27 มีนาคม 2566
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “หมอต้นไม้ในงานภูมิทัศน์” ณ เทศบาลเมืองต้นเปา อําเภอสันกําแพง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ชุดโครงการ นวัตกรรมภูมิทัศน์เพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชนเมืองยั่งยืน โดยคณาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม นำโดย ผศ.บรรจง สมบูรณ์ชัย และหน่วยงานท้องถิ่น ตัวแทนจากกรมทางหลวง และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดพื้นที่ให้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนเรื่องราวการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองและหาทางออกร่วมกัน เรื่องต้นไม้ใหญ่ในเมืองกับผู้คน โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการจะใช้เวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 – 31 มีนาคม
กฤตย์ เข็มเพชร ปลัดอาวุโสอำเภอสันกำแพง กล่าวต้อนรับเปิดงาน พร้อมเล่าว่าเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2565 ประชาชนและเครือข่ายชาวสันกำแพง รณรงค์ให้ความสำคัญของต้นฉำฉาบนถนนสายวัฒนธรรมสันกำแพง อนุรักษ์อย่างไรให้เคียงคู่ความปลอดภัยของประชาชนและผู้สัญจรบนท้องถนน พร้อมกล่าวแนวทางการทำงานภาพรวมต่อประเด็นต้นฉำฉาในปี 2566 แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- การเตรียมความพร้อม
- ดำเนินการปฏิบัติการ
- ประเมินผล
การเตรียมความพร้อมจะเน้นไปถึงเรื่องการตรวจเช็คสุขภาพของต้นไม้เป็นเรื่องสำคัญ มีการตรวจเช็คสุขภาพภายนอก การเช็คกิ่งไม้ ความผุพังลำต้นและโพรง สุขภาพภายนอกที่ประเมินด้วยสายตาได้ แต่การตรวจเช็คสุขภาพเชิงลึกต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญความรู้รุกขกรรม จากรุกขกร หรือ หมอต้นไม้ รวมถึงกระบวนการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ ดูแลแผล โพรงต้นไม้ ที่ต้องปฏิบัติต่อเนื่อง ยาวนาน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกัน
“ผมหวังว่าการอบรมหมอต้นไม้จะเป็นทางออกของเรื่องการจัดการ อนุรักษ์ต้นฉำฉาบนถนนสายวัฒนธรรม สันกำแพงได้” กฤตย์ เข็มเพชรกล่าวด้วยความหวังพร้อมเปิดงาน”
ภายใต้ชั่วโมงเรียนรู้ชีวิตของต้นไม้ ผศ.เยาวนิตย์ ธาราฉาย ชวนเรา ค่อย ๆ เข้าไปทำความรู้จักต้นไม้มากขึ้น ชวนดูการจัดการต้นไม้ในเมืองที่เติบโตด้วยสุขภาพที่ดีเคียงคู่ผู้คน เช่น ประเทศสิงคโปร์ Herritage Tree ต้นไม้ประวัติศาสตร์ การจัดการดูแลตกแต่งรากและตัดแต่งพุ่มอย่างถูกวิธี
สามารถสร้างรายได้กลายเป็นจุดรวมนักท่องเที่ยวแห่งใหม่ ต้นไม้ พืชพรรณก็มีส่วนช่วยเรื่องการดักจับฝุ่นจาก ใบไม้บางชนิดมีผิวสัมผัสแบบขรุขระ หรือต้นไม้ที่มีใบเล็ก ๆ จำนวนมาก เป็นคุณสมบัติสำคัญที่สามารถช่วยดักจับละอองฝุ่นได้
‘ในช่วงของฤดูฝน เซลล์ของพืชจะกลายเป็นสีจาง วงปีเลยสีจางตามไปด้วย แต่หากช่วงไหนที่เป็นช่วงแล้ง ฤดูร้อน เซลล์ด้านในจะกลายเป็นสีเข้ม หรือ วงปีสีเข้ม ดังนั้น วงปีนอกเสียจากจะบอกอายุของต้นไม้แล้ว ยังเป็นศิลาจารึกประวัติศาสตร์ เล่าสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย’
“ปลูกต้นไม้กันเถอะ! มันจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะของสังคม ชุมชน และมลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน” เยาวนิตย์กล่าวชวนผู้เข้าร่วมปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์รอบด้าน
“การดูแลต้นฉำฉาที่ถูกบริหารจัดการจากหลายหน่วยงาน ทั้งเทศบาล ตำบล อำเภอ กรมทางหลวง กฟผ. เมื่อเกิดกรณีกิ่งไม้โค่น ตกลงพื้นที่อาศัยของชาวบ้านเสียหาย คำถามคือ การเยียวยา ดูแลจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของใคร จริงอยู่ที่ฉำฉาควรถูกอนุรักษ์ไว้บนถนนสายวัฒนธรรม แต่หากเกิดอุบัติเหตุใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ อีกกรณีหนึ่งที่ชาวบ้านขับรถออกจากปากซอยที่มีต้นฉำฉาบดบังวิสัยทัศน์การมองเห็น อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ จึงอยากขอให้หน่วยงานที่ข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ช่วยดำเนินงาน ดูแลจัดการด้วย” เสียงและมุมมองจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากต้นฉำฉา
“การพูดถึงการอนุรักษ์ต้นฉำฉาจะมองมุมในสายตาของนักวิชาการ ซึ่งการอนุรักษ์ดูแล คงอยู่ของต้นฉำฉา เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายคน ในการดูแลต้นไม้จากวิชาการอาจช่วยเหลือดูแลประเมินความเสี่ยงจากการตกของกิ่งไม้ได้ สุขภาพเชิงชีววิทยา รุกขกรรม แต่ในท้ายที่สุด ชุมชน ผู้คน เป็นคนที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่ที่นั้นต้องได้รับฟังเสียงและความคิดเห็น เราควรหาทางออกที่ทุกคนอยู่ด้วยกันได้” เยาวนิตย์กล่าวทิ้งทายถึงปัญหาดังกล่าว
ในช่วงบ่ายของวัน ผศ.บรรจง สมบูรณ์ชัย บรรยายภาพถึงธรรมชาติการเติบโตของต้นไม้ใหญ่มีปัจจัยใดบ้างส่งเสริม อย่างเรื่องระบบรากที่ยิ่งโต รากจะแผ่ขยายกว้างและลึกเพื่อค้ำจุนการเติบโต การมีสิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทาง ที่การเติบโตความเป็นเมืองไปด้วย เราจะประคับประคองสิ่งเหล่านี้ไปได้อย่างไร ยกตัวอย่างต้นไม้ใหญ่ไม่สบาย มีแผลเต็มลำต้น การปิดปากแผลจากโพรงต้นไม้ ป้องกันแมลงและเชื้อราทำลายเนื้อเยื่อ พร้อมยกกรณีศึกษาในต่างประเทศที่ดูแลต้นไม้ใหญ่พร้อมไปดับการพัฒนาของเมือง
“ความแตกต่างระหว่างยางนากับฉำฉา ใบไม้แห้งล่วงเยอะซึ่งสามารถนำใบไม้ไปทำเป็นปุ๋ยได้ และล่วงเป็นฤดูกาล ในขณะที่ยางนา ในอดีตผู้คนเผาโคนต้นเพื่อกำจัดใบไม้แห้ง เจาะลำต้นด้วยไม้เพื่อปีนขึ้นเก็บรังผึ้ง ทำให้ต้นยางนามีสุขภาพไม่ดีเมื่อเวลาผ่านมา”
การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ มีระยะเวลาทั้งหมด 5 วัน ตั้งแต่ 27 – 31 มีนาคม 2566 ที่จะชวนอาสาสมัครหมอต้นไม้ ผู้เข้าร่วม เรียนรู้เชิงทฤษฎี จนเริ่มหยิบเครื่องมือวัดความสูงต้นไม้ การประเมินความเสี่ยงสุขภาพต้นไม้ด้วยตาของเรา และทักษะการทำงานบนพื้นที่สูง ความรู้การตัดแต่งต้นไม้ด้วยกัน พร้อมลงพื้นที่สำรวจตรวจสุขภาพฉำฉา บนถนนสายวัฒนธรรม พร้อมเก็บข้อมูลให้คณะกรรมการจามจุรีต่อไป
“ฉำฉาหรือสันกำแพง ต้นไหนที่ไม่แข็งแรงต้องหาทางมานั่งคุยกันทุกภาคส่วน ไม่ใช่นั่งคุยกันคนละมุม” ผศ.บรรจงกล่าวทิ้งท้ายชวนคิดเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อปัญหาต้นไม้ใหญ่ในเมือง
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ