เรื่อง: กนกพร จันทร์พลอย
ภาพ: วิศรุต แสนคำ
หลังจากเราได้พูดคุยเรื่องราวประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องต้นฉำฉาในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ในบทความ ประสบการณ์การต่อสู้ต้นฉำฉาสันกำแพง มากกว่าความรักคือระบบการดูแล เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวพื้นที่สีเขียวในสันกำแพง และพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ในสันกำแพงที่มีบทบาทในการดูแลจัดการพื้นที่สีเขียวในบทความ สร้างการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมนั้นสำคัญไฉน: คนรุ่นใหม่มองอนาคตพื้นที่สีเขียวสันกำแพง ต่อมาเราได้ชวนชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว ย่านสร้างสรรค์ในอำเภอสันกำแพง อีกทั้งเป็นประธานสภาลมหายใจ เชียงใหม่ ที่รวมตัวกันของทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งในเชิงรณรงค์และเชิงนโยบาย มาพูดคุยถึงสถานการณ์พื้นที่สีเขียวในอำเภอสันกำแพงเพื่อสะท้อนให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์พื้นที่สีเขียวในระดับประเทศ
ชัชวาลย์เล่าว่าโดยภาพรวม สถานการณ์พื้นที่สีเขียวแย่ลงโดยลำดับ สันกำแพงจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นเขตอุทยานแม่ตะไคร้ เป็นเหมือนดอยเล็กดอยน้อยที่เชื่อมโยงกันและมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน นโยบายพื้นที่สีเขียวเรามีปัญหา ด้านที่หนึ่งคือรัฐบาลจะใช้แนวอนุรักษ์ในการจัดการพื้นที่ อนุรักษ์ไม่ให้ผู้คนมีส่วนร่วม แต่ส่วนอื่น ๆ ที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ มองว่าถูกปล่อย คือไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ตัวของเมืองไปกลืนกินพื้นที่สีเขียวโดยลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการขยายถนน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นการทำลายพื้นที่สีเขียวโดยลำดับ คือรัฐไม่มีนโยบายว่าจะมีการรักษาพื้นที่สีเขียวให้มีสัดส่วนเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งพื้นที่รัฐก็รักษารูปแบบหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นพื้นที่เอกชน ไม่มีนโยบายใด ๆ เลย ปล่อยเสรีในการจัดการ เช่น ต้นไม้ขวางทางจราจร มันเป็นวิธีคิดที่ไม่ได้มีกรอบนโยบายที่มองเรื่องระบบนิเวศหรือพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง มันเลยทำให้พื้นที่เหล่านี้น้อยลง แม้กระทั่งต้นไม้ที่มีการต่อสู้มากมายก็ตาม ต้องยอมรับเลยว่าพื้นที่สันกำแพงสะท้อนการจัดการพื้นที่สีเขียวทั้งประเทศว่าไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดการดูแล
กระแสหมอกควันทำให้เรื่องนี้ดีขึ้น ทำให้ต้องกลับมาทบทวนเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น กลายมาเป็นนโยบายที่พยายามเสนอ มีการผลักดันให้เป็นวาระมากขึ้น รวมถึงมีการปฏิบัติการของภาคประชาชนมากขึ้น ณ ปัจจุบัน ในช่วงปีสองปีมานี้ แต่จริง ๆ แล้วมีความพยายามของภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง แต่มันยังค่อนข้างกระจุกตัวอยู่แค่ในเมือง แต่ในรอบนอกนั้นยังไม่มีกลุ่มหรือองค์กรที่มาขับเคลื่อนอย่างชัดเจน
เราจะเคลื่อนเรื่องพื้นที่สีเขียวอย่างไรต่อ?
ความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายคงยาก หรือแม้แต่มีนโยบายอยู่แล้วก็ยังเป็นไปได้ยาก ซึ่งเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของระบบราชการที่มันยังคงแย่อยู่ รวมศูนย์ แยกส่วน และไม่บูรณาการ พวกนึงปลูก พวกนึงไล่ตัด มันเป็นปัญหาแบบนี้มาตลอด
ชัชวาลย์มองว่าเรามีความหวังอยู่สองส่วนที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ส่วนแรกคือเรื่องชุมชนกับภาคประชาสังคมต้องเริ่มก่อน เพราะดูแล้วความตื่นตัวของประชาชน พลเมืองเชียงใหม่ มีความตื่นตัวค่อนข้างสูง เราเคยคาดหวังว่ารัฐจะต้องเริ่มก่อนมานานแล้ว แต่มันไม่เป็นไปตามคาด เพราะฉะนั้น
มองว่ามุมที่จะขยับได้คือชุมชนและภาคประชาสังคมต้องลุกขึ้นมาทำก่อน เมื่อทำได้ซักระยะหนึ่งแล้วรัฐจะกลับมา
ส่วนที่สองคือเราต้องลองผลักดันชุมชนสร้างสรรค์หรือว่าย่านสร้างสรรค์ เพราะว่ามิติของชุมชนสร้างสรรค์หรือย่านสร้างสรรค์มีมิติของระบบนิเวศ มิติเรื่องกิจกรรมการเรียนรู้ มิติเรื่องเศรษฐกิจ อันนี้น่าจะเป็นแนวทางสำคัญที่เราจะต้องช่วยกันพัฒนาจากฐานชุมชนว่ามิติการพัฒนาแนวใหม่หรือแนวที่เรียกว่า “สร้างสรรค์” มันจะต้องมีมิติเรื่องพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชน
มิติของการพัฒนาเมืองแบบใหม่ มีข้อค้นพบจากฝ่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคมมองว่าอย่างเชียงใหม่มียุทธศาสตร์ในการสร้างพื้นที่สีเขียวโดยพิจารณาจากสัดส่วนพื้นที่ทั้งหมดของเมืองและจำนวนประชากร เพื่อจะสามารถคำนวณสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อพื้นที่ทั้งหมดของเมืองได้ ซึ่งตอนนี้พื้นที่สีเขียวต้องมีอย่างน้อย 30% ของพื้นที่ทั้งหมด ตอนนี้พื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ มีพื้นที่สีเขียวเพียง 18% เราต้องการอีก 12% หรือมากกว่า เปรียบกับต้นไม้อีก 300,000-400,000 ต้นที่ต้องเพิ่มเข้าไปเพื่อให้เกิดความสมดุลในการอยู่ร่วมกันระหว่างพื้นที่คนกับพื้นที่เมือง
กลุ่มภาคประชาสังคมเมืองที่ขับเคลื่อนเรื่องฝุ่นควัน เราเสนอชัดเจนว่าต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวและหยุดทำลายพื้นที่สีเขียวจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายคือ 25 ตัวเมืองของแต่ละอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก็ต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมไปด้วย ตอนนี้มีเขียวสวยหอม, สภาลมหายใจ และอบจ.เชียงใหม่ ที่กำลังขับเคลื่อนพร้อมกันอยู่ แต่ก็ต้องมีการพูดคุย วางแผน ผลักดันกับภาคส่วนอื่น ๆ ต่อไป
หากเราสามารถขยับเรื่องย่านสร้างสรรค์ในสันกำแพงได้ มันจะสามารถเป็นตัวกำกับว่าจะต้องมีมิติเรื่องพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่ว่าอย่างไรก็ดี มันก็ขึ้นอยู่กับกำลังแรง กำลังที่เราจะขับเคลื่อน อาจจะต้องอาศัยหลาย ๆ ฝ่ายมาช่วยกัน มันจะต้องเริ่มจากข้อมูล ข้อเท็จจริงก่อน แล้วค่อยมาเผยแพร่ สื่อสารให้คนทั่วไปได้เห็นว่าสถานการณ์ปัญหามันเป็นอย่างนี้ แล้วคนหรือชุมชนจะมีส่วนในการช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
มองบทบาทของคนรุ่นใหม่กับพื้นที่สีเขียวอย่างไร?
หากพูดถึงสถานการณ์โดยภาพรวม สถานการณ์หลังโควิด เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์มันกำลังจะเสื่อมถอย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลักในระดับประเทศ ตลาดแรงงานจะหดตัว คนรุ่นใหม่จะกลับถิ่น เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาท้องถิ่นจะเป็นพลังหลักจากนี้ไป เศรษฐกิจท้องถิ่นจะเป็นตัวค้ำยันเศรษฐกิจประเทศหรือว่าท้องถิ่นจะเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญจากนี้ไป บทบาทของท้องถิ่น บทบาทของชุมชน รวมถึงบทบาทคนรุ่นใหม่นั้นสำคัญมาก เพราะว่าชุมชนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ชุมชนจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ จึงมองว่าแนวชุมชนสร้างสรรค์โดยมีองค์ประกอบคนรุ่นใหม่ มันจะปราศจากคนรุ่นใหม่ไม่ได้เนื่องจากการพัฒนาชุมชนสร้างสรรค์มันขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี สื่อสมัยใหม่เพื่อเป็นส่วนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือกระบวนการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น การใช้องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประกอบกับความรู้ของคนรุ่นใหม่ที่จะขยับตัวออกไปข้างหน้าได้ มันถึงจะสร้างพลังใหม่ขึ้นมาได้ในอนาคต
เราต้องมาวิเคราะห์สถานการณ์ใหม่ให้ออก แล้วชุมชนจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ แต่มันต้องเป็นเรื่องของภูมิปัญญาเดิม คนเดิมมาประกอบกับคนรุ่นใหม่ อันนี้กำลังจะกลายเป็นความคิดหลักจากนี้ในอนาคต และเสนอว่าเรื่องแนวสร้างสรรค์ที่มันจะต้องมีองค์ประกอบเรื่องระบบนิเวศ พื้นที่สีเขียว เรื่องงานศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือเรื่องกระบวนการเรียนรู้ใหม่ จะต้องเป็นทิศทางใหม่ของการพัฒนาชุมชนจากนี้ไป
ชัชวาลย์ทิ้งท้ายว่ามันอาจจะต้องใช้เวลา ค่อย ๆ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สรุป ตกผลึก มีการขยับ ทำพื้นที่นำร่อง แล้วขยายตัวออกไปเป็นเครือข่ายที่ค่อย ๆ กว้างขึ้นจนกระทั่งไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย
บทบาทการสื่อสารจะไปช่วยหนุนเสริมอย่างไรได้บ้าง?
การสื่อสารสำคัญมาก แต่อยากใช้คำว่า การสื่อสารสาธารณะ มันไม่ใช่การสื่อสารแบบเก่าที่เรามีข้อมูลแล้วเราอยากเสนอข้อมูลให้คนที่ไม่มีข้อมูลรับรู้ มันไม่ใช่ แต่มันเป็นเรื่องที่จะบอกว่าตอนนี้สถานการณ์เป็นแบบนี้นะ สาธารณะจะมีบทบาทอย่างไร กระบวนการสื่อสารสาธารณะมันคือการทำให้สาธารณะได้เห็นปัญหา วิกฤติ และมีบทบาทชัดเจนในการขับเคลื่อน เพราะฉะนั้นวิธีคิดในการสื่อสารแบบใหม่มันจะต้องเป็นการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์แบบเก่า มันจึงโดด ๆ ไม่ได้ มันต้องมาดู มาอยู่กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งอยากจะเรียกมันว่าเป็น “Movement” คือมันเป็นการสื่อสารที่ร้อยไปกับ movement เคลื่อนพลังไปพร้อม ๆ กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง แล้วสื่อเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย ซึ่งแต่เดิมเรามักจะเป็น event ที่ทำแล้วก็จบไป แต่มันขาดตัวขบวนการเคลื่อนไหวหลัก
ขณะนี้มันเริ่มมีคนที่ก่อตัว ขยับขับเคลื่อนกันเป็นจุด ๆ อาจจะยังไม่ได้ประกอบส่วนเป็นขบวนใหญ่นัก แต่มันคือการเคลื่อนไหวชนิดหนึ่ง หากว่าสื่อสามารถสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้แล้วโยงผ่านสื่อ โยงพลังผ่านสื่อได้ โดยสามารถรับรู้ได้ว่ามีคนกำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ แม้จะไม่ได้เป็นเครือข่ายกันมาก่อน เพราะฉะนั้นสื่อก็จะเป็นตัวเชื่อมพลังและตัวสร้างพลังไปในตัวด้วย ตัวเนื้อหา จะต้องมีข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ชัดและคม รวมถึงมีงานวิชาการเข้ามาประกอบด้วย มันจะไม่ใช่ความเห็นที่อยากจะทำอะไร แต่มันมีฐานงานวิชาการที่ดีมาสนับสนุนเนื้อหาด้วย
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ