28 มิถุนายน 2566
เมื่อวันพุธที่ 28 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 น. ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับครูภูมิปัญญากองดีมีศิลป์ และกลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง ได้จัดโครงการหลักสูตรรักษ์เชียงใหม่สู่การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและหลักสูตรท้องถิ่น กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “ไม้หมายเมือง เรื่องต้องเล่า ฉำฉาบ้านเฮา เมืองเก่าสันกำแพง” และยังมีวงเสวนาเพื่อพูดคุยถึงความสำคัญของของต้นฉำฉากับคนชุมชนสันกำแพง ณ ห้องประชุมเทศบาล ต.สันกำแพง
วงเสวนา ” ไม้หมายเมือง เรื่องต้องเล่า ฉำฉาบ้านเฮา เมืองเก่าสันกำแพง” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ, นันทา เบญจศิลารักษ์, เพชร วิริยะ, อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย และอภิชญา ปริศนานันทกุล ดำเนินรายการโดย ตระการ ทนานทอง ครูโรงเรียนสันกำแพง
ประเด็นในการเสวนาเบื้องต้นคือ คุณค่าความสำคัญต้นฉำฉากับคนชุมชนสันกำแพง ต้นฉำฉา กับเศรษฐกิจสีเขียสันกำแพง และบทบาทความร่วมมือในมิติไหนที่จะพาชุมชนสันกำแพง สู่ภาพฝัน
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ชุมชนโหล่งฮิมคาว กล่าวว่า กล่าวถึงความสำคัญของต้นฉำฉา อาจจะต้องเริ่มจากภาคเหนือตอนบน เดิมเรียกว่าอาณาจักรล้านนา ชื่อหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านมักจะเป็นชื่อตามภูมิศาสตร์ ต้นไม้ สัน หนอง เป็นต้น มองว่ามีต้นฉำฉามีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของสันกำแพง
เพชร วิริยะ กลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง กล่าวถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของต้นฉำฉาสันกำแพง การรณรงค์ในเมื่อปี 2548 มีความขัดแย้งในเรื่องคนที่อยากให้ตัดออกกับคนที่อยากรักษา หลาย ๆ ต้นที่ตายไปเนื่องจากมีคนทำลาย ปัจจุบันที่เหลืออยู่เพียง 200 กว่าต้น มองว่าโจทย์ต่อไปที่เราต้องคิดคือเราจะช่วยกันดูแลรักษาต้นฉำฉาไว้อย่างไร ดีใจที่ได้เห็นเยาวชนในสันกำแพงมองเห็นความสำคัญ
อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย อ.ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อ 15 ปีที่แล้วเราได้ตั้งกลุ่มหนึ่งชื่อว่า Tree Doctor Volunteer อาสาหมอต้นไม้ อาจารย์ญี่ปุ่นที่สนใจเรื่องการดูแลต้นไม้กล่าวว่าเชียงใหม่คือเมือง “วนานคร” คือเมืองที่มีต้นไม้จำนวนมาก อย่างไรก็ดี ต้นไม้มีจำนวนมากก็จริง แต่ต้นไม้มีสภาพป่วย ไม่ได้รับการรักษาดูแล เมื่อก่อนคาดว่าต้นฉำฉาเรามีกว่า 600 ต้น แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 200 กว่าต้น ตอนนี้เราเริ่มสำรวจ เก็บข้อมูลสภาพของต้นฉำฉา เราใช้ GPS ในมือถือเพื่อบอกพิกัดตำแหน่งของต้นไม้ พร้อมกับการติดป้ายชื่อของต้นฉำฉา สิ่งที่ต้องช่วยกันมองคือ เรื่องความปลอดภัยของการสัญจร การดูแลสุขภาพของต้นฉำฉา และความงดงามในเชิงสุนทรียะ ทั้งสามสิ่งนี้ที่เราต้องช่วยกันดูแล และทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาได้
นันทา เบญจศิลารักษ์ มูลนิธิสื่อประชาธรรม กล่าวว่า การที่เรามีต้นทุนในการพื้นที่ตัวเองนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนชุมชน การสื่อสารนั้นในความสำคัญในการขับเคลื่อนควบคู่ไปกับงานข้อมูล ลงพื้นที่ เก็บข้อมูลลงชุมชน และคุยและสื่อสารกับคนที่เห็นแตกต่าง เขาอยากตัดฉำฉาเพราะอะไร ซึ่งเราในบทบาทเยาวชนสามารถทำได้
อภิชญา ปริศนานันทกุล อาสาสมัครร่วมใจช่วยต้นยางนา มีแรงบันดาลใจที่อยากช่วยอนุรักษ์ต้นยางนา การที่เราเป็นเยาวชน เราสามารถเป็นกำลังสำคัญในการทำงานขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ได้ อยากเชิญชวนน้อง ๆ เยาวชนร่วมกันช่วยเหลือพ่อครูแม่ครูในการขับเคลื่อนต่อไป
ชัชวาลย์ ทิ้งท้ายว่า ทุกอย่าง ทุกปัญหามันเชื่อมโยงกัน มันส่งผลต่อกัน จึงเสนอว่าขอให้พวกเราช่วยกันดูซัก 3-4 เรื่องคือ 1. รักษาระบบนิเวศหรือพื้นที่สีเขียว ซึ่งตอนนี้เรามีแค่ 6 ตรม./คน แต่เราต้องเพิ่มให้เป็น 9 ตรม./คน 2. สืบสานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา 3. การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และพื้นที่การเรียนรู้ และ 4. พื้นที่แห่งความสุข ที่เราจะต้องช่วยกันสร้าง
ด้านนันทา มองว่าอยากให้เยาวชนเก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกห้องเรียนให้มากที่สุด จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ด้านบรรจง ชวนเข้าฐานกิจกรรมหมอต้นไม้ ที่อยากให้เยาวชนเข้าไปดู เราปลูกโดยไม่สนใจคุณภาพ อาจจะไม่ได้แล้ว เราต้องช่วยกันดูแลด้วย
มากกว่านั้น ยังมีกิจกรรมฐานกิจกรรมไม่ว่าจะเป็น การแสดงพื้นบ้าน การวาดภาพ การทำหัตถกรรมผ้า การกวักด้าย และการทำ Eco Print
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ