28 สิงหาคม 2566

เมื่อวันที่ 25-27 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อประชาธรรมร่วมกับสำนักข่าวลานเน้อ จัดอบรม Youth Teller เยาวชนนักสื่อสาร ณ โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เดนท์ เชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 38 คนจากหลายโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนสันทรายวิทยาคม, โรงเรียนสันกำแพง, โรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศ, โรงเรียนพะเยาวิทยาคม, โรงเรียนจักรคำคณาธร, โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์, โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม, โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ, โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย รวมถึงโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

เนื่องด้วยสถานการณ์การสื่อสารปัจจุบัน ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป การทำงานสื่อสารมวลชนเองก็มีความสะดวกมากขึ้น ใครก็สามารถผลิตสื่อได้โดยไม่ต้องเอนอิงกับสื่อกระแสหลัก สิ่งที่ทางมูลนิธิสื่อประชาธรรมเล็งเห็นในปัจจุบันนี้คือการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีใจเปิดกว้าง เท่าทันสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 

โครงการฯ จึงเห็นถึงความพร้อมเหล่านี้ และพร้อมที่จะสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ให้มีเครื่องมือในการทำงานสื่อสารให้เกิดพลัง และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนจากท้องถิ่นสู่ระดับประเทศต่อไปได้ โครงการอบรมเยาวชนนักสื่อสาร Youth Multimedia Story จึงเป็นการอบรมเพื่อการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในด้านของการดึง Storytelling หรือการพัฒนาเนื้อหาเพื่อการสื่อสารมาใช้ ​ ​ เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำทักษะนี้ไปใช้ทำงานสื่อสารต่อได้หลังจากจบโครงการ ทั้งนี้ยังเพิ่มในเรื่องของเทคนิคการผลิตงานสื่อสารแบบ Multimedia เข้าไปเพื่อให้เห็นถึงรูปแบบการนำเสนอของสื่อสมัยใหม่ พร้อมทั้งเสริมศักยภาพให้เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมตัวเป็นเยาวชนนักสื่อสารต่อไป

ผู้เข้าร่วมได้พบกับกระบวนการละครเพื่อการสื่อสาร และเรียนรู้การออกแบบ story telling เล่าเรื่องธรรมดาให้ไม่ธรรมดาอย่างไร วิทยากรโดย ธนาวัฒน์ รายะนาคร จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน หรือกลุ่มมะขามป้อม โดยการอบรมเป็นการอบรมที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อการสื่อสาร ภาษาของการสื่อสาร การฝึกสติ การฟัง รวมถึงการทำงานเป็นทีม มากกว่านั้นผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้เรื่ององค์ประกอบภาพ การทำ Image Theater พื้นที่ภาพ ผ่านการตีความนามธรรม 

และวันที่สอง ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ การทำสื่อแบบ multimedia วิทยากรโดย กิตติ พันธภาค และณัฐชลี สิงสาวแห นักข่าวสายมัลติมีเดีย ได้เรียนรู้ถึงความหมายของ story telling การเล่าเรื่องอย่างเป็นระบบ เรียนรู้การเล่าเรื่องอย่างไรให้ปังและคม รวมถึงกระบวนการทำสื่อ การมองหาแก่นของเรื่อง การตั้งคำถามกับเรื่องแบบ what if เช่น โลกกลายเป็นน้ำแข็ง, จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีการเลือกนายก…แต่ประชาชนไม่ยอมรับ เป็นต้น มากกว่านั้นผู้เข้าร่วมได้ลงมือทำจริง ผ่านโจทย์ “จงหา ความไม่ปกติบนความปกติ” ลงพื้นที่ไปถ่ายทำ ชวนกันมาตัดต่อ และนำเสนอ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อ และต่อมาเราได้ชวนกันถอดบทเรียนของการเรียนรู้ทั้งสองวันที่ผ่านมา และได้ชวนกันทำแผนการทำงานสื่อ รื้อประเด็นในพื้นที่ ชุมชนของตนเอง ออกมาเล่ายังไงให้คมและปัง พร้อมการสนับสนุนจากทางโครงการต่อไป

ชวนติดตามการเล่าเรื่องของเยาวชนนักสื่อสารผ่านทางเพจ ประชาธรรมและ สำนักข่าวลานเน้อ

Similar Posts