เขียน: กนกพร จันทร์พลอย
ภาพ: วิศรุต แสนคำ
หลังจากเราได้พูดคุยเรื่องราวประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องต้นฉำฉาในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ในบทความ ประสบการณ์การต่อสู้ต้นฉำฉาสันกำแพง มากกว่าความรักคือระบบการดูแล เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวพื้นที่สีเขียวในสันกำแพง ซึ่งต้นฉำฉาก็ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวของสันกำแพง เราจึงได้เสนอเรื่องเล่านี้เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญเพื่อสานต่อพื้นที่สีเขียวในสันกำแพงต่อมายังปัจจุบันและอนาคต เพื่อนำไปสู่การถกเถียงประเด็นปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมในการสื่อสารนำไปสู่การร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป
บทความนี้จะชวนคนในพื้นที่สันกำแพงในฐานะตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่กำลังสนใจและขับเคลื่อนในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาพูดคุยถึงความสำคัญของพื้นที่สีเขียวและบทบาทของคนรุ่นใหม่ในการจัดการดูแลพื้นที่สีเขียวอย่างภิญโญ วิสัย และวารียา วิริยะ เวียโน
หากพูดถึงสันกำแพง เราจะนึกถึงอะไร?
ภิญโญ วิสัย เคยทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรน้ำมาก่อนในจังหวัดเชียงราย มีความฝันว่าจะสานต่อเจตนารมณ์ตนเองในเรื่องการอนุรักษ์จัดการสายน้ำ และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการ Young Smart Farmer ซึ่งเป็นโครงการที่กรมส่งเสริมการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ริเริ่มโครงการขึ้นมา มีเป้าหมายที่จะพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเกษตรให้รู้จักบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่นสืบต่อรุ่นพ่อรุ่นแม่ได้
ภิญโญเล่าว่า ถ้ามองอำเภอสันกำแพง เราจะเห็นสันเขาที่งดงาม ภูเขาที่สันกำแพงจะมีความเขียวตลอด ไม่มีพื้นที่ป่าแหว่งหรือพื้นที่เกษตรบนดอย เขารู้สึกประหลาดใจที่ว่าภูเขามีต้นไม้ครบเกือบทุกลูกเลย มันสะท้อนว่าพื้นที่นั้นมีความสามารถในการจัดการ ชุมชนหวงแหนดูแลเพื่อให้สิ่งแวดล้อม หากว่าทัศนียภาพเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เขามองว่ามันเป็นจุดขายที่ทำให้อำเภอสันกำแพงนั้นงดงาม หากจะให้ตีความหมายของอำเภอสันกำแพง สันกำแพงคือสันเขาที่เป็นทิวเขาซึ่งเป็นกำแพงเมือง เนื่องจากมันมีหลายจังหวัดที่ต้องข้ามสันเขานี้ไปเช่น ลำพูน ลำปาง และสันกำแพงยังเป็นแหล่งโอโซน ทำให้น่าอยู่ ทำให้ชุมชนมีทรัพยากรที่สำคัญ มีแหล่งน้ำหลายแห่งที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตร
การขยายตัวของเมืองเชื่อมโยงสันกำแพง
ภิญโญกล่าวถึงปัญหาเรื่องชุมชนเมืองเริ่มขยายตัว วิถีเปลี่ยนเนื่องจากที่ดินเปลี่ยนมือ จากที่นา ที่สวนเปลี่ยนเป็นอาคารบ้านเรือน ร้านอาหาร ในช่วงสามปีให้หลังมานี้ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ชัดมาก สิ่งพวกนี้ก็จะมาพร้อมกับการใช้ทรัพยากร เรื่องของขยะ การจัดการน้ำเสีย มีหลายอย่างที่เป็นข้อกังวล รวมถึง mega project ที่เล่าขานกันว่าสนามบินแห่งที่สองของเชียงใหม่ ก็จะใกล้กับชุมชนออนใต้เพียง 7 กม. ทำให้มีคนข้างนอกมากว้านซื้อที่ดิน ด้วยความเป็นชุมชนคนเหนือ บางทีเราไม่ได้คิดวางแผนในเรื่องการจัดการในเรื่องพวกนี้ สิ่งที่เราสังเกตได้คือมันเริ่มมีความขัดแย้งในชุมชน เริ่มมีปัญหาอย่างเรื่องการจัดการมลภาวะ บางทีเรื่องน้ำเสีย มันไม่เหมือนในเมืองที่เขาที่เขามีการจัดการ พอมาในชุมชนมีการปล่อยน้ำเสียลงคลอง ซึ่งผมมองว่ามันยังไม่มีการจัดการ ด้วยเพราะมันอาจจะยังไม่เกิดปัญหาที่ชัดเจนจนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่สีเขียวอย่างเลี่ยงไม่ได้
วารียา วิริยะ เวียโน ลูกสาวของเพชร วิริยะ หรือสล่าเพชร พิพิธภัณฑ์บ้านจ๊างนัก เคยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการคัดค้านการตัดต้นฉำฉาเมื่อปี 2548 และเธอได้กลับมาอยู่ที่บ้านจ๊างนัก มีความฝันที่จะจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนและสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เธอเล่าถึงพื้นที่สีเขียวในสันกำแพงว่ายังมีพื้นที่สีเขียวพอสมควร แต่ที่เราเห็นชัดเจนคือปัญหาเรื่องต้นไม้ใหญ่สองข้างทางถนนสันกำแพง ด้วยปัจจัยที่เป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก็มีการตัดต้นไม้ใหญ่ คนที่ตัดก็ไม่ได้คิดอะไร คิดเพียงแค่ว่าไม่อยากมากังวลในเรื่องปัญหาต้นไม้ใหญ่ล้มทับ ไม่ได้มีใครมาบอกว่าเราต้องทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกับต้นไม้ใหญ่ได้ แต่ว่าในส่วนของในชุมชนก็ยังพอมี อย่างในหมู่บ้านจะมีต้นมะขามที่อายุกว่าร้อยปี ชาวบ้านก็ขอว่าอย่าไปตัดเนื่องจากมันขึ้นอยู่บนพื้นที่ส่วนบุคคล อย่างในหมู่บ้านบวกค้าง มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่พยายามทำงานในเรื่องนี้บ้าง แต่ไม่ได้เห็นชัดเจนเป็นกลุ่มเป็นก้อน
มองปัญหาเรื่องนี้อย่างไร?
แนวทางในการรักษาพื้นที่ ผมทำเรื่องการท่องเที่ยวในชุมชน เป็นเหมือนกุศโลบายอย่างหนึ่งให้เราช่วยกันรักษาทรัพยากรไว้ เป็นเครื่องมือในการนำมาใช้ในการจัดการทรัพยากรและพื้นที่สีเขียว มีหลายครัวเรือน ผู้ประกอบการมีการจัดการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ทำให้เกิดกระแสการรักษาพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานรัฐ หรือผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่เห็นก็อยากจะเข้ามาช่วยเหลือแล้ว อยากจะปลูกดอกไม้ข้างทาง เป็นต้น
ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการรักษาพื้นที่สีเขียวคืออะไร?
ภิญโญเล่าว่าถ้ามองถึงวิถีชีวิตของคนออนใต้แล้ว เขารักษาพื้นที่สีเขียวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะว่าเมื่อก่อนมีการปลูกยาสูบ เขาตัดต้นไม้มาทำเชื้อเพลิง แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว เขาก็มีการรักษาต้นไม้ รักษาพื้นที่สีเขียว ผมคิดว่ามันต้องมีหน่วยงานรัฐในพื้นที่ที่รับผิดชอบ น่าจะมี master plan หรือแผนแม่บทนเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมไว้ หากว่าเขาไม่ทำไว้ มาทำตอนที่เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นแล้ว มันจะจัดการไม่ได้ ด้วยเงื่อนไขที่ว่า คนอพยพมา คนย้ายถิ่นฐาน รวมถึงกับวารียาที่มองว่าองค์ความรู้ในการดูแลรักษาต้นไม้นั้นยังเป็นข้อจำกัด เนื่องจากพอต้นไม่ใหญ่มันใหญ่มาก ๆ ก็มีปัญหาเรื่องการจัดการดูแล คนจะกลัวต้นไม้ล้มทับ มองว่าไม่ปลอดภัย เช่น บางทีมันขึ้นในที่ส่วนบุคคลแต่มันอาจจะส่งผลกระทบกับพื้นที่ข้าง ๆ
ภิญโญเล่าต่ออีกว่าปัญหาเรื่องขยะเป็นเรื่องเป็นวิกฤติ เป็นปกติอยู่แล้วที่เกิดวิกฤติแล้วหน่วยงานรัฐค่อยทำอะไรบางอย่าง ทุกหน่วยงานรัฐเลยหากมีคนร้องเรียน เขาพูดแกมตลกว่า “หากเราจะไปร้องเรียนว่าต้นไม้ต้นนี้นะ มันสวยแต่ถูกตัดไป ไม่เกิด effect ใด ๆ เลยนะครับ (ยิ้ม)” อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นเพียงกลุ่มคนส่วนน้อยที่หวงแหนต้นไม้ รักษาไว้ บางบ้านมีต้นไม้เก่าแก่ รักษาของที่มันมีอยู่และช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวไว้ เพื่อชดเชยกับพื้นที่สีเขียวที่ถูกทำลายไป บางทีพื้นที่ที่ถูกทำลายไป เราไม่สามารถจัดการได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล แต่ในกรณีที่เป็นพื้นที่สาธารณะก็ช่วยเหลือกันไป
ทางออกของเรื่องนี้คืออะไร?
“จริง ๆ มันมีหน่วยงานของเทศบาล แต่งานก็ค่อนข้างเยอะ อย่างเรามีปัญหาในเรื่องต้นไม้ กิ่งต้นไม้มันแห้ง ก็ยื่นเรื่องไปที่เทศบาลเพื่อให้มาจัดการ บางทีก็ตัดไปหมดเลย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีภารกิจในเรื่องอื่น ๆ ด้วย ไม่มีเวลา รวมถึงไม่มีคนที่มีองค์ความรู้ในการจัดการด้วย ชาวบ้านก็ต้องมีแรงจูงใจ บางคนก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม อย่างเวลาให้เขามาทำกิจกรรมก็ควรจะมีเป้าหมายหรือผลที่จะได้รับทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม เพราะไม่เช่นนั้นเขาก็ไม่อยากจะมา”
วารียากล่าว
วารียายังเล่าให้เราฟังประสบการณ์ที่เธอไปอยู่ประเทศอเมริกาในตอนนั้น อย่างสวนสาธารณะของเมืองจะมีค่อนข้างกว้าง มีการแบ่งโซนว่าให้แต่ละครัวเรือนเข้าไปดูแลจัดการ และการแข่งขันกันว่าสวนใครสวยกว่ากัน พื้นที่นั้นก็จะให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปได้ เขามีส่วนกลาง รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ให้ อย่างเช่นตรงนี้เป็นแปลงดอกทิวลิป ก็จะมีกิจกรรมให้แต่ละครัวทำร่วมกัน “เขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องต้นไม้ พื้นที่สีเขียว หากบ้านเราทำแบบนั้นได้จะดีมากเลย ปัญหาคือเราไม่มีพื้นที่สาธารณะแบบนั้น หากว่ามีคนคอยกระตุ้น คอยชี้นำคนในท้องถิ่นได้ก็ดี”
ตัวอย่างที่วารียาพูดถึง ชวนให้เรานึกถึงการออกแบบพื้นที่สาธารณะโดยชุมชนและเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ที่จะช่วยรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นแนวคิดที่ว่าการสร้างพื้นที่เพื่อคนทุกคน (inclusive space) นั้นควรเกิดจากการร่วมมือ (participatory) ของสมาชิกในชุมชน โดยรูปแบบที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างและจัดการพื้นที่สาธารณะนั้นอาจนำมาจากการเรียนรู้เรื่องพื้นที่สาธารณะของสังคมในอดีต (การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม (ตอนที่ 3): พื้นที่(เสมือน)สาธารณะและการแก้ปัญหาโดยชุมชน, 2018)
ส่วนทางออกของภิญโญนั้นให้ความสำคัญกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่นควรช่วยกันผลักดันคนในชุมชน สร้างแผนแม่บทในการจัดการพื้นที่สีเขียว สิ่งแวดล้อมทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงเรื่องแม่น้ำ การมองให้เป็นองค์รวม และต้องสร้างจิตสำนึก รวมถึงมีกิจกรรมที่สร้างจิตสำนึก เพราะบางทีหน่วยงานรัฐท้องถิ่นก็ทำตาม ๆ กัน อย่างปีก่อนมีแผนอย่างไรก็ลอกทำตามนั้น เนื่องด้วยพอมีแผนการทำงานใหม่ ๆ คนที่คิดก็ต้องลงมือทำด้วย ต้องไปรับผิดชอบ ออกแรงด้วย อันนี้คือเป็นปัญหา เลยมองว่างั้นไม่ต้องคิดอะไรใหม่ดีกว่า ทำไปตามแผนเดิม
บทบาทคนรุ่นใหม่ต่อการจัดการดูแลพื้นที่สีเขียว
ภิญโญมองเห็นว่ามีกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มกลับเข้ามาทำเกษตร จากการที่เขาเป็นสมาชิกของ Young Smart Farmer พอไปเจอเครือข่ายที่มันกระจายไปทั่วประเทศ อย่างในอำเภอสันกำแพงรวมถึงอำเภอแม่ออน มีการพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้มันจับต้องได้ การทำเกษตรอย่างประณีตหรือการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อช่วยฟื้นคืนพื้นที่สีเขียวขึ้นมา จากพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นพื้นที่เกษตรผสมผสาน รูปแบบการทำเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาโมเดล จัดการพื้นที่ land scape อันนี้เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วงโควิดชัดเจนมากที่คนรุ่นใหม่กลับมาทำเกษตรในพื้นที่ของตนเอง เป็นโอกาสที่ว่าเราจะนำเอาองค์ความรู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือพื้นที่สีเขียวไปสนับสนุนเพื่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืน มีการช่วยเหลือกันเรื่องการทำการตลาด มีการอบรมกันอย่างสม่ำเสมอ หากเขาวางแผนล่วงหน้า มีการปลูกต้นไม้รอ เผื่อออกงานมาจะได้เริ่มเก็บผลผลิตเลย หากว่าไปตามกระแสของสังคมมันก็ไม่ได้
การกลับบ้านของคนรุ่นใหม่คือเขาเห็นว่ามันเกิดกระบวนการค้นหาตนเอง โดยมีสมการคือ วิกฤติเศรษฐกิจ + โมเดลชีวิต =โมเดลธุรกิจ
ในชุมชนก็มีคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่มเยาวชนของสภาเด็กและเยาวชนซึ่งมีกิจกรรมเดินเก็บขยะในทุกวันอาทิตย์ เป็นกิจกรรมที่ช่วยปลูกจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนวารียามองว่า จริง ๆ แล้วมันต้องเริ่มที่ผู้ปกครองควรจะปลูกฝังตั้งแต่เด็ก หากว่าเด็กที่โตไปเป็นวัยรุ่นก็จะมีความคิดเป็นของตัวเอง หากจะเป็นคนวัยกลางคนแล้วก็มองว่าการดูแลพื้นที่สีเขียวไม่ได้มีความสำคัญ เรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจสำคัญกว่า ส่วนหน่วยงานรัฐ หากเข้ามาทำในเรื่องนี้จริงจังก็น่าจะดี เนื่องจากมีทั้งงบประมาณ อำนาจหน้าที่ในการจัดการ แต่คนท้องถิ่นก็ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลด้วย
การสื่อสารจะไปช่วยสนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง?
ภิญโญให้ความสำคัญกับตัวเนื้อหาของการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ การสื่อสารยุคใหม่ เนื้อหาที่อยากจะสื่อนั้นควรจะเผยแพร่ไปใน Line กลุ่ม การสื่อสารมันง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน ชุมชนรับสื่อจาก Line เป็นหลัก
วารียามองว่า สื่อมีผล 100% อย่างที่เราคุยกันทั้งหมดนี้มันก็เป็นเรื่องการสื่อสาร ว่าเราจะคุยกับคนในชุมชนยังไง จะคุยกับหน่วยงานรัฐอย่างไร รูปแบบการสื่อสารคือต้องเข้าถึงคนให้มากขึ้น ต้องสร้างความเข้าใจว่าการเก็บรักษาต้นไม้ไม่ได้ยาก การสื่อสารข้อมูล องค์ความรู้ในการจัดการพื้นที่สีเขียวที่ส่งต่อกันได้ แต่เดี๋ยวมันน่าจะง่ายขึ้น มีพื้นที่ออนไลน์ในการสื่อสาร อย่างเช่น Line ส่วนตัวเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ของตนเองไปก่อน
สุดท้ายแล้วเรามองว่าการจัดการไม่ควรผูกขาดเพียงภาครัฐเท่านั้น การบริหารจัดการ รวมถึงการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมนั้นจะช่วยทำให้ปัญหาพื้นที่สีเขียวหรือปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ชุมชนได้รับการแก้ไขและสร้างความยั่งยืนได้
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ