5 มิถุนายน 2566

ทิวทัศน์ขึ้นชื่อ เลื่องลือคนงาม เขตคามโคนม ชื่นชมหัตถกรรม

สำนักงานพัฒนาชุมอำเภอสันกำแพง

ประวัติความเป็นมาของ อ.สันกำแพง

ตามหลักฐานศิลาจารึกที่ค้นพบ ณ วัดเชียงแสน หมู่ที่ 2 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าพี่น้องประชาชนชาวอำเภอสันกำแพง มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ใน “พันนาภูเลา” แขวงเมืองเชียงแสน (ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดเชียงราย) ต่อมาได้มีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มน้ำแม่ออนในเขตท้องที่อำเภอสันกำแพง

ตามหลักฐานในศิลาจารึกปรากฏข้อความว่า “ เมื่อพระเจ้าศิริลัทธมังกรมหาจักรพรรดิราชาราชเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง “หมื่นดาบเรือน“ ในปีวอก สัมฤทธิดิก (เปลิกสัน) จุลศักราช 840 เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ วันพุธ ได้มีจิตศรัทธาเชิญชวนบรรดาทายกและทายิกาทั้งหลาย ร่วมกันก่อสร้างวิหาร พระเจดีย์หอไตรปิฎกเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จได้ขนานนามวัดที่สร้างขึ้นว่า “สาลกิจญาหันตาราม” ซึ่งต่อมาคือ “วัดเชียงแสน” ในเขตท้องที่ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อชุมชนมีความเจริญขึ้นจึงได้ยกฐานะเป็นแขวง เรียกว่า “แขวงแม่ออน” อยู่ในเขตการปกครองของนครเชียงใหม่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2445 ในรัชสมัยของพระเจ้าอินทวโรรสได้เกิดกบฎเงี้ยวขึ้นที่จังหวัดแพร่และได้มีชาวเงี้ยวในเขตแขวงแม่ออน ได้บุกปล้นโรงกลั่นสุราที่บ้านป่าไผ่ ตำบลแช่ช้าง และเผาที่ทำการแขวงแม่ออน ต่อมาในปี พ.ศ.2466 ทางราชการจึงได้ย้ายที่ทำการแขวงแม่ออนมาปลูกสร้างใหม่ที่บ้านสันกำแพงจึงได้ใช้ชื่อว่า “อำเภอสันกำแพง” มาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมา ปี พ.ศ. 2546 ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการพัฒนาอำเภอสันกำแพง มีวัตถุประสงค์เพื่อพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวิถีชีวิตดั้งเดิม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ประกอบกับประชาชนได้เสนอแนวคิดต้องการให้ย้ายที่ว่าการอำเภอสันกำแพงและส่วนราชการต่างๆให้ตั้งเป็น “ศูนย์ราชการอำเภอสันกำแพง” แห่งใหม่สำหรับพื้นที่เดิมสมควรคืนพื้นที่ให้แก่ชุมชนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและจัดกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบ “ข่วงสันกำแพง” สำหรับที่ตั้งศูนย์ราชการอำเภอสันกำแพงแห่งใหม่ คือโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินบริเวณสถานีใบยาแม่ออนในพื้นที่ตำบลทรายมูล ร้องวัวแดง และแช่ช้าง เนื้อที่108 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งขณะนี้ที่ว่าการอำเภอสันกำแพง ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้งบประมาณ  7,787,000 บาท และเริ่มเปิดให้บริการประชาชน ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม  2548  ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้กรุณาให้เกียรติเปิดอาคารที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ เมื่อวันที่ 16 เมษายน  2548 สำหรับส่วนราชการอื่นอยู่ระหว่าง การของบประมาณดำเนินการก่อสร้างและในขณะนี้ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติอำเภอสันกำแพงได้มีหน่วยงานราชการที่ย้ายเข้ามาตั้งอยู่โดยกัน ทั้งหมด 5 ส่วนราชการ คือ 1. สถานีตำรวจภูธรสันกำแพง 2. สำนักงานเกษตรอำเภอสันกำแพง 3. สำนักงานสรรพากรจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสันกำแพง 4. สำนักงานปศุสัตว์อำเภอสันกำแพง และ5. สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสันกำแพง

แบ่งการปกครองออกเป็น 10 ตำบล คือ
ตำบลสันกลาง ตำบลต้นเปา 
ตำบลแม่ปูคา ตำบลห้วยทราย 
ตำบลทรายมูล ตำบลสันกำแพง
ตำบลร้องวัวแดง ตำบลบวกค้าง
ตำบลแช่ช้าง ตำบลออนใต้

Art and Crafts

เมื่อพูดถึงสันกำแพง คนทั่วไปอาจจดจำภาพในอดีต หลายคนอาจนึกถึงร่มบ่อสร้าง งานผ้าทอ งานเซรามิก  และรถทัวร์คันใหญ่ ๆ ที่พานักท่องเที่ยวมาตามแหล่งหัตถกรรมของสันกำแพง แต่ในปัจจุบันภาพสันกำแพงเปลี่ยนไปจากเดิมมากเมื่องาน SME ของสันกำแพงเริ่มซบเซา เนื่องจากตลาดที่เปลี่ยนไป และมีการแข่งขันในตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีน และประเทศในภูมิภาค ภาพในปัจจุบันของสันกำแพงจึงไม่ใช่แบบเดิม ๆ ที่เราเคยเห็นความพยายามและการปรับตัวของชุมชนที่เคยเป็นแหล่งผลิตงานฝีมือชั้นดี ไม่ว่าจะเป็นงานปั้น งานทอผ้า งานแกะสลักไม้  ฯลฯ  ก็ต้องปรับเปลี่ยนอาชีพไปค่อนข้างมาก  เช่น หลายหมู่บ้านเมื่อไม่มีออเดอร์งานที่มาจากต่างประเทศ ได้มีการปรับเปลี่ยนโรงงานทอผ้าเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือบางคนก็ไม่ได้ประกอบอาชีพหัตถกรรมที่ทำงานที่บ้านอีกก็มี 

อย่างไรก็ตามท่ามกลางความซบเซาก็พบว่ามีการฟื้นกลุ่ม และพัฒนาตลาดที่มาจากฐานความเข้มแข็งภายใน เช่น โหล่งฮิมคาว กาดจาวเขิน กองดีมีศิลป์ บ้านจ๊างนัก หนองพญาพรหม และออนใต้ฟาร์ม ซึ่งทั้งหมดอยู่บนฐานของความคิดที่ต้องการสืบต่อจุดเด่นของความเป็นสันกำแพงที่มีฐานจากงานฝีมือ  

Green space and Rain trees

เครือข่ายในสันกำแพงมีแนวคิดในการดูแลรักษาและฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นฉำฉาบนถนนสันกำแพงสายเก่าเพราะมองว่าพื้นที่สีเขียว และต้นฉำฉาบนถนนสันกำแพงจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวให้สนใจสันกำแพงมากขึ้น และยังทำให้คนในสันกำแพงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น โรงเรียนสันกำแพง มูลนิธิสื่อประชาธรรม กลุ่มผู้ประกอบการในสันกำแพงเริ่มพูดถึงเรื่องการดูแลรักษาต้นฉำฉาป่วย ปัจจุบันต้นฉำฉา (จามจุรี) ที่เป็นสัญลักษณ์ของถนนสันกำแพงสายเก่าได้ลดจำนวนลงไปมากจากการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2562 โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ และกลุ่มเชียงใหม่เขียวสวยหอมมีต้นฉำฉาคงเหลือเพียง 200 กว่าต้น และจากการลงพื้นที่สำรวจสุขภาพต้นฉำฉาล่าสุดในช่วงต้นปี 2565 ของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาต้นไม้ (หมอต้นไม้) โดย อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็ให้ความเห็นว่าต้นฉำฉาที่หลงเหลืออยู่มีสุขภาพดีมีไม่ถึง 20 % ส่วนที่เหลือจะต้องมีการฟื้นฟูและรักษาโดยด่วน สภาพต้นไม้ร้อยละ 80 มีสภาพป่วยหนักถึงขั้นวิกฤติ มีโพรงขนาดใหญ่จากการตัดต้นไม้ที่ผิดวิธีเพื่อหลบสายไฟ ระบบรากมีปัญหาเพราะโดนคอนกรีตเททับทำให้ต้นไม้ไม่สามารถหายใจได้ หากไม่ได้รับการดูแล และฟื้นฟูโดยเร็วก็จะเจ็บป่วยและล้มตายในไม่ช้า นอกจากนี้อาจจะเป็นผลกระทบต่อผู้ใช้ถนนในอีกทางหนึ่งด้วยหากไม่มีการดูแล และฟื้นฟูอย่างถูกวิธี

6 โหม้ง โหล่งผญ๋า

ภาคประชาชน ชุมชน ใน อ.สันกำแพง ได้มีการร่วมกันสร้างพื้นที่ท่องเที่ยว หัตถกรรม วัฒนธรรม สร้างสรรค์ ผลักดันเศรษฐกิจในระดับชุมชน ผ่านชื่อ “6 โหม้ง โหล่งผญ๋า” เป็นการนำร่องสร้างพื้นที่ท่องเที่ยวในชุมชน 6 ชุมชน ได้แก่ โหล่งฮิมคาว, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม, กองดีมีศิลป์, กาวจาวเขิน, พิพิธภัณฑ์บ้านจ๊างนัก และกลุ่มหัตถกรรมและอาหารหนองพญาพรหม ซึ่งมีออนใต้ฟาร์มรวมอยู่ด้วย

และทางชุมชนได้มีการพูดคุยว่าจะร่วมกันจัดปฏิทินกิจกรรมการท่องเที่ยวทั้ง 6 โหม้ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจได้เข้าชมด้วย

สามารถดูแผนที่ของ 6 โหม้ง โหล่งผญ๋า ได้ที่นี่

Similar Posts