เรื่องและภาพ: กนกพร จันทร์พลอย
อำเภอเชียงดาว ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ประมาณ 2,169 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,355,625 ไร่ เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำแม่ปิง เป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และดอยหลวงเชียงดาว ที่ใคร ๆ ก็อยากจะมาสัมผัสสักครั้งในชีวิต เชียงดาวจึงกลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อน หรือสัมผัสกับธรรมชาติ
หากเดินทางมาจากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้ามายังอำเภอเชียงดาว แม่นะ ถือเป็นตำบลแรกที่อยู่ในเขตอำเภอเชียงดาวหรือหลายคนเรียกว่าประตูสู่เชียงดาว ตำบลแม่นะมีประชากรทั้งหมดกว่า 9,929 คน[1] จำนวนของประชากรนับเป็นอันดับห้าของอำเภอเชียงดาว ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่ในตำบลแม่นะเป็นพื้นที่ราบลุ่มหุบเขา โดยมีจำนวนหมู่บ้าน 13 หมู่บ้านที่อยู่บริเวณหุบเขา ล้อมรอบด้วยภูเขาและป่าไม้ตามธรรมชาติ
ส่วนตำบลเชียงดาว มีประชากรทั้งหมดกว่า 16,746 คน นับเป็นอับดับสองของอำเภอเชียงดาวทั้งหมด ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว ข้าวโพดหวาน และพริก ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบระหว่างภูเขา ลาดเอียง ตำบลเชียงดาวประกอบด้วยหมู่บ้านทั้งหมด 16 หมู่บ้าน
ชวนมองความพยายามในการจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนที่ปกป้องดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย ยกตัวอย่างชุมชนที่อยู่ในตำบลแม่นะ และตำบลเชียงดาว ที่เป็นภาพสะท้อนในการจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนในหลายระดับ ทั้งระดับเริ่มต้น และระดับที่มีบทเรียน และเริ่มมีการบริหารจัดการที่มีทิศทางอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
แม่นะ – แม่ซ้าย: ชุมชนเริ่มต้น การท่องเที่ยวแบบเคารพสิ่งแวดล้อม
บ้านแม่นะและบ้านแม่ซ้าย มีความเหมือนกันในแง่การพยายามเริ่มต้นจัดการการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับการดูแลป่า หลังจากได้มีเขตป่าชุมชนอย่างเป็นทางการ ตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562 จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีป่าชุมชน และเริ่มจัดการป่าชุมชนให้สามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วย นอกจากนี้พื้นที่ป่าชุมชนบ้านแม่นะและบ้านแม่ซ้ายยังได้เข้าร่วมโครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนดูแลป่า และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยแนวคิดนี้สามารถดำเนินการได้ทันทีเนื่องจากมีพ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายรับรองการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชนแล้ว
ทั้งนี้การจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าชุมชนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของชุมชน นอกเหนือจากอาชีพหลักของทั้งสองพื้นที่ คือการทำสวนเกษตรและป่าเมี่ยง ความท้าทายของทั้งสองพื้นที่คือการจัดการท่องเที่ยวอย่างไรที่จะทำให้คนภายนอกเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนกับป่าและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอย่างไร ซึ่งจากการสัมภาษณ์ทั้งสอง ชุมชนแม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ความคิดในเรื่องการจัดการท่องเที่ยวก็จะอิงกับกฎระเบียบของป่าชุมชนด้วย เช่น การขออนุญาตเข้าพื้นที่ป่าจากชุมชน การห้ามนำทรัพยากรจากป่าออกนอกชุมชน และการจัดการขยะ
บ้านแม่นะ เราได้พูดคุยกับ อัสวิน สิงห์คำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านแม่นะที่กำลังเริ่มต้นจัดการสถานที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วง high season ด้วยการเล็งเห็นถึงความต้องการของนักท่องเที่ยวที่อยากจะสัมผัสธรรมชาติ บ้านแม่นะถือว่ามีสัดส่วนประชากรเป็นอันดับสองรองจากบ้านแม่อ้อใน เศรษฐกิจของชุมชนส่วนใหญ่มาจากการทำไร่ ทำสวน เช่น สวนมะม่วง สวนลำไย และการสาน “ก๋วย[1]” เพื่อบรรจุสินค้าทางการเกษตร
“จริง ๆ บ้านแม่นะก็อยู่ร่วมกับป่า แต่ยังไม่มีเขตป่าชุมชนอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมามีการใช้สอยประโยชน์จากป่า แต่ว่าพอป่าไม้เขาเอาที่ไปก็ไม่สามารถใช้สอยได้ แล้วบ้านแม่นะไม่มีป่าชุมชน พึ่งขออนุญาตได้ตอนปี 2562 เนื้อที่จำนวน 565 ไร่ และขออีกส่วนคือ 56 ไร่ ส่วนนี้คือเราทำสัญญาใช้ประโยชน์กับกรมป่าไม้ มาขอทำกิจกรรมภายในชุมชนแบบปีต่อปี สภาพป่าชุมชนเป็นแบบเต็งรัง เบญจพรรณก็มี ป่าดงดิบก็มี แหล่งน้ำสำคัญคือต้นน้ำแม่ตะมาน”
กรณีการจัดการป่าชุมชนบ้านแม่นะ อัสวินกล่าวว่า “บุคคลภายนอกชุมชนห้ามเข้าในป่าชุมชน ต้องขออนุญาตก่อน จากสวนส้มเข้ามาถึงตรงสะพานนาแมะ เป็นของชุมชนหมด แต่ถ้าคนในชุมชนสามารถใช้สอยป่าชุมชนได้ เช่น เอาไม้ไผ่ไปสานตอกได้ หรือเอาหน่อไปทำแกงได้ แต่เพื่อการค้าไม่ได้”
ท่องเที่ยวแบบมีการจัดการ
“แต่เดิมผมเคยเป็นประธานกลุ่มรถดอยหลวงเชียงดาว ผมเลยมองเห็นว่าเวลาคนมาอบรมก่อนขึ้นดอยหลวงที่เทศบาลแม่นะ มักจะขาดแคลนที่พักของผู้ที่เดินขึ้นดอยหลวง ผมเลยอยากทำเป็นลานกางเต็นท์ ให้ชาวบ้านมาดูแลกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ตอนนี้ก็มีคนมาจับจองเพื่อท่องเที่ยวแล้ว แต่ผมยังทำไม่เสร็จ”
“เราดูแลจากเรื่องความปลอดภัยก่อน แต่ยังไม่ได้ออกแบบกติกาอย่างชัดเจน มันต้องจำกัดคนไม่ให้เยอะมาก กับเรื่องการจัดการขยะ เข้ามาต้องเอากลับไปด้วย ตอนกลางคืนจะไม่มีไฟ เราต้องมาวางแผนว่าจะจัดการดูแลนักท่องเที่ยวอย่างไร เรามีเส้นทางเดินป่าคือขึ้นไปม่อนล้าน เส้นทางนาแมะ มีน้ำตกนางเพลิน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนสำรวจเส้นทางแล้ว แต่ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ระยะเพียง 2 กิโลเมตร ขึ้นม่อนล้าน 900 เมตร มีจุดกางเต็นท์และดูพระอาทิตย์ แต่ยังไม่มีการจัดการเรื่องไกด์ดูแลเส้นทาง”
บ้านแม่ซ้าย เศรษฐกิจชุมชนส่วนใหญ่มาจากการเก็บชา พึ่งมาเริ่มจัดการการท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 เริ่มด้วยการมีเส้นทางเดินป่า ท่องเที่ยวธรรมชาติ ดูถ้ำ เนื่องจากป่าชุมชนเป็นป่าดิบชื้นและป่าเบญจพรรณ ทั้งนี้ป่าชุมชนขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 1,503 ไร่ สำรวจเพิ่มอีกพันกว่าไร่ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน
“กฎระเบียบของป่าชุมชนคือห้ามพ่นยาฆ่าหญ้า ห้ามตัดไม้ ห้ามให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้สอย ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวคือห้ามทิ้งขยะ เวลาไปเดินป่าก็ต้องเก็บขยะของตนเองกลับมาด้วย เราพยายามใช้วัสดุจากธรรมชาติในการจัดการการท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด เช่น การห่ออาหารให้นักท่องเที่ยวด้วยใบตอง”
การจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนแม่ซ้าย
“เมื่อก่อนเก็บเมี่ยง เก็บชา เดี๋ยวนี้ขายไม่ได้แล้ว เลยเปลี่ยนวิถีเป็นเก็บชา และปลูกกาแฟเสริมเมื่อปี 2538 เราคั่วกาแฟให้นักท่องเที่ยว เราปลูกสลับกัน โดยการส่งเสริมจากโครงการหลวง มีประมาณสิบกว่าราย อาชีพก็ผลัดเปลี่ยนกันไปตามฤดูกาล การท่องเที่ยวเริ่มมาทำเพราะรายได้ไม่เพียงพอ”
“ได้ประชุมกับกลุ่มท่องเที่ยว คิดว่าจะเก็บเงินรายหัวคนละ 10-20 บาทเพื่อเป็นกองกลางในการจัดการเรื่องขยะ นักท่องเที่ยวก็จะมีการแยกขยะ และห้ามทิ้งขยะ ต้องมีไกด์ชาวบ้านพาไปเดินป่า จะช่วยเรื่องดูแลเส้นทางและความปลอดภัย”
“มี home stay ประมาณ 5-6 เจ้า อยู่ ก็ยังพอรับนักท่องเที่ยวได้ ทำตามระเบียบของป่าไม้คือต้องสามารถสร้าง home stay ได้ไม่เกิน 4 หลังเนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อย่างอื่นยังไม่มีกฎระเบียบอะไร เรายังสามารถเก็บน้ำผึ้งขายได้ ตามฤดูกาล เฉพาะคนในหมู่บ้านเท่านั้น”
มีอะไรเป็นอุปสรรคในการจัดการการท่องเที่ยวหรือไม่
“เรื่องขยะ เขาเอาเศษขยะไปทิ้งข้างทาง ตอนนี้ก็ต้องติดป้าย ติดอะไร ต้องค่อยเป็นค่อยไป เราจะทำทีเดียวมันไม่ได้”
ท้องถิ่นกับการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
“สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อก่อนชาวบ้านเข้าป่า หาของป่า เดี๋ยวนี้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้นหลังจากมีการรับนักท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ต้องมานั่งคุยกันคือเรื่องการบริหารจัดการ เช่น การหมุนเวียนคนนำทาง คนขับรถ”
รุ่งโรจน์ ดวงดี นายกเทศมนตรีตำบลแม่นะ
มากกว่ามิติการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนแล้ว ทางเทศบาลตำบลแม่นะได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ในชุมชนอย่างมากผ่านการให้งบประมาณในแต่ละปี สอดคล้องกับความเห็นของ สราวุฒิ วรพงษ์ นายอำเภอเชียงดาว ที่ให้สัมภาษณ์กับทาง TCIJ School โดยมองว่าการจัดการการท่องเที่ยวนั้นต้องมาจากคนในพื้นที่นั้นจะสร้างความยั่งยืนมากกว่า เนื่องจากคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับเรื่องนี้[1]
“จัดงบประมาณจากเทศบาลให้กับชุมชนเลย อยากจะทำอะไรในชุมชนให้ไปคิดกันเองเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ชาวบ้านสามารถมีความคิดได้เต็มที่ในการจัดการชุมชนตนเอง”
รุ่งโรจน์เล่าถึงที่มาของการจัดการการท่องเที่ยวในตำบลแม่นะว่า “ตอนแรกเราไม่ได้มองว่าจะทำเรื่องการท่องเที่ยวเลย เราให้ชุมชนอยู่กับป่า เพราะเป็นชุมชนป่าเมี่ยง ชุมชนจะไม่ล้มไม่ใหญ่ เวลาทำฟืนก็จัดเอากิ่งไม้มาทำฟืนไปคั่วเมี่ยง ตอนนั้นมีอดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่แมะ สร้างบ้านต้นไม้ขึ้นมา ตอนนั้นประเทศญี่ปุ่นอยากมาดูงานในเรื่องคนอยู่ป่า ทางอำเภอมีงบประมาณให้ด้วยเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็มาทำบ้าน ทำโฮมสเตย์ คนมาเห็นก็เริ่มเข้ามาพักมากขึ้น เห็นชุมชนอยู่กับป่าเมี่ยง คนข้างนอกเห็นแล้วเอาไปรีวิวต่อ ก็เริ่มทำโฮมสเตย์กันมากขึ้น”
ปัจจุบันทางเทศบาลแม่นะได้เริ่มขับเคลื่อนในเรื่องของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแบบ one stop service คือให้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเปรียบเสมือน hub ในการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เช่น เป็นจุดจอดรถ และเป็นจุดรับ-ส่งนักท่องเที่ยวเพื่อไปยังชุมชนต่าง ๆ หรือการไปล่องแพน้ำปิง
หัวทุ่ง – ยางปู่โต๊ะ: บทเรียนการจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนและทิศทางการไปต่อ
ช่วงหลังมานี้ เราจะเห็นว่าชุมชนในเชียงดาว เริ่มเปลี่ยนทิศทางในการรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น อย่างการขึ้นดอยหลวงเชียงดาว เริ่มมีการปล่อยข้อความรณรงค์ว่า “ดอยหลวงเชียงดาวไม่ต้องการผู้พิชิต” ซึ่งเป็นข้อความที่สะท้อนความต้องการกลุ่มเป้าหมายที่ต่างออกไป คือกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวที่อยากมาเรียนรู้ธรรมชาติจริง ๆ มากกว่ามาเพื่อพิชิตหรือได้ปักหมุดอะไรบางอย่างเท่านั้น สอดคล้องกับเชียงดาวได้รับการประกาศเป็นเขตสงวนชีวมณฑลเมื่อปี 2564 มากกว่านั้นชุมชนในเชียงดาวได้เริ่มปรับตัวในการรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เริ่มมีการจัดการการท่องเที่ยวที่เคารพสิ่งแวดล้อม ไม่กระทบกับระบบนิเวศ
บ้านหัวทุ่งและบ้านยางปู่โต๊ะเป็นภาพสะท้อนการจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ เริ่มมีบทเรียนและเริ่มมีทิศทางในการจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนเป็นรูปธรรมมากขึ้น
“เราอยากจะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนและชุมชนมากกว่า ไม่ได้มองว่ามันเป็นรายได้ที่มันจะต้องมากที่สุด” ศิริวรรณ ศรีเงิน ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวทุ่ง เล่าถึงเป้าหมายหลักในการจัดการการท่องเที่ยวของบ้านหัวทุ่งให้เราฟัง
บ้านหัวทุ่ง เป็นหมู่บ้านมีทั้งหมด 153 ครัวเรือน มีประชากรจำนวน 468 คน อาชีพหลักคือการทำเกษตร การทำนาปี ปลูกไม้ผล เช่น ลำไย มะม่วงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวโพดหวาน ส่วนอาชีพเสริมของชุมชนคือการสาน “ก๋วย” ถือเป็นอาชีพที่อยู่กับหมู่บ้านมานานแล้ว เนื่องจากพื้นที่อำเภอเชียงดาวจะปลูกผักกันเยอะ เลยมีการสานตะกร้า สานเข่งเพื่อบรรจุผลผลิตส่งออก
ศิริวรรณเล่าต่อว่า “คนที่เข้ามาเมื่อปี 2540 เองก็เริ่มมีการเรียนรู้วิธีการจัดการป่า คนอยู่กับป่ายังไง พึ่งพาอาศัยยังไง และเข้ามาดูในส่วนบริหารหมู่บ้าน เพราะตอนแรกหมู่ 14 ตอนแยกออกมามีแค่ 120 หลังคาแต่มันเป็นหมู่บ้านที่ขนาดเล็ก และก็พัฒนา การที่เราอยู่กันจำนวนน้อย ๆ ทำให้เราพูดคุยกันง่ายขึ้น เหมือนกับว่าชุมชนเราพึ่งแยกออกมาก็พึ่งสร้างอะไรต่าง ๆ ให้มันเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดก็จะเป็นการจัดการป่า มีคนข้างนอกเข้ามา เริ่มเห็นว่ากรณีบ้านหัวทุ่งเป็นกรณีที่น่าศึกษามากกว่าที่จะมาดูในเรื่องของป่า ก็อยากจะอยู่ต่อกัน บางคนอาจสนใจจริง ๆ ก็อยากจะอยู่หลาย ๆ วัน และตอนนั้นช่วงปี 2550 เริ่มมีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับ CBT (ท่องเที่ยวชุมชน) เข้ามา และสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชน เลยจัดกระบวนการให้ ตอนนั้นก็เริ่มขยับการทำงานในเรื่องป่าชุมชนด้วย เริ่มจะผลักดันระเบียบป่าชุมชน ร่วมกับโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิง เราก็เลยเริ่มกระบวนการสร้างรูปแบบถ้าหากมีคนมาเข้าพักวันเดียวไม่พอ มันน่าจะมานอนค้างได้”
“พอมีคนมานอนเยอะ ๆ มากขึ้น จากตอนแรกเป็นเรื่องน้ำใจแบ่งปันกัน เกื้อกูลกัน แต่พอจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นเรื่อย ๆ มันต้องคอยดูแลเรื่องอาหาร ที่พัก ต่าง ๆ มากขึ้นด้วย เราเลยคิดว่าจะทำยังไงให้มันสร้างรายได้ได้ CBT ก็เข้ามาจัดระบบให้ ดูแลในเรื่องของกลุ่ม มันเป็นรูปร่างก็ตอนปี 2553 เลยมีการพัฒนาควบคู่กันไปทั้งเรื่องคน ทั้งเรื่องของชุมชน ทั้งเรื่องของกลุ่มท่องเที่ยว”
“มันพัฒนากันไปในเรื่องกระบวนการของป่า ในเมื่อคนมาดูในเรื่องของการจัดการป่า เราจะทำยังไงให้ป่ามันไปด้วยกันได้กับชุมชนโดยการพึ่งพาอาศัยกัน เลยเข้าซ่อมแซม ปรับปรุง สร้างกฎระเบียบให้มันเด่นชัด และมีโครงการสร้างคณะกรรมการ แต่จริง ๆ แล้วมันมีตั้งแต่ปี 2540 แต่ไม่ได้เป็นรูปธรรม พอมาทำให้มันชัดเจนเลยมองว่าน่าจะมีกิจกรรมอะไรที่มันโดดเด่น”
ต่อมาปี 2553 บ้านหัวทุ่งเริ่มมีการจัดการการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ก็มีการจัดการเรื่องสภาวะทางกลิ่นในชุมชนที่จะส่งผลต่อการท่องเที่ยว เช่น เรื่องฟาร์มหมู่ในชุมชนที่มีการแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างบอลลูนแก๊สแปรรูปขี้หมู่ให้เป็นแก๊สชีวภาพ กล่าวคือ เธอมองว่าหากเราหยิบยกการท่องเที่ยวของชุมชนเป็นแกนหลัก ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาชุมชน พัฒนาคนและการทำงานเป็นกลุ่มต่อไปด้วย
“ที่สำคัญที่สุดคือกลุ่ม ถ้ามันแบ่งปันกัน พอมันมีกลุ่มเกิดขึ้น มันมีเรื่องผลประโยชน์ของเรื่องเงิน การที่กลุ่มจะเดินหน้าไปได้ มันต้องเป็นเรื่องของ “กลุ่ม” ไม่ใช่ “กลุ้ม” เพราะบางทีทำไปทำมามันกลายเป็นกลุ้ม (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นองค์ความรู้การพัฒนาเรื่องของคนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการการท่องเที่ยวด้วย”
“หัวทุ่งอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้เพราะการพัฒนาต่อยอดในเรื่องของคน” เธอย้ำว่าการจัดการทั้งเรื่องของป่า หรือเรื่องการท่องเที่ยวมันต้องพัฒนาควบคู่กันไป หากพัฒนาทั้งสองเรื่องแต่ไม่มีการพัฒนาเรื่องของคน มันไม่ยั่งยืน ดังนั้นจึงต้องพัฒนาคนในชุมชนผ่านกระบวนการความรู้ต่าง ๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่น ๆ ผ่านพื้นที่หรือเวทีประกวดไปด้วย
การประกาศเขตสงวนชีวมณฑลมันเชื่อมโยงกับการจัดการของชุมชนอย่างไร?
“ถ้ามองในภาพของภาคประชาชนและชุมชนรอบดอยหลวง เรารักษาพื้นที่ของป่าชุมชนที่เป็นแนวกันชนหรือพื้นที่ป่าชุมชนที่เป็นแนวชุมชนเรา รอบเขตจะมองเห็นได้เลย เราก็ดูแลมาตลอดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ พอพื้นที่ได้ถูกหยิบยกเป็นเขตสงวนชีวมณฑล มันยิ่งทำให้เราต้องระวังมากขึ้น ตอนนี้พื้นที่ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่งเองเป็นหนึ่งในโครงการ carbon credit ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ ให้ไร่ละ 300 บาทต่อปี เอาเงินนี้มาทำกิจกรรมในป่าเพื่อจะไม่เกิดไฟไหม้ในป่า การจัดการไฟ การลาดตระเวน ปลูกป่า ทำฝายชะลอ รวมถึงพัฒนาอาชีพของคนในหมู่บ้าน และมากกว่านั้นคือการพัฒนาคนในชุมชน”
บทเรียนการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนที่ได้จากสถานการณ์โควิด-19
“เราไม่อยากเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของชุมชน ไม่อยากให้ชาวบ้านได้มาติดกับการยึดอาชีพการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะว่าจากสถานการณ์โควิด-19 เราเห็นบทเรียนจากที่อื่น เมื่อก่อนคนเยอะมาก แต่พอโดนสถานการณ์โควิด-19 ปุ๊ป เป็นเมืองตายและทำอะไรไม่ได้เลย”
“เราเลยอยากให้ชุมชนทำการท่องเที่ยวเป็นแค่อาชีพเสริมและถ่ายทอดผ่านกระบวนการในการยกระดับชุมชน เราอยากจะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนและชุมชนมากกว่า ไม่ได้มองว่ามันเป็นรายได้ที่มันจะต้องมากที่สุด ไม่อยากได้อย่างนั้น เพราะมันจะเปลี่ยนวิถีชุมชน เพราะจริง ๆ แล้วอาชีพหลักของเราก็สามารถหล่อเลี้ยงตนเองได้อยู่ สร้างสุขให้ตนเองได้ พอเราพูดคุยกัน ตอนนี้เป็นสังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มการจะมาเป็นเรื่องของการบริการมันไม่มี มันต้องใช้กำลังของคนวัยกลางคนในชุมชน ซึ่งน้อยมากประมาณ 30% ของชุมชน”
ศิริวรรณทิ้งท้ายว่า “ถ้าชุมชนมีความสุข ยังไงก็ยั่งยืนอยู่แล้ว คือถ้าชุมชนอยากทำ ก็มีความสุข แต่ถ้าไปบังคับให้เขาทำ ก็จะไม่มีความสุข มันก็ไม่ได้ไปต่อ”
บ้านยางปู่โต๊ะ แม้ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลแม่นะ แต่ว่ามีรูปธรรมในการจัดการการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เราจึงอยากให้ชวนมองการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ทำให้เกิดบทเรียนและการไปต่อ
สบพงษ์ แซ่ลี้ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านยางปูโต๊ะ เล่าว่า “เมื่อก่อนคนในชุมชนไม่ได้มีรายได้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะหาของป่า เก็บน้ำผึ้ง ส่วนแม่บ้านก็สานก๋วย พอเดี๋ยวนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ก็เริ่มได้รายได้จากการไปเป็นไกด์นำเดินป่า ป่าที่นี่เป็นป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง แต่ถ้าขึ้นไปอีกจะเป็นป่าสน ทั้งหมู่บ้านมี 80 กว่าคน สัดส่วนอาชีพของคนในชุมชน รายได้ของชุมชนมาจากการทำการเกษตร ช่วงทำนา ก็จะไปเช่านาเขาทำ และก็ไร่ข้าวโพด สวนมะม่วง สวนลำไย หลัก ๆ ท่องเที่ยวคิดเป็น 20% ของรายได้ของชุมชน”
วิสาหกิจชุมชนยางปู่โต๊ะ เกิดจากการแนะนำของกลุ่มอาจารย์ที่เข้ามาช่วยพัฒนาบ่อน้ำร้อนในหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งงบประมาณในการจัดการดูแลบ่อน้ำร้อนต่อได้ จึงเป็นที่มาในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนในปี 2562 ผ่านการพูดคุยกันในหมู่บ้านทั้งเรื่องการตั้งกฎกติกา และตั้งกรรมการร่วมกัน
จุดเด่นของการท่องเที่ยวของชุมชนยางปู่โต๊ะคือ วิถีชีวิตแบบชนเผ่า ธรรมชาติ และวิถีการเลี้ยงควายเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน เมื่อก่อนจะมีชาวนาข้างล่างมาเช่าควายไปไถนา แต่ตอนนี้เขาขายไปหมดแล้ว เราก็เลี้ยงแบบเดิม เลี้ยงเพื่อเป็นออมสิน สะสมเวลาลูกเรียน ไม่มีเงินส่งเรียนก็สามารถขายควายส่งลูกเรียนได้ เพราะว่าคนในชุมชนไม่ได้มีงานทำเป็นหลักแหล่ง เราเลยต้องเลี้ยงควายเพื่อสะสมเงินไว้ จะขายเฉพาะตัวผู้ ที่มันโตมาแล้วเราดูแลมันไม่ไหว มันชนกัน คนที่มาซื้อก็เอาไปเลี้ยงไว้ในรีสอร์ท บ้างก็เอาไปโรงฆ่าสัตว์เพื่อกินเนื้อ แต่ตัวเมียเขาไม่นิยมขายกัน จะเก็บไว้ทำพันธุ์ หรือว่าแบ่งกันให้กับคนที่ไม่มี ตัวหนึ่งประมาณ 20,000-30,000 บาท
กฎกติกาชุมชนมีอะไรบ้างและมีการจัดการการท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง?
“เป็นการประชุมร่วมกับสมาชิกในชุมชน สมาชิกจะให้เข้าออกปีละ 1 ครั้ง สรุปประชุมทุกปี ปันผลให้คนนำทางและแม่บ้าน เดินป่าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามทิ้งขยะ ห้ามนำของป่าออกมา ห้ามเก็บของป่า นักท่องเที่ยว 5 คน ต่อคนนำทาง 1 คน”
“เราจะรับนักท่องเที่ยวประมาณวันละ 50 คนไม่เกิน หากมีมากกว่านั้นเราจะต้องจัดการเรื่องขยะมากขึ้น เมื่อก่อนเราจัดการขยะแบบของใครของมัน และถ้าเป็นขยะที่เผาได้ก็จะเอามาเผาที่เตาเผาของหมู่บ้าน ส่วนขยะที่ย่อยสลายได้ก็ขุดหลุมทิ้ง ส่วนขยะที่รีไซเคิลได้ก็จะมีรถมารับไปเดือนละ 1-2 ครั้ง อย่างขวดพลาสติก ขวดแก้ว และขวดกระป๋อง”
“ตอนนี้เราเปิดเบื้องต้นอยู่ หลัก ๆ ก็จะรู้พื้นฐาน ข้อมูลพื้นฐาน รู้เส้นทาง แต่ก็อยากจัดอบรมคนนำทางของหมู่บ้านให้มีความรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับพันธุ์พืช พันธุ์ไม้ อันไหนควรดูแลรักษา ตอนนี้อยากจะทำ ในสถานีวิจัยก็ได้ ตอนนี้มีไกด์ทั้งหมด 7 คน และอีก 3 คนเป็นไกด์เฉพาะวันที่ไม่ต้องทำงานหลัก รวม ๆ แล้วก็ 10 คน แต่ที่ผ่านมา เป็นความรู้แบบบอกปากต่อปาก เพราะเขาก็มีความรู้ พืชพันธุ์อยู่แล้ว”
มองไปข้างหน้า แผนสร้างความยั่งยืน
“เราอยากจะเอากลุ่มเยาวชนมาเป็นคนนำทาง มาดูแลบ่อ ทำสิ่งของ ของฝาก ผลิตภัณฑ์มาขาย เยาวชนตอนนี้ประมาณสิบกว่าคน กำลังคิดอยู่ว่าหากจะเอากลุ่มเยาวชนมามีส่วนร่วมกับชุมชน เราควรจะเอามาช่วยช่วงไหน ฝึกรูปแบบไหน อยากให้มาฝึกเรื่องการนำเดินป่า และเราต้องหาค่าตอบแทนให้เขาด้วย เยาวชนยังไม่ได้เป็นกลุ่มเป็นก้อน อีกหน่อยผมคิดว่าสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวน่าจะเป็น 50% ต่อรายได้ทั้งหมด เพราะว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวกำลังรู้จักและเราก็ต้องปรับรูปแบบ ปรับอะไรให้รองรับกับนักท่องเที่ยวด้วย”
การประกาศเขตสงวนชีวมณฑล ส่งผลอะไรกับชุมชนบ้างไหม?
“ไม่เปลี่ยนแปลง ผมรู้สึกว่ามันดีด้วยซ้ำ ช่วยสร้างความสำคัญให้กับหลวงเชียงดาวให้มากขึ้นด้วย ส่วนการจัดการเราก็ต้องเตรียมพร้อมกัน”
[2] “ก๋วย” เป็นภาษาเหนือ ที่ใช้เรียกเครื่องจักสานชนิดหนึ่งทำจากไม้ไผ่ ที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับเข่ง ตะกร้า หรือชะลอมที่ใช้บรรจุสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่สืบสานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน
[3] https://www.tcijthai.com/news/2017/20/scoop/7262
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ