26 มีนาคม 2566
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สสย. ได้จัดงาน “มัดปุ๊กละอ่อน MIDL Mini Fest” เทศกาลงานเยาวชนพลเมือง รู้เท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองของทุกคน ณ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้เด็กเยาวชนและหน่วยงานในท้องถิ่นที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองของทุกคน โดยใช้กระบวนการรู้เท่าทันสื่อฯ ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงในภูมิภาคภาคเหนือตอนบน ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน ผลที่เกิดขึ้น รวมทั้งได้มาเผยแพร่แนวคิด Inclusive Cities เมืองที่นับรวมทุกคน แก่สาธารณชนด้วย
ผู้เข้าร่วมในกิจกรรมในครั้งนี้ได้แก่ กลุ่มเยาวชนที่เป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ รวมถึงกลุ่มเยาวชนที่เป็นเครือข่าย ได้แก่ Mae Sariang Talk คุยเพื่อปรับ ขยับเพื่อเปลี่ยน เด็กเล่า ผู้ใหญ่เสริม หน่วยงานช่วยเติม เพื่อสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม, Now You See Me แม่ทามีดีกว่าที่เห็น คือเพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับชุมชนแม่ทาในมิติที่หลากหลายและเห็นพลังของชุมชนในการดูแลจัดการกันเอง ในช่วงสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมา และพลเผ่า พลเมือง พลโลก จาก อ.กัลยานิวัฒนา เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตแก่เด็กเยาวชนและคนนอกพื้นที่ มีพื้นที่สร้างสรรค์ ถนนคนเดิน แสดงความสามารถของเด็ก ฝึกตัวเองเป็นสื่อ มากกว่านั้นยังมีเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มาร่วมอีกด้วย
โดยกิจกรรมช่วงเย็น ณ เวทีข่วงโอท็อป ถนนคนเดินสันกำแพง ได้มีกิจกรรมการแสดงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม “เมืองกับดอย” การแสดงกลองสะบัดชัย และการแสดงเตหน่า การแสดงกล่อมลูก และมีการสื่อสารข้อเสนอต่อสาธารณะ ในการเปลี่ยนแปลงเมือง รวมถึงการร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอแนวทางความร่วมมือในการเปลี่ยนเมืองร่วมกัน พร้อมมอบเกียรติบัตรขอบคุณหน่วยงานที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน
ข้อเสนอเรื่อง นิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อเด็กและเยาวชนเท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองของทุกคน
โครงการ “มัดปุ๊กละอ่อน” MIDL Mini Fest เป็นโครงการความร่วมมือภายใต้โครงการพลังพลเมืองเด็กเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองของทุกคน (MIDL for Inclusive Cities 2022) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ในการรวมตัวกันครั้งนี้เป็นกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในเครือข่าย MIDL for Inclusive Cities จาก 4 พื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ โครงการพลเผ่า พลเมือง พลโลก เดียวกัน ในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ โครงการ Mae Sariang Talk คุยเพื่อปรับ ขยับเพื่อเปลี่ยนเมือง (แม่สะเรียง) ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โครงการเปลี่ยนสันกำแพงด้วยพลังเยาวชน ในพื้นที่อำเภอสันกำแพง จ.เชียงใหม่ โครงการ Now You See Me แม่ทา มีดีกว่าที่เห็น ในพื้นที่ตำบลแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ รวมถึงเครือข่ายสถาบันการศึกษาใน จ.เชียงใหม่ ที่ทำ MOU กับสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ได้แก่ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนวัดน้ำบ่อหลวง (ภาวนาภิรัต) อ.สันป่าตอง โรงเรียนอรุโณทัยวิทยาคม อ.เชียงดาว โรงเรียนบ้านทุ่ง อ.ฮอด และโรงเรียนนวมินทราชูทิศ อ.แม่ริม ตลอดถึงผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการโรงเรียน เขตการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน
ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา 1 ปี เด็กเยาวชนได้รับการพัฒนาความเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ด้วยกระบวนการศึกษาข้อมูล การคิดวิเคราะห์วิพากษ์ เพื่อเท่าทันตนเอง เท่าทันสื่อ และเท่าทันสังคม และสามารถพัฒนาข้อเสนอตามความต้องการของเด็กเยาวชนสู่การพัฒนาเมืองที่นับรวมทุกคน โดยแต่ละพื้นที่ได้มีการปฏิบัติการร่วมกับชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานภาคีภาคส่วนต่าง ๆ ในท้องถิ่น ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อส่งเสริมบทบาทให้เด็กเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นเพื่อส่งผลต่อการเติบโตของเยาวชนอันเป็นอนาคตของสังคม และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ อีกทั้งยังเอื้อประโยชน์ต่อท้องถิ่นให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องและเอื้ออำนวยกับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
เพื่อเป็นการสนับสนุนบทบาทของเยาวชนในท้องถิ่นที่เป็นอนาคตของสังคมไทย โครงการจึงรวบรวมเสียงของเยาวชนที่มีต่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ เมืองแม่ฮ่องสอน และเมืองอื่น ๆ ในภาคเหนือตอนบน เพื่อให้เกิด นิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อเด็กเยาวชนเท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองของทุกคน ดังนี้
1. เด็ก เยาวชนควรได้รับการเสริมศักยภาพให้มีสมรรถนะด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล มีทักษะการออกแบบ สามารถร่วมแก้ไขปัญหาและออกแบบเมือง/ชุมชนของทุกคน
1.1 หน่วยงานและสถานศึกษาควรส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้เด็กเยาวชนด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลในโรงเรียนและชุมชน
1.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพเด็กเยาวชนผ่านนิเวศการเรียนรู้ 1 ตำบล 1 พื้นที่เรียนรู้
1.3 โรงเรียนควรสร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่นักเรียน เช่น ประวัติศาสตร์ชุมชน /ชาติพันธุ์/วัฒนธรรมภูมิปัญญา พื้นที่ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.4 โรงเรียนสร้างหลักสูตร และสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่น
1.5 โรงเรียนและหน่วยงานท้องถิ่นควรสืบสานและส่งเสริมการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ เช่น แต่งชุดพื้นเมืองหรือชุดชาติพันธุ์ของเด็กเยาวชน ทุกวันศุกร์ หรืออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
1.6 โรงเรียนและหน่วยงานท้องถิ่นควรมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนสร้างความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายระหว่างชาติพันธุ์ ศาสนาในชุมชน เพื่อการอยู่ร่วมกัน
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา อาทิ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ควรสนับสนุนการเสริมศักยภาพของเด็กและเยาวชนโดยร่วมมือกับท้องถิ่นและชุมชน
2. ชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่นมีพื้นที่ให้เด็กเยาวชนและคนที่หลากหลายได้ร่วมออกแบบและเกิดค่านิยม จิตสำนึกใหม่ในการอยู่ร่วมกันตามแนวคิดเมืองของทุกคน
2.1 บุคคลแวดล้อมเด็ก ได้แก่ ครู อาจารย์ ครอบครัว ผู้นำ และคนในชุมชน ตลอดถึงบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น ต้องตระหนักเรื่องสิทธิความเป็นพลเมืองของเด็กและเยาวชน ยอมรับ และสนับสนุนเด็กเยาวชนให้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมือง
2.2 สถานศึกษาและหน่วยงานในท้องถิ่นสร้างพื้นที่ปฏิบัติการของเด็กในโรงเรียนและชุมชน ให้เด็กมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนและเมืองอย่างต่อเนื่อง
2.3สถานศึกษาและหน่วยงานในท้องถิ่นสร้างพื้นที่สื่อในชุมชน สังคม ที่สะท้อนเสียงของเด็กเยาวชนในการลดอคติ ลดการกีดกันทางสังคม และเสนอเสียงของเด็กในการแก้ปัญหาชุมชนเพิ่มขึ้น เช่น เวทีเสวนา นิทรรศการ เป็นต้น
2.4 สถานศึกษาและหน่วยงานในท้องถิ่นส่งเสริมให้ ครู บุคลากรทางการศึกษา เด็กเยาวชนผลิตสื่อที่แสดงถึงอัตลักษณ์ ตัวตนชาติพันธุ์ เช่น แผนที่ สื่อโฆษณา แผ่นพับ หนังสือเรียนเสริม เพลง เป็นต้น
3. เกิดการพัฒนาเชิงระบบและกลไกที่สนับสนุนพลเมืองเด็กเยาวชนร่วมสร้างเมืองของทุกคน
3.1 สถานศึกษาและหน่วยงานในท้องถิ่น ร่วมกันสนับสนุนให้เด็กเยาวชนจัดตั้งกลุ่ม และสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ เปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ และแก้ไขปัญหาชุมชน
3.2 สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีนโยบายสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กในการพัฒนาเมือง
3.3 สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาแนวคิดและวิธีการในการสร้างกระบวนการส่งเสริมเด็กเยาวชนให้มีความเป็นพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองของทุกคน
หวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านสื่อและความสามารถในการสื่อสารอย่างเท่าเทียมของเด็กเยาวชนกับผู้คนที่หลากหลายในสังคม เพื่อการขับเคลื่อนเมืองของทุกคน
คนหนึ่งคนมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลง และทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากตัวเรา จงเชื่อว่าเด็กและเยาวชนมีศักยภาพ สามารถเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และเป็นอนาคต เปิดใจให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นและรับฟัง ถึงเราจะเป็นเด็ก แต่เราก็สามารถพัฒนา ขับเคลื่อนเมืองของเราได้เหมือนกัน
เครือข่ายพลเมืองเด็กเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองของทุกคน
(MIDL for Inclusive Cities 2022)
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ