หนังสือ “Env Activist Media สื่อ เปลี่ยน สิ่งแวดล้อม” คู่มือการสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงขึ้นจากหนังสือ “Activist Media” ที่ผลิตโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรมตั้งแต่ปี 2559 โดยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการสรุปการทำงานการสื่อสารสิ่งแวดล้อมระหว่างปี 2564-2566 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ทำงานเพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม และคนในท้องถิ่นในการสร้างนักสื่อสารสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ร่วมกันว่าพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวของเมืองสูง ทำให้มีการกระจุกตัวของการพัฒนา และจำนวนประชากรจำนวนมาก  ปัญหาสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ที่มาจากการขยายตัวของเมือง เช่น จำนวนพื้นที่สีเขียวที่ลดจำนวนลง ปัญหาขยะและน้ำเสีย ปัญหาการจากการท่องเที่ยว ปัญหาหมอกควัน ทำให้ชุมชนท้องถิ่นต้องรับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้ที่อยู่อาศัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ และประชากรแฝงที่เข้ามาอยู่อาศัยให้รับรู้ร่วมกัน และตื่นตัวต่อปัญหาดังกล่าว แล้วเข้ามาช่วยกันฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมร่วมกัน รวมไปถึงหากบางกรณีที่ปัญหายังไม่เกิดขึ้น แต่ประชาชนจะสามารถป้องกันการเกิดขึ้นได้ เตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อไม่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแย่ลง หรือขยายตัว 

โดยกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมคือ การใช้กระบวนการสื่อสารทั้งในแนวราบ และแนวดิ่ง แนวราบหมายถึงการสื่อสารระหว่างประชาชนกันเอง ประชาชนกับหน่วยงานรัฐ ประชาชนกับกลุ่มผู้ประกอบการ ประชาชนกับคนทั่วไปที่อยู่ภายนอกชุมชน แนวดิ่งคือการสื่อสารสาธารณะ โซเชียลมีเดีย และไปถึงผู้มีส่วนกำหนดนโยบายสาธารณะ เพื่อที่จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ เป็นที่รับรู้และให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญเข้ามาร่วมมือกับชุมชนเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

นอกเหนือจากเนื้อหาที่ได้จากประสบการณ์ในการดำเนินโครงการแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังได้รวบรวมกฎหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม นโยบายคาร์บอนเครดิต รวมไปถึงเนื้อหาจากนักข่าว นักวิชาการที่มีความรู้ ประสบการณ์ในการทำงานด้านการสื่อสารภาคประชาชนในแนว Activist มาไว้ด้วย โดยหวังให้ผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้กลุ่มท้องถิ่นที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม นักศึกษา หน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชนชนทั่วไปที่มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจะสามารถหยิบประสบการณ์ ความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

สำหรับนักวิชาการ หรือนักจัดกระบวนการที่อยากสร้างนักสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม สิ่งแวดล้อม หรือคนทำสื่อแบบ Activist Media หนังสือเล่มนี้มีแนวทางการจัดกระบวนการไว้ส่วนหนึ่งที่ได้จากการสรุปบทเรียนในการจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเยาวชน และนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อผลิตสื่อ รวมถึงมีตัวอย่างกิจกรรมในการกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ และ Training Module ที่ต้องนำไปใช้ให้เหมาะกับบริบทและกลุ่มเป้าหมายของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้มูลนิธิสื่อประชาธรรมยินดีที่จะให้คำปรึกษาหรือร่วมแลกแปลี่ยนเรียนรู้การจัดกระบวนการให้กับทุกสถาบันและองค์กรที่สนใจการสร้างนักสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

ทางมูลนิธิสื่อประชาธรรมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือ Env Activist Media สื่อ เปลี่ยน สิ่งแวดล้อม จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในการมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม สิ่งแวดล้อมร่วมกัน

ขอขอบคุณกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำครั้งนี้

Similar Posts