้เช่นกัน” หมอก้อยกล่าว

ข้อเสนอแนะในฐานะประชาชนที่อยากจะบอกรัฐ

“ด้วยความที่ลำปางเป็นเมืองเล็ก ใครไปไหนทำอะไรก็จะรู้จักกันหมด ทำให้บางคนไม่กล้าไปพบจิตแพทย์เพราะกลัวเจอคนรู้จักแล้วเกิดการเข้าใจผิด” จากข้อสังเกตของสังคมการอยู่ร่วมกันของคนลำปาง สุธีลักษณ์ ลาดปาละ ผู้ประสานงานโครงการชุมชนกรุณาลำปางสรุปเป็นข้อเสนอแนะที่ต้องการให้นำไปสู่การเกิด Growth Mindset ที่จะช่วยยืดหยุ่นและเปิดกว้างให้ปัญหาสุขภาพจิตกลายเป็นความปกติที่สังคมต้องพบเจอได้

เช่น ใช้คำว่า “สร้างเสริม” แทนคำว่า “ส่งเสริม” ในการทำให้ประชาชนมีความรู้และตระหนักถึงการดูแลสุขภาพจิตอย่างไรให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย เพื่อหวังผลให้ความรู้ความเข้าใจดังกล่าวเพิ่มพูนและแพร่กระจายออกไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่   เพิ่มการตรวจสุขภาพจิตเข้าไปในโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีของสถานศึกษา องค์กร บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ที่ทำเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาสุขภาพจิตได้มากขึ้น   และมี“คอร์สโรงเรียนพ่อแม่” ในราคาที่พ่อแม่มีรายได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำจับต้องได้ เพราะทักษะพ่อแม่เลี้ยงดูลูกเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งการมีคอร์สโรงเรียนพ่อแม่จะช่วยให้พ่อแม่มีเวลาเตรียมตัวก่อนเลี้ยงลูก ได้รู้เท่าทันตัวเอง สามารถสื่อสารกับลูกได้อย่างเข้าใจกัน และมีทางเลือกได้นำไปปรับใช้เมื่อถึงเวลาที่ต้องเป็นพ่อแม่ของลูกแล้วจริง ๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มคนรุ่นลูกหลานได้ในระดับหนึ่ง

หรือการมี“คูปองการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ในวงเงินคนละเท่าไรก็ได้ต่อปี เพื่อสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา หรือพนักงาน ลูกจ้าง ได้ไปเรียนรู้ รู้จัก และเข้าใจตัวเองจากนอกห้องเรียนหรือห้องทำงานผ่านกิจกรรม Workshop ต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในจังหวัดลำปาง เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด เป็นต้น เพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพและวิธีคิดหลากหลายขึ้น

เสาวธาร สมานิตย์  กล่าวถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของโรงเรียน สถานศึกษา หรือแม้กระทั่งหน่วยงานภายในสังกัดสถานศึกษา ถ้าได้รับการสนับสนุนด้านกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสุขภาพจิตจากรัฐหรือเอกชนก็จะช่วยหนุนเสริมการเรียนรู้ในส่วนต่าง ๆ ของโรงเรียนหรือสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพราะองค์ความรู้และศาสตร์ในการประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับสภาวะจิตของแต่ละคนด้วย อีกทั้งยังสามารถสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษากับชุมชนซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับนโยบายการสร้างสังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพของจังหวัดลำปางได้ 

เช่นเดียวกับ แพทย์หญิงเกษศิริ เหลี่ยมวานิช   มีข้อเสนอแนะไปในทางเดียวกับเสาวธารว่า โรงเรียนหรือสถานศึกษาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยตั้งต้นที่ดีที่สุด เพราะเด็กบางคนอาจต้องใช้เวลาหมดไปกับการอยู่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน ซึ่งพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษาสามารถเป็นได้ทั้งแง่การรับฟัง โอบรับความคิดเห็นหลากหลาย ลดการแข่งขันชิงดีชิงเด่น และเพิ่มความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้ครูอาจารย์ได้เป็นครูของนักเรียนอย่างแท้จริง และนักเรียนเองก็จะได้ดึงศักยภาพตามความถนัดหรือสนใจออกมาแสดงให้ทุกคนเห็นจนนำไปสู่การยอมรับระหว่างกัน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตทั้งในกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ไปได้อีกทางหนึ่ง


“แต่สิ่งที่ทั้งทางโรงพยาบาล ประชาชน รวมไปถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตต้องร่วมมือกันคือ นอกจากจะต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ว่าถ้าคุณมีปัญหาสุขภาพจิตก็สามารถไปโรงพยาบาลเหมือนผู้ป่วยทั่วไปได้แล้ว ทุกคนยังต้องร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการจุดประกายพื้นที่หรือกิจกรรมจิตบำบัดอื่น ๆ ให้เป็นทางเลือกขั้นต้นสำหรับทุกคนด้วย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีปัญหาแล้วพร้อมจะไปโรงพยาบาลได้ทันที แต่เขาอาจต้องการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับระบายปัญหาก่อน กล่าวโดยสรุปอย่างง่าย ๆ คือ เราต้องการและกำลังมองหาพื้นที่ปลอดภัยในลำปาง แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าในเมืองลำปางมีพื้นที่แบบนี้แล้วหรือยัง” แพทย์หญิงเกษศิริกล่าวทิ้งท้าย.


บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)

รัชชา สถิตทรงธรรม (เนย)

จาก กทม. สู่ลำปางและแพร่ ฟังเพลงอินดี้ คลั่งไคล้วัฒนธรรมชาติพันธุ์เพราะออกจากเฟรนด์โซนไม่ได้ มีร้านป้ายอดเป็นร้านประจำเพราะอยากเปิดร้านอาหารชาติพันธุ์

Similar Posts