26 เมษายน 2566
เรื่องและภาพ: ศุภวิชญ์ ชุมภู, กัณณิกา ก้อนแก้ว, โชติกา คำมา, ธิดารัตน์ ลุงเริญ และพรวิกา ลุงกี่ /โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม
หลังสถานการณ์โควิด-19 จบไปแล้ว การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเบ่งบาน และกลายเป็นรายได้หลัก และเศรษฐกิจหลักของชุมชน และยังเป็นความหวังของการเติบโต GDP ของประเทศก็ว่าได้ ทิศทางการท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลกลับมาสู่ชุมชนก็มีมากขึ้น รวมถึงเชียงดาว เมืองแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวก็เช่นกัน สังเกตได้จากเที่ยวบินที่มาเชียงใหม่ที่หนาแน่นเกือบทุกวันแม้ว่าจะมีสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 มากเพียงใด และในห้วงเวลาเกือบ 3 ปีที่การท่องเที่ยวหยุดชะงักก็เป็นโอกาสให้ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมก็กลับมาฟื้นตัวไปด้วย และในระดับชุมชน เครือข่ายชุมชน ผู้ประกอบการเองก็มีเวลาในการตั้งหลัก ค้นหาแนวทางการจัดการท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น จากการสรุปบทเรียนแหล่งท่องเที่ยวที่เคยหนาแน่น เช่น บ้านแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ และประกอบกับการประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ทำให้คนเชียงดาวมีเวทีพูดคุยในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าอยากให้นักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวเชียงดาวอย่างรู้คุณค่าของชุมชน รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันด้วย จึงมุ่งเน้นทำงานรณรงค์กับนักท่องเที่ยวที่จะมาสู่เชียงดาวให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการท่องเที่ยวแบบเดิม ๆ และหันมาท่องเที่ยวแบบรู้คุณค่าของชุมชน เข้าใจวิถีชีวิต ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของเชียงดาวให้มากขึ้น
สื่ออินโฟกราฟิกชุดนี้ผลิตขึ้นโดยกลุ่มเยาวชน “โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม” ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสร้างนักสื่อสารสิ่งแวดล้อมเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มูลนิธิสื่อประชาธรรม โดยเยาวชนได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชุมชนที่มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยการจัดการท่องเที่ยวที่คำนึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย เช่น มีการจัดการเรื่องขยะ การห้ามทิ้งขยะในเขตป่า การไม่บุกรุกธรรมชาติ ไม่ล่าสัตว์ และบางชุมชนมีกฎระเบียบป่าชุมชนที่นำมาใช้กับนักท่องเที่ยวด้วย เช่น บ้านแม่นะ ที่ชุมชนมีการผลิตก๋วย (ตะกร้าไม้ไผ่) และมีกฎกติกาในการใช้ไม้ในเขตป่าชุมชนด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวก็จะได้เรียนรู้วิถีของชุมชนที่พึ่งพิง และเกื้อกูลกับธรรมชาติไปพร้อมกัน บางชุมชนมีสัตว์ป่าหายากที่ต้องอนุรักษ์ไว้ เช่นบ้านเมืองคองกับรักษา นกกระเต็น เป็นต้น
สื่อชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ อ.เชียงดาวที่มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บางชุมชนเพิ่งจะเริ่มต้น และมีการวางระบบการจัดการเพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวที่จะมาถึงในช่วง high season ที่จะมาถึง ก็ได้แต่หวังว่าการจัดการท่องเที่ยวในลักษณะแบบนี้ที่เห็นคุณค่าของชุมชนที่พึ่งพิงและใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ และการทำให้นักท่องเที่ยวเห็นคุณค่า และเคารพธรรมชาติ เข้าใจวิถีของชุมชนจะกลายเป็นทิศทางหลักของการท่องเที่ยว และทำให้เกิดความยั่งยืนต่อการใช้สอยประโยชน์จากธรรมชาติทั้งในแง่การเยียวยาจิตใจ และในแง่ที่เกิดประโยชน์กับคนท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กัน
บ้านต้นไม้ แม่แมะ
สถานที่ที่เราได้ไปคือ ‘บ้านต้นไม้แม่เเมะ’ มีต้นไม่จำนวนมาก เป็นที่น่าสนใจเหมาะแก่การพักผ่อน สัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติ เมื่อก่อนนั้นทางเข้าไปยากลำบากมาก พวกเราจึงอยากให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้นำเงินที่ได้จากนักท่องเที่ยวเข้าไปพัฒนาในจุดนี้ แต่ในปัจจุบันก็เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอยู่แล้วจึงมีการพัฒนาทางเข้าไป และภายในสถานที่ มีที่พักโฮมสเตย์หลายที่ หากทุกคนได้ไปเที่ยวจะได้รับรู้ถึงธรรมชาติที่สุดแสนจะพิเศษในที่แห่งนี้ถึงจะเป็นชุมชนเล็ก ๆ แต่ก็ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นประโยชน์ มีคุณค่า และน่าดึงดูดให้ไปเที่ยว และตอนกลับพวกเราได้ไปเจอกับคุณยายท่านหนึ่งที่ไรชาภูตะวัน ยายเขาบอกว่าเมื่อก่อนไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวแม่แมะจึงไม่เป็นที่รู้จัก มีต้นไม้มากแต่ก็ไม่เคยนำไปทำประโยชน์ จนมีคนริเริ่มทำสถานที่ท่องเที่ยว แม่แมะจึงเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น แล้วยายเขาก็บอกว่าอยากให้มีนักท่องเที่ยวเยอะ ๆจะได้มีเงินนำมาพัฒนาชุมชน และให้ชุมชนเป็นที่นิยม ตอนนี้ก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเรื่อย ๆ
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ