เรื่อง กนกพร จันทร์พลอย

ภาพ วิศรุต แสนคำ

ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำหรือชาวนาเดินทางขึ้นมาตรวจสอบท่อน้ำของชาวสวนส้มที่อยุ่บริเวณต้นน้ำของหนึ่งในแม่น้ำ 2 สายหลักที่ใช้กันในตำบลแม่สาว เนื่องจากมีการตกลงให้ผลัดเวรแบ่งน้ำกันระหว่างสวนส้มและชาวนา / วิศรุต แสนคำ

“ร้อน แล้ง” สองคำนี้ถูกใช้อธิบายถึงปัญหาจากชาวนาและชาวสวนตำบลแม่สาวต้องเผชิญในช่วงเวลานี้ สอดคล้องกับคำอธิบายของผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศหลายคนที่บอกว่าผลกระทบเอลนีโญในปีนี้ร้อนและแล้งกว่าครั้งก่อน ๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นปีที่ “เลวร้ายที่สุด”

สมศักดิ์  เขื่อนแก้ว ชาวนาและเลขานุการของกลุ่มผู้ใช้น้ำแม่สาวเล่ากับประชาธรรมถึงสถานการณ์ความแล้งในปีนี้ ว่าน้ำที่ไหลมาถึงพื้นที่นานั้นลดลงอย่างมาก และเขายังบอกว่าในปีนี้มี “ท่อผี” หรือท่อส่งน้ำกว่า 17 ท่อที่ไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มมากขึ้นในบริเวณต้นน้ำและไม่มีการออกมาแจ้งกล่าวว่าเป็นของสวนไหน

“ในพื้นที่ตำบลแม่สาวนี้จะมีแม่น้ำห้วยแม่ฮ่างและแม่สาว ชาวบ้านจะใช้น้ำจากสองสายนี้ แต่พอถึงหน้าแล้งจะเดือดร้อนเสมอ เพราะสวนส้มน้ำไม่พอ ทำให้มีการลักน้ำเกิดขึ้น” สมศักดิ์เล่าถึงสิ่งที่เห็นชัดเจนในช่วงน้ำแล้งของทุก ๆ ปี จะเกิดการแย่งน้ำผ่านการนำหินมาขัดขวางทางน้ำเพื่อให้น้ำไหลไปยังบ่อของสวนส้ม หรือที่ชาวนาเรียกว่าการ “ลักน้ำ” ผิดไปจากข้อตกลงระหว่างชาวนา – สวนส้มที่ได้มีข้อตกลงกันไว้ที่ขนาดท่อ 2 นิ้วต่อ 1 สวนและสัดส่วนการแบ่งน้ำที่ชาวนา 70% และชาวสวนส้ม 30%

สมศักดิ์ เขื่อนแก้ว ชาวนาและเลขานุการกลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลแม่สาว  หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการกระจายการใช้น้ำในตำบล / วิศรุต แสนคำ

“บ่าไพ คิงไปดูแล่ ตี้ฝาย ไขบ่าฮู้เอากระสอบออก น้ำบ่าไหลมานาคิงซักเตื้อ” (ไอ้ไพช่วยไปดูที่ฝายที ใครไม่รู้เอากระสอบออก น้ำไม่ไหลมาที่นาเอ็งซักที) สมศักดิ์ตะโกนบอกเพื่อนชาวนาให้ไปจัดการกับกระสอบทรายที่กั้นน้ำในจุดแบ่งน้ำในหน้าแล้งเพื่อจัดสรรน้ำให้พื้นที่นาตามที่ได้ตกลงกันไว้ 

สมศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่านี่คือวิธีการสำหรับการแบ่งน้ำของหน้าแล้งปีนี้ที่ทางกลุ่มได้จัดทีมเวรยามเปิด-ปิดฝายระบายน้ำเพื่อแบ่งน้ำไปยังพื้นที่นาของสมาชิกในกลุ่มกว่า 170 คนครอบคลุมพื้นที่กว่า 6492 ไร่ในตำบลแม่สาว จากข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินในปี 2567 พบว่านอกเหนือไปจากนาข้าวแล้ว ส้มเขียวหวานก็เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่กว่า 7916 ไร่ ตัวเลขนี้สอดคล้องกับคำอธิบายของสมชาย สุวรรณ์ นายกอบต.แม่สาวที่บอกกับประชาธรรมว่าทั้งส้มและข้าวมีอยู่ในพื้นที่ “ใกล้เคียงกัน”

ความใกล้เคียงกันของจำนวนพื้นที่ของพืชเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเภทที่แม้จะเป็นสัดส่วนที่ต่างกันแต่กลับใช้น้ำจากแหล่งเดียวกันทำให้กลายเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาแย่งชิงน้ำที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 23 ปี

ยุคตื่นส้ม – การเข้ามาของส้มในแม่สาว

สภาพนาข้าวบางส่วนที่เริ่มแห้งหลังจากไม่ได้รับน้ำมาหลายวัน / วิศรุต แสนคำ

“เมื่อก่อนคนแห่ปลูกส้มกันเยอะ มันรายได้ดี แต่ก็ต้องมีเงินถุงเงินถัง เพราะค่ายามันแพง น้ำก็ต้องถึง” ผู้ประกอบการสวนส้มเล่าให้ประชาธรรมถึงกระแสการปลูกส้มในแม่สาวช่วงนั้นที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับเทียมตา ชาวนาหญิง อดีตเธอเคยเป็นคนปลูกส้มในสวนส้มขนาดใหญ่ ที่บอกว่า “ตอนนั้นมีนายทุนเข้ามาปลูกส้มกันมาก ส้มก็ใช้น้ำมากและใช้สารเคมีมากเหมือนกัน” สอดคล้องกับข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อปี 2548 ที่บอกว่าการปลูกส้มเขียวหวานในพื้นที่แม่สาวเกิดขึ้นเกือบ 30 ปีที่แล้วโดยการปลูกส้มนั้นเข้ามาแทนการปลูกลิ้นจี้เพราะลิ้นจี้ไม่ให้ผลผลิตเหมือนเดิมเนื่องจากอุณหภูมิของอากาศที่ไม่คงที่ และเป็นช่วงที่ราคาส้มเขียวหวานกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น คนในแม่สาวจึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาปลูกส้มเขียวหวานแทนและยังมีการเข้ามาของนักลงทุนเพื่อทำสวนส้มเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี รายงานการศึกษาฯ ยังบอกอีกว่า ผู้ประกอบการสวนส้มขนาดใหญ่หลายรายเข้าไปปลูกส้มในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ฮ่าง พบว่ามีการนำท่อพีวีซีหลายขนาดเข้าไปดูดน้ำจากลำห้วยที่อยู่ต้นน้ำเหนือหมู่บ้านเข้าไปใช้ในสวนส้มของตนเอง คล้ายกับข้อมูลในแผนที่สวนส้มที่มีการปลูกรุกไปบริเวณพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกเช่นกัน

2 สายน้ำในแม่สาว

น้ำที่ใช้ในตำบลแม่สาวหลัก ๆ มีอยู่ 2 สายคือ น้ำแม่สาว กับน้ำแม่ฮ่าง เป็นแม่น้ำที่คนแม่สาวใช้ทำการเกษตร ทั้งทำนา และทำสวนส้ม ที่มีแนวโน้มไม่เพียงพอเมื่อเกิดการขยายตัวของสวนส้ม เพราะที่ปลูกส้มที่ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มักเป็นการลงทุนจากนักธุรกิจมากกว่าจะเป็นเกษตรกรในแม่สาว ชาวนามองว่าเป็นการทำเกษตรที่แตกต่างไปจากจารีต วัฒนธรรมการใช้ที่ดินและน้ำที่เคยปฏิบัติร่วมกันในอดีต ทำให้การปลูกส้มในพื้นที่กลายเป็นประเด็นโต้แย้งและมีการร้องเรียนของชาวนามาอย่างต่อเนื่อง

สุรชาติ มาลาศรี ผอ.สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน บอกว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำแม่สาวช่วงฤดูปกตินั้นยังเพียงพอในการใช้ประโยชน์ของพื้นที่กว่า 15,000 ไร่ได้ แต่ในฤดูแล้งนั้นไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ เพราะน้ำไม่สามารถกักเก็บไว้ในพื้นที่เพื่อใช้ในช่วงแล้ง และขณะนี้ แม้ในรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศก็บอกว่าเอลนีโญกำลังแรงจะอ่อนลงเป็นกำลังปานกลาง และอ่อนลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2567 แต่ก็พบว่าในพื้นที่เริ่มเผชิญกับปัญหาน้ำแล้งอย่างหนักและยาวนานขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ท่อพีวีซีจำนวนหลายสิบท่อถูกติดตั้งไว้บนต้นน้ำแม่ฮ่างเพื่อแบ่งและลำเลียงน้ำไปยังสวนส้ม (ซ้าย) ท่อพีวีซีจำนวนหลายสิบท่อถูกติดตั้งไว้บนต้นน้ำแม่ฮ่างเพื่อแบ่งและลำเลียงน้ำไปยังสวนส้ม (ขวา) / วิศรุต แสนคำ

“ชาวนาบางคนเช่านาทำ จะขุดบ่อเพื่อเก็บน้ำก็ไม่ได้” เทียมตาเล่าถึงความท้าทายของชาวนาหลายคนที่ต้องเช่านาเพื่อทำนา ไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง จึงไม่สามารถขุดบ่อน้ำได้ ทำให้ต้องหวังพึ่งน้ำในทุก ๆ ช่วงแล้งของปี 

หากเปรียบเทียบการใช้น้ำของสวนส้มกับนาข้าวต่อไร่จะมีปริมาณใกล้เคียงกัน อย่างสวนส้มต้องการน้ำประมาณไร่ละ 1.4 ล้านลิตรต่อปี ในขณะที่นาข้าวต้องการน้ำไร่ละประมาณ 1.2 ล้านลิตรต่อไร่ต่อฤดู น้ำไหลจากที่สูงมายังที่ราบ การที่สวนส้มส้วนใหญ่อยู่ในบริเวณต้นน้ำ พื้นที่ที่สูงกว่า หรือใกล้แหล่งน้ำมากกว่า จึงสามารถดึงน้ำไปใช้ในสวนส้มได้สะดวกกว่า ทำให้เมื่อเกิดแล้งน้ำ น้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำไปไม่ถึงพื้นที่นา ปัญหาเรื่องน้ำจึงกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ของชาวนาและสวนส้ม

20 ปีกับ 6 ทางออก (ชั่วคราว) ของปัญหาน้ำขาดแคลน

จากข้อมูลของรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เมื่อปี 2544 บอกว่ามีผู้ประกอบการสวนส้มขนาดใหญ่หลายรายเข้าไปปลูกส้มในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ฮ่าง โดยนำท่อพีวีซีหลายขนาดเข้าไปดูดน้ำจากลำห้วยที่อยู่ต้นน้ำเหนือหมู่บ้านเข้าไปใช้ในสวนส้มของตนเอง จนทำให้ชาวนาที่ปลายน้ำประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะหน้าแล้ง และพยายามหาทางออกร่วมกันครั้งแล้วครั้งเล่า 

ลำดับเหตุการณ์ความขัดแย้งเรื่องน้ำระหว่างชาวนาชาวสวนส้มในพื้นที่ ต.แม่สาวตั้งแต่ปี 2544 – ปัจจุบัน

ทางออกที่หลายฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในแม่สาว ทั้งการเปิดพื้นที่พูดคุยเจรจากัน การร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามามีส่วนร่วม และการสร้างข้อตกลงร่วมกัน มากกว่านั้นอย่างการหันหน้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

ทางออกที่ 1 1 ท่อขนาดสองนิ้ว ต่อ 1 สวน

จากการพูดคุยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยได้เชิญตัวแทนอำเภอแม่อาย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า เชียงใหม่ที่ 3, อบต.แม่สาว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนชาวนา และผู้ประกอบการสวนส้ม โดยมีข้อสรุปว่าทางผู้ประกอบการสวนส้มต้องมีการลดขนาดของท่อต่อน้ำเหลือ 2 นิ้ว และลดจำนวน 1 สวนต่อ 1 ท่อเท่านั้น

ทางออกที่ 2 – ตั้งคณะกรรมการติดตามให้สวนส้มรื้อท่อ

การแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น จึงมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2547 โดยตัวแทนชาวนากว่า 14 หมู่บ้านในเขตตำบลแม่สาวกว่า 500 คนยื่นคำขาดให้ผู้ประกอบการสวนส้มรื้อท่อใช้น้ำทั้งหมด โดยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามผลการดำเนินงานร่วมกับกำนันและผู้ใหญ่บ้านทั้ง 14 คนด้วย

ทางออกที่ 3 ฝายน้ำล้นเพื่อเก็บน้ำ

เมื่อมีการไม่อนุญาตให้กลุ่มนายทุนสวนส้มเข้าใช้น้ำ ส่งผลให้เกิดการบุกเบิกพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ฝางเพื่อสร้างโครงการฝายกักน้ำขึ้นโดยมีการเสนอโครงการเข้าไปในระดับอำเภอ จังหวัด และกรม โดยที่ชาวบ้านกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่ทราบมาก่อน เริ่มต้นจาก นายธีรพล คำจันทร์ กำนันตำบลแม่สาว ได้ทำหนังสือถึง นายอดิศร กำเหนิดศิริ นายอำเภอแม่อาย เพื่อขออนุญาตใช้น้ำและทำฝายน้ำล้น ด้วยเหตุผลจากกลุ่มราษฎรผู้ใช้น้ำในเขตพื้นที่ ต.แม่สาว ได้รับความรับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำทราบปัญหานี้ดี จึงได้มีการปรึกษาหารือกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงขออนุญาตทำฝายน้ำล้นเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการต่อท่อขนาด กว้าง 30 ซ.ม. โดยทำการสร้างในพื้นที่ของนายประมวล เมฆอินทร์ ซึ่งทำกินอยู่ในปัจจุบันและมีใบตอบรับจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่ จำนวน 2 ไร่

ทางออกที่ 4 อุทยานสั่งรื้อถอนท่อ

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2548 ชาวบ้านกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยแม่ฮ่าง ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้เข้าร้องเรียนต่อนางสุนี ไชยรส ประธานอนุกรรมการสิทธิที่ดินทำกินและป่าไม้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถึงผลกระทบจากการแย่งชิงน้ำขอสวนส้มที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากมีการบุกเบิกป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เพื่อสร้างฝายกั้นน้ำโดยไม่มีการแจ้งให้กับชาวบ้านในพื้นที่ทราบ ในระหว่างการร้องเรียนก็มีข้อพิพาทย่อยเกิดขึ้น มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวโยงกันมาตลอด เช่น กลุ่มผู้ประกอบการสวนส้มแจ้งดำเนินคดีชาวบ้านที่ไปรื้อถอนท่อน้ำในลำห้วย หัวหน้าอุทยานฯ แจ้งดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับชาวบ้าน รวมทั้งประเด็นสำคัญคือคำสั่งทางปกครองของอุทยานแห่งชาติที่ให้ผู้ประกอบการสวนส้มรื้อถอนท่อน้ำในลำห้วย แต่ผู้ประกอบการได้ร้องต่อศาลให้ทุเลาคำสั่งทางปกครองดังกล่าว

ทางออกที่ 5 แบ่งน้ำหน้าฝาย ชาวนา 70% สวนส้ม 30%

ชาวนารวมตัวกันประท้วง หน้าที่ว่าการอ.แม่อาย และแจ้งความดำเนินคดีหัวหน้าอุทยานดอยผ้าห่มปกว่าละเลย/ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และชาวนาบางส่วนไปทำลายท่อพีวีซีของสวนส้ม ต่อมาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกลงบันทึกประจำวัน แจ้งความดำเนินคดีสวนส้ม 117 รายที่วางท่อเปลี่ยนแปลงทางน้ำและทำให้น้ำเหือดแห้ง ต่อมาอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกแจ้งความดำเนินคดีชาวนา ข้อหาหมิ่นประมาท-ทำให้เสียชื่อเสียง และสวนส้มดำเนินคดีชาวนาที่ทำลายท่อ ข้อหาทำให้ทรัพย์สินเสียหาย และอุทยานฟ้องสวนส้ม ให้รื้อถอนท่อออกจากในพื้นที่อุทยานดอยผ้าห่มปก ต่อมา ฝ่ายปกครองจะสร้างฝายชั่วคราวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อแบ่งปันน้ำให้กับชาวสวนส้มและชาวนาทำข้อตกลงร่วมกันจัดสรรน้ำหน้าฝายให้ชาวนา 70% และให้สวนส้ม 30% ในพื้นที่ห้วยแม่ฮ่าง แต่ภายหลังเกิดปัญหาการลักลอบปิดกั้นน้ำไม่ให้ไหลไปยังพื้นที่นา

ทางออกที่ 6 คำสั่งศาลปกครองให้รื้อถอนท่อ

ในเดือนธันวาคม ปี 2564 ศาลปกครองพิพากษาว่า คำสั่งทางปกครองดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกร้องต้องปฏิบัติตาม และอุทยานฯ สามารถดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวโดยชอบ แต่กลุ่มสวนส้มได้พยายามอุทธรณ์หาแนวทางที่จะไม่รื้อถอนท่อส่งน้ำ เพราะจะกระทบกับสวนส้มอย่างหนัก ทำให้การแก้ไขปัญหายืดเยื้อมาตลอด และเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2565 อุทยานแห่งชาติฯ ได้ทำหนังสืออ้างถึงคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว ให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสวนส้มทำการรื้อถอนท่อภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะเข้าดำเนินการและสวนส้มต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่าได้มีการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ทำให้ยังไม่เกิดการบังคับคดี

หลายทางออกที่ต้องแก้นั้นยังไม่ไปถึง หลายครั้งต้องพยายามหาทางออกชั่วคราว เพื่อหวังแก้วิกฤติแต่ปีต่อปี เมื่อร้อนจัดครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม น้ำเริ่มลด ต้นข้าวเริ่มเปลี่ยนสี และใบส้มเริ่มหอบ ภาพที่เห็นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าเรื่องการแย่งชิงน้ำที่นับวันจะรุนแรงขึ้น

กลุ่มชาวนาร่วมกันรื้อกระสอบและไม้ที่กีดขวางลำน้ำออก ตามข้อตกลงล่าสุดเรื่องการแบ่งน้ำ / วิศรุต แสนคำ

ร้อน- แล้ง – เอลนีโญ ผลกระทบชาวนาและชาวสวนส้มในปีนี้

รถไถถูกนำมาใช้เพื่อสูบน้ำขึ้นจากบ่อบาดาล ถือเป็นหนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการทำนาปลังในพื้นที่อำเภอแม่อาย / วิศรุต แสนคำ

การปลูกส้มและทำนาจะมีการใช้น้ำที่แตกต่างกัน อย่างการทำนาปรังที่ถือว่าเป็นการปลูกข้าวนอกฤดูกาล มีช่วงการให้น้ำ 86-90 วันหรือประมาณ 3 เดือนจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จำเป็นต้องมีน้ำจนกว่าข้าวจะตั้งท้อง มองได้จากบริเวณโคนต้นของข้าวจะอ้วนพองขึ้น แม้กรมชลประทานจะขอความร่วมมือให้ชาวนางดทำนาปรัง โดยขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดเนื่องจากมีปริมาณน้ำจำกัด แต่ชาวนาหลายคนเลือกที่ลองเสี่ยงทำ เนื่องจากหลายคนไร้อาชีพอื่นรองรับ ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรหากไม่ใช่การทำนาที่ทำมาเกือบทั้งชีวิต ประกอบกับข้าวนาปรังนั้นได้ผลตอบแทนมากกว่าข้าวนาปี ชาวนาบางคนจำเป็นต้องปรับตัว แก้วิกฤติน้ำด้วยการสูบน้ำบาดาล โดยใช้ปั๊มน้ำปั่นไฟดูดน้ำจากบาดาลขึ้นมายังพื้นที่นา และเริ่มมีการแบ่งเวร ผลัดกันใช้น้ำระหว่างสายเหนือและสายใต้

“แปลกดีนะ ข้าวนาปรังนี่มันได้เงินดี น้ำหนักมันมากกว่านาปี เพราะมันเป็นข้าวไวแสง ไวแดด แต่เป็นห่วงน้ำ กลัวมันมาไม่ถึง” อำไพ ราชมา หนึ่งในชาวนาแม่สาวเล่าประโยชน์ของข้าวนาปรัง

การห้ามไม่ให้ทำข้าวนาปรังของรัฐ สมศักดิ์มองว่าเป็นกุศโลบายของรัฐเพื่อไม่ให้ชาวนาทำนาปรัง ในขณะที่ส้มกลับปลูกนอกฤดูกาล “เขาทำนามาทั้งชีวิตตั้งแต่รุ่นทวด รุ่นปู่ สู่รุ่นหลาน ทำมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่เคยต้องเดือดร้อน แต่พอตอนนี้เริ่มเดือดร้อนกัน” สมศักดิ์กล่าวถึงการทำนาปรังที่มีมาตั้งแต่อดีต หากรัฐไม่ให้ทำอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวนา เพราะยังมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในทุก ๆ วัน

“ลูกต้องเรียนหนังสือ ค่าใช้จ่ายในครอบครัว หรือหนี้ธกส. ไม่มีรายได้อย่างอื่นนอกจากทํางานแบบนี้” สมศักดิ์เล่าต่อ เมื่อเข้าสู่ช่วงแล้ง น้ำน้อย ชาวนากับชาวสวนส้มจึงจำเป็นต้องช่วยกันจัดการปัญหาน้ำไม่พอ

ถุงกระสอบที่อัดแน่นด้วยทรายถูกนำมาวางเรียกไว้เพื่อลดการไหลของน้ำ นี้คือหนึ่งในวิธีการที่ชาวนาใช้จัดสรรน้ำในกลุ่ม โดยเป็นการแบ่งน้ำกันใช้ตามรอบวันในหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้ชาวนาทุก ๆ คนได้รับน้ำ / วิศรุต แสนคำ

มากกว่าการจัดการน้ำของชาวนากับสวนส้ม ชาวนาจำเป็นต้องจัดการน้ำกับชาวนาด้วยกันเองหลายครั้ง อย่างทิศใต้ 4 วัน ทิศเหนือ 4 วันเพื่อจัดสรรน้ำให้ครอบคลุมเพียงพอต่อนาในแม่สาวทั้งหมด การใช้กระสอบมาปิดกั้นน้ำให้ไหลไปยังด้านต่าง ๆ ตามข้อตกลงชาวนา มีการควบคุมโดย “แก่เหมือง” หรือผู้ดูแลเมืองเปิด-ปิดน้ำที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลทางปิดกั้นน้ำในเหมืองตลอดช่วงแล้งนี้

สวนส้ม ปัญหาคือน้ำไม่พอ

การใช้น้ำสำหรับการปลูกส้มนั้นจะแตกต่างกันการปลูกข้าวเนื่องจากการปลูกและดูแลส้มนี้จำเป็นที่จะต้องใช้น้ำตลอดฤดูกาลผลิต และจะมีการใช้มากขึ้นในช่วงก่อนการออกดอก อย่างสวนส้มแห่งหนึ่งในต.แม่สาวเล่าว่าน้ำในสวนขนาด 200 กว่าไร่จะใช้ประมาณ 60 ลิตรต่อชั่วโมงต่อ 1 ต้น และในหนึ่งวันจะเปิดดั้งแต่ 8.00 – 23.00 น. เท่ากับว่าใช้ทั้งหมด 900 ลิตรต่อวัน มีต้นส้มจำนวน 100 ต้นต่อไร่ เท่ากับว่าจะใช้น้ำ 90,000 ลิตรต่อวันและต่อไร่ แต่ปริมาณนี้ก็จะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำต้นทุนในบ่อของสวนส้มด้วย หากมีไม่มาก ก็อาจจะต้องปรับการใช้น้ำไปตามสถานการณ์

หลายสวนส้มจึงมีการแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้งนี้ด้วยการขุดบ่อขนาดใหญ่เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่สวนส้ม เป็นการบริหารน้ำต้นทุนในบ่อเก็บน้ำของสวน แต่ก็ไม่สามารถพยุงให้ต้นส้มเติบโตอย่างดีได้ สังเกตได้จากใบส้มที่หอบขึ้นบริเวณปลายของใบ

“น้ำในบ่อลดลง ต้นส้มก็จะแห้งกว่าเดิม หอบกว่าเดิม คือมันจะแสดงอาการขาดน้ำ” ผู้ประกอบการสวนส้มเล่าให้ฟังอีกว่า ถ้าน้ำแล้งขึ้น ก็จะเป็นต้องขุดลอกบ่อเพิ่มเติมอีก

“ผมว่าตอนนี้คนทำส้มน้อยลงนะ มีหลายสวนที่ปล่อยสวนทิ้งไว้ ไม่ทำต่อแล้วก็มี” ผู้ประกอบการส้มเล่าถึงปริมาณสวนส้มที่เห็นด้วยตานั้นลดลงไปอย่างมาก เนื่องจากบางสวนไม่สามารถแบกรับต้นทุนการดูแล และสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น บางสวนเลือกที่จะปล่อยส้มให้ตายคาต้น

สวนส้มกว่า 7900 ไร่ที่อยู่ในตำบลแม่สาวส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในบริเวณที่สูงและใกล้แหล่งน้ำ เนื่องจากต้องใช้น้ำในการเลี้ยงสวนตลอดทั้งปี / วิศรุต แสนคำ

“ราคาส้มไม่ได้ ผลผลิตก็ลดลง ก็ไม่มีเงินไปทำต่อ ร้านก็ไม่ปล่อยเครดิตปุ๋ยยาต่อ” ผู้ประกอบการสวนส้มเล่าต่อว่า ตอนนี้ถือเป็นช่วงที่คนปลูกส้มเจอวิกฤติ ผลผลิตที่ลดลง ยารักษาโรคแมลงก็แพงขึ้นทุกปี มากไปกว่านั้น การที่น้ำลดลงย่อมไปกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในบ่อขุดน้ำของสวนส้มไปด้วย การจัดการน้ำก็ต้องเปลี่ยน

อย่างช่วงแล้งนี้ ผู้ประกอบการสวนส้มรวมกลุ่มเริ่มมีการขอหารือกับกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยแม่ฮ่าง หนึ่งในสายน้ำอำเภอแม่สาว เพื่อขอให้มีการจัดการน้ำใหม่ในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอต่อการทำสวนส้ม จึงนั่งโต๊ะหารือกันเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ข้อตกลงใหม่ว่า ให้เปลี่ยนเวรการใช้น้ำแทนคือ น้ำทั้งหมดของชาวนา 5 วันและ น้ำทั้งหมดของสวนส้ม 3 วัน สลับกันไปแบบนี้แก้ปัญหาไปแบบชั่วคราว

น้ำแม่สาวไม่พอที่รอวันสาง – อ่างเก็บน้ำแม่สาว ทางออกสุดท้ายที่ต้องรออีก 8 ปี?

สมชาย สุวรรณ์ นายกอบต.แม่สาว พาดูแผนที่การใช้ที่ดินของตำบลแม่สาว และชี้ให้เห็นว่าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สาวที่จะมาถึงจะช่วยแก้ปัญหาน้ำไม่เพียงพอในพื้นที่ได้ / วิศรุต แสนคำ

ก่อนหน้านี้ เอลนีโญเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2558-2559 และ 2562-2563 แต่ในปีนี้มีแนวโน้มที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นติดกันไปจนถึงปี 2572 คืออีก 2 รอบ (ปี 2568-2569 และปี 2572) คาดว่าจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวนาและชาวสวนส้มกลับมาในทุกๆ ปี ตำบลแม่สาวมีการพูดถึงทางออกหนึ่งที่ทุกคนเฝ้ารอเพื่อยุติปัญหาเรื่องน้ำ คือโครงการ “อ่างเก็บน้ำแม่สาว” ที่มีเป้าหมายเพื่อกักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตร อุปโภค บริโภคของชาวแม่สาวในช่วงหน้าแล้ง รวมถึงลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่โดยคาดว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งกว่า 2 ทศวรรษของพื้นที่ แต่พื้นที่ก่อสร้างของโครงการนี้ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ทำให้ต้องมีการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

“ถ้าอ่างเก็บน้ำเสร็จ ต้องตั้งกรรมการทั้งสองฝ่าย ฝ่ายสวนส้มและชาวนา เพื่อมาจัดการน้ำว่าจะใช้แบบไหนอีกครั้ง” สมชาย สุวรรณ์ นายกอบต.แม่สาวมองเรื่องการจัดการหลังจากอ่างเก็บน้ำเกิดขึ้น  รายงาน EIA ของโครงการนี้ยังคงดำเนินการอยู่ และคาดว่าจะเสร็จในเดือนตุลาคม 2567 นี้ โดยสมชายประเมินไว้ว่าอย่างน้อยที่สุดประมาณ 8 ปีกว่าอ่างเก็บน้ำจะเสร็จ 

จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ปัญหาภัยแล้ง จุดชนวนให้ความขัดแย้งนี้ถูกปะทุขึ้นมาอีกครั้ง การทำเกษตรเริ่มวิกฤติ โครงการอ่างเก็บน้ำต้นทุนที่เป็นความหวังอาจจะต้องรออย่างน้อย 8 ปี และยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าการมีอ่างเก็บน้ำแม่สาว รวมถึงจัดการน้ำหลังจากมีอ่างเก็บน้ำนั้นจะเป็นทางออกที่แท้จริงหรือไม่ ความขัดแย้งจะยังคงอยู่หรือไม่ ไม่มีใครรู้ หากการจัดการน้ำยังคงเป็นแบบเดิม อาจไม่เหลือชาวนาและชาวสวนที่รอดพ้นวิกฤติภัยแล้ง


This story was produced with Australian Aid, Australian Water Partnership and Internews’ Earth Journalism Network.

Similar Posts