เรื่อง: วิทย์ บุญ
“อำเภอสันกำแพง” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2466 เป็นหนึ่งอำเภอที่มีชื่อเสียงและความสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ช่วงต้นทศวรรษ 2500 จังหวัดเชียงใหม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เชียงใหม่เริ่มถูกส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวของภาคเหนืออย่างเด่นชัดตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา ซึ่งการเติบโตด้านการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ส่งผลต่อสันกำแพงอย่างเด่นชัดเมื่อปี 2515 ที่มีการขยายตัวให้เกิดหมู่บ้านผลิตของที่ระลึกเพื่อตอบสนองการท่องเที่ยว เช่น หมู่บ้านสองฟากฝั่งถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง ทั้งนี้เป็นเพราะอำเภอสันกำแพงเป็นแหล่งรวมหัตถกรรมที่สำคัญของเชียงใหม่ ที่มีทั้งการทำร่ม ผ้าทอ เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก และเครื่องเงิน เป็นต้น
ไทม์ไลน์ถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง พบการปรับปรุงถนนคำนึงถึงต้นฉำฉามาเกือบโดยตลอด เพราะคนสันกำแพงมีความหวงแหน
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1006 หรือถนนเชียงใหม่-สันกำแพง เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางสู่อำเภอสันกำแพงมาตั้งแต่ในอดีต ถนนสายนี้มีความโดดเด่นในจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีต้นไม้อย่างต้นจามจุรีหรือที่คนพื้นถิ่นเรียก “ต้นฉำฉา” สองข้างทางซึ่งมีอายุเก่าแก่มาอย่างช้านานควบคู่กับประวัติศาสตร์ของอำเภอสันกำแพง
สำหรับไทม์ไลน์ พัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลง และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับถนนสายนี้ เท่าที่พอสืบค้นได้มีดังนี้
ปี 2425 มีการสันนิษฐานว่าต้นฉำฉาสองข้างทางถนนเข้าสู่อำเภอสันกำแพงนั้น (ในขณะนั้นคือแขวงแม่ออน) มีการปลูกพร้อม ๆ กับต้นยางนาบนถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน โดยมีลักษณะที่เรียกว่าไม้หมายทาง กล่าวคือเป็นไม้ที่บอกว่าเมื่อเห็นต้นฉำฉาก็จะรู้ว่าเข้าสู่เขตสันกำแพงแล้ว
ปี 2466 ทางราชการได้ย้ายที่ทำการแขวงแม่ออนมาปลูกสร้างใหม่ที่บ้านสันกำแพง จึงได้ใช้ชื่อว่า “อำเภอสันกำแพง” มาจนถึงปัจจุบัน
ปี 2506 อันเป็นปีที่มีการโอนมอบถนนสายสันกำแพงให้กับกรมทางหลวงและได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1006 ระหว่าง กม. 1+946 – กม. 13+960 ระยะทางยาว 12.014 กม. นั้น สองข้างทางมีต้นฉำฉารวม 570 ต้น
ทศวรรษที่ 2520 กรมทางหลวงได้จัดทางหลวงสายนี้ไว้ในโครงการจ้างเหมาก่องสร้างและบูรณะทางหลวง 5 ปี (2525-2529)
ปี 2534 กรมทางหลวงมีโครงการปรับปรุงไหล่ทางบางช่วง
ปี 2536 กรมทางหลวงมีแผนการที่ขยายความกว้างของทางหลวงหมายเลข 1006 ให้เป็น 4 ช่องจราจร แต่เนื่องจากติดปัญหาเขตทางแคบ รวมทั้งประชาชนและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้คัดค้านการตัดต้นฉำฉา ทำให้ไม่สามารถขยายช่องทางการจราจรได้ กรมทางหลวงจึงได้ออกแบบก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1317 ตอนเชียงใหม่-บ้านสหกรณ์ ระหว่าง กม. 0+000 – กม. 29+408 ซึ่งก่อสร้างเสร็จในปี 2538 เป็นเส้นทางทดแทน
ปี 2546 กรมทางหลวงระบุว่าได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนและนายพรชัย อรรถปรียางกูร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ขยายและปรับปรุงไหล่ทางให้เป็นทางจักรยาน (Bike Lane) และทางเดินเท้า (Foot Path) ตลอดสายทางข้างละ 2 เมตร โดยให้คงไว้ซึ่งทัศนียภาพและอนุรักษ์ต้นฉำฉาไว้ให้มากที่สุด โดยโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2548
นอกจากนี้ในปี 2546 เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี อำเภอสันกำแพง ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการพัฒนาอำเภอสันกำแพงมีวัตถุประสงค์เพื่อพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวิถีชีวิตดั้งเดิม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนชาวสันกำแพง ซึ่งได้ทำให้สถานะการเป็น “ถนนสายวัฒนธรรม” ของถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น
ปี 2548 มีกระแสจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในตัวอำเภอสันกำแพงที่ต้องการตัดต้นฉำฉาเพราะคิดว่าเป็นอุปสรรคในการสัญจรไปมา แต่ชาวสันกำแพงอีกส่วนหนึ่งรวมทั้งกลุ่มศิลปินและสล่าได้รวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง” นอกจากจะทำงานเรื่องงานวัฒนธรรม ศิลปะแล้วก็ยังมีความตื่นตัวในเรื่องการอนุรักษ์ต้นฉำฉาด้วย มองว่าต้นฉำฉาให้ความร่มเย็นและสวยงามมากกว่าเป็นอุปสรรคในการสัญจรไปมาจึงมีการรวมกลุ่มและทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อรักษาต้นฉำฉาไว้
ปี 2549 (ก่อนการรัฐประหารในเดือนกันยายน) คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอโครงการประติมากรรมบนถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง เพื่อจัดการภูมิทัศน์และติดตั้งงานประติมากรรมบริเวณสองข้างทางตลอดถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง โดยมีงบดำเนินการในวงเงิน 110,000,000 บาท ต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดซื้อที่ดินสำหรับการก่อสร้างอุทยานวัฒนธรรม (ตามโครงการประติมากรรมบนถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง) วงเงิน 45,000,000 บาท ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ โดยที่ดินในการก่อสร้างอุทยานวัฒนธรรม ได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ทำการสำรวจพื้นที่พบว่า ไม่มีพื้นที่เพียงพอกับความต้องการในการใช้ก่อสร้างอุทยานวัฒนธรรม และได้เจรจาขอบริจาคที่ดินเอกชน ซึ่งมีเอกชน 1 ราย ยินดีบริจาคที่ดินให้ 2 ไร่ แต่จะต้องซื้อเพิ่มอีก 6-8 ไร่ ในราคาประมาณ 45,000,000 บาท (ราคาประเมินไร่ละ 8,000,000 บาท) ทั้งนี้โครงการประติมากรรมบนถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง จะมีความยาวทั้งสิ้น 12 กิโลเมตร โดยเริ่ม ณ สี่แยกปอยหลวง และสิ้นสุดที่กิโลเมตรที่ 13 โดยจะสร้างซุ้มโขงและอุทยานวัฒนธรรมที่หลังสี่แยกบ่อสร้าง และติดตั้งประติมากรรม ตลอดเส้นทางก่อนถึงตัวอำเภอสันกำแพง
ปี 2550 คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ (หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เคยอนุมัติในหลักการโครงการประติมากรรมบนถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง และงบดำเนินการในวงเงิน 110,000,000 บาท และมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินสำหรับก่อสร้างอุทยานวัฒนธรรมฯ วงเงิน 45,000,000 บาท โดยปรับเปลี่ยนให้จังหวัดเชียงใหม่รวมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ หากพิจารณาเห็นว่ามีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น
ปี 2553 มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ระบุว่าต้นฉำฉาบนถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพงมีทั้งหมด 244 ต้น มีต้นที่อยู่บนผิวทาง 129 ต้น ต้นที่อยู่ไหล่ทางอีก 115 ต้น ในงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่ามีต้นฉำฉาจำนวน 80 ต้นที่มีความเสื่อมโทรมอย่างชัดเจน อันมีสาเหตุมาจาการขยายถนนและถูกละเลย มีการลาดยางรอบโคนต้น ส่งผลให้ต้นฉำฉามีความทรุดโทรมลงอย่างต่อเนื่อง รูปทรงต้นฉำฉามีการเปลี่ยนแปลงผิดไปจากธรรมชาติ ขาดการดูแลรักษาจนกระทั่งมีการตัดทำลาย ส่งผลให้ภูมิทัศน์ของถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง อยู่ในวิกฤตที่ต้องได้รับการจัดการดูแลรักษาให้ฟื้นคืนสภาพอย่างเร่งด่วน
ปี 2562 จากการสำรวจโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่, อาสาสมัครพิทักษ์ยางนา และเครือข่ายเขียวสวยหอม พบว่าจำนวนของต้นฉำฉาสองข้างทางเหลือเพียง 203 ต้น เมื่อจำแนกลักษณะปัญหาด้านสุขภาพพบว่ามีต้นที่มีเข้าข่ายสีส้ม ซึ่งหมายถึงมีอาการป่วยจำนวน 155 ต้น กล่าวคือมีลักษณะลำต้นมีบาดแผล มีโพรง ผุ มีเห็ดราขึ้น มีกิ่งแห้ง รากลอย มากกว่านั้นพบว่าที่เหลือจำนวน 48 ต้น เข้าข่ายมีปัญหาสุขภาพสีแดง ซึ่งหมายถึงอาการขั้นวิกฤต โคนต้นถูกปูน คอนกรีต ซีเมนต์กดทับราก รากลอย มีกาฝาก มีโพรง ผุ ปริมาณกิ่งและใบมีน้อย ลักษณะโดยรวมทรุดโทรมอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน
ปี 2562 ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้มีการบังคับใช้ผังเมืองรวมชุมชนสันกำแพง จ.เชียงใหม่ พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันทีที่ลงประกาศ โดยผังเมืองรวมฯ ฉบับดังกล่าวบัญญัติบังคับใช้ในพื้นที่ 7 ตำบล ได้แก่ ต.ห้วยทราย ต.แม่ปูคา ต.สันกำแพง ต.ร้องวัวแดง ต.ทรายมูล ค.แช่ช้าง และ ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เว้นพื้นที่ ทม.ต้นเปา ต.ออนใต้ และ ต.สันกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมือง และบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม ในบริเวณแนวเขตทั้ง 7 ตำบลของ อ.สันกำแพง ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ปี 2563 คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลสันปูเลย ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด ตำบลสันกลาง ตำบลต้นเปา ตำบลแม่ปูคา ตำบลสันกำแพง ตำบลร้องวัวแดง และตำบลทรายมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. …. เพื่อสร้างและขยายทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท ชม. 3029 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1006 เนื่องจากมีการเพิ่มขึ้นของประชากรในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และการเจริญเติบโตของเมือง ทำให้เกิดปัญหาทางด้านการจราจร ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งยกระดับความปลอดภัยในการคมนาคมและการขนส่งสินค้า รองรับการเจริญเติบโต และการขยายตัวของชุมชนในอนาคต อันจะทำให้การจราจรและการขนส่งมีความสะดวกยิ่งขึ้น กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างและขยายทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท ชม. 3029 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1006 แล้ว โดยลักษณะของโครงการ เป็นการก่อสร้างและขยายถนนขนาด 4 – 6 ช่องจราจร ชนิดผิวจราจรเป็นแอสฟัลต์คอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างช่องละ 2.50 เมตร ทางเท้าและทางจักรยานกว้างข้างละ 4.00 เมตร เกาะกลางกว้าง 4.20 – 18.00 เมตร เขตทางกว้าง 40.00 – 65.00 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 16.324 กิโลเมตร มีที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ 425 ไร่ มีอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมาณ 129 รายการ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 4,266.6000 ล้านบาท (ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 13.3000 ล้านบาท ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 453.0500 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 3,800.2500 ล้านบาท) ทั้งนี้กรมทางหลวงชนบทมีแผนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและแผนการเบิกจ่ายค่าทดแทนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2566
ปี 2565 ช่วงเดือนธันวาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมอนุรักษ์ต้นจามจุรีบนถนนทางหลวงหมายเลข 1006 ถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง (ถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง) โดยมีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังนี้ 1.ศึกษา รวบรวม จัดทำข้อมูลสถานะสุขภาพของต้นจามจุรีหรือต้นฉำฉาบนทางหลวงหมายเลข 1006 ถนนสายเชียงใหม่ สันกำแพง (ถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง) 2. จัดทำแนวทางหรือมาตรการหรือแผนการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาต้นจามจุรีหรือต้นฉำฉาบนทางหลวงหมายเลข 1006 ถนนสายเชียงใหม่ สันกำแพง (ถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง) เสนอจังหวัดเชียงใหม่เห็นชอบ และประสาน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงาน องค์การภาครัฐ เอกชน และประชาชนรับทราบ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง 3. ขับเคลื่อน ติดตาม กำกับดูแลให้การพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาต้นจามจุรีหรือต้นฉำฉาบนทางหลวงหมายเลข 1006 ถนนสายเชียงใหม่ สันกำแพง (ถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง) เป็นไปตามแนวทางหรือมาตรการ หรือแผนการพัฒนาฯ ที่กำหนดไว้ 4. สร้างเครือข่าย ความร่วมมือชุมชน องค์การภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการเพื่อช่วยกันดูแลรักษา และฟื้นฟูต้นจามจุรี หรือต้นฉำฉา และถนนสันกำแพงเก่าให้เป็นถนนที่สวยงาม และมีความสะอาดอันจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นต่อไป และ 5. ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มอบหมาย
ปี 2566 มีการจัดกิจกรรม “อาสาสมัครช่วยงานหมอต้นไม้ ดูแลฉำฉาสันกำแพง” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นกิจกรรมสำรวจครั้งแรกของคณะกรรมอนุรักษ์ต้นจามจุรีบนถนนทางหลวงหมายเลข 1006 ถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง (ถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง)
อุบัติเหตุทางถนน ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก
ทว่าถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง นี้ก็ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตก นั้นคือปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ได้คร่าชีวิตผู้สัญจรไปมาอยู่เป็นระยะๆ เนื่องจากปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 1006 ตอนเชียงใหม่-สันกำแพง ยังคงเป็นถนนที่มีปริมาณรถสัญจรสูงมาก ถึงแม้จะมีทางหลวงหมายเลข 1317 ตอนเชียงใหม่-บ้านสหกรณ์ซึ่งเป็นเส้นทางทดแทน เพื่อช่วยปริมาณรถที่ต้องการเดินทางไปสู่อำเภอสันกำแพง แต่ก็ยังคงมีปริมาณรถสัญจรสูงอยู่ดี เป็นเพราะถนนสายนี้มีทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โครงการบ้านจัดสรร และร้านค้าของภาคธุรกิจต่าง ๆ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก
นอกจากข่าวสารผ่านสื่อเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนถนนสายนี้แล้ว เท่าที่พอค้นการบันทึกข้อมูลมาพบว่าจากรายงานเรื่องการเกิดอุบัติเหตุด้านการจราจรในพื้นที่อำเภอสันกำแพงของสถานีภูธรอำเภอสันกำแพง ตั้งแต่ปี 2547 ก็พบว่าถนนสายนี้มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูง เนื่องจากช่องทาจราจรแคบและสองข้างทางเต็มไปด้วยต้นฉำฉาเรียงรายเป็นระยะ ๆ ซึ่งเส้นทางสายนี้หากขับขี่ไม่ระมัดระวังจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะทัศนวิสัยตามตรอกซอยหลายแห่งจะมีต้นไม้ใหญ่บดบังการมองเห็น
โดยข้อมูลสถิติอุบัติเหตุบนถนนสายวัฒนธรรมอำเภอสันกำแพง จากสถานีตำรวจภูธรสันกำแพง ระหว่างปี พ.ศ.2563 – 2565 พบว่าเกิดอุบัติเหตุรวมกัน 30 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 26 คน และเสียชีวิต 8 คน (แก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566)
ความท้าทายในอนาคต
ความท้าทายของทางหลวงหมายเลข 1006 ตอนเชียงใหม่-สันกำแพง หรือ ถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง ที่ต้องเผชิญในอนาคตนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับพลวัตการเปลี่ยนของอำเภอสันกำแพงอย่างเลี่ยงไม่ได้
สันกำแพงถือว่าเป็นอำเภอที่มีสัดส่วนของประชากรหนาแน่นที่สุดอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูล ณ ปี 2564 มีความหนาแน่นของประชากรถึง 449.19 คน/ตร.กม คิดเป็นประมาณ 5 เท่าของค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของประชากรทั้งจังหวัดเชียงใหม่ที่ 88.99 คน/ตร.กม. นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวของบ้านจัดสรรอย่างต่อเนื่อง ข้อมูล ณ ปี 2560 พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีโครงการบ้านจัดสรรซึ่งอยู่ระหว่างการขาย 159 โครงการ มีหน่วยในผังโครงการรวมกันประมาณ 17,300 หน่วย เหลือขายประมาณ 7,050 หน่วย เพิ่มขึ้น 14% เทียบกับปีก่อนหน้าที่มี 145 โครงการ หน่วยในผัง 14,900 หน่วย เหลือขายประมาณ 6,200 หน่วย หากแบ่งตามพื้นที่ พบว่าโครงการบ้านจัดสรรกระจายอยู่ใน 4 อำเภอหลัก คือ อำเภอสันกำแพง 34 โครงการ มีหน่วยในผัง 4,260 หน่วย (เหลือขาย 2,130 หน่วย) อำเภอเมืองเชียงใหม่ 33 โครงการ 2,930 หน่วย (เหลือขาย 1,220 หน่วย) อำเภอสันทราย 31 โครงการ 2,860 หน่วย (เหลือขาย 890 หน่วย) และอำเภอหางดง 30 โครงการ 3,750 หน่วย (เหลือขาย 1,530 หน่วย)
แน่นอนว่าปริมาณประชากรที่หนาแน่นย่อมส่งผลต่อการสัญจรผ่านถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง ที่ยังเป็นเส้นทางหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการใช้รถยนต์ส่วนตัว เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ของผู้อยู่อาศัยในอำเภอสันกำแพง
ทั้งนี้หากได้ชื่อว่าเป็นถนนสายวัฒนธรรมซึ่งนอกจากการสะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่โดดเด่นแล้ว ก็ควรคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรผลักดันให้การคมนาคมผ่านถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง นี้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ด้วยแนวคิดอาทิ
พัฒนาขนสาธารณะที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม: ใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและใช้พลังงานพลังงานสะอาดเป็นหลัก การสร้างระบบขนส่งที่มีการเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ อย่างครอบคลุม เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว
การสร้างพื้นที่สีเขียวและให้ความสำคัญกับความยั่งยืน: ควรให้ความสำคัญกับทางเท้า เลนจักรยาน และการสร้างพื้นที่สีเขียว ควบคู่กันไปด้วย
การมีส่วนร่วมของประชาชน: ทั้งหลายทั้งปวงนั้นการตัดสินใจใดๆ ในการพัฒนาถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนชาวสันกำแพง
ข้อมูลประกอบการเขียน
รายงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อสังคมและวัฒนธรรม : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่”, โครงการวิจัยเพื่อเสนอต่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, มหาวิทยาลัยมหิดล, 2529
เอกสารประกอบการสอนรายวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, ชูสิทธิ์ ชูชาติ, คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2542
ความพึงพอใจของประชาชนต่อโครงการก่อสร้างและบูรณะทางหลวงของกรมทางหลวง กรณีศึกษา: โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1006 ตอนเชียงใหม่-อำเภอสันกำแพง (รวมทางหลวงหมายเลข 1147), กฤตภาส อุตรวีรการ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. คณะวิศวกรรมศาสตร์. สาขาวิชาวิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง, 2547
การอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นฉำฉา ถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง อย่างมีส่วนร่วมของชุมชน, บรรจง สมบูรณ์ชัย และคณะ, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2555
ประวัติความเป็นมาสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสันกำแพง, สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสันกำแพง, 4 ตุลาคม 2559
ตลาดอสังหาฯ ภาคเหนือซัพพลายแน่น, Cons Magazine, 24 มกราคม 2560
ประกาศใช้แล้ว ผังเมืองชุมชนสันกำแพง บังคับในพื้นที่ 7 ตำบล จะใช้ประโยชน์ใดในที่ดิน ต้องดูให้ชัดทำได้หรือไม่!!!, เชียงใหม่นิวส์, 20 เมษายน 2562
ลงทุน 4,266 ล้านบาทขยายทางหลวงชนบท จ.เชียงใหม่, Cons Magazine, 23 พฤศจิกายน 2563
รู้หรือไม่? ต้นฉำฉา บนถนนสันกำแพง (สายเก่า) กำลังป่วยหนัก, ประชาธรรม, 27 ธันวาคม 2564
ประสบการณ์การต่อสู้ต้นฉำฉาสันกำแพง มากกว่าความรักคือระบบ, ประชาธรรม, 15 มีนาคม 2565
ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ มีคำสั่งแต่งตั้งคกก. ดูแลต้นฉำฉาสันกำแพง มอบหมาย อ.สันกำแพงเป็นเจ้าภาพหลัก, ประชาธรรม, 6 มกราคม 2566
ต้นฉำฉาสองฝั่งถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง เมื่อพ.ศ. 2535, เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 มิถุนายน 2566
วิทย์ บุญ
‘แรงงานรับจ้างอิสระ’ ผู้สนใจประเด็นแรงงาน เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต โดยทำงานเรื่องเหล่านี้ร่วมกับสื่อ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ฯลฯ มาตั้งแต่ปี 2549 จวบจนปัจจุบัน
ประชาธรรมคือองค์กรสื่อทางเลือกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนในเขตภาคเหนือ