“เราจะทำอย่างไรที่จะอยู่กับต้นไม้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน” ​

“อยากเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ ​ และนำความรู้ไปต่อยอดต่อไป” ​

“อยากเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับต้นไม้ อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นไม้” ​

ส่วนหนึ่งจากความคาดหวังของกลุ่มเยาวชนในการอบรมเยาวชนพลเมืองเก๊าไม้ฉำฉาเมื่อวานนี้ (21 มีนาคม 2565) จัดโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม ​ กลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง โรงเรียนสันกำแพง และเขียวสวยหอม ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จ.เชียงใหม่ ​

ความรู้ดูแลต้นไม้ใหญ่

ช่วงเช้าเป็นช่วงการอบรมเรื่องความรู้ ความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ พื้นที่สีเขียว การจัดการดูแลผ่านการมองต้นฉำฉาหรือต้นจามจุรีบนถนนสันกำแพงสายวัฒนธรรม บรรยายโดยอาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ​

อยากจะเล่าอะไร

หลังจากกลุ่มเยาวชนได้ฟังการอบรมแล้วจึงชวนระดมไอเดีย เรื่องที่อยากจะเล่า อยากจะเล่าอะไร และได้ระดมความคิดเห็นแล้ว เห็นว่าเยาวชนอยากจะเล่าเรื่องคุณค่าของต้นฉำฉา การอยู่ร่วมกันของคนกับต้นฉำฉา ประโยชน์ของต้นฉำฉา การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และวิธีการดูแลต้นไม่ใหญ่ในบ้าน ​

SMAC​

ธีรมล บัวงาม จาก Thaipbs ชวนวิเคราะห์สื่อผ่าน SMAC Model การสื่อสารแบบพุ่งเป้า วิเคราะห์ตั้งแต่ผู้ส่งสาร (Sender) สาร (Message) ผู้รับสาร (Audience) และช่องทางการสื่อสาร (Channel) รวมถึงชวนวิเคราะห์ Key massage (เนื้อหาหลัก) Key point (จุดเน้น) และ Key data (ข้อมูลสำคัญ) คืออะไร?

กระบวนการสื่อสารเรื่องพื้นที่สีเขียว

นันทา เบญจศิลารักษ์ ชวนคิดกระบวนการสื่อสารเรื่องพื้นที่สีเขียว โดยต้องตั้งคำถามว่าทำไมต้องสื่อสาร? ประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีพื้นที่สีเขียว-ต้นฉำฉาคืออะไร? อะไรที่จะเป็นปัญหาในการจัดการพื้นที่สีเขียว? ใครจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สีเขียว? และเยาวชนจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้าง? และชวนวิเคราะห์การสื่อสารว่าเป้าหมายคืออะไร? ใครคือผู้รับสาร? จะสื่อสารเรื่องอะไรเกี่ยวกับต้นฉำฉา เรื่องหลักและเรื่องรองคืออะไร? และจะใช้รูปแบบไหนในการสื่อสาร? ​

ประสบการณ์ลงพื้นที่

สาวิตรี พูลสุขโข เขียวสวยหอม แนะนำทริคการลงพื้นที่คือต้องแนะนำตัวเองก่อนว่ามาทำอะไร และลดการปะทะหากมีความเห็นไม่ตรงกัน เรื่องจากเรามีหน้าที่รับฟังและนำมาสื่อสาร ชวนสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับต้นไม้ใหญ่ ​

หลังจากนั้นได้ทำการลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ คนสองข้างทาง เพื่อนำมาวิเคราะห์กระบวนการทำงานสื่อสารต่อ และได้นำเสนอออกมาเป็นโครงงานสื่อสาร บางกลุ่มก็ทดลองทำตัวอย่างงานสื่อสารขึ้นมานำเสนอเช่นกัน ​


มาฟังเสียงสะท้อนของกลุ่มเยาวชนหลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้กัน “ข้อดีของต้นฉำฉา ทำให้รู้สึกมีความสุขกับรอบตัวมากขึ้น พึ่งรู้ว่ามีประโยชน์มากกว่าที่คิด” ​

“รู้สึกดีที่ได้มาอบรมเรื่องนี้ ถึงจะไม่ใช่คนสันกำแพงจริง ๆ ก็อยากจะดูแลรักษาไว้”​

“อยากมีประสบการณ์ ได้เพื่อนใหม่ ๆ เรียนรู้และคิดงานได้เร็วกว่าเดิมเยอะเลย” ​ ​

หวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเยาวชนในการมองเห็นความสำคัญของการมีต้นไม้ การจัดการดูแลต้นไม้ที่ไม่ใช่เพียงการมองผ่านปริมาณของมันเท่านั้น แต่ต้องมองถึงคุณภาพในการจัดการพื้นที่สีเขียวเพื่อนำไปสู่การมีพื้นที่สีเขียวที่สามารถอยู่ร่วมกับผู้คน ชุมชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งแน่นอนว่าการสื่อสารระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญและไม่ควรมองข้าม ​

แล้วเจอกันอีกครั้ง ติดตามกิจกรรมสนุก ๆ เร็ว ๆ นี้

Similar Posts