
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 คณะทำงานสภาลมหายใจเชียงใหม่ และมูลนิธิกระจกเงาได้ลงพื้นที่ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่หรือที่เรียกว่า “ไฟจำเป็น” หรือ “ไฟดี” ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ท้าทายแนวคิดห้ามเผาโดยเด็ดขาดของนโยบายส่วนกลาง
ตำบลแม่หอพระมีขนาดพื้นที่กว่า 132.64 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 82,900 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศซึ่งประกอบไปด้วยป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่มีการผลัดใบตามฤดูกาล มีการสะสมเชื้อเพลิงตามธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชุมชนต้องเผชิญความเสี่ยงเรื่องไฟป่าในทุกปี ปี 2568 เทศบาลตำบลแม่หอพระได้ทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงเสนอต่อจังหวัดผ่านแอพพลิเคชั่น Fire D แต่ทางอำเภอ ยังไม่อนุมัติ เนื่องจากนโยบายส่วนกลางที่ไม่เข้าใจบริบทเชิงนิเวศในระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น
ร้อยเอกวิราช ธิมา นายกเทศมนตรีตำบลแม่หอพระ กล่าวว่าการจัดสรรงบประมาณจากจังหวัดปี 2568 สะท้อนความไม่สอดคล้องระหว่างกลไกการบริหารงบประมาณกับความจำเป็นในการจัดการเชิงพื้นที่ กล่าวคือเทศบาลฯได้รับงบกลางจากจังหวัดฯ จำนวน 510,800 บาท สำหรับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควันระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2568
เมื่อท้องถิ่นนำงบประมาณกลางมาใช้กลับสร้างข้อจำกัดที่บั่นทอนประสิทธิภาพการทำงาน ติดขัดระเบียบ และไม่ยืดหยุ่น กล่าวคือ ชุมชนไม่สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้เอง สามารถจัดซื้อเครื่องมือจำเป็นอย่างเครื่องเป่าลมได้ แต่กลับไม่มีงบประมาณเติมน้ำมันให้เครื่องเป่าลมและยานพาหนะส่วนตัวที่ใช้ในการลาดตระเวน และถูกกำหนดให้จัดอบรมประชาชนซึ่งชุมชนเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง นอกจากนี้ การบริหารงบประมาณยังกำหนดให้ต้องคืนงบที่ใช้ไม่หมด ขณะที่ท้องถิ่นมองว่างบประมาณที่เหลือยังสามารถเอามาใช้เป็นประโยชน์กับการทำงานป้องกันไฟป่าได้ การบริการงบแบบไม่ยืดหยุ่นนี้สร้างแรงกดดันในการดำเนินงานให้กับท้องถิ่น
การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ตำบลแม่หอพระไม่ได้มีแค่มาตรการป้องกันไฟป่า แต่ยังมีเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ด้วย เพราะในพื้นที่ธ์มีระบบนิเวศที่ซับซ้อนมีทั้งป่าชุมชน ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ โดยในตำบลมีอยู่ 9 หมู่บ้าน และ 7 หมู่บ้านที่อยู่ติดป่าจะมีป่าชุมชนที่จะต้องมีการดูแลและป้องกันไฟป่าด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยควบคุมด้วยเพื่อป้องกันไฟป่าที่จะไหม้ลามบริเวณกว้าง แม้ชุมชนได้พัฒนาแนวทางการจัดการเชื้อเพลิงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การปฏิบัติตามแผนกลับถูกจำกัดด้วยนโยบายห้ามเผาจากส่วนกลาง ซึ่งมองข้ามบริบทเฉพาะของบริบทชุมชนหรือท้องถิ่น โดยองค์ความรู้ดั้งเดิม ชุมชนมีการจัดทำแนวกันไฟโดยรอบพื้นที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่โดยรอบ เนื่องจากลักษณะเฉพาะของป่าผลัดใบที่สร้างการสะสมชีวมวลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากปราศจากการจัดการอย่างเหมาะสมจะกลายเป็นความเสี่ยงด้านไฟป่าที่รุนแรงในระยะยาว
“เห็ดอยู่ในป่าเต็งรัง และป่าเต็งรังจำเป็นต้องใช้ไฟ” ความเห็นของ ว่าที่ร้อยเอกวิราช ธิมา นายกเทศมนตรีตำบลแม่หอพระ สะท้อนความเข้าใจถึงระบบนิเวศในพื้นที่ สอดคล้องกับความเห็นของ โฉลม วงศ์กลุ่ม หัวหน้าอุทยานน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี รวมถึงสถาบันการศึกษาด้านป่าไม้หลายแห่งได้ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างไฟกับการเจริญเติบโตของเห็ดในระบบนิเวศเฉพาะนี้
การใช้ไฟในบริบทของแม่หอพระมีทั้งมิติเศรษฐกิจและนิเวศวิทยา คือเพื่อส่งเสริมการเกิดเห็ดซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของชุมชน และเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากไฟป่ารุนแรง เพราะพื้นที่ที่มีการจัดการเชื้อเพลิงอย่างเหมาะสมจะเกิดเพียงไฟเบาที่ควบคุมได้ง่ายหากมีการลักลอบจุด
ผลการศึกษาระบบนิเวศป่าเต็งรังพบว่า การสะสมเชื้อเพลิงเกิน 3 ปี จะสร้างความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากต้นไม้ในป่าเต็งรังสามารถทนไฟได้เพียง 15 นาที หากปล่อยให้เชื้อเพลิงสะสมเป็นเวลานาน ไฟที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงเกินกว่าที่ต้นไม้จะทนทานได้ นำไปสู่ความเสียหายระยะยาวต่อระบบนิเวศ มากกว่านั้น ยังต้องการจัดการกับไม้ยืนต้นที่ตายแล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดไฟสุมขอนที่ควบคุมยากและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในรูปของควันปริมาณมาก ประเด็นนี้ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม สะท้อนช่องว่างในองค์ความรู้ด้านการจัดการเชื้อเพลิงที่ต้องการการวิจัยเพิ่มเติม
ซูเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติภายใต้ความท้าทายของการจัดการ


พื้นที่ป่าของตำบลแม่หอพระเปรียบเสมือน “ซูเปอร์มาร์เกตธรรมชาติ” ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจชุมชนผ่านทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย โดยเฉพาะในฤดูเห็ดซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 45 วัน ช่วงเวลานี้เป็นฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า ทั้งเห็ดชนิดต่าง ๆ และของป่าอย่างหน่อไม้ นายกเทศมนตรีเล่าถึงวงจรของการเก็บเกี่ยวว่า “ช่วงแรกจะเป็นเห็ดเผาะ ต่อมาจะเป็นเห็ดใบ” สำหรับบางครัวเรือน รายได้จากการเก็บเห็ดสามารถสร้างรายได้สูงถึง 40,000 บาทต่อคนในหนึ่งฤดูกาล บางครอบครัวมีรายได้หลักแสนต่อฤดูกาล กลายเป็นแหล่งรายได้ที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจครัวเรือน
1. ข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์: ทางเข้าออกที่ควบคุมไม่ได้
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของผืนป่าแม่หอพระที่เชื่อมต่อกับหลายอำเภอ ทั้งพร้าว สันทราย ดอยสะเก็ด และพื้นที่อื่นๆ ทำให้ระบบนิเวศนี้มีจุดเข้าถึงหลากหลายช่องทางที่ยากต่อการควบคุม
“พื้นที่ป่าของเรามีเส้นทางเข้าออกไม่ต่ำกว่าสิบเส้นทาง บางเส้นทางเป็นทางลัดที่ชาวบ้านใช้กันมาหลายชั่วอายุคน” ผู้นำชุมชนอธิบาย “ในช่วงฤดูเห็ด เราพบคนแปลกหน้าในพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 300% บางคนมาพร้อมรถกระบะ บางคนเดินเท้าเข้ามาตั้งแต่เช้ามืด การควบคุมคนเข้า-ออกเป็นไปไม่ได้เลย”
2. ความซับซ้อนของอำนาจหน่วยงานในพื้นที่
สีส้ม: พื้นที่ป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
พื้นที่ป่าในเขตตำบลแม่หอพระมีหน่วยงานที่มีอำนาจในการจัดการหลายหน่วยงานทับซ้อนกัน ทั้งเขตป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตองและอุทยานแห่งชาติศรีลานนา รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคณะกรรมการหมู่บ้าน แต่ละหน่วยงานมีแนวทาง กฎระเบียบ และเป้าหมายในการจัดการที่แตกต่างกัน ลักษณะรอยต่อระหว่างเขตการปกครองสร้างช่องว่างในเชิงนโยบายและการบังคับใช้กฎระเบียบ แม้ตำบลแม่หอพระจะพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรของตนเอง แต่ประสิทธิภาพของระบบนี้จะถูกจำกัดหากพื้นที่ข้างเคียงไม่มีระบบการจัดการที่สอดคล้องกัน
ด้วยผืนป่าที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศเดียว การบริหารจัดการแบบแยกส่วนตามเขตการปกครองจึงไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนได้ ไฟที่เกิดในพื้นที่หนึ่งสามารถลุกลามข้ามเขตการปกครองได้โดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน สะท้อนให้เห็นความจำเป็นของการบริหารจัดการในระดับภูมินิเวศที่เกินกว่าขอบเขตการปกครองแบบดั้งเดิม
“เราพยายามสร้างความร่วมมือกับตำบลข้างเคียง แต่แต่ละพื้นที่มีทรัพยากร นโยบาย และลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน” นายกเทศมนตรีตำบลแม่หอพระกล่าว “บางตำบลไม่มีปัญหาเรื่องเห็ด บางตำบลมีปัญหาเรื่องน้ำมากกว่า การจะทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการไฟในรูปแบบเดียวกันจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก”
ความท้าทายเหล่านี้ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม การพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างพื้นที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จำเป็นต้องได้รับการออกแบบอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงทั้งมิติเชิงนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองท้องถิ่น
องค์ความรู้ท้องถิ่นและผลการสังเกตของชุมชนตลอดหลายทศวรรษได้สร้างความเชื่อที่ฝังรากลึกว่า การบริหารจัดการไฟอย่างเหมาะสมไม่เพียงลดความเสี่ยงจากไฟป่ารุนแรง แต่ยังส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ กระตุ้นการเจริญเติบโตของเห็ดและพืชพรรณอื่น ๆ ในปีต่อไป ในความพยายามที่จะสร้างระบบการจัดการไฟป่าที่มีประสิทธิภาพ ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีต่าง ๆ เทศบาลได้ริเริ่มการจัดทำหอดูไฟหนึ่งจุด ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา พร้อมกับการลงทุนในเทคโนโลยีโดรนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการดับไฟและค้นหาผู้พลัดหลงในพื้นที่ป่า
ขณะเดียวกัน องค์กรภาคประชาสังคมอย่างสภาลมหายใจเชียงใหม่ และมูลนิธิกระจกเงากำลังมองหาช่องทางในการสนับสนุนอุปกรณ์เทคโนโลยีเพิ่มเติม เช่น กล้องสำหรับหอดูไฟ และนวัตกรรมอื่น ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งพื้นที่ตำบลแม่หอพระ เมืองเห็ด-ของป่านี้ เป็นเพียงหนึ่งในพื้นที่ที่กำลังเผชิญความท้าทายนี้อยู่.

กนกพร จันทร์พลอย
กองบรรณาธิการ สื่อประชาธรรม