เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เวลา 13.00 น. มูลนิธิสื่อประชาธรรมได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “คลองแม่ข่าใสแล้ว น้ำเสียเมืองเชียงใหม่ยังไงต่อ?” ณ วัดหัวฝาย เพื่อร่วมกันหาทางออกและหารือเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียในเขต อ.เมืองเชียงใหม่ให้มีความยั่งยืนต่อไป โดยมีวิทยากรได้แก่ วงกต โอวาทสกุล วิศวกรสุขาภิบาลชำนาญการพิเศษ เทศบาลนครเชียงใหม่, อำนาจ ฐิตศิริ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย, ธีระ หว่องวัฑฒโน Operation Manager โรงแรมแทมมาริน วิลเลจ และ อนันต์ ชัยคำกอง ประธานชุมชนกำแพงงาม โดยนันทา เบญจศิลารักษ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อประชาธรรม เป็นผู้ดำเนินรายการ
วงกต โอวาทสกุล กล่าวว่าความสำเร็จของคลองแม่ข่า จะเกิดจากทางเทศบาลนครเชียงใหม่ไม่ได้ แท้จริงแล้วมีการทำงานหลายภาคส่วน ถ้านับตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบันน่าจะมีโครงการที่เกี่ยวกับคลองแม่ข่ามากว่า 30-40 โครงการแล้ว เราเป็นเพียงฟันเฟือนเล็ก ๆ ในการดำเนินการจัดการคลองแม่ข่า ซึ่งแผนการทำงานการจัดน้ำเสียของทางเทศบาลคือการมองภาพรวมทั้งเมือง และเทศบาลได้มีข้อตกลงการให้บริการ รับบริการ จัดการระบบบำบัดน้ำเสียร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย ที่สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 55,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้ทั้งเมืองเชียงใหม่
ข้อจำกัดในเรื่องนี้คือระบบการดำเนินการ รูปแบบการดำเนินการ แต่เราก็เห็นความร่วมมือที่มันมากขึ้น หวังว่าการประชุมทุก ๆ ครั้งจะสร้างการมีส่วนร่วมและสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันได้
ด้านอำนาจ ฐิตศิริ กล่าวว่าโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำเทศบาลนครเชียงใหม่ มีเนื้อที่ 100 ไร่ เป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบสระเติมอากาศ มีสถานีสูบน้ำเสียในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ จำนวน 8 สถานี องค์การจัดการน้ำเสียได้มีการให้ความรู้ ความเข้าใจ การฝึกอบรม การติดตั้ง
เราได้ของบประมาณส่วนกลาง เพื่อจัดเตรียมความพร้อมในการรองรับน้ำเสีย คนเริ่มเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่มากขึ้น สิ่งที่เรากังวลคือความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักในชุมชน การดูแลจัดการน้ำเสีย เราต้องร่วมมือกัน ต้องเข้าใจก่อนว่าทุกคนเป็นผู้ก่อผลกระทบน้ำเสีย ดังนั้นจึงต้องร่วมกันจัดการดูแลด้วย
ระบบบำบัดที่ใกล้เต็ม เราจะจัดการอย่างไร และส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ประกอบในเมืองเชียงใหม่ จะไม่ปล่อยน้ำเสียลงไปอย่างไร บ่อดักไขมันจะมีการบังคับใช้อย่างไร
ข้อจำกัดในเรื่องนี้คือ การสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนมันตรงกันไหม ช่องว่างในการสื่อสาร
ด้านอนันต์ ชัยคำกอง ประธานชุมชนกำแพงงาม กล่าวว่า เราได้แจ้งเบาะแสให้กับหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับปัญหาน้ำเสียในลำคลองต่าง ๆ แต่ละชุมชนก็จะมีปัญหาที่แตกต่างกัน เราก็เป็นผู้ประสานงานให้ระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง แก้ไขปัญหาต่าง ๆ จะได้ถูกแก้ไขอย่างยั่งยืน และการให้ข้อมูลกับชาวบ้านอย่างถูกต้องมากขึ้น น้ำเสียมันเป็นปัญหามายาวนานแล้ว จนมาถึงวันนี้ อาจจะเห็นแสงเทียนน้อย แต่ก็ต้องให้ทุกคนเมืองเชียงใหม่มีส่วนร่วม หน่วยงานรัฐต้องเก็บปัญหาจากชาวบ้านไปเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
ธีระ หว่องวัฑฒโน กล่าวว่าในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการโรงแรม โรงแรมน่าจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากที่สุด เพราะเรารับนักท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการเขาเลือกว่าจะพักที่ไหน ที่ไหนที่น่าไป เชียงใหม่จึงมีข้อดีมากที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว วิธีการที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการคือเราจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรธรรมชาติมันบอบช้ำน้อยที่สุด เราต้องตระหนักว่าหน้าที่ของเราที่ควรทำคืออะไร เพื่อจะสร้างภาระให้ผู้อื่น ๆ ได้มากที่สุด
ข้อจำกัดในเรื่องการเอาน้ำกลับมาใช้ ยังไม่มีวิธีคิดเรื่องนี้ที่มากเพียงพอ และเรื่องความร่วมมือเป็นปัญหาที่ท้าทาย จากหลาย ๆ หน่วยงานและหลาย ๆ ชุมชน
นันทา เบญจศิลารักษ์ กล่าวโดยสรุปว่า สิ่งที่เป็นประเด็นใหญ่คือการแก้ปัญหาไปตามปัญหาที่มีมากขึ้นเพราะว่าเราไม่มีการวางผังเมืองมาก่อน และเรื่องการมีส่วนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานรัฐ ต้องเติมเต็มช่องว่างในเรื่องนี้ รวมถึงการสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ ท้ายสุดคือเรื่องกฎหมาย การบังคับใช้ในเรื่องการจัดการน้ำเสีย และการวางผังเมือง เวทีนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เราจะมาพูดถึงเรื่องน้ำเสียมากกว่าแค่คลองแม่ข่า
รับชม Live ย้อนหลังได้ทาง Lanner หรือทาง YouTube ของ Prachatham media foundation
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ