อาจกล่าวได้ว่าเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีการเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ เป็นเมืองที่เป็นศูนย์รวมทั้งการท่องเที่ยว การศึกษา และสาธารณสุข การกระจุกตัวและการเพิ่มขึ้นของประชากรทั้งประชากรที่อยู่ในท้องถิ่น ประชากรแฝงที่อพยพเข้ามาทำงาน และนักท่องเที่ยวทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมขยายตัวต่อเนื่อง ในช่วงก่อนโควิด-19 เมืองเชียงใหม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนักทั้งปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเสีย และเสียงดังที่รบกวนชุมชน เป็นต้น
การเกิดขึ้นของ “เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่” ที่มีการรวมกลุ่มชุมชนจำนวน 13 ชุมชน ตั้งแต่ปี 2553 จึงเกิดขึ้นเพื่อร้องเรียนต่อภาครัฐต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชน และต่อมาก็ได้มีการขับเคลื่อนงานในเมืองเชียงใหม่ต่อเนื่อง โดยการใช้ “วัฒนธรรม” เพื่อขับเคลื่อนเมือง แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับชุมชน งานเด่น ๆ ที่การขับเคลื่อน เช่น การปรับเปลี่ยนการปล่อยโคมลอยเมื่อปี 2555 มาเป็นงาน “ต๋ามผางปะตี๊ด” รอบคูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทำให้ลดการปล่อยโคมลอยที่ทำให้เกิดปัญหาขยะ และบางครั้งก็ไหม้บ้านเรือนของชุมชน เป็นต้น
งานยอสวยไหว้สาพระญามังราย หรือ งานไหว้พญามังรายที่จัดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ 12 เมษายนของทุกปีโดยในงานดังกล่าวสามารถทำให้เกิดขยายเครือข่ายชุมชนช่างฟ้อนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมจากคนจำนวนไม่กี่ร้อยคนมาเป็นจำนวน 1,000 กว่าคนในปัจจุบัน นอกจากนี้งานดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนที่ทำผางประทีป และโคมล้านนาไปพร้อม ๆ กันด้วย
วิดีโอชิ้นนี้เป็นการให้ภาพการทำงานของเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ในการใช้วัฒนธรรมเพื่อขับเคลื่อนการทำงานเมืองเชียงใหม่ ซึ่งนอกเหนือจากงานด้านวัฒนธรรมแล้ว เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ยังร่วมกับภาคประชาสังคมอื่น ๆ ในเชียงใหม่ในการทำงานสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น คลองแม่ข่าในชื่อ “เครือข่ายดูแลคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา” ลมหายใจเชียงใหม่ และพื้นที่สาธารณะข่วงหลวงเวียงแก้ว เป็นต้น#envilocaleyes #วัฒนธรรมขับเคลื่อนเมือง #กองทุนสิ่งแวดล้อม #สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ