เขียน: เบญจา ศิลารักษ์
ภาพและวิดิโอ: วิศรุต แสนคำ
“ตั้งแต่ผมโตมาก็เห็นต้นฉำฉาต้นใหญ่แล้วก็ไม่แน่ใจว่าปลูกในปีไหน สิ่งที่ผมจำได้คือเวลาไปเรียนหนังสือในเมือง ถนนสายสันกำแพงนั้นร่มเย็นมาก การต่อสู้ของผมที่จะรักษาต้นไม้เพราะเรารักและผูกพันกับต้นฉำฉา”
เพชร วิริยะ
เพชร วิริยะ ศิลปินช่างแกะสลักไม้ บ้านจ๊างนักและแกนนำ “กลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง” ที่เคยร่วมกันปกป้องต้นไม้ฉำฉาเมื่อปี 2548 เล่าให้ฟังก่อนที่กระแสการอนุรักษ์ต้นไม้ฟีเวอร์จะเกิดขึ้นในช่วงที่ปัญหาหมอกควันมาเยือนในช่วง 10 ปีมานี้
ที่ผ่านมาประชาธรรมมีโอกาสจัดเวทีเพื่อพูดคุยกับคนในสันกำแพงหลายตำบลเพื่อรวบรวมและเก็บประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องการดูแลรักษาต้นไม้ของคนสันกำแพงที่อาจจะเรียกว่าเป็น “ผู้มาก่อนกาล” แต่เรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ต้นฉำฉาที่เรียกขานตัวเองว่า “กลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง” นั้นกลับไม่ปรากฏในสื่อใด ๆ หรืออาจจะมีก็น้อยมาก เราจึงทำหน้าที่ในการถอดความทรงจำของกลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพงก่อนที่จะเลือนหายไป เพราะมองว่าประสบการณ์ของผู้มาก่อนกาลอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวเรื่องพื้นที่สีเขียวท่ามกลางปัญหาหมอกควันสิ่งแวดล้อมที่กำลังขยายตัวอยู่ ณ ปัจจุบัน
ถนนฉำฉาจากทุ่งจิ๊นแห้ง – ถนนสายวัฒนธรรม
“ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ มองเห็นความเขียวชอุ่มของต้นไม้ ต้องขอบคุณบรรพบุรุษสมัยก่อนที่มีวิสัยทัศน์มองเห็นว่าการปลูกต้นไม้ตามถนนสายสันกำแพงจะช่วยทำให้ชาวสันกำแพงที่ต้องเดินทางไปในเมืองเชียงใหม่ไม่ร้อนจนเกินไป เพราะส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ และถ้าใกล้ ๆ จากตำบลหนึ่งไปยังอีกตำบลหนึ่งก็เดินเท้าหรือไม่ก็ขี่จักรยาน ดังนั้นการมีต้นไม้สองข้างทางก็จะช่วยให้คนเดินทางไม่ร้อนจนเกินไป เนื่องจากสมัยก่อนไม่ได้มีบ้านคนหนาแน่น บริเวณถนนสันกำแพงสายเก่ายังมีทุ่งนาสองข้างทางอยู่มาก ได้ฉายาว่า “ทุ่งจิ๊นแห้ง” หมายความว่าเมื่อแม่ค้าเวลาหาบของไปขายในเมือง ต้องหาบผ่านทุ่งที่แห้งแล้ง แดดจัด เมื่อไปถึงในเมืองก็เนื้อแห้งไปแล้ว เลยมีการปลูกต้นไม้ขึ้นมาเพื่อให้ความร่มรื่นสองข้างทาง”
อนันต์ พรหมลิขิตศิลป์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง และเจ้าของสวนศิลป์ออนใต้ ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง เล่าถึงภาพถนนสายสันกำแพงในอดีตที่เขาเติบโตมา
วรงค์ วงศ์ลังกา อาจารย์จากคณะภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าถนนสันกำแพงที่มีต้นฉำฉาหรือต้นจามจุรีนั้นสันนิษฐานว่ามีการปลูกพร้อม ๆ กับต้นยางนาบนถนนสายสารภี เชียงใหม่ – ลำพูน ที่มีการเริ่มปลูกมาตั้งแต่ปี 2425 มีลักษณะที่เรียกว่าไม้หมายทาง กล่าวคือเป็นไม้ที่บอกว่าเมื่อเห็นต้นฉำฉาก็จะรู้ว่าเข้าสู่เขตอำเภอสันกำแพงแล้ว
ทั้งนี้หน่วยงานราชการในอดีตนั้นนำมาปลูกจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ในความเห็นของวรงค์ วงศ์ลังกาก็ยังมองว่าการปลูกต้นไม้ของหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทยยังมีลักษณะปลูกทิ้ง ปลูกตาม ๆ กันตามอย่างประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลและจัดการต้นไม้อย่างจริงจัง ดังนั้นต้นฉำฉาในปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพที่ไร้การเหลียวและมีอาการเจ็บป่วยอย่างน่าเป็นห่วง
ความเปลี่ยนแปลงของต้นฉำฉาสันกำแพงเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ในโซนสันกำแพงเริ่มมีการขยายตัวของบ้านจัดสรรที่รองรับประชากรที่เพิ่มมากขึ้นจากการเติบโตของเมืองเชียงใหม่ อนันต์เล่าว่าตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา คนเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในเขตอำเภอสันกำแพงมากขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ ทุกคนอยากได้ถนนให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดรับกับการค้าขายบนถนนบ่อสร้างในช่วงนั้น คนที่ทำการค้าสมัยนั้นก็มีการลักลอบตัดกิ่งฉำฉาบ้างหรือตัดต้นฉำฉาโดยไม่ได้รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน เป็นต้น
จนกระทั่งปี 2548 รัฐบาลสมัยนั้น (สมัยทักษิณ ชินวัตร) เริ่มมีนโยบายพัฒนาถนนสันกำแพงสายเก่าที่มีต้นฉำฉาให้เป็นถนนสายวัฒนธรรมและอนุรักษ์ให้มีความสวยงาม ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวสันกำแพงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวก็ต้องยุติไปก่อนภายหลังเกิดรัฐประหารปี 2549 อย่างไรก็ตามในส่วนของชุมชนก็ยังคงเดินหน้าต่อในเรื่องของถนนสายวัฒนธรรมจึงเริ่มมีการรวมตัวของกลุ่มศิลปินและสล่าในชื่อ “กลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง” นอกจากจะทำงานเรื่องงานวัฒนธรรม ศิลปะแล้วก็ยังมีความตื่นตัวในเรื่องการอนุรักษ์ต้นฉำฉาด้วย เมื่อเริ่มมีกระแสจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในตัวอำเภอที่ต้องการตัดต้นฉำฉาเพราะคิดว่าเป็นอุปสรรคในการสัญจรไปมา สมาชิกของกลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพงส่วนใหญ่จะเป็นคนที่รักต้นไม้เป็นทุนเดิมและมองว่าต้นฉำฉาให้ความร่มเย็นและสวยงามมากกว่าเป็นอุปสรรคในการสัญจรไปมาจึงมีการรวมกลุ่มและทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อรักษาต้นฉำฉาไว้
“สมัยนั้น ถนนสายอื่นในเชียงใหม่ก็ตัดต้นไม้ทิ้งกันหมดจะเห็นว่าต้นไม้ที่เหลืออยู่บนทางหลวงจะหลงเหลืออยู่ไม่กี่สายในเชียงใหม่ ก็มีถนนเชียงใหม่ – ลำพูน และถนนสายสันกำแพง พวกเราเคลื่อนไหวเพราะมาจากความที่เรารักและชอบต้นไม้อยู่แล้ว เมื่อมีข่าวมาว่าจะขยายถนนและจะรื้อออก ผมได้ยินจากลูกค้าของผมว่าจะมีการรื้อต้นฉำฉาออก พวกเราจึงล่ารายชื่อกันได้ทั้งหมด 3,000 รายชื่อเสนอต่อแขวงทางหลวงเชียงใหม่”
สล่า(ช่าง) เพชร วิริยะ
สล่า(ช่าง) เพชร วิริยะ เล่าให้ฟังถึงการเคลื่อนไหวในครั้งนั้น ซึ่งมีผลทำให้กระแสการตัดต้นฉำฉาก็เงียบหายไป ทำให้ยังคงเหลือต้นฉำฉาบนถนนสายสันกำแพงมาถึงปัจจุบัน
ข้อมูลการสำรวจของบรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปี 2550 ได้พานักศึกษาสำรวจต้นฉำฉาบนถนนสายสันกำแพงพบว่าสภาพของต้นฉำฉามีอาการหนักมากเพราะการขยายไหล่ถนนให้กว้างขึ้น และถนนลาดยางมะตอยทำให้ต้นฉำฉาหายใจไม่ออก ที่ยังคงเหลืออยู่ประมาณ 200 กว่าต้นมีการเจ็บป่วยที่รอการฟื้นฟูโดยเร็ว
คืนกล้วยไม้ ปั่นรถถีบรณรงค์รักษาต้นฉำฉา
หลังจากที่ยื่นหนังสือคัดค้านการตัดต้นฉำฉาจนกระทั่งกรมทางหลวงไม่ได้ดำเนินการตัดต้นฉำฉา แต่การทำงานของกลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพงก็ยังมิได้ยุติเพียงเท่านั้น ยังคงมีการทำกิจกรรมต่อเนื่องอีกเนื่องจากคนในสันกำแพงเองโดยทั่วไปก็ยังไม่มีความตื่นตัวในการที่จะต้องรักษาต้นฉำฉามากนัก กมล นำบุญจิตร หรือพ่อหลวงแดง จากบ้านสันกำแพง ต.สันกำแพง เล่าต่อว่า “กลุ่มของเราเป็นคนทำงานแวดวงทำงานศิลปะ เรามีการคุยกันต่อเนื่องในช่วงนั้นก็คิดว่าจะทำอย่างไรต่อเพื่อให้คนสันกำแพงรักต้นไม้จึงมีการจัดกิจกรรมคืนกล้วยไม้ให้ต้นฉำฉา และจัดกันในวันที่ 12 สิงหาคม”
“พวกเราได้ประสานงานกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย) ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว”
อนันต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
พ่อหลวงแดงเล่าต่อว่าหลังจากทำกิจกรรมคืนกล้วยไม้ให้ต้นฉำฉาแล้วก็ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมาร่วมกิจกรรมมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีกระแสว่าต้นฉำฉาเป็นอันตรายต่อการสัญจรไปมาทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้งเช่น จุดปากทางเข้าบ้านแม่ปูคาที่เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ซึ่งพ่อหลวงแดงมองว่าเหตุที่เกิดอุบัติเหตุนั้นไม่ได้มาจากต้นฉำฉา แต่เป็นเพราะคนขับรถมีความประมาท เช่น ดื่มเหล้าเมาและการออกแบบถนนของกรมทางหลวงที่ต้องใส่เสาไฟฟ้าสูง ทำให้ไฟฟ้าแยงตาคนขับรถบนท้องถนนจนเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามการรณรงค์ของกลุ่มอนุรักษ์ก็ทำให้ชาวบ้านบางส่วนที่เห็นด้วยว่าต้องอนุรักษ์ต้นฉำฉาไว้ ตั้งกลุ่มรถถีบของแต่ละหมู่บ้านมาร่วมรณรงค์ในอำเภอเพื่อทำให้เห็นว่าถนนที่มีต้นไม้นั้นเหมาะแก่การปั่นรถถีบของชาวสันกำแพงเพราะร่มรื่น ไม่ร้อน ตอนนั้นก็มีแนวร่วมมาร่วมกิจกรรมทั้งกลุ่มนักดนตรี ทำงานศิลปะวาดภาพ และชมรมจักรยาน เป็นต้น
“ฝ่ายที่ต้องการให้ตัดต้นไม้ เขามองประเด็นเรื่องอุบัติเหตุ ไม่ได้มองเรื่องปัจจัยในเรื่องอื่น ๆ เช่น ความประมาท ฝ่ายที่สนับสนุน มองเห็นคุณค่าของต้นไม้ หากเรามองว่ามันเป็นมรดกของสันกำแพง เป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์ไว้ คุณค่าที่มองเห็นคือต้นไม้มันช่วยฟอกอากาศธรรมชาติ ช่วยให้ร่มเงา การใช้ยานพาหนะแบบจักรยานจะช่วยให้เรามองเห็นคุณค่าของมันมากขึ้น”
พ่อหลวงแดงกล่าว
ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็มีความเห็นว่า
“ต้นก้ามปู (ฉำฉา) มันเปราะ กิ่งไม้ร่วงใส่ง่าย มีลมหรือพายุพัดใส่ก็ร่วงลงมาแล้ว บ้านพี่โดนประจำ จะตัดก็ผิดกฎต้องไปบอกกรมทางหลวง แล้วกว่าจะมา ช้ามาก บางครั้งต้องแอบตัดกิ่งที่เลยเข้ามาบ้านทิ้งไปก็มี พี่ว่าควรจะเอาออกแล้วหาต้นไม้ขนาดกลางและแข็งแรงกว่านี้มาใส่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเอาไว้”
นายฮ. (นามสมมติ) ชาวบ้านริมทางท่านหนึ่งกล่าว (ประชาธรรม)
หลังจากนั้นกลุ่มอนุรักษ์ก็มีการจัดกิจกรรมปั่นจักรยานทุกวันอาทิตย์เพื่อรณรงค์เรื่องการรักษาต้นฉำฉาต่อ แต่กระแสการรณรงค์ก็ยุติและขาดช่วงไปในปัจจุบันเนื่องจากกระแสเรื่องการตัดต้นฉำฉาของคนสันกำแพงก็มีน้อยลง โดยเฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤติปัญหาหมอกควันเรื่องการตัดต้นไม้ก็ไม่ได้ถูกนำมาเป็นประเด็นอีก อีกอย่างอุบัติเหตุบนถนนสายสันกำแพงก็ไม่มากเท่ากับเส้นต้นยางบนถนนสารภีด้วย
แผนการจัดการพื้นที่สีเขียวในท้องถิ่น ฝันไม่ไกลแต่ยังไปไม่ถึง?
“คนรุ่นผมก็ต่อสู้จนถึงลมหายใจสุดท้ายแล้ว”
สล่าเพชร วิริยะ
สล่าเพชร วิริยะพูดถึงอนาคตเมื่อเราถามว่าแล้วการต่อสู้ของคนสันกำแพงกับต้นฉำฉาจะไปอย่างไรต่อ อาจกล่าวได้ว่ากระแสของการรักษาพื้นที่สีเขียวได้ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเกิดภาวะโลกร้อนและปัญหาหมอกควันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่กลุ่มคนที่เคยต่อสู้เพื่อรักษาต้นฉำฉาบนถนนสายสันกำแพงก็เริ่ม
มาถึงจุดที่ต้องส่งต่อและเปลี่ยนผ่านไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งแต่ดูเหมือนความท้าทายเรื่องนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าใครควรจะเข้ามามีบทบาทต่อการรักษาต้นฉำฉา เพราะลำพังความรักความผูกพันที่มีต่อต้นไม้ก็ไม่สามารถรักษาต้นฉำฉาให้มีชีวิตอยู่ต่ออย่างมีคุณภาพได้ สล่าเพชร เล่าว่าพวกเขาเคยมีความคิดที่จะปลูกต้นฉำฉาเสริมเพราะมองว่าจะได้ขึ้นทดแทนต้นเก่าที่ตายไปแต่เขากลับพบว่าไม่กี่วันเมื่อกลับไปดูก็พบว่าต้นที่ปลูกทิ้งไว้ก็ยังไร้การเหลียวแลอยู่ดี อยู่กันตามมีตามเกิด โตได้ก็โต เพราะถ้าหากคนในพื้นที่สองข้างทาง รวมถึงหน่วยงานในท้องถิ่นไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมดูแล ก็ไม่รอดอยู่ดี เมื่อสอบถามประชาชนทั่วไปที่อยู่สองข้างทางก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท การที่ต้นฉำฉาไร้การดูแลอย่างเป็นระบบและมีความรู้ที่ถูกต้อง เช่น การลาดยางมะตอยทับโคนต้น การตอกตะปูป้ายโฆษณา การตัดกิ่งแบบไม่มีความรู้จนทำให้น้ำเข้าและปลวกกิน ฯลฯ มีผลทำให้ต้นฉำฉาที่ควรจะมีอายุยืนยาวและอยู่คู่ถนนสันกำแพง เมื่อเจ็บป่วยง่าย กิ่งหักและเปราะก็เป็นข้อที่ทำให้ฝ่ายที่ต้องการตัดต้นฉำฉาเห็นว่าควรตัดเพื่อความปลอดภัยในการสัญจรไปมาอยู่นั่นเอง
สาเหตุของการดูแลที่ไร้ระบบก็มาจากไม่รู้ว่าใครควรมีบทบาทในการดูแล ประชาธรรมได้มีโอกาสสัมภาษณ์หน่วยงานท้องถิ่นในอำเภอสันกำแพงหลายหน่วยงาน เช่น เทศบาลตำบลสันกำแพง เทศบาลต้นเปา ได้คำตอบว่าทางหน่วยงานเทศบาลเองนั้นไม่มีหน้าที่ในการดูแลต้นฉำฉาเนื่องจากต้นฉำฉานั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวงชนบทมีหน้าที่ในการดูแลและตัดกิ่ง ซึ่งเท่าที่เห็นว่ากรมทางหลวงชนบทจะเข้ามาตัดแต่งกิ่งเมื่อกระทบกับเสาไฟฟ้าเท่านั้น ดังนั้นในความเห็นของเทศบาลมีความคิดว่าถ้าจะให้เกิดแผนเป็นรูปธรรมก็ต้องประสานงานกับกรมทางหลวงชนบทและชุมชนมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง
จากความเห็นของกลุ่มอนุรักษ์มรดกล้านนา อนันต์ จากสวนศิลป์ออนใต้ มีความเห็นว่าหน่วยงานท้องถิ่นก็จะต้องเข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาต้นไม้นี้ร่วมกันด้วย แต่จากการตรวจสอบแผนของเทศบาลในอำเภอสันกำแพง พบว่าแม้ว่าเทศบาลแต่ละแห่งจะมีแผนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่แผนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเรื่องของขยะ มูลฝอย การจัดการแหล่งน้ำ การป้องกันปัญหาอุทกภัย การสร้างทาง สร้างฝายเพื่อป้องกันน้ำท่วม ไม่ได้มีแผนการจัดการพื้นที่สีเขียวที่ชัดเจนแต่อย่างใด เป็นแค่เป้าหมายกว้าง ๆ เท่านั้น แต่ยังไม่เห็นแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ทั้งนี้มีบางเทศบาลที่มีแผนเรื่องการจัดการหมอกควัน โดยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่นำใบฉำฉามาทำเป็นปุ๋ยอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้มีแผนการจัดการพื้นที่สีเขียวอยู่ดี
“การสื่อสารก็มีความสำคัญ ดูว่าหน่วยงานไหนจะมีบทบาทหน้าที่ในเรื่องนี้ หากเทศบาลสามารถทำเป็นพื้นที่นำร่องได้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ตอนนี้กลายเป็นว่าเน้นเพียงเรื่องการจัดการขยะอย่างเดียว ยังไม่มีแผนในเรื่องนี้”
พ่อหลวงแดงกล่าวถึงทางออกต่อไปในอนาคต
สอดคล้องกับความเห็นของอนันต์ที่เห็นว่า
“ต้องให้หน่วยงานรัฐมาสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วย รวมไปถึงการกำหนดนโยบาย และการวางผังเมืองที่มีการโซนนิ่งพื้นที่สีเขียวให้ชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถนำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวที่มีประสิทธิภาพได้”
หากจะกล่าวไปแล้ว พื้นที่สีเขียวในอำเภอสันกำแพงมิได้มีเพียงแค่ต้นไม้ที่มีอยู่บนถนนสันกำแพงเท่านั้นที่จะต้องรักษาไว้ โดยภาพรวมเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรแล้วอำเภอสันกำแพงยังคงมีพื้นที่สีเขียวอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ แต่คำถามที่กลุ่มอนุรักษ์ตั้งประเด็นไว้กลับเป็นเรื่องของระบบการจัดการดูแลและรักษามากกว่า ใครควรจะเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบ งบประมาณในการจัดการรักษาต้นไม้มาจากไหน รวมไปถึงเมื่อมีโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่กำลังขยายตัวสู่สันกำแพงไม่ว่าจะเป็นการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 และอื่น ๆ มาสเตอร์แพลนในเรื่องพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมได้มีการวางแผนอย่างไรบ้าง
คำถามและข้อท้าทายจึงถูกทิ้งไว้หลังจบบทสนทนากับกลุ่มอนุรักษ์ฯ รอการสานต่อพูดคุยในวงที่กว้างมากขึ้น
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ